fbpx

‘ยาก-ลำบาก-แต่ไม่นึกเสียใจที่ออกมา’ ฟังเสียง 3 เยาวชนที่ไร้บ้านเพราะการเมือง

16 ตุลาคม คือวันครบรอบหนึ่งปีการสลายการชุมนุม ณ บริเวณแยกปทุมวัน วันแรกของการฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยรัฐ

เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างมากถึง ‘การใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น’ ของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกับเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ออกไปชุมนุมอย่างสันติและไร้อาวุธ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความโกรธแค้นกับการกระทำดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพการปะทะระหว่างเยาวชนคนหนุ่มสาวกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) สร้างความกังวลและหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในใจของผู้คนบางส่วนเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่ เมื่อการไปม็อบได้อย่างปลอดภัยของลูกๆ ดูท่าว่าจะต้องสิ้นสุดลง

หลังจากเหตุการณ์วันนั้น สถานการณ์ทางการเมืองนอกสภามีความเข้มข้นขึ้น เกิดม็อบรายวัน ม็อบไร้แกนนำ ควบคู่ไปกับการยกระดับการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ทั้งการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ปรากฏให้เห็นจนแทบจะกลายเป็นเรื่องชินตา

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายในครอบครัวจำนวนมากก็เริ่มตึงเครียดขึ้น เด็กหลายคนออกมาระบายความในใจถึงความอึดอัดและความเครียดที่กำลังแบกรับ เนื่องจากมีทัศนคติทางการเมืองต่างจากคนที่บ้าน บ้างก็เกิดเหตุการณ์ที่เยาวชนต้องออกมาชูป้ายขอความช่วยเหลือกลางที่ชุมนุม หลังจากที่เขาหรือเธอถูกไล่ออกจากบ้านเพราะมาม็อบ และมีอีกมากที่ตัดสินใจละทิ้ง (อดีต) พื้นที่ปลอดภัยอย่างบ้าน เพื่อได้ออกมาสานต่ออุดมการณ์ทางการเมือง

101 คุยกับเยาวชน 3 คนที่ตัดสินใจออกจากบ้านด้วยเหตุความเห็นต่างทางการเมือง ถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรคือสิ่งที่เขาต้องเผชิญในยามที่ออกมาอยู่ตัวคนเดียว รสชาติของชีวิตแบบไหนที่เด็กวัย 17 ปีต้องสัมผัส และเคยมีสักครั้งไหมที่พวกเขาคิดจะหยุดในสิ่งที่ทำเพื่อแลกกับการได้กลับบ้าน

พลอย, 17 ปี, ออกจากบ้าน 1 ปี

“ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมายากมาก ชีวิตต้องเจอกับปัญหาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องเพื่อน เรื่องคดี แต่ถึงจะยากก็ยังมีชีวิตรอดอยู่จนถึงทุกวันนี้ และก็ยังคงออกมาเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่าเราไม่สมควรมาเจอเรื่องแบบนี้ เปลี่ยนแรงแค้นมาเป็นแรงผลักดันให้สู้ต่อ เพราะในใจคิดอยู่เสมอว่าพวกเราควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้”

ข้อความข้างต้นคือสรุปบทเรียนที่ได้เรียนรู้ตลอด 1 ปีของการออกมาอยู่นอกบ้านของ พลอย – เบญจมาภรณ์ นิวาส สมาชิกกลุ่มไพร่ปากแจ๋ว อดีตสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว เด็กสาววัย 17 ปีที่จำใจต้องย้ายออกจากบ้านเพราะความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันกับครอบครัว แม้หน้าฉาก เราจะเห็นพลอยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างดุเดือดและเข้มข้น ยืนยันได้จากคดีทางการเมืองมากกว่า 5 คดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่หลังฉาก พลอยกล่าวกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอเองก็เป็นวัยรุ่นอีกหนึ่งคนที่ทะเลาะกับครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมีทัศนคติทางการเมืองที่ต่างไปจากผู้ปกครอง

“พ่อเอาเรามาฝากไว้ให้ยายเลี้ยง ซึ่งยายเป็นเสื้อเหลือง ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเรื่องอะไร เราทั้งสองคนมักมีความเห็นตรงข้ามกันตลอด ในขณะที่เราอยากจะเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แต่ยายกลับไม่เชื่อในเรื่องพวกนี้ เขาจะคอยพูดอยู่ตลอดเวลาว่าให้เลิกทำซะ เพราะประเทศนี้เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก

“เราพยายามเปลี่ยนทัศนคติยายอยู่หลายครั้ง เช่น ตั้งคำถามกับเขาว่าใครเป็นคนสั่งฆ่าคนเสื้อแดง ใครเป็นคนสั่งฆ่านักศึกษาช่วงเดือนตุลา เขาก็ไม่ตอบอะไร เหมือนเขารู้อยู่แก่ใจ แต่แค่ไม่อยากยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เพราะเรามารู้ทีหลังว่ายายเป็นอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนกลุ่มกระทิงแดงและกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา พอรู้อย่างนี้ เราก็รับไม่ได้ เพราะเราเป็นคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง แต่ยายของตัวเองกลับมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการสังหารหมู่นักศึกษา บวกกับความกดดันจากครอบครัวที่เราต้องแบกรับตลอดมา สุดท้ายเราก็เลยตัดสินใจออกจากบ้าน”

เป็นเวลากว่า 1 ปีเต็มกับการออกมาอยู่นอกบ้านร่วมกันกับพี่สาวและเพื่อนสนิทนักเคลื่อนไหว พลอยเล่าให้ฟังว่าช่วงชีวิตในช่วงปีนี้ไม่ง่ายเลย เพราะทันที่ก้าวขาพ้นรั้วบ้าน พ่อของพลอยก็ไม่พอใจอย่างมากและประกาศว่าจะไม่ส่งเสียเลี้ยงดูเธอต่อ ด้วยเหตุนี้ พลอยเลยต้องเปลี่ยนอาชีพจากนักเรียนมาเป็นคนทำงานชั่วคราว เธอตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนในเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนจะหันมารับจ้างวาดรูปเพื่อหารายได้สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเธอ แน่นอนว่าเงินที่ได้จากการรับจ้างวาดรูปคงไม่ถึงขั้นที่ช่วยให้พลอยสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ แต่อย่างน้อยก็พอประทังชีวิตให้อยู่ได้ ขณะที่พูดคุยกัน แม้พลอยจะเล่าไปหัวเราะไป แต่แววตาของเด็กสาววัย 17 ปีกลับสะท้อนความเหนื่อยล้าเกินวัย

“เราเคยถามเรื่องค่าใช้จ่ายกับพ่อไปนะ เพราะยังไงก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องส่งเสียเลี้ยงดูเรา พ่อตอบกลับมาว่า “พลอยหนีออกจากบ้านไปแล้ว ก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้สิ” แต่เราอายุแค่ 17 ปี และหนีออกจากบ้านเพราะเขา เราเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องออกมาพูดเรื่องการเมือง เพราะประเทศนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กคนหนึ่งได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ไหนจะต้องเจอการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้นสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ควรทำคือการอยู่เคียงข้างและสนับสนุนลูกหรือเปล่า แต่พ่อไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้เลย เขาเอาแต่โทษเราและคอยกดให้กลับไปหมอบกราบ ทั้งที่ๆ วันนี้เรายืนขึ้นได้แล้ว”

เราถามพลอยต่อไปว่าในความคิดและลึกลงไปในความรู้สึกของพลอย จริงๆ แล้วเธอต้องการอะไรจากพ่อและยาย ที่ความจริง ณ วันนี้กำลังมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างไปจากพลอยแบบสุดขั้ว พลอยตอบเรามาด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า

“สำหรับคนในครอบครัว เราต้องการแค่การรับฟังและให้เกียรติกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้นเอง อย่างเวลาเถียงกับยายเรื่องเป็นสลิ่ม ถ้ายายอยากจะเป็นสลิ่มไปตลอดชีวิตของยายก็เป็นไป แต่อย่าขัดขวางเส้นทางที่เราเลือกเดินได้ไหม อย่ามาจำกัดอนาคตของเราได้ไหม เพราะเราไม่ได้อยากจะเป็นทาสแบบยาย เราอยากจะสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง อยากให้ยายกับพ่อเข้าใจสักนิด

“ถ้าอยากจะหาว่าใครเป็นคนผิด สิ่งที่พ่อแม่ควรจะโทษมากกว่าคือรัฐบาลและการเมืองที่ไม่ได้มีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกถึงความคิด หรือไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้เด็กคนหนึ่งสามารถเติบโตได้อย่างที่เขาควรจะเป็น ผู้ใหญ่ในสังคมควรไปด่ารัฐบาลมากกว่าว่าทำไมถึงทำแบบนี้กับเด็ก ทำจนถึงขั้นบีบให้เด็กคนหนึ่งต้องยอมออกจากบ้านเพื่อแลกกับการได้ออกมาพูดเรื่องการเมือง

“ผู้ใหญ่ไม่ควรโทษเด็กว่าทำไมถึงทำแบบนี้ แต่คุณควรทำความเข้าใจและยืนเคียงข้างพวกเรา เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องผิด มันคือสิ่งที่คนคนหนึ่งควรทำในฐานะประชาชนของประเทศนี้ ไม่มีเด็กคนไหนหรอกที่อยากจะมีคดีติดตัวหรือต้องออกจากบ้าน แต่สังคมบีบให้เราต้องทำแบบนี้ อยากให้ผู้ใหญ่เปิดใจและรับฟังเสียงเด็กมากกว่านี้ เพราะเด็กก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน เด็กทุกคนคิดเป็นและไม่ได้โดนใครล้างสมองอย่างที่ผู้ใหญ่ชอบพูดกัน”

ทุกวันนี้เวลาส่วนใหญ่ของพลอยถูกแบ่งไปใช้กับ 3 เรื่องหลักๆ คือ การทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง การวาดรูปเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง และการคอยเทียววิ่งไปศาลเยาวชน เนื่องจากคดีทางการเมืองที่เธอถูกดำเนินคดี อย่างที่พลอยได้บอกไว้ว่าชีวิตช่วงนี้ยากและกดดันมาก น่าสนใจว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เด็กสาวตรงหน้าเรายังมีแรงฮึดที่จะสู้ต่อ  

“เพราะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมั้งคะ เราก็เลยยังสู้ต่อ (หัวเราะ) ลึกๆ เราเองก็ยังไม่อยากจะล้มเลิกตอนนี้ เรามาไกลเกินกว่าที่จะหันหลังกลับแล้ว และก็ไม่เคยคิดที่จะหันหลังกลับไปด้วย ชนิดที่ว่าต่อให้ย้อนเวลากลับไปได้ เราก็ยังยืนยันที่จะตัดสินใจแบบเดิม

“เราชอบตัวเองในทุกวันนี้มากกว่าตัวเองในวันนั้น วันที่ต้องนั่งอุดอู้อยู่ในบ้านเก่าๆ ที่ใกล้พังและถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากคนในครอบครัว พลอยในวันนี้ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ได้เจอกับหลากหลายมุมมอง และเติบโตขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยแค่ออกมาพูดเรื่องการศึกษาหรือเรื่องทรงผมของนักเรียน มาวันนี้เริ่มเห็นโครงสร้างของการกดทับที่เป็นลำดับขั้น เราเข้าใจแบบนี้ได้ก็เพราะประสบการณ์ที่ได้เจอระหว่างที่ออกจากบ้าน”

บทสนทนากับพลอยดำเนินมาถึงช่วงท้าย เราถามเธอว่ามองอนาคตหลังจากนี้ไว้อย่างไร พลอยหยุดคิดไปครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกกับเราว่าหลังจากนี้คงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัว พร้อมกับที่เดินหน้าตั้งใจเรียนในสิ่งที่อยากเรียนจริงๆ เพื่อเตรียมสอบ GED (การสอบเทียบวุฒิการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของอเมริกา) สำหรับการยื่นเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

“อีกด้านก็คงต้องวิ่งไปมาระหว่างศาลเยาวชนเพราะเรื่องคดีที่โดนมา แต่ปีหน้าเราก็ 18 ปีแล้ว ไม่แน่ว่าอาจจะติดคุกก็ได้ (หัวเราะ) สังคมไทยช่างเป็นสังคมที่ไม่เคยมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเลยเนอะ” พลอยกล่าวทิ้งท้าย

ภูมิ, 17 ปี, ออกจากบ้าน 1 ปี

เมื่อหนึ่งปีก่อน 101 มีโอกาสได้สนทนากับ ภูมิ – คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ ในวาระที่เขาเป็นเด็กนักเรียนวัย 16 ปี ผู้ฝังหมุดคณะราษฎรใหม่ลงกลางสนามหลวงร่วมกับบรรดาเหล่ารุ่นพี่นักศึกษา ณ ย่ำรุ่ง 20 ก.ย. 2563 ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้นทำให้ภูมิต้องทะเลาะกับที่บ้านอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับพ่อที่ตัดเงินค่าขนมของภูมิโดยไม่บอกกล่าว แต่ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิกับที่บ้านจะเป็นไปด้วยความอิหลักอิเหลื่อ ท้ายที่สุดภูมิก็ยังบอกกับเราว่าครอบครัวเข้าใจเขามากขึ้น

กาลเวลาหมุนแปร ชีวิตของภูมิเองก็เปลี่ยนไป จากเด็กหนุ่มผมสั้นทรงนักเรียน กลายเป็นพ่อหนุ่มผมยาวไว้หนวดเครา ที่ขอพักสถานะการเป็นนักเรียนมัธยมไว้ชั่วครู่ และหันมาทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อหาเลี้ยงชีพในช่วงที่เขาออกมาอยู่คนเดียว หลังจากที่พยายามปรับความเข้าใจกับที่บ้านอยู่หลายหน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

“อาจเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาผมเคลื่อนไหวแค่ประเด็นทางการศึกษา ตอนนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่หลังจากที่ไปปักหมุดฯ ก็ทะเลาะกับที่บ้านทุกวัน ด้วยเขาค่อนข้างเป็นห่วงและกลัวว่าเราจะโดนคดี สุดท้ายช่วงเดือนตุลาคม 2563 เลยตัดสินใจออกมาอยู่นอกบ้านคนเดียว เพราะคิดว่าการออกมาจากบ้านของเราน่าจะช่วยลดแรงปะทะกับพ่อแม่ได้”

ภูมิยอมรับว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันที่ต้องออกจากบ้านเพราะมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ความรู้สึก ณ วันนั้นทั้งเศร้าใจและกังวล เพราะตัวเขาเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ไหนจะเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับภูมิ เด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่มีวุฒิการศึกษาแค่ชั้นมัธยมต้นจะทำงานหาเลี้ยงชีพได้อย่างไร นั่นคือคำถามที่ภูมิถามตัวเองตลอดเวลา

“ทันทีที่ออกมา ที่บ้านก็ตัดเงินค่าใช้จ่ายเลย ผมก็ต้องหาเงินใช้เอง โชคดีที่พอจะมีสกิลการทำกราฟิกติดตัวอยู่บ้าง ก็เลยเอาสกิลนี้ไปใช้ในการทำงานจริงได้ ช่วยให้ผมพอจะหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ นี่ถ้าทำงานไม่เป็นหรือไม่มีทักษะอะไรติดตัว โห ผมบอกเลยว่าลำบาก”

ภูมิเล่าต่อไปว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ความคิดมีแค่เรื่องเรียนและเรื่องการเคลื่อนไหว ทุกวันนี้ต้องมาคิดเรื่องที่ทำงาน การหาเงิน ตลอดจนวางแผนการใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิต เด็กหนุ่มพูดติดตลกว่า “ปกติตื่นมาก็กินข้าวที่บ้านฟรีๆ แต่ตอนนี้ตื่นมาก็ต้องหาเงินไปจ่ายค่าข้าวแล้ว” ถึงแม้ชีวิตในช่วงนี้ของภูมิจะไม่ง่ายและมีอะไรให้ต้องคำนึงถึงเยอะแยะ แต่เขายังคงมองว่าการออกมาอยู่คนเดียวก็มีแง่งามของมันอยู่

“พอมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ทำให้เราเห็นความลำบากได้ชัดขึ้น เช่น ความลำบากของการเป็นพนักงานออฟฟิศ (หัวเราะ) ตอนเราเป็นนักเรียน สังคมรอบตัวมีแค่เพื่อนนักเรียน แต่พอเราทำงานก็เจอคนหลากหลายมาก ทั้งคนจนแบบจนจริงๆ คนรวยที่รวยมากๆ หรือพนักงานออฟฟิศที่ใช้เงินเดือนชนเดือน มันทำให้เรารู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก จากเดิมที่เราเคยเห็นแค่ในหนังสือหรือในโทรทัศน์ แต่ตอนนี้ได้สัมผัสกับความเหลื่อมล้ำจริงๆ ว่าเป็นยังไง เช่นเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท มันน้อยมากนะ ไม่มีทางพอใช้ หรือต่อให้พออยู่ได้ก็ต้องทนอยู่ในคุณภาพชีวิตที่แย่”

เราถามภูมิว่าในความคิดของเขามองว่าไวไปไหมกับการที่เด็ก 17 คนหนึ่งต้องมารับรู้ความรู้สึกพวกนี้ ภูมิตอบกลับมาทันทีว่า “ไวไป”

“คิดดูสิว่าเราอยู่ในประเทศแบบไหนกันที่เด็ก 17 ต้องถูกบีบให้ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ลองถ้าเป็นประเทศที่ดีแล้ว เด็กบ้านเขาคงไม่ต้องออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองหรอก หรือต่อให้ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองจริงๆ ก็มีสวัสดิการพื้นฐานรองรับ ตัดภาพมาที่บ้านเรา ไม่มีอะไรเลยนะ รัฐไทยไม่เคยรองรับการใช้ชีวิตของประชาชนเลย โดยเฉพาะกับเด็ก

“มีเด็กบ้านเราหลายคนมากที่ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองแล้วไปไม่เป็น เพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงต่อ จริงๆ เด็กอย่างพวกเราควรได้ใช้ชีวิตที่ดีกว่านี้ ควรได้มีสวัสดิการพื้นฐานที่รองรับชีวิต เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นไง”

แม้วันนี้เราจะมาพูดคุยกับภูมิในฐานะหนึ่งในเยาวชนที่จำเป็นต้องออกจากบ้านเพราะการเมือง แต่ดูเหมือนว่าเลือดความเป็นนักต่อสู้ในตัวภูมิก็ยังคงไม่เหือดแห้ง กลับกันต้องบอกว่ายิ่งเดือดดาลและเข้มข้นมากกว่าที่เคย ‘กลัวไหม?’ ‘หยุดดีหรือเปล่า?’ ดูท่าความคิดเหล่านี้คงไม่เคยเกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มที่ชื่อคณพศ

“ก็สู้มาขนาดนี้แล้ว มันก็ต้องสู้ต่อ เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาที่รอแก้ไขอีกเยอะมาก ผมไม่อยากให้คนรุ่นหลังจากนี้ต้องออกจากบ้านหรือเจอสถานการณ์แบบเดียวกับผมอีกแล้ว

“ส่วนตัวถึงผมจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่เอาจริงๆ การออกมาใช้ชีวิตแบบนี้ก็ไม่ค่อยดีหรอก บางคนออกจากบ้านแล้วเคว้ง ไม่มีที่ไปเลยก็มี บางคนไม่มีสกิลอะไรติดตัวที่จะสามารถทำงานหาเงินได้ก็จะลำบากเลย ไม่ใช่ทุกคนที่จะออกจากบ้านแล้วสามารถหางานได้ ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถชินได้ บางคนอาจจะเศร้าไปตลอดชีวิตก็ได้

“ฉะนั้น ผมไม่อยากให้ใครต้องออกจากบ้านอีกแล้ว อยากให้มันจบที่รุ่นผมนี่แหละ”

– , 22 ปี, ออกจากบ้าน 3 เดือน  

‘บี’ คือนามสมมติของเด็กสาววัย 22 ปี ที่ต้องพาตัวเองออกจากบ้านเพราะความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับพ่อ เธอเป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้ บีนิยามตัวเองว่าเป็น ‘หน่วยหลังบ้าน’ คอยทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ไปม็อบ ซึ่งการมารับหน้าที่นี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เป็นเพราะว่าพ่อของบีไม่อนุญาตให้เธอออกไปร่วมเคลื่อนไหว ไม่แม้กระทั่งยอมให้บีมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างไปจากเขา

บีสะท้อนความในใจให้ฟังว่า “ด้วยความที่พ่อเป็นคนที่อินกับการเมือง เป็นรอยัลลิสต์ตัวจริง ที่ผ่านมาเขาก็พยายามจะคุยเรื่องนี้กับเรา แต่เรามักจะตีมึนไม่ตอบ เพราะรู้ดีว่าเรากับพ่อมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน และเขาเป็นคนที่ค่อนข้างใช้อารมณ์ในการพูดคุย เลยทำให้รู้สึกว่าคุยกันไปเดี๋ยวก็ทะเลาะกันอยู่ดี ต่างคนต่างอยู่ดีกว่า เราเลยเลือกเก็บซ่อนความคิดของตัวเองไว้ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกอึดอัดมาโดยตลอด”

ไม่ต่างจากภูเขาไฟที่รอวันปะทุ ความอึดอัดที่สั่งสมอยู่ในใจของบีก็เฝ้ารอวันเวลาที่จะได้รับการระบายออก และแล้ววันนั้นก็มาถึง ขณะที่บีกับพ่อกำลังนั่งดูข่าวม็อบราษฎรจัดการประท้วงบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ทันทีที่การนำเสนอข่าวจบ บรรยากาศหน้าโทรทัศน์ค่อยๆ ตึงเครียดขึ้น ก่อนที่พ่อของบีจะวิจารณ์การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างหนักหน่วง บีเล่าว่าเธอพยายามแล้วที่จะอดทนรับฟัง แต่ความรู้สึก ณ เวลานั้นเอ่อล้นเกินที่ใจของเธอจะรับไหว จนบีพูดออกไปว่า “เราไม่พูดเรื่องการเมืองกันในบ้านได้ไหมป๊า”

ประโยคของบีไม่ทันสิ้นสุดดี พ่อของเธอก็โมโหร้ายใส่เธออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บีอธิบายความรู้สึก ณ วันนั้นด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่พ่อแสดงกิริยาแบบนั้นกับเธอ บียอมรับว่าเธอตกใจและหวาดกลัวมาก เอาแต่บอกตัวเองว่า “บ้านไม่ปลอดภัยอีกต่อไป” หลังจากที่ทะเลาะกันเสร็จ บีวิ่งขึ้นมาบนห้องนอน หยิบกระเป๋าออกมาใบหนึ่ง ยัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ก่อนจะคว้าตุ๊กตามาหนึ่งตัว และเดินออกไปอยู่บริเวณร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย เพราะเป็นพื้นที่ที่สว่างที่สุดแล้วในเวลาใกล้ขึ้นวันใหม่เช่นนี้ บีกล่าวถึงคืนนั้นว่าแม้จะช็อกและเสียใจแต่เธอก็พยายามตั้งสติไว้ให้ได้ เพราะนับจากวินาทีนี้ชีวิตของเธอจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“เราเคยเห็นข่าวเด็กที่ต้องออกจากบ้านเพราะไปม็อบ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา เขาไม่อยากให้ไปม็อบ เราก็ไม่ไป เราก็ประนีประนอมที่สุดแล้วนะ แต่มันก็ยังเกิดขึ้น”

ม็อบ 27 พฤศจิกายน 2563 ณ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว

แม้ท้องฟ้าบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ณ คืนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 จะมืดสนิท แต่มวลบรรยากาศกลับเต็มไปด้วยความหวัง เมื่อเหล่าคนรุ่นใหม่ต่างพร้อมกันมาชุมนุมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่กระนั้นกลับมีเด็กสาว 2 คนที่กำลังยืนด้วยท่าทีกระสับกระส่าย เนื่องจากความกระวนกระวายที่แล่นพล่านอยู่ในใจ บีคือหนึ่งในเด็กสาว 2 คนดังกล่าว

“หลังออกจากบ้านมา ก็ได้พี่คนหนึ่งช่วยหาที่พักชั่วคราวให้พร้อมเงินติดตัวจำนวนหนึ่ง แต่สักพักก็เริ่มกังวลว่าจะเอายังไงต่อดี เพราะตอนที่ออกจากบ้านมาไม่มีเงินติดตัวเลย ในกระเป๋าตังค์มีแค่เศษเหรียญนิดหน่อยกับเงินในบัญชีอีกแค่ 60 บาท ซึ่งเงินจำนวนแค่นี้ถอนออกมาไม่ได้ ตอนนั้นก็พยายามขอความช่วยเหลือไปที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ เขาบอกว่าเคสของเราไม่ตรงกับเงื่อนไขการช่วยเหลือ เราเครียดมาก เพราะไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าวแล้ว ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเขียนป้ายขอรับบริจาคในม็อบที่ลาดพร้าว”

การรับบริจาคในวันนั้นทำให้บีได้เงินมาก้อนหนึ่งสำหรับการตั้งต้นชีวิตใหม่ พอดีกับที่คนรักของบีทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงชักชวนให้มาอาศัยอยู่ด้วยกัน แม้บีจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องที่พัก แต่สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เธอต้องเป็นคนแบกรับภาระทางการเงินเหล่านั้นด้วยตัวเอง หนึ่งในนั้นคือค่าเทอมสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัย บีตัดสินใจพักการเรียนไว้ชั่วคราวเพื่อตัดรายจ่ายก้อนใหญ่และเอาเวลาที่ใช้ในการเรียน มาใช้ในการทำงานแทน

“มันก็เศร้าบ้างแหละพี่ เศร้าที่ต้องออกมาหางานทำแทนที่จะได้ไปเรียน แต่ก็พยายามคิดบวกและอยู่กับปัจจุบัน เพราะยังไงก็ต้องเอาวันนี้ให้รอดก่อน”

บีอยู่อาศัยอยู่นอกบ้านเป็นเวลากว่า 3 เดือน จนในที่สุดช่วงต้นปี 2564 พ่อก็ส่งพี่ชายของบีมาเป็นกาวใจเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับที่บ้านอีกครั้ง บีเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลกว่าตอนแรกเธอลังเลที่จะกลับไปอยู่บ้าน แต่พี่ชายพูดกับเธอหนึ่งประโยคว่า “ให้คิดเสียว่าบ้านเป็นแค่ที่นอน เดี๋ยวพอเช้าบีก็ออกไปข้างนอกได้” เพราะคำพูดนั้นบวกกับการเห็นแก่พี่ชาย ทำให้บีตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่เธอเคยจากมา

“ทุกวันนี้ความสัมพันธ์กับพ่อก็ดีขึ้น เราคุยกันกับเกือบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการเมือง ถ้าเป็นเรื่องนี้เขาไม่คุยกับเราเลย เวลานั่งดูข่าวอยู่หน้าทีวีด้วยกันแล้วมีข่าวการเมืองขึ้นมา พ่อก็จะลุกขึ้นห้องไปเลย หรือไม่ก็นั่งดูเฉยๆ แต่ไม่พูดอะไร”

บีเผยความในใจให้ฟังว่า สำหรับคนเป็นลูกไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าการขอแค่ให้พ่อแม่รับฟังโดยไม่ตัดสินและเข้าใจในความแตกต่างของกันและกัน “แม้เราจะเชื่อกันคนละอย่าง แต่จริงๆ แล้วเราอยู่ด้วยกันได้นะ เพราะประชาธิปไตยคือการเคารพความเห็นที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เราแค่อยากให้คุณเคารพความคิดเห็นของเราบ้างแค่นั้นเอง”

ปัจจุบันนี้ แม้บีจะกลับมาอยู่บ้าน แต่เธอยังคงต้องทำงานหาเงินเช่นเดิม เนื่องจากที่บ้านของบีได้รับผลกระทบโดยตรงจากพิษโควิด-19 การทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำทำให้เธอต้องพักจากการเคลื่อนไหวไปชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตามบียืนยันกับเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอยังเหมือนเดิม

ก่อนจากกันเราถามบีว่า ทั้งๆ ที่เจอเรื่องราวมาหนักหนาขนาดนี้ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เธอยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์นี้ต่อไป

“การที่เราต้องออกจากบ้านและกลายมาเป็นแรงงานคนหนึ่งในระบบ ยิ่งทำให้เข้าใจมากขึ้นด้วยซ้ำว่าทำไมถึงยังต้องยึดมั่นอุดมการณ์นี้อยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่า ทุกการกระทำของรัฐส่งผลต่อชีวิตของเรา ยิ่งปีนี้แสดงให้เห็นชัดมากว่ารัฐไม่สามารถจัดการอะไรให้ดีขึ้นได้เลย ไม่พอยังกระทำเราซ้ำอีก แทนที่ว่าปีนี้จะได้ลืมตาอ้าปาก กลายเป็นว่าเสียเวลาไปเปล่าๆ เลยทั้งปี เราเข้าใจเลยว่าทำไม ณ วันนั้น คุณลุงคุณป้าเขาถึงออกมาประท้วงกัน ก็เพราะว่าเขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐไง มันไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันของนักศึกษาอย่างที่ฝั่งตรงข้ามชอบโจมตี แต่มันคือการออกมาเรียกร้องเพื่อชีวิตของพวกเราจริงๆ

“ความลำบากที่เราต้องเจอไม่ได้ทำให้อุดมการณ์หายไปเลย กลับกันมันยิ่งตอกย้ำว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save