fbpx

‘สันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นจากปลายกระบอกปืน’: ความฝันและความหวังของเยาวชนชายแดนใต้ที่รอวันผลิบาน

สันติภาพ

นับตั้งแต่กระสุนนัดแรกลั่นออกมาในปี 2547 ณ ปลายด้ามขวานของประเทศไทยเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงไม่มีวี่แววคลี่คลายลง ที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดต่างเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เราจึงได้เห็นการเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอยู่บ่อยครั้ง โดยหวังว่าจะนำมาสู่การแสวงหาสันติภาพในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ส่งผลแค่การเมืองในภาพใหญ่ที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง แต่ยังส่งผลถึงการแก้ปัญหาในชายแดนใต้ที่ถูกปรับเปลี่ยนอย่างมากด้วยเช่นกัน ทั้งเปลี่ยนคณะเจรจาจากพลเรือน มาเป็นคณะทหาร หรือเปลี่ยนการใช้คำจากการเจรจา ‘สันติภาพ’ มาเป็น ‘สันติสุข’ ซึ่งเป็นคำที่รัฐบาล คสช.นิยามขึ้น เพื่อวางกรอบกระบวนการพูดคุยกับผู้มีความคิดเห็นต่างกับรัฐว่า การเจรจาจะไม่พูดคุยเรื่องการเมืองการปกครอง แต่เน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย

การดำเนินการลักษณะเช่นนี้ทำให้การเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างดูจะไม่ราบรื่น จนกระทั่งกลุ่ม ‘บีอาร์เอ็น’ ออกแถลงการณ์ขอยุติการพูดคุยชั่วคราว เนื่องจากต้องการรอรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้ง ส่งผลให้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงเป็นเรื่องคาราคาซังจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตัวละครหลักที่สังคมสนใจในประเด็นดังกล่าวมีแต่ตัวละครในการเมืองภาพใหญ่ อย่างรัฐไทย และกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่หลายครั้งสังคมกลับลืมตัวละครตัวเล็กตัวน้อย อย่างผู้คนที่ต้องอยู่ในพื้นที่ว่าพวกเขาหวังและฝันถึงสันติภาพอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่าง ‘เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ผู้ต้องเติบโตภายใต้สังคมที่มีทั้งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ โดยดวงหทัย บูรณเจริญกิจ ระบุว่าในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2547-2563 มีเด็กเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 243 คน บาดเจ็บ 1,205 คน และพิการ 37 คน

101 พาไปฟังเสียงของเยาวชนชายแดนใต้ซึ่งพวกเขาเองต่างก็มีความหลากหลายทั้งความคิด ความเชื่อ ค่านิยม เพศ หรือศาสนา ว่าพวกเขามีความคิด ความหวัง และความฝันเกี่ยวกับพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ อย่างไร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อรู้ว่าเขาคิดอะไร แต่เพื่อยืนยันว่าเสียงของพวกเขามีคุณค่าที่จะรับฟังอย่างจริงใจ

ภายใต้ความหวังว่า หลังจากนี้เสียงของเยาวชนชายแดนใต้จะไม่ถูกกลบด้วยความรุนแรง และความหวัง ความฝันของพวกเขาจะไม่ถูกกลบด้วยกระสุนปืนและเสียงของระเบิดอย่างเช่นผ่านมา

เมื่อความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดนั้นเกิดอย่างไม่เลือกศาสนา

หากลองตั้งคำถามว่า ‘สาเหตุของปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร’ เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบของใครหลายคนคงหลีกหนีไม่พ้นประเด็นความขัดแย้งทางด้านศาสนา ระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลาม ‘ความขัดแย้งทางด้านศาสนา’ เป็นเหมือนคำอธิบายของรัฐส่วนกลางที่ใช้อธิบายสถานการณ์ชายแดนใต้ และใช้มาอย่างยาวนานกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา จนหลายครั้งรัฐส่วนกลางมองเลยเถิดไปถึงความต้องการ ‘การแบ่งแยกดินแดน’

ฟรอยด์ (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 19 ปี นับถือศาสนาพุทธตั้งแต่กำเนิด หากมองจากจำนวนประชากรแล้วเขาคงถูกนับว่าเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ประโยคดังกล่าวถูกยืนยันผ่านจำนวนนักเรียนในโรงเรียนที่ฟรอยด์กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งฟรอยด์เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ‘คนเดียว’ ในโรงเรียน

“หลายคนมองว่าการเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้นเหมือนกำลังตกอยู่ในความอันตราย แต่ในความจริงนั้นทุกคนต่างหากต่างต้องพบเจอสถานการณ์เดียวกัน เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา พวกเราต่างไม่รู้ว่าใครเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว อย่าบอกว่าผู้ก่อการร้ายมีแต่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทุกศาสนาก็ต่างมีคนดีและไม่ดีทั้งนั้น”

ด้วยฟรอยด์เป็นนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธคนเดียวในโรงเรียน ทำให้มีทหารเข้ามาพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็เข้ามาถามว่ารถที่ฟรอยด์ขับสีอะไร ป้ายทะเบียนอะไร โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับทำให้ฟรอยด์รู้สึกไม่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

“ช่วงสองปีที่ผ่านมา ทหารจะมาเป็นประธานพิธีในงานกิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียน มีครั้งหนึ่งเหมือนพวกเขาคุยกันและรู้ว่าผมเป็นชาวพุทธคนเดียวในโรงเรียน หลังจากนั้นก็ยกทหารเกือบ 20 คนมาเยี่ยมถึงบ้านของผม ผมก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น”

ฟรอยด์ยังเล่าต่อว่า หลายโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักติดกับค่ายทหาร จึงต้องเสียสละพื้นที่ใช้สอยของโรงเรียนให้กองทัพใช้ร่วมกัน แต่หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หนึ่งในเป้าหมายคือพื้นที่ของทหาร ทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่อันตรายด้วย แต่ไม่มีใครสามารถออกมาเรียกร้องได้เพราะพื้นที่ของโรงเรียนหลายแห่งก็เป็นพื้นที่ของรัฐบาล

เมื่อถามถึงความฝันในชีวิตของฟรอยด์ เขาเล่าว่าความฝันของเขาคือการเป็นทหาร เพราะเขาหวังจะเข้าไปเปลี่ยนระบบการทำงานของกองทัพภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“หากถามถึงความฝันของผมวันนี้เหมือนผมอยากเป็นอาชีพที่ผมไม่ชอบ พูดให้เข้าใจคือผมไม่ชอบการทำงานของทหาร ทุกวันนี้เขาอ้างว่าต้องตั้งด่านเพื่อความปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาด่านตรวจมักเลือกปฏิบัติหรือกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่น คุกคามทางคำพูดกับเพศหญิง เป็นต้น ขนาดผมยังเคยโดนคุกคามตอนเข้าไปในด่าน เขาถามผมว่า ‘น้องมีไลน์ไหม ขอเบอร์ได้ไหม’ ผมเลยไม่ชอบการทำงานของทหารและอยากเข้าไปเปลี่ยนระบบดังกล่าว”

สำหรับประเด็นปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ฟรอยด์มองว่าแม้สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนภาคใต้จะมาจากประเด็นเรื่องศาสนา แต่ยังมีสาเหตจากปัญหาอื่น เช่น ความต้องการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น

“เรื่องแบ่งแยกดินแดน ผมไม่เห็นด้วยเพราะผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทุกคนล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน การแบ่งแยกออกเป็นรัฐใหม่อาจจะยุ่งยาก และผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรืออิสลามต่างต้องการอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่อยู่ภายใต้คำว่าประเทศไทย”

ด่านตรวจ – ทหารลาดตระเวน – ความรุนแรง ภาพแห่งความปกติที่ไม่ปกติ

“เด็กในพื้นที่สามจังหวัดส่วนใหญ่ เกือบจะร้อยละ 90 มีฐานะจนมาก ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่ดีเท่าไหร่” – นี่คือสิ่งแรกที่พลอย (นามสมมติ) เล่าให้ฟัง 

พลอย นักศึกษาวัย 25 ปี ตัดสินใจเก็บกระเป๋าจากบ้านเข้ามาในกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจของเธอ เธอตอบทันทีเลยว่า “ครอบครัวของเราไม่ได้มีฐานะที่ดีเช่นกัน”  คำตอบดังกล่าวชวนให้คนฟังรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก เพราะโดยปกติ การมาเรียนในพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่น ย่อมมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการเรียนในพื้นที่ เธอจึงอธิบายต่อว่า การเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ทำให้เธอสามารถหางานทำระหว่างเรียนได้

“แม้ว่าเราอยากเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านจริง แต่ต้องอย่าลืมว่าเราต้องจ่ายค่าเทอม และเรารู้สึกว่าพ่อแม่เราที่เป็นเกษตรกร เขาไม่ได้มีรายได้มากพอจะส่งเสียเราได้ แต่ถ้าเราเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิด มันไม่มีค่าเทอม เราจึงตัดสินใจเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ”

ความแตกต่างหนึ่งที่พลอยรู้สึกหลังออกจากพื้นที่ชายแดนใต้สู่เมืองหลวง คือเธอได้เปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ได้พบผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ช่วงเริ่มแรกนั้นก็ได้ยินคำถามที่บั่นทอนจิตใจ อย่าง “เธอมาจากสามจังหวัด แล้วพกระเบิดมาไหม” หรือแม้กระทั่งเมื่อเธอสมัครงาน บางที่ก็ไม่อนุญาตให้สวมฮิญาบ

“คนอื่นๆ มักมองว่าคนมุสลิมที่มาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่คนทั่วไป” คือความรู้สึกของพลอย หลังจากเข้ามาในพื้นที่อื่น ที่ไม่ใช่ ‘บ้าน’

เมื่อชวนเธอมองย้อนไปยังอดีตที่ผ่านมาก่อนเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่าเธอมีความทรงจำร่วมกับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างไร – “รู้สึกปกติมากเลย” นี่คือคำตอบของเธอต่อคำถาม

“เรารู้แค่ว่ามีด่านเยอะ มีทหารเดินตระเวนตั้งแต่เช้าเป็นภาพแห่งความปกติ หรือบางวันตื่นมาแล้วรู้ว่าเกิดเหตุการณ์การระเบิดที่ตำบล มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแค่นั้น แล้วเราก็ไปโรงเรียนตามปกติ เรารู้สึกว่าความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ในช่วงวัยเด็ก

“คงเป็นเพราะวัยมั้งคะ ตอนเราเรียนมัธยมศึกษา เราก็ไม่ได้สนใจอะไรเลยนอกจากเรื่อง เรียน เรียน และเรียน จนกระทั่งมาเรียนมหาวิทยาลัยเนี่ยแหละ เราได้เข้าร่วมฟังการเสวนา ได้พบเจอผู้คน ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้รู้ว่าในความจริงแล้ว พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้นมีปัญหาเยอะมาก โดยที่เราไม่เคยมองเห็นมันเลย

“หากมองง่ายๆ เรามาอยู่ที่นี่ (กรุงเทพฯ) เราแทบจะไม่เห็นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน หรือการตั้งด่านของทหารเลย แต่พอกลับไปที่บ้าน ทุกอย่างในพื้นที่ชายแดนใต้ก็เป็นภาพเดียวกันกับภาพที่เราเห็นตอนเด็กๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย มิหนำซ้ำด่านทหารอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ”

สำหรับพลอย ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่เพียงปัญหามิติความมั่นคงอย่างเดียว ปัจจุบันเธอยังมองเห็นว่าทรัพยากรในพื้นที่บ้านเกิดของเธอ จากที่อุดมสมบูรณ์กำลังถูกทำให้สูญหายและกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น กล่าวคือเริ่มมีนายทุนที่ใช้ความไม่ปกติภายในพื้นที่เข้ามาหากินและขูดรีดทรัพยากรภายในพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ จนทำให้พื้นที่สามจังหวัดเหมือนถูกครอบโดยอำนาจที่มองไม่เห็นภายใต้ข้ออ้างเพื่อ ‘ความมั่นคงของรัฐ’

เมื่อถามถึงความฝันของพลอย เธอเล่าว่า ‘นักวิจัยทางการเกษตร’ คือความฝันทางอาชีพการงานของเธอ เพราะครอบครัวทำอาชีพเป็นเกษตรกร เธอไม่คาดหวังอะไรนอกจากได้ทำงานในพื้นที่และมีรายได้มั่นคงเท่านั้น แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้น ก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากภายในพื้นที่สามจังหวัดไม่ได้มีองค์กรหรือบริษัทรองรับให้คนในพื้นที่ทำงานอย่างเพียงพอ

“เราอยากกลับไปทำอะไรก็ได้เพื่อให้พ่อและแม่ไม่เหนื่อย ทุกวันนี้เริ่มกลับมาทบทวนแล้วว่า หรือต้องหางานทำที่กรุงเทพฯ เก็บเงินให้ได้ก้อนหนึ่งแล้วจึงกลับไปอยู่บ้าน เหมือนกับหลายๆ คนที่ทยอยขึ้นมาทำงานในกรุงเทพมหานครมากขึ้น เยาวชนสามจังหวัดต้องดิ้นรนตัวเองเพื่อให้ตนเองมีเงินเก็บ”

อย่างไรก็ตาม พลอยยังมีความหวังในการเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่าน‘พลังของเยาวชน’ เธอมองว่าปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ต่างเจ็บปวดจากที่ผ่านมา ส่งผลให้พวกเขาเริ่มตื่นตัวทางการเมืองและออกมาเรียกร้องสิ่งที่ควรจะเป็นมากขึ้น

“เด็กที่เติบโตมากับความเจ็บปวด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือไม่ ต่างก็มีความรู้สึกร่วมกันว่าเราถูกผลกระทบจากปัญหาสามจังหวัด ภาพของความรุนแรงทำให้พวกเขาฮึดสู้ ไม่นิ่งนอนใจ และไม่ยอมถูกกดขี่จากความไม่ปกติเช่นนี้

“หากวันนี้รัฐไทยยังสร้างบาดแผลภายในพื้นที่ หรือสร้างความเจ็บปวดให้แก่เยาวชนหรือใครก็ตาม เรารู้สึกว่าผู้คนจะฮึดสู้มากขึ้น ต่อให้คุณจะออกแบบกฎหมายอะไรลงมาบังคับใช้ในพื้นที่ พวกเขาก็จะลุกขึ้นสู้พวกคุณอยู่ดี” พลอยกล่าว

สันติภาพ’ ไม่สามารถแยกออกจากเรื่อง ‘เพศ’ ได้

ที่ผ่านมาแม้จะมีการเรียกร้องเพื่อคืนสิทธิให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งความพยายามสร้างความตระหนักรู้เรื่องเพศ หรือการเรียกร้องกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เหมือนเป็นเครื่องยืนยันถึงการเปิดกว้างของสังคมไทย แต่อาจจะไม่ใช่ในพื้นที่อย่างสามจังหวัดชายแดนใต้

“ตอนเราเรียนอยู่ชั้นม.1 เราไม่รู้ว่าบรรยากาศโรงเรียนนี้เป็นอย่างไร แต่พอเข้าไปในห้องเรียน ครูบอกเพื่อนเราว่า อย่าไปคบกันพวกนี้นะ เขาชี้หน้าเราแล้วบอกว่า พวกนี้คือพวกนรก”

‘พวกนรก’ ‘กลัวติดเชื้อ’ เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์จากคำบอกเล่าของ ซาน (นามสมมติ) ในช่วงที่เขาเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมสามัญควบอิสลาม ที่มีทั้งการสอนวิชาการและศาสนาร่วมกัน

“ช่วงนั้นเรายังไม่รู้ประสีประสาเลยด้วยซ้ำ แต่เราโดนคำพูดเหล่านี้บ่อยมาก บ้างก็บอกไม่ให้เพื่อนมาคบเรา ทำให้เราไม่อยากไปเรียนที่นั่นเลย จนบางครั้งเวลาเราเจออุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) เราก็ต้องแอ๊บแมนใส่เพื่อไม่ให้เขาว่าเรา”

ปัจจุบันซานกำลังเรียนด้านแฟชั่น ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่ เขาเล่าว่าในอนาคตคงทำอาชีพเป็นคนตัดชุดแต่งงาน ซึ่งที่ผ่านมาผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่มักเลือกทำอาชีพดังกล่าว แต่ซานเล่าว่าเพื่อนของเขาหลายคน เมื่อไปทำงาน ไม่ว่าจะแต่งหน้าเจ้าสาวหรือตัดชุด หากพบว่าบ้านนั้นรับไม่ได้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเชื่อตามหลักศาสนาว่าหญิงชายไม่สามารถแตะเนื้อต้องตัวกัน บางคนก็ต้องปลอมตัวโดยการคลุมฮิญาบ และห้ามพูดจาเพื่อไม่ให้ใครจับได้ 

“บางครั้งเราก็ต้องยอมทำเพื่ออาชีพและความเป็นอยู่ของเรา” ซานกล่าว “LGBT ภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หลายคนอาจจะมองว่าต้องใช้ชีวิตยากแน่ๆ เลย แต่ในความจริงแล้วเรากลับใช้ชีวิตได้ปกติมาก แค่บางจังหวะอาจจะมีบางคนมองเราด้วยสายตาสงสัยว่าทำไมแต่งตัวเช่นนี้

“ด้วยรากเหง้าทางศาสนาที่สอนว่าการเป็นเช่นนี้ (LGBT) คือนรก ทำให้ผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดอาจจะไม่ได้เข้าใจเรื่องเพศมากนัก มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พวกเขามาเข้าใจเรา ไม่รู้จะไปบอกเขายังไงเหมือนกันว่าให้มองเราเหมือนที่มองคนอื่นได้ไหม

“สำหรับเรื่องความเชื่อและคำสอนในศาสนา เรามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของเรา หากวันนี้เรากระทำผิด เราจะต้องผิดต่อพระเจ้า ไม่จำเป็นต้องตอบเหตุผลในการกระทำเราต่อมนุษย์

“พระเจ้าบอกว่า บาปใหญ่ที่สุดนั้น พระเจ้ายังสามารถอภัยได้ แล้ววันนี้เราแค่กระทำในสิ่งที่เราชอบ ทำไมพระเจ้าจะไม่สามารถอภัยได้ ดังนั้นการกระทำของเรา เรามีหน้าที่ในการตอบกับพระเจ้า ไม่ใช่มนุษย์” ซานกล่าว

เมื่อถามถึงภาพที่ซานอยากเห็นในพื้นที่ ซานมองว่า สันติภาพไม่สามารถแยกออกจากเรื่องเพศ เพราะผู้คนต้องเห็นหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร หรือศาสนาไหน หากวันนี้เรายังเอาเรื่องเพศมาเป็นตัวชี้วัดกับผู้คนในสังคม ย่อมไม่เกิดการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

จากนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้

“วันหนึ่งเราตื่นเช้าขึ้นมาและกำลังแต่งตัวเพื่อไปโรงเรียน เพื่อนบอกเราว่าไม่ต้องไปโรงเรียนแล้วนะ เราก็ถามกลับไปว่าทำไม เขาตอบกลับมาว่าเพราะโรงเรียนถูกเผา” 

นี่เป็นหนึ่งความทรงจำของ สูฮัยมี ลือแบซา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่เขาเรียกว่า ‘บ้าน’ ซึ่งการตัดสินใจหันเหชีวิตสู่เส้นทางนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในวัย 23 ปี ก็เพราะหวังว่าจะเกิดสันติภาพกลับสู่แดนใต้ได้อย่างแท้จริง

สูฮัยมีเกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ ของพื้นที่บ้านโสร่ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เขาเล่าว่าในชุมชนมักมีเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ความรุนแรงอันเป็นผลมาจากความอยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน จนทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าวตัดสินใจจับอาวุธขึ้นสู้ เรื่องเล่าดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวบ้านกระซิบกระซาบกัน พวกเขาทำได้แค่นั้น เพราะการพูดความคิดเช่นนี้ในพื้นที่สาธารณะเป็นเหมือนการกระทำต้องห้ามในสังคมแดนใต้ หากคุณไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์อะไรกระทบต่อชีวิตของคุณ

“เมื่อไหร่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลอบทำร้าย การยิง ตลอดระยะเวลาที่ผมเติบโตมาจนอายุ 23 ปี ผมคิดว่าเศรษฐกิจภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่มีวี่แววที่จะดีขึ้นเลย และวัยรุ่นเยาวชนที่เติบโตมาในพื้นที่ก็ไม่มีงานรองรับพวกเขาเพียงพอ ทำให้ต้องไปหางานทำที่อื่น สองที่ใหญ่ๆ หนึ่งคือ ประเทศมาเลเซีย เพราะภาษามลายูที่ใช้ในพื้นที่สามจังหวัดและภาษาใช้ในมาเลเซียก็ไม่ต่างอะไรกันมาก ต่อมาคือกรุงเทพฯ

“ครอบครัวของผมเป็นเกษตรกร ทำสวนยางและสวนผลไม้ แน่นอนว่าหากปีไหนที่ราคายางหรือผลไม้ไม่ดี พวกเราได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะครอบครัวต้องพึ่งพาเงินจากการขายยางและผลไม้ ต่างจากครอบครัวที่เป็นข้าราชการซึ่งจะถูกให้เกียรติ ยกย่องจากชาวบ้านภายในพื้นที่ และมีสวัสดิการที่ดี สำหรับข้าราชการนั้น เมื่อราคายาง ราคาปุ๋ยไม่ดี มันไม่กระทบอะไรกับพวกเขา เพราะรายได้หลักของพวกเขามาจากรัฐ คนเหล่านี้จะอยู่ได้ในต่างจังหวัด แต่ชาวบ้านที่เป็นรากหญ้าจริงๆ ชาวบ้านที่ทำอาชีพเกษตรกรนั้นอยู่ยากมาก”

หลายคนมักมองว่าจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คือปี 2547 เพราะเป็นปีที่เกิดทั้งเหตุการณ์เหตุบุกปล้นอาวุธปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ , เหตุการณ์ความรุนแรง ณ มัสยิดกรือเซะ หรือเหตุการณ์ตากใบ แต่สำหรับสูฮัยมีไม่คิดเช่นนั้น

“ปี 2547 เป็นเหมือนเพียงการจุดไฟอีกระลอกหนึ่ง แต่ถามว่าก่อนหน้านั้นมีความไม่พอใจต่อส่วนกลางหรือไม่ คำตอบคือ มี เราจะเห็นได้ว่าความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนในพื้นที่ต่างประสบพบเจอนั้นมันเกิดก่อนหน้านั้นอีก

“รากของปัญหาชายแดนใต้ไม่สามารถแยกออกจากปัญหารากเหง้าในทางประวัติศาสตร์ด้วย ที่ผ่านมารัฐไทยพยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อลบล้างการกระทำของรัฐในอดีตที่ผ่านมา เมื่อไหร่ที่สังคมไม่พูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผลในฐานะบทเรียน และเลือกที่จะปิดบังบาดแผลนั้นไว้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อนั้นความไม่พอใจหรือความเคลือบแคลงสงสัยก็จะอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป”

หากวันนี้พื้นที่ชายแดนใต้ไม่มีความรุนแรง และเขาไม่ต้องออกไปเคลื่อนไหวทางการเมือง สูฮัยมีมองว่าตนคงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น และเต็มที่กับการเรียนมากกว่านี้ เส้นทางชีวิตของสูฮัยมีเปลี่ยนไปพร้อมกับบทบาทใหม่อย่างนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เขาเล่าว่าช่วงเวลานั้นกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 มีเพื่อนชวนขึ้นปราศรัยบนเวทีการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 ณ ท้องสนามหลวง

“ช่วงเวลานั้นเพื่อนโทรมาถามว่าอยากขึ้นปราศรัยไหม อยากสื่อสารประเด็นไหน เราตอบกลับไปว่าอยากสื่อสารเรื่องสามจังหวัด ว่าปัญหาในพื้นที่นี้ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองส่วนกลางได้ และมีหลายความรู้สึกอัดอั้นภายในตัวเราที่มีต่อพื้นที่ชายแดนใต้ตลอด 19 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

“ถามว่ากลัวไหม กลัวสิ เพราะเราอาศัยอยู่ในพื้นที่แบบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงสามารถเล่นงานเราตอนไหนก็ได้ และนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ได้รับสปอตไลต์มากพอเหมือนกับนักเคลื่อนไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจะคุกคาม เขาจะต้องประเมินหน่อย แต่ถ้าเป็นนักกิจกรรมในพื้นที่ ทั้งฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ของรัฐมักเพ่งเล็งพวกเราเป็นพิเศษ

“ฝ่ายความมั่นคงช่วงที่ผ่านมา เริ่มใช้ข้าราชการพลเรือน เช่น นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ามาอยู่ใน กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และใช้กลไกของระบบราชการอย่าง อส. (อาสาสมัครรักษาดินแดน) ที่อยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อติดตามนักเคลื่อนไหวเวลาจัดการชุมนุม”

กล่าวได้ว่าความคาดหวังเกี่ยวกับสันติภาพชายแดนใต้ของสูฮัยมี คือคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย (รัฐไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ) ต้องเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีโดยไม่ใช้อาวุธและความรุนแรง อีกทั้งมองว่าการพูดคุยเจรจาจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้

“เมื่อไหร่ที่ทั้งสองฝ่ายไม่เชื่อในแนวทางสันติวิธี ทั้งใช้อาวุธ ใช้กำลังในการเข้าปราบปรามผู้เห็นต่าง เมื่อนั้นย่อมไม่เกิดสันติภาพ เพราะสันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นจากปลายกระบอกปืน แต่ต้องเกิดขึ้นบนโต๊ะการเจรจา”

นอกจากนี้เขายังเสริมว่า การแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดอย่างระยะยาวต้องทำให้กฎหมายยุติธรรมกับผู้คนทุกกลุ่ม อีกทั้งการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น มีงานทำ เศรษฐกิจดี ผู้คนในพื้นที่ไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่น ทั้งหมดนี้เขามองว่าเป็น ‘สันติภาพที่กินได้’

“รัฐส่วนกลางต้องให้ความยุติธรรมกับผู้คนชายขอบของสังคม ไม่ได้หมายถึงเพียงปาตานีที่เดียว แต่หมายความรวมถึงผู้คนชายขอบกลุ่มอื่นๆ ตามแนวชายแดนที่ห่างไกลของประเทศไทย อยากเห็นรัฐไทยให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมเหมือนคนกรุงเทพฯ นี่คือความใฝ่ฝันสูงสุดของผม” สูฮัยมีกล่าวทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save