กระแสของภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Gangubai Kathiawadi หรือ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘คงคา’ หญิงสาวที่ต่อสู้กับมรสุมชีวิตจนกลายมาเป็น ‘คังคุไบ’ ราชินีมาเฟียแห่งเมืองกามธิปุระ ผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องความความยุติธรรมและสิทธิสตรีของโสเภณีในสังคมอินเดีย กำลังได้รับการกล่าวขวัญและพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งยังทะยานขึ้นเป็นอันดับ 1 บน Netflix Thailand ในช่วงที่ผ่านมา
ภาพยนตร์เรื่อง Gangubai Kathiawadi ดัดแปลงมาจากหนังสือเชิงสารคดี Mafia Queen of Mumbai ในบทที่ชื่อว่า The Matriarch of Kathipura เขียนโดยฮุสเซน ไซดี (Hussain Zaidi) โดยในบทดังกล่าวเป็นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตจริงของ คังคุไบ กฐิยาวาฑี สตรีชาวอินเดียผู้มีชีวิตในช่วงปี 1939-2008 เป็นที่รู้จักของชาวอินเดียในฐานะผู้ขับเคลื่อนและเรียกร้องสิทธิของหญิงขายบริการ เรื่องราวของ ‘คังคุไบ’ ในภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi จึงมีเนื้อหาบางส่วนที่มีการเติมแต่งเรื่องราวเพิ่มจากในหนังสือ Mafia Queen of Mumbai เพื่อนำมาสร้างเป็นบทภาพยนตร์
ประเด็นอันเป็นหัวใจสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการตีแผ่ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติและถูกตีตราของผู้หญิงขายบริการในกามธิปุระ ประเทศอินเดีย โดยในระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไป ตัวละครคังคุไบ รวมถึงเพื่อนโสเภณีของเธอในซ่อง ณ เมืองกามธิปุระประสบพบเจอกับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกมาค้าประเวณีโดยไม่เต็มใจ ถูกใช้ความรุนแรง ถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม รวมถึงต้องเผชิญกับกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ หรือแม้แต่เด็กผู้หญิงที่เกิดในชุมชนดังกล่าวก็ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการศึกษา ปัญหาเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการตีตราอาชีพขายบริการว่าต่ำต้อยและสร้างความเสื่อมเสียให้สังคม รวมถึงแนวคิดปิตาธิปไตยที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสตรีเพศมาเนิ่นนาน
ทั้งนี้ เรื่องราวชีวิตอันแสนเจ็บปวดของหญิงขายบริการดังที่กล่าวมานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เมืองกามธิปุระในอินเดียเท่านั้น แต่อาจกล่าวได้ว่านี่คือบาดแผลที่หญิงขายบริการหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลกต่างเคยพบเจอ แม้แต่ในประเทศไทย ผู้ประกอบอาชีพขายบริการหรือ sex worker ก็มีชีวิตที่เจ็บปวดและทุกข์ระทมเพราะอคติเชิงลบที่คนในสังคมมีต่ออาชีพนี้เช่นกัน
ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เป็นต้นตอของการถูกเลือกปฏิบัติของผู้ขายบริการคือ ทัศนคติที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าอาชีพ sex worker เป็นอาชีพน่ารังเกียจ และไม่ยอมรับการมีอยู่ของอาชีพขายบริการ อคติเชิงลบนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในแทบทุกฉากของภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi
ช่วงหนึ่งในหนังมีฉากที่คังคุไบสนทนากับตำรวจนายหนึ่งเกี่ยวกับการติดสินบน โดยเธอต้องจ่ายเงินจำนวนไม่น้อยต่อเนื่องกันเป็นประจำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในย่านกามธิปุระ เพื่อให้กิจการโคมแดงของเธอดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีปัญหา เพราะในอินเดียตอนนั้น อาชีพขายบริการยังผิดกฎหมายและไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน การส่งส่วยให้กับผู้ผดุงความยุติธรรมจึงเป็นการต่อชีวิตและช่องทางทำมาหากินให้พวกเธอ
เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอินเดียหรือในภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันด้วย
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing Thailand) กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาชีพขายบริการยังคงผิดกฎหมายและเป็นอาชีพสีเทาอยู่เรื่อยมา เพราะมีคนได้ประโยชน์จากสภาวะนี้ และสิ่งที่ยากอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้อาชีพขายบริการถูกกฎหมายในประเทศไทย คือการต้องไปขัดแข้งขัดขากับคนที่เคยได้ประโยชน์ เพราะหากอาชีพ sex worker ยังคงผิดกฎหมาย และต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ เช่นนี้ต่อไป ก็ยิ่งเป็นช่องทางให้มีการเก็บเงินค่าคุ้มครองได้ แน่นอนว่าถ้าทำให้อาชีพนี้ไม่ผิดกฎหมาย ผู้ที่มีอำนาจก็จะเก็บผลประโยชน์จากผู้ขายบริการไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นคนที่เคยได้ประโยชน์จากช่องโหว่นี้มาตลอด ย่อมไม่ยอมเสียประโยชน์ไปโดยง่าย ภาพเหล่านี้จึงสะท้อนว่า sex worker ไม่เพียงแต่ต้องถูกกดทับจากอคติเชิงลบของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับอำนาจมืดที่คอยแต่จะหาผลประโยชน์จากความลำบากของพวกเธอ
“การทำงานขับเคลื่อนประเด็นนี้ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำและการถูกเลือกปฏิบัติ ได้เห็นคนถูกทิ้งให้กลายเป็นคนนอกกรอบของสังคม เห็นการถูกทำให้ความเป็นมนุษย์ของกลุ่มพี่น้อง sex worker เลือนหายไป
“สิ่งเหล่านี้ฝังรากลึกในกรอบสังคมไทย และด้วยความที่ตอนนี้ sex worker ยังคงเป็นอาชีพผิดกฎหมาย ผนวกกับสังคมเราพยายามจะเชิดชูกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศเมืองพุทธ เรามีขนบธรรมเนียมอันดีงาม การมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คนรักเป็นสิ่งไม่ดี ซึ่งชุดความคิดเหล่านี้หล่อหลอมจนทำให้เกิดการรังเกียจคนขายบริการ พอมีการรังเกียจก็ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและการตีตรา” สุรางค์กล่าว
นอกจากอคติเชิงลบที่สร้างบาดแผลในใจให้ผู้ประกอบอาชีพ sex worker แล้ว หลายครั้งที่พวกเธอต้องพบเจอกับการถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งบางครั้งอันตรายถึงชีวิต ปัญหานี้เป็นผลพวงจากอคติและการตีตราจากคนในสังคม แต่ในอีกแง่หนึ่ง ปัญหาความรุนแรงอาจเกิดจากการที่ผู้ซื้อบริการมองว่าผู้ขายบริการมีสถานะต่ำต้อยกว่าตนเอง จึงคิดว่าเมื่อจ่ายเงินซื้อบริการมาแล้ว ตนมีสิทธิที่จะทำอะไรกับพวกเธอก็ได้ โดยไม่ได้มองว่าผู้ขายบริการนั้นมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม
การถูกทำร้ายร่างกายถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ขายบริการในประเทศไทยส่วนใหญ่เคยพบเจอ มูลนิธิ Swing Thailand เป็นองค์กรหนึ่งที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด
“อาชีพนี้ไม่ได้ง่ายแบบที่ใครหลายคนคิดนะ อาชีพ sex worker ไม่ใช่แค่การเปลื้องเสื้อผ้า แต่เราต้องไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และเราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าการที่เราไปนอนกับคนที่เราไม่รู้จัก เราจะยังมีชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้นหรือเปล่า เพราะมีหลายคนที่เขาไม่ได้กลับมา เขาถูกทำร้าย ถูกฆ่า ถูกใช้ความรุนแรง อาชีพนี้ไม่ง่าย ไม่เคยง่ายเลย” สุรางค์ย้ำ
ในภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi ก็มีฉากสำคัญที่ชายคนหนึ่งตั้งใจมาซื้อบริการจากคังคุไบ ทว่าไม่ได้ต้องการรับบริการจากเธอเหมือนลูกค้าคนอื่นทั่วไป แต่กลับลงมือทำร้ายร่างกายจนเธอบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดสำคัญที่ผลักดันให้คังคุไบมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง รวมถึงพี่น้องหญิงขายบริการทุกคนในกามธิปุระ และครั้งเมื่อคังคุไบชนะการเลือกตั้งนายกแห่งเมืองกามธิปุระ เธอได้ประกาศเจตนารมณ์ของตนเองไว้ว่าจะไม่ยอมให้โสเภณีแห่งกามธิปุระต้องถูกกดขี่ข่มเหงอีกต่อไป
คังคุไบประกาศว่า “ในเมื่อผู้หญิงเป็นศูนย์รวมของอำนาจ ความมั่งคั่ง และสติปัญญา อะไรทำให้ชายพวกนี้คิดว่าตัวเองเหนือกว่าเรา”
ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาความรุนแรงและการถูกทำร้ายร่างกายยังเกิดขึ้นเคียงขนานมากับการต้องเผชิญกับกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ทำอาชีพขายบริการ เห็นได้ชัดเจนจากฉากที่คังคุไบถูกลูกค้าโรคจิตทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยในช่วงเวลาที่เธอถูกทำร้ายร่างกายอยู่ภายในห้อง กลุ่มเพื่อนโสเภณีของเธอพยายามขอให้ชิลาไบผู้เป็นแม่เล้าของซ่องแห่งนั้นเรียกตำรวจมาช่วยเหลือ ทว่าชิลาไบกลับปฏิเสธคำขอดังกล่าว และปล่อยให้คังคุไบถูกทำร้ายร่างกายอยู่เช่นนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “ถ้าฉันไปหาตำรวจ พวกเขาจะจับเราทุกคน” นับเป็นฉากที่สร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมเป็นอย่างมาก และฉากดังกล่าวในภาพยนตร์ก็มิใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่ sex worker ส่วนใหญ่ต้องพบเจอมาโดยตลอด
แม้แต่ในประเทศไทย สุรางค์ยืนยันว่า จากสถิติมีพนักงานขายบริการจำนวนมากถูกทำร้ายร่างกายระหว่างทำงาน แต่กลับไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองได้ เพราะสถานภาพของอาชีพ sex worker ที่ยังคงผิดกฎหมาย สุดท้ายพวกเขาต่างถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบที่นอกจากจะไม่ได้รับความเห็นใจจากคนในสังคมแล้ว ซ้ำยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในฐานะประชาชนคนหนึ่งอีก
“ในความเป็นจริง sex worker กำลังพยายามดิ้นรนรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมหรือรัฐบาล แต่พวกเขากลับไม่เคยได้รับการคุ้มครอง ไม่เคยได้รับการให้ค่าในความเป็นมนุษย์ เวลาพวกเขาถูกทำร้าย พวกเขาไม่เคยได้รับการดูแลหรือปกป้องในฐานะมนุษย์เหมือนคนอื่นเลย ในทางกฎหมาย พวกเขาแทบไม่เคยได้รับสิทธิอะไรในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เพราะสังคมจะตราหน้าตลอดเวลาว่า ‘ก็คุณทำผิดกฎหมาย คุณประกอบอาชีพที่น่าอับอาย น่ารังเกียจ มีงานตั้งเยอะแยะทำไมพวกคุณไม่ไปทำ’”
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่สะท้อนออกมาจากภาพยนตร์คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มเด็กผู้หญิงในเมืองกามธิปุระ อันเกิดจากตราบาป (stigma) แม้ว่าพวกเธอจะยังเป็นเพียงเด็กน้อยผู้ไร้เดียงสา แต่เพียงแค่พวกเธอเกิดและเติบโตมาในชุมชนกามธิปุระที่ทุกคนมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุมและชุมชนสลัม พวกเธอก็ถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงการศึกษาที่นับเป็นสิทธิหนึ่งที่พวกเธอพึงมี ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงหญิงขายบริการในเมือง เรียกได้ว่าแทบจะมีแค่คังคุไบเพียงคนเดียวที่ได้รับการศึกษา สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่นั่นก็เพราะเธอได้มาก่อนที่จะถูกหลอกเข้ามาในที่แห่งนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมปิตาธิปไตยในอินเดียที่เพศหญิงมักถูกผลักออกจากระบบการศึกษา เหล่าโสเภณีแห่งเมืองกามธิปุระจึงกลายเป็นคนชายขอบของสังคมที่ถูกกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นอกจากมูลนิธิ Swing Thailand แล้ว ประเทศไทยยังมี Empower Foundation องค์กรที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้กับหญิงขายบริการในไทย และมีการเปิดสอนคลาสภาษาอังกฤษให้ sex worker ได้เข้ามาเรียนฟรี
สุรางค์ที่เคยทำงานกับ Empower Foundation มองถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของกลุ่มผู้ขายบริการว่า ต่อให้ใครจะเลือกทำอาชีพอะไร เขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิจะได้รับการศึกษาเหมือนคนอื่น และเหตุผลหนึ่งที่ sex worker หลายคนตัดสินใจมาทำอาชีพขายบริการ ก็อย่างที่เรารู้กันดีว่าเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาความยากจน ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เรื่องราวอันแสนเข้มข้น ณ เมืองกามธิปุระ และฉากชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ระทม ความสุขสมหวัง ความหวาดกลัว ความโกรธแค้น รวมถึงอุปสรรคขวากหนามต่างๆ มากมายที่คังคุไบต้องเผชิญในภาพยนตร์นั้น เป็นดั่งปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็ง ยังมีความเจ็บปวดอีกมากมายที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมที่ผู้ประกอบอาชีพขายบริการหลายคนต้องพบเจอในม่านหมอกของโลกแห่งความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายที่ไม่มีผู้กำกับคอยสั่งคัต และไม่มีกล้องคอยถ่ายไว้
อ้างอิง
As Alia Bhatt film releases, here’s the real story of Gangubai Kathiawadi