fbpx

“ความเชื่อมั่นต่อรัฐของสังคมพังไปแล้ว” เกรียงไกร วชิรธรรมพร

เกือบสิบปีแล้วที่ซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่นสร้างปรากฏการณ์ทอล์กออฟเดอะทาวน์ในสังคม ตั้งแต่เปิดซีซันแรกมาเมื่อปี 2556 ที่เล่าเรื่องวัยรุ่นได้แสบและตรงไปตรงมา หยิบประเด็นที่ซ่อนอยู่ใต้พรมออกมาพูดในที่แจ้ง เช่น การทำแท้งในวัยรุ่น ความเลื่อนไหลทางเพศ ความสำคัญของเครื่องแบบนักเรียน ไปจนถึงปัญหาครอบครัวที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก ฯลฯ จนหลายคนบอกว่านี่เป็นซีรีส์ที่มาก่อนกาล และกลายเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่คนมักกล่าวถึงหากพูดถึงคุณภาพของซีรีส์ไทย

ในเวลาไม่นาน ประเด็นที่ฮอร์โมนฯ พูดถึงในวันนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พูดถึงกันทั่วไปในโซเชียลมีเดีย และหลายประเด็นก็มีการถกเถียงต่อยอดไปไกลกว่านั้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง 

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ แทบจะเป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในหน้าสื่อและโซเชียลมีเดีย ทั้งจากเหตุการณ์การประท้วงรัฐบาลและการออกมาเสนอค่านิยมใหม่ให้สังคม เป็นข้อยืนยันว่าโลกหมุนทุกวัน และคนรุ่นใหม่คือคนที่ขับเคลื่อนวงล้อนั้น แต่ในวันที่สังคมอยู่ในช่วงวิกฤต ดูเหมือนว่าโลกที่พวกเขาฝันถึงอาจลอยไกลไปทุกที

101 ชวน ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในผู้เขียนบทฮอร์โมนฯ และผู้กำกับฮอร์โมนฯ ซีซัน 2-3 มาคุยว่าด้วยเรื่องคนรุ่นใหม่ เราจะทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่อย่างไร อะไรคือลมหายใจที่ขับเคลื่อนยุคสมัย และลงลึกไปมากกว่านั้น เมื่อการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหากอยากพูดถึงปัญหาสังคม ในช่วงที่การแสดงความคิดเห็นของคนดังเป็นเรื่องน่าอึดอัด เขามองการทำงานของรัฐบาลอย่างไร การเมืองไทยมีแก่นแกนปัญหาอยู่ตรงไหน และอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีปัญหาคอขวดตรงไหนที่ทำให้เราไม่ไปไกลอย่างใจคิด  

ภาพโดย ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์

คุณทำงานกับนักแสดงวัยรุ่นมาเยอะ คุณมองปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงและเสนอค่านิยมใหม่ๆ ในสังคมอย่างไรบ้าง

เวลาผมมองน้องๆ ผมมักจะเทียบกับตัวเองวัยนั้นว่าเราเป็นอย่างไร บ่อยครั้งมากที่รู้สึกว่าเขาเจ๋งกว่าเราในวัยนั้นอีก ตอนนี้ผมอายุ 36 พอย้อนกลับไปในยุคนั้น ถือว่าผมทำอะไรน้อยมาก เราใช้ชีวิตแค่มีความสุขกับสิ่งที่อยากทำ ผมเรียนหนังก็อยู่คณะ ทำหนังกับเพื่อน ฟังเพลง ไปกินเหล้า มีชีวิตที่สุขสบายประมาณหนึ่ง เลยทำให้ไม่ค่อยตั้งคำถาม 

แต่ตอนนี้สังคมกำลังได้ active citizen จำนวนมากขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากการที่โดนกดทับด้วยสังคมเอง สังคมมีความไม่ยุติธรรมอยู่ จนทำให้เด็กอยากลุกขึ้นมาพูด วัยรุ่นเป็นวัยที่อาจจะไม่เข้าใจอะไรทั้งหมดหรอก แต่จะเกิดคำถามเต็มไปหมด แล้วอยากได้คำตอบที่สมเหตุสมผลด้วย ผมคิดว่าวัยรุ่นไม่อยากออกมาพูดอะไรซีเรียสๆ หรอก อยากมีชีวิตสนุกๆ ดูหนังฟังเพลง หวีดศิลปินเกาหลี แต่เพราะมีบางอย่างที่ไม่โอเคจริงๆ แล้วเขารู้สึกว่าถ้าไม่พูด เขาจะไม่มีวันเอนจอยกับสิ่งเหล่านั้นเต็มที่ เลยทำให้ต้องลุกขึ้นมาพูด 

ในประเทศหนึ่งการที่คนจะอยู่อย่างชิลๆ ได้มีอยู่สองอย่าง หนึ่ง ประเทศนั้นดีจริงๆ จนไม่มีอะไรให้เป็นปัญหา ทำงานได้เงินมาก็หาความสุขให้ตัวเอง มีคุณภาพชีวิตดี และสอง คือตัวผมเองในอดีตนี่แหละ คือการถูกประเทศบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่จริงๆ แล้วมีอะไรอยู่ข้างหลังซึ่งเราไม่เคยรู้เลย แต่ ณ วันนี้ เราไม่เห็นประชาชนหรือเยาวรุ่นชิลๆ อีกแล้ว เพราะเขารู้และอ่านมากพอที่จะเข้าใจว่าคุณอย่ามาหลอกเรา ผู้ใหญ่อย่ามาบอกว่าประเทศไม่มีปัญหาอะไร เราต้องหันมาคุยกันได้แล้ว นี่คือสิ่งที่น่าสนใจมากของคนรุ่นใหม่ที่คนยุคผมทำได้ดีไม่เท่าเขาด้วยซ้ำ

มีความแตกต่างอะไรระหว่างช่วงเวลา ทำไมนักศึกษาหนุ่มเช่นคุณในวันนั้นถึงไม่รู้สึกว่าประเทศมีปัญหา แล้วทำไมเด็กรุ่นนี้ถึงรู้สึก

การรู้เห็นทางการเมือง ซึ่งเกิดจากการต้อง ‘เห็น’ ก่อนจริงๆ การรู้เห็นที่ว่านี้เกิดขึ้นจากหลายอย่าง เช่น เราสามารถเห็นได้ด้วยการเดินเท้า เห็นผู้คนที่แตกต่างจากเรา เห็นคนจน คนใช้รถเมล์ ช่วงชีวิตที่ผมขับรถสมัยนักศึกษา ผมรู้จักโลกภายนอกน้อยมากเลย แต่พอขายรถทิ้งมาใช้รถสาธารณะก็พบว่ามีอีกหลายอย่างมากที่ไม่เคยเห็น มีผู้คน ร้านข้างทางเปิดใหม่ที่เราไม่เคยรู้ เห็นว่าเขากำลังดิ้นรนอยู่ การเดินเท้าทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำ แต่ดีไซน์ของเมืองนี้ทำให้เราไม่เห็นกัน 

คนเราจะเห็นกันก็ต่อเมื่อมีการตัดผ่านกันในชีวิต ซึ่งในยุคก่อนเราตัดผ่านกันด้วยการเดินเท้าอย่างเดียว แต่ยุคสมัยนี้เราตัดผ่านกันด้วยอินเทอร์เน็ต และอินเทอร์เน็ตนี่แหละคือคีย์ที่ทำให้เราเห็นกันเยอะขึ้น เด็กรุ่นใหม่เห็นคนที่แตกต่างจากตัวเองเยอะขึ้น เห็นคนเจอเนอเรชันอื่นที่ต้องต่อสู้เยอะขึ้น ซึ่งสิ่งนี้คนเจเนอเรชันเก่าน่าจะนึกไม่ถึง 

คนในยุคอนาล็อก โลกของเราเหมือนเป็นแค่เกาะหนึ่ง เรารู้จักคนแค่เกาะนี้ เช่น โรงเรียน บ้าน หรือซอกซอยเท่าที่เราไปถึง การที่เห็นแค่นี้เลยทำให้เข้าใจว่านี่คือโลกทั้งใบของเราแล้ว แต่จริงๆ แล้วโลกไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างผมเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ถ้าไม่เคยไปทำงานกับชาวบ้านที่ต่างจังหวัดสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็จะไม่รู้ว่าวิถีชีวิตนอกเกาะของตัวเองเป็นอย่างไร การขยายอาณาเขตนี้มีนัยสำคัญมากในการรู้เห็นทางการเมือง เพราะเราจะเข้าใจมากขึ้นว่าประเทศไม่ได้มีแค่เรา มีคนที่ใช้ชีวิตต่างจากเราอยู่ 

กลับกัน คนในเจเนอเรชันนี้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้นและเร็วขึ้นมาก แทบจะกลายเป็นแขนขาของเด็กยุคใหม่แล้ว เลยทำให้การมองเห็นนี้เกิดขึ้นทุกวัน สิ่งที่เขาตามอยู่ในอินเทอร์เน็ตทำให้เขาเห็นสิ่งที่ปกติแล้วเราไม่เห็น เลยทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเอ๊ะได้ง่ายกว่าเรามากๆ

วัยรุ่นเป็นวัยตั้งคำถามอยู่แล้ว แต่ยุคนี้มีอะไรให้เอ๊ะเยอะมาก เป็นยุคสมัยแห่งการเอ๊ะ ทำไมคนอื่นถึงเป็นแบบนั้น ทำไมแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน เขาก็จะเกิดคำถามว่าทำไมๆๆ แล้วก็จะวิ่งหาคำตอบ ความสนุกเกิดตรงนี้คือเขาจะได้คำตอบมาจากไหน ได้มาจากผู้ใหญ่รอบๆ ตัว หรือผู้ใหญ่ไม่ได้ให้คำตอบที่เขาพึงพอใจ แล้วเขาไปได้จากที่อื่น เลยก่อให้เกิดการกระจายมายด์แมปไปไกลมาก

ในสายตาของผู้ใหญ่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจเด็กรุ่นนี้ ไม่รู้ว่าเด็กคิดอะไร ทำอะไร คุณมีข้อมูลเชิงลึกหรือแก่นของเด็กยุคนี้ที่คิดว่าน่าสนใจไหม

ผมก็นึกถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ดี บางทีผู้ใหญ่มักจินตนาการได้แค่ประสบการณ์ของตัวเราที่เป็นเด็ก แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือวัยรุ่นทุกวันนี้หลากหลายในระดับที่เราไม่มีทางจับเขาได้เป็นกลุ่มก้อนเดียว นี่อาจเป็นส่วนสำคัญมาก ตอนนี้เกิดการแบ่งซับคัลเจอร์ แบ่งกลุ่มย่อยไปออกไปเยอะมาก

ยกตัวอย่าง สมัยมัธยมผมเคยชอบหนังเรื่องกุมภาพันธ์มากๆ ซึ่งไม่มีเพื่อนในโรงเรียนที่ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับเดียวกับผมเลย แต่ด้วยอินเทอร์เน็ตโมเด็มในยุคนั้นพาผมไปรู้จักคอมมูนิตีของคนรักหนังเรื่องนี้เหมือนกัน ผมได้เจอพี่ที่อายุโตกว่าผมนอกโรงเรียน กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ผมได้รับรู้ชีวิตที่แตกต่างจากผมมากขึ้น นั่นเป็นการออกไปมีกลุ่มย่อยเดียวที่ผมนึกออกในช่วงเวลา 6 ปีของมัธยม แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวันกับวัยรุ่นยุคนี้ 

ถ้าจะจินตนาการว่าวัยรุ่นยุคนี้เป็นอย่างไร ต้องจินตนาการว่าเขามีชมรมเต็มไปหมด เขาสนใจได้ทั้งวงดนตรีเกาหลี การเมือง วัฒนธรรมอเมริกัน ฯลฯ เพราะฉะนั้นการที่จะลงไปตัดสินหรือเลือกคุยกับเขาด้วยเนื้อหาแบบเดียวอาจจะคุยไม่รู้เรื่อง ไม่เหมือนยุคก่อนหน้านั้นที่เราผลิตคนแบบอุตสาหกรรม การศึกษาผลิตคนออกมาเป็นรูปแบบเดียวกัน รัฐบาลพูดประโยคหนึ่งแล้วคนรู้สึกว่า อุ๊ย กลัวๆๆ เชื่อๆๆ แต่เด็กยุคนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว พอเราพูดอะไรออกไปจะมีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อ 

ในห้าพันชมรมอาจจะมีสักพันชมรมที่เชื่อประโยคนี้ของรัฐบาล แต่อีกสี่พันชมรมอาจจะสงสัย ซึ่งสงสัยด้วยคำถามที่ต่างกันด้วย เขาก็จะหาคำตอบในแบบของเขาเอง จนทำให้เกิดเสียงที่หลากหลาย แล้วก็จับกลุ่มย่อยออกไปอีกในคนที่เชื่อแบบเดียวกัน ซึ่งเกิดเรื่องแบบนี้เต็มไปหมดทุกวันเลย ในสภาวะนี้ ผู้ใหญ่จินตนาการไม่ทันแน่นอน 

เป็นภาวะที่แม้กระทั่งตัวผมเองที่คิดว่าใกล้วัยรุ่นยังเหนื่อยเลย เหนื่อยมากกับการตามเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกวัน เหมือนอยู่บนลู่วิ่งของข้อมูล และวิ่งเร็วด้วย ถ้าไม่วิ่งเราก็จะร่วงหัวแตกไปกับลู่วิ่งนั้น แต่วัยรุ่นอยู่ในลู่วิ่งเหล่านี้ทุกวัน นัยหนึ่งเขาก็เก่งมากในการรับมือกับข้อมูลในปริมาณล้นหลาม แต่อีกทางหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเขาอ่อนประสบการณ์มากเหมือนกัน ในการเลือกตัดสินได้ทันทีว่าอะไรถูกหรือผิด ซึ่งปรากฏการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นของวัยรุ่นทุกวันนี้ ผู้ใหญ่ทุกคนเจอมาแบบเดียวกัน แต่ไม่เข้มข้นเท่านี้ เราทุกคนจะต้องเคยมีความเชื่อบางอย่างที่ผิดๆ แล้วก็เกลียดตัวเองในวัยเด็ก แต่กระบวนการที่คนยุคก่อนใช้เวลาปีสองปีกว่าจะเรียนรู้ วัยรุ่นยุคนี้เกิดกระบวนการภายในเวลาอาทิตย์สองอาทิตย์เอง 

ผมไม่เชื่อเวลาผู้ใหญ่พูดว่าวัยรุ่นรู้น้อย วัยรุ่นรู้เยอะมาก แต่เขาเลือกไม่ถูกว่าอะไรคือความรู้ที่เอาไปใช้งานได้จริงและมีประโยชน์กับชีวิตประจำวัน เขาอาจจะยังเลือกไม่ได้ดีมาก แต่กำลังหัดอยู่ วัยรุ่นอยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากคนเจเนอเรชันก่อนหน้านี้มากๆ แล้วสนุกตรงที่มีคนที่เลือกได้ดีกว่าผู้ใหญ่อยู่เยอะมาก 

ภาพโดย ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์

มีคอมเมนต์ของผู้ใหญ่ที่เป็นอนุรักษนิยมหลายคนบอกว่าเด็กยุคนี้รับข้อมูลท่วมท้นมาก ถูกปั่นหัวได้ง่าย แล้วก็ไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้ยึดหลักอะไรในชีวิต คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

ผมค่อนข้างเชื่อว่ามนุษย์คนหนึ่งควรจะมีกระดูกสันหลังของตัวเองทางความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ แต่การที่เราจะเชื่อบางอย่างแบบโคตรเชื่อได้ต้องใช้เวลานานมากๆ กว่าจะกลั่นกรองจนเป็นคนคนหนึ่งที่เชื่อแบบนี้ บางทีผู้ใหญ่ด่วนตัดสินวัยรุ่นว่าเขาไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ต้องคิดว่าเขาแค่กำลังอยู่ในกระบวนการ ระหว่างจะไปถึงจุดที่เขาเลือกจริงๆ ว่าเชื่อในอะไร หรือบางคนเลือกได้แล้วด้วยซ้ำ ซึ่งระหว่างกระบวนการ วัยรุ่นไม่ได้ไม่ต้องการผู้ใหญ่นะ แต่เขาต้องการผู้ใหญ่ที่คุยกับเขารู้เรื่อง ซึ่งช่องว่างระหว่างวัยก็เป็นปัญหาใหญ่มากที่ยังนึกไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร 

บางทีถ้าเราปักธงเลยว่าคนรุ่นใหม่โดนหลอกง่าย อาจจะกลายเป็นว่าเรากำลังปักธงด้วยเหมือนกันว่าความเชื่อของเราถูก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรถูกตลอดกาล ผมชอบประโยคหนึ่งในการศึกษาวิทยาศาสตร์มาก เขาบอกว่าสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงจะถูกจนกว่าจะมีสิ่งใหม่มาลบล้าง ผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้ถูกตลอดเวลา บางทีอาจเผลอคิดว่าเราผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว เจ็บแล้ว เป็นความปรารถนาดี ไม่อยากให้วัยรุ่นเจ็บแบบเรา แต่สิ่งนั้นอาจจะถูกเมื่อปี 2540 ก็ได้ แต่ในปี 2564 อาจจะผิดแล้วนะ เราต้องกลับมาคุยกันใหม่แล้วหรือเปล่า เพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา 

วิธีการคุยที่ดีที่สุดของผู้ใหญ่คือการเปิดโอกาสให้วัยรุ่นแสดงมุมมองของเขา ต้องตั้งสติแล้วมองแค่แก่นจริงๆ ว่าวัยรุ่นอยากพูดอะไร เขากำลังต้องการอะไรอยู่นะ แล้วสิ่งที่เราแนะนำเขาได้ไม่ใช่วิธีการแต่คือประสบการณ์ ที่เหลือเป็นสิทธิของเขาที่จะตัดสินว่าจะเชื่ออะไร

ที่ผมเชื่อว่าเด็กต้องการผู้ใหญ่ เพราะผมเคยเจอสภาวะนี้เองเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงที่เด็กวัยรุ่นเขามีการรณรงค์ให้ใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน แล้วมีการพาดพิงถึงเรื่องฮอร์โมนฯ ทั้งผมและพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) ออกมาโพสต์ในทางสนับสนุนวัยรุ่น แล้วมีน้องคนหนึ่งบอกผมว่าเขารู้สึกดีมาก เหมือนถูกผู้ใหญ่กอดและโอบอุ้ม มีคนที่พร้อมจะสู้ไปกับเขาในประเด็นต่างๆ ผมเลยคิดว่าผู้ใหญ่ช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นจริงๆ นะ เขาไม่ได้จะถูกกดทับแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีผู้ใหญ่ที่ฟังเขาเหมือนกัน แล้ววันหนึ่งจะเติมความหวังให้เขา

ผู้ใหญ่ที่โอบอุ้มเด็กด้วยความเข้าใจจริงๆ น่าจะดีกว่าไปบอกเขาว่าคุณไม่ควรคิดและพูดอะไร ซึ่งใช้การไม่ได้แล้วสำหรับยุคสมัยนี้

คุณได้โอบกอดน้องๆ ทางอ้อม ขณะเดียวกันคุณมีผู้ใหญ่มาโอบกอดทางความรู้สึกบ้างไหม

ผมก็เพิ่งผ่านประสบการณ์ที่ถูกโอบอุ้มมาเหมือนกัน ตอนที่ฟังคุณสรยุทธอ่านจดหมายสัญญาแอสตร้าเซเนก้าออกอากาศ ตอนนั้นผมกินข้าวอยู่ จำโมเมนต์ได้เลยว่าผมเข้าใจน้องคนนั้นแล้ว คือมันอบอุ่น ทำให้รู้สึกว่าการที่เราต่อสู้หรือด่ารัฐบาลอยู่ เราไม่ได้ทำกันเองแค่ประชาชนนะ แต่มีหน่วยงานหรือผู้ใหญ่ที่กำลังพยายามช่วยเราอยู่เหมือนกัน 

ในส่วนอื่นๆ ก็มีคนที่เราไม่รู้จักกำลังขับเคลื่อนสังคมอยู่ พอเห็นคนแบบนี้แล้วก็เติมความหวังให้ผมทุกทีเลย ประเทศนี้แก้ยากมาก เพราะมีอะไรหลายอย่างที่ฝังรากกันมานาน แต่ผมยังไม่เคยหมดหวังจริงๆ เลยนะ เพราะได้รับการเติมความหวังทุกวันจากคนเหล่านี้ เราเห็นคนที่ยังทำอยู่ ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาควรหมดหวังกว่าเราด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ไล่หลังเรามายังมีวัยรุ่นที่กำลังมีหวังขึ้นไปอีก เราต้องไม่หมดหวัง แล้วการไม่หมดหวังคือการทำหน้าที่ให้คนอื่นด้วย พยายามเขียน บอก พูด ให้ทุกคนมาใกล้เรามากที่สุด 

ผมเล่าอย่างนี้ว่า การที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนจากไม่สนใจสังคมมาเป็นคนสนใจสังคมได้ ใช้เวลาเป็นปีจริงๆ นะ ตัวผมเองที่เป็นอิกนอแรนซ์ตั้งแต่ปี 2551-2552 กว่าจะเปลี่ยนเป็นคนที่เริ่มสนใจอะไรบางอย่างได้ต้องใช้ความรู้เยอะมากเลย ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนและเปิดใจฟังเยอะมาก 

ภาวะเพิกเฉยที่ผมเคยเป็นเกิดจากการที่ชีวิตสุขสบายอยู่แล้ว ไม่ตั้งคำถามอะไร ใช้ชีวิตไปวันๆ แล้ว ณ วันที่จะเริ่มตั้งคำถาม ผมจำได้เลยว่ามีเรื่องที่ตามไม่ทันเยอะมาก ตอนช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ปี 2553 เวลาคุยกับคนเสื้อแดง เขาก็มักจะบอกว่าให้ไปอ่านหนังสือก่อนค่อยมาคุยกัน ผมก็สงสัยมากว่าให้ไปอ่านเล่มไหน แต่มีวันหนึ่งที่เป็นคีย์ของการเริ่มเปลี่ยนความคิดเลยคือการไปกินเหล้ากับเพื่อน

ในกลุ่มนั้นมีเพื่อนที่เป็นเสื้อแดงอยู่ ปกติไม่ได้กินเหล้าด้วยกัน แต่วันนั้นลองดู ขอกินเหล้าด้วยกันหน่อย ผมได้ฟังหลายอย่าง ณ คืนนั้นคืนเดียว เหมือนมีคนมาเล่าให้เราฟังโดยย่อว่ามีประวัติศาสตร์อะไรเกิดขึ้นบ้าง สมัยหนังสือพิมพ์ดาวสยาม กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ช่วง 6 ตุลา เป็นอย่างนี้ๆ นะ ผมจำได้ว่าคืนนั้นผมกินเหล้าไปเยอะมากแต่ตาสว่างมาก ไม่เมาเลย มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้ตามข่าวหลังจากนี้ได้ 

หลังจากนั้นผมก็สะสมหลายอย่างมาก ค่อยๆ ตามข่าวไป รู้แล้วว่าม็อบเสื้อแดง ณ วันนั้นต้องการอะไร ฝั่งเสื้อเหลืองที่ออกมาเรียกร้องเขาต้องการอะไร พอเห็นแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของเราแล้วว่าจะเชื่ออะไร ซึ่งถึงจุดหนึ่งก็จะมีเรื่องที่รู้สึกว่าไม่มีทางยอมรับได้แน่นอน เช่น การสั่งยิงในวัดปทุมฯ เมื่อปี 2553 

ผมจำได้เลยว่าดูข่าวในทีวีอยู่ เห็นคนหลบเข้าไปอยู่ในวัดแล้ว ตอนนั้นคิดว่าโอเค เขาปลอดภัยแล้ว เพราะเขาเข้าไปอยู่ในวัด ทหารคงไม่ยิงแน่ๆ แต่กลายเป็นว่าพอเราหันไปกินข้าว แล้วทหารยิง ผมชาไปทั้งตัว นี่คือสิ่งที่จะมีวันเรียกว่าถูกต้องได้เหรอ ไม่ควรมีใครต้องมาเสียชีวิตเพียงเพราะเขามีความเชื่อตรงข้ามกับคุณ ผมยอบรับสิ่งนี้ไม่ได้ หลังจากนั้นแหละที่รู้สึกว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ผมจะอ่านให้มากขึ้น ต้องรู้มากขึ้น เริ่มรู้แล้วว่าต้องอ่านหนังสือเล่มไหนต่อ ต้องฟังข่าวแล้วจับประเด็นตรงไหน 

ถ้าไม่มีการกินเหล้าครั้งนั้น ผมจะไม่สามารถทำต่อเองได้เลย ผมเลยรู้สึกว่าภาวะ ณ วันนี้เราไปเร่งรัดไม่ได้ บางทีเวลาเราคุยกับคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองจริงๆ แล้วเร่งรัดให้เขาคิดได้เลยภายในเวลาสั้นๆ ด้วยการปาข่าวใส่เขาหนึ่งข่าว แล้วบอกว่าคุณดูสิ อันนี้ไม่ยุติธรรม แต่เขาโตมา 20-30 ปีกับความเชื่อบางอย่างที่ฝังแน่นเลยนะ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ ด้วยข่าวสองข่าวก็ได้ ผมเลยเชื่อว่าการค่อยๆ เล่าให้ฟังน่าจะเปลี่ยนแปลงคนได้ในระยะยาว

คุณอ่านอะไร มีหนังสือเล่มไหนที่กระแทกใจ ทำให้มองเห็นปัญหาทะลุเชิงโครงสร้าง

ถ้าพวกเหตุการณ์เชิงประวัติศาสตร์ ผมอ่านจากบทความที่สรุปมาแล้ว แต่ผมอ่านหนังสือที่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างจริงๆ เช่น ชุด A Very Short Introductions(VSI) ของเรื่องต่างๆ เช่น กฎหมาย โลกาภิวัตน์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ผมอ่านหนังสือชุด VSI ไปเยอะมากๆ เล่มที่ทำให้รู้สึกทึ่งก็เล่มโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้รู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร หรือเล่มกฎหมายที่ทำให้รู้ว่าการออกแบบกฎหมายมีแบบนี้ด้วย เปลี่ยนทิศทางในการคุมประชากรได้เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนเสริมที่ทำให้เวลาอ่านข่าวจะมองเป็นโครงสร้างมากขึ้น เริ่มข้ามการมองเป็นตัวบุคคลได้บ้าง

นอกเหนือไปจากนั้น ผมอ่านเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ พอทำงานเขียนบท ต้องทำงานกับตัวละคร เลยสนใจเรื่องความเป็นมนุษย์เยอะมาก เล่มที่เปลี่ยนผมจริงๆ มีเล่มของหมอชัชพล เกียรติขจรธาดา คือเล่ม เรื่องเล่าจากร่างกาย กับ 500 ล้านปีของความรัก ที่อ่านแล้วพอเข้าใจการทำงานของมนุษย์ในเชิงกายภาพ ว่าอารมณ์และเหตุผลทั้งหลายมีที่มานะ ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น หรือเล่มเซเปียนส์ ที่ช่วยให้รู้สึกว่ามนุษย์เต็มไปด้วยสิ่งที่จริงและสิ่งสมมติอยู่ ถ้าแยกออกได้จะดีมาก ช่วยให้เรามองอะไรเป็นรูปธรรมขึ้นมากๆ 

หนังสือเชิงมนุษยศาสตร์พวกนี้ ค่อยๆ ทำให้มองความเป็นมนุษย์ชัดขึ้น ลดอีโก้เราได้เหมือนกันนะ 

ทำให้เห็นว่ามนุษย์เท่ากัน?

ใช่ เป็นคีย์มากๆ เลย คำว่าคนเท่ากันคือสิ่งที่แยกได้ชัดเจนเลยว่าเราจะคุยกับใครรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง เวลาคุยกับคนที่เห็นคนไม่เท่ากันแล้วคุยยากมากเลย ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าเขาผิด แต่ประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมานานมากอาจทำให้เขาเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน เขาโตมากับยุคที่คนกลุ่มหนึ่งสูงกว่าจริงๆ แล้วเราก็ต้องรับใช้อยู่ข้างล่าง 

เมื่อผมเชื่อในวิทยาศาสตร์ เลยพ่วงมากับการเชื่อในระบบ เพราะระบบมีสิ่งที่ตรวจสอบได้ คนตรวจสอบไม่ได้ ใจคนเปลี่ยนตลอดเวลา ผู้นำคนนี้อาจจะเป็นคนดีในวันแรกเข้าไป แต่อาจจะกลายเป็นคนเลวในหนึ่งปีหลังจากนั้นก็ได้ ใจคนไม่แน่นอน แต่ระบบแน่นอน ตรวจสอบได้ ถ้าเขาไม่ดีจริง เราก็เอาเขาออกจากระบบ พอเชื่อในสิ่งนี้เลยทำให้รู้สึกว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่นำไปสู่ระบบที่ดีเราก็ควรสนับสนุน ซึ่งระบบในที่นี้ไม่ใช่ระบบแบบหุ่นยนต์ด้วย แต่เป็นมนุษย์จัดการระบบกัน นี่คือแก่นแกนที่สุด อะไรที่ไม่ใช่เราก็จะเถียง เห็นค้าน เริ่มรู้แล้วว่าจุดยืนของเราคืออะไร

ภาพโดย โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์

อยากชวนคุณมองการทำงานของรัฐบาลในช่วงวิกฤตโควิด-19 อะไรคือแก่นของปัญหาที่ทำให้การับมือวิกฤตดูเหมือนจะล้มเหลว

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความเชื่อมั่นต่อรัฐของสังคมพังไปแล้ว ผมแงะโครงดูแล้วเห็นว่าระบบของประเทศหนึ่งปกครองกันโดยมีประชาชนเป็นหลัก ประชาชนเลือกคนกลุ่มหนึ่งไปทำหน้าที่ เรามีคณะรัฐบาล ประชาชนจ่ายภาษีให้เขาทำงาน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ระบบนี้เวิร์กคือต้องเชื่อใจกันและกันมากๆ ซึ่งไม่ใช่การเชื่อใจกันนามธรรมแบบพี่เชื่อน้องนะ แต่การเชื่อใจเมื่ออยู่ในรูปแบบของระบบแล้วก็คือการตรวจสอบได้ การตรวจสอบได้นำมาซึ่งความเชื่อใจ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยทำให้เรารู้สึกเชื่อใจได้เลย ประชาชนตะขิดตะขวงใจกับทุกอย่างตลอดเวลา และประชาชนไม่สามารถยื่นมือเข้าไปตรวจสอบได้ ประชาชนเลยหวาดระแวงตลอดเวลา จะเอาวัคซีนอะไรมาให้เราฉีด นี่คุณบริหารประเทศดีที่สุดหรือยัง ทำไมถึงเลือกที่จะปิดร้านอาหาร มีเงินเยียวยาไหม ฯลฯ มีหลายเรื่องมากที่เราตั้งคำถาม

โครงสร้างการเมืองของไทยมีปัญหาตรงไหน ทำไมประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

รัฐบาลชุดนี้ได้มาบนระบบที่ยังมีข้อกังขาเต็มไปหมด เลยทำให้เราไม่สิ้นสงสัยสักทีว่าเราควรได้เขามาจริงๆ หรือ เพราะระบบการนับคะแนน บัตรเขย่ง ส.ว. 250 คน และกลุ่มคนที่ไม่สิ้นสงสัยเหล่านี้แหละที่รู้สึกว่าเขาไม่คู่ควรจะได้รัฐบาลชุดนี้มา เลยทำให้ความเชื่อใจไม่เคยเกิดขึ้น 

ผมเชื่อว่าถ้าการเลือกตั้งนั้นเวิร์กจริงๆ เราปล่อยให้ระบบทำงานจริงๆ สักครั้ง ประชาชนจะเห็นภาพเองว่าอะไรดีหรือไม่ดี แล้วหลังจากนั้นเราจะยอมรับได้เต็มปากเต็มคำว่าเราเลือกคุณมา เราเลือกผิด ครั้งหน้าก็จะไม่เลือกอีก การเมืองก็จะเข้าระบบปกติ ทุกอย่างก็กลายเป็นเรื่องของความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ถ้าระบบไม่เข้าที่สักที ไม่มีทางเลยที่จะเกิดความเชื่อมั่น แล้วก็จะเกิดข้อถกเถียงในสังคมแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าครั้งหน้าระบบยังมีปัญหาอีกก็เชื่อเถอะว่าคนก็จะยังรู้สึกแบบเดิมว่าไม่ได้เลือกรัฐบาลชุดนี้มา

อีกปัญหาหนึ่งก็คือดันมีอำนาจใหญ่กว่านั้นที่ล้มล้างระบบได้ นึกภาพว่าเรากำลังเล่นหมากรุกกันอยู่ แล้วมีคนล้มกระดานทันทีที่รู้ว่าเขาจะแพ้ การเล่นกับคนแบบนี้ไม่มีทางสนุกเลย แล้วเหมือนคนกลุ่มนี้ยังเคยชินกับวิธีการนี้อยู่ ไม่แปลกใจที่ประเทศไทยมีรัฐประหารเยอะที่สุดในโลก กลายเป็นวิถีปฏิบัติแบบหนึ่ง เพราะในนามของความดีและคนดีสามารถทำได้ กลายเป็นลูปของการสร้างกระแสว่าคนนี้กำลังจะโกง เพราะฉะนั้นเราต้องล้มล้างมัน รีเซ็ตระบบ กลับไปใหม่ รัฐประหาร ไม่มีทางเลยที่เราจะได้พิสูจน์ระบบอย่างเต็มรูปแบบจริงๆ แล้วประชาชนก็จะไม่สิ้นสงสัยจริงๆ 

ถ้าคุณอยากจะเล่นแฟร์เกมได้จริงๆ ขอให้ทุกอย่างเล่นได้เหมือนกันหมด แล้วหลังจากนั้นใครจะเชื่ออะไรก็เชื่อไป แล้ววัดกันที่ระบอบเลือกตั้ง ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนขนาดนั้น แต่มันดันไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเขาไม่เคยอนุญาตให้เกิดขึ้น

ภาพโดย พิชย จรัสบุญประชา

คุณคิดว่างานซีรีส์หรือภาพยนตร์สามารถส่งเสียงทางการเมืองได้ไหม แค่ไหนอย่างไร 

ทำได้ ผมเชื่อเรื่องพลังของสื่อมากๆ ผมโตมาในยุคที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสื่อในหลายประเทศ เช่น ยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างความชายเป็นใหญ่มากๆ ในเกาหลีกับหนังเกาหลี จำได้เลยตอนนั้นมี My Sassy Girl เป็นหนังโรแมนติกคอมเมดีที่นางเอกมีปากมีเสียงสู้พระเอกได้ หลังจากนั้นทิศทางของกระแสชายเป็นใหญ่ก็เริ่มเปลี่ยนไป ผมเจอมาเองด้วยจากการทำซีรีส์ฮอร์โมนฯ ว่าสื่อส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับทัศนคติของคน 

ผลกระทบที่สื่อทำต่อคนได้มีหลายระดับ ระดับแรกให้ข้อมูล ระดับสองทำให้คนรู้สึกกับสิ่งนั้นได้ และระดับสามคือมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงระดับความคิดได้ ในฐานะคนทำ การจะสื่อสารให้ถึงระดับสามทำยากมาก เราจะทำระดับสามโดยที่ไม่มีระดับสองไม่ได้ และอุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเรายังต้องเสพปนไปกับความบันเทิงอยู่ ไม่ว่าเราจะทำประเด็นอะไรก็ต้องคลอไปกับความสนุกและความบันเทิง

ถ้าคุณจะทำหนังจริงจังมากๆ โดยไม่มีความสนุกเลยก็ไม่มีคนดูอยู่ดี เพราะฉะนั้นเลยเป็นเรื่องการสมดุลของคนทำที่แค่ทำให้สนุกปกติก็ยากมากแล้ว แล้วการจะนำเสนอประเด็นทางสังคมด้วยก็ต้องการการขบคิดและใช้เวลากับมัน แต่ถามว่าอยากทำไหม อยากทำแน่นอน ผมพยายามแทรกประเด็นทางสังคมอยู่ในงานเล็กๆ น้อยๆ ควรจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างในสังคมได้ ถึงเป็นเรื่องเล็กๆ เราก็ดีใจ 

ซีรีส์เรื่องฮอร์โมนฯ ที่คุณร่วมเขียนบทและเป็นผู้กำกับด้วย ถูกนับเป็นต้นแบบของซีรีส์ที่ทั้งเล่าเรื่องสนุกและเล่าถึงประเด็นทางสังคมด้วย ตอนนั้นเนื้อหาในฮอร์โมนฯ ถือว่านำสังคมไปประมาณหนึ่ง แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าความคิดในสังคมอาจจะนำเนื้อหาในซีรีส์หรือภาพยนตร์ไปแล้วหรือไม่ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมเห็นด้วย รู้สึกดีกับการที่สังคมเคลื่อนไปข้างหน้าเร็วมาก กลับไปตอนต้นที่เราคุยกันว่าทุกคนกำลังเป็น active citizen กันอยู่ แล้วเรากำลังมองหาคอนเทนต์ที่ควรจะนำเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็จะตามมาด้วยปัญหาว่าการทำคอนเทนต์เรื่องหนึ่งใช้เวลานานมาก ผมอยู่กับโปรเจ็กต์หนึ่งมาสองปี ประเด็นที่เราตั้งใจจะไปแตะก็เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา 

ผู้ชมพัฒนาตัวเองไปข้างหน้าตลอดเวลา เราเองก็ต้องพัฒนาตัวเองไปตลอดเวลาเหมือนกัน สิ่งที่ฮอร์โมนฯ พูดหลายอย่างในวันนั้นก็เปลี่ยนไปแล้วในวันนี้ ถ้าเราทำฮอร์โมนฯ ช้ากว่านี้สัก 5-6 ปีก็ไม่มีทางที่เราจะพูดแบบนั้น ต้องหาวิธีพูดแบบอื่นให้ได้ หรือพูดอย่างที่ปัจจุบันเป็นอยู่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นสิ่งดีที่สุดเท่าที่คนทำสื่อทำได้คืออย่างน้อยๆ ต้องตระหนักเรื่องนี้ 

เรื่องความบันเทิงก็มีประโยชน์กับคนกลุ่มใหญ่ๆ อยู่เหมือนกันแหละ เหนื่อยๆ กลับบ้านมาก็ไม่อยากดูอะไรซีเรียส อยากดูแค่นี้ สนุกแล้วก็จบ ผมไม่ได้ถึงขั้นอยากจะให้ทุกเจ้าเปลี่ยนมาทำคอนเทนต์ที่มีประเด็นทางสังคม ที่เล่าเรื่องในระดับทำงานกับความคิดคน แต่การเพิ่มจำนวนให้ได้มากขึ้นก็ยิ่งดี ก็จะมีประเด็นที่พูดได้หลากหลายขึ้น น่าจะเป็นเรื่องดี

ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบเยอะมากเลย ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำและประเด็นทางสังคมต่างๆ แต่ทำไมพอถึงเวลาจะทำงานไปสู่ระดับโลกจริงๆ ถึงไม่มีงานในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทำคุณภาพได้ระดับนั้น เราติดปัญหาคอขวดตรงไหน

สเกลของอุตสาหกรรมบ้านเรายังไม่จริงอยู่ ในที่นี้คือเราทำตัวเหมือนเราจะทำซีรีส์ แต่เรายังมีทุนสร้างแค่ 10% ของการทำซีรีส์แบบนั้น การทำหนังหรือซีรีส์เป็นการผลิตที่ต้องมีรายได้กลับมา แต่กำไรในการทำซีรีส์หรือหนังก็มีลิมิตอยู่ 

มียุคหนึ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นเรื่องกำแพงภาษา เพราะเราไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลยขายไม่ได้หลายประเทศเหมือนซีรีส์อเมริกา แต่ก็พบว่าโลกทุกวันนี้เริ่มไม่ค่อยใช่แล้ว ซีรีส์เกาหลีญี่ปุ่นก็ไปได้ เราก็มานั่งคิดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วพบว่าคือเรื่องข้อจำกัดของผู้ชมที่ยังมีบาร์อยู่ ก่อนหน้านี้เราทำงานแค่ให้คนไทยด้วยกันเองดู ตั้งเป้าอยู่ที่การฉายในประเทศ เลยทำให้เรามีเพดานสูงสุดของผลตอบแทนอยู่ ไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม ก็จะมียอดคนดูประมาณนี้ ยกเว้นว่าหนังเรื่องนั้นจะดีจนคนดูซ้ำมากๆ เกิดปรากฏการณ์แบบพี่มากพระโขนง ถึงจะทะลุเกณฑ์ได้ ซึ่งพอรายได้ไปไม่เกินนี้ วิธีการทำงานที่จะทำให้เราทำเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ก็คือการทำให้ต้นทุนไม่เกินนี้ เลยต้องทำของชิ้นนี้ในราคาที่เจ็บตัวน้อยที่สุด 

ตอนที่ Parasite ได้ออสการ์ เขามีชาร์ตว่าหนังออสการ์เหล่านั้นใช้เวลาถ่ายกันกี่วัน Parasite ถ่าย 77 วัน The Irishman ถ่าย 108 วัน แต่หนังไทยหนึ่งเรื่องถ่ายกันแค่ 20-30 วันเองนะ เพราะฉะนั้นเรื่องคุณภาพ ความคราฟต์ ไม่มีทางเทียบกันได้ ต่างประเทศมีเวลาในการทำงานเยอะมาก ใช้เงินลงไปกับหนังสูงกว่ามาก ซึ่งเขาเห็นแล้วว่าปลายทางนั้นมากกว่าแค่ในประเทศ พอหนังเขาส่งออกได้ เริ่มมีคนดูที่ต่างประเทศ เขาก็กล้าลงทุนมากขึ้น เม็ดเงินที่จะใช้กับอุตสาหกรรมก็ใหญ่ขึ้น ไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้นสักทีทั้งหนังและซีรีส์

ซีรีส์ถือเป็นบาร์ที่ย่ำแย่มาก คนทำซีรีส์เหนื่อยมาก ได้ค่าตัวน้อยมาก เราต้องทำงานหนักมากเพื่อแลกกับคอนเทนต์ที่ดี ผมเชื่อว่าคนทำงานทุกคนพยายามจะถีบตัวเองให้เก่งขึ้น โตขึ้น มีคนรุ่นใหม่เก่งๆ เต็มไปหมดเลยตอนนี้ แต่ระบบไม่เอื้อให้เขาเก่งขึ้นแบบชอบธรรม เพราะค่าแรงยังไม่ยุติธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วคนทำงานเหล่านี้ก็มักเข้าใจไปว่านายทุนกดเงิน แต่พอมาคุยกับนายทุนแล้วจะรู้ว่านายทุนไม่ได้อยากกดเงิน แต่เขามีเงินแค่นี้ การขายแพ็คสปอนเซอร์ให้มีสปอนเซอร์เข้าในซีรีส์ ลิมิตอยู่ที่ประมาณนี้ ทำมากกว่านี้คุณก็จะเห็นโฆษณาทุกซีน แล้วคุณเอาเหรอ เราก็ไม่เอา ไม่อยากทำ นายทุนเองก็พยายามจะสมดุลเรื่องตัวเลขกับอรรถรสของคนดู

ตอนนี้เลยไม่เกิดความเข้าใจกันตรงกลางสักทีของอุตสาหกรรม แล้วพอมีข้อจำกัดแบบนี้อยู่ เลยทำให้ที่ผ่านมาเวลาจะทำคอนเทนต์อะไรก็ตาม วิธีแก้ปัญหาคือการมองให้ไกลขึ้น คอนเทนต์ที่เราจะทำต้องสากลพอ มองออกไปประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ก่อน พอไปได้ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งเหล่านี้ไปแค่บริษัทเดียวไม่ได้ ต้องไปทั้งอุตสาหกรรม ถามว่าคอขวดของปัญหาอยู่ตรงไหน เป็นเรื่องของทั้งอุตสาหกรรม คนในวงการสู้กันมากแล้วกับการทำงานบนข้อจำกัด แต่เราต้องการการสนับสนุนมากกว่านี้มากๆ ทั้งในเชิงโอกาสทางการฉายและในเชิงต้นทุนการสร้างด้วย

ในเชิงนโยบายจากภาครัฐ การช่วยเหลือหรือการให้ทุนคนทำหนังหน้าใหม่ๆ ยังน้อยอยู่ คนทำหนังหลายคนโตขึ้นมาจากศูนย์ ก็ต้องหาโอกาส ถ้าได้รับโอกาสที่ดีจากภาครัฐก็มีอาจจะโตได้ ทุกวันนี้รัฐชอบพูดเรื่อง soft power แต่รัฐไม่เคยสนับสนุน soft power จริงๆ เลย รัฐใช้แต่ soft power ที่ดังไปแล้ว เป็นระบบที่โคตรไทยเลย คุณดังแล้ว มาถ่ายรูปกับเรา แต่ ณ วันที่เขาไม่ดัง คุณไม่เคยดันก้นเขาเลยนะ 

คนทำหนังไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเลยกับการทำงานอุตสาหกรรมนี้ ทุกคนต้องมีอะไรรองรับตลอด คนทำหนังทุกคนรอดได้ด้วยการเป็นผู้กำกับโฆษณา หรือทำงานอื่นไปด้วยถึงจะรอด ซึ่งนี่ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่แท้จริง ถ้าจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนทั้งหมด

ในฐานะคนเล่าเรื่อง คนเขียนบท ผู้กำกับ คุณอยากเล่าอะไร ประเด็นไหนที่ยังคาอยู่ในใจ รู้สึกว่าต้องสื่อสารออกมาสู่สังคม

มีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ผมจะทำแล้วพับไป คือซีรีส์เกี่ยวกับอาชีพ เราจะเห็นว่าเกาหลีทำซีรีส์อาชีพเยอะมาก แต่ของไทยยังมีน้อยมากๆ หรือทำออกมาแล้วก็ยังไม่ได้ลึกมาก 

จุดเริ่มต้นของประเด็นนี้มาจากตอนที่ผมไปเนเธอร์แลนด์ ผมทำพาสปอร์ตหาย เลยได้ไปพักที่บ้านของคนไทยที่แต่งงานกับคนที่นั่น สามีเขาที่เป็นคนดัตช์เล่าให้ผมฟังว่าตอนเด็กเขาฝันอยากเป็นคนเก็บขยะ เขาเปิดรูปให้ผมดูว่าการเก็บขยะที่เนเธอร์แลนด์เท่มาก เขาใช้รถเครนเก็บขยะ มีระบบจัดการขยะในนั้น เขาบอกว่าตอนเด็กเขาอยากเล่นรถคนนี้มาก เขารู้สึกว่าคนที่บังคับรถคันนี้ได้ทำให้เมืองสะอาด เป็นฮีโร่ พอผมเห็นรูปนั้นก็เข้าใจทันทีว่านี่แหละคือตัวอย่างของประเทศที่ให้ค่ากับทุกอาชีพ

ประเทศไทยยังบอกเลยว่าไม่ตั้งใจเรียนเดี๋ยวคุณจะโตไปเป็นคนเก็บขยะนะ เรายังใช้วาทกรรมแบบนี้อยู่เลย เพราะเรามองคนเก็บขยะต่ำกว่าเรา เรามองว่าคนเก็บขยะเก็บสิ่งสกปรก ไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนจัดการความสะอาดให้ประเทศ วิธีการคือเปลี่ยนคำแค่นี้เอง ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วให้คุณค่าทุกอาชีพ 

ทุกอาชีพมีเหตุผลที่เกิดขึ้นบนโลก เราควรทำให้ทุกอาชีพมีคุณค่าเท่ากัน แล้วเมื่อนั้นผมเชื่อว่าทุกคนจะมีโอกาสในการโตและตามหาความฝันอะไรก็ได้ หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสนุกแล้ว เราอาจจะสนุกกับการค้นคว้ากระดูกไดโนเสาร์ การเป็นนักดับเพลง การตัดต่อพันธุกรรม ฯลฯ แต่ ณ วันนี้สังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ห่างไกลมากๆ และเราอยากเปลี่ยนชุดความคิดนี้ให้ได้

ภาพโดย ศศิดิศ ศศิสกุลพร

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save