fbpx

เมื่อ ‘ชายแท้’ กลายเป็น ‘ชายแทร่’: จากเฮมิงเวย์ถึงนักสื่อสารวิทยาศาสตร์

ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือการที่คำว่า ‘ชายแท้’ ถูก ‘พลิก’ ความหมายเชิงวัฒนธรรม จากแง่บวกอย่างสุดๆ กลายมาเป็นคำที่มีนัยทางลบ และที่สุดก็ถูกประชดประชันด้วยการเรียก ‘ชายแท้’ ว่าเป็น ‘ชายแทร่’

ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ ‘ความเป็นชายแท้’ ซึ่งหมายรวมไปถึงค่านิยมการเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ หรือเป็นผู้ชายต้อง ‘อกสามศอก’ คือ ต้องแข็งแกร่ง เหยียดความอ่อนแอ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ถูก ‘พลิกความหมาย’ มานานแล้ว โดยเฉพาะในงานเขียนของนักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ชายเหนือชาย’ หรือเป็น ‘ชายแท้ผู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ’ อย่าง เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)

เฮมิงเวย์ คือ นักเขียนรางวัลโนเบลผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของงานสุดแสนจะ ‘แมน’ อย่าง The Old Man and the Sea และงานอื่นๆ อีกมาก เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนชั้นยอดที่มีความลึกซึ้ง ลุ่มลึกทางปัญญาและนำพามนุษยชาติให้ขบคิดถึงปัญหาทางปรัชญาใหญ่ๆ หลายเรื่อง ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง

อย่างไรก็ตาม ในบทความ ‘ผู้หญิงของเฮมิงเวย์’ โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้พยายาม ‘ตีแตก’ หรือ ‘ถอดรื้อ’ อำนาจแบบเฮมิงเวย์ในยุคที่ ‘สตรีนิยม’ เรืองอำนาจมากขึ้น – ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

กระแสความคิดสตรีนิยมยังได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและชำระการจัดทำเนียบวรรณกรรมชิ้นเอกใหม่ เนื่องจากในประวัติศาสตร์วรรณกรรมศึกษาที่ผ่านมา ผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกส่วนใหญ่ล้วแล้วแต่เป็นงานของ “นักเขียนผู้ชาย ผิวขาว เชื้อสายแองโกลแซ็กซอน นิกายโปรแตสเตนท์ที่ตายแล้ว” (Dead White Angle-Saxon Protestant หรือ WASP Male Authors) และมีงานของสตรีน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นสตรีผิวขาวหรือสีผิวอื่น หรือสตรีที่นับถือศาสนาอื่น

เฮมิงเวย์ได้รับการยกย่อง เพราะงานของเขานำเสนอแนวคิดในการ ‘มีชีวิตอยู่’ แบบผู้ชายๆ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ความพ่ายแพ้ และแม้กระทั่งความตาย งานอย่าง ‘The Old Man and the Sea’ เป็นตัวอย่างสำคัญยิ่งที่มนุษย์ (ผู้ชาย) คนหนึ่ง ต้องพยายามเอาตัวรอดด้วยการต่อสู้กับธรรมชาติรอบตัว (แถมตอนสุดท้ายยัง ‘ชนะ’ อีก) ทำให้มนุษย์ (ผู้ชาย) เกิด ‘ความสง่างามภายใต้แรงกดดัน’ ขึ้นมา จนมีวลีอมตะที่ว่า ‘มนุษย์ถูกฆ่าได้ แต่จะไม่มีวันพ่ายแพ้’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘ลูกผู้ชายกล้าแกร่ง’ ที่มีลักษณะ ‘เหนือมนุษย์’ ทั่วไป จนอาจเรียกว่าเป็น ‘อภิมนุษย์’ ที่เป็น ‘ต้นแบบ’ ให้กับ ‘ผู้ชาย’ ทั่วไปก็เห็นจะได้

โดยนัยนี้ เฮมิงเวย์ (ซึ่งเป็นผู้สร้างตัวละครที่มีลักษณาการ ‘เหนือมนุษย์แต่ยังเปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์’ – อันอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘อารมณ์ฟูมฟาย’ แบบ ‘ชายแท้’) จึงเคยถูกมองราวกับเป็น ‘เทพ’ ในวงการวรรณกรรมยุคหนึ่ง

ต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้ด้วยว่า ความเป็น ‘เทพ’ ที่ว่านี้ ถ้ามองด้วยแว่นตาของมานุษยวิทยา ก็จะบอกได้ว่าเป็นลักษณะร่วมของ ‘หัวหน้าเผ่า’ ในยุคโบราณที่เก่งกล้าในการรบ สามารถปกปักรักษาเผ่าของตนให้รอดพ้นมาได้ จนถูกสมมติให้มีสถานะเหนือขึ้นไปกว่าแค่หัวหน้าเผ่า และมีลักษณะเป็น ‘เทพ’ คือเหนือมนุษย์ อีกทั้งเทพจำนวนหนึ่งสามารถสืบทอดเชื้อสายความเป็นเทพผ่านน้ำอสุจิมายังรุ่นลูกรุ่นหลานได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เทพระดับเฮมิงเวย์ยังไม่ได้ ‘เทพ’ ถึงขั้นนั้น แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า วิถีชีวิตของเฮมิงเวย์นั้นผิดแผกแตกต่างไปจากคนทั่วไป เขาเดินทางมาก ผจญภัยมาก ทำเรื่องเสี่ยงตายมาก ในสายตาของ ‘สังคมนิยมชายแท้’ เฮมิงเวย์จึงเก่งกาจเหนือมนุษย์ทั่วไป

ที่จริงแล้ว การยกย่องคนอย่างเฮมิงเวย์ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าหากการยกย่องนั้นจะไม่ได้ฝังตัวอยู่กับลักษณะทางเพศแบบหนึ่ง และ ‘เหยียด’ ลักษณะทางเพศแบบอื่นๆ ที่สำคัญคือ สังคมนิยมชายแท้มักยกย่องคนที่มีสถานะเป็นเทพกลายๆ อย่างเฮมิงเวย์แบบเหมารวมไปหมดจนเกิดภาพแบบ ‘คิดไปเอง’ ว่าคนเหล่านี้เป็นประดุจเทพที่ไม่มีวันทำอะไรผิดได้เลย สุดท้ายจึงขาดมุมมองในบางมิติที่ต้องการการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหมือนกัน

เมื่อเกิดกระแสสตรีนิยมขึ้นมา งานของเฮมิงเวย์ที่เคยได้รับการยกย่องอย่างเดียว ก็เริ่มเกิดมุมมองใหม่ๆ เข้ามาปะทะ ก่อเกิดผลสะเทือนรุนแรงต่อการศึกษาและ ‘ประเมินค่า’ งานของเฮมิงเวย์ ผู้เคยที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ยักษ์ใหญ่’ ในวงการวรรณกรรม

การวิพากษ์แนวสตรีนิยมมองว่า งานของเฮมิงเวย์มีลักษณะ ‘เหยียดหยามผู้หญิง’ อย่างโจ่งแจ้ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นงานที่มีแนวคิด รังเกียจผู้หญิง หรือ Misogynism ให้เห็นชัดเจน มีผู้วิเคราะห์ว่า ผู้หญิงในงานของเฮมิงเวย์ที่ปรากฏอยู่ สามารถสรุปได้เพียง 5 ลักษณะเท่านั้น คือเป็นแม่ นางพยาบาล เด็กสาว หญิงชั่ว และปีศาจ ซึ่งแปลว่าผู้หญิงมีหน้าที่ให้กำเนิดในรูปของแม่ คอยช่วยเหลือผู้ชายในรูปของนางพยาบาล บำเรอความสุขทางกายและสายตาในรูปของเด็กสาว ส่วนที่เหลืออีกสองบทบาทคือความชั่วร้ายในชีวิตผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นหญิงชั่วหรือปีศาจก็ตาม โดยบางงานก็นำลักษณะต่างๆ มาผสมปนเปกัน เช่นเป็นแม่กับหญิงชั่ว เป็นนางพยาบาลกับโสเภณี ฯลฯ และที่ไปไกลที่สุดก็คือคำกล่าวของนักวิชาการวรรณกรรมอเมริกันคนสำคัญอย่าง เลสลี ฟีลดเลอร์ (Leslie Fieldler) ที่ว่า – ในหนังสือของเฮมิงเวย์ไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว!

ถ้ามองย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้านี้ การวิจารณ์เฮมิงเวย์เช่นนี้แทบจะเป็นเรื่องเหนือจินตนาการเลย เพราะเฮมิงเวย์ได้รับการยกย่องสูงมาก ในขณะที่งานของนักเขียนหญิงจำนวนมาก กลับถูกด้อยค่าอย่างไม่น่าเชื่อ

ในงานเขียน ‘ผู้หญิงของเฮมิงเวย์’ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เขียนเอาไว้ว่า – งานเขียนเรื่อง ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ (Uncle Tom’s Cabin) ของแฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ (ซึ่งเป็นนักเขียนหญิง) ถูกมองว่าเป็นแค่งานเขียนระดับรอง เพราะเนื้อหามีลักษณะ ‘ฟูมฟายทางอารมณ์’ มากเกินไป จนขาดความลุ่มลึกทางปัญหา รวมไปถึงงานอย่าง The Awakening ของเคท โชแปง และ The Yellow Wallpaper ของชาร์ล็อต เพอร์กินส์ กิลแมน ด้วย งานเหล่านี้เป็นงานที่ ‘ถูกมองข้าม’ โดยสังคมนิยมชายแท้ – เพราะบรรทัดฐานการอ่านและการตีความที่ใช้นั้นมีความลำเอียงทางเพศอยู่

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเรา ‘ตกจมอยู่ในความลำเอียงทางเพศ เราจะไม่มีวัน ‘เห็น’ ความลำเอียงทางเพศนั้นได้กับตาตัวเองหรอกครับ!

กรณีของ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ที่ถูกกล่าวหาว่า Abuse หรือ Gaslight หรือบางคนก็ใช้คำว่า ‘ละเมิด’ หรือ ‘คุกคาม’ ผู้อื่น (ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องแบบนี้ยากจะหาหลักฐานชัดเจนอื่นใด นอกจากคำกล่าวหาและประจักษ์พยานเท่านั้น – และกลับกัน การหาหลักฐานยากนี้ ก็อาจก่อให้เกิดอาการ ‘ตำหนิเหยื่อ’ หรือ ‘Victim Blaming’ อันเป็น ‘อาวุธ’ ที่สังคมนิยมชายแท้ชอบใช้ด้วยเช่นกัน) ผมรู้สึกว่ามีอะไรคลับคล้ายกรณีของเฮมิงเวย์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมองเรื่องนี้ด้วยกรณีของความเป็น ‘เทพ’ ที่เป็น ‘ชายแท้’

อย่างแรกสุด ถ้าเราพูดคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ขึ้นมา เราจะพบว่าคำนี้ไม่ได้เป็นคำที่อยู่โดดๆ หรือหมายความถึงศาสตร์หนึ่งที่อยู่ในระนาบเดียวกับศาสตร์ทั้งหลายในโลก แต่ ‘วิทยาศาสตร์’ มีนัยที่แฝงไปด้วย ‘อำนาจ’ อันสูงส่งอยู่ เนื่องจากวิทยาศาสตร์ถือเป็น ‘ศาสตร์แห่งความจริง’ หรืออย่างน้อยก็เป็นศาสตร์ที่พยายาม ‘แสวงหาความจริง’

แต่ปัญหาของ ‘ความจริงทางวิทยาศาสตร์’ คือ มันไม่ใช่ความจริงที่ง่ายดายเลย หลายความจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเหนือล้นพ้นปัญญาของคนส่วนใหญ่ คนทั่วไปจึงไม่ค่อยจะเข้าใจคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ ยิ่งถ้าเป็นศาสตร์ที่ซับซ้อน เช่น ควอนตัมฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ชั้นสูงด้วยแล้วยิ่งเข้าใจได้ยากเข้าไปอีก วิทยาศาสตร์จึง ‘ถูกมอง’ จากคนจำนวนมากว่าเป็นศาสตร์ที่อยู่ ‘เหนือ’ หรือ ‘สูง’ กว่าศาสตร์โดยทั่วไป คนบางกลุ่มถึงขั้นหยิบเอาวิทยาศาสตร์ไปทาบเทียบกับศาสดาในศาสนาพุทธ เช่น เขียนหนังสืออธิบายเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าและคำอธิบายโลกของไอน์สไตน์ ซึ่งก็คือการ ‘ทาบเทียบ’ บุคคลสำคัญของโลกสองท่านนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนโดยนัยเลยว่า วิทยาศาสตร์มีอะไรบางอย่างที่ ‘สูงส่ง’ จนอาจเทียบทาบเข้ากับศาสนาและอริยะบุคคลได้!

เมื่อวิทยาศาสตร์มีสถานะที่เหนือกว่าศาสตร์อื่นโดยทั่วไป คนที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ จึงถูกมองว่าเป็นมนุษย์ที่สื่อสารสิ่งที่ ‘ยาก’ กว่าศาสตร์อื่นๆ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ จึงมีลักษณะบางอย่างคลับคล้ายกับ ‘เทวทูต’ ผู้นำสาส์นจากจักรวาลอันซับซ้อนของวิทยาศาสตร์ มา ‘ประทาน’ ให้กับมนุษย์ทั่วไป

ดังนั้น นอกจากวิทยาศาสตร์จะถูกมองว่ามีอำนาจเหนือสังคมทั่วไปแล้ว คนที่เป็น ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ก็ยังถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีสถานะเหนือกว่าคนทั่วไปด้วย เพราะเขา ‘เข้าถึง’ ความรู้ ความงาม ความจริง ในทางวิทยาศาสตร์ที่คนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้ โดยนัยนี้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงมีลักษณะเป็น ‘เทพ’ ที่สามารถสื่อสารกับ ‘องค์แห่งความจริง’ ที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง

 ที่น่าสนใจก็คือ – อย่างน้อยที่สุด ในสังคมไทย เราไม่เคยเห็น ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ชื่อดังที่เป็นผู้หญิงสักเท่าไหร่ ทั้งที่จริงแล้ว ผู้หญิงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์และค้นพบในทางวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ยุคโบราณก่อนหน้าที่วิทยาศาสตร์จะนิยามตัวเองเสียอีก แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นภาพ ‘ผู้หญิง’ กับ ‘วิทยาศาสตร์’ สักเท่าไหร่ หากให้ขุดชื่อผู้หญิงนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาจากสมอง หลายคนอาจนึกถึงเพียง มารี คูรี คนเดียวเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วมีแทบนับไม่ถ้วน

 วิทยาศาสตร์จึงมีเรื่องเพศและเพศสภาพเข้ามาปะปนร่วมด้วยอย่างช่วยไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์เองก็ถูกหล่อหลอมขึ้นรูปมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ – และสังคมนิยมชายแท้ด้วยเหมือนกัน!

กรณีของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์นั้นคลับคล้ายเรื่องของเฮมิงเวย์ เพราะในโลกยุคใหม่ คนที่ถูกมองว่าเป็น ‘เพศหญิง’ ไม่จำเป็นต้องสมาทานยอมรับการ ‘ถูกกระทำ’ อยู่เพียงฝ่ายเดียวอีกแล้ว แต่ทุกคน (ไม่ว่าจะมีเพศหรือเพศสภาพแบบไหน) ไม่จำเป็นต้องจำยอมตกเป็น ‘เหยื่อ’ และสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องตัวเองได้ – แบบเดียวกับที่ขบวนการสตรีนิยมลุกขึ้นมาวิพากษ์งานของเฮมิงเวย์นั่นแหละครับ เราจึงได้อ่าน ‘รายละเอียด’ ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาบ้าง ก่อให้เกิดการถกเถียงกันถึงคำหลายๆ คำ เช่น Abuse, Gaslight หรือล่วงละเมิดและคุกคาม

คำถามสำคัญก็คือว่า การ Abuse, Gaslight หรือล่วงละเมิดและคุกคามนั้น เกิดขึ้นเพราะผู้กระทำ ‘รัก’ หรือ ‘ชอบ’ ในตัวผู้หญิงหรือเปล่า หรือว่าก็คล้ายกับที่เฮมิงเวย์ถูกวิพากษ์ – นั่นคือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องเพราะอาการ ‘รังเกียจเพศหญิง’ (Mysogyny) อยู่ลึกๆ

Misogyny นั้น แปลตรงตัวก็คือ ‘ความเกลียดผู้หญิง’ แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่มีอาการแบบนี้อยู่ในตัวจะต้องลุกขึ้นมาตบตี ทำร้าย หรือไม่คบหาสมาคมกับผู้หญิงเพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะความหมายที่ลึกซึ้งกว่าของ Mysogyny ก็คือการ ‘ปฏิเสธ’ คุณค่าของความเป็นหญิง รวมไปถึงสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นหญิง และสามารถทำสิ่งต่างๆ เพื่อ ‘ลดคุณค่า’ ของความเป็นหญิงได้โดยไม่รู้ตัว

นักมานุษยวิทยาอย่าง เดวิด กิลมอร์ (David Gilmore) เสนอว่า อาการ Mysogyny มีรากอยู่ในความรู้สึกอันขัดแย้ง (Conflicting Feelings) ของผู้ชายที่มีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ นั่นคือผู้ชายจะสืบพันธุ์ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงผู้หญิงในการสร้างเผ่าพันธุ์ และบ่อยครั้งที่ผู้ชาย ‘กลัว’ ว่าผู้หญิงจะมีอำนาจเหนือตัวเอง โดยเฉพาะเวลาที่ตัวเองอ่อนแอ ซึ่งเวลาผู้ชายอ่อนแอ ก็ย่อมต้องการความรัก การดูแล และการปลอบโยนจากคนอื่นๆ (ทั้งหญิงและชาย) เหมือนกัน แต่เมื่อมองว่าลักษณะเหล่านี้เป็นของเพศหญิงเสียแล้ว ก็ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไปเลย (แบบเดียวกับที่เฮมิงเวย์บอกว่าลูกผู้ชายต้องอดทนต่ออุปสรรค ยอมตายแต่ไม่พ่ายแพ้ – อะไรทำนองนั้น)

ดังนั้น เมื่อนำ ‘สมการ’ สองด้านมาประกบกัน ด้านหนึ่งคือการทะนงในความ ‘เหนือกว่า’ ของการเป็น ‘เทพ’ กับอีกด้านหนึ่งคือการรังเกียจเพศหญิงหรือ Mysogyny จนสามารถ ‘ทำอะไรก็ได้’ เพื่อลดคุณค่าของผู้หญิงลง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือการ ‘เหยียด’ ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นการเหยียดอยู่ซ่อนอยู่ใต้หน้ากากความเป็นเทพ และสังคมก็เห็นพ้องต้องกันโดยไม่รู้ตัวว่า – เราสามารถใช้หน้ากากความเป็นเทพอำพรางอาการ Mysogyny ต่อไปได้เรื่อยๆ 

แต่สังคมปัจจุบันไม่ได้เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ‘ชายแท้’ จึงถูกประเมินค่าใหม่จากบรรทัดฐานที่ ‘เสมอภาคทางเพศ’ มากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลย – ที่ ‘ชายแท้’ จะกลายเป็น ‘ชายแทร่’ ที่มีนัยด้านลบแฝงฝังอยู่อย่างที่เห็น!


อ่านเพิ่มเติม

บทความ ‘ผู้หญิงของเฮมิงเวย์’ โดย ผ.ศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

Women Scientists Have the Evidence About Sexism

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save