fbpx

101 Visual Journal 2023 : Graphic

เปิดบันทึก ‘101 Visual Journal 2023 : Graphic’ เล่าเบื้องหลังงานภาพกราฟิก โดย ณัฐพล อุปฮาด, พิรุฬพร นามมูลน้อย และวนา ภูษิตาศัย

ปี 2023 เป็นปีที่มีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้ง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ การเลือกตั้งประเทศไทย A.I. Disruption ภาวะโลกรวนที่สร้างความแปรปรวนอย่างไม่ทัน
คาดคิด

ทีมกราฟิกได้ติดตามเรื่องราวมากมายผ่านการอ่านบทความ พร้อมทั้งตีความบทความออกมาเป็นภาพ ครบเครื่องทุกรสทั้ง ภาพโลกที่ผันผวน ภาพการเมืองที่ทรงพลัง ภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย ภาพสะท้อนปัญหาสังคม รวมถึงภาพศิลปะวัฒนธรรมที่ความนิยมแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ

ไม่ว่าเรื่องจะเป็นแบบไหน โจทย์หลักในการทำภาพของพวกเราก็คือ ’ทำอย่างไรให้ภาพสื่อไปถึงใจผู้อ่าน’ แต่การตอบคำถามที่เหมือนจะดูง่ายๆ นั้น ต้องผ่านกระบวนการคิด การตีความบทความที่ซับซ้อน และการเชื่อมโยงประเด็นในทุกแง่มุมอย่างครบถ้วน

จากการทำภาพประกอบกว่าหลายร้อยบทความตลอดทั้งปี นี่คือ 10 ภาพประกอบที่เหล่ากราฟิกภูมิใจ พร้อมเบื้องหลังการตีความของพวกเรา ที่อยากชวนให้ทุกท่านมาร่วมคิดตามไปด้วยกัน


เมื่อเสรีนิยมใหม่โต้มา-สามัญชนสู้ชีวิตกลับ:
บทแนะนำเศรษฐศาสตร์การเมืองในชีวิตประจำวันและเสรีนิยมใหม่จากเบื้องล่าง

เรื่อง: ตฤณ ไอยะรา
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด

บทความพูดถึงการต่อสู้ของสามัญชนกับเสรีนิยมใหม่ จึงตีความเป็นภาพจากส่วนหนึ่งของบทความที่กล่าวว่า ‘กลุ่มสามัญชนเหล่านี้ใช้ความสร้างสรรค์และทุนรอนของตนเองในการต่อต้านและปรับเปลี่ยน…’

จึงเป็นที่มาของภาพของการต่อสู้และต่อต้าน ด้วยเท่าที่พละกำลังของตัวเองจะมี

อ่านบทความได้ที่: เมื่อเสรีนิยมใหม่โต้มา-สามัญชนสู้ชีวิตกลับ:บทแนะนำเศรษฐศาสตร์การเมืองในชีวิตประจำวันและเสรีนิยมใหม่จากเบื้องล่าง


ขาลง ‘กาแฟไทย’ วิกฤตครั้งใหญ่ที่ขมกว่ารสชาติกาแฟ

เรื่อง: อรุณวตรี รัตนธารี
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด

บทความพูดถึงกาแฟไทยมีความนิยมลดลง ทั้งยังมีอุปสรรคมากมาย ทั้งกำแพงภาษีนำเข้า-ส่งออก และต้นทุนที่สูงมากขึ้น จึงเปรียบเปรยเป็นแก้วกาแฟที่กำลังแตก และกาแฟกำลังไหลออกจากแก้ว เพื่อให้สื่อถึงความนิยมลดต่ำลง ความไม่มั่นคงและเปราะบางของกาแฟไทย

อ่านบทความได้ที่: ขาลง ‘กาแฟไทย’ วิกฤตครั้งใหญ่ที่ขมกว่ารสชาติกาแฟ



Gen Z โปรดเป็นมิตรกับองค์กรไว้เถิดจะเกิดผล:
ตลาดแรงงานและโลกของความเป็นมืออาชีพ

เรื่อง: พิมพ์ชนก พุกสุข
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด

‘ความเป็นมนุษย์ในรูปแบบของความให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ความเป็นมืออาชีพ การสื่อสารด้วยเหตุผลและความเข้าอกเข้าใจ หรือสร้างมิตรภาพระหว่างการทำงานด้วยกัน’ คือส่วนหนึ่งในบทความที่นำมาปรับเป็นภาพประกอบบทความ โดยได้พยายามทำภาพให้สื่อถึงการไม่พยายามสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ถึงมีเพื่อนร่วมงานพยายามเข้าหา แต่ก็มักจะปิดกั้นตัวเองและไม่เปิดรับสิ่งใดจากองค์กร

อ่านบทความได้ที่: Gen Z โปรดเป็นมิตรกับองค์กรไว้เถิดจะเกิดผล: ตลาดแรงงานและโลกของความเป็นมืออาชีพ



วัยรุ่นกับช่วง ‘Gap Year’ เมื่อชีวิตจริงของเด็กไทยไม่ชวนให้
ฝันหวาน และการศึกษาที่เป็นเหมือนพริวิลเลจ

เรื่อง: ภัคจิรา มาตาพิทักษ์
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด

บทความพูดถึงเรื่องวัยรุ่นกับช่วง ‘Gap Year’ เลยอยากสื่อถึงความหลากหลายของวัยรุ่น ที่จะก้าวเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย ทั้งที่สอบติด หรือเลือกที่จะ Gap Year ด้วยเหตุผลส่วนตัว เลยวาดภาพประกอบออกมาในหลายๆ กิจกรรม ทั้ง วาดรูป ท่องเที่ยว อ่านหนังสือ รวมถึงการตามหาความชอบของตัวเองให้เจอ ซึ่งตามบทความไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถ Gap Year ได้โดยที่บ้านพร้อมสนับสนุน 

อ่านบทความได้ที่: วัยรุ่นกับช่วง ‘Gap Year’ เมื่อชีวิตจริงของเด็กไทยไม่ชวนให้ฝันหวาน และการศึกษาที่เป็นเหมือนพริวิลเลจ



เมื่อ ‘ชายแท้’ กลายเป็น ‘ชายแทร่’: จากเฮมิงเวย์ถึงนักสื่อสารวิทยาศาสตร์

เรื่อง: โตมร ศุขปรีชา
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด

‘และบ่อยครั้งที่ผู้ชาย ‘กลัว’ ว่าผู้หญิงจะมีอำนาจเหนือตัวเอง โดยเฉพาะเวลาที่ตัวเองอ่อนแอ’

เป็นส่วนหนึ่งจากบทความ เลยนำมาปรับเป็นภาพประกอบที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง โดยใช้ขนาดของผู้หญิงและผู้ชายมีขนาดแตกต่างกันเพื่อให้ภาพสามารถเล่าเรื่องเสมือนว่าผู้ชายอยากจะมีอำนาจมากกว่า
ผู้หญิง

อ่านบทความได้ที่: เมื่อ ‘ชายแท้’ กลายเป็น ‘ชายแทร่’: จากเฮมิงเวย์ถึงนักสื่อสารวิทยาศาสตร์



ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยชายขอบ

เรื่อง: สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย

เนื้อหาพูดถึงการจำกัดเสรีภาพในงานวิชาการของเหล่านักวิชาการในมหาลัยชายขอบ การเผชิญกับการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองในงานวิชาการ

จากบทความได้แปลงภาษาเขียนให้ออกมาเป็นภาษาภาพจากการถอดใจความของบทความ ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยชายขอบ ออกมาเป็นคำว่า ไม่มีเสรีภาพ + งานวิชาการ จึงใช้องค์ประกอบของคุก สะท้อนภาพของการถูกจำกัดพื้นที่ทางความคิดเห็น มาบวกกับ ดินสอ หนังสือ สื่อถึงงานเขียน บวกเข้ากับ นก ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระแต่กลับถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในกรอบ

อ่านบทความได้ที่: ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยชายขอบ



‘สันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นจากปลายกระบอกปืน’:
ความฝันและความหวังของเยาวชนชายแดนใต้ที่รอวันผลิบาน

เรื่อง: ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย

เนื้อหาของงานพูดถึงเสียงของเยาวชนชายแดนใต้ที่ต้องเผชิญอยู่กับเหตุการณ์ความรุนแรง ว่าพวกเขามีความคิด ความหวัง และความฝันเกี่ยวกับพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ อย่างไร

จากบทความเนื้อหาพูดถึงสันติภาพ ความฝัน ความหวัง พอจะตีความออกมาเป็นภาพ จึงพยายามสะท้อนให้เห็นถึงภาพความฝันและความหวัง ผ่านการใช้ภาพของนกที่เป็นสัญลักษณ์ถึงความสันติภาพ บวกกับ ‘เงามือ’ ที่เราเล่นกันตอนเด็กๆ คือการทำมือเลียนแบบลักษณะของสิ่งต่างๆ โดยใช้เงาทำให้เกิดภาพของสิ่งที่จินตนาการถึงอยู่

อ่านบทความได้ที่: ‘สันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นจากปลายกระบอกปืน’:ความฝันและความหวังของเยาวชนชายแดนใต้ที่รอวันผลิบาน



คำพิพากษาศาลฎีกา META แห่งเนติบัณฑิตไทย

เรื่อง: ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย

เนื้อหาของงานพูดถึงสูตรลัดของเหล่าเนติบัณฑิตในประเทศไทย ที่ใช้ชีวิตเหมือนกับเกมมีสูตรลัดตายตัวว่าจะเล่นยังไงให้ชนะ สูตรลัดของเหล่าเนติก็คือการการยึดถือแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นธงคำตอบ

จากบทความจึงทำให้เราจินตนาการไปถึงการใช้ประตูโดเรมอน ที่สามารถนำพาเราไปถึงจุดหมายที่เราคิดไว้ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเหมือนสูตรลัดที่จะนำไปถึงชัยชนะ

อ่านบทความได้ที่: คำพิพากษาศาลฎีกา META แห่งเนติบัณฑิตไทย



เด็กฝึกงาน = แรงงานฟรีถูกกฎหมาย(?):
เปิด พ.ร.บ.ฝึกงานเพื่อปูทางให้ผู้ฝึกงานมีตัวตน

เรื่อง: ภัคจิรา มาตาพิทักษ์
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย

เนื้อหาของงานพูดถึงเสียงของนักศึกษาฝึกงานและช่องโหว่ของกฎหมายนักศึกษาฝึกงานที่บีบคนเหล่านี้ให้เป็นเหมือนแรงงานฟรีที่ถูกกฎหมาย

จากบทความทำให้เรานึกถึง สลิปเงินเดือน จึงใช้เป็นตัวบอกเล่าภาพของค่าตอบแทน และประโยคที่พูดกันทั่วไปว่าฝึกงานได้ประสบการณ์ก็พอ มาผสมรวมให้เกิดภาพใหม่ของสลิปเงินเดือนที่ถูกจ่ายค่าตอบแทนเป็นประสบการณ์

อ่านบทความได้ที่: เด็กฝึกงาน = แรงงานฟรีถูกกฎหมาย(?): เปิด พ.ร.บ.ฝึกงานเพื่อปูทางให้ผู้ฝึกงานมี
ตัวตน



โปสเตอร์เปิดซีรีส์: เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน

ครีเอทีฟ: ธนกร เนตรจอมไพร
ภาพถ่าย: เมธิชัย เตียวนะ
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย

ผลงาน Spotlight ว่าด้วยระบบนิเวศที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นสุข ดังสำนวนที่ว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน’

งานนี้เป็นงานที่ทำให้เราได้ฝึกความคิดและวิธีและความเป็นไปได้การวางตำแหน่งของภาพเป็นอย่างมาก ว่าเราจะทำคอลลาจออกมายังไงให้สะท้อนถึงเด็ก จะใช้ shape ของภาพจริงๆ หรือการตัดปะมาเรียงต่อๆ ให้ดูเป็นภาพของเด็ก ซึ่งก็ได้ลองหาความเป็นไปได้ออกมาหลายๆ รูปแบบ ได้คิดและทดลองกับการทำงานของตัวเองว่าจะใช้ภาพไหนบ้าง สถานการณ์ไหนบ้าง ที่จะช่วยทำให้โปสเตอร์สามารถเล่าคอนเซ็ปต์ออกมาให้ได้ครบถ้วน

อ่านได้ที่: Spotlight: เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน



โทษอาญาเฟ้อ: ภาพสะท้อนจารีตปกครองแบบไทยๆ

เรื่อง: ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์
ภาพประกอบ: วนา ภูษิตาศัย

สาเหตุที่ตาชั่งเอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หากไม่ใช่เพราะน้ำหนักของฝั่งหนึ่งหนักเกินไป ก็เป็นเพราะความเอนเอียง ไม่เที่ยงตรง-ไม่ยุติธรรม

ฉากหน้าของตาชั่งที่เอียง ก็เพราะจำนวน ‘โทษอาญา’ ที่มีจำนวนมากจนเฟ้อ และไม่ใช่แค่เพียงปริมาณที่หนักหนา แต่โทษอาญายังเป็นโทษที่มีต้นทุนการดำเนินคดีแสนแพง รวมถึงบทลงโทษยังรุนแรงถึงขั้นจำคุก 

ในขณะที่ภาพเงาเบื้องหลังกลับสะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุที่แท้จริงของตาชั่งเอียง คือการให้น้ำหนักกับ ‘รัฐ’ มากกว่าสิทธิเสรีภาพของ ‘ปัจเจกบุคคล’ 

เพราะเมื่อใดก็ตามที่อำนาจและผลประโยชน์ของรัฐอยู่เหนือกว่าหลักนิติธรรม-ความยุติธรรมแล้ว รัฐก็สามารถใช้โทษอาญาที่เป็นโทษหนักในการจำกัด ริดรอนสิทธิ-ชีวิตของประชาชนได้ โทษอาญาในฐานะเครื่องมือของรัฐจึงยังคงมีบทบาทและมีจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีเงาของ ‘มือที่มองไม่เห็น’ คอยกดให้ตาชั่งเอนเอียงมาฝั่งรัฐ สื่อให้เห็นว่าความอยุติธรรมไม่ได้อยู่ๆ เกิดขึ้น หากแต่เป็นผลพวงของการใช้อำนาจ การกำกับให้เป็นไปตามความต้องการของคน
บางกลุ่ม

อ่านได้ที่: โทษอาญาเฟ้อ: ภาพสะท้อนจารีตปกครองแบบไทยๆ



การกดปราบผู้ลี้ภัยข้ามชาติ: ปัญหาและทางออกใต้เงาพันธมิตรเผด็จการอาเซียน 

บทความโดย เจณิตตา จันทวงษา
ภาพประกอบ: วนา ภูษิตาศัย

พอเห็นถึงชื่องานเรื่องการ ‘กดปราบ’ ก็ชวนให้นึกไปถึงการกด (press) – กดดัน (pressure) และเมื่อพูดถึงการ ‘กด’ ในประเด็นเรื่องการลี้ภัยข้ามชาติแล้ว ก็นึกต่อไปถึงการกดตราประทับลงบนพาสปอร์ต ที่นอกจากตราประทับจะเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางข้ามชาติแล้ว การประทับตรายังเปรียบได้กับคำอนุญาตและคำตัดสินว่าบุคคลนั้นสามารถลี้ภัยได้หรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่บางประเทศในอาเซียนร่วมใจกันใช้กดปราบผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกหนังสือเดินทาง, ปฏิเสธการเข้าประเทศ หรือส่งกลับประเทศต้นทาง ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยสูญหายและเสียชีวิตลงจากความร่วมมือระหว่างชาติดังกล่าว 

และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของประเด็นที่เกิดขึ้น จึงให้ตราประทับรูปประเทศอยู่เหนือตัวผู้ลี้ภัย ให้เหมือนว่าการตัดสินใจของเหล่าผู้นำประเทศนั้นมากไปกว่าการประทับตราพาสปอร์ต แต่รวมไปถึงความเป็นความตายของผู้ลี้ภัยที่อยู่ในกำมือของผู้นำเหล่านี้

อ่านได้ที่: การกดปราบผู้ลี้ภัยข้ามชาติ: ปัญหาและทางออกใต้เงาพันธมิตรเผด็จการอาเซียน



ออกแบบ ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)’ อย่างไรให้นำไปสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน

บทความโดย เจณิตตา จันทวงษา
ภาพประกอบ: วนา ภูษิตาศัย

ภาพของรัฐธรรมนูญมักจะดูเป็นของที่อยู่สูงและดูห่างไกล ไม่ว่าจะด้วยเพราะสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญที่ถูกวางอยู่บนยอดพานสูง หรือเพราะเป็นเรื่องที่มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะแตะต้องและแก้ไขได้ ยังไม่รวมถึงเนื้อหาสาระในร้ฐธรรมนูญ-คำถามลงประชามติที่ต้องอาศัยการตีความภาษาทางกฎหมาย ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทั้งไม่เข้าใจ-เข้าไม่ถึงสำหรับประชาชนคนธรรมดา

ดังนั้น เมื่อเนื้อความของงานชิ้นนี้พยายามพูดถึงการออกแบบ สสร. ที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญ ‘ของ’ ประชาชน เราจึงนึกถึงภาพของรัฐธรรมนูญแบบใหม่ แบบที่อยู่ใกล้ – ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ เปลี่ยนให้ตัวรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งไว้เฉยๆ ได้คลี่คลายออก ทั้งเปิดออกเพื่อให้สามารถแก้ไข เพิ่มเติมสาระได้ใหม่ๆ และเปิดออกเพื่อเป็นบันไดให้คนทั่วไปก้าวขึ้นไปถึงยอดได้

โดยนอกจากบันไดจะเชื่อมให้รัฐธรรมนูญไม่ได้ดูเหนือหรือไกลเกินเอื้อมแล้ว ภาพของบันไดที่ต้องอาศัยแรงในการปีนป่ายยังสะท้อนถึงกระบวนการไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับที่พวกเราใฝ่ฝันได้ดี เพราะการจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญจะต้องไม่ใช่สิ่งที่ถูกหยิบยื่นให้หรือเสกสร้างขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หากแต่ต้องเป็นกระบวนการที่อาศัยเวลา สั่งสมจากความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมจากคนหมู่มาก รวมถึงคนกลุ่มชายขอบที่มักถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็น
กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้สูงวัย หรือเด็กเยาวชน ภาพสุดท้ายที่ออกมาจึงเป็นภาพของเส้นทางไปสู่รัฐธรรมนูญ ที่ระหว่างทางมีกลุ่มคนแตกต่างหลากหลายร่วมเดินทางไปด้วยกัน

อ่านได้ที่: ออกแบบ ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)’ อย่างไรให้นำไปสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน



ตรวจระบบเลือกตั้ง: พรรคการเมืองได้ ส.ส. ตรงกับเสียงที่เราให้ไปแค่ไหน?

บทความโดย วรดร เลิศรัตน์
ภาพประกอบ: วนา ภูษิตาศัย

เนื้อความของงานชิ้นนี้พยายามตั้งคำถามกับระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน ว่าจำนวนที่นั่ง สส.แต่ละพรรค สอดคล้องกับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด โดยชี้ให้เห็นว่าในขณะที่บางพรรคการเมืองต้องใช้จำนวนเสียงมากถึงหลักแสนเสียงต่อ 1 ที่นั่ง สส. อีกพรรคใช้จำนวนเสียงเพียงหลักหมื่นเท่านั้น 

เพื่อสื่อสารถึงประเด็นดังกล่าว จึงเลือกใช้ภาพของเก้าอี้ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดเป็นภาพแทนของที่นั่ง สส. และใช้ภาพของบัตรเลือกตั้งซึ่งเป็นภาพแทนของคะแนนเสียง ประกอบกันเป็นเส้นทางที่นำไปสู่จุดหมายปลายทางนั้น และถึงแม้จะมีปลายทางเดียวกัน แต่เส้นทางและวิธีการจะไปถึงนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

ในขณะที่ฝั่งหนึ่งจำเป็นต้องใช้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก มีบัตรเลือกตั้งกองเป็นตั้งๆ ซึ่งอาจมองได้ว่าเส้นทางฝั่งนี้ยาก ต้องอาศัยแรง ทุน(เสียง)ที่มากจึงจะปีนป่ายไปถึงยอดได้ ในเวลาเดียวกันนั้น อีกฝั่งกลับสามารถใช้คะแนนเสียงที่น้อยกว่า ใช้บัตรเลือกตั้งไม่กี่ใบแต่เรียงตัวกันในลักษณะบันได ที่ส่งให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง สส.ได้อย่างง่ายดายกว่า

อ่านได้ที่: ตรวจระบบเลือกตั้ง: พรรคการเมืองได้ ส.ส. ตรงกับเสียงที่เราให้ไปแค่ไหน?

MOST READ

Visual & Infographics

11 Mar 2021

ส่อง ‘สื่อนอก’ มอง 112

ในวันที่ ม.112 กลับขึ้นมาอยู่หน้าฉากการเมืองไทยอีกครั้ง 101 ชวนสำรวจมุมมองของสื่อต่างประเทศหลากหลายสำนักจากทั่วโลกและองค์กรระหว่างประเทศต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ในไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา?

กองบรรณาธิการ

11 Mar 2021

Visual & Infographics

20 May 2021

เด็กจนโอกาส: เมื่อโรคระบาดกั้นกำแพงการเรียนรู้

101 ชวนคุณเปิดบทเรียนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในวันที่โลกได้รับผลกระทบจากไวรัสอย่างหนักหน่วง ไล่เรียงตั้งแต่ภาพความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในยุคโควิด การสูญเสียการเรียนรู้ ไปจนถึงผลจากการเรียนออนไลน์ที่ยิ่งเปิดแผลความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

กองบรรณาธิการ

20 May 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save