fbpx

ถอดบทเรียนความเคลื่อนไหว เข้าใจหลากมิติกลุ่ม ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ส’

ตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ชื่อของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ และภาพการชุมนุมปะทะกันบริเวณย่านสามเหลี่ยมดินแดง แปรเปลี่ยนย่านที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อมภายใต้ม่านควันแก๊สน้ำตา เคล้าด้วยเสียงระเบิดปิงปองและกระสุน กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ในมุมหนึ่ง ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงแนวทางการปราบปรามและการใช้กำลังของรัฐไทย ทว่าในขณะเดียวกัน สังคมบางส่วนก็ตั้งคำถามถึงกลุ่มที่เรียกตนเองว่า ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ส’ ที่เป็นกำลังหลักในการชุมนุมครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการชุมนุมที่ดินแดงเปลี่ยนรูปแบบจากการชุมนุมของเยาวชนในปีที่แล้ว กลายเป็นการใช้กำลังปะทะ หรือที่หลายคนมองว่าเป็นการใช้ ‘ความรุนแรง’ รูปแบบหนึ่ง ทำให้กลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สถูกหลายคนตีตราว่าเป็นกลุ่มอันธพาลหรือกลุ่มที่ชอบใช้กำลัง

ในห้วงยามที่การเมืองไทยยังแหลมคม พร้อมกับการที่สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงเหตุการณ์การเมืองในปัจจุบัน นักวิชาการผู้ซึ่งเคยลงพื้นที่และพยายามทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ในปีที่แล้วอย่าง กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วยธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้ช่วยวิจัยและผู้สื่อข่าวจาก Plus Seven ลงพื้นที่การชุมนุมของคนรุ่นใหม่บริเวณม็อบดินแดงอีกครั้ง จนกลายเป็นงานวิจัย “การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564” ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่เก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ ‘ม็อบดินแดง’ อย่างรอบด้านและเป็นระบบ

101 ชวนอ่านข้อค้นพบสำคัญของรายงานดังกล่าว พร้อมทั้งต่อยอดจากงานวิจัยด้วยทัศนะและข้ออภิปรายเกี่ยวกับม็อบดินแดง เพื่อหาคำตอบว่าเราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ‘ทะลุแก๊ส’ อย่างไร อะไรคือความฝันและแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหว ทางออกของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน อะไรคือประเด็นที่สังคมไทยต้องมาขบคิดร่วมกัน

หมายเหตุ – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 Public Forum ‘ทำไมต้องทะลุแก๊ส’ เข้าใจหลากมิติม็อบดินแดง วันอังคารที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น.

ทำไมต้อง ‘ทะลุแก๊ส’: อ่านไวยากรณ์ที่เปลี่ยนไปของม็อบดินแดง

-1-

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ผู้วิจัยจากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า หากการลุกขึ้นมาส่งเสียงของคนรุ่นใหม่ ม็อบนักเรียนนักศึกษา หรือกลุ่มนักเรียนมัธยมในปีที่แล้วได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับการชุมนุม ภาพการชุมนุมบริเวณย่านดินแดงของ ‘ม็อบทะลุแก๊ส’ ก็ได้เปลี่ยนภาพของการชุมนุมไปอีกครั้งหนึ่ง ภาพการปะทะกันของทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมทำให้คนจำนวนมากเกิดคำถามว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นใคร เป็นคนกลุ่มเดียวกับปีที่แล้วหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงเลือกชุมนุมบริเวณย่านดินแดงและใช้วิธีการที่แตกต่างจากปีที่แล้วอย่างชัดเจน

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

“ถ้าพูดให้ชัดขึ้น คำถามที่หลายคนมีและอยากจะเข้าใจคือ ปีที่แล้วเป็นปีที่เราเห็นภาพการชุมนุมแบบสันติวิธี เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์เกินจินตนาการของคนรุ่นใหม่ แต่ทำไมปีนี้วิธีการเคลื่อนไหวกลับกลายเป็นการเผชิญหน้า ปะทะ และตอบโต้กับเจ้าหน้าที่”

แม้คำถามดังกล่าวจะเป็นคำถามที่ควรค่าอย่างยิ่งแก่การค้นหาคำตอบ ทว่ากนกรัตน์ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยอาจจะไม่อยากหาคำตอบหรือพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้นัก เพราะยุทธศาสตร์การเผชิญหน้าและปะทะกันที่ม็อบทะลุแก๊สใช้ก่อให้เกิดมายาคติ (myth) ทำให้คนมองว่าผู้ชุมนุมเป็นเด็กอันธพาล ยากจน หรือเน้นความรุนแรงไปเสียก่อนแล้ว

เพื่อหาคำตอบว่า จริงๆ แล้วเยาวชนที่ดินแดงเป็นใคร วาดภาพฝันทางการเมืองอย่างไร และอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาเลือกที่จะออกมาชุมนุมเช่นนี้ กนกรัตน์และทีมวิจัยจึงได้ลงพื้นที่และสัมภาษณ์เชิงลึก โดยเลือกจากผู้ร่วมชุมนุมที่อยู่แนวหน้าและมาร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่องประมาณ 30 คน และมีแผนจะสัมภาษณ์เพิ่มในอนาคต

“ข้อค้นพบแรกที่น่าสนใจและเป็นจุดร่วมกับการชุมนุมที่ปีที่แล้วคือ พวกเขาเป็นเยาวชนอายุน้อย มีกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเกิน 40% กับอีกช่วงวัยคืออายุ 21-24 ปีซึ่งเป็นช่วงเพิ่งเริ่มทำงานและกำลังตั้งตัว แต่จุดที่แตกต่างกันคือ ถ้าคนส่วนมากที่มาร่วมชุมนุมปีที่แล้วเป็นลูกหลานชนชั้นกลาง มาจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีผลการเรียนดีและมีอนาคต คนที่มาร่วมชุมนุมในม็อบทะลุแก๊สอาจจะเรียกได้ว่าเป็นลูกหลานของชนชั้นล่างในทุกมิติ ทว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กไม่มีอนาคต แต่เป็นหัวกะทิระดับต้นๆ ของชนชั้นล่าง ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด อาจจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ เริ่มมีเงินลงทุน แต่ทุกอย่างหายไป พวกเขาถูกดึงกลับไปสู่เส้นความยากจนอีกครั้งเมื่อเกิดโควิดและได้รับผลกระทบจากนโยบายการแก้ปัญหาโควิด”

กนกรัตน์ยังชี้ให้เห็นต่อว่า คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการศึกษา โอกาสทางเศรษฐกิจที่หายไป ไปจนถึงการถูกกดขี่และล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้ำร้าย ด้วยความที่เยาวชนกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบที่มีอายุน้อย ทำให้พวกเขาพลอยโดนปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐด้วย

ทั้งนี้ จากข้อค้นพบในรายงาน หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและควรค่าแก่การขบคิดอย่างยิ่งคือเรื่องการศึกษา กล่าวคือหากเยาวชนปีที่แล้วมองว่าการศึกษาจะทำให้พวกเขามีอนาคตที่ดีและสมบูรณ์ขึ้น เยาวชนในม็อบดินแดงกลับมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ได้สอดคล้อง (irrelevant) กับวิถีชีวิตของพวกเขาเลย ดังจะเห็นได้จากระดับการศึกษาของม็อบดินแดงที่ค่อนข้างต่ำกว่าเยาวชนในปีที่แล้ว

“ปัญหาไม่ใช่แค่การศึกษาไม่มีคุณภาพ แต่การศึกษาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนเปราะบางทางเศรษฐกิจเลย” กนกรัตน์กล่าว “พ่อแม่ของเยาวชนจำนวนมากไม่สามารถส่งเสียเขาได้ แต่ที่สำคัญคือการศึกษาไม่สามารถทำให้เขาอยู่รอด ไม่สามารถใช้ทำมาหากินได้ พวกเขาจึงไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเรียน”

“อีกเรื่องคือ พวกเขามักได้รับผลกระทบหรือมีประสบการณ์ตรงจากการถูกล่วงละเมิดหรือกดขี่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ด้วยความที่พวกเขาอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและยากจน ทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาๆ เยอะมาก เดินไปหน้าปากซอยก็อาจจะโดนไถเงิน รีดของ ถูกยัดยา จะเห็นว่าพวกเขาเปราะบางยิ่งกว่ากลุ่มคนยากจนเสียอีก”

คำถามสำคัญต่อมาคือ อะไรทำให้เยาวชนตัดสินใจเดินออกมาบนท้องถนนและเข้าร่วมการชุมนุมที่ดินแดง – กนกรัตน์เปรียบเทียบให้เห็นว่า สำหรับเยาวชนในปีที่แล้ว เงื่อนไขแรกที่ค่อนข้างชัดเจนคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการทำลายเครื่องมือหรืออำนาจทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่พยายามสร้างขึ้น ผนวกกับปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพและการหายตัวไปของวันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) ที่เป็นเหมือนปัจจัยกระตุ้น (trigger factor) ที่ทำให้พวกเขาลุกฮือออกมา

“แต่ถ้าเป็นในปีนี้ ปัจจัยกระตุ้นคือความเพิกเฉยต่อความรุนแรงและความสามารถในการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลยังไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนในปีที่แล้ว ทำให้หลายคนทั้งเข้าร่วมชุมนุมในปีที่แล้วและยังมาชุมนุมต่อในปีนี้ที่ดินแดง เพราะเขามองว่าสันติวิธีแบบเดิมไม่ได้ผล ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงพวกเขา แต่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร”

“อีกประเด็นคือภาพการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายคนเล่าถึงคลิปวิดีโอที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อเยาวชน ถีบรถมอเตอร์ไซค์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่ลงไปช่วยเหลือ จริงๆ ต้องยอมรับแหละว่ามีทั้งที่ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงและเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง แต่ภาพที่ติดตาคนกลุ่มนี้คือภาพที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายเด็กและผู้หญิง เพราะมันสะท้อนภาพที่พวกเขาเคยโดนเจ้าหน้าที่ล่วงละเมิดหรือกดขี่ด้วย”

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ทำให้กนกรัตน์กล่าวว่าตนเองค่อนข้างประหลาดใจคือการขยายตัวของความคิดทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพและพลังของคนธรรมดาในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง ตัวเลขจากการสำรวจพบว่าคนที่เข้าชุมนุม 60-70% เพิ่งสนใจการเมืองปีนี้เป็นปีแรก ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่ตามการเมืองจริงจังมาก่อน แต่สาเหตุที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐห้ามการแสดงออกทางการเมือง

“เยาวชนกลุ่มนี้มองว่านี่คือสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิปกติที่ทุกคนทำได้ และยังกล่าวถึงปัญหาโควิดโดยการเชื่อมโยงว่าที่มาของปัญหามาจากนโยบายของรัฐ ไม่ได้โทษชะตาฟ้าลิขิตหรือบุญกรรมแบบที่สังคมเข้าใจ เพราะฉะนั้น แม้เขาจะไม่ได้สนใจการเมืองมานานหรือไม่ได้มีความรู้ทางการเมืองที่ลึกซึ้ง แต่พวกเขาเชื่อมโยงมันกับปัญหาที่มาจากนโยบายของรัฐได้”

ทั้งนี้ หลายคนคงจำได้ดีถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเยาวชนในช่วงปีที่แล้วที่สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งยิ่งใหญ่ในการเมืองไทย ทว่าสำหรับเยาวชนม็อบดินแดง กนกรัตน์ชี้ว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ใช่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเช่นนั้น แต่เป็นความต้องการจะให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงและรับรู้ปัญหา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการถูกล่วงละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งดูจะเป็นหนทางการแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นรูปธรรมที่สุดและรวดเร็วที่สุดในความคิดของพวกเขา

อีกหนึ่งความแตกต่างสำคัญคือ การที่ม็อบในปีที่แล้วเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ลงทุนน้อยได้ความสนใจเยอะ โดยใช้โลกออนไลน์ผนวกกับจินตนาการที่ไปไกลกว่าคนรุ่นก่อนหน้าเป็นแรงผลักดัน แต่สำหรับม็อบดินแดง พวกเขาเลือกแนวทางการปะทะและตอบโต้ ซึ่งกนกรัตน์ได้ข้อสรุป 4 ข้อหลักๆ ว่าทำไมกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สจึงเลือกใช้วิธีปะทะและตอบโต้ ดังนี้:

ประการแรก เยาวชนม็อบดินแดงมองว่าการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีไม่มีประสิทธิภาพ คืออาจจะก่อให้เกิดการรับฟังแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เยาวชนหลายคนที่กนกรัตน์และคณะได้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า พวกเขาไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางปะทะกันสักเท่าไหร่ แต่ชอบการเคลื่อนไหวแบบม็อบ REDEM คือจัดอยู่ที่หนึ่งและเคลื่อนไปอีกที่หนึ่ง แต่พวกเขาก็มาชุมนุมที่ดินแดงเพื่อช่วยผลักดันแนวทางอื่นๆ ที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ประการที่สอง ม็อบดินแดงมองว่านี่คือการต่อต้านโดยประชาชน เป็นการเคลื่อนไหวจากคนไร้อำนาจ (powerless) กนกรัตน์เล่าว่าคนส่วนใหญ่ที่ทีมได้สัมภาษณ์มีอาวุธคือหนังสติ๊กและลูกแก้ว บางคนใช้ระเบิดปิงปองหรือลูกกระทบที่มีราคาประมาณ 100 บาท/70 ลูก ซึ่งนับว่าราคาถูกมาก และพวกเขามองว่านี่เป็นอาวุธที่ไม่ทำร้ายใครมากที่สุด และน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ประการที่สาม คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กำกับรูปแบบการจัดการความขัดแย้งรอบตัวเยาวชนกลุ่มนี้ เพราะเยาวชนกลุ่มนี้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากเยาวชนที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางอย่างมหาศาล และนี่คือปัจจัยที่กำกับรูปแบบการใช้ความรุนแรงด้วย

“ผู้ใหญ่ในสังคมอาจจะบอกว่า ต่อให้คุณอยู่ในสังคมรุนแรง คุณก็ต้องเป็นคนดี อดทน ไม่เอาแบบอย่างความรุนแรง แน่นอนแหละว่าการพูดมันง่าย ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้คิดแบบนั้นด้วย ลองคิดว่าพวกเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เผชิญหน้ากับความรุนแรงตลอดเวลา เจอกับความอึดอัดตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา เปิดประตูบ้านก็เจอคนหน้าปากซอยไถเงินแล้ว การตอบโต้เผชิญหน้าจึงเป็นเครื่องมือที่พวกเขาใช้ตลอดเวลา”

“สำหรับชนชั้นกลาง การจะเถียงพ่อแม่นี่คงต้องคิดแล้วคิดอีก หรือบางครั้งชนชั้นกลางก็อาจจะยอมถูกกระทำได้เพราะพวกเขารู้ว่าตนเองจะมีโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต แต่สำหรับเยาวชนกลุ่มทะลุแก๊ส ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติและกำกับวิธีจัดการกับปัญหาของพวกเขา เพราะฉะนั้น หลายคนจึงบอกว่าที่เลือกจัดการกับปัญหาแบบนี้เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองอยู่ในระนาบอำนาจที่เท่ากันกับตำรวจ มีเพื่อน มีปัญหาที่อยู่ร่วมกัน เป็นรูปแบบการแสดงออกที่พวกเขาสัมผัสได้” กนกรัตน์สรุป ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งข้อค้นพบประการสุดท้าย คือการเผชิญหน้าและปะทะเป็นวิธีการเดียวที่เยาวชนม็อบดินแดงรู้สึกว่าตนเองรู้จักและสามารถทำได้

“มีเยาวชนม็อบดินแดงคนหนึ่งกล่าวว่า ถ้าม็อบปีที่แล้วเป็นม็อบของคนที่รู้หนังสือ ม็อบปีนี้ก็เป็นม็อบของเขา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รู้หนังสือจริงๆ (literally) แบบอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่สำหรับเขา ม็อบปีที่แล้วมีความลุ่มลึก (sophisticated) ทั้งการพูดปราศรัย การเต้นแฮมทาโร่ มีเยาวชนในมหาวิทยาลัยชั้นนำจัดขบวนพาเหรด LGBTQ เต็มไปด้วยสีสันงดงาม กล่าวสุนทรพจน์โดยอ้างถึงประวัติศาสตร์ที่ลุ่มลึก”

“แต่สำหรับม็อบดินแดง ไวยากรณ์ของพวกเขาคือเสียงพลุยาง เสียงลูกกระทบ หรือเสียงเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ เป็นการพูดออกมาในยามที่พวกเขาไม่รู้จะพูดด้วยภาษาอะไร นี่คือการนิยามว่าตนเองเป็นคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยภาษาทางการเช่นนี้ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เราพอจะทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาทำได้ ซึ่งดิฉันไม่ได้บอกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ เราจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย”

ในตอนท้าย กนกรัตน์ชี้ให้เห็นว่า ผลลัพธ์ของการชุมนุมที่ม็อบดินแดงคือการทำให้ผู้ใหญ่เริ่มรับรู้ว่าความโกรธของเยาวชนเป็นเรื่องที่น่ากังวล นำมาซึ่งภาพที่ภาครัฐใช้มาตรการที่ตนเองคุ้นชินและได้ผล เช่น การควบคุมฝูงชนหรือจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะได้ผลในระยะสั้น เพราะต่อให้เยาวชนที่โดนจับกุมตั้งเป้าหมายว่าจะกลับมาชุมนุมใหม่ แต่สำหรับคนที่เปราะบางทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้ การถูกดำเนินคดีย่อมนำมาซึ่งแรงกดดันอีกมากมายที่จะทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับไปชุมนุม หรือไปไม่ได้บ่อยครั้งเท่าที่ควร

ทว่าในระยะยาว กนกรัตน์มองว่ามาตรการเช่นนี้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาของเยาวชนม็อบดินแดงเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงควรมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและพูดคุยกับเยาวชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ

“การพูดคุยดังกล่าวต้องเป็นการพูดคุยอย่างลึกซึ้งเพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหา รวมถึงผลักดันนโยบายต่างๆ ที่สำคัญสำหรับเยาวชนกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ด้วย” กนกรัตน์ทิ้งท้าย

-2-

เรื่องเล่าหนึ่งของ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้ช่วยวิจัยและผู้สื่อข่าว Plus Seven ซึ่งนำทีมลงพื้นที่พูดคุยกับเยาวชนในม็อบดินแดงโดยตรงคือเรื่องราวของ ‘เคน’ (นามสมมติ) อายุ 21 ปี ผู้ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจนและต้องเผชิญกับความรุนแรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์

“เคนเล่าให้ฟังว่า เขามักถูกแกล้งจากคนในโรงเรียนเสมอเพราะเขาตัวเล็ก ดำ และ “เป็นคนที่จนที่สุดของโรงเรียน” และด้วยความยากจนนี้เอง ทำให้เวลาเกิดเหตุบางอย่างขึ้นในโรงเรียน เช่น ของหาย เคนมักจะถูกเพ่งเล็งเป็นคนแรก ครูก็มักจะคิดว่าเป็นฝีมือของเคนโดยไม่สืบสาวเรื่องราวอะไรเลย ในทางกลับกัน เวลาเคนโดนแกล้งและไปแจ้งเรื่องกับคุณครู ก็โดนเพื่อนหาว่าขี้ฟ้อง ส่วนครูก็ไม่สนใจ ซ้ำยังมองว่านี่คือโอกาสในการเติบโตและเรียนรู้เสียอีก”

จุดพลิกผันในชีวิตของเคนเกิดขึ้นตอนที่เขาไม่มีเงินพอจะซื้ออุปกรณ์ทำงานส่งคุณครูและโดนตำหนิ เคนเล่าให้ธนาพงศ์ฟังว่า เขารู้สึกกดดันมากจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนและหางานทำ ซึ่งเคนทำงานหลายอย่างมากทำให้ชีวิตเริ่มจะดีขึ้น แต่สุดท้าย เมื่อร่างกายรับไม่ไหว เคนก็ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซต์ล้มจนทำให้ปอดหายไปข้างหนึ่งและทำให้เขาหางานระยะยาวไม่ได้

“เวลาเคนมาม็อบก็อาศัยนอนข้างถนน กลมกลืนกับคนไร้บ้าน สุดท้ายเคนก็ติดโควิด ตกงาน ถูกยึดห้องเช่าเพราะไม่มีเงินเก็บ และยังหาทางตั้งต้นชีวิตใหม่ไม่ได้จนถึงตอนนี้” ธนาพงศ์กล่าวสรุป

ไม่ใช่แค่เรื่องราวของเคนเท่านั้นที่สะท้อนให้เราเห็นภาพเยาวชนในม็อบดินแดง รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้เสียงประทัดและแก๊สน้ำตา แต่ธนาพงศ์ยังได้พูดคุยกับเด็กสาวอายุ 16 ปีคนหนึ่งที่มาชุมนุมที่ดินแดงเกือบทุกวัน และจุดเริ่มต้นของการมาชุมนุมคือ การเห็นภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ถีบรถมอเตอร์ไซค์ผู้ชุมนุมและยิงซ้ำจนได้รับบาดเจ็บ

“ผมถามเธอกลับไปว่า รู้สึกว่าสิ่งที่ม็อบดินแดงทำรุนแรงไหม เธอตอบกลับว่าไม่แรงนะ ถ้าเทียบกับที่คฝ. ทำ ผมเลยถามต่ออีกว่า การทำแบบนี้เป็นสันติวิธีไหม คิดว่าคนอื่นที่ยึดแนวทางสันติวิธีจะมองการกระทำเช่นนี้อย่างไร แต่เธอถามกลับมาว่า สันติวิธีคืออะไร”

“นี่เป็นอะไรที่เปิดโลกผมพอสมควรเลย ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองเหมือนกันว่า ที่พูดเรื่องสันติวิธี ที่บอกว่าม็อบดินแดงทำแบบนี้จะยิ่งกันคนออกไปหรือทำให้คนแอนตี้ แต่คำถามจริงๆ คือ พวกเขารู้จักสิ่งที่เรากำลังพูดถึงจริงๆ หรือเปล่า พวกเขาเป็นเยาวชนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีประเด็นสันติวิธีอยู่ ซึ่งตอนหลายคนอายุเท่าพวกเขาก็ไม่ได้รู้เรื่องนี้เหมือนกัน”

จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับเยาวชนแต่ละคน ได้ถอดความและร้อยเรียงเรื่องราวของแต่ละคนออกมา ธนาพงศ์ชี้ว่า เยาวชนกลุ่มนี้ออกมาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมด้วยภาษาและท่าทีของตนเอง เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะเรียกร้องความยุติธรรมได้ที่ไหนอีก เนื่องจากความสิ้นศรัทธาในตัวแทนของรัฐ ทั้งตำรวจหรือศาล พวกเขาไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงเลือกใช้วิธีนี้ส่งเสียงออกมา

“เราอาจเคยได้ยินว่า การต่อสู้ทางการเมืองหรือการทำม็อบเป็นนาฏกรรมแบบหนึ่งที่จะเชิญชวนให้คนที่ยังเป็นกลางหรือไม่เห็นด้วยกับเรามาเข้าใจและเห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา นี่อาจเป็นวิธีคิดของม็อบเยาวชนในปีที่แล้ว แต่สำหรับเยาวชนที่ดินแดงไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะนาฏกรรมแบบที่หลายคนพยายามเล่นหรือแสดงแลกมาด้วยราคาบางอย่างที่พวกเขาอาจจะจ่ายไม่ไหว ทุกวินาทีที่นาฏกรรมเหล่านี้ถูกแสดง มีคนป่วย ไม่มีที่อยู่ ไร้บ้าน อดอยากหรือเสียชีวิตไป”

“ถ้าพูดสั้นๆ สำหรับเยาวชนที่ดินแดง ปัญหาของพวกเขาเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน เรื่องความเป็นความตายที่รอไม่ได้ การต่อสู้สำหรับพวกเขาจึงอาจไม่ใช่การละเล่นหรือการต่อสู้ทางความคิดเหมือนปีที่แล้ว แต่คือการต่อสู้ในความหมายที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด เสียงพลุและเสียงประทัดจึงเป็นเหมือนภาษาและไวยากรณ์ของคนที่สรรหาคำไม่เก่งเพื่อจะบอกรัฐว่า นี่คือเสียงของพวกเขาที่หวังว่าจะดังพอให้รัฐได้ยิน ซึ่งรัฐได้ยินแล้ว แต่ปัญหาคือรัฐกลับไม่ได้เลือกจะรับฟังอย่างตั้งใจ แต่กลับกดปุ่มปิดเสียงด้วยควันแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการปิดล้อมที่ดินแดง” ธนาพงศ์กล่าวสรุป

ถก-ถาม-ต่อยอด มองทางออกต่อไปม็อบดินแดง

-1-

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายความและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อเราพิจารณาม็อบดินแดง เราอาจจะไม่สามารถพิจารณาแบบแยกส่วนเป็นเอกเทศออกมาได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทั้งความเดือดร้อนและความคับข้องใจที่เกิดจากระบอบการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นเสมือนวิกฤตร่วมกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นต่างๆ ประกอบกับวิกฤตโควิดที่ยิ่งแสดงให้เห็นความล้มเหลวของรัฐในการป้องกันโรค วัคซีน หรือแม้แต่การฟื้นฟูเยียวยาที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้ผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง (กลาง)

“ถ้าเรามองม็อบทะลุแก๊สจะเห็นว่านี่เป็นพลวัตที่สืบเนื่องมาจากขบวนใหญ่ แต่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางอย่างและมาในช่วงที่การชุมนุมเกิดข้อจำกัด แต่ภาพของคนที่ดินแดงทำให้เราเห็นความกล้าหาญและความเสียสละ เป็นสิ่งที่พวกเขาได้ลงทุนให้ขบวนการต่างๆ และทำให้การเคลื่อนไหวต่อเนื่องไปได้ในช่วงที่เกิดข้อจำกัดหรือรัฐมีการปราบปราม”

ประภาสยังชี้ให้เห็นว่า การรับมือม็อบของหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้รับมือบนฐานของสังคมประชาธิปไตยแบบสากล ซึ่งจะเน้นการรับมือในลักษณะการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ในทางกลับกัน รัฐไทยเน้นใช้วิธีการไปในทางปราบปรามมากกว่า นี่จึงนำมาสู่ประเด็นสุดท้ายว่า ทางออกในเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

“การใช้แนวทางปะทะเช่นนี้ย่อมสร้างต้นทุนที่สูงให้กับผู้ที่เคลื่อนไหว แต่ปัญหาคือ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าการสูญเสียเช่นนี้จะให้ผลอะไรกลับมาในระยะยาว นี่ก็เป็นคำถามที่ผมยังไม่มีคำตอบเหมือนกัน เพราะต้นทุนที่เกิดขึ้นสูงมาก และอย่าลืมว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะกีดกัน (exclude) คนบางกลุ่มออกไป นี่ก็อาจจะเป็นประเด็นที่ผมฝากไว้ว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ได้ทำงานสื่อสารกับคนในสังคมมากน้อยแค่ไหน”

ในตอนท้าย ประภาสเน้นย้ำประเด็นสำคัญว่า เราจะเห็นภาพการเชื่อมโยงและวาดภาพให้ม็อบดินแดงเป็นปีศาจร้ายหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน นำไปสู่กระบวนการสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมจะมาร่วมสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมทางการเมือง ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมก็ต้องอยู่ในเส้นบางอย่าง เช่น การยอมรับผิดต่อกฎหมายต่างๆ ด้วย

-2-

ในฐานะของผู้ที่ศึกษาคนจนเมือง หรือคนจนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจนกลายเป็นชนชั้นล่างของสังคมมาอย่างยาวนาน รวมถึงได้มีโอกาสลงไปเก็บข้อมูลม็อบเยาวชนทั้งที่ดินแดงและบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับข้อค้นพบในงานวิจัยว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการที่ย่ำแย่ของรัฐบาลทำให้เยาวชนเลือกลงสู่ท้องถนน อีกทั้งการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นลักษณะร่วมกันของคนจนเมืองเช่นกัน

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

“ถ้ารัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) ทำให้คนรากหญ้าเห็นว่าการเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านบวกส่งผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร รัฐบาลพลเอกประยุทธ (จันทร์โอชา) ก็ทำให้เยาวชนตื่นรู้ในทางการเมืองว่าการมีรัฐบาลที่บริหารงานผิดพลาดทำให้ชีวิตย่ำแย่ลงยังไง”

หนึ่งในประเด็นน่าสนใจคือ เราอาจจะมองว่าม็อบเยาวชนที่เป็นชนชั้นกลางในปีที่แล้วต่อสู้โดยใช้ต้นทุนที่สูงกว่า และต้องการความคิดสร้างสรรค์มากกว่า แต่บุญเลิศชี้ให้เห็นว่า นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องของการมีต้นทุนมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เป็นการใช้ต้นทุนคนละแบบ

“ผมมองว่าทักษะหนึ่งที่เยาวชนม็อบดินแดงมีคือการขับมอเตอร์ไซค์คล่องมาก คือมันก็เสี่ยงแหละ ทั้งหลบกระสุนยาง ตวัดย้อนศร แต่เขาก็พาเรารอดได้แน่ๆ นี่ก็นับเป็นต้นทุนแบบหนึ่ง แต่ลูกหลานของชนชั้นกลางที่ต่อสู้ด้วยสันติวิธีก็เพราะมันเสี่ยงน้อยกว่า การจะเคลื่อนไหวแบบม็อบดินแดงได้คือต้องรับความเสี่ยงได้ ซึ่งในงานวิจัยระบุว่า 73% ของเยาวชนดินแดงบอกว่าพวกเขาไม่กลัว อาจจะเพราะต้นทุนในชีวิตของพวกเขาน้อยอยู่แล้ว ถ้าใช้ภาษาแบบมาร์กซ์ก็ต้องบอกว่า พวกเขาไม่มีอะไรจะสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน”

บุญเลิศยังชี้ให้เห็นอีกประเด็นหนึ่งว่า การหาทางออกด้วยการเจรจาอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายขนาดนั้น เพราะกลุ่มต่างๆ ค่อนข้างมีความอิสระ บางกลุ่มอาจจะยินดีเจรจา แต่บางกลุ่มอาจจะไม่ยินดีเจรจาด้วย พร้อมทั้งทิ้งท้ายด้วยว่า ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือสื่อมวลชน จำเป็นต้องช่วยกันแสดงให้เห็นว่า ยังมีการเคลื่อนไหวที่เสี่ยงน้อยกว่าและสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

“ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันสร้างความหวัง ถ้าเราหมดหวังหรือต่างถอยกันไปหมด สถานการณ์จะเป็นแบบที่ทนายอานนท์ เพนกวิน หรือไผ่ ต้องอยู่ในเรือนจำเพราะพวกเขาสู้ในขณะที่คนอื่นถอย เราต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่ทิ้งพวกเขาด้วย” บุญเลิศทิ้งท้าย

-3-

“ถ้าเราบอกว่าม็อบปีที่แล้วพูดถึงอนาคต แต่ม็อบดินแดงพูดถึงปัจจุบัน ผมไม่แน่ใจว่าที่พวกเขาพูดถึงปัจจุบันเพราะไม่มีอนาคตให้พูดถึงหรือเปล่า และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ สังคมนี้เป็นอะไรไปแล้วที่ยอมให้คนจำนวนหนึ่งอยู่โดยไม่มีอนาคตได้”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กีรตยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นประเด็นที่หลายคนถกเถียงกันในเรื่องการใช้ความรุนแรงว่า สิ่งที่ม็อบดินแดงทำเหมือนกับที่ขบวนการทั้งหลายในอดีตทำ คือการใช้ตอบโต้ เผชิญหน้า ปะทะ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารหนึ่งของพวกเขา (violence as communication) ซึ่งเราต้องพิจารณาต่อว่า ในภาพความรุนแรงนั้นเราเห็นอะไร การปะทะ การตอบโต้ หรือการเผชิญหน้า และถ้าทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

“สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) อธิบายว่า ถ้าเราจะพิจารณาเรื่องความรุนแรงต้องใช้การชำเลืองมอง (sideway glance) เพราะถ้ามองตรงๆ ความรุนแรงอาจจะเบียดบังปัจจัยอื่นหมด เช่น เวลาภรรยาเอาขวดเบียร์ตีหัวสามีจนแตก ตำรวจอาจจะมองเห็นแค่ภาพสามีนอนเลือดไหลอยู่ที่พื้น ภรรยาถือขวดเบียร์อยู่ แต่ไม่เห็นเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้มานานแล้ว การมองเช่นนี้จึงสำคัญและเกี่ยวพันกับเรื่องต้นทุนที่หลายๆ คนพูดมาด้วย”

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงได้หรือไม่ ซึ่งชัยวัฒน์อ้างถึงข้อมูลที่มีในระยะหลังว่า การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นหลักเหมือนจะได้รับชัยชนะมากกว่า อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่การชนะหรือแพ้ แต่อยู่ที่ว่าผลลัพธ์จากการใช้ความรุนแรงจะเป็นเช่นไรมากกว่า

“ใช่ว่าความรุนแรงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ความรุนแรงพามาหรือมีความรุนแรงเป็นองค์ประกอบหลักเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มียาพิษอยู่ข้างใน ต่อให้จะเป็นสังคมอุดมคติหรือภาพที่ดียังไงก็มียาพิษคอยกร่อนสิ่งดีๆ เหล่านี้อยู่ หลายคนจึงเสนอทางเลือกแบบ civil disobedient resistance ซึ่งก็เป็นหนทางหนึ่งที่น่าสนใจและน่าพิจารณาดูว่า มันสามารถจะนำไปสู่ทางเลือกที่พึงประสงค์มากกว่าได้หรือเปล่า” ชัยวัฒน์ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าขบคิด

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save