fbpx

ผละโรงเรียนโยม สู่โลกโรงเรียนธรรม : ฝันที่ไม่มีทางเลือกของสามเณรใต้ร่มการศึกษาผ้าเหลือง

ตอนอายุ 13 ปี คุณ -และเรา- ทำอะไรกันอยู่บ้าง

13 ของบางคนคือการผลัดเปลี่ยนไปสู่การเป็นวัยรุ่น เป็นโค้งสุดท้ายของเด็กชายและเด็กหญิง ที่อีกสองปีข้างหน้าเรากำลังจะกลายเป็นนายหรือนางสาว 

กับบางคน มันคือการโยกย้ายที่เรียนใหม่ จากชั้นประถมศึกษาไปสู่ชั้นมัธยมศึกษา โอบรับสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ เครื่องแต่งกายใหม่ และโลกใหม่ที่ห่างไกลจากการเป็นเด็กอีกหนึ่งก้าว

และกับบางคน มันยังหมายถึงขวบปีของการห้อตะบึงไล่กวดลูกฟุตบอล กอดคอวิ่งสนุกกับเพื่อนหลังออดเรียนคาบสุดท้ายดัง หัดเจ็บจากรักและไม่ถูกรัก หรือสำรวจจักรวาลดนตรีด้วยการกำซาบรสเจ็บตรงปลายนิ้วที่คอร์ดกีตาร์มอบให้ ฯลฯ

กล่าวให้ถึงที่สุด ขวบปีเหล่านั้นคือช่วงเวลาที่เราส่วนใหญ่กอปรรสนิยมความชอบ เท่ากันกับที่ทำความรู้จักตัวเอง พลังงานของคนที่เริ่มเป็นหนุ่มสาว เห็น ‘ความเป็นไปได้’ มากมายที่ชีวิตมอบให้ได้ 

ในความสนุก ในเสียงหัวเราะหรืออาจจะร้องไห้ของชีวิตอันเป็นโค้งสุดท้ายของวัยเด็กและก้าวแรกของการเติบโตไปสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ สำหรับเด็กชายและเด็กหนุ่มวัย 13-18 ปีที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดผ่องพลอยวิริยาราม -และรวมถึงโรงเรียนพระปริยัติธรรมอีกหลายแห่ง- ถือเป็นวัน เป็นเวลาและเป็นวัยแห่งความสงบสำรวมใต้ร่มเงาของศาสนาพุทธและการบวชเรียน

“ถ้าไม่บวชจะลำบาก”

ยังไม่พ้นช่วงเที่ยง แต่แดดฤดูร้อนก็กราดเกรี้ยว แผดเผาแต่หัววัน

โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดผ่องพลอยวิริยารามเงียบสงบ ค่าที่ว่าเป็นช่วงเวลาปิดภาคเรียน เณรหรือคือนักเรียนส่วนใหญ่เลือกเดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้าน เหลือพระไม่กี่รูปทำกิจธุระสามัญรายวัน ห้องหอและโบสถ์จึงเงียบเหงา 

แต่ก็ไม่ใช่เณรทุกรูปจะได้กลับบ้าน -หรือในทางกลับกัน มีบ้านให้กลับ บางรูปใช้เวลาช่วงปิดเทอมในรั้วโรงเรียน เว้นก็แต่ว่าไม่ต้องเข้าเรียนใดๆ เพราะยังถือเป็นช่วงหยุดพักผ่อน ชวนนึกถึงบางฉากบางตอนในหนังไฮสคูลตะวันตกที่ตัวละครต้องอยู่โยงในโรงเรียนช่วงคริสมาสต์เพราะไม่มีบ้านให้กลับ นำไปสู่การเล่นปาหิมะหรือสังสรรค์สุดขีดกับเพื่อนที่ ‘ต้องติด’ อยู่ในโรงเรียนเหมือนกัน

แม้จะคล้ายคลึงกันในแง่เป็นโรงเรียนประจำ แต่โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็ไม่ใช่โรงเรียนทั่วไป ในฐานะโรงเรียนที่ให้การศึกษาแก่เด็กชาย-เด็กหนุ่มที่บวชเรียน พวกเขาจะได้เรียนภาษาบาลี, นักธรรมและหลักสูตรสามัญจากกระทรวงศึกษาธิการภายใต้กฎและมารยาทที่ควรพึงปฏิบัติทางศาสนา

อาจไม่ถึงขั้นเป็นทางแยกของชีวิต แต่การได้มาเล่าเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมของเด็กชายหลายคนอาจหมายความถึงการใช้ชีวิตที่ต่างไปจากเพื่อนร่วมรุ่นที่จบชั้นประถมศึกษามาพร้อมกัน อะไรทำให้เด็กชายบางคนเลือกสละ ‘โรงเรียนโยม’ มาสู่ ‘โรงเรียนธรรม’ พ้นไปจากความหลงใหลต่อคำสอนศาสดาผู้นิพพานไปกว่าสองพันปี คำตอบอาจอยู่ที่ค่าใช้จ่ายของการศึกษา

เณรเฟส

‘เณรเฟส’ กับ ‘เณรแบงก์’ ใช้ชีวิตย่างเข้าขวบปีที่ 14 ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ห่มร่างด้วยผ้าสีกรัก หน้าเกลี้ยงอย่างหน้าของเด็กที่ปราศจากคิ้วและไรผม ทั้งสองอยู่โยงในโรงเรียนช่วงปิดภาคเรียนด้วยเหตุผลพื้นฐานอย่างความยากลำบากในการกลับบ้านเกิด -ทั้งในแง่ระยะทางและค่าใช้จ่าย คนหนึ่งมาจากนครพนม อีกคนหนึ่งแม้จะอยู่แค่สมุทรปราการ ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่กี่อึดใจ แต่ใช่จะไม่มีธุระเรื่องเงินทองพ่วงมาด้วย

ต่างที่ต่างถิ่น แต่ที่เณรน้อยทั้งสองรูปมีเหมือนกันคือปัจจัยที่ทำให้เลือกเข้าศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมอย่างค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของโรงเรียนสามัญ

“ยายไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม” เณรเฟสบอกเราเช่นนั้น ยายของเณรรับจ้างทำนาอยู่ที่นครพนม ส่วนพ่อกับแม่ซึ่งแยกทางกันตั้งแต่เขายังเล็กนั้นทำงานรับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ และการที่เขาต้องออกเดินทางมาเรียนไกลจากบ้านเกิด กินระยะเวลาบนถนนมิตรภาพนานสิบชั่วโมงจากนครพนมนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะที่จังหวัดเขาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมเช่นนี้

“ถ้าไม่บวช ที่บ้านเขาก็ส่งเรียนลำบาก บวชก็ได้เรียนหนังสือด้วย” เณรบอก แล้วนิ่งคิด “บวชก็ดีครับ จะได้ไม่เป็นภาระยาย”

ภาระที่ว่า กินความตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการเรียนและการกินอยู่ประจำวัน หนึ่งปากย่อมหมายความถึงหนึ่งท้องและมากกว่าหนึ่งมื้อ และไม่ว่าอย่างไร การบวชเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปมหาศาล เพราะไม่ต้องเสียค่าบำรุงการศึกษา อาหารก็ได้มาจากการบิณฑบาตและญาติโยมเป็นหลัก 

ขณะที่สามเณรแบงก์ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกันดูจะใกล้ชิดวัดมากกว่า ค่าที่เขาเป็นเด็กวัดมาตั้งแต่เล็ก “หลวงตาเขาเป็นพระเหมือนกัน พ่อแม่เลยเอาผมมาฝากเป็นเด็กวัดตั้งแต่เด็กๆ” เณรเล่า “แต่ชั้นประถมก็เรียนโรงเรียนโยมเหมือนคนอื่น แล้วค่อยมาบวชเรียนที่นี่”

ทำไม -เราถามหาเหตุผล

“เพราะถ้าไม่บวชจะลำบาก” เป็นคำตอบ 

แม่ของเณรแบงก์รับจ้างทั่วไป ส่วนพ่อเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เขาได้เจอหน้าพ่อแม่เดือนละครั้ง การเข้าเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมช่วยลดค่าใช้จ่ายที่บ้านไปได้มหาศาล ‘ลำบาก’ ที่ว่านั้นจึงกินความตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิต ซึ่งไม่มากก็น้อย นี่ย่อมสะท้อนเงาความเหลื่อมล้ำที่แนบเนียนแฝงตัวเป็นหนึ่งเดียวกับระบบการศึกษามายาวนาน

ความฝันของเณร

เณรแบงก์

กิจวัตรประจำวันของสามเณรและพระในโรงเรียนพระปริยัติธรรมคือการตื่นมาทำวัตรเช้า ซึ่งรวมถึงการบิณฑบาต เข้าเรียนช่วงเช้า พักเที่ยง เข้าเรียนช่วงบ่ายและทำวัตรเย็น จากนั้นจึงเข้านอนเวลาสามทุ่ม 45 นาทีตรงกับเพื่อนเณรด้วยกัน

มองผ่านๆ หากไม่นับการตื่นมาทำวัตรเช้ากับวัตรเย็น ชีวิตของสามเณรก็ดูไม่ต่างจากเหล่าเด็กชายในโรงเรียนสามัญทั่วไปนัก แต่หากพินิจโดยละเอียด เหล่าเด็กชายทั้งหลายยังได้เล่นกีฬา, เล่นดนตรี, ไปดูหนังหรือทำกิจกรรมสันทนาการสารพัดในช่วงชีวิตที่เปิดโอกาสให้มนุษย์คนหนึ่งได้ลองผิดลองถูก ลองชอบลองไม่ชอบ แต่เด็กชายที่นำหน้าชื่อด้วยคำว่าสามเณรทำเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากถือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่สำรวมและอาจผิดวินัย

เราถามถึงช่วงเวลาว่างตั้งแต่เรียนภาคบ่ายเสร็จจนถึงทำวัตรเย็นกินเวลานานหลายชั่วโมงของสองเณรน้อย ทั้งคู่นิ่งเงียบไปพักใหญ่คล้ายควานหาคำตอบของสิ่งที่ตัวเองทำ

“ก็ไม่ได้ทำอะไรครับ นอนเล่น” เณรแบงก์บอก

เณรเฟสยิ้ม แล้วเฉยๆ “อาตมาดู TikTok”

อินเทอร์เน็ตน่าจะเป็นไม่กี่อย่างที่เชื่อมชีวิตเหล่านักบวชตัวน้อยเข้ากับโลกภายนอก “ชอบดูคลิปเขาแต่งรถมอเตอร์ไซค์กัน” เณรบอก “ถ้าสึกไปก็อยากไปแต่งรถมอเตอร์ไซค์”

จะว่าไปแล้ว ‘ความว่าง’ ของการบวชเรียนก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลายคนข้างนอกมองข้าม ในนิยามของความสำรวม ความสุภาพ ขีดเส้นให้นักบวชไม่ว่าจะวัยใดอยู่พ้นจากกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่กินความตั้งแต่ความบันเทิง ความโลดโผน หรือความสนุกสนาน สามเณรเหล่านี้จึงมีเวลาว่างมากมายเหลือเฟือ ที่หากพวกเขาไม่ทำความสะอาดห้องหับที่อยู่อาศัย ก็หมายถึงการลงมากวาดใบไม้นอกอาคาร และพ้นไปจากนั้นคือการนอนหรือทำสมาธินิ่งๆ กับตัวเองดังที่เณรแบงก์บอก

โลกของการ ‘หาที่ทางความชอบ’ ได้ลองผิดและลองถูกของเด็กผ่านการกระโจนเข้าหากิจกรรมต่างๆ จึงไม่ปรากฏในสมการชีวิตของสามเณร 

ในอนาคตอันใกล้ สามเณรเฟสเห็นภาพตัวเองลาสิกขาแล้วไปทำงานรับจ้าง “อยากไปเทปูนเพราะชอบงานก่อสร้าง” เขาบอก “เมื่อก่อนพ่อเขาสอนให้อาตมาผสมปูน ตอนนั้นได้ค่าแรงวันละ 200-300 บาทเลยนะ” 

ส่วนเณรแบงก์ เขาคำนวณอนาคตตัวเองว่าคงดำรงตนเป็นเณรถึงวัย 18 ปีแล้วจึงสึกออกไปทำงานเพื่อดูแลพ่อแม่ “คงไปเปิดร้านอาหาร” เขาเล่าความฝันให้ฟัง 

นึกถึงความเป็นไปได้มากมาย ในความฝันอื่นของเด็กคนอื่นอีกมากมายที่เคยอ่านเจอ เคยรับฟัง ฝันของบางคนอยู่ไกลออกไปอีกซีกโลก หรือกับบางคน ฝันอาจหมายถึงการออกไปพ้นจากดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ ฝันของบางคนยังอาจวาดหวังขยับขยาย เปลี่ยนแปลงใหญ่โต -และกับบางคน มันก็ใกล้ตัวและชัดเจนราวกับปรากฏตัวให้เห็นได้ตรงหน้า

พระทอง

สามเณรมีหน้าที่ทำความสะอาดห้องเรียน ที่หลับนอน ใช้ชีวิตอยู่ในพระธรรมวินัย และทุกอย่างนี้ผ่านการตรวจตราของพระพี่เลี้ยง หรือพระที่อายุมากกว่าสามเณรในโรงเรียน และทั้งสามเณรเฟสกับสามเณรแบงก์ก็อยู่ภายใต้การดูแลของ ‘พระทอง’

พระทองเข้าเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมตั้งแต่อายุ 13 ปีและบวชยาวนานเรื่อยมาจนเข้าชั้นมหาวิทยาลัย 

โศกนาฏกรรมในชีวิตทำให้พระทองบวชหน้าไฟตั้งแต่ยังใช้คำนำหน้าเป็นเด็กชาย แม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้ห่มผ้าเหลือง หากแต่เขาก็ไม่ได้อยู่ในสถานะสามเณรยาวนานนัก หลังลาสิกขา ชีวิตพาเขาเร่ร่อนไปตามชั้นมัธยมปีที่หนึ่งของโรงเรียนหลายแห่ง และลงเอยที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ต่างจังหวัด “มันเป็นโรงเรียนประจำแล้วก็ไม่มีค่าเทอม เรามีหน้าที่เรียนแล้วก็ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ในโรงเรียน” เขาเล่า และแม้จะพินิจความเหมือนกับความต่างของโรงเรียนประจำกับโรงเรียนนักบวช แง่นี้แล้วโรงเรียนประจำยังดูจะ ‘มีชัย’ กว่าในแง่ของอิสระสำหรับเยาวชน และการมีพื้นที่ให้ลองใช้ชีวิต

ทว่า นั่นก็เป็นแค่เพียงมุมมองของคนนอกอย่างเรา เมื่อพระทองเล่าว่า การเรียนในโรงเรียนประจำแห่งนั้นเป็นอีกหนที่ชีวิตผลักไสให้พระทองออกจากโรงเรียนแล้วมาเริ่มเรียนในที่แห่งใหม่อีกครั้ง

“ญาติเลยแนะนำให้มาบวชเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม เพราะไม่มีค่าเทอมเหมือนกันและครบถ้วนกว่าในแง่การศึกษา” เขาบอก “อาหารการกินเราก็บิณฑบาตได้ ขณะที่ถ้าเรียนในโรงเรียนโยม บางทีเราก็ขาดแคลนอาหารเหมือนกัน”

พระทอง

เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันของพระทองหมดไปกับการดูแลความเรียบร้อยของวัด หรือช่วยก่อสร้างอารามด้านนอกอาคารซึ่งต้องใช้แรงงานมหาศาลในการถมอิฐก่อปูน แต่ส่วนใหญ่แล้วเขารับหน้าที่ดูแลสามเณรน้อยทั้งหลายเป็นหลัก ซึ่งก็ถือเป็นงานหนักอยู่ไม่น้อยในช่วงเปิดเทอม “สามเณรส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน บางทีญาติๆ ของเณรแนะนำต่อๆ กันให้มาบวชเรียนที่นี่เพราะลดค่าใช้จ่าย หรือบางคนก็ดูจากป้ายประกาศเพราะโรงเรียนนี้ไปประกาศที่ต่างจังหวัดด้วย เด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนจึงมักมาจากบ้านที่มีฐานะยากจน และอาตมาว่าการได้มาเรียนที่นี่ก็ทำให้พวกเขามีโอกาสได้ศึกษาต่อ และไม่ขาดปัจจัยสี่ด้วย”

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา กว่าครึ่งชีวิตที่พระทองอยู่กับผ้าเหลืองและคำสอนของเจ้าชายผู้ออกบวชเมื่อสองพันปีก่อน “บางทีอาตมาก็คิดถึงชีวิตเก่าๆ บ้างนะ มีอิสระมากกว่า อย่างตอนอยู่โรงเรียนโยม หลังเลิกเรียนก็ยังออกไปเดินเล่นได้ เมื่อก่อนอาตมาชอบปั่นจักรยานหรือขับรถมอเตอร์ไซค์ไปตามที่ต่างๆ แต่พอบวชก็ออกไปไหนไม่ได้เลย แต่นั่นแหละ ถ้าไม่บวช อาตมาคงลำบากกว่านี้” เขาสรุป “เพราะการใช้ชีวิตข้างนอกนั้นเราต้องมีเงิน มีที่อยู่อาศัย” 

และเวลานี้ พระทองไม่มีทั้งสองอย่าง 

ตลอดเวลาของการสนทนา บ่อยครั้งความเงียบเป็นฝ่ายจับจองที่นั่งระหว่างประโยค นั่นไม่ใช่ผลลัพธ์ของการพูดไม่เก่ง หากแต่เป็นความเงียบที่ถือกำเนิดจากความครุ่นคิดบางอย่าง และรวมไปถึงการหวนหาอดีตที่ล่วงผ่านมาแล้วนานแสนนาน “อาตมาก็เคยเสียดายเหมือนกันนะ” เขาพูดขึ้นมาหลังความเงียบทิ้งตัวเนิ่นนาน “เพื่อนๆ สมัยเรียนโรงเรียนโยมบางคนได้ดีก็เยอะ มีเงินเดือน อยู่ในสภาพแวดล้อมครอบครัวที่ดี บางคนก็ไปเรียน กศน. หรือเรียนด้านวิชาชีพแล้วทำงานของเขาไป

“ก่อนบวช อาตมาเคยอยากเป็นจิตรกร วาดมาตั้งแต่ประถม 4 แล้ววาดเก่งด้วยนะ” เขาหัวเราะ “ให้วาดตอนนี้ก็คงวาดได้แต่ต้องใช้เวลาหน่อย”

คำถามสุดท้ายของเราที่มีต่อพระทองในวันนั้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะถามถึงอนาคตของเจ้าตัวหลังเรียนปริญญาตรีจบ คำตอบของพระหนุ่มเป็นความเงียบเสียมาก “ถ้าให้อาตมาสึกหรือลาออกไป ก็คงใช้ชีวิตยากแล้วเพราะบวชนาน อาจจะปรับตัวยาก เราไม่รู้แล้วว่าโลกภายนอกเขาเป็นอย่างไร” 

ถ้าในอนาคตพระมีครอบครัวและมีลูก พระอยากให้ลูกบวชเรียนเหมือนกันไหม -ได้ยินเสียงตัวเองถามไปเช่นนั้น

นิ่งเงียบเป็นคำตอบระลอกแรกอีกเช่นเคย ก่อนเขาจะเฉลย “ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนโยมมากกว่า”

ถ้าเขามีทางเลือก เขาก็ไม่มาหาเรา

“เด็กๆ ที่มาเรียนที่นี่ไม่มีทางเลือก ถ้าเขามีทางเลือก เขาก็ไม่มาหาเราหรอก”

พระมหาธีรภรณ์ ธีรญาโณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดผ่องพลอยวิริยารามบอกเราเช่นนั้น บอกเราอย่างคนที่เข้าใจชีวิต อย่างคนที่เข้าใจการได้เลือกและไม่ได้เลือก และอย่างคนที่เข้าใจทั้งทางโลกและทางธรรม 

โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดผ่องพลอยวิริยารามมีครู 20 คน ถือว่าพอสำหรับความต้องการของนักเรียนหรือสามเณรซึ่งแบ่งเรียนออกเป็นห้องละ 25-30 คน ตามโถงทางเดินมีบอร์ดที่ยังทิ้งร่องรอยการเลือกตั้งประธานนักเรียนและกิจกรรมวันแม่ที่ให้เหล่าเณรวาดรูปและเขียนเรียงความประกวด ชวนนึกถึงบรรยากาศของโรงเรียนสามัญทั่วไป

“เรามีทุนการศึกษาซึ่งมาจากการบริจาคให้สามเณรที่อยากเรียนต่อปริญญาตรี ทำให้เณรสนใจบวชต่อเพื่อรับการศึกษา ใครที่ช่วยงานวัด ช่วยสอนหนังสือหรือช่วยดูแลเณรก็จะมีสิทธิได้รับทุน แต่ก็ใช่จะมีเยอะ เพราะแต่ละปีก็มีพระเพียง 2-3 รูปเท่านั้นที่ได้ศึกษาต่อจนถึงปริญญาตรี” พระมหาธีรภรณ์บอก “เพราะเณรหลายรูปก็สึกกันตั้งแต่ช่วงจบชั้นมัธยมต้น ส่วนใหญ่แล้วก็ไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่อื่น หรือถ้าสึกตอนชั้นมัธยมปีที่ 6 ก็มักไปทำงานเลย มีไปเรียนต่อน้อยมาก”

บางสิ่งค้างคาอยู่ในใจ ความว่างเปล่าของเวลาว่างมากมายมหาศาลในแต่ละวัน ภาพความสำรวมของเหล่าเด็กๆ และการพยายามประพฤติตนอย่างถูกควรตามหลักคำสอน ซึ่งแน่แท้ว่าเป็นสิ่งที่ดี หากแต่ก็ชวนให้คิดถึงความเป็นไปได้อีกด้านของชีวิตช่วงวัยก่อนเติบโต 

แน่นอนว่าพระผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ดี “เราพาไปเปิดหูเปิดตาเหมือนกัน เช่นพาไปทะเล เราพยายามพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาอย่างน้อยๆ ก็ปีละครั้ง” พระมหาธีรภรณ์เล่า “ให้เขาได้วิ่งเล่นปีละหนึ่งครั้ง”

นิ่งเงียบจากเราเป็นประโยคตอบกลับไป พระยิ้มอย่างเข้าใจ

“ในเมื่อเราเลือกเส้นทางนี้แล้วเราก็ต้องทน เราไม่มีตัวเลือกเราจึงต้องอดทน”

เป็นคำตอบกลับมา 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save