fbpx

ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยชายขอบ

แม้ว่าโดยทั่วไปและอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อได้แน่ว่าไม่มีสถาบันการศึกษาแห่งใดในสังคมไทยปฏิเสธสิ่งที่เรียกกันว่าเสรีภาพทางวิชาการ (academic freedom) ทั้งกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญก็ให้การรับประกันต่อเสรีภาพดังกล่าวไว้

การยอมรับถึงความสำคัญของเสรีภาพดังกล่าวเป็นผลมาจากจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ประการหนึ่งก็คือ การเปิดโอกาสให้ความเห็นหรือความรู้ที่แตกต่างกันสามารถมีพื้นที่ในการแสดงออก และด้วยการแลกเปลี่ยน โต้แย้ง จะทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นภาพหรือเข้าใจความจริงที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น (ไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นความจริง ‘จริงๆ’ หรือไม่ก็ตาม)

ทั้งหมดนี้ก็จะยังความรู้ให้แก่ผู้คนในบั้นปลาย ข้อโต้แย้งว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก ไม่ใช่เพียงความสาแก่ใจของนิโคลัส โคเปอร์นิคัส เท่านั้น หากมีผลเป็นการพลิกเปลี่ยนระบบความรู้ที่มนุษย์มีต่อโลกและจักรวาลอย่างสำคัญ

การค้นพบ การนำเสนอ การยืนยัน หรือการถกเถียง ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างจึงเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องอันปกติ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะในแวดวงวิชาการแต่อย่างใด เหล่านี้เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในชีวิตอันเป็นปกติทั่วไป ในสังคมอารยะที่เป็นประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในทางวิชาการจึงถือเป็นรากฐานสำคัญต่อสังคมในห้วงเวลาปัจจุบัน

แต่นั่นแหละ ระหว่างโลกของความเป็นจริงที่มีชีวิตอยู่กับโลกที่เราเข้าใจก็อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกันเสมอไป

ด้วยเหตุที่ต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ อยู่บ้างในบางครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการออกแถลงการณ์แสดงความเห็น การจัดอภิปราย การจัดกิจกรรมต่างๆ และหลายครั้งก็ต้องสัมพันธ์กับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ทำมาหากินด้วยการสอนหนังสือจำนวนหนึ่งซึ่งต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้ในที่สุด ผมก็ได้ข้อสรุปส่วนตัวว่าเสรีภาพที่ว่านี้ไม่ได้มีอยู่ในทุกมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

สำหรับผู้คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ประเภทที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว หรือเป็น ‘เสาหลัก’ บ้าง, ‘ปัญญาของแผ่นดิน’ บ้าง อาจไม่ต้องกับเผชิญกับการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรืออาจไม่ทันตระหนักได้ว่ามีปัญหาดังกล่าวดำรงอยู่ แต่ในสังคมไทยแล้ว มหาวิทยาลัยประเภทนี้ก็มีเพียงไม่เกินนับนิ้วมือข้างเดียว

ส่วนที่เหลือแทบทั้งหมด หรือที่ถูกจัดประเภทเป็นมหาวิทยาลัยชายขอบ กลับตกอยู่ในสถานการณ์อีกแบบหนึ่ง อาจมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป หลายปรากฏการณ์ก็ทำให้ดูราวกับว่า ‘พวกเรา’ ไม่ได้อยู่ในโลกวิชาการใบเดียวกัน สังคมเดียวกัน

เรื่องราวที่ชวนให้แปลกใจจึงปรากฏให้ได้ยินได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อาจารย์บางคนถูกตักเตือนจากการลงชื่อร่วมในแถลงการณ์ทาง ‘การเมือง’, การ ‘ขอ’ ให้ยกเลิกการจัดอภิปรายเนื่องจากวิทยากรบางคน, การไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จากผู้บริหารระดับสูง หรือในระดับที่รุนแรงก็ด้วยการเลิกจ้างหรือไม่ต่อสัญญากับผู้สอนบางคนด้วยเหตุผลซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ามาจากเรื่องการเมือง

แทบทั้งหมดนี้มักเกิดขึ้นด้วยกระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น อธิการบดีฝากบอกมา, ผู้บริหารรู้สึกไม่สบายใจ, คณบดีอยากให้ระมัดระวัง เป็นต้น เมื่อต้องเผชิญกับกระบวนการเช่นนี้ในคราวหนึ่ง ผมก็ลองบอกว่ายินดีจะยุติการจัดงานอภิปรายหากมีหนังสือจากผู้บริหารแจ้งมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็อย่างที่เข้าใจกันว่าการคุกคามเสรีภาพเช่นนี้ไม่อาจกระทำอย่างเป็นทางการได้

หลายคนอาจเสนอว่าหากต้องการเสรีภาพดังกล่าว หลีกไม่พ้นที่บรรดาคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยชายขอบต้อง ‘ลุกขึ้นสู้’ กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าว

การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการปกป้องเสรีภาพในทางวิชาการมีความสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ลงมือก็มีต้นทุนที่ต้องจ่ายและอย่างที่รู้กันว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชายขอบไม่ได้มีต้นทุนที่มากเพียงพอจะรองรับต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งการรวมตัวผลักดันปัญหาในระดับกลุ่มก็ดูจะเป็นความยุ่งยากไม่น้อยไปกว่ากัน ‘สำนึก’ ที่จะสร้างการรวมกลุ่มในหมู่คนสอนหนังสือยุคปัจจุบันที่ถูกจำแนกแยกย่อยออกเป็นหลายระดับ หลายประเภท ด้วยสัญญาการจ้างงานที่แตกต่างกันยิ่งทำให้แต่ละคนพยายามหาทางรอดทางเลือกตามเงื่อนไขของแต่ละคน

ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจ รวมทั้งมีความเข้าใจเมื่อคนที่รู้จักหลายคนไม่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์แม้ในประเด็นที่นักกฎหมายเกือบทั้งหมดเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน หรืออาจลงชื่อแบบมนุษย์ไร้สังกัด ทั้งหมดเป็นการกระทำที่มีเหตุผลรองรับอยู่ทั้งสิ้น

แม้จะทำมาหากินอยู่ในสถาบันอุดมศึกษามาราวเสี้ยวศตวรรษ ผมไม่มีข้อเสนอใดๆ อันเป็นรูปธรรมกับปัญหานี้ จะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ชนชั้นนำในมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในทางวิชาการ ก็เชื่อว่าคนกลุ่มดังกล่าวไม่มีใครกล้าปฏิเสธออกมาว่ามหาวิทยาลัยของเราไม่สนใจเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ส่วนจะให้การยอมรับอย่างจริงจังหรือไม่ ผมก็ได้ประจักษ์อย่างกระจ่างตามานับครั้งไม่ถ้วนจนแน่ใจว่าระหว่างคำพูดกับการปฏิบัติจริงเป็นเรื่องที่ห่างไกลกันอย่างลิบลับ

คำถามที่อาจต้องขบคิดให้มากขึ้นก็คือว่า เพราะเหตุใดชนชั้นนำในมหาวิทยาลัยจึงรู้สึกไม่สบายใจเมื่อมีการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองทั้งที่อาจเป็นความถูกต้องชอบธรรมก็ตาม

ชนชั้นนำในมหาวิทยาลัยของไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจทางการเมืองโดยเฉพาะในด้านอนุรักษนิยม ในระยะเวลาอย่างน้อยก็ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยตามระบบราชการ มหาวิทยาลัยในกำกับ (ที่เรียกกันว่า ‘นอกระบบ’) ล้วนแปรสภาพไปเป็นกรมที่มีความเป็นอิสระมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ขึ้นตรงต่อเครือข่ายอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ด้วยกระบวนการคัดเลือกผู้บริหาร/ผู้วางนโยบายของมหาวิทยาลัย

เสรีภาพในทางวิชาการโดยเฉพาะที่กระทบกับความมั่นคงของอำนาจนำทางการเมืองจึงเป็นปัญหา ตรงกันข้าม หากเป็นการแสดงออกที่ยกย่องเชิดชูอำนาจอนุรักษนิยมทางการเมืองกลับกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องหรือสามารถกระทำได้อย่างเต็มที่ ยิ่งในมหาวิทยาลัยชายขอบที่ปราศจากวัฒนธรรมการแสดงออกที่เข้มแข็งก็จะยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัด

ได้แต่หวังว่าสายลมที่กำลังพัดแรงอยู่ในสังคมไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและเปิดทางให้เสรีภาพในทางวิชาการได้มีโอกาสงอกงามขึ้นในมหาวิทยาลัยชายขอบบ้าง เพื่อให้สามารถหยั่งรากวัฒนธรรมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเคารพในความเห็นที่แตกต่างให้เกิดขึ้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save