fbpx
มองย้อนพลังคนรุ่นใหม่ 2021: ปีแห่งการจินตนาการถึง ‘โลกใบใหม่’

มองย้อนพลังคนรุ่นใหม่ 2021: ปีแห่งการจินตนาการถึง ‘โลกใบใหม่’

“เราเกิดในยุคที่ทุนนิยมกำลังทำงานได้ดี มีงานสำหรับทุกคน ขอให้เราขยันขันแข็ง ตั้งใจเรียน จบออกไปเราจะได้มีงานดีๆ มีเงิน คนรุ่นเก่าก็เลยหลงไปกับความคิดที่ว่าชีวิตจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่เกี่ยวกับอย่างอื่น ซึ่งผมว่าเป็นความคิดที่ผิดพลาดมาก …ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่คิดแบบนั้นในสมัยก่อนว่าขอให้ตั้งใจเรียนเถอะ เรียนมหาวิทยาลัยจบ เดี๋ยวก็มีงานดีๆ ทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องโกหก

“…สังคมที่เราร่วมกันสร้างขึ้นมาแต่ก่อน ไม่ใช่สังคมที่ไปถูกทาง มันสร้างภาระให้คนรุ่นหลังมากกว่า เราใช้ทรัพยากรของคนรุ่นหลัง ทำให้โครงสร้างความไม่เป็นธรรมแข็งแกร่งขึ้นจนไม่สามารถต่อกรได้โดยง่าย”

ภู กระดาษเคยให้สัมภาษณ์ถึงสังคมที่เขามองเห็น ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านงานเขียนเรื่อง ‘24-7/1’ หนังสือที่เขาใช้เป็น ‘คำสารภาพ’ ของคนรุ่นก่อน ที่สร้างสังคมไม่เป็นธรรมเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง

และคล้ายว่า คนรุ่นหลังก็รู้สึกไม่ต่างกัน – เมื่อพวกเขากำลังส่งเสียงและจินตนาการถึงโลกใบใหม่

นับแต่เกิดการประท้วงของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 นอกจากกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว การรื้อถอนโครงสร้างและค่านิยมแบบเก่าก็ถูกพูดถึงมากในสังคม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่กระแสการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่กลายเป็นกระแสสูงในหลายพื้นที่ทั่วโลก

การเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ ต่อสู้อำนาจนิยมในโรงเรียน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเรียกร้องการกระจายอำนาจ ถูกหยิบขึ้นมาพูดหลายต่อหลายครั้ง และในหลายครั้งนั้นก็ทรงพลังและทำให้สังคมหันมามองอย่างพร้อมเพรียง

ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเหมือนดอกเห็ดในฤดูฝน – บางเสียงก็ว่านี่เหมือนสวนที่เต็มไปด้วยดอกไม้บานสะพรั่ง เป็นดอกไม้ของความหวัง เป็นการผุดเกิดของคนรุ่นใหม่

จริงอยู่ ที่หลายครั้งในขบวนการต่อสู้ยังมีข้อผิดพลาด จริงอยู่ ที่หลายความคิดที่ถูกนำเสนอยังไม่แหลมคม ยังไม่ตกผลึก แน่นอนว่าหลายเรื่องยังต้องถกเถียง แต่นั่นก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไม่ใช่หรือ?

ตลอดช่วงการประท้วงทั้งบนท้องถนนและบนโซเชียลมีเดีย เต็มไปด้วยความพยายามที่จะ ‘ปลดแอก’ — แอกเผด็จการที่ลิดรอนเสรีภาพ แอกความยากจนที่ขัดขวางการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี และแอกอำนาจนิยมที่กดสันหลังตรงของคนให้โค้งงอ

แอกทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใหญ่และสาหัส ยิ่งเมื่อถูกตอกย้ำด้วยการระบาดอันยาวนานของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้แอกกดทับผู้คนหนักกว่าเดิม จนดูเหมือนว่าความหวังที่จะปลดแอกนั้นต้อง ‘พอส’ ไว้ก่อน

ตั้งรับ รอดูท่าที แต่ใช่ว่ามนุษย์จะหยุดคิดฝัน

แก้ไขที่พื้นฐานและโครงสร้าง

“ความฝันของผมคือการเป็นนักอภิวัฒน์” เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร ให้สัมภาษณ์ในรายการ 101 One-on-One หลังจากอดข้าวในเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวกว่า 57 วันช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 ก่อนที่เขาจะถูกจับเข้าเรือนจำอีกครั้งในเวลาต่อมา

การอภิวัฒน์ที่ว่า คือการอยากเห็นสังคมดีขึ้น เมื่อดีแล้ว ย่อมดีขึ้นได้อีก และในตอนนี้เวลานี้ เขาต้องการเห็นสังคมที่เท่าเทียมและมีสิทธิเสรีภาพ

“สังคมที่เอื้อให้เกิดการพูดคุยที่แตกต่างหลากหลายได้ คือสังคมที่ทุกคนยอมรับว่า ไม่ว่าจะคิดต่างกันอย่างไรทุกคนเป็นคนไทย ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน ดังนั้นทุกคนมีสิทธิพูด ทุกคนมีสิทธิขับเคลื่อนไปตามทางที่ตัวเองอยากได้โดยไม่มีใครติดคุก ไม่มีใครถูกทำร้าย เป็นสังคมที่มีกติกา และเป็นกติกาที่แฟร์สำหรับทุกคน เป็นกติกาที่เขียนร่วมกันทุกคนและทุกคนยอมรับในกติกานั้น

“ตอนนี้กติกาที่ออกมาเป็นกติกาที่ออกโดยผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว ถ้าจะสร้างสังคมที่ทุกคนมีความสุข เราก็ต้องสร้างสังคมที่ปลอดภัยพอที่จะพูดอะไรก็ได้ในทางการเมืองแล้วไม่ถูกทำร้าย”

เพนกวินอธิบายถึงความพยายามในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อปลดล็อกให้สังคมไทยเดินไปสู่กติกาที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นธรรม

ในช่วงปีที่ผ่านมา คำว่า ‘สิทธิเสรีภาพ’ ‘ความเท่าเทียม’ และ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยครั้งในสังคม บางครั้งบ่อยเสียจนถูกลดทอนพลังลงไป แต่การมาและดำรงอยู่ของโรคระบาด ก็ทำให้คุณค่าความหมายของคำเหล่านี้ยิ่งแข็งแรงขึ้น

ภาพคนติดโควิด-19 นอนเสียชีวิตบนท้องถนน ภาพคนเสียชีวิตในที่พักอาศัยเพราะเข้าไม่ถึงการรักษา ภาพผู้ป่วยนอนบนเตียงเรียงรายด้านหน้าโรงพยาบาล ภาพเตาเผาศพของวัดไม่พอรับร่างผู้เสียชีวิต และภาพคนไร้บ้านนั่งรอรับอาหารริมถนน ฯลฯ ทำให้ความเหลื่อมล้ำปรากฏชัดจนแทบไม่ต้องเอากราฟใดๆ มาแสดง

สิ่งเหล่านี้เปิดเปลือยแผลที่ประเทศไทยปิดบังเอาไว้อย่างยาวนาน ปัญหาที่หมักหมมมาเผยโฉมและส่งกลิ่นออกมาจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ นั่นยิ่งทำให้เสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดังขึ้น โครงสร้างที่ทำให้ความต่างระหว่างคนจนกับคนรวยถ่างกว้าง โครงสร้างที่ทอดทิ้งหลายคนไว้ข้างหลัง จนเสียงเรียกร้องจากการถูกกดทับดังขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมคือกลุ่ม ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ส’ ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลบริเวณแยกดินแดง โดยใช้ยุทธวิธีที่พวกเขาเรียกว่า ‘สันติวิธีเชิงตอบโต้’ จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเป็นเวลาร่วมเดือน

การเกิดขึ้นของกลุ่มทะลุแก๊สสร้างข้อถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง จากประเด็นการใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการประท้วง บางเสียงบอกว่านี่เป็นเรื่องไม่เหมาะสม และยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง แต่บางเสียงก็ชี้ประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่านี่เป็นการต่อสู้กับรัฐที่มีอำนาจมาก หากรัฐไม่ตอบรับข้อเสนอของผู้ประท้วง การยกระดับการชุมนุมที่กระทำต่อรัฐย่อมเป็นเรื่องทำได้ แต่สิ่งที่ควรมองลึกลงไปกว่านั้นคือกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ เป็นใคร และเพราะเหตุใดพวกเขาจึงต้องออกมาทำเช่นนี้

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้ช่วยวิจัยและผู้สื่อข่าวจาก Plus Seven ทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ผ่านงานวิจัย ‘การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564’ ซึ่งพบว่าผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนอีกกลุ่มคือวัยเริ่มทำงานและกำลังตั้งตัว 

“คนที่มาร่วมชุมนุมในม็อบทะลุแก๊สอาจจะเรียกได้ว่าเป็นลูกหลานของชนชั้นล่างในทุกมิติ ทว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กไม่มีอนาคต แต่เป็นหัวกะทิระดับต้นๆ ของชนชั้นล่าง ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด อาจจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ เริ่มมีเงินลงทุน แต่ทุกอย่างหายไป พวกเขาถูกดึงกลับไปสู่เส้นความยากจนอีกครั้งเมื่อเกิดโควิดและได้รับผลกระทบจากนโยบายการแก้ปัญหาโควิด” กนกรัตน์กล่าว

ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนเหล่านี้มาลงถนนร่วมชุมนุมที่ดินแดงคือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล การไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนในปีก่อนหน้า โดยมองว่าสันติวิธีแบบเดิมไม่ได้ผล ยิ่งเมื่อมองย้อนไปที่ช่วงเฟื่องฟูของม็อบคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ที่แม้จะออกมาพูดประเด็นแหลมคมอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่าในทางกฎหมาย ประเด็นเหล่านี้ยังไม่คืบหน้าเท่าไรนัก มาในปีนี้ รูปแบบของการประท้วงจึงยกระดับขึ้น และหยิบเอาเรื่อง ‘ปากท้อง’ จากผลกระทบของโควิด-19 มาพูดมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลพวงจากการกดทับด้วย ‘แอก’ ในสังคมตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขา

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ หลายคนในสังคมไม่ได้รู้สึกว่าต้องปลดแอก เพราะพวกเขาไม่เห็นว่ามีแอกอยู่บนคอของตัวเอง คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีอาจไม่ค่อยรู้สึกถึงปัญหา หรือหลายคนที่รู้ก็ไม่อยากแก้ปัญหา เพราะไม่รู้จะแก้อย่างไร – โลกก็เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว จะตั้งคำถามให้วุ่นวายทำไม

ในภาวะที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านและมีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้นนี้ ทำให้เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ของคนต่างรุ่น เด็กหลายคนมีทัศนคติการเมืองต่างจากคนที่บ้าน บ้างก็ถูกห้ามไม่ให้มาม็อบ บ้างก็ถกเถียงกันอย่างรุนแรงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง จนบางคนถูกไล่ออกจากบ้าน และมีอีกหลายคนที่ตัดสินใจละทิ้งบ้านออกมาเผชิญโลกด้วยตัวเอง

พลอย เบญจมาภรณ์ นิวาส สมาชิกกลุ่มไพร่ปากแจ๋ว อดีตสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว เด็กสาววัย 17 ปี เป็นหนึ่งในคนที่จำใจต้องย้ายออกจากบ้านเพราะความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันกับครอบครัว

“ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมายากมาก ชีวิตต้องเจอกับปัญหาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องเพื่อน เรื่องคดี แต่ถึงจะยากก็ยังมีชีวิตรอดอยู่จนถึงทุกวันนี้ และก็ยังคงออกมาเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่าเราไม่สมควรมาเจอเรื่องแบบนี้ เปลี่ยนแรงแค้นมาเป็นแรงผลักดันให้สู้ต่อ เพราะในใจคิดอยู่เสมอว่าพวกเราควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้” พลอยเล่า

ไม่ใช่แค่พลอย แต่เด็กหลายคนต้องเผชิญกับความลำบากในการหาเงินและใช้ชีวิตด้วย นั่นยิ่งทำให้พวกเขามองเห็นความเหลื่อมล้ำชัดขึ้นด้วยตาตัวเอง ภูมิ คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ เด็กนักเรียนวัย 16 ปี ผู้ฝังหมุดคณะราษฎรใหม่ลงกลางสนามหลวง ณ ย่ำรุ่ง 20 ก.ย. 2563 เป็นหนึ่งในคนที่ต้องออกมาหางานทำเอง หลังจากทะเลาะกับที่บ้านจากเหตุการณ์ปักหมุดครั้งนั้น จนพ่อตัดค่าขนมของเขา

“พอมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ทำให้เราเห็นความลำบากได้ชัดขึ้น เช่น ความลำบากของการเป็นพนักงานออฟฟิศ (หัวเราะ) ตอนเราเป็นนักเรียน สังคมรอบตัวมีแค่เพื่อนนักเรียน แต่พอเราทำงานก็เจอคนหลากหลายมาก ทั้งคนจนแบบจนจริงๆ คนรวยที่รวยมากๆ หรือพนักงานออฟฟิศที่ใช้เงินเดือนชนเดือน มันทำให้เรารู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก จากเดิมที่เราเคยเห็นแค่ในหนังสือหรือในโทรทัศน์ แต่ตอนนี้ได้สัมผัสกับความเหลื่อมล้ำจริงๆ ว่าเป็นยังไง เช่นเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท มันน้อยมากนะ ไม่มีทางพอใช้ หรือต่อให้พออยู่ได้ก็ต้องทนอยู่ในคุณภาพชีวิตที่แย่” ภูมิเล่า แต่ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิกับที่บ้านจะเป็นไปด้วยความอิหลักอิเหลื่อ ท้ายที่สุดภูมิก็ยังบอกว่าครอบครัวเข้าใจเขามากขึ้น

จากสถานการณ์ทั้งหมดนี้ คนที่ออกมาต่อสู้พูดคล้ายกัน คือสังคมจะดีขึ้นได้ต้องเริ่มแก้ไขที่พื้นฐานและโครงสร้าง

สู่โลกจินตนาการ

หากจินตนาการและความฝันเป็นสมบัติของมนุษย์ เราก็ควรจะใช้มันได้อย่างเต็มที่

“เราชอบขนส่งสาธารณะแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นรถสาธารณะตรงเวลามากและมีคุณภาพ ไม่เหมือนรถเมล์ร้อนในไทย รถเมล์เขามีที่นั่งที่เหมาะสม โครงสร้างแข็งแรง มีทางลาดให้ผู้ใช้รถเข็น สามารถจ่ายด้วยการ์ดได้ไม่ต้องใช้เงินสด เราเกลียดมากเวลาขึ้นรถเมล์แล้วมีแต่แบงก์ร้อยแล้วก็โดนดุ 

กระทั่งเรื่องโครงสร้างอำนาจตั้งแต่ในที่ทำงาน เราหวังว่าจะมีที่ทำงานที่ไม่แคร์เรื่องอาวุโส แต่แคร์เรื่องประสบการณ์ความรู้ เอาความรู้มาดีเบตกัน 

เราฝันว่าจะมีพื้นที่ที่ทุกคนพัฒนาตัวเองไปพร้อมกันเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนตอนนี้ที่เรารู้สึกว่ามีการใช้ความอาวุโสมากดในหลายๆ เรื่อง ทำให้การพัฒนาของคนเป็นไปอย่างลำบาก ทำไมความต้องมาเจ็บปวดกับเรื่องแบบนี้”

ประโยคข้างต้นคือสังคมในฝันของรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร ก่อนขยายความไปถึงโครงสร้างว่า “สองเรื่องนี้ก็มองขยายไปได้อีก อย่างเรื่องอาวุโสมองไปได้ถึงเรื่องทางวัฒนธรรม คุณจะเอายังไงกับระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม เราไม่ต้องการให้มีสิ่งนั้นเกิดขึ้น” 

“เราพูดตลอดว่าคนเท่ากันและเราหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ สังคมต้องเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเพศอะไร อายุเท่าไหร่ เราหวังว่าสังคมนี้จะเป็นสังคมที่เปิดรับทุกคนได้และมีโอกาสให้กับทุกคน”

ความใฝ่ฝันข้างต้นไม่ได้เป็นเฉพาะของรุ้ง แต่คนรุ่นใหม่หลายคนก็อยากมีโลกที่ดีกว่านี้ โลกที่เปิดโอกาสให้ความหลากหลาย

“เราต้องสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาเอง” เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดในวงเสวนา 101 (mid)night round ‘สวัสดี! เรามา(เปลี่ยนสังคมไทย)จากอนาคต’ ที่ชวนคนรุ่นใหม่มาออกแบบอนาคต ทั้งในประเด็นเทคโนโลยี การเมือง การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ และธุรกิจสร้างสรรค์

ไผ่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในวงเสวนา บอกว่าการจะไปสู่สังคมที่ใฝ่ฝันได้ ต้องเริ่มต้นจากหลักที่มั่นคงก่อน และหลักที่เขาหมายถึงคือการแก้รัฐธรรมนูญ

“หลักที่ดีต้องเริ่มที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถยึดอยู่กับตัวบุคคลได้ตลอด มนุษย์แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ แต่ถ้าโครงหลักมั่นคง สังคมก็มีตัวยึด …พอเราไม่ยึดรัฐธรรมนูญ กฎหมายก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ประเทศไทยก็ไม่เหลือหลักอะไรเลย

“…ต้องยอมรับว่ามีคนอยู่ร่วมกันหลายรุ่น การออกแบบโครงสร้างทางการเมืองควรจะเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตอกย้ำให้เห็นว่าจินตนาการโลกในอีก 20 ปีของคุณประยุทธ์ต่างจากเรา เรามองโลกอีกแบบหนึ่ง แต่ทำไมไม่มีโอกาสกำหนดประเทศนี้ ทำไมต้องเป็นเขาเท่านั้นที่กำหนด ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในการวางโครงสร้าง” จตุภัทร์กล่าว

โลกที่จตุภัทร์ใฝ่ฝันถึงคือสังคมที่มีการกระจายอำนาจและการพัฒนาอย่างเท่าเทียม “ผมอยากให้กระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง ปัญหาทุกวันนี้คือการรวมศูนย์อำนาจรัฐไว้ที่ส่วนกลาง ในแต่ละภูมิภาคมีบริบทวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ทำไมการพัฒนาจะแตกต่างไม่ได้ ทำไมไม่มีการกระจายทรัพยากร ทุกคนก็เสียภาษีแต่ทำไมทุกอย่างไปกระจุกอยู่กรุงเทพฯ หมด”

นอกจากประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจแล้ว ด้านพัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอก MIT Media Lab ผู้หลงใหลวิทยาศาสตร์ เสนอว่าอยากเห็นสังคมที่เคารพความเป็นมนุษย์  

“ผมอยากเห็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน… สังคมที่ดีต้องเชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กๆ ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด ทุกคนสามารถบอกได้ว่าสิ่งไหนเราชอบ-ไม่ชอบ สิ่งไหนดี-ไม่ดี ที่อเมริกา นักศึกษาถูกปฏิบัติเทียบเท่ากับอาจารย์ เพราะเขาก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมได้ ผมมองว่านี่คือการเดินไปข้างหน้าอย่างมีเกียรติภูมิ การอยู่ในสังคมที่เคารพความเป็นมนุษย์จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด พอมองคนเท่ากันก็จะต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นได้” พัทน์ขยายความ

ส่วน พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน License holder of TEDxBangkok และผู้ร่วมก่อตั้ง Glow Story กล่าวว่า วิธีที่จะทำให้เมืองไทยไปรอดและเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้คือการกระจายอำนาจ เพื่อไปสู่สามสิ่งที่เขาอยากเห็น คือ มีกิน มีเกียรติ และมีโอกาส กล่าวคือรัฐบาลควรช่วยให้คนมีกินเป็นพื้นฐาน เข้าถึงสวัสดิการได้ถ้วนหน้าโดยไม่ใช่การสงเคราะห์หรือแย่งกันรับ และสร้างพื้นที่แห่งโอกาสให้คนได้ทำในสิ่งที่คิดและฝัน โดยปัญหาทั้งหมดต้องแก้ที่โครงสร้าง

พิริยะเสนอว่าเราควรสร้าง ‘เรื่องเล่า’ ของตัวเองขึ้นมาเพื่อจะพาไปสู่อนาคตที่อยากเห็นได้ โดยวาทกรรมที่เขาสนใจมีสองเรื่องหลัก คือนิยามของความเป็นชาติ กับความเป็น ‘ไท’ ที่แปลว่าอิสระ ในสังคมที่ ‘ความเป็นไทย’ มีแบบเดียว เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม และเป็นเรื่องเล่าที่ควรเปลี่ยน

“ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา แต่ทุกวันนี้ถูกกดและบังคับให้มีความเป็นไทยแบบเดียว จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถคงความหลากหลายในเสรีภาพนั้นได้ เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกันอยู่”

ต่อประเด็นนี้ พัทน์เสริมว่า “เราอยู่ในโลกที่ทุกคนสามารถสร้างเรื่องเล่าของตัวเองขึ้นมาได้ ทุกคนไม่ได้ถูกดึงดูดเข้าหากันด้วยเรื่องเล่าเพียงรูปแบบเดียว ความแตกต่างหลากหลายของเรื่องเล่าคือสิ่งสะท้อนความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แตกต่างหลากหลายและมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม”

ส่วนเรื่องเล่าที่เขาอยากเห็นคือ เรื่องเล่าที่ยังดำเนินต่อ นั่นหมายถึงการไม่หยุดคิด

“การที่เราเห็นทุกอย่างเป็นงานที่ยังทำไม่เสร็จ ทำให้เราสามารถทดลองแนวคิดใหม่ๆ ผิดพลาด ล้มเหลว และเรียนรู้ได้ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่เราจะทำ ถ้าเรามองว่าสิ่งที่เราทำเป็นงานโบว์แดงชิ้นสุดท้าย เราจะยอมรับความผิดพลาดและก้าวต่อไปได้ยาก อะไรที่เรามองว่าทำสำเร็จแล้ว เช่น การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปศาสนา ที่จริงแล้วเป็นแค่จุดเริ่มต้นจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากเห็นเรื่องเล่าที่มีวิวัฒนาการ ค่อยๆ ขยับขับเคลื่อนไปข้างหน้า”

ส่วนจตุภัทร์โยงกลับมาที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า “ถ้าเราอยากให้ประเทศนี้เป็นอย่างไร เราต้องสร้างเรื่องเล่าที่อยากเล่าขึ้นมาเอง ตัวอย่างเช่นการต่อสู้ของประชาชนในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 1980 รัฐบาลเผด็จการทหารไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ถูกเขียนว่าตัวเองเป็นตัวร้าย เป็นเผด็จการที่ใช้กฎหมายอย่างไม่ชอบธรรม ออกรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้นานขึ้น เอากลุ่มก้อนตัวเองเข้าไปอยู่ในอำนาจ และยังมีการจับขัง เข่นฆ่าผู้ประท้วง สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง

“แต่ท้ายสุด เผด็จการเหล่านี้ก็ถูกโค่นล้ม ต้องมารับผิด ติดคุก โดนยึดทรัพย์ เกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ เรื่องเล่าที่สวยงามแบบนี้เกิดจากการที่ประชาชนกลุ่มก้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา แรงงาน ออกมาต่อสู้เรียกร้องจนได้ชัยชนะ ดังนั้นแล้ว การกระทำของทุกคนล้วนเป็นเรื่องเล่า การต่อสู้ทางการเมืองของพวกเราก็จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ถูกส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานเช่นกัน”

เราต่างเคยเป็นคนรุ่นใหม่

“สังคมกำลังได้ active citizen จำนวนมากขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากการที่โดนกดทับด้วยสังคมเอง สังคมมีความไม่ยุติธรรมอยู่ จนทำให้เด็กอยากลุกขึ้นมาพูด วัยรุ่นเป็นวัยที่อาจจะไม่เข้าใจอะไรทั้งหมดหรอก แต่จะเกิดคำถามเต็มไปหมด แล้วอยากได้คำตอบที่สมเหตุสมผลด้วย” ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในผู้เขียนบทและผู้กำกับซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น พูดถึงประเด็นเรื่องคนรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ

ในฐานะที่เขาคลุกคลีอยู่กับวัยรุ่นมานานกว่าสิบปี เขาทำความเข้าใจว่าอะไรคือลมหายใจที่ขับเคลื่อนยุคสมัย และคำตอบคือคนรุ่นใหม่มองเห็นปัญหาที่พวกเขาเคยถูกบอกว่านั่นไม่ใช่ปัญหา

“ในประเทศหนึ่งการที่คนจะอยู่อย่างชิลๆ ได้มีอยู่สองอย่าง หนึ่ง ประเทศนั้นดีจริงๆ จนไม่มีอะไรให้เป็นปัญหา ทำงานได้เงินมาก็หาความสุขให้ตัวเอง มีคุณภาพชีวิตดี และสอง คือตัวผมเองในอดีตนี่แหละ คือการถูกประเทศบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่จริงๆ แล้วมีอะไรอยู่ข้างหลังซึ่งเราไม่เคยรู้เลย แต่ ณ วันนี้ เราไม่เห็นประชาชนหรือเยาวรุ่นชิลๆ อีกแล้ว เพราะเขารู้และอ่านมากพอที่จะเข้าใจว่าคุณอย่ามาหลอกเรา ผู้ใหญ่อย่ามาบอกว่าประเทศไม่มีปัญหาอะไร เราต้องหันมาคุยกันได้แล้ว นี่คือสิ่งที่น่าสนใจมากของคนรุ่นใหม่ที่คนยุคผมทำได้ดีไม่เท่าเขาด้วยซ้ำ” เกรียงไกรกล่าว ก่อนอธิบายต่อว่า การที่อินเทอร์เน็ตแทบจะกลายเป็นแขนขาของเด็กยุคใหม่ ทำให้เกิด ‘ยุคสมัยแห่งการเอ๊ะ’ คือตั้งคำถามกับเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัว และพยายามหาคำตอบให้ตัวเอง จนเกิดเป็นการทำความเข้าใจโลกผ่าน ‘มายด์แมป’ ที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง

การตั้งคำถามต่อสิ่งเก่านี้เองที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรุ่น ซึ่งปัญหาสำคัญอยู่ที่การไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ยิ่งโดยเฉพาะผู้ใหญ่หลายคนที่อาจมองว่าเด็กถูกหลอกไปตามกระแสสังคม ต่อประเด็นนี้เกรียงไกรมองว่า เด็กกำลังอยู่ในกระบวนการประกอบสร้างความคิดของตัวเอง และผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เด็กได้ลอง

“มนุษย์คนหนึ่งควรจะมีกระดูกสันหลังของตัวเองทางความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ แต่การที่เราจะเชื่อบางอย่างแบบโคตรเชื่อได้ต้องใช้เวลานานมากๆ กว่าจะกลั่นกรองจนเป็นคนคนหนึ่งที่เชื่อแบบนี้ บางทีผู้ใหญ่ด่วนตัดสินวัยรุ่นว่าเขาไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ต้องคิดว่าเขาแค่กำลังอยู่ในกระบวนการ ระหว่างจะไปถึงจุดที่เขาเลือกจริงๆ ว่าเชื่อในอะไร หรือบางคนเลือกได้แล้วด้วยซ้ำ ซึ่งระหว่างกระบวนการ วัยรุ่นไม่ได้ไม่ต้องการผู้ใหญ่นะ แต่เขาต้องการผู้ใหญ่ที่คุยกับเขารู้เรื่อง ซึ่งช่องว่างระหว่างวัยก็เป็นปัญหาใหญ่มากที่ยังนึกไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร”

“บางทีถ้าเราปักธงเลยว่าคนรุ่นใหม่โดนหลอกง่าย อาจจะกลายเป็นว่าเรากำลังปักธงด้วยเหมือนกันว่าความเชื่อของเราถูก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรถูกตลอดกาล ผมชอบประโยคหนึ่งในการศึกษาวิทยาศาสตร์มาก เขาบอกว่าสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงจะถูกจนกว่าจะมีสิ่งใหม่มาลบล้าง ผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้ถูกตลอดเวลา บางทีอาจเผลอคิดว่าเราผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว เจ็บแล้ว เป็นความปรารถนาดี ไม่อยากให้วัยรุ่นเจ็บแบบเรา แต่สิ่งนั้นอาจจะถูกเมื่อปี 2540 ก็ได้ แต่ในปี 2564 อาจจะผิดแล้วนะ เราต้องกลับมาคุยกันใหม่แล้วหรือเปล่า เพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา”

นอกจากประเด็นเรื่องการยอมรับว่าสิ่งที่เคยถูกเมื่อก่อน อาจจะผิดในวันนี้ อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจหลงลืมไปคือ เราทุกคนต่างก็เคยเป็นเด็ก เราทุกคนต่างก็เคยเป็นคลื่นลูกใหม่

“ไม่ว่าที่ไหนในโลกสังคมต้องขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ ทุกคนเคยเป็นคนรุ่นใหม่มาก่อน ผมก็เคยได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่มาก่อนในวันแรกๆ ที่เริ่มทำงาน แล้วก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทุกวัน”

ยุทธนา บุญอ้อม หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ‘ป๋าเต็ด’ เริ่มประเด็นเรื่องคนรุ่นใหม่ไว้สั้นกระชับ นอกจากเป็นคนดนตรีแล้ว เขายังเป็นคนหนึ่งที่ตามปรากฏการณ์ความสนใจของคนรุ่นใหม่เสมอมา จนได้ชื่อว่าเป็น ‘เจ้าพ่อเด็กแนว’

“ที่เมืองไทย การติดอาวุธให้คนรุ่นใหม่ไม่เป็นปัญหาใหญ่เท่ากับการปรับทัศนคติของคนรุ่นก่อน หากเจอกันครึ่งทางได้ ปรับเข้าหากันและกันก็จะไปได้ ผมไม่ได้บอกว่าคนรุ่นก่อนผิดหมด คนรุ่นใหม่ถูกหมด เป็นไปไม่ได้ ที่ชัดเจนคือคนสองรุ่นนี้มีมุมมองไม่เหมือนกัน งานที่ทำร่วมกันได้ อย่างไรมันก็ดี เพราะงานที่ช่วยกันมองจากคนละมุมก็มักจะช่วยกันขัดแย้ง เถียง นำเสนอไอเดียหลากหลาย และเลือกไอเดียที่ดีที่สุด เราจะทำอย่างไรให้คนอีกรุ่นหนึ่งมีเมตตา เปิดกว้างกับคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้เขาฟังและทำความเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่นำเสนออะไรหรือพูดถึงปัญหาอะไรก่อนจะพูดว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน

“ทุกคนเคยเป็นเด็กและทุกคนเคยเถียงผู้ใหญ่ กระทั่งคนที่อนุรักษนิยมที่สุดวันนี้ก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เคยดื้อมาก่อน ต้องนึกถึงวันนั้นให้ได้ พอเราจำได้ว่าเคยคิดอะไร จะได้เลือกใช้ภาษาให้ดี คุยกันเข้าใจ อย่าไม่โกรธมากเวลาที่เขาผิด หรือบางเรื่องมีแก่นที่ถูกแต่ผิดในเรื่องอื่น เช่น ใช้คำไม่สุภาพ ถ้าเรามัวแต่ไปมองที่ความหยาบคายก็ทำให้ประเด็นหลักถูกหลงลืมไป น่าเสียดาย”

ท่ามกลางความขัดแย้งที่นับวันจะยิ่งร้าวลึก ยุทธนาให้ความเห็นว่าผู้ใหญ่เองก็ควรจะเปิดใจรับฟังว่าสิ่งที่เด็กนำเสนอคืออะไร สิ่งสำคัญคือต้องมองผ่านเปลือกเข้าไปจนเห็นแก่น และพยายามคุยกันด้วยสังคมแบบอารยะ

“สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญทั้งสองเรื่องคือ เรื่องที่เขานำเสนออยู่นั้นใจความคืออะไร บางครั้งเราสนใจเปลือกมากเกินไป ทั้งความก้าวร้าว ไม่สุภาพ ขัดหูขัดตา ไม่ยอมมองแก่นหลัก กลายเป็นว่าทะเลาะกันด้วยเรื่องปลีกย่อยจนขัดแย้งกันรุนแรงขึ้น หลักการบางอย่างที่คนรุ่นใหม่เสนอจนคนอีกรุ่นหนึ่งรับไม่ได้ก็มี แต่ผมคิดว่าเราคุยกันได้แบบอารยชน ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน เพราะเราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย แต่เปลือกทำให้เราทะเลาะกัน ขยายใหญ่โตทั้งโดยธรรมชาติและบางคนตั้งใจขยายเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องอื่นจนนำไปสู่ความขัดแย้งต่อเนื่องมาอีก”

“ผมดีใจที่เราได้ถกเถียงกันในเรื่องที่ไม่คิดฝันมาก่อนว่าจะถกเถียงเรื่องแบบนี้ได้ แต่เสียใจที่การถกเถียงแบบอารยชนถูกกลบด้วยเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกสมัย กลายเป็นสงครามข่าวสาร สงครามที่ไร้สาระ ไม่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างอารยชน”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน และเราทั้งหมดอยู่บนโลกใบเดียวกัน

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save