fbpx

Gen Z โปรดเป็นมิตรกับองค์กรไว้เถิดจะเกิดผล: ตลาดแรงงานและโลกของความเป็นมืออาชีพ

ไม่เกินเลยถ้าเราจะกล่าวว่าในระยะสามปีให้หลังนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ ตลาดแรงงานโลกเผชิญหน้ากับภาวะผันผวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจปิดตัวลงเมื่อต้นปี 2020 เป็นต้นเหตุให้คนนับล้านต้องตกงาน ก่อนที่จะค่อยๆ ขยับตัวขึ้นเมื่อการระบาดใหญ่เริ่มผ่อนคลายลงช่วงปลายปี 2021 มาจนถึงรอยต่อปี 2022 กับการถือกำเนิดของกระแสการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อสภาพความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้องค์กรหลายแห่งนิยมจ้างพนักงานแบบฟรีแลนซ์มากกว่าจ้างประจำเพื่อตัดงบสวัสดิการ หรือกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ที่พนักงานพากันทยอยลาออกเพื่อไปสู่-ควานหาสิ่งที่ดีกว่าซึ่งจะตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขา

ล่วงเข้าปี 2023 ที่แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดใหญ่ส่งผลต่อรูปแบบเศรษฐกิจ, ตลาดแรงงาน และเนื้อตัวของพวกเราในฐานะแรงงานหนึ่งคนมากมายมหาศาล ความเชื่อมั่นที่มนุษยชาติเคยมีต่อระบบสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ สั่นคลอนและถูกท้าทายครั้งใหญ่ในระดับที่อาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ยุคสงครามโลก รวมทั้งภาพฝันที่หลายคนมีต่ออนาคตตัวเองที่ล้มครืนแทบจะในพริบตา เหมือนคุณเหนื่อยหอบลงแรงวิ่งมาราธอนด้วยความมั่นใจว่ากิโลเมตรหน้าคือเส้นชัย แต่เอาเข้าจริงพระเจ้าเฉลยว่าปลายทางที่แท้จริงอยู่ห่างไปอีกครึ่งโลก -ซ้ำร้าย คุณก็กำลังวิ่งมาผิดทาง

ทั้งหมดนี้กลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ โดยเฉพาะหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่แม้อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าอู้ฟู่นัก แต่ก็ถือว่าคึกคักกว่าช่วงสองปีก่อนหน้าอย่างยากจะเทียบ ลำพังในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ ตลาดแรงงานแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นในรอบหลายสิบปีโดยเฉพาะธุรกิจขนส่งที่โตพรวดพราดจากปี 2019 หรือก่อนหน้าการระบาดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือเยอรมนีที่ปี 2023 ดูสดใสด้วยเลข GDP ที่โตขึ้นมา 2.5 เปอร์เซ็นต์ หรือญี่ปุ่นที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว กล่าวโดยง่าย ปีที่ผ่านมาและอาจจะกินระยะเวลายาวจนถึงสิ้นปีนี้และต่อไปอีกถึงปีหน้า ถือเป็นช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ ‘แรงงาน’ จำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รุดหน้าขึ้นหลังซบเซามานับปี

ดูเผินๆ นี่ก็เป็นอนาคตที่สดใส หากแต่ อัลลิสัน ชราเกอร์ คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ Bloomberg ชวนตั้งคำถามถึงภาวะ ‘คลื่นใต้น้ำ’ นี้ว่า ในตลาดที่ขยายตัวพรวดพราดรวดเร็ว นี่อาจเป็นไม่กี่ครั้งที่เหล่าคนรุ่นใหม่เดินหน้าเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยการถือไพ่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อจากภาพรวม อัตราการว่างงานต่ำและความต้องการแรงงานในตลาดพุ่งสูง ตามมาด้วยกระแสการทำงานใหม่ๆ ทั้ง Tang ping หรือ lying flat วัฒนธรรมการทำงานที่ระเบิดตัวขึ้นในประเทศจีน เมื่อคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตะเกียกตะกายทำงานไปชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้ดีขึ้น เลยลงเอยด้วยการทำงานแบบ ‘แค่ให้พออยู่’ โดยปราศจากความทะเยอทะยาน, quiet quitting หรือการทำงานตามหน้าที่โดยปราศจากการทุ่มเทอย่างหนักหน่วง อันเป็นผลมาจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่รู้สึกว่าวัฒนธรรมองค์กรเก่าๆ อย่างการเรียกร้องให้แรงงานลงแรงทำงานเป็นพิเศษนั้นไม่นำไปสู่ความมั่นคงหรือชีวิตที่ดีขึ้น, rage applying การร่อนใบสมัครงานสุดเดือดเมื่อเห็นว่าองค์กรที่พวกเขาประจำอยู่ด้วยนั้นไม่ยุติธรรมหรือดีมากพอ ฯลฯ

ชราเกอร์เข้าร่วมงานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของธุรกิจหลายคนที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนั้นเผชิญหน้ากับปัญหาในรูปแบบคล้ายๆ กัน นั่นคือ ชั่วระยะสองสามปีที่ผ่านมา โจทย์ที่ยากที่สุดประการหนึ่งของเหล่าองค์กรทั้งหลายคือการทำให้พนักงานกลับมาประจำการที่ออฟฟิศ -แม้พนักงานหลายคนจะทำงานแบบ quiet quitting ก็ตามที- เจน ฟราเซอร์ ประธานบริหารของธนาคารกลุ่ม Citigroup บอกว่ามีพนักงานบางคนที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมทักษะบางอย่างอีกครั้งเพื่อให้กลับมาทำงานได้เหมือนช่วงก่อนหน้าการระบาดใหญ่

นอกจากนี้ ชราเกอร์ยังระบุด้วยว่า หนึ่งในหัวข้อที่หลายคนพูดถึงคือพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ เช่น ผ่านการสัมภาษณ์และนัดวันทำงานกันดิบดีแล้วจู่ๆ กลับหายตัวใส่บริษัทไปเลย ติดต่อไม่ได้ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับทักษะในการเข้าสังคมบางอย่าง ซึ่งลักษณะเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพนักงานทุกช่วงวัย เพียงแต่เห็นได้ชัดในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 30 ในตำแหน่งงานที่ต้องใช้ทักษะแหลมคมบางอย่าง เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษา หรือหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

“มากกว่านั้น หัวหน้างานเหล่านี้ยังรู้สึกว่าพวกเขาต้องอดทนกับความหยาบคาย (rudeness) และความไม่กระตือรือร้นในการทำงานของพนักงานเหล่านี้ เพราะหากมีคนบ่นอะไรสักเรื่องให้ได้ยินบ่อยกว่าคำว่า ‘วันนี้พนักงานทำงานได้แย่แค่ไหน’ ก็คือประโยคที่ว่า ‘เหลือพนักงานมาทำงานกันน้อยแค่ไหน’ นั่นแหละ” ชราเกอร์ว่า

ชราเกอร์บอกว่า ในงานประชุมสภาเศรษฐกิจโลกนั้น นายจ้างจากสหรัฐฯ เรื่อยไปจนถึงเยอรมนีและญี่ปุ่น ต่างก็พบเจอปรากฏการณ์ดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน อาจมีที่เฉพาะตัวเล็กน้อยเช่นที่ญี่ปุ่น ซึ่งภายในสองปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมการทำงานเกิดการขยับปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ จากเมื่อก่อนที่พนักงานมักอยู่โยงกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นระยะยาว -บางทีอาจทั้งชีวิต- เพื่อไต่เต้าขึ้นไปยังตำแหน่งใหญ่ๆ ขององค์กร ปัจจุบันพนักงานอายุยังน้อยลาออกจากงานง่ายกว่าเดิม สหภาพแรงงานญี่ปุ่น (The Japanese Trade Union Confederation) เคยสำรวจอัตราการว่าจ้างและการทำงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อเดือนมีนาคมปี 2022 และพบว่า 66 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยและเข้าทำงานในองค์กรแรก ส่วนอีกเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ลาออกจากงานแรกที่ตัวเองทำในสามปีต่อมา เหตุผลส่วนใหญ่คือ “งานไม่ใช่” ส่วนที่รองลงมาคือ “ต้องทำงานล่วงเวลาและมีปัญหาเรื่องการลาพักต่างๆ” และอีกจำนวนหนึ่งเป็นปัญหาเรื่อง “ค่าตอบแทนน้อยเกินไป”

แน่นอนว่าคงปฏิเสธปัญหาเรื่องที่ว่า องค์กรหลายๆ แห่งเองก็ไม่เป็นธรรมกับพนักงาน ไล่มาตั้งแต่นโยบายขูดเลือดขูดเนื้อ, ค่าตอบแทนไม่สมกับงานที่ทำ, บีบให้ทำงานล่วงเวลา หรือให้ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปแม้ไม่เห็นเลยว่าอนาคตในสายงานตัวเองจะเป็นอย่างไรต่อ ยังไม่นับว่าความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการเมืองโลกก็ทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้รู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ที่จะต้อง ‘ใช้ชีวิตและมีชีวิต’ ให้ตรงตามขนบหรือค่านิยมเก่าแก่ ที่กำหนดขึ้นโดยคนรุ่นเก่าในสภาพเศรษฐกิจที่เอื้อให้สร้างเนื้อสร้างตัวได้ง่ายกว่ามาก จะแปลกอะไรหากวันนี้จะมีวัฒนธรรมการทำงานที่ ‘ปล่อยจอยชีวิต’ งอกขึ้นมา

คำถามคือ แล้วอย่างนั้น วัฒนธรรมการทำงานจะเปลี่ยนไปตลอดกาลเลยหรือเปล่า การทำงานแบบ lying flat หรือ quiet quitting จะกลายเป็นหมุดหมายหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเลยหรือไม่ ชราเกอร์เสนอความเห็นว่า แง่หนึ่งวัฒนธรรมการทำงานอาจขึ้นอยู่กับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานทุกแห่งหนบนโลกล้วนได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ทั้งสิ้น และในระยะแรก ภาวะขาดแคลนแรงงานนี้ก็อาจทำให้แรงงานกลายเป็นที่ต้องการในตลาดมหาศาลกว่าที่เคยเป็นมาตลอดหลายปี ขณะที่อีกด้านหนึ่ง หลังการระบาดใหญ่จางลง หลายคนก็พร้อมจับจ่ายใช้สอยเพื่อหวนคืนกลับสู่วิถีชีวิตที่พวกเขาคุ้นเคย อัตราความต้องการในการอุปโภคบริโภคพุ่งกระฉูด ธุรกิจหลายแห่งจึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานมหาศาลเพื่อรองรับความต้องการส่วนนี้ เช่นเดียวกับองค์กรอีกหลายแห่งที่ต้องเร่งสร้างผลผลิตเพื่อสนองตอบต่อผู้คนจำนวนมาก นี่ย่อมเป็นนิมิตหมายที่ดี

หากแต่ชราเกอร์ก็ชี้ว่า -นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ถาวร เพราะในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางเริ่มเก็บดอกเบี้ยเพื่อรบรันฟันตูกับเงินเฟ้อ อันเป็นต้นเหตุให้องค์กรหลายแห่งต้องกลับมารัดเข็มขัดตามเดิม อาจไม่แน่นหนาเท่าตอนเกิดการระบาดใหญ่ใหม่ๆ แต่ถึงอย่างไรนั่นย่อมหมายถึงการคิดทบทวนเรื่องการจ้างหรือเลิกจ้างพนักงานในระยะยาว และอีกไม่ช้านาน ตลาดแรงงานจะหวนกลับมามีหน้าตาคล้ายคลึงกับที่เราเคยเห็นกันก่อนหน้าเศรษฐกิจจะชะงักตัวลง อำนาจของแรงงานจะลดน้อยลง พนักงานอาจถูกเรียกให้กลับมาประจำการที่ออฟฟิศมากขึ้น มีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น หรือจำเป็นต้องเข้าสังคมในลักษณะที่หลายคนอาจไม่เคยเจอเมื่อครั้งต้องทำงานผ่านระบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ (ยังจำคำนี้กันได้อยู่ใช่ไหม) และอาจเรียกร้องทักษะการเข้าสังคม -ที่ก็ไม่ได้หมายถึงการฉอเลาะเละเทะเอาแต่พูดไปเรื่อย แต่หมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมืออาชีพ- ที่พนักงานรุ่นใหม่อาจคิดว่าไม่จำเป็น

และสิ่งที่น่าจับตาคือ จากตลาดที่ขาดแคลนแรงงานซึ่งส่งผลให้แรงงานใหม่ๆ มีอำนาจมากกว่าดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อำนาจที่อยู่ในมือแรงงานมาตลอดย่อมลดน้อยถอยลง (หรือก็คือภาวะที่องค์กร ‘แคร์เราน้อยลง’) หากองค์กรต้องการปลดพนักงานออกจริงๆ กลุ่มพนักงานรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่ถูกหมายตา เนื่องจากประสบการณ์ไม่มาก มีทักษะไม่สูงนัก

ในระยะยาว ชราเกอร์มองว่าสิ่งที่องค์กรเรียกร้องคือทักษะแบบมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคมหรือวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันซึ่งไม่อาจทดแทนได้โดยเทคโนโลยี ซึ่งอาจไม่ได้หมายความถึงการฉอเลาะ ประจบเอาใจเจ้านาย แต่อาจหมายถึงความเป็นมนุษย์ในรูปแบบของความให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ความเป็นมืออาชีพ การสื่อสารด้วยเหตุผลและความเข้าอกเข้าใจ หรือสร้างมิตรภาพระหว่างการทำงานด้วยกัน แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์ใดๆ ก็ยังสร้างไม่ได้

สิ่งที่ชราเกอร์ย้ำคืออาชีพการงานนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมเป็นระยะเวลายาวนาน มีทักษะหลายอย่างที่เราไม่อาจเรียนรู้ได้โดยลำพังแต่ก่อเกิดขึ้นได้จากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นมนุษย์มากหน้าหลายตา แตกต่างหลากหลาย และเป็นความสัมพันธ์ -เป็นทักษะซึ่งเทคโนโลยีไม่อาจเข้ามาแทนที่ได้ โลกภายหลังการระบาดใหญ่อาจมอบพลังให้แก่แรงงานอยู่ชั่วระยะหนึ่ง หากแต่ในระยะยาว เมื่อเหล่าพนักงานใหม่ในวันนี้เติบโตไป พวกเขาจะมองอนาคตตัวเองอย่างไร ในเมื่อสิ่งที่รออยู่นั้นคาดเดาไม่ได้เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save