fbpx

“เราต้องสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาเอง” : เปลี่ยนสังคมแล้งฝันด้วยความหวังของคนรุ่นใหม่

“สวัสดี เรามาจากโลกอนาคต” เป็นประโยคคุ้นหูจากการ์ตูนโดราเอมอน หุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากโลกอนาคตที่มาพร้อมของวิเศษสารพัดประโยชน์ ด้วยของวิเศษเหล่านี้ ความฝันของโนบิตะและผองเพื่อนซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาก็ไม่ได้เป็นแค่ฝันอีกต่อไป แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงอันปราศจากของวิเศษ มนุษย์ยังต้องถามหาว่าเรามีความฝันและความหวังได้มากแค่ไหน วิทยาการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะเสกโลกให้น่าอยู่สำหรับทุกคนได้หรือไม่ และคำถามสำคัญก็คือท่ามกลางความท้าทายจากรอบทิศทางบนโลกใบนี้ สังคมแบบไหนที่คนอยากอยู่ และเราจะไปสู่สังคมในฝันแบบนั้นได้อย่างไร

ขยับเข้ามาใกล้หน่อย หากโจทย์คือประเทศไทย 4.0 หน้าตาของสังคมจะเป็นอย่างไร สภาพสังคมตอนนี้ตอบโจทย์ความฝัน ความหวังแค่ไหน และอะไรคืออุปสรรคสำคัญ 

101 ชวนมองภาพกว้างตั้งแต่เทคโนโลยี การเมือง การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ และธุรกิจสร้างสรรค์ ชวนคนรุ่นใหม่มาเปิดวงสนทนาเพื่อออกแบบอนาคต โดยมี พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอก MIT Media Lab ผู้หลงใหลวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้จริง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมด้วย พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน License holder of TEDxBangkok และผู้ร่วมก่อตั้ง Glow Story บริษัทนักเล่าเรื่องเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความฝันและออกแบบอนาคต

ร่วมหาคำตอบด้วยกันว่าเราจะ ‘ขยับ’ กันอย่างไร เพื่อ ‘เขยื้อน’ สังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

YouTube video

รายการ 101 (mid)night round ‘สวัสดี! เรามา(เปลี่ยนสังคมไทย)จากอนาคต’

ประเด็นเรื่องการเมือง เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญเวลาพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงในสังคม เราขอเริ่มต้นถามไผ่-จตุภัทร์ก่อนว่าตลอดเวลาที่ต่อสู้ทางการเมืองมาหลายปี คุณตกผลึกอะไรบ้าง มองเห็นบทเรียนอะไรที่คิดว่าน่าสนใจบ้าง

จตุภัทร์ : ตั้งแต่ผมเริ่มต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านในประเด็นเรื่องการถูกแย่งชิงทรัพยากร เราก็สู้กับรัฐและทุนมาตลอด พอมาต่อสู้กับรัฐหลังรัฐประหารปี 2557 ก็ยิ่งเจออำนาจที่ใหญ่มากขึ้นไปอีก เราเห็นเครื่องมือที่รัฐต่อสู้กับเราโดยใช้กฎหมายมาจับกุมคุมขังและปิดปาก ก็ยิ่งทำให้การต่อสู้ยากขึ้น แต่พอถอดบทเรียนจากการต่อสู้ตลอดสิบปี ผมก็ตกผลึกได้ว่าต้องอดทน แพ้ให้เป็น ชนะให้เป็น และต้องมีความหวังให้สู้อยู่ 

นอกจากนี้ยังตกผลึกอีกว่าหัวใจของปัญหาที่ต่อสู้มาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศคือโครงสร้างทางการเมือง ต่อให้เราไม่ยุ่งกับการเมืองแต่การเมืองก็มายุ่งกับเราอยู่ดี ชาวบ้านไม่ยุ่งกับการเมืองแต่การเมืองก็มายุ่งกับเขา จะเห็นได้ว่าโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบต่อทุกชนชั้น ไม่ว่าจะอยู่ไกลปืนเที่ยงก็ตาม ขณะที่การพัฒนามีความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค แต่การใช้กฎหมายปิดปากหรือการดำเนินนโยบายที่ไม่ฟังเสียงประชาชนเกิดขึ้นเหมือนกันทุกที่

ถามพัทน์ในฐานะนักศึกษาและผู้หลงใหลในวิทยาศาสตร์ คุณมองว่าเราจะสามารถใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบใหม่ได้บ้างไหม อย่างไร

พัทน์ : ถ้ามองการเคลื่อนไหวที่เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก เช่น Arab Spring หรือ #metoo จะเห็นการใช้โซเชียลมีเดียมาขับเคลื่อนขบวนการมากขึ้น ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าก่อนหน้านี้การสื่อสารระหว่างประชาชนกับรัฐต้องต้องผ่านตัวกลางที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ปัจจุบันสื่ออยู่ในมือของทุกคน การสื่อสารกับรัฐไม่ได้มีช่องทางเดียวอีกต่อไป

ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวก็มีความเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น หลายประเด็นเราอาจจะเรียกร้องในไทย แต่เป็นประเด็นที่มีความเป็นสากลมากๆ เช่น การเรียกร้องในประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือการเคลื่อนไหวลดการกดขี่ทางเพศ พอเทคโนโลยีช่วยเปิดพรมแดนการเรียกร้อง หลายครั้งพันธมิตรร่วมต่อสู้อาจจะไม่ใช่แค่ในไทยอย่างเดียว พันธมิตรอาจจะเป็นคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นเดียวกันจากมุมอื่นของโลก

MIT Media Lab พยายามจะสร้างเทคโนโลยีที่ทำให้คนมีพลังเปล่งเสียงของตัวเอง สามารถแสดงความคิดเห็นและจุดยืนได้ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองแต่รวมไปถึงประเด็นต่างๆ ในการใช้ชีวิต หนึ่งในนั้นมีกลุ่มวิจัย Civic Media ทำการศึกษาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากเอไอ เช่น ในปัจจุบันสหรัฐอเมริกาใช้เอไอมาวิเคราะห์คนที่มีแนวโน้มก่ออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า เอไอที่นำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมมีอคติที่ถูกส่งต่อมาจากมนุษย์เกิดขึ้น เพราะเอไอเรียนรู้จากข้อมูลคนผิวขาวซึ่งเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์อเมริกันที่มีการกดขี่มาโดยตลอด Civic Media จึงพยายามสร้างเทคโนโลยีที่ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำจากเทคโนโลยีและสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ทำให้เสียงของคนดังขึ้น

ในเมื่อเทคโนโลยีสร้างจากคนซึ่งมีอคติ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่เทคโนโลยีจะลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

พัทน์: ผมขอยกตัวอย่างกรณีที่คนผิวดำค้นหาผ่านกูเกิลว่าทำอาชีพอะไรได้บ้าง แล้วผลการค้นหาก็แสดงแต่รูปคนผิวดำเป็นขอทาน ขโมย หรืออาชญากร ซึ่งในยุคนั้นมีการพูดถึงข่าวของคนผิวดำแบบนี้จริงๆ แม้คนผิวดำจะประกอบอาชีพอื่นมากมาย แต่ภาพในสังคมกระแสหลักมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นต้นตอของอาชญากรรม

โจทย์ใหญ่อยู่ที่ว่าถ้าเราต้องการสร้างพื้นที่ที่พูดถึงคนผิวดำได้มากขึ้น ก็หมายความว่าเราจะต้องสร้างชุดความจริงบางอย่างที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม นำมาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า เราต้องการเทคโนโลยีสะท้อนความเป็นจริงที่มีความเหลื่อมล้ำหรือต้องการเทคโนโลยีที่จะสร้างจินตนาการใหม่ๆ อันเปิดโอกาสไปสู่สังคมที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ความจริงในปัจจุบันนี้

แก่นหรือความคิดที่นักวิทยาศาสตร์ยึดมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ได้รับอิทธิพลจากความรู้ด้านสังคมศาสตร์บ้างไหม

พัทน์:  มีหลายแนวคิดที่ต้องการอธิบายว่าเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับสังคมอย่างไร หลักๆ มีสามแนวคิด ได้แก่ technological determinism ที่เชื่อว่าถ้าเทคโนโลยีดี สังคมก็จะดีขึ้นได้ แนวคิดนี้ค่อนข้างท้าทายสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต่อให้เรามีวัคซีนที่ดี แต่ปราศจากกระบวนการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ก็นำไปสู่ปัญหาโครงสร้างได้ 

แนวคิดที่สองเชื่อว่าเทคโนโลยีอาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ถ้าสังคมจัดการได้ดี เช่น มีกฎหมายทางเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะทำให้สังคมจัดระเบียบตัวเองได้ กล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นตัวนำ ยกตัวอย่างในปัจจุบันที่เราอาจจะยังไม่มีวัคซีนที่ดีที่สุด แต่ถ้ารัฐบาลกระจายวัคซีนได้ดี สังคมก็จะดีขึ้น 

แนวคิดสุดท้าย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผมเชื่อ คือการพัฒนาควบคู่กันระหว่างเทคโนโลยีกับการจัดการทางสังคม ถ้าเทคโนโลยีออกแบบมาดี และสังคมก็ออกแบบมาดีด้วย ก็จะมอบประโยชน์สูงสุดให้สังคม

อย่างไรก็ตาม ต่อให้จะมีเทคโนโลยีที่ดีขนาดไหน แต่ถ้าเอาไปใช้ผิดพลาด เช่น เอาไปทำอาวุธหรือก่อสงคราม ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นการทำลายล้างสังคมได้ ดังนั้นการเข้าใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และศิลปะแล้วโยงเข้าหากันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คนที่สร้างเทคโนโลยีต้องพึงตระหนักว่า สิ่งที่เราทำอยู่อาจไปตอกย้ำหรือสร้างปรากฏการณ์บางอย่างให้สังคม 

อาจารย์ผมเคยกล่าวว่า ทุกๆ นวัตกรรมที่เราสร้างมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เช่น ยุคสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ มีการสร้างสะพานจำนวนมากเพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น หนึ่งในสะพานที่สร้างขึ้นเป็นสะพานที่กั้นระหว่างชายหาดกับทางหลวง แล้วเขาก็พบว่าสะพานนี้ทำให้คนผิวดำไม่สามารถไปทะเลได้ เพราะคนผิวดำในขณะนั้นไม่มีรถส่วนตัว ต้องอาศัยรถบัส แต่ขนาดของรถบัสไม่สามารถเคลื่อนผ่านสะพานนี้ได้เพราะมันเตี้ย เขาก็ชี้ว่าเทคโนโลยีเล็กๆ อย่างการสร้างสะพานก็สามารถสร้างการกีดกันและความเหลื่อมล้ำได้

ขยับมาที่เรื่องธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกับทั้งโครงสร้างทางสังคมและนวัตกรรม ถามคุณพิริยะในฐานะนักธุรกิจว่าธุรกิจในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ยังไปต่อได้ไหม

พิริยะ : ปัจจุบันมีการพูดถึง digital transformation มากขึ้น ในหลายธุรกิจมีการนำเทคโนโลยี เช่น เอไอ บิ๊กดาต้ามาช่วยในการทำงาน แต่หลายๆ องค์กรที่ผมมีโอกาสพูดคุยมาบอกว่าไม่ใช่แค่ digitalize แต่ต้อง humanize หรือเปลี่ยนคนควบคู่กันไปด้วย

ปัญหาที่หลายองค์กรเจออยู่ คือการเปลี่ยนสภาพวัฒนธรรมองค์กรจากแบบเดิมไปสู่แบบใหม่ (cultural transformation) ความอนุรักษนิยมเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ไม่ใช่แค่แวดวงการเมือง ระบบราชการ หรือระบบการศึกษา แต่อยู่ในที่ทำงานด้วย วัฒนธรรมที่ผู้น้อยต้องทำตามผู้ใหญ่ อย่าตั้งคำถาม อย่าแหกกฎ ไม่ได้นำพาให้ผ่านวิกฤตนี้ได้ ธุรกิจที่อยากจะรอดในช่วงนี้ต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังความเห็นคนอื่น เริ่มจากการเข้าใจผู้ใช้ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้คล่องตัว รับฟังเสียงคนในองค์กรไม่ว่าจะวัยวุฒิไหน ตำแหน่งไหน เสียงของคนเหล่านี้จะสามารถพาธุรกิจไปข้างหน้าได้ กระบวนการเหล่านี้คือการขยับเข้าสู่ความเป็นเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

องค์กรไหนยังใช้เส้นสายหรือวัฒนธรรมเดิมในการทำงาน เราจะเห็นการเติบโตที่น้อยลงหรือเห็นคนรุ่นใหม่กระโดดออกมาอยู่ในพื้นที่ที่ได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ เช่น ทำสตาร์ตอัป หรือลงทุนในตลาด Crypto Currency ถ้าดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ไม่เอื้อให้โตก็ทำให้คนเหล่านี้ตั้งคำถามว่าจะอยู่ในประเทศนี้ต่อไปรึเปล่า เราไปใช้ศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองให้เต็มที่ในประเทศอื่นที่เขาเปิดรับดีกว่าไหม อาจสามารถสร้างงานและรายได้ดีกว่าอยู่ที่เดิมหรือเปล่า   

หากจะตั้งหลักใหม่ในสังคมไทยจะเริ่มที่เรื่องไหนก่อน และจะทำอย่างไรถึงจะเดินไปถึงจุดที่เราอยากให้เป็น

จตุภัทร์ : หลักที่ดีต้องเริ่มที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถยึดอยู่กับตัวบุคคลได้ตลอด มนุษย์แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ แต่ถ้าโครงหลักมั่นคง สังคมก็มีตัวยึด ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เป็นเพราะรัฐไม่ยึดกฎหมายสูงสุด เช่น ชาวบ้านร้องเรียนในประเด็นปัญหาทรัพยากรโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่รัฐและนายทุนใช้กดปราบชาวบ้าน คือการออก พ.ร.บ. หรือนโยบายต่างๆ ซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก พอเราไม่ยึดรัฐธรรมนูญ กฎหมายก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ประเทศไทยก็ไม่เหลือหลักอะไรเลย 

ฉะนั้นถ้าจะกลับมาตั้งต้นในสังคมที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ ผมคิดว่าต้องจัดสรรกฎหมายใหม่ ปรับให้ทันยุคสมัยกับสังคม ต้องยอมรับว่ามีคนอยู่ร่วมกันหลายรุ่น การออกแบบโครงสร้างทางการเมืองควรจะเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตอกย้ำให้เห็นว่าจินตนาการโลกในอีก 20 ปีของคุณประยุทธ์ต่างจากเรา เรามองโลกอีกแบบหนึ่งแต่ทำไมไม่มีโอกาสกำหนดประเทศนี้ ทำไมต้องเป็นเขาเท่านั้นที่กำหนด ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในการวางโครงสร้าง

กระบวนการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ อันดับแรกต้องเปลี่ยนความเชื่อ ต้องทำให้ประชาชนตระหนักว่าพวกเราต้องช่วยกันสร้าง กฎหมายอันเป็นหลักการสูงสุดที่จะกลายเป็นโครงสร้างของบ้านเมือง เพราะไม่มีใครมาปกป้องพวกเรานอกจากพวกเราเอง ฉะนั้นควรเริ่มจากบรรทัดฐานการเมืองที่ทุกคนมาแสดงออกได้ บรรยากาศปัจจุบันที่ใครออกมาแสดงความคิดเห็นก็โดนจับ ไม่ได้นำมาซึ่งการมีส่วนร่วม แต่ถ้าเราทำให้กฎหมายเป็นของทุกคนและทุกคนร่วมกันออกแบบ คนจะเคารพกฎหมายนี้เอง

ถ้าเราแก้รัฐธรรมนูญได้ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการกลับมาอยู่ในร่องในรอย บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างจะทำให้คนกล้าแสดงออกมากขึ้น ประเด็นปัญหาไหนที่ยังไม่ตกผลึก เมื่อคนในสังคมมีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน จะทำให้เห็นทางแก้หรือทางออกของปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น

พัทน์ : ผมเห็นด้วยว่าเราอยู่ในสังคมที่มีจินตนาการแตกต่างกันออกไป จึงอยากเสนออีกจินตนาการซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า ทุกๆ การปฏิวัติเกิดขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นเทคโนโลยี เช่น การเรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากจากอุตสาหกรรมหนักมาเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล หรือการปฏิวัติในฝรั่งเศสก็เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นถ้าเราจะมองการปฏิวัติในอนาคตข้างหน้า เราจะต้องมองเห็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น

เราบอกว่าศาลก็ช่วยไม่ได้ เพราะศาลดำเนินงานโดยคน และคนไม่มีความยุติธรรมเลย ดังนั้นจะเป็นอย่างไรถ้าประเทศไทยจะเปลี่ยนให้เอไอมาบริหารเพื่อขจัดปัญหาอคติจากมนุษย์ในกระบวนการยุติธรรม มีคนบอกว่าเราฉีกรัฐธรรมนูญกันบ่อย ดังนั้นจะเป็นอย่างไรถ้ารัฐธรรมนูญอยู่ในบล็อกเชนหรือเครือข่ายบางอย่างที่กระจายศูนย์ (decentralized) ซึ่งไม่มีให้ฉีกอีกแล้ว 

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต จะไม่ใช่การกลับไปสู่กติกาเดิมแล้วเปลี่ยนคนเล่น แต่จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนกติกา แล้วเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ ตอนนี้ที่อเมริกาเริ่มมีการตั้งคำถามถึงการเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาบริหารองค์กร มีการทดลองในบางหน่วยงานให้ไม่ต้องมีผู้นำเป็นมนุษย์ แต่ให้เอไอทำหน้าที่ประมวลผลและแจกจ่ายงาน ควบด้วยหน้าที่วิเคราะห์ความต้องการคนและประมวลผลออกมา ต่อไปสงครามจะไม่ใช่ใครสู้กับใครแล้ว แต่เป็นการแย่งชิงการเข้าถึงและครอบครองเอไอ วิทยาการเหล่านี้เปลี่ยนวิธีการที่เรามองการเมืองไปตลอดกาลเลย

ด้านการศึกษา หลายคนกลัวว่าเทคโนโลยีจะแย่งงานมนุษย์หรือเปล่า เช่น virtual influencer ที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่คนกดติดตามเป็นล้าน ขณะเดียวกันเราต้องมองให้เห็นว่าเทคโนโลยีสร้างงานใหม่ๆ มากขึ้น เมื่อก่อนที่ไม่มีเอไอ เราต้องทำงานที่ควบคุมเองหลายอย่าง แต่พอมีเอไอเข้ามาแทน เราก็มีอิสระที่จะไปทำอย่างอื่นได้ การศึกษาในอนาคตจึงต้องตั้งคำถามว่า เด็กที่จะเติบโตมาในโลกที่เอไอ หุ่นยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์อัจฉริยะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจะเติบโตไปทำหน้าที่อะไร และงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร 

ที่ MIT Media Lab มีแนวคิด 4P Creative Learning ส่งเสริมให้เด็กค้นพบสิ่งสนใจและหลงใหล (passion) ผ่านการทำโปรเจ็กต์ (project) เพื่อให้เด็กมีทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่นและมีเพื่อน (peers) ซึ่งระหว่างการทำโปรเจ็กต์เด็กก็จะได้เล่นสนุก (play) สิ่งเหล่านี้จะจุดประกายให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ที่ว่าต่อให้โลกเปลี่ยนไปอย่างไร เราจะยังสามารถคิดสิ่งใหม่ๆ ออกมาได้ 

ในแวดวงธุรกิจในอนาคต เราต้องมองหาพรมแดนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโลกนี้เปลี่ยนไป ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจนอาจไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ฤดูไหน ฉะนั้นเราต้องตั้งคำถามถึงทรัพยากรหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เราอาจจะยังไม่ได้ประยุกต์เข้าไปในวันนี้ เช่น องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) มีภารกิจขุดเจาะพื้นผิวดวงจันทร์และดาวอังคาร ปูทางสู่ความเป็นไปได้ที่จะทำเหมืองบนพื้นผิวดาวเคราะห์อื่นที่ไม่ใช่โลก อีกธุรกิจที่น่าสนใจคือการสร้างคุณค่าใหม่ๆ ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น บนโลกออนไลน์ที่มีการใช้มีม (meme) อย่างแพร่หลาย ปัจจุบันสามารถซื้อขายกันได้ แม้งานศิลปะนั้นจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัล แต่ก็มีการเข้ารหัสให้รู้ว่ามีชิ้นเดียวในโลก (Non-Fungible Token: NFTs art) โดยสรุป เทคโนโลยีทำให้เกิดคุณค่าหรือธุรกิจแบบใหม่เกิดขึ้น

พิริยะ : ผมมองว่าในวันที่อำนาจยังไม่อยู่ในมือประชาชนเต็มที่และเทคโนโลยียังไม่พร้อม การสร้างการเปลี่ยนแปลงจะต้องตั้งหลักที่วิธีการสื่อสาร วิธีการเล่าเรื่องของคนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 

งานของศาสตราจารย์ Erica Chenoweth จาก Harvard Kennedy School ที่ทำการศึกษาการระดมมวลชนเคลื่อนไหว (mass mobilization) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองกว่า 323 ขบวนการจากทั่วโลกในระหว่างปี 1900-2006 ผลการศึกษาชี้ว่าการเคลื่อนไหวที่ใช้ความรุนแรง (violent movement)  มีโอกาสสำเร็จประมาณ 25% แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงได้ จะเป็นเผด็จการคนใหม่ที่ขึ้นมาปกครอง พูดให้เข้าใจง่ายคือเปลี่ยนแล้วก็ยังเจ็บปวดกันอีกแบบการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ถ้าใช้การเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี (non-violent movement) มีโอกาสสำเร็จประมาณ 53-55% และได้ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นกว่า ข้อสรุปที่น่าสนใจอีกประการคือ ถ้าผู้นำการเปลี่ยนแปลงคนไหนสามารถรวมประชาชนได้ 3.5% จากประชากรทั้งหมด การเรียกร้องมีโอกาสสำเร็จสูง

ถ้าอิงตามกฎ 3.5% ตีเป็นตัวเลขในไทยก็ประมาณ 2 ล้านคน  ถ้าเราอยากจะสร้างความแข็งแกร่งให้ขบวนการ คนที่อยู่ข้างเราอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องเริ่มเปิดใจฟังคนที่เห็นต่าง และดึงให้เขาก้าวเข้ามาอยู่ในเส้นที่เชื่อว่าเราอยู่ร่วมกันในประเทศนี้ได้ ตอนนี้ความหลากหลายของคนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงยังน้อยไป ถ้าหลังจากนี้เรามีกลยุทธ์การสื่อสาร เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้คน ไม่ใช่ผลักเขาออกไป เชื่อว่าจะไปถึง 3.5% ได้เร็วขึ้น 

อยากชวนกันมาออกแบบหน้าตาสังคมในอนาคตหน่อยว่า สังคมแบบไหนที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น

จตุภัทร์ : ผมอยากเห็นภาพที่คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศนี้และมาออกแบบร่วมกัน เราอาจไม่รู้ว่าประเทศจะพัฒนาไปทิศทางไหน แต่การที่คนรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของประเทศนี้ เราสามารถเลือกได้ แบ่งปันได้ว่าอยากให้สังคมเป็นแบบไหน อย่างน้อยก็สร้างความหวังได้บ้าง เหมือนคนในกลุ่มย้ายประเทศ (‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’) เขาสามารถจินตนาการได้ว่าไปอยู่ประเทศนั้นประเทศนี้ คุณภาพชีวิตน่าจะดี นี่คือบรรยากาศที่รัฐควรให้กับประชาชน ไม่ใช่บังคับทุกทาง พอไม่เป็นในแบบที่เขาอยากให้เป็นก็ถูกผลักเป็นศัตรู

สังคมที่ผมอยากเห็นอีกประการจากมุมมองคนต่างจังหวัด คือการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง ปัญหาทุกวันนี้คือการรวมศูนย์อำนาจรัฐไว้ที่ส่วนกลาง ในแต่ละภูมิภาคมีบริบทวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ทำไมการพัฒนาต้องเป็นเหมือนกัน ทำไมคนจะต้องเป็นเหมือนกันหมด ทำไมการพัฒนาจะแตกต่างไม่ได้ ทำไมไม่มีการกระจายทรัพยากร ทุกวันนี้มีแค่กรุงเทพฯ ที่มีรถไฟฟ้า ทุกคนก็เสียภาษีแต่ทำไมทุกอย่างไปกระจุกอยู่กรุงเทพฯ หมด

กรณีที่คนบางกลอยต้องไปเรียกร้องอยู่กรุงเทพฯ ทำให้เห็นชัดเลยว่าอำนาจในภูมิภาคไม่สามารถตัดสินใจเรื่องนี้ได้ ดังนั้นปัญหาทุกอย่างเลยต้องไปรวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะคนตัดสินใจอยู่ที่นั่น ในฐานะคนต่างจังหวัดจึงอยากบอกว่าคนกรุงเทพฯ อยากมีอะไร คนต่างภูมิภาคก็อยากมีเหมือนกัน 

พัทน์: ผมอยากเห็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผมเองไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกัน แต่ก็สามารถไปร่วมออกแบบการฉีดวัคซีนให้เมืองบอสตัน สังคมที่ดีต้องเชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กๆ ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด ทุกคนสามารถบอกได้ว่าสิ่งไหนเราชอบ-ไม่ชอบ สิ่งไหนดี-ไม่ดี ที่อเมริกา นักศึกษาถูกปฏิบัติเทียบเท่ากับอาจารย์ เพราะเขาก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมได้ ผมมองว่านี่คือการเดินไปข้างหน้าอย่างมีเกียรติภูมิ การอยู่ในสังคมที่เคารพความเป็นมนุษย์จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด พอมองคนเท่ากันก็จะต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นได้ 

ในวันนี้ที่สังคมไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้าให้รอเปลี่ยนรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้จะได้เห็นเร็วๆ นี้ไหม หนึ่งในสิ่งที่จะมาผลักดันไปสู่สังคมที่โอบรับคนทุกคนได้เร็วกว่านั้นคือแพลตฟอร์มสำหรับส่งเสียงในเรื่องที่อาจจะพูดไม่ได้บนพื้นที่สาธารณะในโลกออฟไลน์แต่พูดได้บนออนไลน์ โจทย์ทางเทคโนโลยีที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เสียงในโซเชียลแพลตฟอร์มดังขึ้นจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ทุกวันนี้ต่อให้จะอยู่ที่ไหนบนโลก ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ทั้งสิ้น เด็กยุคนี้มองไปไกลถึงการเป็นพลเมืองโลกที่ไม่ยึดติดอยู่กับชาติใดชาติหนึ่ง ถ้าเขามีศักยภาพและอยากออกไปก็ไม่ควรห้าม สุดท้ายสิ่งที่เขาทำจะกลับมาช่วยประเทศได้ เช่น ผมร่วมออกแบบการกระจายวัคซีนให้บอสตัน พอเห็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพก็ได้แบ่งปันและพัฒนาโมเดลการฉีดวัคซีนสำหรับใช้ในไทยร่วมกับกลุ่ม HackVax

พิริยะ:  กระบวนการที่เมืองไทยจะไปรอดและเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้คือการกระจายอำนาจ เพื่อไปสู่สามอย่างที่อยากเห็น ได้แก่

มีกิน สถานการณ์โควิดในปัจจุบันฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยจะมีกินเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย ดังนั้นการทำให้คนมีกินเป็นพื้นฐานหลักและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐต้องจัดการ

มีเกียรติ นโยบายการให้แบบสงเคราะห์ที่คนต้องมาแย่งกันลงทะเบียนในแอปพลิเคชันกดทับความเป็นมนุษย์ของคนไทย ทุกคนที่ได้รับการดูแลจากรัฐไม่ควรจะรับด้วยความรู้สึกว่าได้รับการสงเคราะห์หรือได้รับความเมตตา เพราะมันคือเงินภาษี คือสิ่งที่เราสร้างมาร่วมกัน ส่วนตัวอยากให้ผลักดันรัฐสวัสดิการ เช่น แนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) ซึ่งไม่ได้มองว่าเป็นการแจกเงิน แต่เป็นการผลักดันคนที่อยู่ต่ำกว่าฐานรากให้ขึ้นมาจากเส้นความเหลื่อมล้ำนั้นได้เร็วขึ้น เราจะแบ่งภาษีจากคนมั่งมีมาทำให้สังคมเป็นธรรมกับทุกคนมากขึ้น

มีโอกาส ทุกวันนี้ความเป็นไปได้ของโอกาสน้อยมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องอยู่ไปอีกราวๆ 60 ปี ดูเป็น 60 ปีที่น่ากลัวและสิ้นหวังมาก การเปลี่ยนให้พื้นที่นี้ของประเทศให้ดูมีโอกาสได้ต้องแก้ที่โครงสร้าง ขจัดการออกนโยบายที่เอื้อให้คนตัวใหญ่ๆ เช่น เรื่องคราฟต์เบียร์ การเกษตร หรือตลาดคริปโตฯ วิธีคิดของผู้มีอำนาจทุกวันนี้เป็นการกดไม่ให้คนมีโอกาสมากเกินไป พอคนฝันว่าไปอยู่ประเทศอื่น แม้จะแค่วางแผนไว้ คุณยังจะไปปิดกลุ่มเขาเลย อันนี้เป็นการกดทางวิธีคิดที่น่ากลัวมาก ไทยกลายเป็นประเทศที่ไม่อนุญาตให้คนมีโอกาส มีความหวัง หรือแม้แต่ความฝัน 

ผมเชื่อว่าสามสิ่งที่อยากเห็นจะเกิดขึ้นได้ เราจะต้องหาเรื่องเล่าใหม่ (new narrative) มาร่วมกันนิยามสิ่งต่างๆ รอบตัวในประเทศไทยว่าควรจะเป็นแบบไหน เช่น เด็กดีของสังคมไทยควรจะเป็นอย่างไร เราสอนให้เด็กกล้าแสดงออก แล้วพอเด็กตั้งคำถาม ผู้ใหญ่ทำอย่างไรกับเขา นิยามของผู้บริหารที่ดีควรเป็นคนดีหรือคนมีศักยภาพ หรือนิยามของวัฒนธรรมไทย สามารถฉีกออกจากขนบเดิมได้ไหม ซีรีส์วายที่คนต่างประเทศเปิดรับมากกว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมควรถูกจัดให้เป็นวัฒนธรรมไทยด้วยหรือเปล่า

ในวันนี้ไม่ว่าจะอยู่ช่วงวัยไหน ต้องยอมรับได้แล้วว่าเรามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เราต้องการเรื่องเล่าแบบใหม่และสิ่งยึดเหนี่ยวแบบใหม่ในการยึดเกาะ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน เราไม่สามารถผลักใครออกจากประเทศได้ เราไม่มีทางเลือกนอกจากพยายามมองตาเงี่ยหูฟังกันและพูดคุยเพื่อหาเส้นเรื่องที่ทุกคนยอมรับร่วมกันได้

เรื่องเล่าหลักที่จะเปลี่ยนความคิดความเชื่อของสังคม ควรจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับอะไร

พิริยะ : ผมสนใจอยู่สองวาทกรรมที่ได้ยินบ่อยๆ กัน วาทกรรมแรกคือ คนขายชาติ ส่วนตัวมองว่าเราชาติขายไม่ได้ ถ้าถามว่า เรื่องเล่าของชาติคืออะไร สำหรับผมชาติคือประชาชนในประเทศนี้ ถ้าเราอยากพัฒนาชาติ น่าจะมาตั้งคำถามกันใหม่ว่าชาติคืออะไรกันแน่ อย่างคุณประยุทธ์ก็บอกว่าทำเพื่อชาติตลอด แต่นิยามชาติแบบคุณประยุทธ์เหมือนกับอีกหลายๆ คนหรือไม่ ถ้าเรามองว่าชาติคือประชาชน เราจะตั้งคำถามว่าต้องทำอย่างไร ประชาชนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

วาทกรรมที่สองคือ ไท ที่แปลว่าอิสระ อิสรภาพเป็นสิ่งที่คนไม่เคยสูญเสียจะไม่ค่อยรู้คุณค่าหรือเข้าใจความเจ็บปวดของการขาดอิสระ ยกตัวอย่างเด็กโรงเรียนอินเตอร์ฯ ไม่เคยถูกบังคับเรื่องทรงผม จบไปก็ทำงานต่างชาติ ไม่เคยเจอการกดทับในระบบ เขาจะไม่เข้าใจความสูญเสียนี้ ดังนั้นต้องพึงตระหนักว่าไม่มีใครอยากเสียอิสรภาพเหล่านี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการคิด การถาม หรือการแสดงออก ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา แต่ทุกวันนี้ถูกกดและบังคับให้มีความเป็นไทยแบบเดียว จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถคงความหลากหลายในเสรีภาพนั้นได้ เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกันอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเล่าที่ควรเปลี่ยน

พัทน์ : ผมเชื่อว่าเราอยู่ในโลกที่ทุกคนสามารถสร้างเรื่องเล่าของตัวเองขึ้นมาได้ ทุกคนไม่ได้ถูกดึงดูดเข้าหากันด้วยเรื่องเล่าเพียงรูปแบบเดียว ความแตกต่างหลากหลายของเรื่องเล่าคือสิ่งสะท้อนความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แตกต่างหลากหลายและมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม

เรื่องเล่าอีกประการที่อยากเห็น คือเรื่องเล่าที่ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การที่เราเห็นทุกอย่างเป็นงานที่ยังทำไม่เสร็จ ทำให้เราสามารถทดลองแนวคิดใหม่ๆ ผิดพลาด ล้มเหลว และเรียนรู้ได้ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่เราจะทำ ถ้าเรามองว่าสิ่งที่เราทำเป็นงานโบว์แดงชิ้นสุดท้าย เราจะยอมรับความผิดพลาดและก้าวต่อไปได้ยาก อะไรที่เรามองว่าทำสำเร็จแล้ว เช่น การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปศาสนา ที่จริงแล้วเป็นแค่จุดเริ่มต้นจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากเห็นเรื่องเล่าที่มีวิวัฒนาการ ค่อยๆ ขยับขับเคลื่อนไปข้างหน้า

จตุภัทร์ : ผมคิดว่าถ้าเราอยากให้ประเทศนี้เป็นอย่างไร เราต้องสร้างเรื่องเล่าที่อยากเล่าขึ้นมาเอง ตัวอย่างเช่นการต่อสู้ของประชาชนในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 1980 รัฐบาลเผด็จการทหารไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ถูกเขียนว่าตัวเองเป็นตัวร้าย เป็นเผด็จการที่ใช้กฎหมายอย่างไม่ชอบธรรม ออกรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้นานขึ้น เอากลุ่มก้อนตัวเองเข้าไปอยู่ในอำนาจ และยังมีการจับขัง เข่นฆ่าผู้ประท้วง สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง 

แต่ท้ายสุด เผด็จการเหล่านี้ก็ถูกโค่นล้ม ต้องมารับผิด ติดคุก โดนยึดทรัพย์ เกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ เรื่องเล่าที่สวยงามแบบนี้เกิดจากการที่ประชาชนกลุ่มก้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา แรงงาน ออกมาต่อสู้เรียกร้องจนได้ชัยชนะ ดังนั้นแล้ว การกระทำของทุกคนล้วนเป็นเรื่องเล่า การต่อสู้ทางการเมืองของพวกเราก็จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ถูกส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานเช่นกัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save