fbpx

โทษอาญาเฟ้อ: ภาพสะท้อนจารีตปกครองแบบไทยๆ

หลายท่านคงเคยได้ยินการดำเนินคดีอาญาหลายคดีที่มีความผิดไม่ร้ายแรง ทั้งคดีเช็คเด้งเนื่องจากผู้ผิดประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินกะทันหัน คดีหมิ่นประมาทที่ผู้ผิดอาจทำไปด้วยโทสะชั่วคราว คดีบุกรุกป่าไม้ที่ชาวบ้านต้องโทษจำคุกเพียงเพราะยืนยันสิทธิว่าตนเองอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่า รวมทั้งอาจเคยได้ยินกฎระเบียบบางข้อที่คนทั่วไปอาจทำผิดได้เพราะไม่คิดว่ามีกฎหมายแบบนี้ เช่น การแต่งกายชุดนักศึกษาโดยไม่มีสถานะนักศึกษา พวกเขาไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากร แต่อาจต้องรับโทษจำคุกและมีประวัติอาชญากรติดตัว

ความผิดอาญาเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการใช้โทษทางอาญามากและรุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความหนักเบาของความผิด หรือที่เรียกว่า ‘โทษอาญาเฟ้อ’ ซึ่งเป็นปัญหาที่ตระหนักกันดีในหมู่ผู้ทำงานและผู้กำหนดนโยบายในระบบยุติธรรมอาญาไทย และที่ผ่านมาได้มีการเสนอมาตรการต่างๆ ที่ช่วยลดการใช้โทษอาญาเฟ้อ แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ บางมาตรการมีการเสนอและถกเถียงกันมายาวนานกว่า 40 ปี แต่ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติจริง บางมาตรการเริ่มมีการใช้จริงแล้วแต่ก็มีข้อจำกัดพอสมควร ทำให้ไม่สามารถลดปัญหาอาญาเฟ้อได้  

โทษอาญาเฟ้อมีสภาพและแนวโน้มเป็นอย่างไร? ทำไมการปฏิรูปลดโทษอาญาเฟ้อถึงยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า? สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank สำรวจสภาพปัญหาโทษอาญาเฟ้อ และวิเคราะห์หาเหตุปัจจัยที่ขัดขวางการลดโทษอาญาเฟ้อเพื่อตอบคำถามเหล่านี้

ปัญหาโทษอาญาเฟ้อรุนแรงมากขึ้นสวนกระแสการปฏิรูปลดโทษอาญา

ปัญหาโทษอาญาเฟ้อ หมายถึงการใช้โทษอาญามากเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความหนักเบาของความผิด ทำให้เกิดผลร้ายกับผู้ทำผิดมากเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาของระบบยุติธรรมไทยที่รับรู้กันมานาน โดยใน พ.ศ. 2540 มีกฎหมายที่มีโทษอาญาบังคับใช้อยู่ 302 ฉบับ และตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาได้เกิดกระแสการปฏิรูประบบยุติธรรมอาญาที่พยายามจะลดปัญหาโทษอาญาเฟ้อ แต่ในช่วง พ.ศ. 2541-2565 กลับมีกฎหมายที่มีโทษอาญาเพิ่มขึ้นอีก 126 ฉบับ รวมกับที่มีอยู่เดิมเป็น 428 ฉบับ โดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นช่วงที่มีกฎหมายอาญาเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 49 ฉบับ[1] (ดูภาพที่ 1) ย้อนแย้งกับการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 วรรคสาม ที่มุ่งจำกัดการใช้โทษอาญาเฉพาะกับความผิดร้ายแรงเท่านั้น

ภาพที่ 1

ปัญหาโทษอาญาเฟ้อยังรุนแรงกว่าการเพิ่มจำนวนกฎหมาย เพราะกฎหมายแต่ละฉบับมักกำหนดบทลงโทษทางอาญาหลายมาตรา อีกทั้งยังมีบางกรณีที่ปรับเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วย เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพิ่มโทษบุกรุกพื้นที่อุทยานเป็นจำคุก 4-20 ปี หรือปรับ 400,000 ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากกฎหมายฉบับเดิม พ.ศ. 2504 ที่กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการดำเนินคดีตามกฎหมายนี้หลายกรณีเป็นการฟ้องร้องชาวบ้านที่พยายามยืนยันสิทธิในที่ดิน ซึ่งครอบครัวได้อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน

ทำผิดแค่นี้ก็เป็น ‘อาชญากร’ ในรัฐไทย?

ปัญหาโทษอาญาเฟ้อส่วนหนึ่งมาจากการใช้โทษอาญากับการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงต่อสังคม ลักษณะหนึ่งคือใช้กับความผิดที่เป็นการละเมิดกฎระเบียบรัฐที่ไม่ได้มีผลร้ายแรง อาทิ การเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหายกำหนดต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การทำภาพยนตร์ที่เนื้อหาเข้าข่ายผิดศีลธรรมมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้แต่การแต่งกายชุดนักศึกษาโดยไม่ได้มีสถานะนักศึกษาของหลายมหาวิทยาลัยก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เห็นได้ว่าการกระทำความผิดเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นอาชญากรอันเป็นภัยต่อสังคม แต่ในรัฐไทย ผู้ทำผิดกลับต้องโทษเสมือนเป็นอาชญากร ทั้งถูกจำคุกและขึ้นทะเบียนประวัติอาชญากร ในขณะที่หลายประเทศได้เปลี่ยนมาใช้มาตรการอื่นแทนการโทษอาญาแล้ว เช่น ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่ใช้โทษทางปกครองอย่างการสั่งปรับเงินและการสั่งถอดใบอนุญาตประกอบธุรกิจกับผู้ละเมิดกฎระเบียบรัฐ[2]

ภาพที่ 2

โทษอาญาเฟ้ออีกลักษณะคือใช้โทษอาญากับความผิดส่วนตัวระหว่างเอกชนซึ่งไม่มีความเป็นอาชญากรรมแต่อย่างใด อย่างเช่นการจ่ายเช็คเด้งที่ผู้ทำผิดบางรายผิดนัดชำระหนี้เพราะมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ความผิดนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการหมิ่นประมาททั่วไป ที่ผู้ผิดอาจทำไปด้วยโทสะชั่วคราว แต่อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี ปรับสูงสุด 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ตามหลักแล้ว ความผิดเหล่านี้ควรเป็นคดีแพ่งที่มีจุดประสงค์ให้ผู้ทำผิดชำระเงินตามสัญญาหรือชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อกัน

คดีอาญาล้นศาลโดยไม่จำเป็น

โทษอาญาเฟ้อเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้คดีอาญาล้นศาลโดยไม่จำเป็น จากภาพที่ 3 จะเห็นได้ว่าในระหว่าง พ.ศ. 2561-2565 ศาลชั้นต้นมีคดีอาญาเข้าสู่การพิจารณาเฉลี่ยปีละ 5.85 แสนคดี แต่ตัดสินเสร็จสิ้นได้เฉลี่ยปีละ 5.4 แสนคดี ทำให้มีคดีคงค้างข้ามปีราว 4.5 หมื่นคดีต่อปี[3] ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้พิพากษาที่มีอยู่ 3.3 พันคน เท่ากับว่าผู้พิพากษาตัดสินคดีอาญาเสร็จเฉลี่ยคนละ 161 คดีต่อปี ใช้เวลาเฉลี่ยราว 1.5 วันต่อคดี[4] (ยังไม่รวมภาระพิจารณาคดีแพ่งอีกจำนวนมาก)

ภาพที่ 3

คดีอาญาในศาลชั้นต้นมากถึง 1 ใน 3 เป็นข้อหาเสพยาและครอบครองเพื่อเสพ[5] ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีอาญาโดยหันไปใช้มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพแทนตามแนวคิด ‘ผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ และมุ่งจัดการดำเนินคดีเฉพาะขบวนการค้ายา ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ได้ผลดีกว่า

กรณีตัวอย่างที่สำคัญคือประเทศโปรตุเกส ที่ออกกฎหมายยกเลิกการใช้โทษอาญากับผู้เสพยาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 แล้วใช้การฟื้นฟูผู้เสพแทน ทำให้สามารถลดคดีอาญาและนักโทษยาเสพติดได้ โดยมีอัตรานักโทษยาเสพติดลดจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 16 ของนักโทษทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ข้อมูลการสำรวจของศูนย์ติดตามสถาณการณ์ยาเสพติดแห่งสหภาพยุโรปชี้ว่าสามารถลดปัญหาผู้เสพยาเกินขนาดได้ รวมถึงมีอัตราการใช้ยาเสพติดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในสหภาพยุโรป[6]

นอกจากนี้ ยังมีข้อหาบางประเภทที่ตามหลักแล้วไม่ควรเป็นคดีอาญา อาทิ ข้อหาการจ่ายเช็คเด้งที่มีอยู่ที่ 8,961 ข้อหา ข้อหาหมิ่นประมาท 6,465 ข้อหา ซึ่งข้อหาทั้งสองประเภทเป็นการพิพาทส่วนตัวอันเป็นคดีทางแพ่ง[7]

โทษอาญาเฟ้อ ทำร้ายคนโดยไม่จำเป็น-สิ้นเปลืองงบ-ไม่แก้ปัญหาการทำผิด

ผลกระทบหลักของโทษอาญาเฟ้อคือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนโดยไม่จำเป็น บางคนต้องถูกจองจำจากการทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งอาจมาจากความพลาดพลั้งหรือแม้แต่ความไม่รู้กฎหมายที่กำหนดโทษไว้หลากหลายเรื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นเพราะมีสันดานอาชญากร การถูกดำเนินคดียังนำมาซึ่งความสูญเสียที่เป็นรูปธรรมต่อชีวิต อย่างเช่นการขาดรายได้จากการทำงานระหว่างจองจำ การเสียโอกาสด้านอาชีพการงานจากการมีประวัติอาชญกรติดตัว รวมทั้งความเป็นอยู่ครอบครัวที่ต้องย่ำแย่ลงจากการที่สมาชิกขาดหายไปด้วย

สังคมโดยรวมเองก็มีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะโทษอาญาเฟ้อทำให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐอย่างสิ้นเปลือง โดยหลักแล้ว รัฐจะให้บริการดำเนินคดีอาญากับความผิดที่กระทบต่อสังคมโดยรวมโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้งบประมาณเฉลี่ยต่อคดี 1.2 แสนบาทตลอดกระบวนการตั้งแต่การสอบสวนจนถึงการจำคุก แต่หลายคดีสามารถใช้มาตรการอื่นแทนได้ เช่น การลงโทษทางปกครองแทนอาญาสำหรับการกระทำผิดต่อกฎระเบียบของรัฐที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งใช้งบประมาณเฉลี่ย 9 หมื่นบาทต่อคดี[8](ดูในภาพที่ 4)

ภาพที่ 4

นอกจากนี้ การใช้โทษอาญาไปกับคดีที่เป็นเรื่องส่วนตัวทำให้มีการใช้งบประมาณและบริการของรัฐสำหรับการจัดการคดีระหว่างเอกชนหรือประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งโดยปกติแล้วควรเป็นการดำเนินคดีทางแพ่ง ที่จะใช้ทรัพยากรส่วนตัวของผู้ฟ้องร้องเป็นหลัก และใช้งบประมาณภาครัฐเฉลี่ยราว 1.1 หมื่นบาทต่อคดีเท่านั้น โทษอาญาเฟ้อในลักษณะนี้จึงก่อให้เกิดต้นทุนภาครัฐต่อคดีเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า[9]

อย่างไรก็ตาม โทษอาญาก็ไม่สามารถลดการกระทำผิดได้ตามที่คาดหวังด้วย จากภาพที่ 4 จะเห็นได้ว่าร้อยละ 14.6 ของผู้ต้องโทษจำคุกกลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีหลังได้รับการปล่อยตัว เกือบร้อยละ 25 ทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี และมีถึงร้อยละ 32 ทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี[10] ดังนั้นโทษทางอาญาจึงไม่ใช่มาตรการที่จะช่วยให้คนกลับตัวเลิกทำผิดได้เสมอไป ยิ่งไปกว่านั้นการจองจำคนในคุกมากเกินไปอาจกลายเป็นต้นเหตุให้คนทำผิดซ้ำมากขึ้นด้วยจากการได้รับอิทธิพลที่ไม่ดีในเรือนจำ

การปฏิรูปลดโทษอาญาที่เชื่องช้า

การปฏิรูประบบยุติธรรมที่ผ่านมาพยายามแก้ปัญหาโทษอาญาเฟ้อโดยเสนอให้ใช้มาตรการลงโทษอื่นทดแทน แต่กลับไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าใดนัก มาตรการทางเลือกหนึ่งคือการให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจใช้โทษปรับทางปกครองสำหรับการฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ไม่รุนแรง โทษปรับทางปกครองนี้แตกต่างจากโทษปรับทางอาญาตรงที่ไม่มีการกักขังในกรณีผู้ทำผิดไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ และไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากร มาตรการนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 แต่จนถึง พ.ศ. 2563 ยังมีกฎหมายเพียง 26 ฉบับที่มีโทษทางปกครอง ส่วนใหญ่เป็นการลงโทษการฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ[11]

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การใช้โทษปรับทางปกครองยังค่อนข้างจำกัดคือ การขาดหลักเกณฑ์กลางในการพิจารณาค่าปรับ ทำให้การบังคับใช้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานรัฐมากเกินไป โดยกฎหมายเฉพาะบางฉบับกำหนดเกณฑ์พิจารณาไว้แค่กรอบกว้างๆ อาทิ ให้พิจารณาลักษณะพฤติกรรมและความเสียหายที่เกิดขึ้น และบางฉบับไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์ไว้ แต่ให้จัดทำเกณฑ์ในกฎหมายลำดับรอง ทำให้เกิดข้อกังวลว่าการกำหนดค่าปรับอาจไม่เป็นธรรม ไม่มีมาตรฐานที่คงเส้นคงวา รวมถึงอาจเกิดปัญหาทุจริตได้ กฎหมายบางฉบับยังให้หน่วยงานรัฐฟ้องบังคับการชำระค่าปรับกับศาลยุติธรรมซึ่งไม่คุ้นเคยและไม่มีแนวทางพิจารณาคดีทางปกครอง[12] ความไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้ไม่ค่อยมีการใช้โทษปรับทางปกครองกับการละเมิดกฎระเบียบของรัฐมากนัก

ข้อจำกัดข้างต้นนำมาสู่การจัดทำกฎหมายกลางสำหรับการใช้โทษปรับทางปกครองแทนโทษอาญา ซึ่งเป็นภารกิจตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้จำกัดการใช้โทษอาญาเฉพาะกับความผิดร้ายแรง ผลลัพธ์คือการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่กำหนดใช้โทษปรับเป็นพินัยแทนโทษอาญาที่เป็นโทษปรับสถานเดียว

โทษปรับเป็นพินัยมีลักษณะคล้ายกับโทษปรับทางปกครอง ที่ไม่มีการลงบันทึกประวัติอาชญากรและไม่มีการจำคุกกักขังแทนค่าปรับ และในกรณีผู้ทำผิดไม่มีเงินจ่ายค่าปรับเป็นพินัย ศาลอาจสั่งลดค่าปรับให้สอดคล้องกับฐานะของผู้ทำผิดหรือให้ทำบริการสังคมแทนได้ ทั้งนี้ เหตุที่มีการใช้คำว่าปรับเป็นพินัยแทนโทษปรับทางปกครองเป็นเพราะกฎหมายนี้กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคดีไม่ใช่ศาลปกครอง จึงปรับคำใหม่เพื่อป้องกันการสับสน[13]  

อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยยังไม่ก้าวหน้านักเมื่อเทียบข้อเสนอเดิมที่ต้องการให้ใช้แทนโทษอาญาไม่ร้ายแรง ซึ่งรวมถึงโทษจำคุกสถานเบาด้วย กล่าวคือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนและโทษจำคุกที่เปรียบเทียบปรับได้ แต่สุดท้ายเหลือแค่แทนโทษปรับสถานเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนมาใช้โทษปรับเป็นพินัยจะมีผลบังคับกับกฎหมายที่มีโทษปรับสถานเดียวจำนวน 183 ฉบับ โดยยังมีข้อยกเว้นไม่บังคับใช้กับกฎหมายอีก 30 ฉบับจนกว่าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้ใช้โทษปรับเป็นพินัยแทน ซึ่งขึ้นกับความพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ[14]

ภาพที่ 5

นอกจากนี้ การยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับคดีพิพาทระหว่างเอกชนก็แทบไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ใน พ.ศ. 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งมุ่งยกเลิกโทษอาญากับการจ่ายเช็คที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริต ต่อมาได้มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2547-2548 แต่หยุดชะงักไปหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และหายไปท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง จนใน พ.ศ. 2565 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คอีกครั้ง และได้เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร แต่สุดท้ายสภาก็หมดสมัยไปก่อน เท่ากับว่าการพิจารณายกเลิกการใช้โทษอาญากับคดีเช็คที่ใช้เวลาไปแล้วเกือบ 20 ปีก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งมูลค่าการใช้เช็คลดลงเรื่อยๆ จากที่เคยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 21 ของมูลค่าชำระเงินทั้งระบบเมื่อสิบปีก่อน เหลือเพียงร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ. 2565[15]

ส่วนการยกเลิกการใช้โทษอาญากับคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปก็ถูกเสนอมาอย่างยาวนาน อาทิ งานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554 จนมีการเสนอร่างแก้ไขประมวลอาญาในปี 2564 แต่สุดท้ายแล้วยังไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับแนวโน้มโลก โดยตั้งแต่ปี 2535-2563 มี 30 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษอาญากับคดีหมิ่นประมาทและอีก 14 ประเทศที่ได้ยกเลิกโทษจำคุกในคดีหมิ่นประมาท[16]

การลดโทษอาญาเฟ้ออีกแนวทางคือการสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้จัดการคดีได้โดยไม่ต้องนำคดีเข้าสู่ศาล การชะลอฟ้องหรือการเบี่ยงเบนคดีเป็นมาตรการหนึ่งที่ให้อำนาจอัยการสั่งไม่ฟ้องได้ หากเห็นว่าผู้ต้องหามีความผิดจริงแต่ไม่ได้มีเจตนาชั่วร้าย โดยให้ใช้มาตรการคุมประพฤติ อาทิ การให้ทำบริการสังคมแทน แนวทางนี้จะช่วยให้ผู้ทำผิดมีโอกาสสำนึกและกลับตัวโดยไม่ต้องถูกจำคุกและมีประวัติอาชญากรติดตัว

ทว่า การปฏิรูปตามแนวทางนี้ก็คืบหน้าเพียงเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา กรมอัยการ (ณ ขณะนั้น) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการชะลอการฟ้อง พ.ศ. 2520 แต่สุดท้ายไม่มีผลบังคับใช้ โดยถูกแย้งว่าไม่มีกฎหมายรับรองและก้าวล่วงอำนาจตุลาการ ในปีถัดมามีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มุ่งให้อำนาจอัยการชะลอฟ้อง แต่ก็มีการยุบสภานิติบัญญัติไปก่อนการพิจารณาจะเสร็จสิ้น [17]

หลังจากนั้นได้มีความพยายามออกกฎหมายการชะลอฟ้องอีกหลาย ได้แก่ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้องใน พ.ศ. 2547 ต่อมาใน พ.ศ. 2553 และ 2559 ก็ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาเข้าสู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีมาตรการชะลอฟ้องเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จด้วยหลากหลายเหตุผล รวมถึงข้อคัดค้านจากผู้พิพากษาบางกลุ่มที่เห็นว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจศาล โดยใน พ.ศ. 2559 ประธานศาลฎีกาได้ยื่นหนังสือทักท้วงต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าร่างกฎหมายชะลอฟ้องมีหลักการไม่เหมาะสม [18]

ความพยายามครั้งล่าสุดคือในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ได้จัดทำร่างกฎหมายชะลอฟ้องโดยพยายามแก้ไขข้อเห็นแย้งระหว่างอัยการและศาลยุติธรรม เช่น การให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบการชะลอฟ้องของอัยการ แต่สภาผู้แทนราษฎรก็หมดสมัยไปก่อนจะได้พิจารณา เท่ากับว่าการถกเถียงเรื่องการชะลอฟ้องได้ใช้เวลาไปแล้ว 45 ปี แต่ยังไม่เกิดความเห็นพ้องต้องกัน

ภาพที่ 6

อีกมาตรการหนึ่งคือ การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างคู่ขัดแย้งก่อนฟ้องศาล ซึ่งตราเป็นกฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งใน พ.ศ. 2550, 2553 และ 2559 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยกฎหมายฉบับ พ.ศ. 2562 นี้เปิดช่องให้ภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด หรือหน่วยงานรัฐอื่นตามที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด รวมทั้งภาคประชาชนที่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนโดยขึ้นทะเบียนกับมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยจนถึง พ.ศ. 2565 มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั่วประเทศแล้ว 1,189 ศูนย์ แยกเป็นศูนย์ภาคประชาชน 1,107 แห่ง และศูนย์ภาครัฐ 82 แห่ง[19]

อย่างไรก็ตาม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาตามกฎหมายนี้ถูกจำกัดให้ทำได้เฉพาะกับฐานความผิดที่ยอมความได้ คือ ความผิดลหุโทษและความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีบางมาตราในประมวลกฎหมายอาญา[20] โดยไม่ครอบคลุมถึงการละเมิดกฎระเบียบที่ไม่ร้ายแรงและความผิดเบาอื่นๆ ที่มีรัฐเป็นผู้เสียหาย ข้อจำกัดเหล่านี้มีส่วนให้คดีอาญาเข้าสู่การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องน้อย โดยจากภาพที่ 6 จะเห็นได้ว่าใน พ.ศ. 2565 ศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนและภาครัฐทำการไกล่เกลี่ยรวมกันเพียง 69 คดี[21] สำนักงานศาลยุติธรรมไกล่เกลี่ยได้ 382 คดี[22] การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องของสำนักงานอัยการที่เป็นไปตามระเบียบภายในก็มีเพียง 264 คดี[23] รวมทั้งหมดเพียง 715 คดี คิดเป็นแค่ร้อยละ 0.12 ของคดีที่เข้าสู่ศาล

การปฏิรูปไม่ไปไหนเพราะติดอยู่ในวงจรเสพติดโทษอาญา

ปัญหาโทษอาญาเฟ้อที่มีต่อเนื่องยาวนานและรุนแรงขึ้น มีจุดตั้งต้นมาจากอดีตที่มีโทษอาญาเป็นทางเลือกเดียวในการจัดการความผิดที่เกี่ยวข้องกับรัฐ โทษอาญาจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนกฎระเบียบของรัฐ นอกจากนี้ ในอดีตยังมีการนำโทษอาญาไปใช้ผิดฝาผิดตัวกับคดีแพ่ง อย่างเช่นการฟ้องร้องกรณีเช็คเด้งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นต้องการเพิ่มความน่าเชื่อให้กับการใช้เช็คแทนเงินสด แต่ต่อมาเอกชนได้ใช้ข้อกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือขู่ทวงหนี้ ซึ่งสามารถบีบให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เร็วกว่าการดำเนินคดีทางแพ่ง และยังเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าสำหรับเอกชนด้วยเพราะใช้งบของรัฐเป็นหลัก[24]

ผลจากในอดีตข้างต้นทำให้โทษอาญากลายเป็นเครื่องมือหลักของทั้งรัฐและเอกชน จนมีการพัฒนาระบบบังคับใช้และสร้างความเชื่อมั่นให้การใช้โทษอาญามากกว่าทางเลือกอื่น เช่น มีข้อกังวลว่าการใช้โทษปรับทางปกครอง (ซึ่งเพิ่งเริ่มใช้หลัง พ.ศ. 2540 เป็นครั้งแรก) อาจนำไปสู่การบังคับใช้ไม่คงเส้นคงวาและการทุจริตของหน่วยงานรัฐได้ง่าย เพราะยังไม่มีการวางแนวทางกลางที่ชัดเจนในการกำหนดโทษปรับ เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษปรับได้ค่อนข้างมาก ทั้งที่สามารถลงทุนวางระบบให้มีหลักเกณฑ์บังคับใช้ชัดเจนได้[25] หรือในกรณีที่ธุรกิจเอกชนบางกลุ่มไม่มั่นใจว่าการดำเนินคดีทางแพ่งอย่างเดียวจะสามารถติดตามบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้เช็คได้สำเร็จโดยไม่ล่าช้า[26] แม้ว่ารัฐจะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการบังคับคดีแพ่งให้ดีเหมือนคดีอาญาได้ หรือผู้พิพากษาบางท่านเห็นว่าการชะลอฟ้องเป็นการเปิดช่องให้ทุจริตได้ง่าย โดยผู้มีอำนาจอาจแทรกแซงการทำงานของอัยการ[27] ทั้งที่สามารถหาแนวทางการตรวจสอบการใช้อำนาจชะลอฟ้องของอัยการได้  

ปัจจัยเหล่านี้ลดทอนหรือกระทั่งขวางกั้นการปฏิรูปที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบางแห่งเกรงว่าการยกเลิกโทษอาญาจะทำให้คนไม่เคารพกฎหมาย จึงไม่ยอมให้ใช้โทษปรับเป็นพินัยแทนโทษจำคุกสถานเบาหรือแม้แต่โทษปรับสถานเดียว ข้อกังวลของเอกชนบางกลุ่มส่งผลให้การพิจารณายกเลิกโทษอาญาในคดีเช็คเด้งทอดยาวออกไป เช่นเดียวกับแรงคัดค้านจากผู้พิพากษาที่ได้ชะลอการออกกฎหมายชะลอฟ้องออกไปอย่างไม่มีกำหนด

เมื่อการปฏิรูปได้ผลลัพธ์ค่อนข้างจำกัด ก็ทำให้ยังไม่ค่อยมีทางเลือกแทนโทษอาญา จนโทษอาญายังคงเป็นมาตรการหลักต่อไป ซึ่งช่วยพัฒนาระบบบังคับใช้และเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้โทษอาญาต่อไปเป็น ‘วงจรเสพติดโทษอาญา’ (ดูภาพที่ 7)

ภาพที่ 7

เงื่อนไขจำเป็นที่จะช่วยให้หลุดออกจากวงจรเสพติดโทษอาญาได้คือ การยึด ‘หลักนิติธรรม’ (rule of law) อย่างมั่นคงในการปฏิรูป ซึ่งหลักนิติธรรมมีสาระสำคัญอยู่ที่การจำกัดการใช้อำนาจรัฐและการปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชน โดยรัฐไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษรุนแรงได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องยึด ‘หลักพอสมควรแก่เหตุ’ กล่าวคือกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิดและไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนมากจนเกินไป[28] ซึ่งหากยึดหลักนิติธรรมและหลักพอสมควรแก่เหตุอย่างมั่นคง ก็จะทำให้โทษอาญาไม่ถูกมองเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่หยิบฉวยไปใช้อย่างไม่ระวัง พร้อมกับมีการลงทุนพัฒนามาตรการทางเลือกต่างๆ ให้เหมาะสมกับความหนักเบาของความผิดแต่ละระดับ แทนการใช้โทษอาญากับความผิดทุกประเภท

ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลักนิติธรรมของไทยยังค่อนข้างอ่อนแอ โดยตัวชี้วัดหนึ่งคือดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law index) ของประเทศไทยที่ใน พ.ศ. 2565 อยู่ในอันดับที่ 80 จากทั้งหมด 140 ประเทศ และคะแนนของดัชนีแทบไม่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 อยู่ที่ราวร้อยละ 45-50 ของคะแนนทั้งหมด[29] การขาดหลักนิติธรรมเป็นผลให้การปฏิรูปที่ผ่านมาไม่มีหลักยึดที่มั่นคง เมื่อเผชิญกับแรงคัดค้าน การปฏิรูปก็หยุดชะงักและหายไปหรือเกิดผลที่ค่อนข้างจำกัดตามที่กล่าวมาข้างต้น

โทษอาญาเฟ้อคือความสมประโยชน์ของหลายฝ่าย

ภายใต้ระบบกฎหมายที่มีหลักนิติธรรมอ่อนแอ โทษอาญามีแนวโน้มจะเฟ้อต่อไปและรุนแรงขึ้นเพราะรัฐและเอกชนบางกลุ่มเชื่อว่าสามารถใช้โทษอาญาเป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

รัฐบาลสามารถใช้โทษอาญาเพื่อเพิ่มความเด็ดขาดในการบริหารจัดการนโยบายโดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของชาติและการขจัดคนชั่วออกจากสังคม กรณีศึกษาที่ชัดเจนกรณีหนึ่งคือนโยบายสงครามปราบปรามยาบ้าในช่วง พ.ศ. 2545-2546 โดยในช่วงเวลานั้น ยาบ้าและผู้เกี่ยวข้องได้กลายเป็นภัยทำลายชาติที่รัฐจะต้องจัดการอย่างเด็ดขาดโดยไม่เลือกหน้า[30] ดังที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าวไว้ว่า “…ถ้าจะมีผู้ค้าตายไปบ้างก็เป็นเรื่องปกติ บางทีถูกยิงตายแล้วต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย ผมคิดว่าเราต้องเหี้ยมพอกัน เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญอันตรายต่อความมั่นคงของชาติที่เราต้องทำสงครามสู้รบให้แตกหัก และเป็นเรื่องจำเป็นที่มีการบาดเจ็บบ้าง ที่อยู่ของขบวนการค้ายาเสพติดจึงมีอยู่ 2 ที่ คือถ้าไม่ไปคุก ก็ไปวัด”[31]

ในการทำสงครามปราบยาบ้า รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายยาเสพติดให้โทษใน พ.ศ. 2545 ให้โทษหนักขึ้นกับผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาบ้า เช่น ผู้ครอบครองยาบ้า (สารแอมเฟตามีนบริสุทธิ์) เกิน 20 กรัมต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือต้องโทษประหาร จากเดิมที่มีโทษจำคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต ซึ่งในทางความเป็นจริงแล้วผู้มียาเกินจำนวนดังกล่าวบางรายเป็นเพียงผู้ติดยา ไม่ใช่ขบวนการค้ายา

ในขณะเดียวรัฐบาลก็ได้ออกคำสั่งเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่ปราบปรามอย่างเด็ดขาดภายใน 3 เดือนและให้มีการให้รางวัลสำหรับการปราบปราม จนเกิดการร้องเรียนการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เช่น ถูกยัดยาบ้าเพื่อดำเนินคดีและถูกซ้อมให้สารภาพ [32] ตลอดจนการฆ่าตัดตอนจำนวนมาก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) สรุปว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเสียชีวิต 1.3 พันรายจากการปราบปราม[33]

แต่จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้รับผิดในคดีฆ่าตัดตอนหลายคดี เพราะการสอบสวนที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ฆ่าตัดตอน เป็นการฆ่ากันเองของขบวนการค้ายาหรือเป็นการกระทำเกินว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ก่อให้เกิดข้อสงสัยต่อระบบยุติธรรมและกลไกตรวจสอบว่าสมยอมให้รัฐลงโทษรุนแรงได้เพื่อรักษาความมั่นคงโดยไม่มีการจำกัดและตรวจสอบการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา [34] 

อคติว่ายาบ้าเป็นภัยต่อชาติยังคงดำรงอยู่และมีผลขัดขวางการลดโทษอาญาเฟ้อโดยในปี 2565 เครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติดได้เสนอร่างกฎหมายบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งมีสาระสำคัญให้ยกเลิกการใช้โทษอาญากับผู้เสพ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธไม่นำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาโดยยกเหตุผลว่าการยกเลิกโทษอาญาอาจกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดีของสังคมซึ่งขัดต่อมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญไทยปี 2560[35]

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าซึ่งถือว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยรัฐบาล คสช. ออกกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แทนฉบับเดิม เพิ่มโทษการบุกรุกและให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้นโดยไม่ต้องใช้หมายค้น พร้อมทั้งสั่งเร่งปฏิบัติการทวงคืน ทำให้มีการดำเนินคดีอาญากับชาวบ้านที่ต่อต้าน หลายคนต้องโทษจำคุกเพียงเพราะมองว่ามีสิทธิถูกต้องในพื้นที่ที่อาศัยทำกินมาเป็นเวลานาน[36]

ภาพที่ 8

หน่วยงานรัฐก็สามารถใช้โทษอาญาบังคับให้คนเชื่อฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามกฎระเบียบบนฐานความเชื่อว่าโทษยิ่งหนักคนยิ่งเคารพกฎหมาย (ซึ่งไม่เป็นจริงเสมอไป) และไม่ได้คำนึงถึงความหนักเบาของการกระทำผิดและผลกระทบต่อชีวิตของผู้รับโทษ

ภาคเอกชนเองก็ได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจและทรัพยากรรัฐเพื่อจัดการข้อพิพาทส่วนตัวตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือแม้แต่แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น ผู้ให้กู้เงินบางรายใช้กฎหมายความผิดเกี่ยวกับเช็คเป็นเครื่องมือในการเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยบังคับให้ลูกหนี้เขียนจ่ายเช็คไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนที่เท่ากับเงินต้นและดอกเบี้ยทบ[37] หรือธุรกิจบางรายใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) เพื่อไม่ให้แสดงความคิดเห็นสาธารณะที่เกี่ยวกับด้านลบของธุรกิจ อาทิ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเอาเปรียบแรงงาน และการผลิตสินค้าชำรุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

จารีตปกครองแบบไทยๆ คือขวากหนามของการพัฒนานิติธรรม

โทษอาญาเฟ้อในไทยมีรากปัญหามาจากการปกครองที่ไม่ได้ยึดหลักนิติธรรม กล่าวคือ การปกครองของไทยที่เป็นแบบ ‘การปกครองด้วยกฎหมาย’ (rule by law) อันเป็นมรดกจากจารีต ‘ให้รัฐเป็นใหญ่’ และ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ ซึ่งสาระสำคัญตรงกันข้ามกับหลักนิติธรรมที่เน้นการจำกัดการใช้อำนาจรัฐโดยอำเภอใจและการปกป้องสิทธิพื้นฐานของคน

จารีต ‘ให้รัฐเป็นใหญ่’ หรือที่เรียกว่า ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์’ เป็นหลักกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อปกป้อง ‘ผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ’ โดยการออกกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงเกินสัดส่วนความผิด การให้กลไกของรัฐใช้อำนาจได้เต็มที่ ตลอดจนการยอมรับสภาวะยกเว้นการใช้ระบบกฎหมายปกติทั้งระบบอย่างเช่นการปกครองภายใต้คณะรัฐประหาร[38] ทั้งนี้การรักษา ‘ผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ’ ยังมีความหมายที่ลื่นไหลและขยายขอบเขตได้ตามบริบทตั้งแต่การต่อสู้คอมมิวนิสต์ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การปราบยาเสพติด หรือแม้แต่การทวงคืนผืนป่า

จารีตปกครองนี้สร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้แก่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องรับผิดจากปฏิบัติการที่ทำไปเพื่อ ‘ผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ’ โดยอาจมีการบิดเบือนการดำเนินคดีหรือการวางเฉยให้คดีหายไปเพื่อรักษาความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐต่อไปดังเช่นที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงความล่าช้าในการสอบสวนการฆ่าตัดตอนในระหว่างการปราบปรามยาเสพติด[39] 

ส่วนจารีต ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ หรือที่เรียกว่า ‘ราชนิติธรรม’ เป็นหลักที่เชื่อว่าความยุติธรรมจะบังเกิดได้เมื่อคนดีมีศีลธรรมสูงส่งได้ปกครองบ้านเมือง เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจความยุติธรรมได้อย่างแท้จริงและสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรม โดยตามจารีตนี้ความยุติธรรมไม่ได้เท่ากับตัวบทกฎหมายเสมอไป บางครั้งกฎหมายก็มีบทบัญญัติที่ไม่ยุติธรรม การเข้าถึงความยุติธรรมจึงต้องกลับไปยึดโยงกับธรรมเนียมประเพณีเดิมของสังคมอันเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรม ได้แก่ หลักธรรมศาสนาพุทธ และหลักการปกครองแผ่นดินโดยธรรมของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีแต่ผู้มีคุณธรรมสูงส่งและสั่งสมบุญบารมีมามากสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ จารีตนี้น่าจะเป็นฐานของความคิดที่มองว่าปัญหาความยุติธรรมของไทยอยู่ที่ผู้บังคับใช้ ซึ่งแก้ไขได้โดยให้คนดีเข้ามาปกครองและให้อำนาจแก่พวกเขาอย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงกลไกตรวจสอบถ่วงดุลให้สามารถจำกัดการใช้อำนาจรัฐที่ฉ้อฉล[40] 

ทั้งนี้ แม้จารีตทั้งสองมีข้อแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ทำงานเสริมกันให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจรัฐได้เกินขอบเขต โดยเมื่อคนดีปกครองบ้านเมือง ก็จะมีการออกและบังคับใช้กฎหมายด้วยความดีเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของสังคมและความมั่นคงของชาติ ดังนั้นก็ต้องยิ่งให้อำนาจแก่ผู้ปกครองรัฐที่มีคุณธรรมมากกว่าไปจำกัดการใช้อำนาจ   

ภาพที่ 9

จารีต ‘ให้รัฐเป็นใหญ่’ และ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ เป็นมรดกที่สืบทอดมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้ว่าในยุคล่าอาณานิคมประเทศไทยถูกกดดันให้ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย แต่ไม่ได้มีการชำระหลักการและเนื้อหาให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ส่วนใหญ่แค่จัดทำกฎหมายให้เป็นระบบระเบียบ ปล่อยให้จารีตปกครองดั้งเดิมยังคงดำรงอยู่และพัฒนาต่อยอดภายใต้ระบอบการเมืองอำนาจนิยมโดยการปกครองของรัฐบาลเผด็จการอันยาวนานและการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญหลายครั้งทำให้เกิดการยอมรับการใช้อำนาจเด็ดขาดของรัฐและการยกเว้นระบบกฎหมายปกติจนเป็นปกติ คุ้นเคยกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของรัฐ หล่อเลี้ยงจารีตให้รัฐเป็นใหญ่ฝังรากลึกในสังคมไทย ต่อมาเมื่อเกิดกระแสการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ จารีตให้คนดีปกครองก็ได้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ทำให้การแก้ไขปัญหามุ่งไปที่การหาคนดีมาแทนคนไม่ดี มากกว่าการปรับตัวระบบกฎหมายที่เอื้อให้รัฐใช้อำนาจบังคับและลงโทษคนเกินขอบเขตที่เหมาะสม[41]        

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่หล่อเลี้ยงจารีตดั้งเดิมคือการเรียนการสอนนิติศาสตร์ที่ผลิตนักกฎหมายที่พร้อมทำงานไปตามระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ เป็นนักเทคนิคที่ท่องจำตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาก่อนหน้าได้เก่งหรือที่เรียกว่า ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’ โดยไม่มีสำนึกในภารกิจการปกป้องสิทธิเสรีภาพของคน ไม่ตั้งคำถามถึงความบิดเบี้ยวออกจากหลักนิติธรรม [42]

การเรียนการสอนลักษณะนี้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงระบบกฎหมายในยุคอาณานิคม และหลังจากนั้นก็แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง[43] ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของการเรียนไปเพื่อสอบเนติบัณฑิตและผู้พิพากษาซึ่งวัดความจำและการตีความกฎหมายตามตัวอักษรมากกว่าการโต้แย้งเชิงเหตุผล[44]

ความพยายามลดโทษอาญาเฟ้อที่ผ่านมามีการนำเสนอมาตรการลงโทษและกระบวนการยุติธรรมทางเลือกต่างๆ แต่สุดท้ายมาตรการเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานได้จำกัด บนจารีตปกครองแบบไทยๆ ที่เอื้อให้รัฐเป็นใหญ่ สามารถใช้อำนาจลงโทษคนรุนแรงเกินกว่าเหตุได้ และเน้นให้คนดีปกครองบ้านเมืองมากกว่าสร้างกลไกจำกัดการใช้อำนาจรัฐ โจทย์การปฏิรูปลดโทษอาญาเฟ้อตลอดจนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยทั่วไป จึงไม่ใช่แค่คิดหามาตรการทางเลือกเป็นส่วนๆ แต่ต้องไปให้ถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมการเมืองที่ยึดหลักนิติธรรม ไม่ยอมให้รัฐใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่ยอมให้มีการละเมิดสิทธิพื้นฐาน


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ในโครงการศึกษาเงื่อนไขเชิงระบบในการปฏิรูปกระบวนยุติธรรม (System Diagnostic Approach: the Road to Unlock Thai Justice Reform)

References
1 รวบรวมจากข้อมูลในคเณศ เต็งสุวรรณ์. ปัญหาการจัดระบบกฎหมายที่กำหนดความผิดอาญาในประเทศไทย.วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558 และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2 ศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์, “เกณฑ์พิจารณาในการเลือกกำหนดโทษทางปกครองแทนโทษอาญา,”สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2560, http://web.krisdika.go.th/data/outsitedata/outsite16/file/15-2-60-2.pdf (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566)
3 คำนวณจากข้อมูลสถิติคดีของสำนักงานศาลยุติธรรมปี พ.ศ. 2561-2565
4 คำนวณจากข้อมูลสถิติของสำนักงานศาลยุติธรรมโดยใช้จำนวนวันทำการ 242 วัน
5 คำนวณจากข้อมูลสถิติคดีของสำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. 2565
6 Transform Drug Policy Foundation. DRUG DECRIMINALISATION IN PORTUGAL: SETTING THE RECORD STRAIGHT. https://transformdrugs.org/assets/files/PDFs/Drug-decriminalisation-in-Portugal-setting-the-record-straight.pdf, 2021 (เข้าถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2566)
7 ข้อมูลสถิติคดีของสำนักงานศาลยุติธรรมปีพ.ศ. 2565
8 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา. เสนอต่อสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน). 2562
9 เพิ่งอ้าง.
10 ข้อมูลสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ของกรมราชทัณฑ์
11 ธำรงลักษณ์ ลาพิน. “ทำไมต้องปรับเป็นพินัย?,” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, http://web.krisdika.go.th/pdfPage.jsp?type=act&actCode=13778 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566)
12 เพิ่งอ้าง.
13 เพิ่งอ้าง.
14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มาตรา 40
15 ข้อมูลสถิติการชำระเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย, https://www.bot.or.th/th/statistics/payment.html (สืบค้นวันที่ 9 กันยายน 2566)
16 Article19. ความจริงที่ต้องพูดถึง กรณีสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย. 2564, https://www.article19.org/wp-content/uploads/2021/03/Thailand_Truth_be_told_decriminalise_defamation_THAI.pdf (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566)
17 ณัฏฐาพร การโคกกรวด. การนำมาตรการชะลอการฟ้องมาใช้ในคดียาเสพติด. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2562
18 มติชนออนไลน์, 26 มีนาคม 2559, “ตุลาการค้าน ร่างพ.ร.บ.ชะลอฟ้อง ประธานศาลฎีกา ยื่นหนังสือห่วงใย ถึง”พรเพชร”,” https://www.matichon.co.th/local/crime/news_84930 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566)
19 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ.รายงานประจำปี 2565
20 ทั้งนี้ การไกล่เกลี่ยความผิดที่มีอัตราโทษไม่เกิน 3 ปียังมีเงื่อนไชด้วยว่าผู้ต้องหาที่จะทำการไกล่เกลี่ยได้จะต้องไม่เคยได้รับการไกล่เกลี่ยตามกฎหมายนี้มา ยกเว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษซึ่งพ้นระยะเวลาเกิน 3 ปีแต่มีคำสั่งยุติคดีและผู้ต้องหาไม่อยู่ระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ตามมาตรา 42 กฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562
21 เพิ่งอ้าง.
22 สำนักงานศาลยุติธรรม.ผลการดำเนินงานด้านคดีของศาลยุติธรรมประจำปีพ.ศ. 2565
23 ข้อมูลสถิติจากสำนักงานอัยการสูงสุด
24 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.นิติเศรษฐศาสตร์ของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย.เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2554
25 ธำรงลักษณ์ ลาพิน. “ทำไมต้องปรับเป็นพินัย?,” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, http://web.krisdika.go.th/pdfPage.jsp?type=act&actCode=13778 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566) และรายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือเปรียบเทียบได้, https://www.lawreform.go.th/index.php/post/686 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566)
26 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.นิติเศรษฐศาสตร์ของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย.เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2554
27 คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการชะลอฟ้องและมาตรการต่อรองคำสารภาพ. “รายงานศึกษาผลกระทบกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการชะลอฟ้องและมาตรการต่อรองคำสารภาพ,” วารสารดุลพาห.ปีที่ 52 เล่ม 1 (มกราคม-เมษายน 2548): 3-89.
28 วรเจตน์ ภาคีรัตน์. “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม,” จุลนิติปีที่ 9 ฉบับที่ (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2555)
29 จากข้อมูลสถิติดัชนีหลักนิติธรรมของ World Justice Project, https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/
30 พวงทอง ภวัครพันธุ์. ปฏิบัติการสงครามของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย. ในความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, บรรณาธิการ:มติชน, 2553.
31 ประชาไท, 8 ธันวาคม 2549, “กระทรวงยุติธรรมรวบรวมคำพูด “ทักษิณ” เป็นหลักฐานมัดปลุกฆ่าตัดตอน,” https://prachatai.com/journal/2006/12/10819 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566)
32 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2547.
33 พวงทอง ภวัครพันธุ์. ปฏิบัติการสงครามของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย. ในความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, บรรณาธิการ:มติชน, 2553.
34 เพิ่งอ้าง
35 หนังสือแจ้งผลวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ…จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรถึงเครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติด, https://ilaw.or.th/sites/default/files/PL%20letter.pdf (เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566)
36 ประชาไท, 20 กุมภาพันธ์ 2562, “ตุลาการธิปไตย #4 นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ผ่านกฎหมายเดิมที่อำนาจนิยมซึ่งใช้ได้ดีในยุคเผด็จการ” (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566) และ BBC, 21 กรกฎาคม 2562, “ทวงคืนผืนป่า : เสียงจากชาวบ้านซับหวาย น้ำตาคนจนหลังถูกทวงคืนผืนป่า,” https://www.bbc.com/thai/thailand-49027185 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566)
37 The101.world, 31 มีนาคม 2566, “กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมเสมอไป: ธงทอง จันทรางศุ มองกระบวนการยุติธรรมในวันที่ต้องเรียกหาศรัทธา,” https://www.the101.world/tongthong-chandransu-interview/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566)
38 ธงชัย วินิจจะกูล.นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย. ปาฐกกาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2563, https://www.econ.tu.ac.th/uploads/archive/file/20200826/adfopqruy469.pdf (เข้าถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2566)
39 เพิ่งอ้าง
40 เพิ่งอ้าง.
41 เพิ่งอ้าง.
42 มุนินทร์ พงศาปาน. รื้อการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย เปลี่ยน ‘นักกฎหมายใบ้’ ให้เป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิประชาชน’. The 101 World. 2565, https://www.the101.world/legal-education-reform (เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566)
43 ธงชัย วินิจจะกูล. เปลี่ยนให้ผ่านนิติอธรรม เปลี่ยนให้ผ่านกระบวนการยุติธรรมไทย. ปาฐกถาพิเศษงานเสวนาวิชาการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด. 30 กันยายน 2565, https://www.youtube.com/watch?v=GvGvCFseQ68 (เข้าถึงวันที่ 2 กันยายน 2566) และ The 101 World, 16 กุมภาพันธ์ 2565,“‘เมื่อโลกปรับ นิติศาสตร์ไทยจึงต้องเปลี่ยน’ มองหนทางปฏิรูประบบยุติธรรมไทย กับ สุรพล นิติไกรพจน์” https://www.the101.world/suraphol-nitikraipot-interview (เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566)
44 สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ.ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติเบื้องต้น: ถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’ . The 101 World. 2565, https://www.the101.world/legal-education-reform-recommendation(เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save