“โอ้กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร สมเป็นนครมหาธานี สวยงามหนักหนายามราตรี งามเหลือเกินเพลิดเพลินฤดี ช่างงามเหลือที่จะพรรณา…”
เนื้อเพลง ‘กรุงเทพฯ ราตรี’ ของวงสุนทราภรณ์ บ่งบอกว่าเมืองหลวงของเรามีเสน่ห์อันล้นเหลือในช่วงยามค่ำคืน แม้เพลงนี้จะได้รับการประพันธ์มาแล้วเกินกว่า 60 ปี แต่ความสวยงามของมหานครแห่งนี้ในยามราตรีก็ยังคงเป็นที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบัน
แสงสีที่ประดับเมืองกรุงเทพฯ ในห้วงเวลากลางคืนจำนวนมากก็คือแสงสีที่มาจากสถานที่ที่เรียกว่า ‘สถานบันเทิง’ ซึ่งมีอยู่หลายย่านทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นสีลม พัฒน์พงศ์ ทองหล่อ อาร์ซีเอ หรือถนนข้าวสาร ซึ่งล้วนเป็นเสมือนหน้าตาของกรุงเทพฯ ที่ดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกหลั่งไหลมาเยือน ถือเป็นแหล่งกอบโกยเงินชั้นดีให้กับเมืองหลวงแห่งนี้
แม้จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเมืองอย่างมหาศาล แต่พื้นที่เหล่านี้ก็ไม่ค่อยได้รับการผลักดันส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเปิดเผย ด้วยทัศนคติของคนไทยหลายคนที่มักมองพื้นที่เหล่านี้เป็นสีดำเพียงด้านเดียว บ้างมองว่าขัดกับภาพลักษณ์ความเป็นเมืองพุทธ ทั้งยังนำไปสู่แนวคิดการเข้ามาควบคุมจัดระเบียบของรัฐ แม้ด้านหนึ่งจะช่วยนำไปสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงช่วยลดปัญหาบางอย่าง แต่หลายครั้งก็ถูกมองว่าเกินกว่าเหตุ ไม่สมเหตุสมผล ไม่สอดรับกับวิถีความเป็นจริงของเมือง จนกลายเป็นอุปสรรคไม่ให้พื้นที่เศรษฐกิจเหล่านี้ก้าวทะยานขึ้นมาได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ อคติที่มีต่อความมืดของรัฐยังบดบังให้หลายประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบรรดาย่านเศรษฐกิจกลางคืนเหล่านั้น ไม่อาจเป็นที่มองเห็น และทำให้ผู้คนจำนวนมากที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์กรุงเทพฯ ให้ ‘สวยงามหนักหนายามราตรี’ ต้องถูกละเลย ไม่ได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับผู้คนยามกลางวัน แม้พวกเขาจะเป็นกลจักรสำคัญของเศรษฐกิจเมืองไม่แพ้กัน
สิ่งเหล่านี้อาจเตือนให้เราฉุกคิดว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่อีกซีกเวลาหนึ่งของวันในมหานครกรุงเทพฯ จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นความหวังให้กับ ‘คนกลางคืน’ ที่มีอยู่นับแสนนับล้านในมหานครแห่งนี้ได้หรือไม่
101 ลงพื้นที่ถนนข้าวสาร อันเป็นย่านราตรีชื่อดังของกรุงเทพฯ ไปพูดคุยกับผู้คนในแวดวงธุรกิจกลางคืนถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอ พร้อมเสนอแนะนโยบายสู่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่ เพื่อให้คนและเศรษฐกิจกลางคืนทะยานขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองได้เต็มที่ และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป
สถานบันเทิงในเงามืดแห่งโรคระบาด กับผู้ว่าฯ ที่ไม่เข้าใจธุรกิจกลางคืน
เสียงดนตรีที่ดังกระหึ่มออกมาจากแต่ละร้าน แสงไฟยามค่ำคืนหลากสีสัน และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินกันขวักไขว่บน ‘ถนนข้าวสาร’ ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือภาพที่สะท้อนว่าชีวิตชีวากำลังกลับคืนสู่ย่านท่องเที่ยวกลางคืนชั้นนำของกรุงเทพฯ แห่งนี้อีกครั้ง หลังต้องร้างราเงียบเหงาไปภายใต้สองปีแห่งการระบาดของโควิด-19 แม้ความคึกคักที่เห็นจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของช่วงก่อนเกิดวิกฤตการระบาด แต่นั่นก็พอจะชโลมจิตใจเหล่าผู้ค้า-ผู้ประกอบธุรกิจกลางคืนในพื้นที่นี้ได้ไม่น้อย
ที่เที่ยวกลางคืนอย่างถนนข้าวสารจัดได้ว่าเป็นหน้าเป็นตาของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นหนึ่งในปลายทางยอดฮิตที่ชาวต่างชาติตั้งใจมาเยือนเมื่อเหยียบถึงเมืองหลวงแห่งนี้ โดยช่วงก่อนโควิด-19 ถนนข้าวสารและบริเวณโดยรอบต้อนรับนักท่องเที่ยวได้สูงถึงวันละ 20,000 คนโดยเฉลี่ย ด้วยรายได้สะพัดวันละกว่า 20 ล้านบาท
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แสงสว่างยามค่ำคืนในย่านถนนข้าวสารพากันดับวูบลงไปทันตา พร้อมกับเม็ดเงินที่หายไปจากเดิมเกือบ 100% ตลอดช่วงเวลากว่า 2 ปีของการระบาด
ธุรกิจกลางคืนในพื้นที่ถนนข้าวสารประสบชะตากรรมไม่แพ้พื้นที่เที่ยวกลางคืนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และประเทศไทย พวกเขาถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ ด้วยถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสูงกว่าที่อื่นๆ จึงมักถูกสั่งปิดเป็นอันดับต้นๆ และได้รับการผ่อนคลายมาตรการช้ากว่าธุรกิจอื่นๆ
แม้นโยบายในการควบคุมการระบาดส่วนมากจะถูกกำหนดมาจากรัฐบาลส่วนกลาง แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เองก็มีบทบาทในพื้นที่ไม่น้อย และถือเป็นคนหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้มาตรการควบคุมการระบาดต่อสถานบันเทิงมาตลอด อย่างช่วงหนึ่งที่กำหนดเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ในร้านถึงเพียงสามทุ่ม ซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของกิจการประเภทนี้
“ผมว่าผู้ว่าฯ ไม่เข้าใจสถานบันเทิง เลยแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และยังไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับสถานบันเทิงได้ สองคือผู้ว่าฯ อาจไปทำงานใกล้ชิดกับกรมอนามัย เลยรับฟังความเห็นจากแพทย์มากกว่า” สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร และเจ้าของธุรกิจที่เปิดกิจการบนถนนข้าวสารมายาวนาน ให้ความเห็น
นอกจากตัวมาตรการที่จำกัดการดำเนินกิจกรรมแล้ว สิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการสถานบันเทิงรู้สึกลำบากยิ่งขึ้นไปอีกคือการบังคับใช้มาตรการที่สับสน
“เรื่องเวลาเปิดปิดก็ไม่ได้ชัดเจน กฎหมายทั่วประเทศให้ปิดเที่ยงคืน แต่กลายเป็นว่าโซนข้าวสารตรงนี้ บางวันห้าทุ่มก็โดนไล่ปิด บางวันก็ให้เปิดถึงตีหนึ่งได้ บางวันก็ถึงตีสองได้ หรือบางวันสถานีตำรวจมาบอกว่าปิดตีสองได้ แต่พอเจ้าหน้าที่เขตมาลงพื้นที่กลับบอกเราว่าให้ปิดเที่ยงคืน เราก็ทำงานกันลำบาก วางแผนอะไรไม่ได้ ผมอยากให้แก้เรื่องนี้ เพราะผู้ประกอบการต้องมาเหนื่อยกับเรื่องพวกนี้กันมาก” สุทน สังข์วิจิตร ผู้ประกอบการสถานบันเทิงแห่งหนึ่งบนถนนข้าวสาร กล่าว
หลังผ่านพ้นจากช่วงเวลาที่ต้องปิดตายไปท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างหนัก บรรดาผู้ประกอบการสถานบันเทิงตั้งความหวังว่าการได้กลับมาเปิดอีกครั้ง แม้จะยังไม่ได้เต็มที่เท่าช่วงก่อนวิกฤต ก็จะพอช่วยให้ลืมตาอ้าปากขึ้นได้บ้าง ทว่า การกำหนดมาตรการที่ไม่สอดคล้องสภาพความเป็นจริงของธุรกิจและการบังคับใช้ที่สับสน ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เต็มที่
“มีโควิดขึ้นมาสองปี ผมเป็นหนี้เลยหนึ่งล้าน จากที่เมื่อก่อนไม่เคยมีหนี้เลย แล้วเราก็ไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย ไม่ได้มีใครมาคุยกับเราเลยด้วย เราก็เลยเป็นหนี้ขึ้นมา ทีนี้พอเปิดร้านได้ เราก็ต้องพยายามหาเงินใช้หนี้ แต่กลายเป็นว่าพอเปิดปุ๊บก็โดนไล่จับ บางวันมาไล่ปิดเที่ยงคืน บางวันตีหนึ่ง แล้วอย่างนี้เราจะไปใช้หนี้อย่างไร รัฐบาลก็น่าจะมองเห็นปัญหาพวกนี้ แต่ก็ไม่ได้เข้ามาช่วย แล้วจริงๆ ผู้ว่าฯ เองก็น่าจะช่วยได้มากกว่านี้อีก” สุทนกล่าว
แม้กลุ่มธุรกิจกลางคืนจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศและกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น กลายเป็นว่าพวกเขาเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการเหลียวแล โดยได้รับการช่วยเหลือเยียวยาที่น้อย ทั้งยังล่าช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งสะท้อนว่าภาครัฐ รวมถึงกรุงเทพมหานคร อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกเขามากพอ
นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารอย่างสง่า กล่าวว่า “เรื่องการเยียวยาอาจจะไม่ใช่หน้าที่ผู้ว่าฯ โดยตรงก็จริงอยู่ แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนที่ต้องดูแลคนกรุงเทพฯ อย่างน้อยเขาก็ควรเป็นปากเป็นเสียง ช่วยต่อสู้เพื่อคนกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่มี กลายเป็นว่าพวกเราเรียกร้องของพวกเราเองทั้งนั้น”
“มุมมองของผู้ว่าฯ ต้องเปลี่ยนแล้วนะ มันไม่ใช่แค่จะแก้ปัญหาเรื่องรถติด เรื่องน้ำท่วม เรื่องความสะอาด แล้วจบ วิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ ต้องกว้างไกลกว่านั้นแล้ว เพราะคุณต้องดูแลคนทั้งกรุงเทพฯ ต้องดูว่าปัญหาคนกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหนบ้าง เจาะดูทีละกลุ่ม ดูว่าจะช่วยแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างไร” สง่าให้ความเห็น
การจัดระเบียบ: เสี้ยนหนามตำใจธุรกิจกลางคืน
วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนปัญหาภาพใหญ่ของกลุ่มธุรกิจกลางคืนในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องเผชิญกับการไม่ได้รับความเอาใจใส่ที่มากพอ รวมทั้งความไม่สมเหตุสมผลของกฎระเบียบที่มีต่อพวกเขา อันเป็นผลพวงสำคัญมาจากความไม่เข้าใจและทัศนคติที่ไม่ดีของภาครัฐ รวมถึงผู้ว่าฯ ที่มีต่อธุรกิจกลุ่มนี้ โดยมักจัดวางให้ธุรกิจสถานบันเทิงเป็นผู้ร้ายที่สร้างปัญหาเพียงด้านเดียว ทัศนคติแบบนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคให้กลุ่มธุรกิจกลางคืนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถทะยานขึ้นไปได้เต็มที่ แม้จะมีศักยภาพที่มากพร้อมในการเป็นกลไกผลักดันเศรษฐกิจให้กับเมือง
“เราชอบคิดว่าเราเป็นเมืองพุทธ เราเลยทำอะไรที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เรื่องสถานบันเทิงก็คือหนึ่งในประเด็นพวกนั้นที่มันสะท้อนว่า ชีวิตความเป็นจริงในปัจจุบันกับกฎหมายไม่ได้วิ่งไปด้วยกัน เรามัวแต่พยายามหลบๆ ซ่อนๆ สิ่งเหล่านั้น แทนที่จะทำให้มันชัดเจน แล้วจะได้หามาตรการควบคุมมันให้ดี” สง่ากล่าว พร้อมกับชี้ถึงกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐที่พยายามเข้ามาควบคุมจัดระเบียบสถานบันเทิงจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ
“ทุกวันนี้มีกฎหมายห้าม อย่างตอนนี้เราไม่สามารถขายเหล้าได้ตอนบ่ายสองจนถึงห้าโมงเย็น ต่อให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตก็ขายไม่ได้ ตลกไหมที่กฎหมายออกมาแบบนี้ สมมตินักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปเที่ยวตอนเช้า แล้วตอนบ่ายเขาอยากผ่อนคลาย หาเหล้าเบียร์ดื่ม แต่กลายเป็นว่าเขาหาไม่ได้ มันตลก ขนาดมาเลเซียค่อนข้างเข้มงวดเรื่องพวกนี้ เขาก็ยังไม่ได้มีกฎหมายแบบนี้ออกมา คนที่ถือกฎหมายบ้านเราไม่ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตพวกเราจริง ก็เลยไม่รู้ แล้วก็สักแต่ออกกฎหมาย ผมว่ากฎพวกนี้ต้องมาทบทวนกันใหม่”
สง่ายังยกตัวอย่างถึงกฎหมายที่กำหนดเวลาขายเหล้าของร้านอาหารให้ขายได้ไม่เกินเที่ยงคืน ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ทั้งที่ร้านอาหารสามารถเปิดได้ถึงตีสองตามกฎ จึงถือว่าไม่ได้สมเหตุสมผลกับวิถีธุรกิจในความเป็นจริงเท่าไหร่นัก แม้ว่าทางการอาจมีเหตุผลคือการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนยามกลางคืน แต่สง่ามองว่าปัญหาตรงนี้แก้ได้ด้วยการจัดโซนนิ่งสถานประกอบการให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ไม่จำเป็นต้องกำหนดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์แบบเหมารวมทุกร้านอาหารอีกต่อไป
“เราอาจจะจัดกรุงเทพฯ ให้มีสัก 5-10 โซนนิ่งที่ให้สถานบันเทิงกระจุกอยู่รวมกันหมด ให้เปิดได้เต็มที่ แล้วให้ทุกคนไปเที่ยวตรงนั้นรวมกันหมด มันจะช่วยให้จัดการง่ายขึ้น แล้วเราสามารถนำตำรวจไปกระจุกอยู่ในจุดพวกนี้ได้ ไม่ต้องไปตั้งด่านกระจัดกระจายทั่วกรุงเทพฯ พอเป็นอย่างนี้ นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวบริเวณนั้นแล้วเอารถไปก็ต้องระวังตัวกันแน่นอน เพราะตำรวจอยู่เต็มไปหมด มันก็จะช่วยสร้างวินัยให้คนมากขึ้น แทนที่จะไปออกกฎห้ามมันเสียทั้งหมด” สง่ากล่าว
สุทนเห็นสอดคล้องกัน โดยเขากล่าวว่า “เราจัดโซนนิ่งให้ชัดเจนไปเลยดีกว่าว่าผับบาร์เปิดได้ตรงไหนบ้าง แล้วก็ดูแลความเรียบร้อยให้ดี ถ้าทำอย่างนั้น ผมว่าเงินจะสะพัดมากกว่านี้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวหนีไปที่อื่นหมด ปิดห้าทุ่มเที่ยงคืน ใครจะมา เวลาปิดเปิดสำคัญมากครับ แล้วอีกปัญหาคือเราไม่ชัดเจนด้วย เขตบอกอย่างหนึ่ง ตำรวจบอกอย่างหนึ่ง บางทีเขตโอเคให้ปิดถึงเวลานี้ แต่อยู่ๆ ตำรวจมาไล่ปิด เลยไม่รู้ว่าเขาได้คุยกันหรือเปล่าแล้วใช้กฎหมายอะไรกันแน่ อย่างนี้นักท่องเที่ยวเลยหนีหมด”
ปัญหาเรื่องการควบคุมจัดระเบียบสถานบันเทิงเหล่านี้อาจเป็นปัญหามาจากกฎระเบียบระดับชาติ ซึ่งส่วนมากอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ประกอบการสถานบันเทิงก็มองว่า ผู้ว่าฯ ควรแสดงบทบาทเป็นปากเป็นเสียงให้พวกเขาได้ และต้องปรับความคิดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อธุรกิจสถานบันเทิง
“ผมว่าผู้ว่าฯ ก็น่าจะมีอำนาจระดับหนึ่งนะ คือเขาต้องมีวิสัยทัศน์ก่อนว่าเขาจะพัฒนากรุงเทพฯ อย่างไร จะพาธุรกิจสถานบันเทิงอย่างพวกเราไปข้างหน้าอย่างไร นโยบายเป็นอย่างไร จากนั้นผู้ว่าฯ ก็ต้องสามารถเป็นตัวแทนต่อสู้ให้กับผู้ประกอบการ เขาต้องไปพูดกับรัฐได้ว่า การออกกฎแบบนั้นแบบนี้ไม่เหมาะสมเหตุสมผล และอาจเสนอให้รัฐบาลออกกฎระเบียบแบบใหม่ๆ ออกมา ต้องพูดให้เขาฟังได้ว่าการออกกฎใหม่นี้ออกมาจะมีข้อดีอย่างไรบ้าง ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ก็จะช่วยได้เยอะ” สง่ากล่าว
“ทุกวันนี้เราหลบ เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับมัน แล้วไม่ได้ดูว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว ผมอยากให้ผู้ว่าฯ เปลี่ยนมุมมองตรงนี้ให้ได้ ถ้าเรามีผู้ว่าฯ ที่มีวิสัยทัศน์ มองอะไรให้มันเป็นธุรกิจมากขึ้น มันก็จะมีโอกาสมากมาย กรุงเทพฯ เราติดอันดับต้นๆ ของโลก เรามีไนต์ไลฟ์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี แล้วเรายังมีเสรีเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือว่าเปิดกว้างกว่าประเทศอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซียด้วยซ้ำ เราทำเรื่องพวกนี้ให้เป็นจุดแข็ง ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาไนต์ไลฟ์ประเทศเราได้ แล้วก็จัดระเบียบ บังคับใช้กฎอะไรให้ชัดเจน แทนที่จะไปห้ามมันทั้งหมด”
ส่วย-เสียง-ทางเท้า-ความปลอดภัย-รถสาธารณะ
หลากเสียงสะท้อนของผู้คนในธุรกิจกลางคืน
นอกจากปัญหาการเข้ามาควบคุมจัดระเบียบของภาครัฐที่เป็นประเด็นสำคัญแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่บรรดาผู้คนในแวดวงธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืนมองว่าเป็นความท้าทายใหญ่ของคนที่จะมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ โดยจำนวนหนึ่งพูดถึงปัญหาการเก็บส่วย ซึ่งคนของเจ้าหน้าที่รัฐคอยมาเก็บเพื่อเป็นค่าอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจการ แม้ประเด็นนี้จะมีมายาวนานจนผู้ประกอบการมองว่ากลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ระยะหลังเริ่มมีการเรียกเก็บที่บ่อยขึ้น โดยเป็นการเรียกเก็บจากคนของหลายหน่วยงาน จากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงไม่กี่หน่วยงานเท่านั้น ผู้ประกอบการจึงมองว่าจะดีกว่าหรือไม่ หากอย่างน้อยที่สุด การเก็บส่วยจะถูกแทนที่ด้วยการเก็บภาษีเข้าหน่วยงานรัฐอย่างเป็นระบบระเบียบและถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมองว่าการแก้ปัญหานี้ได้จริงอาจแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ที่มองไม่เห็นเกี่ยวข้องมากมาย
ขณะที่ผู้ประกอบการอย่างสุทน มองว่าอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากก็คือเรื่องมลภาวะทางเสียง เขาเล่าให้ฟังว่า “ผู้ประกอบการบนถนนข้าวสารชอบแข่งกันใช้เสียงดึงลูกค้า อย่างร้านเราชอบเล่นดนตรีสด แต่อีกร้านหนึ่งก็พยายามเปิดเพลงออกเครื่องเสียงแข่งกับเรา มันก็กลบเสียงร้านเราไปเลย สุดท้ายมันเลยกลายเป็นทุกร้านต้องซื้อเครื่องเสียงมาเปิดแข่งกัน ร้านเล็กๆ ที่ตั้งใจทำให้แตกต่างด้วยการเล่นดนตรีเองก็อยู่ยาก แต่ละร้านเลยสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองไป แล้วก็ทำให้ข้าวสารเสียงดังมาก”
แม้ว่าหลายร้านจะร้องเรียนเรื่องนี้ไปกับเขต แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข สุทนเล่าว่า “พอร้านร้องเรียนไป เขตก็มาตรวจวัดเสียง ทีนี้พอผู้ประกอบการบางร้านรู้ก่อนว่าเขาจะมาตรวจวัด ก็จะเบาเสียงลงช่วงที่เขามาตรวจ แต่พอเจ้าหน้าที่กลับไป แต่ละร้านก็กลับมาเปิดเสียงแข่งกันเหมือนเดิม มันเลยไม่จบครับปัญหานี้ แล้วผู้ประกอบการก็ไม่มีใครยอมกันเรื่องเสียงเลย”
นอกจากเรื่องเสียง ประเด็นต่อมาที่ผู้คนในย่านข้าวสารมองว่าต้องได้รับการดูแลก็คือเรื่องทางเท้า โดยสง่าเล่าว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีนโยบายเข้ามาจัดระเบียบทางเท้าและแผงลอยในพื้นที่ข้าวสาร ซึ่งสง่ามองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะก่อนหน้านี้มีปัญหามากเรื่องแผงลอยเบียดบังพื้นที่ทางเท้าและพื้นที่เข้าออกอาคารบ้านเรือนในแถบนั้น การจัดระเบียบที่ผ่านมาได้ช่วยให้ภูมิทัศน์ถนนข้าวสารเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
แม้ในช่วงแรกของการจัดระเบียบทางเท้าจะเกิดความสับสนวุ่นวายจนกระทบกับรายได้ของผู้ค้าแผงลอยไปบ้าง แต่สง่าเชื่อว่ามันจะเป็นผลดีในระยะยาว เพราะภูมิทัศน์ที่ดีขึ้นจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากขึ้น อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ ผลลัพธ์ของการจัดระเบียบแผงลอยและทางเท้าบนถนนข้าวสารยังไม่อาจเห็นผลได้ชัดเจนนัก เพราะหลังจัดระเบียบได้ไม่นานก็เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นมาเสียก่อน จึงต้องรอดูผลหลังจากนี้ที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังเริ่มทยอยกลับคืนสู่ภาวะปกติ ถ้าหากมีปัญหาใดๆ สง่าก็มองว่าต้องแก้ปัญหาให้ได้ด้วยการพยายามหาแนวทางที่จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ค้า คนเดินเท้า และผู้อยู่อาศัยตามอาคารบ้านเรือน เกิดความพอใจร่วมกันได้
อย่างไรก็ตาม สง่าเห็นว่ายังมีปัญหายิบย่อยในเรื่องทางเท้าบริเวณพื้นที่ถนนข้าวสารที่อาจต้องแก้ไขร่วมกับ กทม. กันต่อไป อย่างเรื่องการวางท่อน้ำบริเวณทางเท้าซึ่งอาจมีช่องห่างเกินไป จนลำบากต่อนักท่องเที่ยวในการลากกระเป๋าเดินทางเพื่อเข้าพักในที่พักบริเวณนั้น รวมถึงเรื่องความสะอาด ซึ่งเป็นปัญหาจากการมีถังขยะตามทางเท้าที่น้อยเกินไป เนื่องจากความกังวลเรื่องการก่อวินาศกรรม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ
ส่วนในแง่มุมของคนเป็นพนักงานอย่าง พิมผกา พลเยี่ยม มองว่าปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่งก็คือเรื่องความไม่ปลอดภัยในยามค่ำมืด แม้ตัวเธอเองจะยังไม่เคยเจอปัญหา แต่ก็มีความระแวงเมื่อต้องเดินทางกลับบ้านด้วยมอเตอร์ไซค์ในเวลาที่ดึกมากหลังปิดร้าน แม้ที่พักของเธอจะอยู่แค่ในบริเวณถนนท่าพระอาทิตย์ ซึ่งไม่ได้ไกลจากถนนข้าวสารมากก็ตาม เธอเล่าว่า “ตอนกลางคืนมันมืดมาก แล้วเราก็จำเป็นต้องกลับในเส้นทางที่ไม่มีไฟ เพราะเส้นทางเป็นวันเวย์ ถ้าเราจะไปกลับเส้นทางที่มีไฟ เราก็ต้องไปอ้อมไกล”
“ตัวเราเองยังไม่เท่าไหร่ แต่กังวลกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากกว่า เพราะพวกเขาไม่ชินเส้นทาง แล้วบางทีลูกค้าที่ร้านก็เล่าให้ฟังว่าโดนฉกชิงวิ่งราว เราก็เป็นห่วงตรงนี้ เพราะเขาก็เป็นลูกค้าเรา แล้วเราก็อยากให้เขากลับมาเที่ยวที่นี่บ่อยๆ ทุกปี” เธอเล่าเพิ่มเติม
ขณะที่พนักงานสถานประกอบการอีกแห่งหนึ่งบนถนนข้าวสารอย่าง ตรีคูณ ศรีชัย ซึ่งรับจ้างเป็นพนักงานเสิร์ฟที่นั่นมานานถึง 20 ปี มองว่าปัญหาใหญ่ที่เธอ รวมถึงเพื่อนคนรู้จักที่ทำงานในละแวกเดียวกันต้องเจอ ก็คือปัญหาเรื่องการเดินทางกลับบ้านยามค่ำคืนที่ยากลำบากยิ่งกว่าคนที่ทำงานในช่วงเวลากลางวัน
ที่พักของตรีคูณอยู่ในย่านจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งไกลออกไปจากถนนข้าวสารราว 4-5 กิโลเมตร เธอเล่าว่า “พอเลิกงานปุ๊บ เราก็ต้องไปยืนรอรถเมล์ ซึ่งที่ป้ายก็เปลี่ยว แล้วรถก็ยังไม่ค่อยมีอีก กว่าจะมาก็ใช้เวลานานมาก บางทีรอไม่ไหวก็ต้องเรียกแท็กซี่เอาเลย ก็แพงกว่าค่ารถเมล์มาก”
“คนอื่นก็เจอปัญหาคล้ายๆ เรานะ ใครที่ไม่มีมอเตอร์ไซค์ ก็ต้องกลับรถเมล์ แล้วรถเมล์ตอนกลางคืนก็มีแค่ไม่กี่สาย มีน้อยมาก เมื่อก่อนยังมีรถเยอะกว่านี้ แต่เดี๋ยวนี้หลังๆ ก็น้อยลงไปอีก อย่างป้าแม่บ้านที่รู้จักกันก็ต้องรอรถเมล์นานเลยกว่าจะได้กลับถึงบ้าน” ตรีคูณเล่าต่อ
“ก็อยากให้ผู้ว่าฯ มาดูแลเรื่องขนส่งสาธารณะให้พวกเรา เพราะคนทำงานกลางคืนหารถกลับบ้านกันยากมาก ถ้าจะให้เรามานั่งจ่ายค่าแท็กซี่ทุกวันๆ เราก็ไม่ไหวนะ อยากให้มีรถเมล์มากกว่านี้ เที่ยงคืนหรือตีหนึ่งก็ยังมีวิ่ง เพราะคนเลิกงานกลับบ้านเวลานั้นมีเยอะมาก” ตรีคูณกล่าว
อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ตรีคูณไม่ได้เดินทางกลับบ้านหลังเลิกงานยามดึกด้วยรถเมล์มานานแล้ว เพราะเธอมีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเองมาได้พักใหญ่ ทำให้การกลับบ้านของเธอสะดวกขึ้นกว่าเดิมมาก แต่นั่นก็อาจสะท้อนว่าความสะดวกในการเดินทางกลับบ้านของคนทำงานในธุรกิจกลางคืนต้องแลกมาด้วยต้นทุนในการซื้อยานพาหนะเป็นของตัวเอง แทนที่จะได้เข้าถึงบริการขนส่งมวลชนสาธารณะที่ราคาถูกและสะดวกเทียบเท่าคนทำงานกลางวันทั่วไป
เสียงสะท้อนจากแรงงานกลางคืนอย่างตรีคูณและพิมผกา บ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่าคนที่ทำงานตอนกลางคืนในกรุงเทพฯ มีประเด็นปัญหาเฉพาะตัวบางอย่างที่แตกต่างไปจากที่คนใช้ชีวิตตอนกลางวันเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสงสว่างที่ไม่เพียงพอ ความไม่ปลอดภัย ไปจนถึงการคมนาคมที่ไม่สะดวก หากแต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าปัญหาของพวกเขาได้รับการเหลียวแลไม่มากพอ และไม่เท่าเทียมกับปัญหาของคนกลางวัน ทั้งที่คนกลางคืนก็ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองกรุงเทพฯ สูง
โจทย์ของคนเป็นผู้ว่าฯ ในการดูแลพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน จึงไม่ได้มีแค่การให้ความสำคัญกับการควบคุมจัดระเบียบพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ทำงานและใช้ชีวิตในช่วงกลางคืน ซึ่งมีความต้องการบางอย่างที่แตกต่างจากคนกลางวัน และที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า คนกลางคืนนั้นไม่ได้มีแค่คนที่ทำงานในธุรกิจสถานบันเทิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนในอาชีพอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องทำงานในช่วงเวลากลางคืน เช่น พ่อค้าแม่ค้าในตลาดกลางคืน พนักงานบริษัทที่ต้องทำงานเข้าเวรในช่วงกลางคืน หรือพนักงานกะดึกในร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พวกเขาล้วนต้องการการดูแลจากเมืองไม่แพ้คนกลางวัน
เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่กลางวัน
ส่องนโยบายในห้วงกลางคืนของบรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ
“ยังไม่มีเลย ผมยังไม่เห็นเลยนะ” สง่าตอบขึ้นมาทันทีต่อคำถามของเราที่ว่า มีนโยบายดูแลแหล่งพื้นที่ยามค่ำคืนของผู้สมัครผู้ว่าฯ คนไหนน่าสนใจบ้างไหม
แม้สง่าจะรับรู้ว่ามีผู้สมัครบางคนที่ชูนโยบายดูแลคนกลางคืนขึ้นมาหาเสียง แต่เขาก็มองว่ายังไม่มีนโยบายของผู้สมัครคนไหนที่ถูกใจเขาจริงๆ
“ผมก็ติดตามอยู่นะ คือมันมีบางนโยบายที่แตะพวกเราแหละ ก็เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ลึกๆ แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าเขาได้ลงมาสัมผัสเราจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเขาได้ลงมาจริง เขาน่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้อีก” สง่ากล่าว
เขากล่าวต่อไปว่า “เท่าที่ดูมาผมว่านโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ ไปเน้นแก้ปัญหาภาพใหญ่มากกว่า เขาอาจจะมองปัญหาพวกเราเล็กน้อย หรือมองว่าพวกเราเป็นกลุ่มเล็กๆ เลยไม่ได้เอามาเป็นนโยบายใหญ่โต แต่ต้องอย่าลืมว่าคนทำงานกลางคืนมีหลายแสนคน”
“ผมไม่ได้มองถึงขั้นว่าเราต้องมีผู้ว่าฯ ที่มาดูแลคนกลางคืนโดยเฉพาะ แต่ต้องดูแลทุกคน เขาต้องรู้ว่าคนกรุงเทพฯ มีกลุ่มไหนบ้าง แล้ววันนี้มีคนกลุ่มไหนต้องดูแลเป็นพิเศษบ้าง” เขาให้ความเห็น
ขณะที่ผู้ประกอบการสถานบันเทิงอย่างสุทน แม้จะไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะมีชื่อในทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัด แต่เขาก็มีความคาดหวังอยากเห็นผู้ว่าฯ คนต่อไปเป็นคนรุ่นใหม่หรือไม่เช่นนั้นก็มีแนวคิด วิสัยทัศน์แบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้มองกลุ่มธุรกิจกลางคืนในแง่มุมมืดๆ เพียงด้านเดียวอีกต่อไป และต้องสามารถเข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่นสามารถจัดโซนนิ่งเป็นที่เป็นทาง หรือสามารถกำหนดเวลาปิดสถานบันเทิงที่ชัดเจน
ส่วนพิมผกากับตรีคูณ ซึ่งเป็นพนักงานสถานบันเทิง ก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งเช่นกันเพราะเป็นคนต่างจังหวัด แต่ก็หวังอยากให้ผู้ว่าฯ คนต่อไปหันมาใส่ใจคุณภาพชีวิตของคนกลางคืนอย่างพวกเขามากขึ้น
เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกล้วนเจอปัญหาคล้ายกันคือการมองข้ามผู้คนที่ใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางคืน ทั้งที่ภาคเศรษฐกิจกลางคืนถือเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจอันสำคัญ แต่ในระยะหลังมานี้ เราเริ่มเห็นเมืองใหญ่มีเทรนด์นโยบายที่ให้ความสำคัญกับการดูแลเมืองและผู้คนในยามค่ำคืนมากขึ้น โดยหลายเมืองใช้วิธีแต่งตั้งบุคคลที่ทำหน้าที่บริหารเมืองช่วงกลางคืนโดยเฉพาะ ด้วยชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโดยผู้บริหารท้องถิ่นหรือองค์กรภาคประชาสังคม โดยเมืองที่มีการแต่งตั้งคนรับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าว ได้แก่ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์, นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย, กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก, กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และอีกมากมาย โดยส่วนมากเป็นเมืองในฝั่งซีกโลกตะวันตก โดยผู้บริหารเมืองยามค่ำคืนโดยทั่วไปจะมีหน้าที่ส่งเสริมผลักดันเศรษฐกิจกลางคืน รวมถึงพัฒนาปรับปรุงเมืองให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้คนตลอด 24 ชั่วโมง
ยกตัวอย่างกรุงลอนดอน มีการแต่งตั้งตำแหน่ง Night Czar ขึ้นมาในปี 2016 เพื่อดูแลเมืองในช่วงเวลาตั้งแต่หกโมงเย็นถึงหกโมงเช้าของวันรุ่งขึ้น เพื่อทำให้ลอนดอนเป็นเมืองที่รองรับคนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผ่านมา Night Czar มีภารกิจหลักๆ คือการพูดรับฟังปัญหาจากผู้คนและกลุ่มธุรกิจที่ใช้ชีวิตยามกลางคืน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงเมืองให้สอดรับความต้องการ การดูแลความปลอดภัยยามค่ำคืน การจัดให้รถไฟฟ้าใต้ดินเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และการผลักดันให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสถานที่เที่ยวกลางคืนที่เป็นมิตรต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือกรุงอัมสเตอร์ดัม มีการตั้งตำแหน่ง Nacht Burgemeester (Night Mayor) ภายใต้การขับเคลื่อนของมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร Stichting N8BM A’DAM โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน Nacht Burgemeester มีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนายกเทศมนตรี สภาเมือง กลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการดูแลเมืองยามค่ำคืน โดยความสำเร็จที่ผ่านมาได้แก่ การผลักดันให้สถานประกอบการเปิดให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง การดูแลความปลอดภัยในย่านที่เที่ยวกลางคืนสำคัญที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ จนสามารถลดปัญหาลงไปได้มาก รวมทั้งการผลักดันเศรษฐกิจกลางคืนให้มีความหลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกกลุ่ม
ย้อนกลับมามองที่กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นนโยบายของผู้ว่าฯ ที่มุ่งเน้นเอาใจใส่เมืองในช่วงเวลากลางคืนอย่างชัดเจน ความหวังจึงอาจอยู่ที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่จะถึงนี้ แต่เมื่อสำรวจดูนโยบายของบรรดาผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ครั้งนี้ พบว่ามีผู้สมัครเพียงไม่กี่คนที่ชูนโยบายเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
หนึ่งในนั้นคือชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ที่ชูนโยบาย ‘ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน’ ตามแบบอย่างที่เกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกตามที่ได้ยกตัวอย่างไปด้านบน ในแนวคิดของชัชชาติ คนที่รับผิดชอบหน้าที่นี้จะมีบทบาทในการเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจกลางคืน พร้อมแก้ปัญหาที่คนในภาคเศรษฐกิจกลางคืนในเมืองต้องเผชิญ โดยชัชชาติเสนอขึ้นมา 3 ประเด็นได้แก่ การดูแลความปลอดภัยด้วยการเพิ่มไฟส่องสว่างตามถนนและทาง รวมทั้งจัดให้มีเทศกิจดูแลยามค่ำคืน ตามด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้ครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการอำนวยความสะดวกในจุดจอดรถแท็กซี่ย่านธุรกิจกลางคืนเพื่อลดการกีดขวางทางจราจร และสุดท้ายคือการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การปรับปรุงคุณภาพห้องน้ำสาธารณะให้ปลอดภัยและใช้งานได้จริง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาให้บริการ
ขณะที่ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์อย่าง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็มีแนวโน้มเตรียมเปิดตัวนโยบายคนกลางคืนในเร็วๆ นี้ โดยเขาได้เกริ่นแนวคิดเบื้องต้นไว้เมื่อต้นเดือนเมษายนว่า จะดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของคนกลางคืน ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยสุชัชวีร์ยกประเด็นเรื่องการดูแลความปลอดภัย รวมทั้งเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้คนกลางคืนได้ ซึ่งอาจต้องรอติดตามรายละเอียดของนโยบายต่อไป
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้ลงสมัครในสังกัดพรรคไทยสร้างไทย ก็มีนโยบายส่วนหนึ่งซึ่งเน้นไปยังภาคกลางคืนโดยเฉพาะ โดยให้น้ำหนักกับแง่มุมเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ศิธาเสนอนโยบายให้มีการจัดโซนนิ่งย่านเศรษฐกิจกลางคืนที่ชัดเจน พร้อมให้พื้นที่เหล่านี้สามารถเปิดบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง
ดร.โฆสิต สุวินิจจิต อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตัดสินใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ในนามอิสระ ก็ได้เสนอนโยบาย ‘กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง’ เปิดโอกาสให้คนกรุงเทพฯ จากหลากหลายอาชีพสามารถทำมาหากินได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีขนส่งสาธารณะที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ดูแลความปลอดภัยคนกรุงเทพฯ ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดให้มีข้าราชการกรุงเทพฯ ที่ดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงโดยแบ่งการทำงานเป็นกะ โดยโฆสิตมองว่านโยบายนี้จะเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศ จนสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน
อีกหนึ่งผู้สมัครที่มีนโยบายข้องเกี่ยวกับภาคกลางคืนก็คืออดีตผู้ว่าฯ อย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งมีนโยบายข้อหนึ่งว่าจะสั่งปิดสถานบริการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยจะดำเนินการทันที พร้อมทั้งจะกวดขันจัดระเบียบสถานบริการอย่างเข้มข้นจริงจัง