ประเทศไร้ทรงจำ ว่าด้วยบทกวีแห่งความโกรธเกรี้ยวของกวี

ในปัจจุบัน ผมคิดว่าเราหาคนที่ยังอ่านกวีนิพนธ์ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับวรรณกรรมประเภทอื่นๆ กวีนิพนธ์นั้นเป็นประเภทของวรรณกรรมที่มักจะถูกเข้าใจว่าอ่านยาก เข้าไม่ถึง หรือแม้กระทั่งไม่เข้าใจว่า ‘สาร’ ที่กวีนิพนธ์แต่ละบทกำลังจะสื่อนั้นคืออะไร ต้องการจะบอกอะไรต่อผู้อ่าน กวีนิพนธ์เป็นความ ‘แปลก’ ที่ผู้อ่านทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้ทันทีเหมือนกับเรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียง บทความ ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมไทย (บางส่วน) ยังคงผูกติดกวีนิพนธ์ไว้กับรูปแบบของวรรณกรรมโบราณที่มีฉันทลักษณ์กำกับอย่างชัดเจน เป็นโคลง เป็นฉันท์ เป็นกาพย์ เป็นกลอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งน่าเบื่อและเต็มไปด้วยศัพท์แสงที่ไม่รู้จะเข้าใจอย่างไร และที่สำคัญคนไทยถูกบังคับให้เรียนและท่องวรรณคดีไทยโดยที่มีข้อจำกัดอยู่มากในการทำความเข้าใจวรรณคดีและกวีนิพนธ์ในแบบอื่นๆ ดังนั้นกวีนิพนธ์จึงเป็นประเภทของวรรณกรรมที่ไม่ค่อยได้รับการสนใจเท่าไรนักในสังคมไทย

ความไม่เข้าใจในกวีนิพนธ์นี้เอง ทำให้ตลาดของบทกวีในสังคมไทยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าวรรณกรรมประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการรวมเล่มในท้องตลาด แต่กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยก็ไปปรากฏตัวอยู่กับศิลปะแขนงอื่นๆ หรือสื่อแบบอื่นๆ เช่น การจัดงานอ่านบทกวีที่เคยจัดกันบ่อยมากในช่วงกว่าสิบปีที่แล้วและกวีบางกลุ่มก็ยังคงจัดงานในลักษณะนี้อยู่บ้าง การจัดงานอ่านบทกวีบางครั้งจัดร่วมกับการแสดงดนตรี หรือศิลปะแสดงสด (performance art) หรือในบางโอกาส กวีนิพนธ์ไทยเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองในเวทีของทุกฝั่งฟากการเมือง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้กวีนิพนธ์ไทยยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แม้จะไม่ค่อยมีการรวมเล่มอย่างสม่ำเสมอในตลาดวรรณกรรมไทย

‘ประเทศไร้ทรงจำ’ เป็นการรวมเล่มบทกวีนิพนธ์เล่มแรกของ รอนฝัน ตะวันเศร้า กวีรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในแวดวงวรรณกรรมไทย รอนฝันเป็นกวีที่ทำงานอย่างต่อเนื่องมีผลงานตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร เว็บไซต์ต่างๆ และเคยมีผลงานตีพิมพ์ร่วมกับกวีคนอื่นๆ ใน ‘ดินแดนแห่งความสุขล้นทะลัก’ ของสำนักพิมพ์ชายขอบ ตลอดจนการอ่านบทกวีในงานต่างๆ และการอ่านบทกวีในกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้เขายังจัดงานอ่านบทกวีร่วมกับการแสดงอื่นๆ อีกหลายครั้ง และยังเป็นหนึ่งในกลุ่ม ‘เครือข่ายกวีสามัญสำนึก’[1] ที่มีกิจกรรมกวีนิพนธ์กับสังคมการเมืองอีกด้วย

ผมมีโอกาสได้อ่านผลงานของรอนฝันในช่วงแรกๆ ของการเขียนกวีนิพนธ์ ผมสังเกตว่าผลงานของเขานั้นเต็มไปด้วยเร่าร้อน ร้อนรุ่ม เหมือนเป็นการปลดปล่อยพลังของคนที่สิ้นหวังต่อชีวิตและสังคม ความอุกอั่งคั่งแค้นที่มีต่อสังคมอันอยุติธรรมถูกสาดออกมากผ่านถ้อยคำในกวีของเขา แต่ต่อมาผมคิดว่ารอนฝันน่าจะได้ตกตะกอนทางความคิดและอารมณ์และมันได้ส่งผลกระทบมายังงานของเขา บทกวีของเขามีท่าทีที่เยือกเย็นมากขึ้น รอนฝันมีความซับซ้อนในการเลือกใช้ทั้งสัญลักษณ์, ความเปรียบที่น่าสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและความเกรี้ยวกราดของเขาก็ยังเป็นลายเซ็นที่สำคัญในกวีของ รอนฝัน ตะวันเศร้า

บทกวีที่ว่าด้วยกวีนิพนธ์/ความเป็นกวีนิพนธ์/ความเชื่อในพลังของกวีนิพนธ์ และตัวกวี

สิ่งที่ทำให้กวีนิพนธ์มีความแตกต่างไปจากวรรณกรรมประเภทอื่นๆ ก็คือภาษาที่ใช้ในบทกวี ตัวภาษาของกวีนิพนธ์นั้นเป็นภาษาที่แตกต่างไปจากภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป มันคือภาษาที่แปลกประหลาด แตกต่าง และสร้างความรับรู้ที่บิดเบี้ยวไปจากภาษาที่คนใช้ในชีวิตปกติ เราอาจกล่าวได้ว่าภาษากวีนิพนธ์เป็นภาษาแห่งอารมณ์ความรู้สึกก็ได้ หรือจะเป็นภาษาที่นำผู้อ่านไปสู่โลกของจินตนาการและโลกที่ผิดแผกไปจากชีวิตจริง เราจะเห็นสำนึกในความเป็นกวีนิพนธ์ในบทกวีของรอนฝันอยู่ในหลายๆ บท เช่น ในบทแรกของเล่ม คือ ‘ในเงามืด’ ที่กล่าวว่า

ข้าพเจ้าคือกวีในเงามืด

ข้าพเจ้าเขียนบทกวีด้วยความมืด

เพราะที่นี่ไม่มีข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ที่นี่

ที่แห่งนี้มีแค่กวี

กวีที่เปรียบดั่งต้นไม้ประหลาด

ต้นไม้กลางพื้นที่รกร้าง

เป็นต้นไม้ที่รากชี้ฟ้าใบแผ่ใต้ดิน

นั่นแหละคือกวี

นั่นแหละคือข้าพเจ้า (หน้า 15)

“กวีที่เปรียบดั่งต้นไม้ประหลาด ต้นไม้กลางพื้นที่รกร้าง เป็นต้นไม้ที่รากชี้ฟ้าใบแผ่ใต้ดิน” เราจะเห็นภาพที่กลับหัวกลับหางของต้นไม้ที่รากชี้ขึ้นท้องฟ้าแต่ใบไม้กลับบานแผ่อยู่ใต้ดิน ภาพดังกล่าวคือการแสดงให้เห็นความเป็นกวีนิพนธ์ได้อย่างน่าสนใจ ราวกับเป็นการแนะนำให้ผู้อ่านได้เข้าใจธรรมชาติของกวีที่มีการนำเสนอภาพของความแปลกประหลาด และในฐานะที่เป็นบทแรกมันอาจได้ทำหน้าที่ในการบอกกล่าวผู้อ่านอีกว่าต่อไปนี้จะได้อ่านหรือพบเจอกับภาพแบบไหน

ในบทต่อมา ‘จนกว่าภาวะแห่งกวีจะเสือกกำเนิด’ รอนฝันพยายามแสดงให้เห็นการทำงานของบทกวีที่เป็น ‘ภาวะ’ ภายในตัวของกวีก่อนที่จะกลั่นกรองออกมาเป็นถ้อยคำโดยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ‘ภวังค์บทกวีเกิดขึ้นเมื่อใด’ จากนั้นรอนฝันพยายามอธิบายด้วยการนำเสนอปรากฏการณ์ธรรมชาติที่บิดเบี้ยวกับตัวเของกวีท่ามกลางปรากฏการณ์เหล่านั้น

ตอนนั้นฉันเองก็ลอยคออยู่กลางผืนมหาสมุทร

มวลน้ำกำลังกลืนโลกทั้งใบ

ฉันคายถ้อยคำออกมาเป็นฟองอากาศ

จนกว่าห้วงสุดท้ายจะแตกกระจาย (หน้า 16)

ประเด็นที่ผมสนใจก็คือ สิ่งที่รอนฝันพยายามชี้ให้เห็นนั้นชวนให้ผมคิดไปว่า กวีในฐานะที่เป็นคน เป็นผู้สร้างบทกวี กับตัวบทกวีที่เป็นผลผลิตของตัวกวีนั้นอาจเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากกัน ไม่เหมือนกับวรรณกรรมประเภทอื่นๆ เช่นเรื่องสั้นหรือนวนิยายที่นักเขียนจะสร้างตัวผู้เล่าเรื่องให้ทำหน้าทีในการเล่าเรื่อง แต่เมื่อเราอ่านบทกวี สิ่งที่เราอ่านคือ ‘สภาวะภายใน’ ของตัวกวี เราอาจไม่ได้อ่าน ‘เรื่องเล่า’ เพราะในบทกวีไม่มีเรื่องให้เล่า มีแต่เพียงอารมณ์ที่เป็นผลมาจากสภาวะภายในของตัวกวีที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังที่เขากล่าวเอาไว้ในบท ‘กฎหมายและวรรณกรรม’

วรรณกรรมคืออาวุธของฉัน

อาวุธที่ไม่ได้มีไว้ฟาดฟัน

แต่เพื่อการบดขยี้จากข้างใน (หน้า 55)

พลังของบทกวีเป็นสิ่งที่รอนฝันเชื่อมั่นเช่นกัน ดังที่เขาแสดงเอาไว้ในบทกวี ‘กฎหมายและวรรณกรรม’ เขาบอกว่า

ฉันหลั่งน้ำตายามอยู่ต่อหน้าวรรณกรรม

กฎหมายก็มีหัวใจแบบกฎหมาย

หากแต่คงสลับเส้นดำและแดง

จึงไม่ใช่หัวใจแบบมนุษย์

วรรณกรรมคือการควักหัวใจมาพินิจ

มองการเต้นเป็นจังหวะชีวิต

แล้วเขียนด้วยชีวิตทั้งชีวิต (หน้า 55)

รอนฝันเชื่อในพลังของบทกวีในฐานะที่เป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ โดยเฉพาะการต่อสู้ทางการเมือง ในบทกวีหลายชิ้นทั้งที่ผ่านมาตามสื่อต่างๆ ของเขาและที่ปรากฏอยู่ใน ‘ประเทศไร้ทรงจำ’ เล่มนี้ รอนฝัน ตะวันเศร้าดูเหมือนจะมีความเชื่อว่าในทางการเมืองนั้น วรรณกรรมและบทกวีคือ ‘แนวรบทางด้านวัฒนธรรม’ แม้อาจจะฟังดูเหมือนยุคสมัยของท่านประธานเหมาหลังจากการปราศรัยเรื่องศิลปะและวรรณกรรมที่เยนอาน แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นอย่างจริงใจที่รอนฝันมีต่อตัวบทกวี หรือพูดอีกอย่างก็คือ รอนฝันได้แสดงให้เห็นถึงศรัทธาที่เขามีต่องานกวีอย่างชัดเจนโดยเฉพาะจุดมุ่งหมายทางสังคมและการเมือง เช่นในบทกวี ‘ลอบฆ่า’

ลับมีดทุกวัน

เพื่อฆ่ามันผ่านคำกวี

ฉันจะลับมีดทุกวัน

จนคำมันบาดถึงกระดูกแห่งลมกระซิบ

ฉันจะฝึกแทง แทง และแทง (หน้า 59)

‘ต้นทุนกวี’ คือบทกวีที่พยายามแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ‘กวีแห่งความเป็นจริง’ กับ ‘กวีแห่งความฝัน’ สำหรับผมแล้วบทกวีชิ้นนี้ดูเหมือนจะเป็น ‘โจ๊ก’ ของแวดวงวรรณกรรมที่พยายามเสนอว่า ‘กวีก็ต้องกินข้าว’ และมันอาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่าง ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ ในความหมายที่หมายถึง ‘ชีวิต’ จริงๆ และเป็นชีวิตของผู้สร้างงานศิลปะ กับ ‘ศิลปะเพื่อศิลปะ’ ที่เชิดชูการทำงานศิลปะและยกย่องคุณค่าของงานศิลปะที่ (เข้าใจไปว่า) อุดมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองแล้ว

คุณย่อมรู้ดี

เมื่อคุณเขียนบทกวี

คุณย่อมต้องมีปลาย่างในตู้กับข้าว

หากคุณเป็นกวีแห่งความฝัน

ก็จงอยู่ในความฝันต่อไป

ถ้าอดตาย

จงกลืนกวีแช่น้ำปลาไปเสียเถอะ (หน้า 20)

ผมคิดว่าอีกประเด็นที่น่าสนใจของบทนี้ก็คือการทำให้กวีเป็นคนธรรมดา ต้องกินข้าว ดื่มบ้างก็ได้ มีความต้องการทางเพศ เป็นเรื่องปกติ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นความจริงในชีวิต ไม่ต้องเป็นกวีก็ต้องพบเจอเรื่องเหล่านี้ ต่างจากกวีแห่งความฝัน ที่หมกมุ่นอยู่ในอุดมคติที่กินก็ไม่ได้ ดื่มก็ไม่ได้นอกจากนี้ยังชอบสถาปนาตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่นๆ ราวกับข้าวปลาไม่ต้องกิน เหล้ายาปลาปิ้งไม่ดื่ม ทำตัวราวกับพระโพธิสัตว์มาโปรดสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นวัฏสงสาร กวีเหล่านี้ต่างหากควรตั้งข้อสงสัยว่าเอาอะไรมาเทศนาคนอื่น เพราะเป็นคนปกติยังเป็นไม่ได้เลย

รอนฝันปิดท้ายบทกวีชิ้นนี้เอาไว้ว่า

ไม่ต้องลงท้ายด้วย ‘แด่ศิลปะและความงดงาม’

เพราะคุณแม่งไม่รู้ห่าอะไรเลย (หน้า 20)

กวีนิพนธ์กับการเดินทางเพื่อค้นหาตัวเองของรอนฝัน ตะวันเศร้า

แม้จะดูเป็นกวีที่มุทะลุดุดัน เกรี้ยวกราดสมกับยุคสมัยแห่งความกราดเกรี้ยว แต่ผมก็ยังคิดว่า ‘ประเทศไร้ทรงจำ’ เล่มนี้ยังมีแง่มุมของความโรแมนติคในแบบของกวีอยู่ไม่น้อย ด้วยความที่ ‘ประเทศไร้ทรงจำ’ นี้เป็นการรวมเล่มบทกวีนิพนธ์เล่มแรกของกวี เราจึงจะได้เห็นแง่มุมของความพยายามในการทำความเข้าใจตนเองของกวี การเค้นเอาสภาวะทางอารมณ์ในหลากหลายรูปแบบออกมาเป็นถ้อยคำ การปลดปล่อยตนเองจากความรู้สึกหดหู่ โศกเศร้าและสิ้นหวังให้ออกมาเป็นบทกวี

‘ประเทศไร้ทรงจำ’ แบ่งออกเป็นสองภาค คือ ‘รอนฝัน’ กับภาคที่สองคือ ‘ตะวันเศร้า’ ในส่วนของ ‘ภาคแรก’ นั้นเป็นการนำเสนอ ‘สภาวะภายในจิตใจ’ ของรอนฝันในฐานะกวี เป็นส่วนที่ทำให้เราค่อยๆ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของรอนฝันอย่างช้าๆ และเนิบนาบ มีบางจังหวะที่รุกเร้าอย่างเร่าร้อนอยู่บ้างแต่ก็ไม่ร้อนแรงเท่ากับภาคที่สองของหนังสือ ในหลายๆ จุดอาจเป็นการเขียนขึ้นจากการประสบการณ์ที่ได้เห็น ได้ยินหรืออยู่ในสถานการณ์บางอย่างแล้วสะท้อนสภาวะที่เกิดขึ้นภายในของตนเองออกมา

เราอาจจะเข้าใจได้ว่า รอนฝันมีโอกาสได้ไปดูงานศิลปะในหอศิลป์หรือตามนิทรรศการหลายครั้ง เพราะบทกวีหลายชิ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกหลังจากที่เขาได้ชมงานศิลปะเหล่านั้น เช่นในบท ‘กราฟิตี้’ ที่พยายามบอกเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึกของกำแพงว่างเปล่าและกำลังรอคอยให้ใครสักคนมาพ่นสีสเปรย์และจะกลายเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เราจะได้เห็นว่ารอนฝันพยายามจะอธิบายความรู้สึกของการเป็นกำแพงที่ต้องการให้คนอื่นๆ มาทำให้ตนเองกลายเป็นงานศิลปะหรือเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ ในขณะที่ทุกคนได้สร้างงานศิลปะผ่านกำแพง แต่ตัวกำแพงเองกลับรู้สึกว่า

ฉันเป็นกำแพงสีเทาซีดครึม

ฉันเป็นที่ระบายความรู้สึก

ฉันเป็นเหยื่อข่มขืนทางศิลปกรรม

ฉันเป็นความคิดทางการเมือง

ฉันเป็นแค่งานหนึ่ง, เท่านั้น (หน้า 21)

รอนฝันใช้บุคลาธิษฐานทำให้กำแพงมีอารมณ์ความรู้สึกและพยายามพูดแทนมันออกมาว่าในบรรดางานศิลปะที่กำแพงถูกใช้เป็นเครื่องมือนั้น มันหาได้มีความยินยอมแต่อย่างใด กำแพงเป็นได้เพียงแค่พื้นผิว/วัสดุในการรองรับความคิดของคนอื่นเท่านั้น ไม่เคยได้เป็นตัวของตัวเองหรือมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง แม้กระนั้นบทกวีชิ้นนี้ก็ยังแสดงให้เห็นความสับสนบางอย่างอยู่เช่นกัน เช่นในตอนต้นของบทกวีที่เชื้อเชิญให้ผู้คนมา “จรรโลงฉันเถอะ” มาช่วยกันสร้างงานศิลปะบนกำแพง แต่เมื่อทุกคนมาสร้างงานศิลปะบนกำแพงแล้วเหตุใดจึงกล่าวว่าตนเองเพียงที่ระบายอารมณ์ ถูกข่มขืนจากงานศิลปะ เป็นเพียงงานชิ้นหนึ่งเท่านั้น ความสับสนดังกล่าวนี้อาจชวนให้เราคิดได้สามแบบ คือ กำแพงในงานศิลปะกราฟิตี้ควรมีสถานะอย่างไรในงานศิลปะ อย่างที่สองคือ ความสับสนของกำแพง (ในฐานะสิ่งมีชีวิต) ที่ไม่รู้จะจัดวางตัวเองอย่างไร กล่าวคือ กำแพงอาจอยากมีบทบาทและความสำคัญแต่โดยหน้าที่แล้วตัวกำแพงเองก็เป็นเช่นนั้นไม่ได้ อย่างสุดท้าย ความสับสนของรอนฝันเองที่พยายามเค้นหาคำตอบของสถานะและความสำคัญของกำแพงในงานกราฟิตี้ แต่ก็เป็นคำถามที่ไม่อาจหาคำตอบได้อย่างชัดเจน

ประเด็นของรอนฝันปรากฏอยู่บ่อยครั้งในบทกวีของเขาในภาคแรกนี้ก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ รอนฝันพยายามสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่เขามีต่อคนรอบข้าง มีต่อสังคม มีต่อโลกซึ่งบ่อยครั้งมันคือการสะท้อนสภาวะของความอึดอัด ไม่สมหวัง และโดดเดี่ยว ดังในบท ‘ความโดดเดี่ยวของตัวเอง’ ที่เขากล่าวว่า “ความสัมพันธ์นั้นเหมือนการปีนเขา” (หน้า 27) ในระหว่างการขึ้นเราจะได้พบเจอคนมากมายแต่เมื่อไปถึงยอดเขากลับไม่เห็นใครอีกเลย รอนฝันเปรียบความพยายามในการเรียนรู้ที่อยู่กับความโดดเดี่ยวเหมือนกับการปีนลงจากเขา เพราะมันคือสิ่งที่ต้องทำด้วยตัวคนเดียวและจะไม่เห็นใครอีกเหมือนตอนที่กำลังจะขึ้นเขา

โลกและชีวิตที่รอนฝัน ตะวันเศร้าพยายามทำความเข้าใจนั้นอาจเป็นโลกที่หม่นมืด ดูไร้ความหวัง เป็นชีวิตที่ร่วงหล่นและแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ ดังที่เขากล่าวเอาไว้ใน ‘เก็บชีวิตมาได้เพียงเท่านี้’ ในบทนี้มันชวนให้ผมรู้สึกว่าท่วงทำนองในบทกวีของเขาเป็นเหมือนเพลงโพสต์ร็อคที่ค่อยพาผู้ฟังดำดิ่งลงสู่ชีวิตอันกระจัดกระจาย โศกเศร้าแต่งดงาม มันชวนให้เราโอบกอดความไม่สมประกอบและความไม่จีรังของชีวิตได้อย่างน่าสนใจ

เราแตก เราหล่น และเรากระจัดกระจาย

ความหมายต่างๆ ที่สลายขึ้นไปบนอากาศ

ทำให้เรากลายเป็นความแปลกแยกที่แท้จริง

ไม่ใช่แค่คนโง่ที่พร่ำเพ้อถึงความแปลกหน้าของตัวเอง (หน้า 44)

(แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของผมก็คือ ผมกับดนตรีโพสต์ร็อคอาจเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะผมรู้สึกหงุดหงิดกับเสียงงุ้งงิ้ง เสียงแอมเบียนต์ที่รบกวนโสตประสาทอยู่ตลอดเวลา แต่บางทีมันก็น่าฟัง…แต่ก็ไม่ตลอด… (?!))

ตะวันเศร้า: ยุคสมัยแห่งความทดท้อ สิ้นหวังและเกรี้ยวกราด

ในภาคที่สองของเล่ม ‘ตะวันเศร้า’ คือภาคที่แสดงให้เห็นความเกรี้ยวกราดและเร่าร้อนของรอนฝันได้อย่างชัดเจน ความโกรธเกรี้ยวต่อโลก ต่อสังคมไทย ความสิ้นหวัง และหดหู่ถูกถ่ายทอดเป็นบทกวีของเขาในหลายๆ บท แน่นอนว่ารอนฝันมีอุดมคติทางการเมืองที่ชัดเจนและสะท้อนอยู่ในบทกวีของเขา ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าเราจะได้เห็นความเชื่อมั่นว่าบทกวีคืออาวุธและเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง ฉะนั้นการอ่านบทกวีในภาคนี้จึงเป็นเหมือนการฟังรอนฝันตะโกนใส่อย่างเผ็ดร้อนเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามีความผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้นในสังคมไทยและมันไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ

ในบท ‘แล้วเราจะพบกัน’ รอนฝันยืนยันอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองของเขาเอาไว้ว่า

เผด็จการจงพินาศ

อิสรภาพจงเจริญ

เผด็จการจงพินาศ

หมาป่าพเนจรวิ่งห้อไป

ในมิติทางสังคมที่กว้างใหญ่และเขียวขจี (หน้า 77)

ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นเขาวิพากษ์มันอย่างเจ็บแสบ ไม่เพียงเฉพาะตัวความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากระบบเท่านั้น แต่ยังบริภาษรวมไปถึงบรรดา ‘พสกนิกร’ ที่ช่วยผดุงความอยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย เช่นในบท ‘เดินออกจากห้องพิจารณาคดี’

สวรรค์มีที่ว่างเสมอ

ให้ปีศาจแอบซ่อนตัว

เทวดาขี้ฉ้อบินถลาลม

ยืนเยี่ยวใส่ปากที่อ้ารออยู่บนโลก

พสกนิกรเสียงเล็กแหลมเหล่านั้น

อร่อยไหมล่ะที่รัก?

รสฉี่แห่งคนดี

ลื่นคอไหมล่ะที่รัก?

อร่อยกว่าเลือดไพร่เป็นไหนๆ (หน้า 85)

ในบท ‘ทาสบางสิ่ง’ รอนฝันชี้ให้เห็นสำนึกของความเป็นทาสที่ฝังตัวอยู่ในหมู่ทาสซึ่งมีมาอย่างยาวนานราวกับเป็น DNA ของทาสเหล่านั้นแม้ว่าทาสจะถูกปลดปล่อยแต่ก็ไม่อาจปลดปล่อยสำนึกแห่งความเป็นทาสไปได้

บางสิ่งบอกให้เลิกทาส

บางทาสไม่อาจเลิกต่อบางสิ่ง

บางสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์มาแต่อดีตชาติ

ทาสจึงขอเป็นทาสบางสิ่งทุกชาติไป (หน้า 89)

‘พวกคุณ’ คือบทกวีที่รอนฝันอุทิศให้กับ “ทุกความตายบนท้องถนนเมืองหลวง” ‘พวกคุณ’ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณของผู้วายชนม์ที่ยังไปไหนไม่ได้เพราะความยุติธรรมยังไม่มีในพจนานุกรมของรัฐไทย รอนฝันพยายามชี้ให้เห็นว่าในประเทศนี้ทุกอย่างยังคงเป็นเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ความตายของ ‘พวกคุณ’ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศนี้ให้ดีขึ้นมิหนำซ้ำ ‘พวกคุณ’ ยังคงติดอยู่ที่เดิมในฐานะผีที่ไปผุดไปเกิดไม่ได้ สำหรับรอนฝันแล้วมันเป็นได้ทั้งความโกรธและความสงสัยที่ว่า “ทำไมพวกคุณยังต้องอยู่ที่เดิม” (หน้า 69)

ส่งท้าย: ข้อสังเกตเล็กน้อยที่มีต่อบทกวีนิพนธ์เล่มแรกของกวี

ดังที่ผมกล่าวไปแล้วว่า รอนฝัน ตะวันเศร้าคือกวีรุ่นใหม่ที่มีความน่าสนใจในแวดวงวรรณกรรมไทย ความน่าสนใจของรอนฝันอยู่ทั้งในบทกวีและกิจกรรมที่เขานำบทกวีเข้าไปเกี่ยวข้อง สำหรับผมมันช่วยเปิดพื้นที่ให้กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามในฐานะที่ ‘ประเทศไร้ทรงจำ’ คือบทกวีนิพนธ์รวมเล่มครั้งแรกของกวี มันมีความไม่ราบเรียบบางอย่างเกิดขึ้นในบทกวีเหล่านั้นและผมคิดว่ามันคือสิ่งที่พัฒนาได้ในโอกาสต่อไปของการรวมเล่ม

จุดเด่นของรอนฝันคืออารมณ์ความรู้สึกที่พลุ่งพล่าน เร่าร้อน สำแดงอารมณ์ออกมาได้อย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันผมก็คิดว่ามันเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน ตลอดการอ่านผมเห็นว่ารอนฝันพยายามขมวดอารมณ์ต่างๆ และนำเสนอมันออกมาด้วยถ้อยคำประณีต แต่ผมกลับเห็นว่าความชัดเจนของอารมณ์ในบทกวีของรอนฝันนั้นอาจพัฒนาให้มีความซับซ้อนทางอารมณ์มากขึ้นกว่านี้ได้ โดยเฉพาะในภาคที่สองของเล่ม เช่นในบทที่อุทิศให้กับความตายของ ไม้หนึ่ง ก. กุนที (กวีและนักเขียน) ผมพยายามจะเข้าใจว่ารอนฝันอยากนำเสนอความโกรธเกรี้ยวภายในตัวของเขา แต่การกู่ตะโกนเพื่อแสดงออกถึงความโกรธแต่อย่างเดียวนั้นไม่อาจนำพาอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านไปเดินทางไปด้วยกันกับบทกวีได้ทุกคน เพราะมันอาจจะมีเพียงคนไม่กี่คนที่จะเข้าใจความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความตายของไม้หนึ่ง ก.กุนที ผมคิดว่าบทกวีอาจนำเสนอมิติทางอารมณ์ที่ซับซ้อนพร้อมๆ กับความโกรธไปด้วยกันได้ โดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่ากำลังฟังคนตะโกนใส่หูอย่างเดียว

ผมเล็งเห็นความพยายามที่จะนำเสนอความซับซ้อนทางอารมณ์ของรอนฝันในบทกวีแต่ละชิ้น ความซับซ้อนเหล่านั้นปรากฏตัวอยู่ในความเปรียบและภาพพจน์ที่เขาพยายามนำเสนออยู่ในบทกวี ดังที่ผมกล่าวไปแล้วในส่วนแรกของบทวิจารณ์ว่า รอนฝันมีความเข้าใจเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ที่น่าสนใจ คือเขามองเห็นว่าข้อได้เปรียบของกวีนิพนธ์ที่มีมากกว่าวรรณกรรมประเภทอื่นๆ คือการนำเสนอภาพของความแปลกประหลาดเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดหรือความประหลาดบรรดามีเหล่านั้นได้เร้าอารมณ์ความรู้สึก ไปกระทบผัสสะทั้งหลายของผู้อ่านให้เคลิบเคลิ้มไปตามบทกวี แต่เมื่อมันถูกนำมาผูกโยงกับโลกทัศน์ทางการเมืองของรอนฝัน ความซับซ้อนเหล่านั้นค่อยๆ ลดลงไปโดยที่อาจจะตั้งใจและไม่ตั้งใจ สิ่งที่ผมอยากเสนอเอาไว้ก็คือ รอนฝันยังขาดความสม่ำเสมอของการนำเสนอความซับซ้อนทางอารมณ์ในบทกวีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เสนอว่า รอนฝันควรทำให้ซับซ้อนมากขึ้นด้วยการทำให้บทกวีของเขาประหลาดกว่าเดิม ผมเพียงคิดว่าถ้ามันมีความสม่ำเสมอในการนำเสนอบทกวีของรอนฝันน่าจะเร้าอารมณ์ผู้อ่านได้มากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าภาษาของกวีนิพนธ์จะเป็นภาษาแห่งความแปลกประหลาด หรือภาษาที่เบี่ยงเบนไปจากภาษาปกติ แต่มันก็ยังเป็นภาษาที่ ‘สื่อสารได้’

ในแง่หนึ่ง ภาษากวีคือการท้าทายขนบและกฎเกณฑ์ของไวยากรณ์ในแต่ละภาษา กล่าวคือ ถ้าหากไวยากรณ์ของแต่ละภาษามีกำแพงที่แสดงอาณาเขตของการสื่อสารได้กับสื่อสารไม่ได้ ภาษากวีก็คือการเดินอยู่บนกำแพงนั้นนั่นเอง ดังนั้นรอนฝันอาจไม่จำเป็นต้องทำให้มันประหลาดไปกว่านี้ เพียงแค่รักษาจังหวะให้สม่ำเสมอก็เพียงพอแล้ว


[1] โปรดติดตามกิจกรรมของกลุ่มนี้ได้ทาง https://www.facebook.com/Commonsensepoetrynetwork

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save