fbpx

สามก๊ก-ราชาธิราชในพระราชพงศาวดาร: พลังวัฒนธรรม ‘เจ๊กปนมอญ’ และการชิงอำนาจในราชสำนักกรุงเทพฯ

สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยออกหนังสือที่ชื่อ เจ๊กปนลาว[1]เมื่อปี 2530 แสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นไทย’ ที่ไม่ได้มีความเป็น ‘ไทยแท้’ แต่มีเบื้องหลังของการผสมผสานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเมื่อมองไปที่สามัญชนไทย และการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยที่อยู่ภายใต้ร่วมวัฒนธรรมใหญ่แบบจีนและลาว ความคิดรวบยอดดังกล่าวถือว่าทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง แม้จะลดทอนวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ออกไป แต่ก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่เถียงกับความเชื่อเรื่องเชื้อชาติบริสุทธิ์ที่พร่ำสอนกันในตำราเรียนได้เป็นอย่างดี

หากจะยืมคำอธิบายดังกล่าวมาใช้กับบทความนี้ ผู้เขียนอยากเสนอคำว่า ‘เจ๊กปนมอญ’ ในฐานะวัฒนธรรมที่ชนชั้นสูงไทยใช้เป็นพลังทางวัฒนธรรมสำคัญซึ่งปรากฏในวรรณกรรมพงศาวดารในยุคต้นรัตนโกสินทร์ บทความนี้จะใช้หนังสือ ราชาธิราช สามก๊ก และไซ่ฮั่น โลกทัศน์ชนชั้นนำไทย[2] เป็นแผนที่หลักในการเดินทางความคิดครั้งนี้

เมื่อเทียบกันแล้วในสมัยอยุธยา อิทธิพลศิลปะและวัฒนธรรมของยุคสมัย อาจจะอยู่ในรูป ‘เขมรปนลาว’ มากกว่า เห็นได้จากอิทธิพลทางอักษรศาสตร์ ศิลปะสถาปัตยกรรมเขมรในพระปรางค์ การวางผัง การหมกมุ่นอยู่กับศิลปะเขมร พระนครวัด-นครธมของชนชั้นนำสยามยังตกทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนความเป็นลาวนั้นได้รับอิทธิพลมาทางงานด้านวรรณกรรมทั้งทางพุทธศาสนาและทางโลก การสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยพระเจ้าติโลกราชแสดงให้เห็นถึงพลังทางการเมืองวรรณกรรมอย่างเห็นได้ชัด[3] พอเปลี่ยนแผ่นดินมาสู่รัตนโกสินทร์ ความนิยมทางศิลปะและวัฒนธรรมก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของจีนในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมช่วงต้นรัตนโกสินทร์อันสัมพันธ์กับการค้าขายเรือสำเภาที่แสนจะมั่งคั่ง[4]

หากจีนจะเป็นพลังทางวัฒนธรรมทางภายนอก อีกขาหนึ่งกลับมาจากภายใน การเข้ามามีบทบาทของวัฒนธรรมมอญในราชสำนัก มาจากการที่ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จักรีที่มีเชื้อสายมอญ รวมไปถึงการเมืองของการแต่งงานกับสายตระกูลมอญ องค์ บรรจุนชี้ให้เห็นว่า สตรีมอญในราชสำนักมีตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ พระมเหสีเทวี ลงไปถึงพนักงานอยู่งาน แม้เข้าแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ความเป็นมอญยิ่งเข้มขึ้นในราชสำนัก เพราะสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชินีทรงมีเชื้อสายมอญ ทำให้รัชกาลที่ 5 เติบโตมาท่ามกลางพระชนนี พระนม และพระพี่เลี้ยงชาวมอญจึงทรงคุ้นเคยและนิยมศิลปวัฒนธรรมแบบมอญ[5]

นิธิ เอียวศรีวงศ์ชี้ให้เห็นถึงการเมืองของการเขียนพระราชพงศาวดาร[6] ว่าสมัยรัตนโกสินทร์ชนชั้นนำสร้างความชอบธรรมของตนผ่านการชำระประวัติศาสตร์ อันหมายถึงการดัดแปลง ต่อเติม ลบความต้นฉบับสมัยอยุธยามาเป็นเวอร์ชันรัตนโกสินทร์ที่ต่างออกไป บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า พระราชพงศาวดารเวอร์ชันนี้ยังแฝงอิทธิพลของวรรณกรรมต่างด้าวฝั่งจีนและมอญอย่างน่าสังเกตอย่างไรบ้าง 

การเมืองในสายโลหิตต้นราชวงศ์

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัชกาลที่ 1 (ผู้นำวังหลวง) กับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา-ผู้นำวังหน้า) เป็นสองพี่น้องผู้บุกเบิกสร้างกรุงเทพฯ และราชวงศ์จักรี โดยที่คนน้องเป็นผู้มีความสามารถในการรบ ทั้งยังมีสรรพกำลังกองทัพที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าวังหลวง

ระบบวังหลวง-วังหน้า เป็นระบบที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา ยามที่แนวคิดแบบ crown prince หรือมกุฎราชกุมารแบบตะวันตกยังไม่เข้ามา วังหน้า สมัยเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นผู้มีบทบาททางการทหารมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ทั้งยังได้เลื่อนยศสูงกว่ารัชกาลที่ 1 สมัยเป็นเจ้าพระยาจักรี ทั้งยังมีชื่อเสียงเป็นที่น่าเกรงขามแก่ข้าศึกศัตรู ล่วงมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ วังหน้ายังมีอำนาจมาก ศึกกับพม่าในยุคนี้กองทัพวังหน้าแสดงความเก่งกล้าสามารถ ขณะที่วังหลวงกลับพ่ายแพ้ในหลายสมรภูมิ โดยเฉพาะที่เมืองกาญจน์ในปี 2328 ความผิดพลาดทำให้วังหน้าสั่งประหารขุนนางระดับสูงสังกัดวังหลวงไปถึง 3 คน ก่อนที่จะแจ้งกษัตริย์ สมญา ‘พระยาเสือ’ ก็ได้มาจากพระเดชานุภาพในการรบ นอกจากนั้น การรบชนะนำมาซึ่งโภคทรัพย์และเชลยศึก รวมถึงความสัมพันธ์ทางการทูตกับหัวเมืองต่างๆ ได้ญาติของเจ้าประเทศราชอย่างเชียงใหม่หรือเขมรมาเป็นสนม ไพร่พลมอญก็ล้วนสังกัดอยู่กับวังหน้าที่ว่ากันว่าเป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่กรุงธนบุรี การแต่งตั้งขุนนางในวังหน้าก็ไม่ใช่อำนาจของกษัตริย์[7]

ไม่เพียงอำนาจทางโลก วังหน้าเองก็ได้รับการยอมรับนับถือว่ามีบุญญาบารมีไม่น้อยไปกว่าวังหน้า ความสัมพันธ์เช่นนี้เชื่อกันว่า นำมาซึ่งการเดิมหมากการเมืองของวังหลวงเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองประชันกัน ดังที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า ในที่สุดชัยชนะเป็นของใคร แต่ในที่นี้กลไกสร้างความชอบธรรมหนึ่งก็คืองานวรรณกรรมแปลจากภาษาต่างด้าว

วรรณกรรมแปลยุคใหม่กับความสมจริงของมนุษย์ และความเรียงที่พ้นไปจากวรรณกรรมเจ้าบทเจ้ากลอน

ที่ผ่านมาวรรณกรรมแปลในสังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยามักจะมาจากคัมภีร์ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นชาดกในพุทธศาสนา หรือนิทานอิหร่านราชธรรมที่เน้นคำสอนชนชั้นนำให้อยู่ในทำนองคลองธรรม แต่ ราชาธิราช กับ สามก๊ก กลับเป็นวรรณกรรมที่มีความสมจริง แม้จะมีอภินิหารก็มีอยู่น้อยมาก หรือเรียกได้ว่ามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สอดคล้องกับสิ่งที่นิธิเสนอเรื่องของวรรณกรรมกระฎุมพี ที่สำคัญวรรณกรรมชุดนี้ยังมีลักษณะที่ ‘อิงประวัติศาสตร์’ ไม่เพียงเท่านั้นเป็นวรรณกรรมที่เปิดยุคการใช้ ‘ความเรียง’ ที่ต่างจากการใช้บทกลอนต่างๆ ในวรรณกรรมที่ผ่านมา ถึงจะเป็นความเรียงในสมัยอยุธยาก็เป็นความเรียงที่ปรากฏในงานเขียนทางศาสนาเสียมากกว่า[8]

วรรณกรรมแปลเหล่านี้ยังส่งผลต่อวรรณกรรมมนุษยนิยมยุคหลังอย่างพระอภัยมณีของสุนทรภู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุบายนางละเวงเผาเรือพระอภัยมณี ที่ได้มาจากตอนโจโฉแตกทัพเรือในศึกเซ็กเพ็ก การที่สุดสาครใส่เสื้อสวมทับหนังฤาษี ก็คือฉากที่กวนอูแต่งชุดเก่าทับชุดใหม่ที่โจโฉให้เพื่อแสดงความเป็นคนกตัญญู การรักษาของหมอฮัวโต๋ก็เป็นวิธีการที่คล้ายคลึงกับแผลที่นางสุวรรณมาลีถูกธนูยิงใส่[9] ไม่เพียงเท่านั้น วรรณกรรมเหล่านี้จะยังไม่เกี่ยวข้องกับการปรับแต่งพระราชพงศาวดาร เหล่านี้สะท้อนถึงการอ้างสิทธิอันชอบธรรมของกษัตริย์ว่าเป็นผู้นำที่แท้จริง ทั้งด้านบุญญาบารมี บทบาท และหน้าที่ผู้ปกครอง ไม่ใช่วังหน้าตามแรงกดดันทางการเมืองที่เป็นอยู่

ที่น่าสนใจอีกประการก็คือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้มีบทบาทแปลทั้งสองเรื่อง พื้นหลังของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้นเคยเป็นหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี บ้านเกิดของรัชกาลที่ 1 ทั้งคู่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกันมาก และเมื่อทำการรัฐประหารเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมอำนวยความสะดวกในการยึดอำนาจภายในเมืองหลวง และด้วยฝีมือด้านวรรณกรรมและมีทักษะรอบรู้ภาษาจึงได้รับความไว้วางใจให้แปลวรรณกรรมทั้งสองเรื่อง[10] เรียกได้ว่า เป็นนักแปลคู่ใจวังหลวงนั่นเอง อิทธิพลของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อาจเห็นได้จาก สำนวนแปลจีนแบบนี้จะถูกใช้เรื่อยมาจนถึงฝีมือแปลยุคใหม่ของ ว. ณ เมืองลุง ในทศวรรษ 2510 พร้อมกับการขยายตัวของการอ่านนิยายจีนกำลังภายใน

กินโต๊ะจีน: พงศาวดารในสามก๊ก และสามก๊กในพงศาวดาร

พลังทางวัฒนธรรมจีนมีบทบาทสำคัญในรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ว่าจะในฐานะของการสร้างความมั่งคั่งผ่านระบบจิ้มก้องกับราชสำนักจีน การค้าขายทางเรือ ศิลปะสถาปัตยกรรม รวมไปถึงแรงงานนอกระบบไพร่รวมไปถึงแรงงานฝีมือที่มีบทบาทในการผลิตสินค้าต่างๆ ทำให้คนและวัฒนธรรมจีน เป็นความต่างด้าวที่คุ้นเคยและถูกหยิบใช้โดยราชสำนัก มีผู้วิเคราะห์ว่า การแปล สามก๊ก นั้นมีความคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับ เนื่องจากมีการเพิ่มรายละเอียด และบทสนทนา และเรื่องที่อยู่ในต้นฉบับอย่างเช่นความเชื่อเรื่องศาสนา หากมองด้วยสายตาคนปัจจุบันก็จะคิดว่าเป็นการแปลที่ด้อยคุณภาพ แต่อันที่จริงแล้ว ลักษณะดังกล่าวอาจไม่ต่างกับการชำระพระราชพงศาวดารที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองซ่อนอยู่[11] โดยเฉพาะเมื่อเทียบกัน 3 ฉบับคือ ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาพระคลัง (หน), ฉบับแปลโดยวรรณไว พัธโนทัย และฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ Romance of The Three Kingdoms โดย Brewitt Taylor สองฉบับหลังมีความคล้ายคลึงกันมากกว่าฉบับแรก

เมื่อเทียบกับฉากหลังทางประวัติศาสตร์แล้ว การพยายามแสดงความชอบธรรมของการเป็นผู้นำระหว่างวังหลวงและวังหน้าก็เป็นที่ตระหนักกันอยู่ใน สังคีติยวงศ์ ที่แต่งโดยสมเด็จพระพนรัตน์ในปี 2332 ได้สะท้อนว่ายกย่องวังหน้าอย่างมากด้วยการยกย่องที่สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดมหาธาตุในปัจจุบัน) ซึ่งน่าจะทำให้วังหลวงและกลุ่มขุนนางใกล้ชิดตระหนักถึงบารมีเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี[12] นัยในสามก๊กได้ซ่อนความหมายบางอย่างที่มีผู้ถอดรหัสไว้ดังนี้

ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เน้นการให้ความสำคัญของการมีสติปัญญาของกษัตริย์และขุนนาง ไม่เพียงขงเบ้งที่ถูกเน้นกันอยู่แล้วว่าเป็นยอดกุนซือ โจโฉก็ถูกยกว่า “ธรรมดาสงครามใช่จะมีชัยชนะด้วยทหารมากหามิได้ ย่อมจะชนะเพราะมีสติปัญญาคิดกลอุบายต่างๆ ถึงมาตรว่าจะมีทหารน้อยกว่าเราก็จริงแต่ ความคิดโจโฉชำนาญในการสงครามลึกซึ้งนัก ที่ปรึกษาก็หลักแหลม” เมื่อเทียบฉบับวรรณไวที่กล่าวว่า ทัพโจโฉมี “ระเบียบวินัยเคร่งครัด” กับ “ทหารโจโฉก็ชำนาญการรบ” ที่ไม่ได้พูดถึงสติปัญญาใดๆ[13]

ดังนั้น การเป็นผู้มีบุญก็ยังไม่พอกับการก้าวขึ้นเป็นผู้นำจะต้องมีสติปัญญาด้วย ดังที่ระบุว่า “อันอย่างธรรมเนียมโบราณ ถ้าผู้ใดทำบุญแลสติปัญญามิได้ ก็ย่อมแพ้แก่ผู้มีบุญแลปัญญาความคิด” ขณะที่ฉบับวรรณไวระบุเพียง “โบราณว่าไว้ว่า ผู้เดินถูกทางย่อมชนะผู้เดินไม่ถูกทาง ผู้ไร้ธรรมย่อมแพ้แก่ผู้มีธรรม ใครจะหนีชะตากรรมของตนเองไปได้เล่า” [14] ดังเช่นที่ขงเบ้งกล่าวถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่หมดบุญเทียบกับเล่าปี่ว่า “ถ้าคนหาสติปัญญาไม่ มิได้เป็นที่พึ่งราษฎรเลย ราษฎรก็ไม่รักใครแลยกตัวเองให้เป็นใหญ่คนทั้งปวงจะนินทา นี่ท่านเป็นชาติเชื้อกษัตริย์สืบมาประกอบด้วยสติปัญญา ได้เป็นที่พึ่งแก่ราษฎร ควรแล้วที่ท่านจะยกตัวขึ้นเป็นใหญ่” [15] หรือการเน้นความสำคัญของผู้นำในกรณีที่จิวยี่ให้คำแนะนำซุนกวน ผู้นำวัยหนุ่มที่ขึ้นมาแทนบิดาว่า “ถ้าผู้ใดจะเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองให้เกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนซึ่งมีสติปัญญาแลทหารที่ฝีมือไว้จงมาก” ขณะที่ฉบับวรรณไวไม่กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘เจ้าบ้านผ่านเมือง’ เลย[16] เห็นได้ชัดจากการกล่าวถึง ‘ทศพิธราชธรรม’ ที่ไม่ปรากฏในต้นฉบับอื่นว่า “ธรรมดานกก็ย่อมอาศัยป่าซึ่งมีผลไม้มากจึงเป็นสุข ประเพณีขุนนางทำราชการ ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงทศพิศราชธรรมแล้วก็มีความสุข” [17] ขณะที่ฉบับวรรณไวแค่บอกว่า “ขุนนางดีย่อมเฟ้นหาเจ้านายดีเป็นที่พึ่งพา”

การกล่าวถึง ‘นายเก่า’ ถือเป็นของแสลงต่อการขึ้นครองอำนาจของรัชกาลที่ 1 จากการรัฐประหารพระเจ้าตาก จึงได้มีการพยายามลดทอนความสำคัญในประเด็นนี้ลง ฉบับวรรณไวแปลตอนที่โจโฉกล่าวถึงกวนอูว่า “การไม่ลืมคุณนายเก่า จะมาหรือไปก็เปิดเผยตรงไปตรงมา คนอย่างนี้เป็นยอดคนโดยแท้ พวกเจ้าจงรู้จักทำตัวให้เหมือนเขาเถิด” แต่ฉบับลดทอนแปลว่า “ซึ่งกวนอูไปทั้งนี้เพราะมีใจกตัญญูต่อเล่าปี่ผู้เป็นนายประเภทหนึ่ง เราก็ได้รับสัญญากวนอูไว้ แล้วเขาก็ให้หนังสือบอกเรา” กลายเป็นเปลี่ยนนายเก่าให้เป็นเล่าปี่และเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไปแทน

หรือกรณีการตัดข้อความการล้างแค้นให้อุยของ นายเก่าว่า “เมื่อจะต้องล้างแค้นให้แก่เจ้านาย แม้ชีวิตตัวเองก็หาควรเสียดายไม่ แล้วลูกคนเดียวจะสละมิได้เชียวหรือ ถ้าท่านบิดพลิ้วไม่ยอมยกทัพไปเพราะห่วงลูกแล้ว ข้าพเจ้าขอตายเสียก่อนดีกว่า” [18] หรือการแปลงสาส์นจาก “ขุนนางผู้จงรักภักดีไม่กลัวตายดอก เราพร้อมที่จะตายเป็นผีของราชวงศ์หั้น ไม่เหมือนอย่างอ้ายคนประจบสอพลอเข้าข้างอ้ายกบฏ” ไปเป็น “เกิดเป็นข้าราชการจะอาสาแผ่นดินมิได้กลัวความตาย”[19] หรือกระทั่งการฆ่าขันทีอันเป็นการกำจัดกลุ่มอำนาจเก่าในสำนวนวรรณไวแปลว่า “ขันทีเหล่านี้ได้รับราชการมาแต่รัชกาลพระเจ้าเลนเต้แล้ว ซึ่งมีองค์ฮ่องเต้องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ในใต้ฟ้าแล้ว เจ้าก็ฆ่าขุนนางเก่าเสียนั้นย่อมไม่เป็นการเคารพต่อราชบัลลังก์เลย” ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “ขันทีสิบคนได้ทำราชการแต่ครั้งพระเจ้าเลนเต้ จะได้มีความผิดสิ่งใดหามิได้ จะมาฆ่าเขาเสียนั้นไม่ควร ซึ่งว่าจะช่วยทำนุบำรุงการแผ่นดินนั้นเห็นไม่สมเหมือนจะแกล้งให้บ้านเมืองเป็นจลาจล” [20]

นอกจากนั้นยังข้อสังเกตว่า สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังฯ ให้ความสำคัญกับฝ่ายพลเรือนมากกว่าฝ่ายทหาร จากการใช้เพียรของกษัตริย์หาที่ปรึกษา ตัดทอน และดัดแปลงตัวบทที่ ‘ด้อยค่า’ เหล่านักปราชญ์ที่เป็นฝ่ายพลเรือน เห็นได้จากสำนวนแปลวรรณไวที่ย่ำยีนักปราชญ์ว่า “…ส่วนพวกปราชญ์สถุลนั้น หมกมุ่นอยู่แต่งานขีดๆ เขียนๆ ซึ่งไร้สาระ ยามหนุ่มดีแต่แต่งกลอน ยามแก่ดีแต่แก่ตำรา…ถึงจะเขียนหนังสือวันละกี่หมื่นตัวก็หาประโยชน์อันมิได้” แต่ฉบับเจ้าพระยาพระคลังฯ กับตัดส่วนนี้ไป[21] อีกกรณีหนึ่งก็คือ ฉบับเจ้าพระยาพระคลังฯ ได้ปฏิเสธความสำคัญของแม่ทัพในการออกศึก ขณะที่ฉบับวรรณไวแปลตอนที่ขงเบ้งพูดถึงสุมาอี้อ้างพระราชโองการห้ามออกรบว่า “เมื่อแม่ทัพออกศึกนั้นหาต้องฟังคำสั่งของใครทั้งหลายไม่ แม้ฮ่องเต้ก็สั่งไม่ได้” เลี่ยงไปเป็น “เราเห็นว่าสุมาอี้มิได้ออกรบเป็นช้านาน เพราะกรงเราอยู่แต่กลัวทหารทั้งปวงจะเสียน้ำใจ จึงบอกไปถึงโจยอยว่าจะขอยกกองทัพออกรบ โจยอยจึงมีหนังสือมาห้ามมิให้ออกรบพุ่ง หวังจะเอาใจทแกล้วทหารไว้[22] กรณีแม่ทัพเทียบได้กับการที่วังหน้าออกศึก ข้อสังเกตเหล่านี้สอดคล้องกับที่อภิปรายมาข้างต้นว่า วังหน้านั้นเป็นฝ่ายที่เชี่ยวชาญการรบและสงคราม และมีไพร่พลอยู่ในมือเป็นอันมาก การลดความสำคัญของการทหาร และเชิดชูฝ่ายพลเรือนจึงเป็นการสร้างความชอบธรรมของฝั่งวังหลวงขึ้นมาด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ การหยิบฉวยพล็อต ฉาก และบทสนทนาของสามก๊กไปปรากฏในพระราชพงศาวดารในฉบับของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ สมเด็จพระพนรัตน์ ถือเป็นมหาเถระที่มีผลงานวรรณกรรมและการเขียนพระราชพงศาวดาร เป็นผู้แต่งคัมภีร์มหายุทธการวงศ์อันเป็นเรื่องของราชาธิราชอันเป็นพงศาวดารมอญอันจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า[23] สิ่งที่พบก็คือ ตอนที่พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ กล่าวถึงเหตุการณ์เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ถอยทัพออกจากเมืองพิษณุโลกได้มีการวางอุบาย “…ให้เอาปี่พาทย์ขึ้นตีบนเชิงเทินรอบเมือง” และตอนที่โปสุพลาและโปมะยุง่วนยกทัพปล้นค่ายเจ้าพระยาจักรีในเวลากลางวัน “เจ้าพระยาจักรีมิได้ครั่นคร้าม นั่งเล่นหมากรุกอยู่ในค่ายพลางร้องสั่งพลทหารให้วางปืนใหญ่น้อยออกไปจากค่ายยิงพะม่า” ส่วนนี้คล้ายคลึงกับตอนที่ขงเบ้งดีกระจับปี่ (กู่เจิ้ง) ลวงให้สุมาอี้ถอยทัพ[24] ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสำนวนของพระพนรัตน์ ยังแสดงให้เห็นว่าการทำสงครามเป็นเรื่องสนุก กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระเจ้าหงสาวดีมากรุงศรีอยุธยา และส่งพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหาจักพรรดิความว่า “…บัดนี้ก็มาเหยียบชานเมืองพระนครถึงเจ็ดวันแล้ว, ไฉนกจึงมิได้ออกมารณรงค์, โดยขัตติยาภิรมย์สำเริงราชหฤทัยบ้างเลย, ให้เร่งยกพยุหโยธาออกมากระทำสงครามกันดูเล่นเป็นขวัญตา” หรือคราวสมเด็จพระนเรศวรจะยกทัพไปตีเมืองละแวก แต่พบทัพหงสาวดีจึงตรัสว่า “..จำจะยกออกไปเล่นสนุกกับมอญเสียก่อน” [25] อาจพอเทียบได้กับสามก๊ก คราวสุมาอี้เยาะเย้ยขงเบ้งว่า “…เห็นอายุขงเบ้งจะสิ้นเสียแล้ว เราคิดวิตกอยู่ถ้าหาขงเบ้งไม่ อันจะทำสงครามด้วยผู้ใดเห็นจะไม่สู้สนุก” [26]

ไม่เพียงเท่านั้น วรรณกรรมจีนอย่าง ไซ่ฮั่น ที่อิงประวัติศาสตร์ยุคก่อนจะเกิดราชวงศ์ฮั่น ก็ถูกหยิบยืมมาใช้ในโครงเรื่องพระเจ้าตากทุบหม้อข้าวเพื่อจะเข้าตีเมืองจันทบุรี “แล้วจึงตรัสสั่งโยธาหารทั้งปวงให้หุงอาหารรับประทานแล้ว เหลือนั้นสั่งให้สาดเททุบต่อยหม้อข้าวหม้อแกงเสียจนสิ้นในเพลากลางคืน วันนี้ตีเอาเมืองจันทบุรีให้ได้ ไปกินข้าวเช้าเอาในเมือง…” ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับตอนที่ฮั่นสิ้นพูดกับนายทหารคราวทำศึกเตียงเหลียงว่า “เวลาค่ำวันนี้เรากินอาหารแต่พอรองท้องเถิด รุ่งขึ้นจึงค่อยไปกินให้สบายในเมืองเตียว” ส่วนกรณีฌ้อปาอ๋องถูกอุบายหาทางออกไม่ได้ก็กล่าวว่า “แต่เรามาทำศึกยังมิได้แพ้แก่ผู้ใดเหมือนครั้งไปช่วยเมืองเตียวรบกับเจียงหำ เมื่อข้ามแม่น้ำอุยโห เราหมายว่าจะไปกินข้าวในเมืองเตียว จึงให้ทหารต่อยหม้อข้าวเสีย แล้วเผาเรือไม่ให้ทหารข้ามได้” [27]

บรรเลงปี่พาทย์มอญ: พระราชพงศาวดารกับโครงเรื่องราชาธิราช

กรณีของราชาธิราช นอกจากจะเชิดชูความเป็นมอญในสายโลหิตกษัตริย์ และเป็นเรื่องราวของชัยชนะของมอญที่มีต่อพม่าแล้ว มีข้อสังเกตว่าเป็นวรรณกรรมที่ช่วยสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับวังหลวงเช่นกัน หากเทียบกับสามก๊กที่ไม่ระบุเวลาแน่ชัดว่าแต่งขึ้นปีไหน ราชาธิราชถูกแปลขึ้นในปี 2328 หรือหลังการยึดอำนาจพระเจ้าตากได้เพียง 3 ปีเท่านั้น[28] และที่สำคัญก่อนหน้านั้นมีฉบับที่แปลถวายวังหน้ามาก่อน และยังมีฉบับที่เขียนโดยสมเด็จพระพนรัตน์ ว่ากันว่ามีการแต่ง แปล ชำระราชาธิราชอย่างน้อย 3 ครั้งภายในปี 2325-2352 ราชาธิราชจึงมิใช่วรรณกรรมธรรมดาๆ แน่ ราชาธิราชฉบับพระยาพระคลังฯ ที่ถือเป็นฉบับวังหลวงสั้นกว่าวังหน้า ตรงที่เนื้อหา ‘ตัดจบ’ ที่สมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ เนื่องจากหลังจากนั้นมอญจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อพม่าแล้ว ว่ากันว่าฉบับวังหน้ามีการออกชื่อคนและสถานที่ใกล้เคียงกว่าฉบับวังหลวง[29]

ใจกลางของเรื่องราชาธิราชก็คือ ความขัดแย้งระหว่างมอญที่อยู่ตอนใต้ของประเทศพม่าในปัจจุบันกับพม่าที่มีศูนย์กลางอยู่ตอนกลางของประเทศ โดยตัวบทแล้ว ราชาธิราชเป็นวรรณกรรมที่แต่งจากเอกสารมอญหลายฉบับ ราชาธิราชไม่ได้เป็นพระนามกษัตริย์พระองค์เดียว แต่สื่อถึงกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ นั่นคือ พระเจ้าฟ้ารั่ว (นามเดิมมะกะโท), พระเจ้าราชาธิราช (หรือพระเจ้าสีหราชาธิราช นามเดิม พระยาน้อย) และพระเจ้าธรรมเจดีย์ ข้อสังเกตคือ ทั้งสามไม่มีสิทธิธรรมทางโลหิต พระเจ้าฟ้ารั่วมาจากตระกูลพ่อค้าในเมืองเมาะตะมะ พระเจ้าธรรมเจดีย์มีพื้นเพเป็นเณรสามัญชน[30] โดยเฉพาะพระเจ้าธรรมเจดีย์นั้น ความสำคัญไม่ใช่เรื่องการสืบเชื้อสายเท่ากับบุญญบารมี แม้กษัตริย์อื่นๆ จะมีวงศาคณาญาติจากชนชั้นสูง แต่ก็ไม่เท่ากับการบำเพ็ญบารมีเพื่อเข้าสู่ ‘พุทธวงศ์’ ที่ยิ่งใหญ่กว่า ‘มหาสมมติวงศ์’ อย่างเชื้อกษัตริย์ ที่แม้แต่พระพุทธเจ้ายังบำเพ็ญบารมีโดยทิ้งวงศ์กษัตริย์เข้าสู่พุทธวงศ์ ส่วนพระยาน้อย ขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยการกบฏต่อพระราชบิดา โดยการแย่งชิงราชสมบัติตัดหน้าพ่อขุนเมืองที่กษัตริย์อยากให้ขึ้นครองราชย์ต่อ กรณีของพระยาน้อยจึงเน้นไปที่ปัญญาบารมีที่ทำให้เข้าถึงราชบัลลังก์ได้[31] เช่นเดียวกับมะกะโทที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในการลงทุน ส่วนพระเจ้าธรรมเจดีย์ยังแสดงสติปัญญาด้วยการตัดสินคดีความเมือง และการตอบปริศนาธรรมที่กษัตริย์ในดินแดนอื่นไม่สามารถวิสัชนาได้[32]

ราชาธิราชเน้นและยกย่องกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุขมากกว่าการทำสงคราม แม้ว่าพระเจ้าราชาธิราชที่มีความสามารถในด้านสงครามก็ไม่สู้ปัญญาบารมีของพระเจ้าธรรมเจดีย์ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เพื่อจรรโลงธรรม ดังที่เขียนให้จุดจบทั้งสองต่างกันที่พระเจ้าราชาธิราชประสบอุบัติเหตุจากการคล้องช้างจนบาดเจ็บและสวรรคต ขณะที่พระเจ้าธรรมเจดีย์เล่าว่าปกครองบ้านเมืองยุติธรรม ศาสนารุ่งเรือง ไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุข[33]

พล็อตของราชาธิราชไปอยู่ในตัวบทประวัติศาสตร์เช่นกัน นั่นคือฉากการขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีของอะแซหวุ่นกี้ ว่ากันว่าการขอดูตัวไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การทำสงครามในไทยมาก่อน

“…อะแซหวุ่นกี้จึงให้ล่ามร้องบอกว่า เพลาพรุ่งนี้เราอย่ารบกันเลย ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพออกมาเราจะขอดูตัว…ครั้นรุ่งขึ้นให้เจ้าพระยาจักรีขี่ม้ากันสัปทน ยกพลทหารออกไปให้อะแซหวุ่นกี้ดูตัว…แล้วอะแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปดูลักษณะเจ้าพระยาจักรีแล้วสรรเสริญว่ารูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับหนึ่งกับสักหลาดพับหนึ่งดินสอแก้วสองก้อน น้ำมันดินสองหม้อมาให้เจ้าพระยาจักรี”

ตัวบทนี้คล้ายกับการที่พระเจ้าอังวะแห่งพม่าขอดูตัวสมิงนครอินท์ สมิงพระราม สมิงอังวะมังศรีในราชาธิราช ในส่วนของสมิงอังวะมังศรีคือ “…ก็สรรเสริญสมิงอังวะมังศรีลัคณสมบูรรณอันงามยิ่งนัก ทั้งปัญญาแลฝีมือก็กล้าหารนัก สมควรที่จะรับศึกกระษัตรได้ จึ่งให้เอาภานพระศรี เครื่องคำสำรับหนึ่ง กับอานม้าเครื่องทองด้วย ใส่เรือน้อยมาพระราชทานสมิงอังวะมังศรี” [34]

อีกตอนหนึ่งก็คือ ตอนที่พระเจ้าหงสาวดีสั่งทหารนำมูลดินมาถมคูเมืองพิษณุโลก ที่ให้ทหาร “ขุดดินปั้นก้อนใส่ชะลอมกองไว้ แต่ละกองสูงกว่ากำแพงเมือง แล้วพระเจ้าหงสาวดีก็แต่งเป็นรับสั่งเข้าไปว่า…ถ้าน้องเรามิออกมา จะให้ทหารถือมูลดินแต่คนละก้อน ถมเมืองเสียให้เต็มในชั่วนาฬิกาเดียว” คล้ายกับราชาธิราชตอนพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องมีหนังสือมาถึงอำมาตย์คนหนึ่งว่า “…อันพลทหารยกมาครั้งมากกว่านัก ถ้าจะถือดินคลก้อนจะทิ้งเข้าไปในเมืองพะสิมก็จะเตม ถ้าจะหักเมื่อใดก็จะได้เมื่อนั้น” [35]

พิธีปฐมกรรมที่เรารู้จักกันดีจากการที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำต่อพระยาละแวก ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์เช่นกันว่า “ …จึงตรัสว่า เราได้ออกวาจาไว้แล้วว่า ถ้ามีชัยแก่ท่านจะทําพิธีประถมกรรม เอาโลหิตท่านล้างบาทาเสียให้จงได้…ตรัสดังนั้นแล้วก็มีพระราชบริหารแก่มุขมนตรีให้ตั้งการพิธีประถมกรรมโดยสาตร พระโหราธิบดีชีพ่อพราหมณ์จัดแจงการนั้นเสร็จ จึงอัญเชิญสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนเกย เจ้าพนักงานองครักษ์เอาตัวพระยาละแวกเข้าใต้เกยตัดศีรษะ เอาถาดรองโลหิตขึ้นไปชําระพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องชัย ชีพ่อพราหมณ์เป่าสังข์ ประโคม ดุริยดนตรี ถวายมูรธาภิเษก ทรงอาเศียรภาทโดยสาตรพิธีเสร็จเสด็จเข้าพลับพลา” [36] วลีนี้ก็อาจใกล้เคียงกับสิ่งที่คล้ายกับพระเจ้าราชาธิราชทำกับมังรายกะยอฉะวา “สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จขึ้นสู่เกย ทรงเหยียบเหนือหน้าฆ้องชัยมหาฤกษ์ล้างพระบาทลงไป พอน้ำชำระพระบาทตกลงสู่มังรายกะยอฉะวาๆ ก็สิ้นพระชนม์ในขณะนั้น ฝ่ายพราหมณ์ปโรหิตทั้งปวงก็ถวายอาเศียรพาทน้ำกลศน้ำสังข์เสร็จแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินขึ้นยังราชอาสน์ ณ ภายใต้มหาเศวตฉัตรอันประเสริฐ พร้อมด้วยเสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตทั้งปวง” [37]   

ชัยชนะของอำนาจวัฒนธรรมจีนและวังหลวง

จะเห็นว่าจาก สามก๊ก มาสู่ ราชาธิราช ต้นฉบับที่แปลจากต่างด้าวมาเป็นไทยร้อยแก้ว ทำให้คลังคำและคลังพล็อตเพิ่มขยายไปกว่าวรรณกรรมกรุงเก่าแบบเดิม สอดคล้องกับการขยายตัวของการเขียนร้อยแก้วในเชิงพรรณนาโวหาร ในด้านหนึ่งวรรณกรรมได้สะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองในราชสำนัก ขณะเดียวกันตัวบทประวัติศาสตร์ก็ได้หยิบยืมสำนวนและพล็อตแบบวรรณกรรมเข้าไปใช้ด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเทียบกันแล้ว สามก๊กมีความแพร่หลายมากกว่า และได้รับการผลิตซ้ำมากกว่าราชาธิราช เนื่องด้วยมีความเป็นสากลกว่า และมีฐานผู้อ่านที่เป็นลูกหลานคนจีนมากกว่า แม้ราชาธิราชจะมีสำนวนแปลของฝั่งวังหน้าด้วย แต่ไม่พบว่าวังหน้าได้ทำการแปลสามก๊ก

จะเห็นว่าวังหน้าไม่ได้รับเอาอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนเป็นพลังทางการเมืองเมื่อเทียบกับวังหลวง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ พลังทางวัฒนธรรมของวังหลวงจึงเป็นพลังแบบ ‘เจ๊กปนมอญ’ ขณะที่วังหน้าจะเป็น ‘มอญปนลาว’ จากพันธมิตรทางการเมืองที่เห็นกันในช่วงสงคราม ขณะที่พันธมิตรของวังหลวงจะเป็นพ่อค้าและแรงงานจีนที่ทวีจำนวนมากขึ้น เช่นเดียวกับแรงงานทักษะสูง การที่รัชกาลที่ 3 มีฉายาว่า ‘เจ้าสัว’ ก็ย่อมแสดงออกได้ดีถึงพลังทางวัฒนธรรมดังกล่าว (ก่อนที่สมัยรัชกาลที่ 4 จะเน้นความเป็นมอญมากขึ้น)

แม้จะสิ้นวังหน้าอย่างกรมพระราชบวรสถาน (บุญมา) ไป แต่วังหน้าก็ยังเป็นขุมพลังที่วังหลวงประมาทไม่ได้ ยุคหลังๆ ที่วังหน้าเข้มแข็งก็คือ สมเด็จพระปิ่นเกล้าในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ในที่สุดการต่อสู้ก็สิ้นสุดลงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับการยุบวังหน้า และอนุสรณ์สถานสำคัญที่สุดของชัยชนะของวังหลวงก็คือ การรื้อถอนพระราชวังส่วนวังหน้าบางส่วนเพื่อสร้างเป็นสนามหลวงนั่นเอง.


[1] สุจิตต์ วงษ์เทศ, เจ๊กปนลาว (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2530)

[2] กรรณิการ์ สาตรปรุง, ราชาธิราช สามก๊ก และไซฮั่น โลกทัศน์ชนชั้นนำไทย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541)

[3] นิพัทธ์ แย้มเดช, “โคลงนิราศหริภุญชัย : ความสัมพันธ์ทางวรรณศิลป์ระหว่างโคลงนิราศล้านนาและภาคกลาง”, วรรณวิทัศน์, 19 : 1(มกราคม-มิถุนายน 2562) : 6-7

[4] นิธิ เอียวศรีวงศ์. “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” , ปากไก่และใบเรือ (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2543), หน้า103-124 และสายชล สัตยานุรักษ์. พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ.2325-2353) (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), หน้า 90-91  

[5] องค์ บรรจุน, สตรีมอญในราชสำนักสยามสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2475 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2550

[6] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : มติชน, 2543)

[7] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 22-26, 52-53

[8] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 29-32

[9] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 34

[10] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 49

[11] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 80-81

[12] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 162-163

[13] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 147-148

[14] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 157

[15] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 158

[16] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 166-167

[17] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 188

[18] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 211

[19] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 213

[20] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 215-217

[21] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 188

[22] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 206-207

[23] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 46-47

[24] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 36-37

[25] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 39

[26] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 41

[27] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 41-42

[28] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 44

[29] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 50-51

[30] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 88-89

[31] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 92-95

[32] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 96-108

[33] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 113-114

[34] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 37-38

[35] กรรณิการ์ สาตรปรุง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 42

[36] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน (พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2514), หน้า 242-243

[37] เจ้าพระยาพระคลัง (หน), ราชาธิราช (พิมพ์ครั้งที่ 18, กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2544), หน้า 358-359

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save