fbpx

ขาลง ‘กาแฟไทย’ วิกฤตครั้งใหญ่ที่ขมกว่ารสชาติกาแฟ

ใครที่ติดตามข่าวสารวงการกาแฟไทยอยู่บ้าง คงพอทราบว่าระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาคือ ‘ขาลง’ ของกาแฟไทยอย่างแท้จริง และถือเป็นขาลงที่ว่ากันว่าทั้งเร็วและแรงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผลผลิตเมล็ดกาแฟอาราบิก้าแต่ละสวนที่ลดลงถ้วนหน้าราว 30-50% จากความแปรปรวนของสภาพอากาศ จนทำให้ราคาเมล็ดกาแฟดิบพุ่งสูงและดันต้นทุนของทุกข้อต่อในห่วงโซ่การผลิตกาแฟให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และแม้เรื่องสภาพอากาศแปรปรวนจะทำให้ราคาเมล็ดกาแฟอาราบิก้าทั่วโลกสูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่สำหรับบริบทประเทศไทยนั้นยังมี ‘ปัจจัยเฉพาะ’ อีกหลายประการที่ต่างออกไป จนทำให้สถานการณ์ของแวดวงกาแฟไทยอาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต ในระดับที่อาจทำให้การพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยต้องสะดุดหรือหยุดชะงักลงอย่างน่าเสียดาย

ความ ‘น่าเสียดาย’ ยิ่งเพิ่มขึ้นทวี เมื่อมองถึงโอกาสและข้อได้เปรียบของกาแฟไทย ทั้งการมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟที่เชื่อมโยงกับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ ยังไม่นับการลงแรงลงใจของเหล่าคนกาแฟ ไล่เรียงตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ นักแปรรูปกาแฟ นักคั่วกาแฟ นักชงกาแฟ และอีกมากมายนัก ที่ร่วมพัฒนากาแฟไทยกันมาจนพูดได้ว่าวันนี้กาแฟไทย โดยเฉพาะในตลาดกาแฟพิเศษ (specialty coffee) มีคุณภาพไม่น้อยหน้าแหล่งปลูกกาแฟเก่าแก่ในต่างประเทศ

ในบทความนี้ผู้เขียนจึงต้องการขยาย ‘ปัจจัยเฉพาะ’ ของบริบทประเทศไทย ซึ่งเปรียบเหมือนกำแพงสามด่านที่ขวางกั้นการพัฒนากาแฟไทย โดยเฉพาะในสภาวะโลกรวนที่ยิ่งซ้ำให้การก้าวข้ามกำแพงเหล่านั้นยากยิ่งกว่าเดิม เพื่อทำความเข้าใจวิกฤตวงการกาแฟครั้งสำคัญ ที่อาจทำให้กาแฟแก้วโปรดของคุณราคาขยับขึ้นหลังจากนี้

1) โครงสร้างการผลิตกาแฟต้นน้ำอ่อนไหวต่อความเสี่ยง

‘กาแฟไทย’ แบ่งกว้างๆ เป็น 2 สายพันธุ์ คือกาแฟโรบัสต้า เป็นกาแฟสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกแถบพื้นที่ร้อนชื้นทางภาคใต้อย่างระนอง ชุมพร สงขลา นครศรีธรรมราช สืบประวัติย้อนได้ถึงสมัยปลายรัชกาลที่ 4 มีจุดเด่นตรงเป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อโรคและสภาพอากาศแปรปรวน ผลผลิตสูง มีตลาดรองรับมายาวนานคือตลาดกาแฟสำเร็จรูป และปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจในการพัฒนาคุณภาพเพื่อยกระดับสู่ตลาดกาแฟพรีเมียม ส่วนอีกหนึ่งสายพันธุ์คือกาแฟอาราบิก้า นิยมปลูกในพื้นที่สูงอย่างทางตอนเหนือของไทย เป็นสายพันธุ์กาแฟที่กินสัดส่วนในตลาดโลกอยู่ราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ และเป็นชนิดกาแฟที่ใช้ในร้านกาแฟสดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะร้านกาแฟระดับพรีเมียมที่ขาย ‘กาแฟพิเศษ’ หรือกาแฟอาราบิก้าที่ถูกผลิตอย่างพิถีพิถันตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การคั่ว และการชง เรียกว่าเมื่อพูดถึงกาแฟในตลาดระดับบน อาราบิก้าคือสายพันธุ์กาแฟที่ถูกนึกถึงเป็นชื่อแรกมานานหลายทศวรรษ 

สำหรับประเทศไทย กาแฟอาราบิก้าเข้ามาเติบโตอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปลายพุทธศักราช 2490 แต่การแจ้งเกิดกาแฟอาราบิก้าอย่างเป็นทางการนั้นเกิดขึ้นเมื่อมูลนิธิโครงการหลวงริเริ่มโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนฝิ่นในจังหวัดภาคเหนือช่วง พ.ศ. 2515-2523 จากนั้นกาแฟอาราบิก้าก็เติบโตอยู่ใต้ร่มไม้บนดอยสูงเรื่อยมา กระทั่งเกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจังเพื่อยกระดับสู่ตลาดกาแฟพิเศษในช่วงระยะ 20 ปีให้หลัง

ด้วยเหตุนี้ ไร่กาแฟทางเหนือของไทยส่วนมากจึงเป็นไร่ขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ในชุมชนชาติพันธุ์บนดอย ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากแหล่งปลูกกาแฟในต่างประเทศอยู่พอสมควร ทั้งพื้นที่ปลูกลาดชันและต้นทุนครัวเรือนที่ยากต่อการใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรงในการทำเกษตร เรียกว่าไม่ว่าจะการดูแลต้นกาแฟ เก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ ขนย้ายเมล็ดกาแฟ ล้วนอาศัยแรงงานมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเกิดวิกฤตการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงภาวะโรคระบาดที่ทำให้แรงงานข้ามชาติขาดแคลน ต้นทุนแรงงานในไร่กาแฟจึงสูงขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก เมื่อประกอบกับภาวะโลกรวนที่ทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟลดลงเป็นเท่าตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่เคยลดลงทั้งมีแต่จะเพิ่มขึ้น ราคาเมล็ดกาแฟหน้าสวนปีนี้จึงพุ่งขึ้นถึงราว 50% จากปีก่อนหน้า ทว่าราคาเมล็ดกาแฟที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้ทำให้เม็ดเงินในกระเป๋าเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วยแต่อย่างใด เพราะราคากาแฟที่ผันผวนนั้นสะท้อนความเปราะบางของโครงสร้างการผลิตกาแฟต้นน้ำที่เกษตรกรต่างต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง

นอกเหนือจากนั้น รูปแบบกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินไร่กาแฟบนดอยที่ส่วนใหญ่เป็นใบอนุญาตเพื่อการทำกินและในบางพื้นที่อาจล้อมรอบด้วยเขตป่าสงวน ก็เป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกกาแฟในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งเมื่อตัวเลขผลผลิตเมล็ดกาแฟในประเทศน้อยกว่าปริมาณการบริโภคในประเทศถึงราว 5 เท่า ความพยายามตอบสนองตลาดคนกินกาแฟจึงเกิดขึ้นทั้งในกติกาและนอกกติกาด้วยสารพัดวิธีการ

2) นโยบายภาษีที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาวงการกาแฟอย่างยั่งยืน     

ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบของไทยอยู่ที่ 90% ซึ่งนับว่าสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยอัตราภาษีดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อปกป้องผู้ผลิตกาแฟในประเทศตั้งแต่ครั้งเริ่มมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าทดแทนฝิ่นราว 40 ปีก่อนและไม่เคยปรับลดลงอีกเลยนับแต่นั้น และแม้จะมีระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่ช่วยลดกำแพงภาษีอยู่บ้าง อาทิ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ที่มีอัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบอยู่ที่ 5% แต่ในรายละเอียดก็มีกำแพงที่ผู้ประกอบการรายย่อยอาจไม่สามารถก้าวข้ามไปได้เช่นเดียวกัน อาทิ ผู้นำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องเป็นนิติบุคคลหรือองค์การคลังสินค้าที่ได้หนังสือรับรองจากกรมการค้าต่างประเทศ โดยปริมาณที่อนุญาตให้นำเข้าจะถูกคำนวณจากปริมาณที่ผู้ยื่นขออนุญาตเคยอุดหนุนเมล็ดกาแฟดิบในประเทศในปีก่อนหน้า

ระเบียบข้างต้นเป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้เกิดการกว้านซื้อเมล็ดกาแฟดิบในประเทศเพื่อแลกกับปริมาณการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า (ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคากาแฟไทยสูงขึ้น เพราะนายทุนบางกลุ่มกว้านซื้อจนเมล็ดกาแฟดิบขาดตลาดตั้งแต่ต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว) ก่อนนำเมล็ดกาแฟเหล่านั้นมาทำกำไรจากตลาดกาแฟในประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกอัปราคาด้วยการแปะป้ายว่าเป็น ‘กาแฟไทย’ อย่างไม่มีใครรู้ นอกจากความพยายามทำกำไรจากช่องว่างทางกฎหมาย ยังมีความพยายามลักลอบนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับอำนาจรัฐและทุนอย่างสลับซับซ้อนและยากจะหาทางเอาผิด

อัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟที่สูงลิบนั้น นอกจากทำให้เกิดความพยายามเล่นแร่แปรธาตุเพื่อทำกำไรของบรรดานักธุรกิจกาแฟ ยังทำให้การพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยไม่เดินหน้าเต็มประสิทธิภาพ การมีกำแพงภาษีช่วยปกป้องผู้ผลิตกาแฟในประเทศไว้อย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้เมล็ดกาแฟต่างชาติในคุณภาพใกล้เคียงกันหรือดีกว่าไม่สามารถเข้ามาขายในประเทศได้ในระดับราคาใกล้เคียงกัน ดังนั้นแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟของเหล่าเกษตรกรต้นน้ำจึงน้อยกว่าที่ควรจะเกิดขึ้นภายใต้กลไกราคาปกติ ทั้งยังฉุดรั้งการเติบโตของตลาดกาแฟพิเศษในประเทศด้วยอีกทาง เมื่อกาแฟดีๆ จากแหล่งปลูกอันหลากหลายไม่สามารถเข้ามาเป็นตัวเลือกในราคาที่สมเหตุสมผลแก่ผู้บริโภคได้ กาแฟพิเศษจึงกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น

และหากประเมินจากยุทธศาสตร์กาแฟของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งแถลงไว้ในการประชุมคณะอนุกรรมการพืชสวนครั้งที่ 2/2564 ที่ตั้งเป้าอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและซื้อขายเมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมในอาเซียน ระเบียบการค้าระหว่างประเทศเช่นนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับเป้าหมายอย่างยิ่ง

3) ความเชื่อมั่นในกาแฟไทยที่หลังจากนี้อาจลดลงและไม่มีวันกลับมา    

โครงสร้างการผลิตกาแฟต้นน้ำที่อ่อนไหวต่อความเสี่ยง กำแพงภาษีที่สูงเกินความจำเป็น และโครงสร้างราคากาแฟอันบิดเบี้ยว คือเหตุที่สร้างความระส่ำระสายให้ทุกข้อต่อในกระบวนการผลิตกาแฟในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่สายป่านไม่ยาวพอจะยืนระยะ อาทิ โรงคั่วกาแฟและร้านกาแฟขนาดเล็กที่ขายกาแฟไทยต้องเผชิญกับราคาเมล็ดกาแฟสูงขึ้นฉับพลัน ทางเลือกในการรับมืออาจเป็นการปรับขึ้นราคาตามต้นทุน หรือการปรับลดคุณภาพเมล็ดกาแฟลงเพื่อคงราคาขายไว้เท่าเดิม ซึ่งเป็นวิธีการที่ล้วนเสียงต่อการสูญเสียฐานลูกค้าทั้งสิ้น มากกว่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ยังอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของกาแฟไทยในระยะยาว โดยเฉพาะในตลาดกาแฟพิเศษที่มาตรฐานคุณภาพสูงและให้คุณค่ากับการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางการผลิตอย่างละเอียด การที่เมล็ดกาแฟคุณภาพลดลงและอาจไม่สามารถสืบย้อนเส้นทางการผลิตได้ชัดเจนจึงย่อมเป็นเรื่องน่ากังวล

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตามอง คือแนวโน้มขยายการลงทุนของธุรกิจกาแฟรายใหญ่ระดับประเทศ ที่ผลักให้เกิดการกว้านซื้อเมล็ดกาแฟอย่างไม่แคร์คุณภาพมากนัก ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตกาแฟไทยไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพ

‘ปัจจัยเฉพาะ’ ของกาแฟไทย และปัญหาโลกรวนที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อว่า หากในอนาคตเกิดการปรับลดกำแพงภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟเพื่อเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจกาแฟเชิงอุตสาหกรรม ในวันนั้นการทะลักเข้ามาของกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้นทุนต่ำกว่า รวมถึงการเข้ามาของกาแฟพิเศษจากแหล่งปลูกดังๆ ในต่างแดนที่สามารถขายได้ในราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น ศักยภาพของกาแฟไทยในวันนั้นจะยัง ‘พอสู้’ ในตลาดหรือไม่

ในฐานะคนที่ติดตามเอาใจช่วยวงการกาแฟไทยมาร่วมสิบปี ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า กาแฟไทยมีศักยภาพโดดเด่นหลายด้าน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างเข้าใจและมีกลยุทธ์ก็อาจทำให้กาแฟไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจุดแข็งสำคัญข้อหนึ่งของกาแฟไทยคือ ‘สังคมคนกาแฟ’ ที่มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นและสนับสนุนกันและกันเสมอมา เรียกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นร้านกาแฟชื่อดังในกรุงเทพฯ เดินทางไปเยี่ยมและทำงานร่วมกับชาวสวนกาแฟอย่างใกล้ชิด หรือการที่ชาวสวนกาแฟเดินทางมาร่วมเทศกาลกาแฟในเมืองหลวงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ซึ่งถือเป็นบริบทที่หาได้ยากในแหล่งปลูกกาแฟอื่นๆ ในต่างประเทศ และเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้องค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยเติบโตเร็วมาก

นอกจากนั้น มาตรฐานการผลิตกาแฟต้นน้ำของไทยก็ก้าวไกลไม่แพ้แหล่งปลูกในต่างประเทศ ทั้งการแปรรูปที่หลากหลาย หรือการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟก็เป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมากในระยะหลัง แต่ข้อสังเกตก็คือ การพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นมักเป็นการทำกันเองแบบเล็กๆ ของภาคเอกชนและเกษตกรรายย่อย ดังนั้นเมื่อวงการกาแฟไทยต้องเผชิญกับวิกฤตที่ ‘ใหญ่เกินตัว’ เช่นปัจจุบัน การหาทางออกจากวิกฤติด้วยพลังของคนตัวเล็กๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐในการพัฒนาโครงสร้างการผลิตกาแฟอย่างเข้าใจภาพรวม

ภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการการแฟควรเร่งศึกษาจุดเด่น ข้อจำกัด และนโยบายที่จะสนับสนุนวงการกาแฟไทยอย่างลงลึกและเป็นจริง อาทิ การวิจัยเพื่อปรับปรุงอัตราภาษีนำเข้าและระเบียบการนำเข้า-ส่งออกเมล็ดกาแฟให้เอื้อต่อการเติบโตของตลาดผู้บริโภคกาแฟคุณภาพสูงในประเทศ รวมถึงเอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง การลงทุนกับงานวิจัยและกับนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการผลิตกาแฟเชิงคุณภาพภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการขยายพื้นที่ปลูกและสภาพอากาศแปรปรวนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อทุกข้อต่อในเส้นทางการผลิต ที่จะส่งให้กาแฟไทยได้กลายเป็นแก้วโปรดของใครต่อใครอีกมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับสากล


ขอขอบคุณสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร และ สมาคมกาแฟพิเศษไทย (Specialty Coffee Association of Thailand)


อ้างอิง

  • เอกสารคู่มือประกอบการนำเข้าสินค้าเกษตรตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ, กรมการค้าระหว่างประเทศ, 2564.
  • Coffee: World Markets and Trade, USDA, 2022.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save