“ฎีกาเป็นสรณะ” เป็นวลีหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านก็อาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง โดยเฉพาะนักศึกษากฎหมายระดับเนติบัณฑิตซึ่งเป็นการศึกษากฎหมายภายหลังจบปริญญาตรี โดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางเพื่อรับประกาศนียบัตรเนติบัณฑิตไทย ซึ่งโดยหลักแล้วจะถูกนำไปใช้เป็นคุณสมบัติหนึ่งในการสอบผู้พิพากษาหรืออัยการ โดยวลีนี้ให้ความหมายในทำนองว่า เมื่อใดที่นักศึกษากฎหมายจะต้องวินิจฉัยปัญหาทางกฎหมาย การวินิจฉัยโดยให้คำตอบและเหตุผลทางกฎหมายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกานั้นจะเป็นแนวทางที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการเขียนตอบข้อสอบ การวินิจฉัยด้วยการให้คำตอบและเหตุผลรูปแบบอื่นที่ต่างไปจากคำพิพากษาศาลฎีกานั้นจะทำให้มีโอกาสได้รับคะแนนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ด้วยเหตุนี้ นักศึกษากฎหมายระดับเนติบัณฑิตจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเลือกวินิจฉัยปัญหากฎหมายในข้อสอบด้วยการให้คำตอบและวิธีการให้เหตุผลทางกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้ตนได้รับคะแนนสอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมองดูเบื้องต้นก็คงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทยที่มีหลายท่านวิเคราะห์ให้ความเห็นไปแล้ว[1]
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนยกมานี้สะท้อนถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในวงการการศึกษากฎหมายไทยโดยเฉพาะการศึกษาในระดับเนติบัณฑิตที่มีความคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ META ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการเกมอย่างมีนัยสำคัญ ผู้เขียนจึงเกิดไอเดียในการเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเล่าให้ท่านผู้อ่านมาร่วมวิเคราะห์ปัญหานี้ไปด้วยกันผ่านเลนส์ของวงการเกมที่สามารถสะท้อนถึงปัญหาในการศึกษากฎหมายในระดับเนติบัณฑิตได้อย่างน่าสนใจ
ความหมายของ ‘META’
หากผู้อ่านท่านใดที่คร่ำหวอดกับวงการเกม เป็นเกมเมอร์ หรือเล่นเกมเป็นประจำ (เช่นผู้เขียน) คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับคำว่า META ซึ่งเป็นคำย่อจาก ‘Most Effective Tactics Available’ ที่หมายถึงเทคนิคการเล่นหรือกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเอาชนะตัวเกมหรือผู้เล่นรายอื่น ณ ช่วงเวลานั้น[2] ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การใช้เทคนิคที่เป็น META อยู่ในขณะนั้นเองจึงทำให้ผู้เล่นมีโอกาสได้รับชัยชนะมากกว่าเทคนิคหรือกลยุทธ์อื่นๆ ที่มีอยู่ในเกม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นคนเล่นเกมสามารถเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเกมฟุตบอล Winning Eleven (อันที่จริงเกมฟุตบอลนั้นมีหลายชื่อตามบริษัทผู้ให้บริการหรือจำหน่าย แต่ชื่อนี้ติดปากผู้เขียน)
เกม Winning Eleven เป็นเกมที่ผู้เล่นจะต้องจัดตัวนักฟุตบอลและแผนการเล่นในการเอาชนะอีกฝ่ายนึง ซึ่งตัวนักฟุตบอลและแผนการเล่นทั้งสองสิ่งที่กล่าวมานี้เองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะบอกได้เลยว่าในเกมนั้นผู้เล่นจะชนะหรือแพ้ โดยแม้ว่าผู้เล่นจะมีฝีมือในการใช้จอยสติ๊กควบคุมตัวนักเตะที่อยู่ในเกมดีขนาดไหน แต่ถ้าการจัดทีมของผู้เล่นไม่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นแล้ว ความพ่ายแพ้ก็คงมาเยือนอยู่เนืองๆ และเพื่อให้ตนเองมีโอกาสได้รับชัยชนะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โจทย์ของผู้เล่นเกม Winning Eleven ที่สำคัญก็คือ จะจัดตัวนักฟุตบอลคนไหน ด้วยแผนอะไร ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ผู้เล่นทั้งหลายจึงมีการลองผิดลองถูกกันมากมายปรับแผนปรับนักเตะจนไปถึงจุดหนึ่งที่บันทึกสถิติรูปแบบการจัดทีมที่ดีที่สุด เช่น หากจัดทีมโดยนำ Roberto Carlos ไปยืนตำแหน่งกองหน้าโดยใช้แผน 3-4-3 จะทำให้มีโอกาสชนะ 9 เกม จากทั้งหมด 10 เกม ซึ่งเป็นโอกาสชนะถึง 90% เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อการจัดทีมแบบนี้สามารถแสดงประสิทธิภาพออกมาได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ผู้เล่นคนอื่นที่พบเห็นก็จะจัดตัวนักเตะและแผนการเล่นนี้ copy ตามๆ กันมา เพราะเป็นแผนที่จะทำให้ผู้เล่นมีโอกาสชนะมากที่สุด
สำหรับ META ในบริบทของวงการเนติบัณฑิตไทยนั้นก็คือการที่นักศึกษาจะต้องใช้รูปแบบการให้คำตอบและอธิบายเหตุผลทางกฎหมายในการเขียนตอบข้อสอบที่ทำให้ตนเองได้รับคะแนนสอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในสนามสอบเนติบัณฑิตนั้น การเขียนตอบข้อสอบโดยใช้คำตอบและให้เหตุผลตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ คำพิพากษาศาลฎีกาจึงเปรียบเสมือน META ของวงการเนติบัณฑิตไทย ซึ่งแม้ดูเผินๆ จะเหมือนกับไม่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องอะไรกับ META ที่เกิดขึ้นในวงการเกม แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า ปัญหาจากปรากฏการณ์ META ที่เกิดขึ้นทั้งสองวงการนี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก และผลกระทบจากปัญหานี้จะร้ายแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อเกิดขึ้นในวงการศึกษากฎหมายไทย ดังที่จะได้วิเคราะห์กันต่อไป
ปัญหาของ META จากวงการเกม สู่วงการเนติบัณฑิตไทย
1. ปรากฏการณ์แนวคิดแบบ ‘play to win’ และ การหยุดนิ่งของความคิดสร้างสรรค์
จากตัวอย่างที่ยกไว้ข้างต้น เมื่อผู้เล่นเกม Winning Eleven ทราบแล้วว่าแผน 3-4-3 ที่มี Roberto Carlos ยืนกองหน้านั้นเป็น META ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะจะทำให้มีโอกาสชนะถึง 90% การจัดทีมของผู้เล่นใน community กลุ่มผู้เล่นเกม Winning Eleven ก็จะจัดทีมรูปแบบเดียวกัน ซ้ำๆ มาแข่งกันเอง เล่นผ่านไป 10 เกม ก็เจอแต่ทีม Roberto Carlos แผน 3-4-3 ทุกเกม เพราะหากจัดทีมรูปแบบอื่นๆ จะทำให้มีโอกาสชนะน้อยกว่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องที่เรียกว่า ‘play to win’ ซึ่งความหมายก็ตรงตัวคือเล่นเพื่อชัยชนะอย่างเดียว
การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นี้จึงทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่นในการคิดค้นสร้างทีมด้วยความคิดของตนเองนั้นต้องหยุดนิ่งลง ไม่มีใครอยากจะคิดค้นสูตรการเล่นรูปแบบใหม่ๆ เพราะจะต้องใช้ความอุตสาหะ เวลา และความคิด หรือแม้แต่การเรียนรู้ และรับมือกับความผิดหวังเมื่อแผนที่คิดค้นใหม่ไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ ครั้นไปแข่งกับทีม META ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับความพ่ายแพ้อีก เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว การ copy แผนการสร้างทีมที่เป็น META อยู่ดังเช่นผู้เล่นคนอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้ความคิดเยอะให้ปวดศีรษะจึงเป็นแนวทางที่สะดวกและได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
สำหรับวงการเนติบัณฑิตไทยนั้น ผู้ที่เข้ามาศึกษาต่างก็คาดหวังกับการสอบผ่านเพื่อให้ตนได้ประกาศนียบัตร การศึกษากฎหมายของนักศึกษาเนติบัณฑิตจึงเป็นไปในลักษณะ ‘เรียนเพื่อให้สอบผ่าน’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แนวคิดแบบ ‘play to win’ ที่เกิดขึ้นในการศึกษากฎหมาย และเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกากลายเป็น META ในสนามสอบเนติบัณฑิตแล้ว นักศึกษาก็จะต้องหยุดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการให้เหตุผลทางกฎหมายในแบบฉบับของตนเองและการตั้งคำถามต่อการให้เหตุผลที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาไปโดยปริยาย เพราะการมีความคิดสร้างสรรค์อาจเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณในการสอบครั้งนี้ เพื่อให้ตนเองทำคะแนนในการสอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การ copy คำตอบและการให้เหตุผลตามคำพิพากษาศาลฎีกาจึงดูเป็นหนทางที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำให้ตนไปสู่การสำเร็จการศึกษาและได้ประกาศนียบัตรไป
ทั้งนี้ หากนักศึกษาจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองในการตอบข้อสอบที่ต่างไปจากคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว แม้อาจจะสามารถให้ผลทางกฎหมายที่เป็นธรรมมากกว่าคำตอบและการให้เหตุผลตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็ตาม แต่ก็คงต้องได้รับความพ่ายแพ้ ได้รับคะแนนน้อย หรือสอบตกไป ด้วยเหตุนี้ การฝึกฝนทักษะการคิดการให้เหตุผลอันเป็นทักษะที่สำคัญของนักกฎหมายจึงถูกแช่แข็งในช่วงการศึกษาระดับเนติบัณฑิตไปโดยปริยายและนอกจากนี้ยังทำให้พัฒนาการทางความคิดของนิติศาสตร์ไทยที่ควรจะถูกขับเคลื่อนจากเนติบัณฑิตยสภาที่เป็นสถาบันการศึกษากฎหมายที่สำคัญของประเทศต้องหยุดอยู่กับที่
2. เสน่ห์ของเกมและการศึกษากฎหมายถูกทำลายลง
แม้โดยทั่วไปแล้ว ‘ชัยชนะ’ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นมีความสุขหรือได้รับประโยชน์อะไรบางอย่าง แต่ ‘ความสนุก’ ที่ได้รับจากเกมนั้นเป็นสิ่งทำเกมมีความหมาย แม้เกม Winning Eleven จะเป็นเกมฟุตบอลที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันเพื่อชัยชนะ แต่สิ่งที่ทำให้เกมนี้มีความหมายและความสนุกก็คือการที่ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นผู้จัดการทีมในการใช้ความคิดวางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การจัดทีมเพื่อแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นส่วนที่ดึงความสนุกเพลิดเพลินของเกมออกมาได้อย่างมากที่สุด นับว่าเป็นเอกลักษณ์หรือ ‘เสน่ห์’ ที่เกมประเภทอื่นไม่มี แต่เมื่อปรากฏการณ์ play to win จาก META เกิดขึ้นมาแล้ว เสน่ห์ของเกมก็จะถูกลบหายไปไม่ต่างจากการเล่นเกมประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมต่อสู้ แข่งรถ หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อผู้คนคิดถึงแต่ชัยชนะเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้นึกถึงความหมายของการเล่นเกมเกมนั้น ประสบการณ์ความสนุกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเกมนั้นๆ ก็ย่อมถูกทำลายลงและไร้ความหมาย
เช่นเดียวกับเสน่ห์ของการศึกษากฎหมายที่มีเอกลักษณ์อยู่ตรงที่การขัดเกลาทักษะการคิดวิเคราะห์ปัญหา ค้นหาคำตอบด้วยการให้เหตุผลจากหลักกฎหมายและถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นระบบมีตรรกะ การแสวงหาหนทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและข้อพิพาทระหว่างคู่ความอย่างเป็นธรรมที่อาจไม่มีคำตอบสุดท้ายที่ตายตัว ตลอดจนทักษะการตั้งคำถามต่อทิศทางการปรับใช้หลักกฎหมายที่ควรจะเป็น แต่ความหมายของการศึกษากฎหมายดังกล่าวนั้นได้ถูกทำลายลงจากปรากฏการณ์ META ในการศึกษาระดับเนติบัณฑิต และหลงเหลือแต่เพียง การพยายามตอบตามคำพิพากษาฎีกาเพื่อให้สอบผ่าน นักศึกษาไม่สนใจความหมายของการศึกษากฎหมายที่แท้จริงอีกต่อไป เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พวกเขาได้เป็นเนติบัณฑิตไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่เป็นการใช้เทคนิคในการจดจำและการปรับใช้กฎหมายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเพียงเท่านั้น
3. บ่อน้ำมันแห่งวงการเกมและวงการการศึกษากฎหมาย
เมื่อการเล่นเกมโดยใช้เทคนิคแบบ META เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นมีโอกาสได้รับชัยชนะมากที่สุดแล้ว ก็มีแนวโน้มที่ผู้เล่นทั้งหลายต่างแสวงหาหนทางในการทำให้ตนเองสามารถใช้เทคนิคแบบ META ให้ได้ เพื่อให้ตนเองสามารถต่อกรกับผู้เล่นคนอื่นและยังคงอยู่ใน community เกมนั้นๆ ได้อย่างมีความสุข บริษัทที่เป็นเจ้าของเกมก็ย่อมที่จะต้องใช้โอกาสนี้ในการทำกำไรให้แก่ตนเอง โดยการนำองค์ประกอบหรือปัจจัยต่างๆ สู่การเป็น META มาวางจำหน่าย
ตัวอย่างจากเกม Winning Eleven ทางบริษัทเกมอาจตั้งเงื่อนไขไม่ให้ตัวนักเตะ Roberto Carlos ไปใช้ฟรีๆ หากผู้เล่นอยากได้ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อตัวนักเตะผู้นี้ หรือบางทีก็ใช้ระบบกาชาในการเปิดสุ่มหลายครั้งเพื่อให้ได้ Roberto Carlos ไปยืนตำแหน่งศูนย์กองหน้าของทีม ผู้เล่นที่ยังคงอยากอยู่ใน community เกม Winning Eleven และไม่อยากเป็นผู้พ่ายแพ้ในเกมตลอดไปจึงอาจยอมเสียเงินซื้อนักเตะรายนี้เข้าไปในแผนการเล่น
ปรากฏการณ์ META จึงทำให้ผู้เล่นเป็นเหมืองทองหรือบ่อน้ำมันให้บริษัทเกมเข้ามาขุดเจาะกอบโกยผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากบริษัทเกมเป็นองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการหากำไรอยู่แล้ว การกระทำเช่นนี้จึงไม่มีข้อสังเกตอะไรเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้อยู่ที่การเกิดขึ้นของบ่อน้ำมันในวงการการศึกษากฎหมายในระดับเนติบัณฑิตไทย เพราะเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาได้กลายเป็นสรณะ หรือเป็น META ของการสอบเนติบัณฑิตไปเสียแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการแสวงหากำไรอย่างแนบเนียนจากบุคคลในแวดวงกฎหมายจากเนติบัณฑิตยสภาอย่างน่าเป็นกังวล กล่าวคือมีการนำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ปกปิดไม่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้มาวางจำหน่าย หรือการนำคำพิพากษาศาลฎีกามารวบรวมจำนวนหนึ่งโดยที่ไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์ต่อยอดหรืออธิบายเพิ่มเติมมาขายแก่นักศึกษาเนติบัณฑิต นักศึกษาเนติบัณฑิตผู้อยู่ในกำมือของเนติบัณฑิตยสภานั้น แม้จะมีสิทธิเลือกได้ที่จะซื้อหรือไม่ซื้อคำพิพากษาดังกล่าว แต่ด้วยแรงกดดันความเครียดในการสอบเนติบัณฑิตและเพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบผ่านของตนเอง นักศึกษาก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะซื้อคำพิพากษาดังกล่าวเอาไว้อ่านสอบ เพราะเป็นคำพิพากษาที่วางจำหน่ายโดยผู้บรรยายจากสถาบันเนติบัณฑิตยสภาซึ่งก็อาจมีแนวโน้มนำมาออกข้อสอบได้ ทั้งๆ ที่คำพิพากษาศาลฎีกานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์[3] และควรจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่ายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ความเป็น META ของคำพิพากษาศาลฎีกานี้จึงทำให้เกิดช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลบางกลุ่มที่อยู่ในองค์กรที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรอย่างเนติบัณฑิตยสภา แต่อาศัยโอกาสดังกล่าวในการแสวงหาประโยชน์เข้าสู่ตนเองอย่างน่าเป็นกังวล
บทส่งท้าย
ความเป็น META ของคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกิดขึ้นในวงการเนติบัณฑิตไทยนั้น เป็นสิ่งที่เนติบัณฑิตยสภาควรจะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง การยึดถือแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นธงคำตอบดังที่เป็นอยู่นั้นอาจไม่ใช่แนวทางในการวัดผลการศึกษากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น
ผู้เข้ามาศึกษาเนติบัณฑิตอาจไม่ได้รับการขัดเกลาความรู้ความสามารถอย่างที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจะพึงมีตามปณิธานของสถาบันการศึกษาของกฎหมายและรับไปเพียงกระดาษใบหนึ่งที่เป็นบัตรผ่านสำหรับไปสอบผู้พิพากษาและอัยการเพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นหลักฐานที่ยืนยันความรู้ความสามารถของเนติบัณฑิตไทยแต่อย่างใด
ผู้เขียนเองที่สอบผ่านมาก็จะยังยืนยันคำพูดเดิมที่เคยกล่าวกับกรรมการสอบปากเปล่าเมื่อหลายปีที่แล้ว ตอนที่ท่านถามว่าทำไมถึงมาสอบเนติบัณฑิตว่า “ผมสอบเนติ มาเพื่อวิจารณ์เนติครับ”
↑1 | The101.world, ปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ สร้างนักกฎหมายไทยในโลกสมัยใหม่ |
---|---|
↑2 | Liam Ho, EXPLAINER: WHAT IS A META? |
↑3 | พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 7 บัญญัติว่า สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ. |