fbpx

“ประเทศไทยเหมือนเพลงเชียร์ยูโร” ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

ยุทธนา บุญอ้อม หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ‘ป๋าเต็ด’ คือหนึ่งในบุคคลผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรี จนได้ชื่อว่าเป็น ‘เจ้าพ่อเด็กแนว’ มาเกินกว่าสิบปี เขาเป็นทั้งดีเจ คนจัดคอนเสิร์ต และเป็นส่วนหนึ่งของผู้ขับเคลื่อนวงการเพลงไทย ก่อนจะทำรายการ ‘ป๋าเต็ดทอล์ก‘ ชวนศิลปิน-นักดนตรีมาพูดคุยเรื่องชีวิตและผลงานกันลึกๆ เข้มๆ อย่างที่ไม่เคยคุยที่ไหน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่การเมืองไทยเข้มข้นร้อนแรง เกิดการประท้วงรัฐบาลบนท้องถนน โดยมีคนหนุ่มสาวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ป๋าเต็ดเองก็ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา และยิ่งผนวกกับช่วงที่ประเทศไทยเจอวิกฤตโควิด วงการบันเทิงและคนดนตรีเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการควบคุมโรค การวิพากษ์การทำงานของรัฐก็ดูจะเข้มข้นขึ้นทุกวัน

ในวันที่วงการบันเทิงถูกตั้งคำถามและเจอภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 101 ชวน ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม มามองความเปลี่ยนแปลงในวงการที่เจอโจทย์ท้าทายหลายด้าน และมองไปถึงก้าวย่างต่อไปของวงการบันเทิงที่จะต้องเติบโตไปพร้อมสังคม

แวดวงดนตรี-บันเทิงเป็นอย่างไรในยุคโควิด อุตสาหกรรมบันเทิงจะปรับตัวอย่างไรในสังคมที่เปลี่ยนไป ในฐานะสื่อ เขามองวงการสื่ออย่างไร ตลอดชีวิตในวงการเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ในฐานะที่เห็นคนรุ่นใหม่มาหลายรุ่น เขามองคนรุ่นใหม่อย่างไรในวันที่โลกจะเดินต่อ และชวนคุยไปถึงมุมมองทางสังคมการเมือง สังคมในฝันของป๋าเต็ดเป็นอย่างไร และการเมืองแบบไหนที่จะตอบโจทย์สังคมที่ดีได้จริง 

Banner
ภาพจาก a day BULLETIN

อุตสาหกรรมดนตรีได้รับผลกระทบหนักมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 คุณเองก็น่าจะได้เห็นและรู้จักนักดนตรีเยอะ ตอนนี้พวกเขาเป็นอย่างไรบ้างในสถานการณ์โควิด

อุตสาหกรรมดนตรีได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง เนื่องจากความสำเร็จของคนทำงานในวงการนี้ ไม่ว่าจะจัดคอนเสิร์ต เปิดผับบาร์ วัดกันที่ว่าใครจะรวบรวมคนมาอยู่ด้วยกันได้มากที่สุด ศิลปินก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้รายได้หลักมาจากการตระเวนแสดงสดตามที่ต่างๆ คนดูยิ่งเยอะยิ่งดี ยิ่งแน่นยิ่งดี ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด ดังนั้นพวกเราก็จะโดนสั่งปิด โดนสั่งระงับการแสดงเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ และจะได้รับโอกาสให้กลับมาเปิดเป็นอุตสาหกรรมท้ายๆ ต้องรอให้ทุกคนพร้อมก่อนเราถึงจะได้กลับมา ค่อนข้างหนักมากครับ

เวลาพูดถึงวงการเพลง บางคนอาจจะเข้าใจว่ากำลังพูดถึงศิลปินที่โด่งดัง ผู้จัดงานที่เป็นบริษัทใหญ่โต แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนน้อย ความจริงคือเรากำลังพูดถึงคนทุกระดับในอุตสาหกรรมบันเทิง ตั้งแต่เจ้าของกิจการ ศิลปิน ไปถึงคนที่มีรายได้รายวัน หรือรับค่าแรงเป็นงานๆ ไป ซึ่งคนเหล่านี้เป็นส่วนที่เยอะที่สุด เวลาเจอผลกระทบแบบนี้ก็ไปต่อลำบากเหมือนกัน

ผมคุยกับคนในแวดวงดนตรี เจอเรื่องหนึ่งซึ่งตัวผมเองก็ไม่ทราบมาก่อน คือบรรดานักดนตรีที่เล่นตามผับ เขาไม่มีตัวตนอยู่ในระบบของทางราชการว่าประกอบอาชีพอะไร ทำให้เขาไม่สามารถไปรับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ ได้เลย เหมือนกับว่าเขาไม่ตรงกับอะไรสักอย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่เห็นปัญหานี้ชัดเจน แต่พอเกิดโควิดขึ้นมาทำให้ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ เราควรมีสหภาพของคนในวงการนี้อย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่รู้จะไปต่อรองกับใครและอย่างไร 

อย่างผมเป็นผู้จัดงาน ก็ชัดเจนนะว่าจัดงานไม่ได้ บริษัทจัดอีเวนต์ขนาดเล็กได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะ cash flow มีน้อย บริษัทเล็กๆ บางที่รายได้หายไปสองเดือนก็แย่แล้ว บริษัทใหญ่ๆ อาจจะมี cash flow หน่อย พอจะแบกรับภาระในช่วงที่ไม่มีงานได้ยาวนาน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยถ้าเราจะได้ยินข่าวบริษัททำอีเวนต์ค่อยๆ ปิดตัวกันไป ขนาดบริษัทใหญ่ก็ยังเห็นความเคลื่อนไหวในทางที่น่าเป็นห่วงหลายๆ แห่ง 

สรุปง่ายๆ ก็คือโดนเต็มๆ เป็น wake up call ปลุกให้เราตื่นมาเผชิญกับความเป็นจริง เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีวางแผนชีวิตของคนในวงการนี้หมดเลย

ทางออกของธุรกิจวัฒนธรรม ธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น  อีเวนต์ คอนเสิร์ต ดนตรี หนัง ในยุคหลังโควิดอยู่ตรงไหน

ถ้าหลังโควิดก็แปลว่าทุกคนได้ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่มีการแพร่เชื้อกันต่อไป โควิดกลายเป็นเหมือนไข้หวัดที่กินยาแล้วหายหรืออะไรก็ตาม แต่สถานการณ์มีหลายระลอก ไม่ใช่ว่าปิดสวิตช์ปุ๊บ โควิดหาย ระลอกแรกก็พอจะเริ่มจัดงานได้ แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นด้านสาธารณสุข แต่ละคนต้องคิดวิธีสำหรับระลอกนี้ก่อน บางองค์กรหรือบริษัทอาจจะต้องเริ่มจัดระดมทุนด้วยซ้ำไป เพราะทุนหายกำไรหดหมดแล้ว ยังไม่นับเรื่องความรู้สึกของผู้คนอีก ธุรกิจแบบนี้ต้องจองบัตร ต้องมีคนมาร่วมงานเยอะๆ คำถามคือความรู้สึกของผู้คนพร้อมที่จะมาร่วมงานหรือยัง เขาเชื่อมั่นในมาตรการของเรามากน้อยแค่ไหน สปอนเซอร์เชื่อมั่นแค่ไหน ระลอกนี้จะเต็มไปด้วยแผนยุบยิบไปหมด

ระลอกต่อไปคือจัดได้เต็มรูปแบบ ทุกคนเดินเข้างานได้ ไม่ต้องใส่หน้ากากและวัดอุณหภูมิ อันนี้คือธุรกิจเพียวๆ แล้ว คู่แข่งกลับมาเต็มสนามแล้วคุณจะสู้ด้วยอะไร เจ้าใหญ่ก็คงใส่เต็ม เจ้าเล็กต้องทุ่มงานสู้ด้วยไอเดีย เล็กกว่าแต่เปรี้ยวกว่า สู้กับต่างประเทศอีก วัดกันด้วยฝีมือการทำธุรกิจล้วนๆ เลยครับ น่าจะเป็นระลอกที่เจ็บตัวกันที่สุด

ผมมองเห็นเหมือนสงคราม Endgame เลย มีธานอสกับอีกทีมชนกันร่วงเลย ถ้าไม่เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ เจอระลอกสองเข้าไปจะเละเทะ แล้วจะนำไปสู่ระลอกสาม เพราะผมเชื่อว่าสงครามระลอกสองจะหนักหนาสาหัสมาก คนล้มตายมากมายในเชิงธุรกิจ ดังนั้นระลอกสามจะว่าด้วยเรื่องความยั่งยืนของผู้รอดจากสงคราม Endgame ที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป

ถ้าเรามองย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าโควิด-19 ระบาด มีปัญหาอะไรที่แฝงอยู่แล้วบ้างในอุตสาหกรรมดนตรี บางคนตั้งคำถามว่าอุตสาหกรรมดนตรีไทยถึงจุดถอยหลังแล้วหรือไม่ วงดนตรีดังๆ ที่ฟังกระหึ่มกันทั่วประเทศไม่มีอีกแล้ว ไม่มีใครหาเงินจากการทำเพลงได้มากขนาดนั้นอีกแล้ว

ประเด็นแรก ที่บอกว่าทุกวันนี้แทบจะไม่มีคำว่าซูเปอร์สตาร์อีกแล้ว เพื่อความยุติธรรมต่ออุตสาหกรรมเพลงไทย ผมว่าไม่ได้เป็นเฉพาะบ้านเรา แต่เป็นทั่วโลก ลองนึกถึงศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์ของโลกวันนี้ดูสิว่าเราจำกันได้กี่ชื่อเมื่อเทียบกับสมัยก่อน อย่างผมเป็นคนยุค 80 มีไมเคิล แจ็กสัน มาดอนนา ตอนนี้มีใครที่ดังระดับนั้นบ้าง บางคนอาจจะตอบว่าโคลด์เพลย์ แต่บางคนอาจยังไม่รู้เลยว่าวงนี้มีเพลงอะไรบ้าง แต่ยุคนั้นไมเคิล แจ็กสันมาเมืองไทยขึ้นหน้าหนึ่งไทยรัฐนะ ลูกเด็กเล็กแดงทั้งหมดรู้จักไมเคิล แจ็กสัน คาราบาวก็เคยนำชื่อไมเคิลไปใส่ไว้ในเพลง แมสมาก

ทุกวันนี้หายากมาก แต่เป็นเรื่องปกติ ผมไม่ตื่นเต้น เพราะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการเสพสื่อ ซึ่งก็เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีของสื่อที่ส่งเสริมให้เกิด subculture มากกว่า mass superstar

ถ้าถามว่าการขาดซูเปอร์สตาร์เป็นข้อเสียหรือไม่ ตัวผมเองก็ไม่ปักใจเชื่อนะว่าเป็นข้อเสีย เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียแน่ๆ

ในสมัยก่อนทุกคนวาดฝันต้องเป็นซูเปอร์สตาร์ การจะเป็นศิลปินดังต้องออกอัลบั้ม ออกเจ็ดสีคอนเสิร์ต มีคอนเสิร์ตที่ MBK Hall ดังนั้นข้อเสียคือยุคนั้นทุกคนมีตะแกรงอะไรบางอย่างที่ถ้าคุณไม่ครบเกณฑ์ที่ว่านี้ คุณเป็นซูเปอร์สตาร์ไม่ได้

ทุกวันนี้คุณไม่จำเป็นต้องเป็นซูเปอร์สตาร์ แนวดนตรีหลากหลายขึ้น คุณไม่ต้องดิ้นรนขึ้นเจ็ดสีคอนเสิร์ตหรือโลกดนตรี ไม่ต้องกังวลว่าถ้าไม่ได้จัดคอนเสิร์ตที่ MBK Hall แล้วจะเป็นความล้มเหลวของชีวิต จึงทำให้เราเห็นดนตรีหลายแนว เห็นปรากฏการณ์ศิลปินดังชั่วข้ามคืน เกิดกระแสใหม่ๆ มากมาย

ประเด็นที่สอง อุตสาหกรรมไทยถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ ผมมองว่าในเชิงครีเอทีฟ เราก้าวเร็วขึ้นด้วยซ้ำไป สืบเนื่องจากที่เราไม่ต้องเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่เป็นอะไรก็ได้คุณก็พร้อมจะมีผู้สนับสนุน เกิดแฟนคลับและคอมมูนิตี้โดยไม่ต้องง้อช่องทางอื่น อย่างเมื่อก่อนจะวางขายอัลบั้มใหม่ต้องได้ลงหน้าหนึ่งไทยรัฐ ทุกวันนี้แค่มีเพจของคุณเอง คุณก็สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้แล้ว

ปัญหาคือผมยังรู้สึกว่า ในระดับผู้บริหารประเทศ อุตสาหกรรมดนตรีของไทยยังได้รับการให้ค่าน้อยอยู่ เทียบไม่ได้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งออก หรืออาหาร โดยขนาดแล้วเทียบไม่ได้หรอก แต่เพราะอุตสาหกรรมดนตรีไม่เคยถูกยกมาดูและพัฒนาให้ขนาดอุตสาหกรรมโตขึ้นสักที ทั้งๆ ที่มีความสามารถจะทำได้ 

เมื่อก่อนเราต้องเทียบกับอเมริกาและยุโรป แต่ตอนนี้ในเอเชียก็เริ่มเห็นตัวอย่างที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ เอาแค่ 20 ปีที่แล้ว ผมยังไม่รู้จักวงเกาหลีเลยนะ จะนึกถึงก็แต่เพลงโบราณ ฟังดูก็อาจตลก แต่เมื่อก่อนเราไม่ได้แพ้เขาเลยนะ ดังนั้นผมเห็นว่าการที่ผู้บริหารประเทศไม่มองอุตสาหกรรมดนตรีเป็นธุรกิจสำคัญทำให้วงการดนตรีไม่เคลื่อนไปไหน

นอกจากอุตสาหกรรมดนตรี ยังมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมหนังสือ ที่รู้สึกคล้ายๆ กันว่า ไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐทั้งที่มีคนมีความสามารถมากมาย คุณคิดว่ามีสาเหตุอะไรที่ทำให้ให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควรจะเป็น

ไม่น่าเชื่อเลยครับว่าผมตอบคำถามนี้ไม่ได้ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ถ้าให้ผมเดา เราอาจเติบโตมากับคำว่าเต้นกินรำกิน เป็นเงื่อนสลักบางอย่างหรือเปล่า บางบ้านคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะไม่ได้สนับสนุนให้ลูกเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงแบบสนิทใจตั้งแต่ต้น แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้นนะ

อีกเรื่องหนึ่งคือความสำคัญของระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับดนตรี อะไรที่เราให้ความสำคัญในการศึกษาก็มักได้รับการยกสถานะโดยอัตโนมัติ แต่อาจจะไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่สุด ตอนนี้เรามีมหาวิทยาลัยและสถาบันที่สอนดนตรีเพิ่มขึ้นมาก ทั้งเอกชนระดับห้องเล็กๆ ไปจนถึงมหาวิทยาลัย เราผลิตบุคลากรดีๆ ออกมามากมาย ศิลปินรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากผ่านการศึกษาด้านดนตรีจากสถาบันเหล่านี้

อีกสาเหตุหนึ่งคืออุตสาหกรรมบันเทิงอาจทำรายได้ให้ประเทศไม่มากพอ จนทำให้เขาไปให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งออกและท่องเที่ยว เลยไม่โตขึ้นไปสักที

สมมติรัฐบาลให้การสนับสนุนเต็มที่ ทุ่มงบให้อุตสาหกรรมดนตรีบันเทิงให้ทำทุกอย่างได้เท่าที่ต้องการ คุณคิดว่าเราจะได้เห็นภาพอย่างที่ฝันไว้ไหม

การสนับสนุนไม่มีทางลัด เวลาพูดเรื่องการสนับสนุนสิ่งที่ยังไม่สำเร็จ เรามักจะตั้งเป้าทางลัด เช่น ทำอย่างไรไทยจะได้ไปฟุตบอลโลก ทำอย่างไรหนังไทยจะได้ไปออสการ์ การตั้งเป้าสูงๆ แบบนั้นเป็นเรื่องดี แต่อย่างไรก็ไม่มีทางลัด ต้องใช้เวลา 

ผมติดตามการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีมาตลอด เมื่อ 20 ปีที่แล้วเรามองเกาหลีเป็นแค่ทางผ่านไปอเมริกา แต่ขณะนั้นมี Busan International Film Festival มาสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งยังไม่เห็นหนังเกาหลีที่ดังมากๆ แต่เขาไม่ท้อถอยและทำอย่างต่อเนื่อง จนทุกวันนี้ Busan International Film Festival เป็นเทศกาลหนังหลักของเอเชียในทุกๆ ด้าน ถ้าคุณต้องการระดมทุน หรืออยากพบอะไรใหม่ๆ ในแง่การตลาด ค้าขาย และวิชาการก็ต้องไปงานนี้ 

หรือเรื่องเพลง ล่าสุดผมเพิ่งได้รับเกียรติเป็นคณะกรรมการคัดเลือกวงดนตรีในเทศกาลดนตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกาหลี ผมต้องนั่งดูวงเกาหลี 57 วงเล่นเพลงพื้นบ้านของเกาหลี แต่ผสมผสานดนตรีรุ่นใหม่เข้าไป ในใจตอนนั้นคิดว่าต้องหลับแน่นอน แต่พอได้ดู ผิดคาดเลย ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป นักดนตรีเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีคำว่าเชยเลย เท่มาก เราได้เห็นเพลงพื้นบ้านผสมแจ๊ส ร็อก อิเล็กทรอนิกส์ บางวงก็พื้นบ้านแท้แต่นำเสนอผ่านมุมมองที่เท่มากๆ ทั้งการจัดไฟและการแต่งตัว

พื้นบ้านไม่ได้หมายความว่าต้องแต่งตัวเหมือนกันหมด ผมไม่ได้จะกระทบกระทั่งเพลงไทยเดิมนะครับ แต่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเขาสนับสนุนตั้งแต่ระดับรากหญ้า จึงเต็มไปด้วยนักดนตรีรุ่นใหม่ที่เล่นเพลงพื้นบ้านผสมผสานไอเดียใหม่ๆ เข้าไป และไม่เคยปฏิเสธการผสมผสาน ไม่มีปัญหามากมายอย่างบ้านเรา เขามองว่าเมื่อผสมกันดี ผู้ชมก็จะรู้สึกตื่นเต้นว่าทำแบบนั้นได้ด้วย นี่เป็นแค่ตัวอย่างโปรเจ็กต์ ยังมีตัวอย่างอีกมากมายในแง่การสนับสนุน คุณต้องทำอย่างต่อเนื่องและครบทุกด้าน เช่น ถ้าตั้งเป้าว่าศิลปินไทยจะไปแกรมมี่อวอร์ด ต้องตั้งเป้าว่าแผนนั้นจะใช้เวลาเท่าไหร่และทำอย่างไร

มองย้อนกลับมาที่วัฒนธรรมดนตรีของไทยเรา มีความเข้าใจอะไรที่ผิดของภาครัฐบ้าง เช่น อาจจะไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมดนตรีเป็นอย่างไร ไม่รู้จะพัฒนาไปทางไหน หรือติดกับดักความคิดอะไรอยู่

อย่างแรกคือ มีหน่วยงานมากมายที่ทำเรื่องศิลปะ หลายหน่วยงานผมเห็นคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยไอเดียเข้าไปทำงาน เขาทำเรื่องน่าชื่นชมมาก แต่อุตสาหกรรมนี้ไม่เคยอยู่ในชั้นที่สูงพอที่คนคุมนโยบายจะให้ความสำคัญ ต่อให้คนตัวเล็กทำเต็มที่ก็จะไปตันที่ข้อจำกัด อย่างที่เราเห็นว่าเรื่องที่มีความพิเศษก็จะได้รับทางด่วนหน่อย อนุมัติเร็ว กลายเป็นวาระแห่งชาติ แต่พอเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย มักจะอยู่ในลำดับที่ไม่สูงพอเสมอ

ตลอดเวลาที่คุยกันเราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นตัวละครสำคัญในการพัฒนาศิลปะวัฒนธรรม เราจะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้อย่างไรโดยมีคนรุ่นใหม่เป็นแกนหลัก มีอะไรที่เราต้องติดอาวุธให้คนรุ่นใหม่ตอนนี้บ้างไหม และสังคมแบบไหนที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ

เป็นเรื่องพื้นฐานมากครับ ไม่ว่าที่ไหนในโลกสังคมต้องขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ ทุกคนเคยเป็นคนรุ่นใหม่มาก่อน ผมก็เคยได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่มาก่อนในวันแรกๆ ที่เริ่มทำงาน แล้วก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทุกวัน

ที่เมืองไทย การติดอาวุธให้คนรุ่นใหม่ไม่เป็นปัญหาใหญ่เท่ากับการปรับทัศนคติของคนรุ่นก่อน หากเจอกันครึ่งทางได้ ปรับเข้าหากันและกันก็จะไปได้ ผมไม่ได้บอกว่าคนรุ่นก่อนผิดหมด คนรุ่นใหม่ถูกหมด เป็นไปไม่ได้ ที่ชัดเจนคือคนสองรุ่นนี้มีมุมมองไม่เหมือนกัน งานที่ทำร่วมกันได้ อย่างไรมันก็ดี เพราะงานที่ช่วยกันมองจากคนละมุมก็มักจะช่วยกันขัดแย้ง เถียง นำเสนอไอเดียหลากหลาย และเลือกไอเดียที่ดีที่สุด เราจะทำอย่างไรให้คนอีกรุ่นหนึ่งมีเมตตา เปิดกว้างกับคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้เขาฟังและทำความเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่นำเสนออะไรหรือพูดถึงปัญหาอะไรก่อนจะพูดว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน

ทุกคนเคยเป็นเด็กและทุกคนเคยเถียงผู้ใหญ่ กระทั่งคนที่อนุรักษนิยมที่สุดวันนี้ก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เคยดื้อมาก่อน ต้องนึกถึงวันนั้นให้ได้ พอเราจำได้ว่าเคยคิดอะไร จะได้เลือกใช้ภาษาให้ดี คุยกันเข้าใจ อย่าไม่โกรธมากเวลาที่เขาผิด หรือบางเรื่องมีแก่นที่ถูกแต่ผิดในเรื่องอื่น เช่น ใช้คำไม่สุภาพ ถ้าเรามัวแต่ไปมองที่ความหยาบคายก็ทำให้ประเด็นหลักถูกหลงลืมไป น่าเสียดาย 

ถ้าสื่อสารกันลักษณะนี้คือการติดอาวุธคนรุ่นใหม่ไปในตัวเลยนะ คุณจะเอาอาวุธอะไรไปให้เขาในเมื่อคุณยังไม่เชื่อ ไม่รับฟัง ดูถูกทัศนคติของเขาขนาดนั้น

ภาพจาก a day BULLETIN

คุณเคยเห็นคนรุ่นใหม่ทำอะไรที่รู้สึกขัดใจมากเลยไหม และมีวิธีปรับใจตัวเองอย่างไรให้ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น

คำถามมีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้วครับ ผมก็ไม่ได้เป็นพระอิฐพระปูน เนื่องจากผมเป็นนักสื่อสาร เรื่องที่ขัดใจผมจึงมักจะเกี่ยวกับการสื่อสาร เช่น การใช้คำผิด การใช้ภาษาไม่ถูกกาลเทศะ แต่เราเองก็ต้องกลับไปคิดใหม่ว่า ‘กาละ’ และ ‘เทศะ’ อาจจะเปลี่ยนไป คำที่เคยไม่สุภาพเมื่อก่อนอาจจะสุภาพขึ้นแล้วในตอนนี้ หรือพอใช้ได้ในบางสถานการณ์ พอเราเริ่มทำความเข้าใจแล้วจะพบว่าหลายเรื่องคลี่คลายง่ายอย่างคาดไม่ถึง

มีประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ผมจะระมัดระวังคือเรื่องการตั้งคำถาม เพราะอยู่ในหมวดสิทธิในการแสดงออก เป็นธรรมดาของคนอายุน้อยที่มักจะเต็มไปด้วยคำถาม ผมก็เคยเป็น ทุกคนก็เคยเป็น เพราะหลายคำถามยังไม่ได้คำตอบ หรือผู้ให้คำตอบไม่อาจอธิบายให้พอใจได้ พอถามแล้วไม่ได้คำตอบสักทีหรือตอบไม่ตรงคำถาม ก็หงุดหงิดได้ครับ ถามครั้งที่หนึ่งเราอาจจะสุภาพ ครั้งที่สองก็ยังสุภาพ ถามครั้งที่สามอาจจะเริ่มสุภาพน้อยลง ตรงประเด็นมากขึ้นว่าทำไมยังไม่ได้คำตอบอีก แต่พอต้องถามครั้งที่สี่ ที่ห้า ในที่สุดก็กลายเป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง 

ผมทั้งเข้าใจ เห็นใจ และอยากแนะนำว่าการสื่อสารสำคัญมาก ไม่ใช่เพียงคำที่ใช้เท่านั้น แต่น้ำเสียงที่ใช้ การใช้ตัวหนังสือ ตัวพิมพ์เล็กใหญ่ เว้นวรรค ย่อหน้า มีผลทำให้รายละเอียดในสารนั้นเปลี่ยนไป ยิ่งบวกกับกาลเทศะอีกว่าใช้เวลาไหน ตอบโต้เวลาใด ส่งผลต่อการสื่อสารทั้งหมด 

ดังนั้นขอให้ระมัดระวังเรื่องนี้ไว้ครับ บางเรื่องเจตนาดีกลับกลายเป็นว่าห่อด้วยเปลือกหนึ่ง บางคนไม่ยอมมองทะลุเปลือก ขณะที่บางคนห่อเปลือกมาหนามากก็มองทะลุยาก ควรคุยกันถ้อยทีถ้อยอาศัยแล้วปัญหาจะคลี่คลายได้ง่ายขึ้น

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเราเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาประท้วง มีผู้ใหญ่หลายคนบอกว่าเด็กพวกนี้พูดไม่เพราะ มีท่าทีก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง คุณมองประเด็นความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชันที่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างไรบ้าง

ผมชื่นชมคนรุ่นใหม่ที่เขาเสาะแสวงหาข้อมูล พยายามเผยแพร่ข้อมูลให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผมก็ชื่นชมคนบางส่วนซึ่งเห็นต่างที่เลือกใช้วิธีฟัง ทำความเข้าใจ และตอบโต้แบบมีอารยธรรม เหรียญมีสองด้านทั้งสองเหรียญ 

สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญทั้งสองเรื่องคือ เรื่องที่เขานำเสนออยู่นั้นใจความคืออะไร บางครั้งเราสนใจเปลือกมากเกินไป ทั้งความก้าวร้าว ไม่สุภาพ ขัดหูขัดตา ไม่ยอมมองแก่นหลัก กลายเป็นว่าทะเลาะกันด้วยเรื่องปลีกย่อยจนขัดแย้งกันรุนแรงขึ้น หลักการบางอย่างที่คนรุ่นใหม่เสนอจนคนอีกรุ่นหนึ่งรับไม่ได้ก็มี แต่ผมคิดว่าเราคุยกันได้แบบอารยชน ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน เพราะเราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย แต่เปลือกทำให้เราทะเลาะกัน ขยายใหญ่โตทั้งโดยธรรมชาติและบางคนตั้งใจขยายเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องอื่นจนนำไปสู่ความขัดแย้งต่อเนื่องมาอีก

ผมพูดอ้อมค้อมมาก แต่อยากให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่สุด ผมดีใจที่เราได้ถกเถียงกันในเรื่องที่ไม่คิดฝันมาก่อนว่าจะถกเถียงเรื่องแบบนี้ได้ แต่เสียใจที่การถกเถียงแบบอารยชนถูกกลบด้วยเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกสมัย กลายเป็นสงครามข่าวสาร สงครามที่ไร้สาระ ไม่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างอารยชน

เมื่อกี้ถามในฐานะผู้ชมที่มองเห็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ถ้าถามคุณในฐานะประชาชนคนหนึ่ง คุณมองการทำงานของรัฐบาลอย่างไรบ้าง

รัฐบาลชุดนี้มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นรัฐบาล ถ้าทำงานแบบนี้ ผมก็จะวิจารณ์แบบเดียวกัน และผมเชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่คิดแบบผม ประสิทธิภาพที่เห็นชัดเจนที่สุดคือประสิทธิภาพในการสื่อสาร ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งการสื่อสารกันเองระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการสื่อสารกับประชาชน

ปัญหานี้เป็นมาโดยตลอด ไม่ใช่เพิ่งเป็น เพียงแต่ในช่วงการเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ปัญหานี้ถูกเน้นมากยิ่งขึ้นเพราะก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย การสื่อสารกับประชาชนมีปัญหา ขาดความชัดเจน ไม่แน่นอน บางครั้งไม่สมเหตุสมผล เราในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิตั้งคำถาม ต้องการเหตุผลประกอบ อีกทั้งยังมีเรื่องท่าทีการสื่อสารที่ไม่มองว่าเขามีหน้าที่ทำงานให้ประชาชน แต่กลายเป็นว่าเขาเป็นเจ้านายเรา 

ข้อนี้ผมไม่รู้ว่าผิดหรือเปล่า แต่เช็คครั้งสุดท้ายเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย สองพยางค์แรกก็ขึ้นคำว่า ‘ประชา’ มาก่อนแล้ว ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนแล้วจะให้ความสำคัญกับใคร หลายครั้งท่าทีของรัฐแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีสิทธิตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นอะไรเลย ก็ส่งผลให้เกิดความหงุดหงิดต่อไปเรื่อยอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว เราถามคำถามเดิมไป 20 ครั้ง โดนบางคนมาต่อว่าเรื่องใช้คำไม่สุภาพ เราก็จะรู้สึกว่าจะมาสุภาพอะไรกันตอนนี้ ที่ถามอยู่นี่เรื่องคอขาดบาดตายนะ สุภาพเอาไว้ทีหลังได้ไหม นี่ถามมา 20 รอบแล้ว

ในฐานะที่ผมเรียนสื่อสารมวลชนมา ก็ขอวิจารณ์เรื่องการสื่อสารก็แล้วกัน แม้จะมีปัญหาอื่นๆ มากมายก็ตาม ไม่มีใครคาดหวังรัฐบาลที่เพอร์เฟ็กต์นะ เพราะมันไม่มีจริง แต่อย่างน้อยก็คาดหวังรัฐบาลที่คุยกับเรารู้เรื่องหน่อย

ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างคือ การเข้าใจปัญหาของตัวเอง ผมเริ่มคิดว่าเขารู้ตัวไหมว่าเขามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการสื่อสาร ถ้ามั่นใจว่าเขารู้ตัว เราก็จะสบายใจขึ้น เผื่อเขาจะค่อยๆ ปรับปรุง แต่ตอนนี้เริ่มสงสัยว่าหรือเขาไม่รู้ตัวนะ

เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย สองพยางค์แรกก็ขึ้นคำว่า ‘ประชา’ มาก่อนแล้ว ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนแล้วจะให้ความสำคัญกับใคร

ถ้าชวนกลับไปที่ฐานของประเทศคือเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ผ่านมาเราคุยกันว่าควรจะมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของทุกคน ให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าถามคุณในฐานะประชาชนคนหนึ่ง คุณมีรัฐธรรมนูญในฝันอย่างไร

มีหลายประเด็นมาก ผมอาจจะรู้น้อยเกินไป แต่ถ้าเอาแบบเร็วๆ ข้อเดียว กฎหมายสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยควรให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด อย่างน้อยที่สุดเราควรมีสิทธิออกความเห็นทุกเรื่อง เช่น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เราควรมีสิทธิในการออกความเห็นด้วยว่าเราอยากได้อะไร 

ส่วนข้อปลีกย่อยอื่นๆ เราก็ต้องกลับไปที่ข้อแรกคือประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เรียกร้องในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชนเอง แต่ในเมื่อแต่ละคนเรียกร้องสิทธิของตนเองก็อาจมีข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งซึ่งกันและกัน ก็จงไปทำให้เงื่อนไขอื่นๆ ทางกฎหมายช่วยทำให้ความขัดแย้งนั้นคลี่คลายแบบประชาธิปไตย

ทุกวันนี้กลายเป็นว่าบางเรื่องพูดได้ บางเรื่องพูดไม่ได้ แล้วทำให้นำเสนอความเห็นได้ไม่ครบทุกมุม ในที่สุดแล้วถ้าเรานำเสนอความเห็นไม่ครบทุกมุม เราก็จะไม่เห็นปัญหา การพูดถึงทำให้เราเห็นปัญหาได้ครบถ้วนและหาทางเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่

ที่ผ่านมาเราเห็นคนในวงการบันเทิงหลายคนกล้าออกมาพูดถึงการเมืองมากขึ้น แต่บางคนก็ยังไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะกลัวจะไม่มีงาน ถามคุณในฐานะคนที่กล้าออกมาพูดเรื่องการเมือง คุณมองประเด็นเรื่องการ call out ของคนดังอย่างไรบ้าง เราควรจะยอมรับที่เขาไม่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมได้ไหม

ก่อนอื่นผมชื่นชมคนที่ออกมา call out นะ เป็นเรื่องดี เพราะคนควรจะมีความเห็น และความเห็นทุกคนมีค่า ผมไม่ได้บอกว่าความเห็นของทุกคนถูกต้อง แม้แต่ผมเองก็อาจจะผิด แต่การได้ยินแค่ความเห็นที่ถูกต้องอย่างเดียวก็น่ากลัวนะครับ เราต้องได้ยินความเห็นที่ผิดบ้าง แล้วเราจะเห็นปัญหา เพียงแต่ความเห็นของผู้มีชื่อเสียงอาจมีประโยชน์กว่าในบางมุม เช่น เสียงดังกว่า คนได้ยินเยอะกว่า แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ดีก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคม ดังนั้นคนที่มีชื่อเสียงเวลาออกมาพูดจึงต้องคิดเยอะเป็นพิเศษ 

ผมไม่อยากให้มองว่าคนไม่พูดเพียงเพราะเหตุผลว่ากลัวไม่มีงานหรือกลัวสปอนเซอร์ถอนตัว เพราะอาจจะมีเหตุผลอื่นอีกเยอะ เช่น ยังไม่เข้าใจเรื่องที่พูดคุยกันอยู่มากพอที่จะแสดงความเห็นได้ เพราะเรื่องที่เราพูดกันตอนนี้นับวันก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ทุกคนจะเข้าใจได้ในทันที หรือเขาอาจจะเลือกแสดงออกด้วยวิธีอื่น อาจจะไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาที่จะไม่เห็นด้วย เหตุผลมีอีกร้อยแปดเลย 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือไม่ว่าใครจะมีชื่อเสียงแค่ไหนก็ตามออกมา call out น้ำหนักความน่าเชื่อถือจะมีมากก็ต่อเมื่อเขาออกมาพูดเอง ไม่ต้องมีคนเรียกร้องให้เขาออกมาพูด เมื่อไหร่ที่มีคนเรียกร้องให้เขาออกมาพูด อาจทำให้น้ำหนักเสื่อมลงไป  ก็อาจตั้งคำถามได้ว่า ถ้าฉันไม่เรียกร้องเธอก็ไม่พูดใช่ไหม

มองอนาคตวงการบันเทิงแล้วคิดว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนที่จะทำให้ดารานักร้องออกมาพูดเรื่องการเมือง-สังคมไทยโดยคำนึงถึงราคาที่ต้องจ่ายน้อยลง

ความจริงก็หลายร้อยเหตุผล ความเห็นผมอาจจะไปตอบแทนความเห็นเหล่านั้นทั้งหมดไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเรื่องชัดๆ คือเรื่องที่เราพูดคุยกันอยู่ซับซ้อนมาก มีหลายเรื่องที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะนำมาพูดถึงได้ และมีหลายเรื่องเลยที่ต่อให้เห็นด้วยก็ไม่สามารถแสดงออกกันได้ง่ายๆ มีเงื่อนไขเรื่องกฎหมายและกฎสังคม ดังนั้นสภาพแวดล้อมแบบที่จะทำให้แสดงความเห็นได้ง่ายขึ้น ก็คงต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้น หรือเปิดโอกาสให้พูดทุกเรื่องได้บนพื้นฐานที่ยุติธรรม แต่ผมก็ยังเชื่อว่ามีบางเรื่องบางมุมที่คนเราพูดได้ไม่เท่ากัน

แล้วคุณเอง ตัดสินใจนานไหมกว่าจะออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมือง

ช่วงแรกเคยไม่คิดมาก นึกอะไรออกก็พูดเลย จนพบว่าสิ่งที่พูดไปส่งผลกระทบมากมาย จนต้องเริ่มระมัดระวังมากขึ้น บางครั้งเราคิดดีแล้ว รู้แล้วว่าจะแสดงความเห็นไปในทิศทางใดก็ต้องระวังเรื่องการใช้ภาษา การใช้คำ ให้ชินกับการนำเสนอที่เหมาะสม มีกาลเทศะ ตอนไหนตลก ตอนไหนซีเรียส ตอนไหนเบาๆ ตอนไหนควรเงียบแล้วรอเวลาที่เหมาะสม

มาหลังๆ พอประเด็นซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ดำกับขาว แต่เริ่มมีสีมากมาย มุมนี้อาจถูกต้องในแง่หนึ่ง แต่อาจผิดในอีกแง่หนึ่ง ถูกวันนี้ แต่พรุ่งนี้อาจจะไม่ถูกก็ได้ เราเห็นด้วยกับสิ่งนี้ ณ วันนี้ แต่ผ่านไปสามวันเราอาจจะคิดว่าเราคิดผิดไป ผมเลยระมัดระวังมากขึ้น 

ทั้งนี้ผมมองว่าควรจะเป็นแบบนี้อยู่แล้วหรือเปล่า เพราะสิ่งเรานำเสนอไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่มีข้อมูลมากมาย ทั้งข้อมูลที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติม ทั้งความเห็นที่ถ้าเราได้ฟังมุมมองของหลายๆ ฝ่ายมากขึ้นก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจหรือมีมุมมองของเรื่องหนึ่งเปลี่ยนไป ไม่ง่ายครับ ยิ่งเราเป็นบุคคลสาธารณะเรายิ่งต้องระวัง เพราะสิ่งที่เราพูดส่งผลกระทบไปในวงกว้างได้

ไม่ว่าใครจะมีชื่อเสียงแค่ไหนก็ตามออกมา call out น้ำหนักความน่าเชื่อถือจะมีมากก็ต่อเมื่อเขาออกมาพูดเอง ไม่ต้องมีคนเรียกร้องให้เขาออกมาพูด เมื่อไหร่ที่มีคนเรียกร้องให้เขาออกมาพูด อาจทำให้น้ำหนักเสื่อมลงไป

คุณให้สัมภาษณ์ในรายการป๋าเต็ดทอล์ก ตอน ป๋าเต็ด ที่คุณมาโนช พุฒตาลมาสัมภาษณ์ไว้ว่า คุณเป็นคนเดินสายกลาง ในความหมายว่าชะโงกไปดูทางซ้ายบ้าง ทางขวาบ้าง แต่พอเป็นเรื่องการเมืองการเดินทางสายกลางยังใช้ได้ไหม

เวลาที่ผมใช้คำว่าเดินสายกลางตอนนั้นก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะเวลาที่เราได้ยินคำว่าเดินทางสายกลางแล้วก็มักจะนึกไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งผมไม่ได้หมายความตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ ผมพยายามคิดว่า wording ที่ใช้ไม่ถูกต้อง สำหรับผมแล้วการเดินทางสายกลางมีสองเรื่องผสมกันอยู่คือคำว่า ‘สมดุล’ กับ ‘หลักการ’ ซึ่งในบางกรณีผมหมายถึงความสมดุล ในบางกรณีผมหมายถึงหลักการ 

ในกรณีที่สมดุลหมายความว่า เราต้องเข้าใจความเห็นหรือรายละเอียดของทั้งสองฟากฝั่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมืองเท่านั้น สมมติพูดถึงเรื่องเพลง เพลงอินดี้กับเพลงกระแสหลัก เราต้องเข้าใจทั้งสองฝั่ง เราจะไม่บอกว่าเพลงอินดี้ดีกว่าเพลงกระแสหลัก หรือเพลงกระแสหลักดีกว่าอินดี้ เพราะผมมองว่าไม่แฟร์ การจะบอกได้ว่าอะไรดี-ไม่ดี เราต้องฟังทั้งสองฝั่งก่อน ซ้ายก็ต้องชะโงกไปดู ขวาก็ต้องชะโงกไปฟัง แล้วเอาข้อดีข้อเสียมาหาจุดตรงกลาง ผมจะไม่ใช่คนที่หลงรักเพลงอินดี้จนหมด แม้ผมจะเคยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อเด็กแนว แต่ผมก็ไม่ได้ชื่นชมเพลงอินดี้เสียจนทำให้เพลงกระแสหลักผิดไปหมดในสายตาเรา อันนั้นคือความหมายที่หนึ่ง

ความหมายที่สองคือเรื่องหลักการ หลักการในที่นี้คือคนเคยถามว่าผมเลือกข้างไหนทางการเมือง ผมไม่ได้เลือกข้างที่ตัวบุคคล ผมเลือกข้างจากหลักการที่ถูกต้อง ไม่ว่าใคร คนไหน พรรคไหน ฝั่งไหน สมัยไหนก็ตามทำเรื่องที่ถูกต้อง ผมจะไปยืนอยู่ข้างนั้น ดังนั้นผมจึงเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการเดินอยู่สายกลาง ไม่ได้เลือกคนแต่เลือกหลักการ เรื่องเดียวกันที่เรามองว่าผิด ไม่สนับสนุน แค่เปลี่ยนชื่อคนทำ ไม่ว่าจะเป็นใคร ผมจะยืนหยัดในจุดยืนทางการเมือง จะทักษิณ ประยุทธ์ หรือธนาธรทำเรื่องผิดผมก็ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ว่าถ้าเรื่องเดียวกัน คุณธนาธรทำผิด แต่คุณประยุทธ์ทำกลายเป็นถูก อย่างนี้ผมไม่เห็นด้วย

หลักการที่ถูกต้องของคุณในทางการเมืองคืออะไร ถ้าคนทำผิดจากหลักการนี้คือรับไม่ได้แล้ว ไม่เห็นดีเห็นงามกับเขาแล้ว

รายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก แต่ถ้าพูดถึงการเมือง สิ่งแรกที่ผมจะพูดคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน อะไรก็ตามที่ไม่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการแสดงความเห็นอย่างยุติธรรม บางเรื่องอาจจะมีกฎระเบียบของมัน ผมเข้าใจได้ แต่โดยหลักการใหญ่ๆ แล้ว รัฐบาลชุดไหนก็ตามที่ปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกของประชาชน ผมก็ไม่ยืนอยู่ข้างนั้นเป็นอันขาด

ถ้ามีโอกาสจัดรายการป๋าเต็ดทอล์กกับประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณจะถามอะไร 

ผมคงถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปวันก่อนหน้าที่จะตัดสินใจทำรัฐประหาร ทบทวนทุกอย่างที่เกิดขึ้นใน 7 ปีที่ผ่านมา คุณประยุทธ์ยังจะตัดสินใจเหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะอะไร และถ้าตัดสินใจเปลี่ยนไป จะเปลี่ยนเป็นแบบไหน เพราะอะไร

แล้วถ้าเปรียบประเทศไทยตอนนี้เป็นเพลงสักเพลง คิดว่าเป็นเพลงอะไร

เพลงเชียร์ยูโรครับ เป็นตัวแทนของการคิดอะไรแบบฉุกละหุก รู้ล่วงหน้าแค่วันเดียวว่าจะมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร เลยต้องใช้เวลาแค่วันเดียว ทั้งแต่ง บันทึกเสียง และทำมิวสิกวิดีโอออกมา ทำให้มีความก่งก๊ง ไม่เข้าที่เข้าทาง เหมือนสภาพประเทศไทยทุกวันนี้ที่มีเรื่องให้ตัดสินใจกันวันต่อวัน บางวันตัดสินใจเปลี่ยนไปมา วันละหลายรอบด้วยซ้ำไป ดังนั้นผมขอเปรียบประเทศไทยเป็นเพลงเชียร์ยูโร

*หมายเหตุ บทสัมภาษณ์เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.228 บันเทิงทอล์ก (แบบไม่บันเทิง) กับ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save