fbpx

วัยรุ่นกับช่วง ‘Gap Year’ เมื่อชีวิตจริงของเด็กไทยไม่ชวนให้ฝันหวาน และการศึกษาที่เป็นเหมือนพริวิลเลจ

Gap Year

เชื่อว่าในยุคสมัยนี้ สิ่งที่เรียกว่า gap year คงไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะเปิดไปตามแพลตฟอร์มไหนก็มีนิยามของสิ่งนี้ให้เห็นกันอยู่ทั่วไป ทั้งยังมีกระทู้รีวิวประสบการณ์ gap year ของเด็กรุ่นใหม่อยู่เต็มโลกโซเชียลไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาก่อนเข้ามหาวิทยาลัยไปท่องเที่ยวรอบโลก สมัครคอร์สเรียนระยะสั้น ทำงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ หรือแม้แต่การพักผ่อนที่บ้าน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนถือเป็นการใช้ช่วง gap year ทั้งสิ้น

การใช้เวลาช่วงก่อนหรือหลังชีวิตมหาวิทยาลัยหยุดพักเพื่อออกไปแสวงหาตัวตน ค้นหาเส้นทางที่ใช่ของตนเอง และเรียนรู้โลกผ่านประสบการณ์ชีวิตและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ตัวเองผ่อนคลายจากความเครียดและความกดดันจากสังคม ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์จากการ gap year ที่เรารู้ดีกันอยู่แล้ว ทว่าในความเป็นจริงนั้น ต่อให้รู้ทั้งรู้ว่าช่วงเวลา gap year จะส่งผลดีต่อชีวิตเพียงใด ก็ใช่ว่าวัยรุ่นทุกคนที่วาดฝันจะออกไปค้นพบความเป็นตัวเอง จะมีโอกาสได้เขียนกระทู้รีวิวช่วงเวลา gap year ของตัวเองได้เสียเมื่อไหร่ เพราะสำหรับใครหลายคน ยังมีอุปสรรคนานัปการที่กั้นขวางไม่ให้พวกเขาสามารถหยุดพักเบรกระหว่างการเดินทางของชีวิตได้

เรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่าการไม่รู้ว่าตัวเองควรเดินไปทางไหน คือการไม่มีแม้แต่เส้นทางให้ได้เลือกเดิน เพราะระบบการศึกษาในไทยไม่เพียงไม่เอื้อให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนชอบ แต่ยังเป็นตัวการสำคัญที่ผลักไสเด็กที่ไม่มีต้นทุนทางการเงินมากพอจะได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกับนักเรียนนักศึกษาคนอื่น

gap year ปัญหาใต้พรมการศึกษาไทย

หากมองให้ลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหา การที่เด็กคนหนึ่งตัดสินใจมีช่วงเวลา gap year เพราะค้นหาเส้นทางที่ใช่ของตัวเองไม่เจอ อาจเป็นเพราะหลักสูตรการศึกษาไทยไม่เอื้อให้เด็กได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากพอ วันหนึ่งมีแต่จะต้องท่องตำราเรียนที่บรรจุไว้ในหลักสูตร ทั้งยังต้องเรียนกวดวิชาเพื่อให้สามารถสอบแข่งขันกับนักเรียนคนอื่นได้ เมื่อสิ่งที่เด็กได้รับมีแต่ความรู้เชิงทฤษฎีอันซ้ำซากจำเจ รู้สึกตัวอีกที เด็กเหล่านี้ก็อยู่สภาวะ ‘หลงทาง’ ไม่รู้จะว่าควรจะต้องเดินไปทางไหนต่อ ซ้ำยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบหรืออยากเรียนอะไรกันแน่ ครั้นจะเลือกไป gap year เพื่อค้นหาตัวตน ก็พบว่าสังคมที่อยู่ตอนนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ได้พักออกไปใช้ชีวิตได้ง่ายขนาดนั้น

ยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเรียนออนไลน์ทุกวันและต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาหลายคนเกิดสภาะวะหมดไฟ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพการศึกษาด้วยระบบออนไลน์ไม่อาจเทียบเท่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในห้องเรียนแบบออนไซต์ได้ ห้วงเวลาดังกล่าวจึงยิ่งทำให้วัยรุ่นหลายคนปรารถนาจะใช้ gap year ในระหว่างที่ระบบการศึกษายังไม่กลับสู่สภาวะปกติ

ทว่าด้วยพิษเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การค้าการลงทุนซบเซาลงอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤติโควิด-19 การใช้ช่วง gap year ไปเดินทางท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่างๆ จึงกลายเป็นแนวทางสำหรับคนที่มีต้นทุนดีอยู่แล้วเท่านั้น ทั้งต้นทุนด้านครอบครัวที่มีความเข้าใจมากพอว่า gap year จะมีประโยชน์ต่อตัวบุตรหลานอย่างไร หรือแม้แต่ต้องคอยตอบคำถามอันน่ากระอั่กกระอ่วนใจที่ว่า “ทำไมถึงไม่เรียนต่อ” “แล้วจะเริ่มทำงานเมื่อไหร่” “ไม่เรียนต่อแบบนี้พ่อแม่ไม่ว่าอะไรหรือ” ฯลฯ และที่สำคัญที่สุด คือต้นทุนด้านการเงินที่แข็งแรงมากพอจะออกไป gap year ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี

เป็นไปไม่ได้ที่ระหว่างช่วง gap year จะไม่ต้องใช้เงินสักบาท กลับกัน กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่เลือกทำระหว่าง gap year ก็คือการท่องเที่ยวและลงคอร์สเรียนเพื่อค้นหาความสนใจที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ย่อมใช้เงินจำนวนไม่น้อย หากวัยรุ่นคนนั้นไม่ได้มีเงินเก็บของตัวเองมากพอ ก็อาจจะต้องพักไปทำงานเสริมไปด้วย หรือไม่ก็มีครอบครัวช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายระหว่าง gap year ซึ่งจะวกกลับไปที่ประเด็นต้นทุนด้านการเงินของเด็กที่มีไม่เท่ากันมาตั้งแต่แรก เพราะแม้แต่การใช้ gap year ด้วยการพักผ่อนอยู่บ้านก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่ดี

เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากชีวิตของ ‘เด็กซิ่ว’ ในสังคมไทย ที่ถึงแม้จะตัดสินใจลาออกจากที่เรียนเดิมเพื่อเตรียมตัวสอบเข้าคณะที่ตัวเองใฝ่ฝันในสนามการแข่งขันของปีต่อไปอย่างเต็มที่ เราพบว่าเด็กซิ่วส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เวลาช่วง 1 ปีระหว่างนี้อย่างเสียเวลาเปล่า แต่พวกเขาต้องเข้าออกสถาบันกวดวิชาไม่เว้นแต่ละวัน และอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อเตรียมพร้อมสู่สนามสอบที่พลาดเป็นครั้งที่สองไม่ได้ ส่วนบางคนต้องทำงานไปด้วยระหว่างช่วง gap year เพราะครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ได้ทั้งหมด วัฒนธรรมการ gap year ของเด็กไทยจึงไม่ได้งดงามแบบที่ใครหลายคนคิด

พูดให้ถึงที่สุด ในแง่หนึ่ง gap year ก็เป็นเหมือนสิทธิพิเศษ (หรือคำศัพท์แห่งยุคสมัยที่เรียกว่า privilege) สำหรับชนชั้นกลางที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวย ส่วนนักเรียนนักศึกษาที่มีรายได้น้อยคงไม่กล้าวาดฝันที่จะได้ลอง gap year เพราะการออกไปค้นหาตัวเองด้วยวิธีนี้นั้น ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายและแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากครอบครัวมากเกินที่พวกเขาจะรับไหว หรือถ้าพูดกันตามตรง สำหรับเด็กบางคน การจะหาเงินมาจ่ายค่าเทอมเพื่อไม่ให้ตัวเองหลุดออกจากระบบการศึกษาก็ยังยาก แล้วนับประสาอะไรถึงจะมีต้นทุนมากพอไป gap year แบบใครเขา

gap year ในชีวิตจริงที่ไม่ชวนให้ฝันหวาน

‘เฟย์’ บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ตัดสินใจใช้ช่วง gap year ด้วยการลาออกจากคณะครุศาสตร์ไปเป็นเด็กซิ่วเพื่อเตรียมตัวสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ เนื่องจากเพิ่งรู้ตัวว่าตนเองไม่ชื่นชอบหลักสูตรการเรียนของคณะครุศาสตร์ เฟย์เล่าว่าระหว่างหนึ่งปีที่ซิ่วไป เธอต้องอ่านหนังสือตลอดหนึ่งปีเต็มนั้น เพราะปลายทางของการ gap year ครั้งนี้ คือเธอต้องสอบติดในคณะในฝันที่แท้จริงเท่านั้น

“จุดที่เราตัดสินใจลาออก คือตอนที่มีคลาสหนึ่ง อาจารย์ถามนิสิตในห้องว่าอยากเป็นครูไหม ตอนนั้นเองที่เราตอบตัวเองได้ว่าจริงๆ เราไม่ได้อยากเป็นครูในโรงเรียนตามระบบการศึกษาไทย เราเลยตัดสินใจลาออก เพราะในเมื่อไม่อยากเรียนแล้วก็ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม แต่ต้องยอมรับว่าเราโชคดีมากที่พ่อแม่เข้าใจและไม่คัดค้านการลาออกของเรา”

“ระบบการศึกษาไทยไม่เคยเอื้อให้เราเจอทางของตัวเอง อย่างเราก็เพิ่งมาหาตัวเองเจอว่าชอบเรียนสายภาษาก็ตอนลาออกมานั่งทบทวนกับตัวเอง และจริงๆ ตอนอ่านหนังสือก็รู้สึกว่าเนื้อหาที่เรียนตอน ม.ปลายกับตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยโคตรต่างกัน อย่างตอนเตรียมสอบ GAT-PAT คณิตศาสตร์ที่เราเรียนในโรงเรียนกับข้อสอบ PAT 1 นี่คนละเรื่องกันเลย เราได้เกรดสี่วิชาคณิตศาสตร์ที่โรงเรียน แต่ได้คะแนน PAT 1 ไม่ถึง 100 การลาออกมาอ่านหนังสือที่บ้านเลยทำให้เราเตรียมตัวในการสอบได้ดีกว่าตอนเตรียมสอบช่วงม.6”

“ตอนแรกเรากลัวมากว่าซิ่วไปเสียเวลาตั้งหนึ่งปี สุดท้ายแล้วจะสอบติดไหม แต่เรามองว่าหนึ่งปีที่เสียไปเทียบไม่ได้เลยกับการที่เราอาจจะต้องอยู่กับสิ่งที่เราไม่ชอบไปตลอดชีวิต ถ้าในอนาคตเราต้องทำงานสายนั้น สำหรับเราการซิ่วหรือ gap year ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราเองก็กลัวว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่มันก็คืออนาคตของเราทั้งชีวิตเหมือนกัน”

“สุดท้ายเรามองว่า gap year หรือการซิ่วเกิดจากการที่ระบบการศึกษาไทยไม่ให้โอกาสเราได้รู้ตั้งแต่แรกว่าเราชอบอะไร คิดดูว่าถ้าเรารู้ตัวตั้งแต่แรกว่าเราอยากเข้าคณะอักษรฯ เราก็ไม่ต้องเสียเวลาหนึ่งปีนั้นแล้ว เราคิดว่าเด็กไทยทุกคนสามารถเจอทางของตัวเองได้ ถ้ามีเวลาให้เขาได้เรียนสิ่งที่เขาอยากเรียนมากกว่านี้ เราเลยมองว่าต้นตอที่แท้จริงของการซิ่วมันเป็นภาพใหญ่กว่าแค่เรื่องค้นหาตัวตน”

อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ คือภาพ gap year ในบริบทของเด็กต่างจังหวัดที่ช่างเลือนรางและไกลตัว จิมมี่ (นามสมมติ) เล่าในฐานะวัยรุ่นที่เติบโตและเรียนระดับชั้นมัธยมในต่างจังหวัด ว่า gap year อาจเป็นที่คุ้นเคยกันแค่ในกลุ่มเด็กที่เรียนในกรุงเทพฯ หรือเด็กมีฐานะเพียงเท่านั้น

“ในความคิดของเด็กต่างจังหวัด อย่างน้อยก็ในมุมของเรากับกลุ่มเพื่อนสมัยเรียน เราไม่มีคอนเซ็ปต์ของสิ่งที่เรียกว่า gap year เลยด้วยซ้ำ เราเองไม่เคยรู้จักที่มาที่ไปของคำนี้มาก่อน จนกระทั่งเข้ามาเรียนระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ถึงรู้ว่าบางคนเขา gap year กันก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย”

“การ gap year อาจจะเป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจของเด็กรุ่นนี้ แต่ช่วงเรากำลังจะเรียนจบ ม.6 เรากับเพื่อนมีแต่คุยกันว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหน สอบติดกันหรือยัง ต้องรีบขวนขวายหาที่เรียนต่อเร็วๆ หรือถามกันตลอดว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือจะไปเรียนต่อสาย ปวช. ปวส. การมีช่วง gap year เพื่อค้นหาตัวตนไม่เคยอยู่ในทางเลือกของเราเลย ไม่เคยอยู่ในบทสนทนาของเรากับเพื่อนด้วยซ้ำ”

ภาครัฐควรช่วยเหลืออย่างไร?

ปัญหาการศึกษาที่ซุกซ่อนหมักหมมไว้ใต้พรมแห่งความไม่เท่าเทียมมีมากเกินจะแจกแจงออกมาได้หมด และแน่นอนว่าการต้องใช้เวลาในช่วง gap year หรือแม้แต่การที่เด็กคนหนึ่งไม่สามารถมี gap year ได้ตามใจปรารถนาต่างเป็นส่วนหนึ่งในปัญหาใต้พรมนั้น เพราะถึงเด็กไทยจะได้เรียนฟรีในการศึกษาภาคบังคับด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ แต่เพราะการศึกษาไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว แต่ต้องทำคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนด้วย

ลึกลงไปใต้ปมปัญหาของ gap year สิ่งที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทยตอนนี้ คือคำถามสำคัญที่ว่าการศึกษาไทยได้ปูทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่ากับเด็กหรือไม่ หรือระบบการศึกษาไทยเป็นตัวบั่นทอนความสามารถและศักยภาพของเด็กเสียเอง กลไกทางการศึกษาของไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ครู หลักสูตร การจัดตารางเรียน รูปแบบการสอบ รูปแบบการประเมินผล และค่านิยมภายในโรงเรียน ควรจะต้องเอื้อให้เด็กหาเส้นทางของตัวเองเจอ และสนับสนุนให้เด็กสามารถศึกษาต่อได้ หรือต่อให้เด็กจะเกิดความรู้สึกสับสนจนอยากพักการศึกษาไปชั่วคราว เขาก็ควรมีสิทธิจะได้ใช้ช่วง gap year จนรู้ตัวว่าอยากเรียนอะไร

นอกจากการเรียนฟรีในการศึกษาภาคบังคับแล้ว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างระบบที่ดีเพี่อสนับสนุนให้เด็กพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น ในกรณีของกลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวฐานรายได้ต่ำและต้องการจะมี gap year อ้างอิงจากหลายๆ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีการสนับสนุนเงินทุนให้เด็กได้ออกไปใช้ช่วง gap year ภาครัฐอาจสนับสนุนเงินทุนให้เด็กได้นำไปใช้จ่ายในการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงคอร์สเรียนเกี่ยวกับวิชาชีพที่ไม่บรรจุอยู่ในระบบการศึกษา แต่เป็นวิชาที่เด็กสนใจ เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียน ไม่ว่าจะในหรือนอกห้องเรียน ล้วนเป็นการเสริมศักยภาพเพื่อทำให้เด็กสามารถวิ่งตามความฝันของตนเองได้ พาพวกเขาไปเจอกับชุมชนวิชาชีพที่มีความฝันเหมือนกัน และให้เด็กได้พัฒนาคุณค่าจากการเรียนรู้นั้นสู่อนาคต แต่ในท้ายที่สุด การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน หากว่าการมี gap year เกิดจากระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อให้เด็กเจอสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่นนั้นแล้ว ภาครัฐควรเร่งปรับปรุงการศึกษาในระบบตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อให้ระบบสามารถสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เด็กเห็นคุณค่าในการเรียนรู้ จนทำให้เด็กอยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในเส้นทางที่เขาได้เลือกด้วยความชอบของตัวเองอย่างแท้จริง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Gap Year

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save