fbpx

101 Visual Journal 2022 : Graphic

:: 101 Visual Journal 2022 : Graphic ::

รวบรวมบันทึกเรื่องราวตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา ผ่านผลงาน ‘กราฟิก’

โดย ภาพิมล หล่อตระกูล, ณัฐพล อุปฮาด และ วนา ภูษิตาศัย

ในทุกบทความของ 101 เนื้อหาสาระของเรื่องไม่ใช่ส่วนสำคัญเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ‘ภาพประกอบ’ ที่เป็นเสมือนหน้าบ้าน ยิ่งหน้าบ้านตกแต่งได้สวยสดงดงามสะดุดตาเท่าไหร่ ก็ยิ่งดึงดูดให้ผู้คนอยากลองเปิดประตูเข้าไปอ่านเนื้อหาบทความมากขึ้นเท่านั้น

เบื้องหลังความสวยงามของแต่ละภาพประกอบของ 101 ล้วนมีเบื้องหลัง แน่นอนว่าทุกภาพเริ่มต้นมาจากคำถามง่ายๆ ว่า “เราจะวาดอะไร?” แต่การตอบคำถามที่เหมือนจะดูง่ายๆ นั้น ต้องผ่านกระบวนการคิดและมุมมองเบื้องหลังการตีความบทความที่ซับซ้อน และการเชื่อมโยงประเด็นในทุกแง่มุมอย่างครบถ้วน

สุดท้ายแล้ว ‘เรื่องเล่า’ ของแต่ละภาพก็มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง และนี่คือมุมมองเรื่องเล่าของนักวาดภาพประกอบทั้งสามคน ผ่านผลงานเด่นที่แต่ละคนคัดเลือกมาเล่าสู่กันฟัง

สองระบบคิดและสองแนวทางของการสร้างปัญญาประดิษฐ์

บทความโดย จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล
ภาพประกอบโดย ภาพิมล หล่อตระกูล

“นักจิตวิทยาได้เรียกระบบการคิดสองรูปแบบที่แตกต่างกันนี้ว่าระบบ 1 (system 1) และระบบ 2 (system 2) การคิดโดยระบบ 1 นั้นเป็นระบบแบบสัญชาตญาณและทำงานอย่างรวดเร็ว ส่วนการคิดโดยระบบ 2 เป็นการคิดแบบใคร่ครวญและมีตรรกะมากกว่า

น่าสนใจว่าพัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ก็มีสองแนวทางที่สะท้อนรูปแบบการคิดสองแบบของมนุษย์เช่นเดียวกัน”

ภายในภาพประกอบ เราจึงอยากสร้างให้ผู้ชมเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นก็มีระบบการทำงานทั้ง 2 ระบบที่แตกต่างกันในแง่วิธีการประมวล โดยระบบแรก จะเป็นระบบที่ชิ้นส่วนย่อยๆช่วยกันทำงานง่ายๆจนออกมาเป็นโครงข่าย คล้ายกับเซลล์ประสาทจำนวนมากในสมอง จึงทำออกมาเป็นรูปกลุ่มก้อนสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้วยกันที่ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลส่วนระบบที่สองเป็นระบบที่มักใช้ตรรกะในการตัดสินใจ มีรูปแบบและวิธีการค้นหาคำตอบอย่างชัดเจน ทำให้สามารถคาดเดารูปแบบความเป็นไปได้ต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ ในบทความได้ยกตัวอย่างการที่ปัญญาประดิษฐ์แข่งหมากรุกกับมนุษย์ โดยปัญญาประดิษฐ์สามารถคิดล่วงหน้าหลายขั้นว่าถ้าเลือกเดินในทางใดจะได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง และมีการประเมินอัตราการชนะในการเดินแต่ละตา เราจึงทำออกภาพระบบที่ 2 คล้ายกับรูปเส้นทาง ที่แตกออกเป็นหลายแขนง เหมือนกับการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆที่จะเกิดขึ้น

ก้าวต่อไปของสงครามรัสเซีย-ยูเครน: โลกบนเส้นบางๆ ระหว่าง ‘สงคราม’ และ ‘สันติภาพ’

บทความโดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

ภาพประกอบโดย ภาพิมล หล่อตระกูล

ภาพนี้เราใช้การตีความจากชื่อบทความ ซึ่งก็คือ ก้าวต่อไปของสงครามรัสเซีย-ยูเครน: โลกบนเส้นบางๆ ระหว่าง ‘สงคราม’ และ ‘สันติภาพ’ จึงทำภาพออกมาเป็นรูปสองรูปที่มีเส้นกั้นบางๆขั้นอยู่ระหว่างทั้งสองภาพ คือ ภาพระเบิดที่เป็นตัวแทนของสงคราม และภาพนกพิราบ ที่เป็นตัวแทนของเสรีภาพ และได้เสริมการออกแบบด้วยการเลือกใช้สีน้ำเงินและเหลืองที่เป็นสีของธงยูเครนเพื่อให้คนมองเห็นภาพแล้วสามารถนึกถึงยูเครนได้ในทันที

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

เรื่องโดย ฉัตร คำแสง วรดร เลิศรัตน์ เจณิตตา จันทวงษา
ภาพประกอบโดย วนา ภูษิตาศัย

โปสเตอร์ประกอบงานเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

โจทย์ที่ได้รับแต่แรก คือการนำเสนอภาพเด็กและครอบครัวท่ามกลางวิกฤตโควิด, การเมืองสังคม, ความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา เนื่องจากชื่องานเน้นย้ำถึง ‘สามวิกฤต’ อย่างชัดเจน องค์ประกอบภายในภาพจึงเลี่ยงไม่พ้นภาพแทนของแต่ละวิกฤตนั้น โดยหยิบยกเอาองค์ประกอบที่สื่อความอย่างตรงไปตรงมา อย่าง ไวรัสโควิด, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, กองเหรียญ หรือแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจัดวางให้องค์ประกอบเหล่านี้รายล้อมอยู่รอบๆ ‘กลุ่มเด็ก’ ที่นอกจากการจัดวางดังกล่าวจะขับเน้นและนำสายตาให้ ‘กลุ่มเด็ก’ โดดเด่นสะดุดตาแล้ว ยังสื่อความหมายว่า ท่ามกลางวิกฤตมากมาย กลุ่มเด็กยังสามารถฝ่าฟันและมุ่งหน้าไปยังดวงดาว-ภาพแทนความฝันของตนเองได้ และเพื่อให้ล้อกับธีมงานเสวนาที่ต้องการเปิดพื้นที่รับฟังเสียงเยาวชน ประกายแสงจากดวงดาวยังส่องสว่างลงมายังกลุ่มเด็กราวกับแสงสปอร์ตไลท์บนเวที ที่ฉายแสงให้พวกเขาถูกมองเห็นมากยิ่งขึ้น

แต่ถึงจะเป็นงานที่ประกอบไปด้วยวิกฤตที่มากถึงสาม ความตั้งใจของทีมกลับอยากนำเสนอถึงความหวัง ความฝัน พลังของวัยเด็ก เสียมากกว่า ดังนั้นแล้วสีและโทนของภาพจึงเติมแต่งให้สดใสเป็นพิเศษ

ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

เรื่องโดย กษิดิ์เดช คำพุช
ภาพประกอบโดย วนา ภูษิตาศัย

ภาพประกอบบทความ ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต โดย กษิดิ์เดช คำพุช

ตัวบทความเสนอแนะถึงการปรับแนวคิดต่อ ‘ค่าจ้าง’ ใหม่ จากค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่ค่าจ้างเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นค่าจ้างที่เพิ่มความเป็นธรรม สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

แนวคิดดังกล่าวทำให้เรามองคนทำงานคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ที่ควรได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ในฐานะแรงงานที่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้ ภาพที่วาดออกมาจึงเป็นกลุ่มคนที่ต่างคนก็ต่างใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวา เพราะอยากจะชวนให้คนดูจินตนาการไปถึงชีวิตที่ได้รับค่าจ้างมากพอจะ ‘ใช้ชีวิต’ ไม่ใช่เพียงแค่พอ ‘มีชีวิต’ บรรยากาศและสีสันที่เลือกใช้ในงานจึงอยากให้ออกมาสดใส สนุกสนาน แถมเติมรายละเอียด อย่างการวาดให้คนบางกลุ่มกำลังกินเลี้ยง, เล่นกีฬา, เล่นดนตรี ซึ่งหลายครั้ง กิจกรรมเหล่านี้มักถูกมองว่าสิ้นเปลืองหรือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เราก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง หากค่าจ้างถูกกำหนดอย่างเป็นธรรมแล้ว กิจกรรมการใช้ชีวิตเหล่านี้ก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าใครก็เลือกจะทำได้

ประกอบกับชื่อบทความที่มีคำว่า ‘ยกระดับ’ ก็ชวนให้นึกถึงการไล่ลำดับขั้นของบันไดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นภาพกองธนบัตรที่วางเรียงซ้อนกัน และเพราะเงินเปรียบได้กับต้นทุนในการใช้ชีวิต กองธนบัตรจึงถูกวางเป็นรากฐานให้กลุ่มคนในภาพได้ใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างเต็มที่

รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ

เรื่องโดย ฉัตร คำแสง
ภาพประกอบโดย วนา ภูษิตาศัย

ภาพประกอบบทความ รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ โดย ฉัตร คำแสง

เลือกใช้การ ‘แบ่งเค้ก’ ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการตักตวง กอบโกยส่วนแบ่งและผลประโยชน์ เป็นภาพแทนของการจัดสรรงบประมาณภาครัฐ โดยให้กลุ่มข้าราชการที่นำเสนอผ่านชุดเครื่องแบบที่สวมใส่ เป็นผู้ตัดแบ่ง หยิบฉวย ไปจนถึงจับจ้องจะหยิบเค้กในส่วนที่นอกเหนือจากที่ตัดแบ่งไว้ เพื่อสะท้อนว่า งบประมาณในปัจจุบันถูกจัดสรรให้ข้าราชการเป็นจำนวนมาก (ถึง 42%) แถมยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต 

ในขณะเดียวกัน ‘เค้ก’ ที่มีรูปลักษณ์เป็นวงกลม ยังพ้องไปกับกราฟวงกลม ทำให้สามารถนำเสนอสัดส่วนการแบ่งเค้กได้ตามตัวเลขสถิติจริง

Inclusive Development การพัฒนาที่นับรวมทุกคน สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความยั่งยืน

ภาพประกอบเว็บไซต์ 101pub.org โดย 101 Public Policy Think Tank
ภาพประกอบโดย วนา ภูษิตาศัย

โจทย์ที่ได้รับคือ การวาดภาพประกอบหมวด Inclusive Development ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นวิจัยของทีม 101PUB ซึ่งเป็นประเด็นที่ตั้งใจจะสื่อสารเรื่องการพัฒนาอย่างเสมอหน้า ที่ไม่ทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มนึงไว้เบื้องหลังพร้อมทั้งสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยหลังจากที่ได้ปรึกษากับทีม ก็ทำให้ได้ไอเดียในเรื่องของการกระจายทรัพยากร จากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไปสู่กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย ประกอบกับการตีความเรื่องการพัฒนาให้เป็นรูปของการสร้าง-เสริมฐาน ในท้ายที่สุดจึงได้ออกมาเป็นภาพของการหยิบ-กระจายฐานของกลุ่มคนที่มีมาก มาต่อเติมให้กับกลุ่มคนที่มีน้อยกว่า

เครียด เหงา เศร้า : เยียวยาแผลใจวัยรุ่นยุคโควิดด้วยนโยบายสุขภาพจิตใหม่

เรื่องโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

ภาพประกอบโดย ณัฐพล อุปฮาด

“แผนการเรียนการสอนในสถานการณ์ ‘ฉุกเฉิน’ ที่กินเวลายาวนานนับปีส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นอย่างใหญ่หลวง หลายคนไม่อาจก้าวออกจากห้องแคบๆ ที่โต๊ะเรียนห่างจากเตียงไม่ถึงสามก้าว”

ส่วนหนึ่งจากบทความข้างต้น เราเลยคิดถึงการก้าวออกมาจากการเรียนออนไลน์เข้าสู่โลกจริง นำมาพัฒนาเป็นภาพประกอบที่ใช้ตัวละครหลัก 2 ตัวกำลังทะลุออกมาจากการเรียนผ่านโปรแกรมออนไลน์ และเข้าสู่โลกจริง การได้สัมผัสกับบรรยากาศการเรียนในห้องจริงๆ ผ่านการขีดเขียน เล่นกีฬา ก็เหมือนได้สมานแผลใจและฟื้นคืนสุขภาพให้กับวัยรุ่นยุคโควิด

โหดร้ายเหมือนไม่ใช่คน

เรื่องโดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ภาพประกอบโดย ณัฐพล อุปฮาด

บทความพูดถึงนโยบายกำไลอีเอ็มที่ทำกับคนไม่เท่ากัน เราเลยตีความโดยนำกำไลอีเอ็มมาขยายให้เท่ากับตัวคน เพื่อให้สื่อถึงการไม่มีอิสระ การถูกจองจำ

ทำไม AI ส่วนใหญ่จึงล้มเหลว: กลไกการสร้างมูลค่าธุรกิจด้วย AI

บทความโดย อัครพัชร์ เจริญพานิช

ภาพประกอบโดย ณัฐพล อุปฮาด

เทคโนโลยี AI เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ ณ ขณะนี้ เราจึงแทน AI ด้วยหุ่นยนต์ที่กำแก้ปัญหาและเจอเข้ากับทางตัน โดยเพิ่มส่วนประกอบต่างๆของภาคธุรกิจเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น การขนส่ง,การเงิน, กราฟ เพื่อสื่อถึงการแก้ปัญหาของ AI ที่ยังทำได้ไม่ดีพอในปัจจุบัน

ความทุกข์ตรมของชาว ‘Content Creators’  ในโลกที่อัลกอริธึมพร้อมจะทอดทิ้งคุณตลอดเวลา

บทความโดย พิมพ์ชนก พุกสุข

ภาพประกอบโดย ณัฐพล อุปฮาด

หัวใจมีไว้เพื่อแตกสลาย

MOST READ

Media

4 Nov 2022

จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย

เมลิญณ์ หรือชื่อเดิมคือ ‘เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวการเมือง จำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังถูกคุกคามอย่างหนัก

ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

4 Nov 2022

Media

6 Aug 2020

Innerscape Ep.6 เป็นครูศิลปะแบบไหนที่ไม่ทำให้เด็ก ‘กลัว’ ศิลปะ

Innerscape ศิลปะบนผืนใจ ตอนใหม่ ชวนคุยเรื่อง ‘ครูศิลปะ’ ผู้เชื่อมโยงระหว่างเด็กและศิลปะ ตัวแปรสำคัญที่อาจกำหนดว่า ศิลปะจะถูกระบายไปถึงผืนใจของเด็กหรือไม่

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

6 Aug 2020

Media

13 Jul 2021

PRESSCAST EP.21 : เสียงคลื่นลูกใหม่ในสนามข่าว ‘วศินี พบูประภาพ’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ ชวน ‘วศินี พบูประภาพ’ อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ผันตัวมาสู่เส้นทางนักข่าวสังกัด workpointTODAY คุยประสบการณ์และภาพวงการสื่อที่เธอมองเห็น

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

13 Jul 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save