fbpx

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ปีการศึกษา 2562 ‘เอ’ เข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความหวังว่าความรู้ที่ได้จากการเข้าเรียนคณะนี้จะช่วยให้เขาเข้าใจมิติทางสังคมและความหลากหลายของความเป็นมนุษย์เหมือนเช่นที่เคยได้ยินคณาจารย์และรุ่นพี่กล่าวไว้ ในบรรดารายวิชาทั้งหมดของคณะอักษรศาสตร์ เอชอบเรียนวิชาของภาควรรณคดีเปรียบเทียบและภาคปรัชญา เขารู้สึกว่าการเรียนวรรณกรรมและปรัชญาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เขาคิดเชิงวิพากษ์เป็น เพื่อทำความเข้าใจโลกที่ซับซ้อน แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เห็นว่าวิชาบังคับตอนปี 1และปี 2 ก็จำเป็นไม่แพ้กัน ทั้งวิชาอารยธรรมไทย วรรณคดีไทย อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมตะวันออก รวมถึงรายวิชาบังคับเลือก ที่ต้องเลือกระหว่างรายวิชาทักษะการค้นคว้าและการค้นสารสนเทศ ปรัชญาทั่วไป มนุษย์กับศาสนา ศิลปะการละครกับชีวิตประจำวัน วรรณคดีทัศนา หรือภาษาทัศนา เอตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นความเชื่อมโยงของอารยธรรมจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเอเชียใต้ ในวิชาอารยธรรมตะวันออก และรู้จักแนวคิดของนักปรัชญาหลากหลายสาขาในวิชาปรัชญาทั่วไป

ตอนนี้เอจบการศึกษาแล้ว หลายคนกล่าวว่าโลกการทำงานคือโลกแห่งความเป็นจริงที่บัณฑิตจบใหม่ทุกคนจะต้องเผชิญ และตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยช่วยอะไรเราในการเตรียมตัวก้าวเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงนี้ เอก็เช่นกัน เขากำลังทบทวนว่าตลอดสี่ปีที่ผ่านมา เขาเก็บเกี่ยวอะไรไปจากคณะอักษรศาสตร์ และมีวิชาไหนบ้างที่เขารู้สึกดีใจที่ได้เรียน

วิชาสายคอนเทนต์[1] อย่าง WEST CIV (วิชาอารยธรรมตะวันตก รหัส 2204182) นี่ enlighten มากเลย เรียนแล้วรู้เลยว่าประชาธิปไตยมันมีรากฐานมาจากไหน แล้วทำไมมันถึงสำคัญ ได้เข้าใจความโหดร้ายของนาซี และได้รู้เรื่อง Menschlichkeit (ความเป็นมนุษย์)[2] ทำให้เห็นถึงคุณค่าของชีวิตเราและเพื่อนมนุษย์คนอื่น หลายวิชาคือถ้าไม่ได้เรียนคงจะรู้สึกพลาดมาก” เอกล่าวถึงวิชาอารยธรรมตะวันตกที่เขาชื่นชอบ

‘บี’ เพื่อนนิสิตที่เข้าเรียนในปีการศึกษาเดียวกันกลับไม่เห็นด้วยกับเอ “แต่สำหรับเราคิดว่าเอาเวลาตอนนั้นไปเรียนพวกวิชาสายสกิล[3]ที่เอาไปใช้ทำงานได้จริงน่าจะดีกว่านะ ไม่ใช่ว่าวิชาสายคอนเทนต์ไม่ดีหรอกนะ แต่ถ้าได้อัดวิชาแปลหรือการล่ามเยอะๆ ตั้งแต่ปี 1 สกิลการแปลเราอาจจะพัฒนาเร็วขึ้น หรือไม่ก็อาจเอาเวลาไปฝึกพวกวิชาการเขียนทางธุรกิจก็ได้ เพราะตอนไปสมัครงานไม่มีใครเขาถามหรอกว่าเข้าใจเชกสเปียร์หรือโพสโมเดิร์นไหม สุดท้ายเขาก็ดูแค่ว่าพูดภาษาได้ไหม แปลภาษาได้ไหม จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ไม่ได้ช่วยให้มีงานทำหรอกนะ”

บีคิดว่าคณะอักษรศาสตร์ควรจะสอนวิชาทักษะให้มากขึ้น วิชาพวกอารยธรรม ปรัชญา วรรณกรรม เป็นวิชาที่เรียนไปก็สนุกดี แต่ก็นำไปใช้จริงไม่ได้ ในโลกการทำงานที่บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์บ้างก็จบไปเป็นนักแปล ล่าม และเลขานุการ เขาน่าจะได้ฝึกแปลเยอะๆ ฝึกฟังพูดอ่านเขียนให้คล่อง เพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ

“แต่ที่เราเรียนภาษาไปเพื่ออ่าน text ไม่ใช่เหรอ ภาษาเป็นเครื่องมือให้เราเข้าถึงความรู้ที่ต้องการ และวิชาสายคอนเทนต์ก็จะช่วยให้เรามีเลนส์ที่หลากหลายในการเข้าใจโลก เข้าใจผู้คน และยังสร้าง awareness ให้กับนิสิตที่เรียนด้วย” เอแย้ง

“นั่นก็ใช่ แต่เราก็ต้องทำต้องมาหากินนะ วิชาสายสกิลมันควรจะมีเยอะๆ สิ วิชาพวกการใช้ภาษาเพื่อธุรกิจ เพื่อการท่องเที่ยว หรือพวกวิชาที่ได้ฝึกใช้ทักษะภาษาเยอะๆ นี่เราเข้าอักษรมาเพราะคิดว่าจะได้ฝึกภาษาเยอะๆ นะ ถ้าจบไปแล้วใช้ภาษาไม่คล่อง ใครเขาจะไปจ้างเรา” บียืนยัน

ทั้งเอและบีไม่มีใครพูดผิดหรือถูก ต่างคนต่างก็เชื่อในจุดยืนของตน และทิ้งคำถามไว้ว่าหลักสูตรคณะอักษรศาสตร์ที่ดีควรเป็นแบบใด คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ควรเป็นจะเน้นสายคอนเทนต์ดังที่เอเสนอ หรือว่าควรจะเน้นสายสกิลแบบที่บีแย้ง แต่แท้จริงแล้วปัญหานี้ไม่ว่าจะตอบตามเอหรือบีก็เข้าข่ายเป็นตรรกะวิบัติประเภท false dilemma ที่นิสิตอักษร จุฬาฯ ทุกคนเคยเรียนในวิชา Reasoning (การใช้เหตุผล รหัส 2207143) ทั้งสิ้น กล่าวคือ เป็นทางเลือกที่เข้าใจผิดไปเองว่าถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างตัวเลือกที่จำกัดทั้งที่ความจริงไม่ได้จำเป็นต้องเลือกเช่นนั้น แรกเริ่มการศึกษาวิชาสายมนุษยศาสตร์ไม่ได้แบ่งเป็นสายคอนเทนต์หรือสายสกิล วิชาทั้งสองสายต่างส่งเสริมประสิทธิภาพของกันและกันอย่างแยกขาดไม่ได้

เราไม่มีทางอ่านวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก ค้นคว้าหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ หรือเข้าใจทฤษฎีปรัชญาที่มีความลึกซึ้งได้ หากไม่มีความรู้แตกฉานในการใช้ภาษาเหล่านั้น ขณะเดียวกันนักแปลไม่มีทางแปลได้ดีหากไม่เข้าใจบริบทความต่างในวัฒนธรรมของทั้งสองภาษา มัคคุเทศก์จะอธิบายคติความเชื่อแบบไทยให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างไร หากไม่เข้าใจว่าฐานคิดของคนจีนถูกหล่อมหลอมมาแบบใด ล่ามที่ไม่เข้าใจบริบทคงทำงานได้ไม่ต่างจากกูเกิลแปลภาษาเท่าไหร่นัก กล่าวได้ว่าทั้งวิชาสายคอนเทนต์และวิชาสายสกิลจึงเปรียบได้กับขาทั้งสองของการศึกษาสายมนุษยศาสตร์ การจะจัดการเรียนการสอนด้านมนุษยศาสตร์จึงควรจำนึงถึงความสมดุลระหว่างวิชาสองสายนี้ โดยต้องบริหารให้ได้รับการศึกษาจากวิชาทั้งสองสายอย่างเหมาะสมและเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ข่าวเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ของคณะอักษรศาสตร์ที่จะเริ่มดำเนินการใช้ในปีการศึกษา 2567 นี้ได้มีการปรับลดวิชาพื้นฐานสายคอนเทนต์หลายวิชาให้เป็นเพียงวิชาเลือก และเอาหน่วยกิตไปเพิ่มสำหรับการเรียนวิชาสายสกิลแทน นิสิตสามารถเรียนจบหลักสูตรได้โดยไม่ต้องเรียนวิชาสายคอนเทนต์ที่เคยเป็นพื้นฐานให้เด็กอักษรฯ มาหลายรุ่นอย่างวิชาปรัชญา วิชาอารยธรรมตะวันออก วิชาอารยธรรมตะวันตก วิชาอารยธรรมไทย เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ตั้งคำถามได้ว่าตั้งอยู่บนฐานของการรักษาสมดุลดังกล่าวหรือไม่

หาก ‘ซี’ ที่เป็นนิสิตน้องใหม่ที่เข้าเรียนหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2567 ผ่านมาได้ยินเอและบีเถียงกัน คงจะคิดในใจว่า “พวกพี่เถียงอะไรกัน วิชาพวกนั้นไม่ใช่วิชาบังคับแล้ว ” เพราะรายวิชาที่เอและบีเคยเรียนถกเถียงกันไม่มีสภาพเป็นวิชาบังคับอีกต่อไป นอกจากนั้น ซียังได้เรียนรายวิชาเปิดใหม่ที่วางกรอบเนื้อหาให้สอดคล้องกับ ‘ทักษะทางวิชาชีพ’ และ ‘ความเป็นพลเมืองโลก’ ซึ่งสามารถเลือกลงรายวิชาที่ตนเองสนใจ และในท้ายที่สุด ก็จะจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้เรื่องปรัชญา  ประวัติศาสตร์โลก และที่มาของอารยธรรมมนุษย์แต่อย่างใด ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วรากฐานร่วมของเด็กอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะเหลืออะไร และครูอาจารย์ ผู้สั่งสอนวิชาสายมนุษยศาสตร์ปรารถนาจะเห็นบัณฑิตจบใหม่เป็นเช่นนี้จริงๆ หรือ

การแย่งชิงนิยามของคำว่า ‘อักษรศาสตร์บัณฑิตที่พึงประสงค์’

การปรับปรุงหลักสูตรคณะอักษรศาสตร์ผ่านการถกเถียงในหมู่คณาจารย์มาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว จากบทความ ‘ทำไมการแก้หลักสูตรอักษรถึงสำคัญ’[4] ของโสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าคำถามสำคัญที่ส่งผลต่อการแก้ไขหลักสูตรคือ ‘คณะอักษรศาสตร์จะผลิตบัณฑิตอักษรศาสตร์เป็นแบบใด’ ซึ่งโสรัจจ์แบ่งความคิดเห็นของคณาจารย์ออกเป็นสามกลุ่ม

คณาจารย์กลุ่มแรกมองว่า บัณฑิตอักษรศาสตร์คือ ‘นักวิชาการอาชีพ’ คณะควรผลิตบัณฑิตเพื่อปูทางไปสู่การศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จนสำเร็จการศึกษาเป็นนักวิชาการในท้ายที่สุด

คณาจารย์กลุ่มที่สองมองว่า คณะควรผลิตบัณฑิตเพื่อเป็น ‘นักวิชาชีพ’ บัณฑิตอักษรศาสตร์ควรสำเร็จการศึกษาแล้วมีศักยภาพในการไปประกอบต่างๆ ในตลาดแรงงาน เช่น นักแปล เลขานุการ เป็นต้น

คณาจารย์กลุ่มที่สามมองว่า คณะควรผลิตบัณฑิตเพื่อเป็น ‘ผู้มีการศึกษา’ ซึ่งเป็นเป้าหมายดั้งเดิมของคณะสายมนุษยศาสตร์ กล่าวคือบัณฑิตจะสำเร็จการศึกษาแล้วไปประกอบอาชีพอะไรก็ตาม แต่สิ่งที่พวกเขาจะต้องได้จากคณะนี้คือรากฐานการคิดเชิงวิพากษ์ การไตร่ตรองหาเหตุผล และแนวทางการศึกษาเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งโสรัจจ์เองก็มีความเห็นสอดคล้องกับกลุ่มนี้

เป้าหมายทั้งสามแบบที่แตกต่างกันนี้ ส่งผลต่อกรอบคิดในเรื่องการวางหลักสูตรคณะอักษรศาสตร์ เนื่องจากเนื้อหาและรายวิชาจะแตกต่างกันไป ตามแนวทางของบัณฑิตในแต่ละรูปแบบ

โสรัจจ์กล่าวในบทความว่า แนวโน้มของหลักสูตรคือให้นิสิตสามารถเลือกได้เองว่าต้องการสำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นบัณฑิตแบบใด ซึ่งก็สะท้อนออกมาให้เห็นในหลักสูตรใหม่ที่จะเริ่มต้นใช้ในปีการศึกษา 2567 นี้เอง ที่นิสิตสามารถเลือกเน้นเรียนเฉพาะกลุ่มวิชาที่ตรงกับความสนใจของตน

คณะอักษรศาสตร์สอนอะไร

แล้วคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สอนอะไร? คณะอักษรศาสตร์เป็นคณะสายมนุษยศาสตร์ (humanities) ซึ่งต้นกำเนิดของของมนุษยศาสตร์นั้น อาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นในยุคกรีกโบราณ เป็นการเรียนการสอนที่มีจุดมุ่งหมายคือการสร้างความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ และการศึกษาธรรมชาติมนุษย์ (humanitas – human nature)

ต่อมาในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) มนุษยศาสตร์ก็เริ่มมีแบบแผนที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีการใช้คำว่า ‘studia humanitatis’ (studies of humanities) โดยนักมนุษยนิยมชาวอิตาลี studia humanitatis มุ่งเน้นศึกษาวรรณกรรมและวิชาการต่างๆ เช่น ไวยากรณ์ วาทศิลป์ กวีนิพนธ์ ประวัติศาสตร์ จริยปรัชญา และการศึกษาภาษากรีกโบราณและภาษาละติน ซึ่งแนวทางเหล่านี้ก็ได้เป็นรากฐานของการศึกษามนุษยศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน สาขามนุษยศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงเป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นการศึกษามนุษย์ วัฒนธรรม โดยใช้วิธีการวิพากษ์และวิเคราะห์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งครอบคลุมทั้งการเรียนการสอนด้านภาษา วรรณกรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา[5]

ทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่า สำหรับคณะอักษรศาสตร์นั้น การเรียนการสอนของภาควิชาต่างๆ ในคณะ ทั้งภาควิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา ภาควิชาศิลปการละคร ภาควิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันตก ภาควิชาภาษาศาสตร์ และภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้เพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนและหลากหลายของมนุษย์

วิกฤตมนุษยศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การศึกษาสายมนุษยศาสตร์ทั่วโลกกำลังเผชิญความไม่แน่นอน จำนวนผู้เรียนที่ลดน้อยลง และตลาดแรงงานที่ต้องการบัณฑิตสาย STEM และสายวิชาชีพอื่นๆ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ใช้อ้างการปรับเปลี่ยนหลักสูตรในหลายมหาวิทยาลัย

ในงานเขียนเรื่อง ‘The End of the English Major’ ของ Natha Heller พบว่าผลสำรวจในปี 2022 มีนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัย Harvard เพียง 7% เท่านั้นที่ต้องการศึกษาในวิชาเอกมนุษยศาสตร์ ตัวเลขนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 20% ในปี 2012 และเกือบ 30% ในปี 1970 ยิ่งไปกว่านั้น ในภาพรวมทั้งประเทศ อัตราการเข้าเรียนในสายมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาลดลงถึง 17% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เมื่อปี 2018 University of Wisconsin–Stevens Point ประกาศแผนการที่จะปิดเอกหลักสูตรสายมนุษยศาสตร์ 6 สาขาวิชา[6] ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ศิลปะสองมิติและสามมิติ และประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากอัตราการเข้าเรียนในสาขาเหล่านั้นลดน้อยลงและภาครัฐไม่ส่งเสริมการศึกษาสายมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาถูกตัดงบประมาณ มหาวิทยาลัยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยวิธีการต่างๆ เช่น การรวมหลักสูตรเข้าด้วยกัน การปลดคณาจารย์บางส่วนจากการดำรงตำแหน่งประจำ และการลดบริการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่สำหรับ University of Wisconsin–Stevens Point การเลือกปิดเอกต่างๆ ในสายมนุษยศาสตร์ดูเหมือนจะเป็นทางออกในช่วงเวลานั้น

สำหรับในไทย เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เช่นกัน เพราะในปีเดียวกันนั้น มีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรจะลดสภาพภาควิชาปรัชญาให้กลายเป็นสาขาวิชาปรัชญา[7] ซึ่งตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2559 และระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องการจัดการส่วนงานภายในและการยุบเลิก พ.ศ.2561 แล้วนั้น สาขาวิชาไม่ถือเป็นหน่วยงาน และอำนาจในการจัดการภายในสาขาวิชาจะรวมศูนย์ที่คณะ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะส่งผลให้สาขาวิชาปรัชญาไม่มีอำนาจการตัดสินใจในตนเอง และจะค่อยๆ สูญเสียหลักประกันเสรีภาพทางวิชาการไปในที่สุด

มนุษยศาสตร์กับการสร้างสังคมประชาธิปไตย

แม้ที่ผ่านมาจะมีกระแสเรื่องการยุบภาคหรือปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรมนุษยศาสตร์ แต่ในท้ายที่สุด มนุษยศาสตร์นั้นก็ยังสำคัญ และเป็นศาสตร์ที่จะขาดไปไม่ได้ในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย เห็นได้จากที่ Martha C. Nussbaum[8] ได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับความสำคัญของมนุษยศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ

สำหรับ Nussbaum แล้ว ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพราะความรู้ทางมนุษยศาสตร์ เพราะการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงที่เหนือไปจากการท่องจำหรือคำตอบตายตัว ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ มนุษยศาสตร์ได้รับความสนใจมากขึ้นในเอเชีย มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์และจีนเริ่มมีนักศึกษาเข้าเรียนในสาขามนุษยศาสตร์มากขึ้น เนื่องด้วยการที่รัฐพยายามส่งเสริมการศึกษาศาสตร์นี้ไปในแนวทางที่ตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม Nussbaum เน้นย้ำว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่บทบาทสำคัญที่สุดของมนุษยศาสตร์ Nussbaum มีจุดยืนว่า มนุษยศาสตร์สำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตย เพราะการเรียนมนุษยศาสตร์ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์​ ทักษะการวิเคราะห์ เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เข้าใจสังคมโลกที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเองทั้งเรื่องชนชั้นและสถานะทางสังคม ซึ่งความเข้าใจในมนุษย์ด้วยกันนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ และความอยุติธรรม การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ในระบอบประชาธิปไตย

ข้อเสนอของ Nussbaum สอดคล้องกับบทความของวริตตา ศรีรัตนา[9] อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยเขียนไว้ในเว็บไซต์ประชาไทโดยระบุว่าการเรียนวรรณกรรมช่วยให้ผู้เรียนได้สำรวจประสบการณ์หลากหลายแง่มุมของมนุษย์ ผ่านการวิเคราะห์และตีความตัวบท เช่น ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ชนชั้น เพศสภาพ การเมือง และประเด็นทางสังคมต่างๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยชุดคุณค่าสากลที่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่อำนาจ เป็นคำอธิบายหรือเรื่องเล่าหลักที่ครอบงำสังคม ที่เรียกว่า grand narratives การเรียนวรรณกรรมจึงมีความสำคัญในการจะสร้างผู้เรียนให้สามารถคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อจะถอดรื้อ narratives เหล่านั้นที่คอยสืบสานอำนาจและความไม่เท่าเทียมในสังคม นักวิชาการสายมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม จึงมีบทบาทในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เช่น ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ สิทธิ LGBTQINA+ ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนวรรณกรรม เพื่อที่ผู้เรียนจะได้ใช้มันในการเปลี่ยนแปลงสังคม

นอกจากการเรียนวรรณกรรมแล้ว การเรียนประวัติศาสตร์ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกันในสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้เคยกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ไว้ว่า ประการแรก การเรียนประวัติศาสตร์ตามรูปแบบที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ใช่การท่องจำ แต่คือการตั้งคำถามถึงสาเหตุที่มาของเหตุการณ์และวิเคราะห์เหตุการณ์เหล่านั้น รวมถึงผลของมันที่ส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน  กล่าวคือเราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจที่มาทั้งของตัวเราเองและโลกใบนี้ วาสนากล่าวว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่สามารถที่จะศึกษาเรื่องเล่าจากมุมมองใดมุมมองหนึ่งได้ แต่ต้องศึกษาจากหลายมุมมองประกอบกัน จึงจะสามารถวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้านแง่มุมนี้ของการเรียนประวัติศาสตร์ทำใหัผู้เรียนรู้จักการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและวิพากษ์หลักฐาน ที่จะนำมาสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนต่อประเด็นต่างๆ ซึ่งสำหรับวาสนาแล้ว หากผู้คนมีความเป็นนักประวัติศาสตร์ มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การโต้แย้งถกเถียง และสืบหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จะทำให้เราสามารถสร้างบทสนทนาที่ทุกคนสามารถตรวจทานข้อมูลกันและกันได้ในสังคมประชาธิปไตย

บทบาทของคณะอักษรศาสตร์?

เมื่อเรามองย้อนกลับมาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากหลักสูตรใหม่ไม่ได้ทำให้นิสิตสัมผัสมนุษยศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น เพราะการวางหลักสูตรวิชาพื้นฐานที่จะนำนิสิตเข้าสู่การทำความเข้าใจศาสตร์ที่ตนเองศึกษา ให้กลายเป็นเพียงวิชาเลือก การปรับเปลี่ยนนี้ก็อาจเป็นการลดทอนความสำคัญของศาสตร์ หากมุ่งเน้นแค่การเรียนการสอนในรายวิชาใหม่ๆ ที่สร้างเพียงทักษะการฟังพูดอ่านเขียน และปล่อยให้นิสิตเลือกเรียนในรายวิชาที่ตนคิดว่าสำคัญต่อการเป็นแรงงานในตลาด คณะอักษรศาสตร์ก็คงไม่ต่างอะไรจากโรงเรียนสอนภาษาทั่วไป ที่สุดท้ายแล้ว AI หรือโปรแกรมแปลภาษาก็จะเข้ามามีบทบาทในงานลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด และแม้เราจะเข้าใจกันดีว่า AI แทนที่มนุษย์ไม่ได้ เพราะ AI ขาดความเข้าใจในบริบทและความสามารถในการตีความปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ  แต่หากนิสิตอักษรศาสตร์เลือกจะไม่เรียนมนุษยศาสตร์เพื่อเข้าใจมนุษย์ เขาจะมีหน้าที่ในสังคมทั้งต่อตนเองและต่อโลกใบนี้แทบไม่ต่างจากหน้าที่ของ AI เลย ยิ่งไปกว่านั้น  ดังที่ได้กล่าวไปว่า AI ขาดความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางสังคม และยังต้องการการพัฒนาอีกมาก นักวิชาการสายมนุษยศาสตร์จึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนา AI[10] ทั้งนักปรัชญาที่ศึกษาลักษณะของ AI และตั้งคำถามถึงความสามารถของมัน นักประวัติศาสตร์ที่ตรวจสอบความสามารถของ AI ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลดิจิทัล และนักภาษาศาสตร์ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หากขาดบุคคลในสายมนุษยศาสตร์ไป AI จะไม่สามารถพัฒนาและใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพได้เลย

ตลอดระยะเวลาที่วิกฤตมนุษยศาสตร์ก่อตัวขึ้นทั่วโลก มีนักศึกษาและนักวิชาการในหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศลุกขึ้นมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากกรณีตัวอย่างที่ได้กล่าวไปในบทความ ในท้ายที่สุดแล้ว ก็มีการต่อสู้เพื่อให้การเรียนการสอนมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยยังคงดำเนินต่อไปได้ มหาวิทยาลัย Wisconsin–Stevens Point ตัดสินใจยกเลิกแผนการยุบเอกสายมนุษยศาสตร์ หลังจากมีกระแสโต้กลับจากคณาจารย์และศิษย์เก่า รวมถึงการยุบภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็เช่นกัน เพราะหลังจากที่ภาควิชาปรัชญาส่งหนังสือถึงอธิการบดีให้มีการแก้ไขระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเห็นชอบกับการแก้ไขระเบียบดังกล่าว ทำให้ภาควิชาปรัชญายังคงสภาพเป็นภาควิชาได้จนถึงปัจจุบัน หรือกรณีที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ในสหรัฐอเมริกา นักศึกษาและอาจารย์จากภาควิชาต่างๆ ในสายมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Mary Mount[11] ก็รวมตัวกันต่อต้านแผนการยุบเอกสายมนุษยศาสตร์ ด้วยความเชื่อที่ว่า การศึกษาศาสตร์นี้เป็นหนึ่งในการสืบสานพันธกิจของมหาวิทยาลัย

สุดท้ายขอฝากคำถามแก่คณาจารย์ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจไว้ว่า บทบาทของคณะในฐานะพื้นที่แห่งองค์ความรู้ทางมนุษยศาสตร์อาจเปลี่ยนไปเป็นการผลิตบัณฑิตที่ไร้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนหรือไม่ จะขาดความสามารถในการใช้เครื่องมือทางมนุษยศาสตร์เพื่อวิพากษ์ วิเคราะห์ และตีความสังคม ไม่สามารถถอดรื้อ ต่อยอด หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่โลกใบนี้ได้หรือเปล่า คณบดีและคณะผู้บริหารของคณะอักษรศาสตร์จะทำอย่างไรต่อวิกฤตที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้ นิสิตคณะอักษรศาสตร์และบุคลากรทางการศึกษาสายมนุษยศาสตร์ของเราควรลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นก็น่าเป็นกังวลว่าแนวโน้มของการศึกษาไทยและสังคมไทยจะเป็นไปในทิศทางใด หากขาดการเรียนการสอนในที่เป็นแก่นแท้ของสายมนุษยศาสตร์อันเป็นศาสตร์ที่สำคัญยิ่งต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เราปรารถนา


หมายเหตุ – หลังจากที่บทความนี้ถูกเผยแพร่ ทางคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการชี้แจงเรื่องการปรับหลักสูตรใหม่ โดยยืนยันว่ายังคงมีรายวิชาพื้นฐานที่เน้นการคิดวิเคราะห์และปูพื้นความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ไม่ด้อยไปกว่าเดิม

“… นิสิตที่จะได้เข้าเรียนในหลักสูตรใหม่นี้รับรองได้เจอรายวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์เหมือนเดิม ไม่ได้พร่องแต่อย่างใด แต่จะมีรายวิชาใหม่ๆ ให้เลือกเรียนมากขึ้น ในระบบใหม่ที่เอื้อให้นิสิตได้ปรับประยุกต์เลือกรายวิชาต่างๆ ตามที่ตนต้องการจะวางแผนชีวิตได้ดียิ่งขึ้น”

อ่านคำชี้แจงฉบับเต็มได้ที่: bit.ly/3NZdJVU

References
1 หมายถึงวิชาเนื้อหา เช่น วิชาประวัติศาสตร์ วิชาปรัชญา วิชาวรรณกรรม เป็นต้น
2 เอกำลังพูดถึงคำศัพท์ที่เด็กอักษรทั้งคณะรู้จักกันดีจากวิชา WEST CIV
3 หมายถึงวิชาที่ฝึกทักษะการใช้ภาษา เช่น วิชาการล่าม วิชาการแปล ไวยากรณ์ เป็นต้น
4 โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, ทำไมการแก้หลักสูตรอักษรถึงสำคัญ
5 Britannica, humanities
6 Adam Harris, The Liberal Arts May Not Survive the 21st Century
7 เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา, ‘มนุษยศาสตร์’ วิชาที่กำลังจะสูญหาย? จำเป็นอยู่ไหม เมื่อตลาดไม่ต้องการ
8 William D. Adams, Martha C. Nussbaum Talks About the Humanities, Mythmaking, and International Development
9 Verita Sriratana, Literary Studies in the age of “Productivity”
10 Australian Academy of the Humanities, Why the Humanities Are Essential to Artificial Intelligence
11 Jon Simkins, Marymount University Students Plan Protest as School Looks to Cut Humanities Majors

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save