fbpx

เมื่อเสรีนิยมใหม่โต้มา-สามัญชนสู้ชีวิตกลับ: บทแนะนำเศรษฐศาสตร์การเมืองในชีวิตประจำวันและเสรีนิยมใหม่จากเบื้องล่าง

ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เขียนมีเหตุให้ต้องไปบรรยายให้กับรายวิชา ‘โลกาภิวัตน์และสภาวะข้ามชาติ (Globalization and Transnationality)’ ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘เสรีนิยมใหม่และมิติทางเศรษฐกิจ (Neoliberalism and Economic Aspects)’ แต่เนื่องจากรายวิชาขึ้นด้วยคำว่า AN อันเป็นตัวย่อของสาขามานุษยวิทยา ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องอ่านงานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผนวกแนวทางการศึกษาแบบมานุษยวิทยาด้วย ด้วยโอกาสอันเหมาะเจาะ ผู้เขียนจึงได้เริ่มอ่านงานสองชิ้นอย่างสังเขปคือ The Everyday Political Economy of Southeast Asia ที่มี Juanita Elias และ Lena Rethel ทำหน้าที่บรรณาธิการ โดยทั้งสองท่านสังกัดอยู่ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยวอร์ริก (the University of Warwick) และ Neoliberalism from Below: Popular Pragmatics and Baroque Economies ของ Veronica Gago ศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์แห่งมหาวิยาลัยบูเอโนสไอเรส (Universidad de Buenos Aires)

ถึงแม้หนังสือสองเล่มมีจุดยืนทางทฤษฎีที่ต่างกันและใช้พื้นที่กรณีศึกษาที่ต่างกัน โดยงานของ Elias และ Rethel ศึกษาปฏิบัติการนโยบายเสรีนิยมใหม่ในระดับชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้น ณ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่หนังสือของ Gago ใช้ตลาด La Salada ซึ่งเป็นตลาดขายสินค้าผิดกฎหมายขนาดใหญ่ในบูเอโนสไอเรสเป็นกรณีศึกษา แต่งานทั้งสองชิ้นล้วนเสนอข้อถกเถียงที่คืนความเป็นผู้กระทำการ (agency) ให้แก่สามัญชนที่เผชิญและผยุงตัวตนและสภาพทางเศรษฐกิจของพวกเขา/เธอภายใต้โลกที่ก่อรูปจากนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ เช่น การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (liberalisation) การลดกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (deregulation) และการถ่ายโอนอำนาจและกิจการของรัฐให้แก่เอกชน (privatization) 

โดยทั่วไปแล้ว งานศึกษาเสรีนิยมใหม่จากนักวิชาการที่สังกัดอยู่ ‘ปีกซ้าย'[1] ที่ใช้แนวทางแบบ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศเชิงระเบียบ (Regulatory International Political Economy – RIPE)’ มักทำการศึกษาเสรีนิยมใหม่ในแง่ของบทบาทของชนชั้นนำที่มีลักษณะข้ามชาติ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ องค์การโลกบาลทางเศรษฐกิจ และหน่วยงานรัฐของประเทศมหาอำนาจ ในการก่อรูปและแพร่ขยายอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ตัวอย่างงานศึกษาในกลุ่มนี้เช่น A Brief History of Neoliberalism ของ David Harvey (2005) หรือบทบาทของชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งกลุ่มทุนเอกชนและผู้ครอบครองอำนาจรัฐ ในการรับมือและปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ให้ตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง ตัวอย่างของงานประเภทนี้เช่น หนังสือรวมบทความชื่อ East Asia and the Trials of Neo-Liberalism ที่มี Kevin Hewison และ Richard Robison เป็นบรรณาธิการ โดยเล่มนี้เน้นถึงการปรับตัวของชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกที่ต้องปรับแนวทางเศรษฐกิจให้เดินตามอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ในช่วงหลังวิกฤติการณ์การเงินเอเชียใน ค.ศ. 1997

หากไม่ทำการศึกษาชนชั้นนำ งานศึกษาจากนักวิชาการปีกซ้ายในหลายวาระวาดภาพให้สามัญชนที่ดิ้นรนในสังคมกลายเป็นเหยื่อที่ถูกแนวคิดเสรีนิยมใหม่ลดทอนให้กลายเป็นสินค้าแรงงานราคาถูกเท่านั้น เช่น งานที่ศึกษาสภาพชีวิตของแรงงานเปราะบางในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ในอีกนัยหนึ่ง งานศึกษาเรื่องเสรีนิยมใหม่ให้ภาพสามัญชนในฐานะกลุ่มทางสังคมที่รอเผชิญหน้ากับวิบากกรรมจากชนชั้นนำผู้ออกแบบและผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นบทบาทของกลไกตลาด โดยมักบรรยายไปในทิศทางของการสร้างเงื่อนไขให้ชีวิตทางเศรษฐกิจของสามัญชนมีความผันผวนและเปราะบางรุนแรงขึ้น ผ่านการกำหนดและใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่จากเบื้องบน

ในทางตรงกันข้าม งานศึกษาของ Elias และ Rethel ในประเด็น ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองในชีวิตประจำวัน (Everyday Political Economy – EPE)’ และ ‘เสรีนิยมใหม่จากเบื้องล่าง (Neoliberalism from Below)’ ได้ฉายภาพสามัญชน ทั้งผ่านมโนทัศน์ของ ‘ตัวแสดงประจำวันที่มีสถานะเป็นผู้กระทำการ’ หรือ ในงานของ Gago ได้ทำให้เห็น ‘ความเป็นองค์ประธานที่มีลักษณะมหาชน (popular subjectivities)’ โดยมองสามัญชนในฐานะกลุ่มที่มีความสามารถทั้งต่อต้านและแสวงหาประโยชน์จากนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มสามัญชนจึงนำไปสู่การก่อตัวของระบบเสรีนิยมใหม่ในรูปแบบที่มีหน้าตาและคุณลักษณะต่างไปจากภาพอุดมคติของชนชั้นนำที่เป็นผู้ส่งนโยบายเสรีนิยมใหม่ลงมายังเบื้องล่าง  

สามัญชนจึงไม่ได้เป็นเพียงเหยื่อของการพัฒนาตามแนวทางอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ที่ทิ้งพวกเขา/เธอไว้ข้างหลังหรือเผชิญกับการแย่งชิงทรัพยากรเพื่อสะสมความมั่งคั่งของกลุ่มชนชั้นนำ แต่สามัญชนมีความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ในการประสาน ‘การเมืองประจำวัน’ ซึ่งครอบคลุมท่าทีหลายอย่าง ทั้งยอมรับ แข็งขืน และต่อต้าน การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ และมี ‘ชีวิตประจำวัน’ ซึ่งเป็นกิจวัตรที่เปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ 

ในอีกนัยหนึ่ง สามัญชนเหล่านี้ได้ทำการปรับตัวเองให้กับระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับบ่อนเซาะกรอบมาตรฐานที่วางอยู่บนอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ผ่านการผนวกเอาชุดการปฏิบัติและความรู้แบบอื่นๆ เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ดังในกรณีของกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่พบเจอกับการเกิดขึ้นของนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผสมผสานอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นกลไกตลาดให้เข้ากับแนวคิดการพัฒนานิยมแนวใหม่ (neo-developmentalism) โดยรัฐมีบทบาทแทรกแซงระบบเศรษฐกิจโดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรรสวัสดิการและบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานให้แก่พลเมือง การผสมผสานดังกล่าวเป็นผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและการเดินขบวนประท้วงแของกลุ่มสามัญชนที่ถูกริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิตจากนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ปิดกั้นการเข้าถึงบริการสาธารณะบางประการ เช่น การสร้างน้ำประปาสะอาดจากประชาชน เนื่องจากการแปรรูปฯ ทำให้บริการเหล่านี้มีราคาที่สูงขึ้นถึงระดับที่สามัญชนไม่สามารถเข้าถึงได้   

ยิ่งกว่านั้น การเคลื่อนสมมติฐานการมองสามัญชนในฐานะกลุ่มทางสังคมที่ถูกกระทำจากนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ไปสู่ผู้กระทำการ เผยให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘เสรีนิยมใหม่จากเบื้องบน’ ที่สะท้อนถึงอุดมคติและผลประโยชน์ของกลุ่มชั้นนำ ทั้งเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่และผู้จัดการกลไกรัฐ และ ‘เสรีนิยมใหม่จากเบื้องล่าง’ ที่สะท้อนถึงยุทธวิธีและการดิ้นรนของสามัญชน

ปฏิสัมพันธ์ของเสรีนิยมใหม่ทั้งสองทิศทางนี้นำไปสู่การสร้างความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจที่ต่างกันออกไปแต่ละพื้นที่ เช่น กรณีในการจัดการกลุ่มทรัพยากรมนุษย์ที่มีพรสวรรค์เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนบนฐานของความรู้ที่ไม่ประสบความความสำเร็จนักในประเทศมาเลเซีย โดยการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มพรสวรรค์สะท้อนอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ที่ต้องการผลักให้ประเทศในฐานะหน่วยการผลิตเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการแปลงมนุษย์เป็นทุน และในขณะเดียวกัน รัฐบาลมาเลเซียต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคมที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรมผ่านการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่ม ‘บุตรของแผ่นดิน (Bumiputera – Children of the land)’ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีเชื้อสายมลายู ส่งผลให้กลุ่มคนเชื้อสายจีนและอินเดียในมาเลเซียไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ผูกกับทรัพยากรของรัฐ นโยบายเสรีนิยมใหม่แบบมาเลเซียในด้านของการจัดการแรงงานจึงมีด้านของการแปลงทรัพยากรมนุษย์เป็นทุนไปพร้อมกับการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ 

แต่นโยบายเสรีนิยมเบื้องบนจากมาเลเซียได้รับการท้าทายจากสภาวะความเป็นจริงแบบเสรีนิยมใหม่จากเบื้องล่าง โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่เชื้อสายมลายูที่จำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกชีวิตในรูปแบบของการศึกษาที่ดำเนินโดยภาคเอกชนและการหางานในต่างประเทศ ทางเลือกในชีวิตดังกล่าวไม่สามารถปรากฏขึ้นได้ หากรัฐบาลมาเลเซียไม่อนุญาตให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรบริการทางการศึกษาไปพร้อมกับการเปิดเสรีให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนของรัฐชาติได้ 

สภาวะการปะทะกันของเสรีนิยมใหม่จากเบื้องบนที่เจือปนอุดมการณ์มลายูนิยมและเสรีนิยมใหม่จากเบื้องล่างก่อรูปจากการกระทำของกลุ่มคนเชื้อชาติที่ไม่ถูกนับเป็นบุตรของแผ่นดินส่งผลให้ความพยายามในการเขยิบฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซียไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะรัฐบาลไม่สามารถใช้มาตรการดึงกลุ่มแรงงานพรสวรรค์กลับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานกลุ่มนี้ไม่มั่นใจในอนาคตทางสังคมและเศรษฐกิจของลูกหลานตนเองที่ต้องเผชิญกับการจัดสรรสวัสดิการและการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ใช้สังกัดชาติพันธุ์เป็นเกณฑ์

นอกจากการผสมผสานชุดปฏิบัติการทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน การศึกษาระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่จากสามัญชนที่อยู่เบื้องล่างหรือกิจกรรมการเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันยังแสดงความพร่าเลือนของเส้นแบ่งระหว่างปริมณฑลทางเศรษฐกิจและปริมณฑลทางสังคมกับการเมือง โดยความพร่าเลือนนี้ดำรงอยู่ทั้งในการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่เฉพาะเจาะจงและการข้ามแดนทรัพยากรข้ามพรมแดน ดังปรากฏในกรณีของตลาด La Salada ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดขายของผิดกฎหมาย เช่น สินค้าเลียนแบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ โดยตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งรวมกลุ่มผู้คนอพยพจากประเทศในอเมริกาใต้ที่เข้ามาแสดงบทบาททั้งในฐานะผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาด ผู้ขายสินค้า และผู้ให้บริการตัวกลางทางการเงิน โดยผู้อพยพเหล่านี้แสวงหากำไรจากนโยบายการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายสินค้า ความเข้าใจเกี่ยวกับการไหลเวียนของสินค้า ผู้คนที่มีแหล่งกำเนิด และจุดหมายที่มักตั้งอยู่ในพื้นที่ของรัฐชาติที่ต่างกัน 

การดำรงอยู่ของตลาด La Salada ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับพื้นที่เศรษฐกิจอื่น เช่น ตลาดในสถานที่อื่น หรือโรงงานผลิตสินค้าเลียนแบบเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงเข้ากับที่อยู่อาศัยของสามัญชนที่ทำหน้าที่ผลิตซ้ำทางสังคม เช่น การสร้างและรักษาสภาพของกำลังแรงงาน และการปกป้องสวัสดิการของสามัญชนด้วยทรัพยากรของชุมชน ในสภาวะที่พวกเขา/เธอไม่สามารถเข้าถึงบริการจากกลไกตลาดและไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมจากรัฐบาล เนื่องด้วยผู้คนเหล่านี้ล้วนทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่ได้อยู่ในการกำกับของรัฐอย่างเต็มรูปแบบ 

โดยสรุปแล้ว ตลาด La Salada แห่งนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่หรือกิจกรรมในปริมณฑลทางเศรษฐกิจเพียงถ่ายเดียว แต่ยังต้องพึ่งพาความรู้ทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เช่น พฤติกรรมการเคลื่อนย้ายทรัพยากรของสามัญชนแต่ละกลุ่ม และการดำรงอยู่ของพื้นที่ทางสังคมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของกลไกตลาด โดยเฉพาะครัวเรือนและชุมชน กรณีของการศึกษาของตลาดแห่งนี้ผ่านแนวทางการศึกษาสภาวะเสรีนิยมใหม่ในชีวิตประจำวันของสามัญชนที่อยู่เบื้องล่างสร้างความตระหนักว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในโลก ไม่เว้นแต่ภายในระบบที่อ้างว่าขับเคลื่อนโดยอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ไม่สามารถดำเนินไปด้วยกลไกตลาดที่อ้างอิงกับหลักอุปสงค์และอุปทานในปริมณฑลทางเศรษฐกิจได้เพียงประการเดียว แต่ระบบเศรษฐกิจล้วนต้องการโอบอุ้มจากปริมณฑลทางการเมืองและสังคมเสมอ อย่างน้อยที่สุดในเรื่องของการสร้างและรักษากำลังแรงงานที่ได้รับความดูแลจากครัวเรือนและชุมชนอย่างปราศจากต้นทุนทางการเงิน

จากกรณีข้างต้น ผู้อ่านคงรับรู้ว่าการศึกษาในแนวทางขั้นต้นจึงต่างกับการศึกษาแบบ RIPE ที่เน้นบทบาทของชนชั้นนำหลากหลายกลุ่มที่ทั้งร่วมมือและขัดแย้งกันในกระบวนการผลักดันนโยบายเสรีนิยมใหม่ โดย RIPE เน้นการใช้องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงมาร์กซิสต์เป็นหลัก ในขณะที่งานศึกษาในทำนอง EPE ผนวกเอาการศึกษามานุษยวิทยาเชิงสังคมและภูมิศาสตร์มนุษย์เข้ามาเพื่อฉายภาพของการต่อรองและต่อต้านของกลุ่มสามัญชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ไร้อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีต่อการดำรงอยู่ของนโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ เพราะสาขาวิชาทั้งสองช่วยเติมเต็มภาพของสามัญชนที่มีความสามารถเป็นผู้กระทำการลงไปในการวิเคราะห์สภาวะทางเศรษฐกิจ  

ในท้ายที่สุดทั้งงานของ Elias กับ Rethel และงานของ Gago ชี้ให้เราเห็นว่า ถึงแม้นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่อาจแตกต่างกันออกในแต่ละสังคมได้ทำการตีกรอบกิจกรรมและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มสามัญชนที่ขาดแคลนทั้งอำนาจทางการเมืองและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ กลุ่มสามัญชนเหล่านี้ใช้ความสร้างสรรค์และทุนรอนของตนเองในการต่อต้านและปรับเปลี่ยนลักษณะของระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนภายใต้นโยบายเสรีนิยมใหม่ โดยการต่อต้านและปรับเปลี่ยนได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างปริมณฑลทางเศรษฐกิจและปริมณฑลทางการเมืองกับสังคมพร่าเลือนขึ้น อันเป็นสภาวะที่ท้าทายสมมติฐานขั้นพื้นฐานของอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อมั่นในเงื่อนไขที่มีการแยกขาดกันของปริมณฑลทางเศรษฐกิจและปริมณฑลอื่นอย่างชัดเจน 


เอกสารอ่านเพิ่มเติม

Elias, Juanita and Lena Rethel. 2016. eds. The Everyday Political Economy of Southeast Asia. Cambridge: Cambridge University Press. 

Gago, Veronica. 2017. Neoliberalism from Below: Popular Pragmatics and Baroque Economies. Trans. By Liz Mason-Deese. Durham, N.C.: Duke University Press.

References
1 นักวิชาการในฝั่ง ‘ปีกขวา’ มักหลีกเลี่ยงแนวทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการจำกัดอำนาจรัฐในการแทรกแซงกิจการทางเศรษฐกิจโดยตรงเพื่อส่งเสริมการทำงานของกลไกตลาดและภาคเอกชนว่า เสรีนิยมใหม่ แต่พวกเขามักเรียกแนวทางเศรษฐกิจข้างต้นว่า ‘เสรีนิยม (Liberalism)’ หรือ ‘ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus)’

MOST READ

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save