fbpx

101 Visual Journal 2023: Photojournalism

‘อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น’ เป็นคำที่ถูกใช้นิยามการชุมนุมของเยาวชนในปี 2563 สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยที่ถึงไม่ได้พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่ก็พูดได้ว่าหลายเรื่องนั้นพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

มาถึงปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองไทยอีกครั้ง เพราะผลการเลือกตั้งหักปากกาเซียน หลายคนคาดการณ์ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งอย่างที่เคยชนะมาตลอด แต่ผลกลับออกมาเกินคาด เมื่อพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ไป 14 ล้านเสียง จุดเปลี่ยนครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์การเมืองไทยครั้งสำคัญที่สะท้อนมวลอารมณ์ของคนไทยได้อย่างดี

แต่ถึงอย่างนั้น เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ง่าย แม้ก้าวไกลเริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลด้วยการเซ็น MOU 8 พรรค แต่ก็ไม่สามารถฝ่าด่าน ส.ว. ไปได้ และ ‘พิธา’ ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีหุ้นไอทีวี สุดท้ายทางบีบแคบลง จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทยกับอีก 10 พรรคร่วม จนต่อมาสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ 

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ทั้งการอดอาหารประท้วงของตะวัน-แบม การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปีของทักษิณ ชินวัตร สถานการณ์โควิด-19 ที่เบาบางลงจนทำให้เมืองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งเห็นได้จากการกลับมาเล่นน้ำสงกรานต์เต็มรูปแบบได้เป็นปีแรก รวมถึงงานบางกอกไพรด์ 2023 ที่มีการจัดยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

101 รวบรวมผลงานภาพถ่ายตลอดปี 2023 ที่บันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง งานสารคดีในหลากหลายประเด็น รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในปีนี้ผ่านสายตาของสามช่างภาพ เมธิชัย เตียวนะ, กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์ และนิติพงษ์ การดี

:: ทักษิณกลับไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี ::

22 สิงหาคม 2566 ท่าอากาศยานดอนเมือง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับถึงประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยทักษิณถูกรัฐประหารจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ระหว่างไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ก่อนจะกลับมาประเทศไทยอีกครั้งต้นปี 2551 และออกไปอีกครั้งช่วงกลางปี สู่การลี้ภัยที่ยาวนานถึง 15 ปี ในวันที่ทักษิณกลับมาหลังการเลือกตั้ง 2566 มีมวลชนเสื้อแดงจำนวนมากมารอให้การต้อนรับการกลับมาของเขา

ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ, กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

:: ปราศรัยใหญ่โค้งสุดท้าย ก่อนเลือกตั้งชี้ชะตาประเทศไทย ::

12 เมษายน 2022 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) พรรคพลังประชารัฐ จัดเวทีปราศรัยใหญ่ โดยมีผู้คนเข้าร่วมฟังอย่างคึกคัก หลายคนโบกธงชาติและป้ายหาเสียงที่ระบุนโยบายพรรคและหมายเลขผู้ลงสมัคร 

วันเดียวกันที่อาคารเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) พรรคก้าวไกลจัดเวทีปราศรัยใหญ่ มีผู้ร่วมเข้าฟังล้นหลาม หลายคนโบกธงสีส้มหรือสวมเครื่องแต่งกายสีส้มซึ่งเป็นสีของพรรค

ด้านพรรคเพื่อไทยจัดปราศรัยใหญ่ ภายใต้ชื่อ ‘เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที’ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยมีไฮไลต์สำคัญคือการขึ้นปราศรัยของแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืน “ปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ 3 ป. คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีไปพร้อมๆ กัน” ในขณะที่เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยอีกคน ปราศรัยขอเป็นนายกฯ และมั่นใจเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ทำให้ ส.ว. ต้องฟังเสียงประชาชน

ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ, กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์, นิติพงษ์ การดี

:: เล่นน้ำสงกรานต์หลังมรสุมโควิดผ่านพ้นไป ::

ช่วงบ่ายของวันที่ 13 เมษายน บริเวณถนนสีลม ตลอดจนถนนข้าวสาร มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติทยอยออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างเนืองแน่น หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 ทำให้การจัดงานสงกรานต์ถูกงดไป นี่จึงเป็นปีแรกที่สงกรานต์กลับมามีชีวิตชีวาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ และ กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

:: บางกอกนฤมิตรไพรด์ 2023: อลังการ 6 ขบวนพาเหรดฉลองความหลากหลาย ::

วันที่ 4 มิถุนายน 2023 คณะทำงานบางกอกนฤมิตรไพรด์ ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศและกรุงเทพมหานคร จัดงานเดินขบวนบางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) โดยปิดถนนตั้งแต่แยกปทุมวันจนถึงบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม

ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ

:: การอพยพครั้งสุดท้าย บาดแผลสงคราม-มรดกเวียดนามในอุดรฯ ::

สารคดีตามรอยมรดกเวียดนามในอุดรธานี เมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เรื่องราวการหนีสงครามเป็นอย่างไร การดำรงชีพให้อยู่รอดในแผ่นดินอื่นเป็นแบบไหน และวัฒนธรรมแบบใดที่ยังหลงเหลือและรุ่มรวยในปัจจุบัน ผ่านเรื่องเล่าของคนไทยเชื้อสายเวียดนามในอุดรฯ

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ที่ https://www.the101.world/viet-kieu-in-udon-thani…/

เรื่อง: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ภาพถ่าย: เมธิชัย เตียวนะ

:: แล่ประวัติศาสตร์จากซี่โครงวัว: ขุดปริศนาการเดินทางของวัวโบราณ 800 ปี ::

ตามรอยการขุดค้นโครงกระดูกวัวโบราณ 800 ปีที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เพื่อสืบหาที่มาและการเดินทางของสายพันธุ์วัวในไทย พร้อมเปิดวิธีทำงานด้านโบราณคดีเพื่อทำความเข้าใจอดีตของมนุษย์ และความยากของการตรวจดีเอ็นเอในกระดูกสัตว์โบราณ

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ที่ https://www.the101.world/800-year-old-cow-bones-in-lopburi/

เรื่อง: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ภาพถ่าย: เมธิชัย เตียวนะ

:: มานิ : วิถีพรานในวารวันที่ป่าเปลี่ยน และชีวิตไร้สิทธิเสียงในเทือกเขา ::

สารคดีว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ ‘มานิ’ ในภาคใต้ เรียนรู้วิถีแบบพรานในวันที่ป่าเปลี่ยนไป การปรับตัวตามยุคสมัย และชีวิตที่เข้าไม่ถึงสิทธิ ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเทือกเขา

อ่านได้ที่ : https://www.the101.world/mani-negrito-in-thailand/

เรื่อง ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

ภาพถ่าย กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

:: “สัญชาติไม่ควรตัดโอกาสทางการศึกษาของใคร” ::

101 พาไปดู ‘โรงเรียนเด็กข้ามชาติ’ ที่มหาชัย พื้นที่เรียนรู้ของลูกแรงงานชาวพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อรัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่กีดกันการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติได้ ภาคประชาสังคมและชุมชนแรงงานข้ามชาติจึงต้องสร้างการศึกษาทางเลือกเพื่อลูกหลานขึ้นมาเอง

อ่านฉบับเต็ม: https://www.the101.world/migrant-children-training…/

เรื่อง: เพ็ญพิชชา มุ่งงาม

ภาพถ่าย: กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

:: ตะวัน-แบม กับการเรียกร้องในเรือนจำด้วยการอดน้ำและอาหาร ::

ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดนคดี ม.112 ถอนประกันตัวเองเพื่อประท้วงถึงความอยุติธรรมของศาล และเริ่มต่อสู้เรียกร้องในเรือนจำด้วยการอดน้ำและอาหาร

“อย่าพูดว่าเสรีภาพที่คุณให้เราคืออิสรภาพที่แท้จริง เพราะอิสรภาพที่พ่วงมาด้วยเงื่อนไขที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพแบบนี้คืออิสรภาพจอมปลอมและลวงหลอก” ตะวันกล่าวก่อนเริ่มอ่านแถลงการณ์ซึ่งมีข้อเรียกร้องไปยังศาลและพรรคการเมือง 3 ข้อดังนี้

ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ


:: ปราศรัยใหญ่โค้งสุดท้าย ก่อนเลือกตั้งชี้ชะตาประเทศไทย ::

12 เมษายน 2022 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) พรรคพลังประชารัฐ จัดเวทีปราศรัยใหญ่ โดยมีผู้คนเข้าร่วมฟังอย่างคึกคัก หลายคนโบกธงชาติและป้ายหาเสียงที่ระบุนโยบายพรรคและหมายเลขผู้ลงสมัคร 

วันเดียวกันที่อาคารเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) พรรคก้าวไกลจัดเวทีปราศรัยใหญ่ มีผู้ร่วมเข้าฟังล้นหลาม หลายคนโบกธงสีส้มหรือสวมเครื่องแต่งกายสีส้มซึ่งเป็นสีของพรรค

ด้านพรรคเพื่อไทยจัดปราศรัยใหญ่ ภายใต้ชื่อ ‘เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ประเทศไทยเปลี่ยนทันที’ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยมีไฮไลต์สำคัญ คือการขึ้นปราศรัยของแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืน “ปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ 3 ป. คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีไปพร้อมๆ กัน” ในขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยอีกคน ปราศรัยขอเป็นนายกฯ และมั่นใจเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ทำให้ ส.ว. ต้องฟังเสียงประชาชน

ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ, กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์, นิติพงษ์ การดี

:: เส้นทางของ MOU จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล-เพื่อไทย ::

หลังจากการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง วันที่ 22 พฤษภาคม พรรคก้าวไกลนำพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวและลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ต่อมาการจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ พรรคเพื่อไทยรับไม้ต่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทย เร่ิมต้นจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ที่ไม่มีก้าวไกล และรวมเสียงกับอีกหลายพรรคจนกลายเป็น 11 พรรคร่วมรัฐบาล ได้มา 314 เสียง จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ

:: เส้นทางของก้าวไกลหลังเลือกตั้ง กับฝันที่ไม่เป็นจริง ::

15 พฤษภาคม 2566 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พรรคก้าวไกลขอบคุณประชาชนด้วยการจัดขบวนรถแห่ โดยขบวนวิ่งบนถนนราชดำเนิน วนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสองรอบ ไปยังสนามหลวงแล้วมุ่งตรงไปยังลานคนเมือง โดยมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคักหนาตา ส่วนใหญ่แต่งกายและผูกโบสีส้มอันเป็นสีประจำพรรคก้าวไกล

ต่อมา 13 กรกฎาคม 2023 ที่บริเวณศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร มีประชาชนมาร่วมชุมนุมและเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างคับคั่ง โดยมีเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีเมื่อ ส.ส. และ ส.ว. ลงคะแนนเสียงเลือกให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย และมีเสียงก่นด่าเมื่อมีผู้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบหรืองดลงคะแนนเสียงตลอดระยะเวลาการนับคะแนน 

กระทั่งในเวลา 18.00 น. เมื่อมีการประกาศผลว่าพิธา ไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากมติเสียงไม่ผ่าน ทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างมาก

ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save