fbpx

ใช้ซ้ำซ้อน-ใช้ผิดวัตถุประสงค์? เปิดดูกองทุน กทปส. กระเป๋าตังค์ใบใหญ่ของ กสทช.

หากยังจำกันได้ เมื่อปลายปี 2565 มีประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่อีนุงตุงนังจนถึงนาทีสุดท้าย ผลลัพธ์ออกมาว่าไทยเป็นชาติสุดท้ายที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เซ็นสัญญาก่อนการแข่งขันจะเริ่มเพียงสองวัน และดูเหมือนต้อง ‘จ่ายแพง’ กว่าชาติอื่นๆ ที่ดีลกับฟีฟ่าสำเร็จไปก่อนหน้านี้ ด้วยยอดเงินทั้งหมด 1,400 ล้านบาท (รวมภาษี)

เงินจำนวนมหาศาลที่ กกท. เป็นหน่วยกลางในการจัดหามาได้ทันเวลานั้น คือเงินที่ได้จากการลงขันกันของ กสทช. และเอกชน โดย กสทช. ควักกระเป๋า 600 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินสูงสุดเมื่อเทียบกับ ‘มือ’ อื่นๆ ที่ร่วมลงขันในคราวนี้

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ‘ของขวัญส่งท้ายปี’ ที่ กสทช. ร่วมควักเงินซื้อเพื่อให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลกนั้น เป็นเงินที่มาจากกระเป๋าตังค์ที่ชื่อ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งมีมาพร้อมการเกิดขึ้นของสำนักงาน กสทช. ในปี 2553

หากมองอย่างผิวเผิน การอนุมัติเงินจากกองทุนฯ เพื่อไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกก็ดูจะเป็นการทำเพื่อสาธารณะ เพราะ ‘คนไทย’ จะได้ดูมหกรรมกีฬาระดับโลกเหมือนที่คนในชาติอื่นๆ ได้ดูกัน แต่ทันทีที่ข่าวเรื่องการควักเงิน 600 ล้านบาทจาก กสทช. เผยแพร่ออกไป ก็เกิดเสียงวิจารณ์จำนวนมากจากคนในสังคมว่า “แล้วคนที่ไม่ดูฟุตบอล ได้อะไรจากเรื่องนี้”

นอกจากเสียงวิจารณ์จากภาคประชาชนแล้ว แม้แต่คณะกรรมการ กสทช. ที่เป็นเสียงข้างน้อย ที่ไม่อนุมัติเงิน 600 ล้านบาทตั้งแต่ต้น ก็ออกมาอธิบายเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ทุนไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในครั้งนี้ว่า “เห็นว่าไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจ่ายเงินจากกองทุนอย่างชัดเจน”

เมื่อลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า ทุนสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั้น อยู่ในพันธกิจตามมาตรา 52(1) คือ ทุนเพื่อการสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการทั่วถึง รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการกิจการบริการชุมชน

ตัวแทน กสทช. กล่าวในวันลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ กกท. ว่า “สำนักงาน กสทช. หวังว่าการสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) ปี 2022 ตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนและคนด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาสำคัญในระดับโลกโดยทั่วถึงและเท่าเทียม ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการรับชมเนื้อหารายการที่ถูกลิขสิทธิ์ และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณสนับสนุนให้มีการจับจ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น”

แม้ในท้ายที่สุดคณะกรรมการ กสทช. จะมีมติเอกฉันท์ทวงคืนเงิน 600 ล้านบาทจาก กกท. เพราะทำผิดเงื่อนไขข้อตกลง หลังจากเกิดปัญหา ‘จอดำ’ กับกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (IPTV) แต่การอนุมัติเงินทุนครั้งนี้ก็สะท้อนวิธีคิดการทำงานของ กสทช. ให้ประชาชนได้รับรู้

คำว่า ‘ประชาชน’ ‘คนด้อยโอกาส’ ‘ทั่วถึง’ ‘เท่าเทียม’ และ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ย่อมสอดคล้องกับพันธกิจ ‘บริการทั่วถึง’ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามคือนี่มิใช่เพียงการบิดคำเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์เท่านั้นหรือ? กทปส. ใช้อำนาจอะไรในการใช้งบประมาณกองทุนเพื่อสนับสนุนการ ‘ซื้อ’ เนื้อหาจากบริษัทเอกชนมาเผยแพร่? ยังไม่นับว่าฟุตบอลโลกเป็นรายการที่มีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล ทำไมเราไม่ปล่อยให้ตลาดทำงาน? และฟุตบอลโลกเป็นรายการประเภทที่ กทปส. ควรสนับสนุนหรือไม่ อย่างไร?

การอนุมัติกองทุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกในปี 2565 เป็นเพียงการให้ทุนส่วนหนึ่งที่เราเห็นในหน้าสื่อเท่านั้น เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในระหว่างปี 2561-2564 พบว่า กทปส. จัดสรรเงินทุนตามมาตรา 52 ให้กับ 366 โครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 17,580 ล้านบาท หรือตกเฉลี่ยปีละประมาณ 4,395 ล้านบาท (ข้อมูลการจัดสรรทุนโครงการในช่วงปี 2561-2564 ที่ใช้ในบทความชิ้นนี้ อ้างอิงจากเอกสารที่สำนักกองทุนวิจัยและพัฒนาจัดเตรียมให้กับคณะกรรมการ กสทช. ที่ได้รับการแต่งตั้งในปี 2565 ซึ่งไม่เผยแพร่เป็นการทั่วไป) โดยไม่ต้องเก่งคณิตศาสตร์ ก็พอจะประเมินได้ว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาล และอาจมากกว่างบรายปีของบางกระทรวงเสียด้วยซ้ำ

บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกองทุนที่ชื่อ กทปส. กระเป๋าตังค์ใบใหญ่ของ กสทช. ที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ เงินปีละกว่า 4,000 ล้านบาทถูกใช้ไปกับอะไร โครงการแบบใดที่ได้ทุนจาก กทปส. หน่วยงานไหนบ้างที่ได้ทุน และโครงการที่ได้ทุนนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างที่ตั้งต้นไว้หรือไม่ อย่างไร

จุดเริ่มต้น กทปส.

ย้อนกลับไปก่อนที่ประเทศไทยจะมีประโยค ‘คลื่นความถี่ (…) เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ’ ปรากฏในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยมีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่ออย่างเข้มข้น ยิ่งโดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ที่สื่อถูกปิดกั้นและรัฐบาลควบคุมการนำเสนอข่าวสารในช่องทางวิทยุและโทรทัศน์ เนื่องจากรัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่และให้สิทธิเอกชนมีส่วนร่วมโดยการสัมปทาน และก่อนหน้านั้น สังคมไทยก่อตัวมาโดยมีช่องวิทยุและช่องโทรทัศน์ที่รัฐเป็นเจ้าของและส่งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของรัฐตลอดมา

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 กำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่จัดสรรการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ใหม่ทั้งหมด นี่เองจึงเป็นที่มาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือที่คนไทยคุ้นหูกันในชื่อ กสทช.

ประเทศไทยใช้เวลาหลังจากนั้นอีก 13 ปีจึงมีสำนักงาน กสทช. ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยมีเป้าหมายหลักคือทำงานจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อ ‘สาธารณะ’ ซึ่งนอกจากมีคณะทำงานแล้ว ใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 (ฉบับที่ 2)) ยังกำหนดไว้ในมาตรา 52 ให้มีกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ด้วย

กทปส. มี 6 พันธกิจหลักตามมาตรา 52 โดยย่อคือ (1) ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง ส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน (2) การวิจัยและพัฒนา (3) การพัฒนาบุคลากร (4) การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (5) การสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ (6) สนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสนับสนุนการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่

การทำงานของ กทปส. เป็นไปในลักษณะของการจัดสรรเงินทุนให้กับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราชการ สมาคม มูลนิธิ ผู้ประกอบกิจการ/เอกชน และมหาวิทยาลัย ผ่านรูปแบบการให้ทุนที่จำแนกตามประเภทโครงการ นั่นคือ ประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (open grant) ประเภทที่ 2 ทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด (strategic grant) ซึ่งมีการเพิ่มเติมทุนที่ทำความตกลงร่วมกับราชการตามแนวนโยบายแห่งรัฐในช่วงปี 2562 ประเภทที่ 3 ทุนตามนโยบาย กสทช. และประเภทที่ 4 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เมื่อจำแนกรายละเอียดของการให้ทุน 366 โครงการที่ใช้เงินไปทั้งสิ้น 17,580 ล้านบาทในระหว่างปี 2561-2564 ออกมาพบว่า พันธกิจที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือ 52(1) การสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน (วงเงิน 9,907 ล้านบาท) รองลงมาคือ 52(6) การสนับสนุนการใช้ความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (วงเงิน 3,683 ล้านบาท) ตามมาด้วย 52(2) การพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส (วงเงิน 1,933 ล้านบาท) ส่วนการจัดสรรสำหรับ 52(4) เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นน้อยกว่าพันธกิจด้านอื่นอย่างมาก (42 ล้านบาท) โดยคิดเป็นร้อยละ 0.24 ของงบประมาณทั้งหมด

การจัดสรรงบประมาณของ กทปส. ระหว่างปี 2561-2564 แยกตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 52

หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น จากการวิเคราะห์โครงการที่ได้รับทุนตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 52 พบว่ามีลักษณะการให้ทุนที่ไม่ตรงกับพันธกิจสาธารณะในกฎหมาย มีการตีความที่กว้างเกินไป รวมถึงมีการให้ทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมโดยตรง จำนวนหลายโครงการ

 ‘บริการทั่วถึง’ หมายถึงเนื้อหา ‘อะไรก็ได้’

เมื่อมาดูมาตราที่ใช้วงเงินสูงสุดคือ 52(1) หรือ การสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน จะพบว่ามีการตีความคำว่า ‘บริการทั่วถึง’ ไว้หลากหลาย และชวนให้ตั้งคำถามได้ว่าโครงการที่ได้รับทุนนั้นสอดคล้องกับพันธกิจ ‘บริการทั่วถึง’ และ ‘ส่งเสริมผู้ประกอบการกิจการบริการชุมชน’ อย่างไร

การสนับสนุนเนื้อหาเพื่อให้เกิด ‘บริการทั่วถึง’ ตามแนวทางสากลนั้น คือเนื้อหาที่สนับสนุนให้เกิด ‘เสียง’ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มักไม่ได้รับความสนใจในพื้นที่สื่อ กล่าวคือ ควรเป็นเนื้อหาที่สนับสนุนให้เกิดเสียงของคนที่ไม่ค่อยมีเสียง ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนสูงอายุ ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ

ในทางหลักการ การส่งเสริมที่ว่านี้อาจทำได้ด้วยการที่ กทปส. สนับสนุนให้คนกลุ่มนี้สามารถผลิตสื่อเพื่อส่งเสียงของตัวเองออกมา หรือในทางกลับกันก็อาจสนับสนุนให้คนทำสื่อผลิตเนื้อหาเพื่อสร้างพื้นที่สื่อให้พวกเขา รวมถึง กทปส. ควรส่งเสริมให้มีการผลิตเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สาธารณะแต่ยังไม่ได้รับการผลิตและนำเสนอผ่านสื่อมากเพียงพอ ซึ่ง กทปส. ต้องศึกษาและนิยามเนื้อหาที่เป็น ‘ประโยชน์สาธารณะ’ ให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการอนุมัติทุน

ที่กล่าวไปข้างต้นคือภาพที่ควรจะเป็น แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมด

จากการตรวจสอบรายโครงการ พบว่า กทปส. ให้ทุนกับโครงการผลิตสื่อหลายโครงการที่อาจมีเนื้อหาไม่ตอบวัตถุประสงค์ในกฎหมาย โดยตีความว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตสื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่มีเนื้อหา ‘อะไรก็ได้’ เพื่อการบริการอย่างทั่วถึง ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน หรือไม่ได้ผลิตเนื้อหาเพื่อกลุ่มคนพิการ ผู้สุงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาสดังที่กฎหมายกําหนดเลยก็ตาม

ตัวอย่างที่อาจทำให้เข้าใจภาพได้มากขึ้นคือ โครงการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทย โดยกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีกรอบงบประมาณ 30 ล้านบาท โดยอ้างว่าตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในมาตรา 52(1) นั่นคือการให้บริการอย่างทั่วถึง

ในเว็บไซต์สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ลงข่าว (12 พ.ค. 2562) โดยมีเนื้อหาว่า “สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ จัดประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทยชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 1 ล้านบาท ซึ่งได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินการโครงการผลิตรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนตำนานเพลงลูกทุ่งที่มีท่วงทำนองที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ด้วยการใช้ภาษาไทย ภาษาถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่น ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)”

ทั้งนี้พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงงานในปีเดียวกัน (2562) ว่า “นับเป็นเวทีการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกเพศทุกวัยได้เข้าร่วม ผ่านการคัดสรรผู้เข้าประกวดจากทั่วประเทศ” โดยมีการถ่ายทอดสดการประกวดในช่อง NBT ซึ่งเป็นช่องของรัฐ

แน่นอนว่ารายการประกวดเพลงลูกทุ่งไม่ได้ผิดโดยตัวเอง มีคนจำนวนมากที่ชื่นชอบเพลงลูกทุ่ง ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการใช้ภาษาถิ่นที่หลากหลาย ส่งเสริมศิลปะดนตรีในประเทศ มิพักยังเป็นความบันเทิงที่ทำให้ผู้ชมได้ผ่อนคลายอีกด้วย แต่เมื่อโครงการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทย โดยกรมประชาสัมพันธ์ มาขอทุนจาก กทปส. ที่มีพันธกิจสาธารณะชัดเจน คำถามสำคัญคือรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งเข้าเกณฑ์วัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่

โดยแทบไม่ต้องเอาตัวเลขมากาง เราต่างรู้กันว่ารายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากเพียงใดในช่องโทรทัศน์ ดังนั้นคงอาจกล่าวได้ยากว่ารายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งเป็นรายการที่ขาดแคลนในประเทศไทย แต่หาก กทปส. ต้องการสนับสนุนรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งขึ้นมาจริงๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร คำถามต่อมาคือ ทำไมจึงต้องให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ อะไรที่พิสูจน์ถึงความเชี่ยวชาญของกรมประชาสัมพันธ์ในการจัดประกวดร้องเพลง ทั้งที่มีบริษัทผลิตสื่ออีกมากมายที่อาจมีประสบการณ์และผลิตรายการที่มีคุณภาพมากกว่า และอาจยังตั้งคำถามได้อีกว่ารายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทยช่วยส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนหรือไม่ และถือเป็นรายการเพื่อกลุ่มคนชายขอบของสังคมหรือไม่ อย่างไร

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างการสนับสนุนการผลิตเนื้อหา ‘อะไรก็ได้’ เพื่อการบริการอย่างทั่วถึงตามมาตรา 52(1) ของ กทปส. ที่ผู้ขอทุนอาจจัดทำเนื้อหาด้วยความหวังดีและคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ(?) เพียงแต่ กทปส. เองในฐานะผู้ให้ทุน ควรกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเนื้อหาให้เป็นไปเพื่อการส่งเสริม ‘เสียงที่หลากหลาย’ และสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สาธารณะซึ่งยังไม่ถูกนำเสนอในพื้นที่สื่อมากพอ

การจะวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงโจทย์ กทปส. ควรสำรวจเนื้อหารายการที่ปรากฏบนพื้นที่สื่ออย่างเป็นระบบ เพื่อจะได้รู้ว่าในหน้าสื่อ ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ เนื้อหาอะไรบ้าง และควรเติมเต็มช่องโหว่ตรงไหน

‘รัฐ’ ให้เงิน ‘หน่วยงานรัฐ’ ผลิตสื่อเพื่อ ‘เป้าหมายของรัฐ’

นอกเหนือจากให้ทุนกับการทำเนื้อหา ‘อะไรก็ได้’ แล้ว ในทางกลับกันก็ยังมีการให้ทุนตามมาตรา 52(1) กับหน่วยงานรัฐเพื่อผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองเป้าหมายหรือประชาสัมพันธ์หน่วยงานนั้นๆ เป็นการเฉพาะด้วย โดยอ้างว่าเป็นการผลิตเนื้อหาเพื่อบรรลุเป้าหมายเรื่องการให้บริการอย่างทั่วถึง

จากการสืบค้นรายงานการประชุมของ กสทช. และแบบคำขอรับสนับสนุนเงินกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ของโครงการ พบว่ามีหลายหน่วยงานรัฐที่เข้ามาขอทุนจาก กทปส. เพื่อทำผลงานสื่อของตัวเอง และได้รับการอนุมัติ ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมเชิงจริยธรรมสื่อในการให้ทุนกับหน่วยงานรัฐเพื่อ ‘ผลิต’ และ ‘ซื้อ’ พื้นที่สื่อเพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานของตน ว่าสมควรทำหรือไม่

กรณีศึกษาแรกคือ โครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของกองทัพบก โดยกรมการทหารสื่อสาร[1] ในคราวแรกมีการเสนอกรอบงบประมาณมาที่ 30,000,000 บาท แต่ กทปส. เสนอปรับลดเหลือ 18,431,000 บาท หรือลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง

โครงการดังกล่าวให้หลักการและเหตุผลว่า “เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ ตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง” จึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในมาตรา 52(1) เพราะเป็นการ “สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงข่าวสารด้านความมั่นคงให้กับผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ”

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุน[2] พบรายละเอียดของวงเงินว่าในเงินกว่า 18 ล้านบาทนั้น ใช้เพื่อผลิตรายการ 52 ตอน ระยะเวลาดำเนินงาน 15 เดือน โดยงบส่วนใหญ่ใช้ไปกับค่าตอบแทนบุคลากร 50,000 บาท ค่าใช้สอย ค่าดำเนินการ 17,680,000 บาท ค่าผลิตรายการ  8,320,000 และค่าออกอากาศรายการ 9,360,000 บาท

กรณีนี้อาจแบ่งคำถามได้เป็นสองประเด็น หนึ่ง โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรา 52(1) หรือไม่ ในเมื่อสาระเนื้อหาในรายการเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์องค์กรของกองทัพบก โดยการอ้างว่าเนื้อหารายการมีเป้าหมายให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ ได้ตระหนักรู้ถึงงานความมั่นคงนั้น เป็นการมองจากมุมของกองทัพบกที่เป็นผู้ดูแลโครงการ แต่ไม่ได้มีการให้เหตุผลสนับสนุนการให้ทุนว่ารายการประเภทนี้เป็นรายการที่มีประโยชน์สาธารณะอย่างไร หรือรายการประเภทนี้ช่วยเสริมพลังให้คนด้อยโอกาสและคนพิการอย่างไร

นอกจากนั้น หากกองทัพบกเห็นความจำเป็นในการผลิตเนื้อหาด้านความมั่นคงเพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป ก็สามารถใช้งบประมาณขององค์กรหรือทำเรื่องตามกระบวนการงบประมาณผ่านสภา รวมถึงกองทัพบกก็มีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) เป็นของตนเอง จึงมีความพร้อมในการผลิตและเผยแพร่สื่อของกองทัพบกผ่านช่องทางขององค์กร

สอง กองทัพบกในฐานะองค์กรที่เป็นเจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กลับของบประมาณค่าเผยแพร่ออกอากาศผ่านช่องทางของตนเองถึง 9,360,000 บาท ทั้งที่เป็นการเผยแพร่เนื้อหาเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นการเฉพาะ อีกทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกก็ได้รับใบอนุญาตประเภทกิจการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาต กทปส. จึงไม่ควรอนุมัติงบประมาณเผยแพร่ออกอากาศในลักษณะที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้

นอกจากการสื่อสารเรื่องความมั่นคงแล้ว ยังมีโครงการที่คล้ายคลึงกับกรณีแรกคือโครงการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านกฎหมายขั้นพื้นฐานและเสริมการเข้าถึงด้านงานยุติธรรมสู่ประชาชนผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม[3] ซึ่งเสนอกรอบงบประมาณมาสูงถึง 34,600,000 บาท แต่ถูก กทปส. ปรับเหลือ 18,850,500 บาท

กทปส. อนุมัติโครงการดังกล่าวโดยอ้างว่าตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในมาตรา 52(1) หรือการให้บริการอย่างทั่วถึง ทั้งที่เนื้อหาดังกล่าวเป็นไปเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งหาก กทปส. อนุมัติวงเงินเพื่อผลิตเนื้อหาสื่อในลักษณะนี้ได้ หน่วยงานรัฐทุกแห่งก็สามารถของบผลิตสื่อตามวัตถุประสงค์เฉพาะของหน่วยงานได้เช่นกัน

โครงการนี้ยังพบปัญหาเช่นเดียวกับโครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของกองทัพบก นั่นคือการของบประมาณสำหรับค่าเผยแพร่รายการ ซึ่งส่วนมากเป็นสื่อเอกชน เช่น รายการข่าว 3 มิติ รายการตีข่าวเช้า รายการทนายคลายทุกข์ รายการพูดตรงประเด็น รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ รายการคุณพระช่วย และอีกหลายรายการ ซึ่งรวมกันเป็นงบประมาณเกินสิบล้านบาท กรณีดังกล่าวนับเป็นเรื่องตลกร้ายที่ กทปส. ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ และโทรคมนาคม กลับให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานรัฐซื้อช่องทางเผยแพร่รายการ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อโดยภาครัฐ

นอกเหนือจากปัญหาการให้ทุนผลิตเนื้อหาโดยอ้างว่าเป็นการให้บริการอย่างทั่วถึงแล้ว ประเด็นที่ชวนตั้งคําถามคือ เนื่องจากหน่วยงานรัฐทั้งหลายไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ และต้องไปดำเนินการโดยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อผลิตเนื้อหาสื่ออีกทอดหนึ่ง จึงอาจถือเป็นการกระทำที่ผิดตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงิน ฯ ข้อ 6(5) ที่กําหนดว่า “ผู้มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากกองทุน ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่ขอโดยตรง”

ไม่ใช่แค่ของบทำสื่อ แต่ของบไป ‘ทำรถ’ ด้วย

จากการค้นข้อมูลเอกสาร พบว่าโครงการที่ได้ทุนจาก กทปส. ในมาตรา 52(1) ไม่ได้มีเฉพาะการขอทุนเพื่อไปผลิตสื่อเท่านั้น แต่ยังมีโครงการของหน่วยงานรัฐที่ขอทุนเพื่อไป ‘พัฒนารถ’ ด้วย ซึ่งผู้ขอทุนจากโครงการนี้คือกระทรวงกลาโหม

โครงการที่ว่าคือ โครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหม[4] กรอบงบประมาณ 43,939,000 บาท โดยมีการให้เหตุผลในการอนุมัติโครงการว่า

“เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการและใช้งานข้อมูลสื่อผสม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ โสตทัศนูปกรณ์ และระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหมในการติดตามสถานการณ์และสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล รวมถึงการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา เพื่อการป้องกันและรักษาประโยชน์สาธารณะและการช่วยเหลือประชาชน โดยผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ด้านความมั่นคงและสาธารณะประโยชน์ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงกลาโหมในการเข้าช่วยเหลือประชาชน จึงถือว่าเข้าข่ายการจัดให้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับตามนิยามการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 52 กําหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนตามมาตรา 52(1) เรื่องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนตามมาตรา 51”

ภายใต้ความกำกวมของชื่อโครงการไปจนถึงเหตุผลในการอนุมัติโครงการ มีประเด็นที่น่าสนใจซ่อนอยู่ นั่นคือ ‘วัตถุประสงค์ที่แท้จริง’ ของการขอทุนโครงการนี้ตั้งแต่ต้น

จากข้อมูลที่ปรากฏในข้อเสนอโครงการที่ยื่นเสนอมาในครั้งแรกพบว่า มีการระบุวัตถุประสงค์ว่าใช้สำหรับเป็นเครื่องมือติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยมีการให้เหตุผลว่าใช้ “ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในพื้นที่เพื่อยืนยันความถูกต้องกับข่าวที่สื่อมวลชนรายงานหรือข่าวที่แพร่กระจายในอินเทอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องมีช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ เพื่อส่งข้อมูลและติดต่อสื่อสารสนับสนุนในภารกิจในข้างต้นต่อไป” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพันธกิจด้านสาธารณภัย (และถึงใช่ก็อาจตั้งคำถามได้ว่า ควรเป็นหน้าที่กระทรวงมหาดไทยมากกว่าหรือไม่)

แต่แล้ววัตถุประสงค์ที่ชวนตั้งคำถามถึงเป้าหมายเฉพาะทางการเมืองนี้ก็ ‘หายไป’ ในข้อเสนอโครงการรอบที่สอง

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าหน้าตาของ ‘รถปฏิบัติการสื่อสาร’ เป็นอย่างไร ในตัว TOR โครงการ มีการระบุ ‘ตัวชี้วัดความสำเร็จ’ ไว้ว่าเป็นรถปฏิบัติการสื่อสารจำนวนหนึ่งคัน ติดตั้งระบบการสื่อสาร อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงและเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถเริ่มมีปฏิบัติการสื่อสารได้ภายในระยะเวลา 15 นาทีหลังจากเข้าถึงพื้นที่สถานการณ์

โดยในภาคผนวกของ TOR มีการระบุ ‘คุณลักษณะเฉพาะ’ รถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสาร ของกระทรวงกลาโหม ที่เจาะจงทั้งตัวรถและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในรถ เช่น เป็นรถที่ประกอบขึ้นมาใหม่แบบ 6 ล้อ หรือดีกว่า, เป็นเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบอินเตอร์คูลเลอร์ 4 จังหวะ 4 สูบ, มีห้องทำงานขนาด 4×2.3 เมตร หรือดีกว่า อย่างน้อย 1 ห้อง, มีเครื่องปรับอากาศขนาดไม่น้อยกว่า 14000 BTU ไปจนถึงติดตั้งสายอากาศแบบรอบทิศทางบนรถปฏิบัติการ วัสดุทำด้วย fiberglass มีอัตราขยายไม่น้อยกว่า 4 dBi เป็นต้น

ทั้งนี้ยังมีการระบุ ‘ผลที่คาดว่าจะได้รับ’ ของโครงการว่า “สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมมีนวัตกรรมอุปกรณ์ Multi-Network Switch ที่สามารถบูรณาการระบบสื่อสารต่างๆ เข้าด้วยกัน และมีรถปฏิบัติการสื่อสารที่มีความง่ายในการใช้งานในหลากหลายภารกิจและมีความปลอดภัยสูง และได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล”

จากข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ คงยากที่จะห้ามไม่ให้เกิดการตั้งคำถามว่า โครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารฯ ที่ว่านี้ สอดคล้องอย่างไรกับพันธกิจ ‘บริการทั่วถึง’ และสาธารณชนได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามข้อกฎหมายไปจนถึงกระบวนการพิจารณาให้ทุนแล้ว พบว่าโครงการนี้มีปัญหาหลายจุด

ในประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย การอ้างเหตุผลในการอนุมัติโครงการถึงมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่กําหนดให้ “จัดให้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ” ถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (Universal Service Obligation – USO) ซึ่งมีกระบวนการจัดสรรทุนแตกต่างกันตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดย กสทช. ต้องจัดทำแผน USO ล่วงหน้าเพื่อเรียกเก็บเงินจากผู้ได้รับใบอนุญาตโทรคมนาคม แต่โครงการนี้ไม่ได้อยู่ในแผน USO จึงไม่สามารถทำได้ นอกจากนั้น มาตรา 52 ใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ก็ไม่ได้กําหนดวัตถุประสงค์เรื่องการบริการเพื่อความมั่นคงเอาไว้ และโครงการดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการให้หรือรับบริการอย่างทั่วถึง จึงไม่สามารถอ้างวัตถุประสงค์ข้อนี้ได้

ดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า กทปส. เป็นทุนที่มีพันธกิจหลักเพื่อการพัฒนาและวิจัย แต่เมื่อมาดูรายละเอียดงบประมาณของโครงการรถปฏิบัติการสื่อสารฯ แล้ว พบว่างบประมาณเกือบทั้งหมดใช้ไปกับการซื้อครุภัณฑ์ โดยหมวดรายจ่ายค่าครุภัณฑ์ทั้งหมด 36,072,345 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82.1 ของงบประมาณที่เสนอมาทั้งหมด

ยังไม่นับว่าโครงการกล่าวอ้างความสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหลัก โดยไม่ได้ยึดโยงกลับไปที่พันธกิจของ กทปส. แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมหรือแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือแผนปฏิบัติของกองทุนฯ แต่อย่างใด ดังหลักการและเหตุผลที่ปรากฏใน TOR โครงการตั้งแต่ย่อหน้าแรกว่า “ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านความมั่นคง, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นความมั่นคงและประเด็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการพัฒนาคน เครื่องมือเทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีความพร้อมสามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ และทุกระดับความรุนแรง ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต…”

นอกจากนี้ จากการสืบค้นข้อมูล ยังพบประเด็นที่ชวนตั้งคำถามมากไปกว่าแค่เรื่องกฎหมายและความสอดคล้องกับพันธกิจ แต่เป็นประเด็นเรื่อง ‘กระบวนการขอรับทุน’ ที่มีความน่ากังขาอยู่หลายขั้นตอน ดังจะอธิบายต่อไปนี้

ในคราวแรก โครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารฯ ของกระทรวงกลาโหมยื่นขอมาในทุนประเภทที่ 1 หรือทุนเปิดกว้าง (open grant) และได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนาอยู่ในระดับ D (ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่จำเป็นต้องนํามาพิจารณาใหม่)

ต่อมามีการโยกโครงการมาพิจารณาทุนประเภทที่ 2.2 หรือทุนตามแนวนโยบายรัฐ ซึ่งไม่ได้มีการให้เหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดโครงการที่ไม่มีคุณสมบัติได้ทุนในประเภทที่ 1 ถึงควรได้รับทุนประเภท 2.2 และชวนตั้งคําถามว่า กทปส. ให้ความสําคัญกับ ‘ใคร’ เป็นผู้ขอทุน มากกว่า ‘พันธกิจสาธารณะ’ หรือไม่

ไม่ใช่แค่ย้ายประเภททุนได้เท่านั้น แต่โครงการนี้ยังมีปัญหาด้านธรรมาภิบาลของการให้ทุน เนื่องจากกระทรวงกลาโหมแสดงความจำนงมาทาง กทปส. เพื่อขอให้มีการจัดสรรทุนให้กับโครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารฯ และเมื่อทาง กทปส. ประกาศให้มีการยื่นข้อเสนอ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเป็นหน่วยที่ยื่นขอรับทุนที่งบกว่าร้อยละ 82 ใช้ซื้อครุภัณฑ์

ทันทีที่ กทปส. ขอเสนอให้มีการปรับลดงบประมาณจากเดิม 43,939,000 บาท เป็น 39,624,893 บาท ทำให้มี ‘บันทึกด่วนที่สุด’ จากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมส่งตรงมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อยืนยันความจำเป็นและเสนอให้คงงบประมาณเอาไว้ พร้อมให้เหตุผลว่าราคาอุปกรณ์แพงขึ้นจากสถานการณ์ในประเทศไต้หวันและสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน[5]

เหตุการณ์ดังกล่าวชวนตั้งข้อสงสัยถึงผลประโยชน์ทับซ้อนจากการที่กระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้ได้ประโยชน์จากโครงการโดยตรง ทำหน้าที่เป็นผู้ยืนยันถึงความจำเป็นและเสนอไม่ให้มีการต่อรองราคาอุปกรณ์แทนผู้รับทุนอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อีกทั้งทาง กทปส. กลับให้ทุนโดยไม่มีการตรวจสอบราคากลางหรือเปิดให้มีการประกวดราคา ทางด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานก็ควรถูกตั้งคําถามว่าเหตุใดหน่วยงานวิชาการถึงได้รับทุนที่งบประมาณร้อยละ 82 ถูกใช้ไปกับการซื้อครุภัณฑ์ ไม่ใช่การวิจัยและพัฒนาตามที่หน่วยงานวิชาการมีความเชี่ยวชาญ

ผ่านสะดวกเมื่อมี ‘ตั๋ว 5G’ และ ‘ไทยแลนด์ 4.0’

นอกจากโครงการในพันธกิจ 52(1) ที่มีวงเงินงบประมาณสูงสุดแล้ว ในพันธกิจข้ออื่นๆ ก็มีการยื่นขอทุนโดยอาจมีการตีความผิดวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน เช่น ในมาตรา 52(2) หรือ ทุนสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา การรู้เท่าทันสื่อ การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

ในมาตรา 52(2) มีปัญหาหลักอยู่ที่ตัวบทกฎหมายเขียนครอบคลุมและกว้างเกินไป ซึ่งผลลัพธ์ของความกว้างที่ว่านี้ ส่งผลให้สามารถตีความคำว่า ‘ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร’ ‘การวิจัยและการพัฒนา’ และ ‘เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร’ เป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTs) ถึงแม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมโดยตรงแต่อย่างใด

กล่าวให้เห็นภาพ หลายครั้งที่มีโครงการเกี่ยวข้องกับ 5G หรือ ไทยแลนด์ 4.0 มักถูกตีความให้เข้าเกณฑ์ 52(2) ทั้งหมด แม้ว่าโครงการจะอยู่ในภาคการเกษตร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงความมั่นคงก็ตาม

จากการตรวจสอบพบว่ามีหลายโครงการที่อ้างมาตรา 52(2) โดยไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาในกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมโดยตรง ทว่าอ้างเพียงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยส่วนมากให้กับหน่วยงานรัฐ ตัวอย่างเช่น

 – โครงการพัฒนาต้นแบบระบบปฏิบัติงานสำหรับเจ้าพนักงานจราจรประจำจุดตรวจ (Traffic Police Checkpoint Working System : TPWOS) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรอบงบประมาณ 17,567,390 บาท

– โครงการศึกษานวัตกรรมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ความปลอดภัยสูงของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรอบงบประมาณ 20,318,700 ล้านบาท

– โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านพระพุทธศาสนา (Buddhism Big Data) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรอบงบประมาณ 10,853,000 บาท

– โครงการพัฒนาระบบแผนที่อาชญากรรมแบบอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรอบงบประมาณ 15,034,080 บาท

– ระบบบัญชีธุรกิจครัวเรือนอัจฉริยะเพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ประเทศไทยยุค 4.0 มหาวิทยาลัยรังสิต กรอบงบประมาณ 2,557,749.4 บาท

– โครงการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อสนับสนุนการสอนวิชาโครงการด้วยฐานวิจัยบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรอบงบประมาณ 6,301,600 บาท

– โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาอุปกรณ์และระบบติดตามช้างป่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรอบงบประมาณ 7,155,000 บาท

– โครงการติดตามพัฒนาการสมองด้านการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัยผ่านเครื่องมือ Biofeedback EEG และ Video Analytics มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรอบงบประมาณ 3,686,471 บาท

– โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ สร้างมาตรฐาน และยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรอบงบประมาณ 6,685,360 บาท

– โครงการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรอบงบประมาณ 24,490,160 บาท

หรืออย่างใน มาตรา 52(3) ทุนส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและการดำเนินงานขององค์กรวิชาชีพ ที่ก็ให้ทุนฝึกอบรมบุคลากรในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมโดยตรง ตัวอย่างเช่น

– โครงการนําร่องต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในด้านการเรียนการสอนสำหรับสถานศึกษาที่มีภารกิจด้านความมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรอบงบประมาณ 14,205,855 บาท

– โครงการส่งเสริมและสร้างการรับรู้นวัตกรรมด้านการปลูกและการผลิตกัญชาพืชสมุนไพร ทางเลือกของกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมพืชสมุนไพร ด้วยการใช้เทคโนโลยีสานสนเทศในยุค 5G มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กรอบงบประมาณ 6,270,521 บาท

– โครงการยกระดับและปรับปรุงห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรอบงบประมาณ 33,366,745.18 บาท

– โครงการฝึกอบรมกลยุทธ์เทคโนโลยีดิจิทัลการตลาดเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 1,944,190 บาท

– โครงการฝึกอบรมและส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain สำหรับใช้ในธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต วงเงิน 3,484,500 บาท

– การฝึกอบรมและส่งเสริมการตลาดในยุคดิจิทัล (Digital Marketing Transformation) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี วงเงิน 1,890,476 บาท

จากตัวอย่างโครงการที่ยกมา แม้จะมีการอ้างถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น 5G Blockchain หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ทว่าทั้งเนื้อหาและบุคลากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา ล้วนไม่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และโทรคมนาคมโดยตรง อีกทั้งหลายโครงการก็เป็นการพัฒนาทักษะด้านการตลาดซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นในการนํางบประมาณสาธารณะไปอุดหนุน

นอกจากนั้น การให้ทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรหรือส่งเสริมการเข้าสู่วิชาชีพ ควรเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและความรู้ที่เอื้อต่อการสร้างประโยชน์สาธารณะและองค์กรวิชาชีพไม่ส่งเสริมสนับสนุนเพียงพอ มากกว่าทักษะและความรู้ที่องค์กรวิชาชีพต้องจัดอบรมให้บุคลากรของตนอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การให้ทุนโครงการอบรมผู้ประกาศข่าวอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ แทนที่จะเน้นส่งเสริมโครงการอบรมการทำข่าวสืบสวนสอบสวนหรือการพัฒนาจริยธรรมสื่อซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะและเป็นทักษะที่ขาดแคลน

เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค: ช่องเล็กในกระเป๋าใบใหญ่

เมื่อมาดูที่มาตรา 52(4) หรือ ทุนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดูเหมือนเป็นพันธกิจที่พูดถึง ‘สาธารณชน’ โดยตรง จากการตรวจสอบข้อมูลการให้ทุนรายโครงการในช่วงปี 2561-2564 พบว่า โครงการที่ได้รับทุนตามมาตรา 52(4) มีเพียง 6 โครงการเท่านั้น วงเงินรวม 42,511,977.39 บาท หรือเพียงร้อยละ 0.24 ของงบที่จัดสรรทั้งหมด ซึ่งเป็นการให้ทุนในปี 2561 จำนวน 4 โครงการ และปี 2562 จำนวน 2 โครงการเท่านั้น ส่วนปี 2563 และ 2564 ไม่มีการจัดสรรทุนตามมาตรา 52(4) ดังนี้

– การวัดระดับความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานวิทยุชุมชนและสถานีส่งโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรอบงบประมาณ 10,453,000 บาท

– การให้บริการด้านคําบรรยายแทนเสียงและคําบรรยายภาพสำหรับคนพิการในรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ กรอบงบประมาณ 1,451,500 บาท

– โครงการหุ่นสายไทยใส่ใจผู้บริโภค มูลนิธิสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม กรอบงบประมาณ 2,046,800 บาท

– โครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ระยะที่ 1) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรอบงบประมาณ 19,883,344.59 บาท

– โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรอบงบประมาณ 6,054,744.8 บาท

– มาตรการและข้อเสนอเพื่อกําหนดนโยบายและกฎระเบียบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในยุคสื่อหลอมรวม สถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกํากับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรอบงบประมาณ 2,662,588 บาท

นอกจากงบประมาณที่ถูกจัดสรรเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่น้อยมากเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์ด้านอื่นๆ แล้ว การตีความเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคของกองทุนฯ ก็ยังค่อนข้างจำกัดอยู่เพียงไม่กี่มิติ กล่าวคือในแผนแม่ปฏิบัติการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ระบุถึงเป้าหมายในการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านการสนับสนุนการสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถคุ้มครองและปกป้องผู้บริโภค โดยเฉพาะคนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดทั้งในกฎหมายและแผนแม่บทฯ คือการตีความการคุ้มครองผู้บริโภคในมิติที่แคบ นั่นคือไม่ครอบคลุมถึงมิติความเป็นพลเมือง ด้วยเหตุนี้จึงเน้นการสนับสนุนโครงการที่เน้นการ ‘คุ้มครอง’ ผู้บริโภค (consumer) แต่ในมิติของการ ‘เสริมพลัง’ ให้ประชาชนในฐานะพลเมือง (citizen) นั้นอาจจะยังมีการสนับสนุนค่อนข้างน้อย

นอกจากนั้น โครงการในมาตรา 52(4) ยังขาดมิติการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิง ‘โครงสร้าง’ ซึ่งอาจเป็นรากฐานสำคัญของปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม จริยธรรมสื่อและกลไกการกํากับดูแลกันเองของสื่อ ฯลฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเขียนมาตรา 52 ที่ทำให้วัตถุประสงค์ด้านผู้บริโภคถูกแยกส่วนไปตามวงเล็บต่างๆ และขาดการมองงานด้านผู้บริโภคในองค์รวม

หน่วยงานแบบไหนได้ทุนเยอะสุด

ข้อมูลการจัดสรรงบประมาณของ กทปส. จําแนกตามหน่วยงานที่ได้รับทุนระหว่างปี 2561- 2564 พบว่า หน่วยงานที่ได้รับทุนโครงการมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัย ตามมาด้วยราชการ ผู้ประกอบกิจการ/เอกชน และสมาคม/มูลนิธิ และเมื่อพิจารณางบประมาณโดยรวมที่ได้รับ ผู้ประกอบกิจการ/เอกชนได้รับงบประมาณเยอะที่สุด ตามมาด้วยราชการ มหาวิทยาลัย และสมาคม/มูลนิธิ

การจัดสรรงบประมาณของ กทปส. จําแนกตามหน่วยงานท่ีได้รับทุน ระหว่างปี 2561-2564

การที่หน่วยงานเอกชนได้รับงบประมาณกระโดดออกมา สาเหตุหลักเป็นเพราะมีโครงการจำนวนหนึ่งที่มีงบประมาณสูงผิดปกติ (outlier) เช่น โครงการจ่ายเงินตามมูลค่าการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ บริษัท อสมท. จํากัด (มหาชน) วงเงิน 3,235,836,754 บาท รวมถึงโครงการสนับสนุนการให้บริการด้านโทรคมนาคมเพื่อลดผลกระทบการแพร่กระจายโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งให้กับเอกชนหลายเจ้าในปี 2564 รวมเป็นเงินเกือบ 7,200 ล้านบาท

ดังนั้นหากหักโครงการที่มีวงเงินสูงผิดปกติออกไป งบประมาณของผู้ประกอบกิจการ/เอกชนก็จะเหลือประมาณ 1,300 ล้านบาท ในส่วนงบประมาณของหน่วยราชการ หากหักเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระหว่างปี 2561-2564 ซึ่งคิดเป็นเงินรวมกันประมาณ 1,558 ล้านบาท งบรวมที่หน่วยราชการได้รับคือประมาณ 2,262 ล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยโครงการละ 22 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากกว่าที่หน่วยงานเอกชนหรือมหาวิทยาลัยได้รับค่อนข้างมาก

นอกจากหน่วยงานราชการจะได้งบประมาณต่อโครงการสูงเมื่อเทียบกับหน่วยงานประเภทอื่นแล้ว จำนวนหน่วยงานราชการที่ได้รับทุนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยปี 2561 มีหน่วยงานราชการได้รับทุน 4 โครงการ[6] จาก 68 โครงการ ปี 2562 12 โครงการจาก 79 โครงการ ปี 2563 77 โครงการ จาก 166 โครงการ และปี 2564 8 โครงการจาก 50 โครงการ ซึ่งแนวโน้มที่หน่วยงานราชการได้รับทุน เป็นสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอาจเกิดจากการที่

1) พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แก้ไขปี พ.ศ. 2560 กําหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐเกือบทั้งหมด จึงมีแนวโน้มจะให้ทุนหน่วยงานราชการเป็นพิเศษ

2) การเพิ่มเติมทุนตามแนวนโยบายรัฐ (ประเภท 2.2) เข้ามา ซึ่งเปิดช่องให้หน่วยงานราชการขอรับการสนับสนุนจาก กทปส. ได้โดยตรง

และ 3) การกําหนดกรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนโดยอ้างอิงกับแนวนโยบายรัฐ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐใช้เขียนวัตถุประสงค์ในการขอทุนได้ง่ายขึ้น

การที่หน่วยงานรัฐเข้ามาขอทุนสนับสนุนจาก กทปส. และได้รับทุนทำโครงการมากขึ้น นําไปสู่คําถามและข้อวิจารณ์หลายประการ ดังนี้ 1) เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐมาขอทุนสนับสนุนจาก กทปส. ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางงบประมาณแผ่นดินที่มีกลไกการตรวจสอบมากกว่า 2) เป็นการใช้เงินของ กทปส. โดยไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในกฎหมาย เช่น บางโครงการใช้งบประมาณเกือบทั้งหมดซื้อครุภัณฑ์ให้กับหน่วยงานของตน และ 3) ในหลายโครงการ หน่วยงานรัฐไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในโครงการที่ขอ จึงต้องไปทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญข้างนอกมาทำโครงการ

แก้เชิงโครงสร้าง และกลับมาที่จุดเริ่มต้น

การวิเคราะห์ข้อมูลรายโครงการแสดงให้เห็นปัญหาในการให้ทุนของกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ หลายประการ เช่น การให้ทุนที่ไม่ตอบวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย การให้ทุนกับหน่วยงานราชการเพื่อตอบสนองเป้าหมายของหน่วยงานรัฐเป็นหลัก กระบวนการให้ทุนที่ขาดความโปร่งใสและเปิดให้มีการเมืองเข้าแทรกแซง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการกําหนดที่มาของคณะกรรมการบริหารและอนุกรรมการกองทุนฯ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐเกือบทั้งหมด การเปิดเผยข้อมูลที่ยังขาดความรอบด้านและโปร่งใส การแทรกแซงกระบวนการให้ทุนของภาครัฐ รวมถึงการออกแบบแผนแม่บทของกองทุนฯ ที่ยึดโยงกับหน่วยงานและนโยบายรัฐ

ทั้งหมดนี้อาจต้องปรับแก้เชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ต้องอาศัยการทำความเข้าใจสถานการณ์และปัญหาอย่างที่เป็นจริง และที่สำคัญที่สุด จำเป็นต้องย้อนกลับมาที่วัตถุประสงค์ของทุนว่าตั้งขึ้นมาเพื่ออะไรและเพื่อใคร


อ่าน รายงานวิจัย: การจัดสรรเงินทุนและธรรมาภิบาลของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ The101.world

References
1 อ้างอิงจากรายงานการประชุม วาระ 5.3.9 กสทช. 5/2563
2 อ้างอิงจากรายงานการประชุม ระเบียบวาระที่ 3 คณะกรรมการ กทปส. 3/2563
3 อ้างอิงจากรายงานการประชุม วาระ 5.3.1 กสทช. 12/2562
4 อ้างอิงข้อมูลจากเอกสารแสดงรายละเอียดข้อเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนเงินกองทุน และเอกสารประกอบวาระการประชุม และรายงานการประชุม วาระ 5.3.3 กสทช. 21/2564 และวาระ 4.26 กสทช. 31/2565
5 อ้างอิงจากบันทึกด่วนที่สุด ที่ กห 0217/1162 เรื่อง ยืนยันรายละเอียดราคาครุภัณฑ์และค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสาร ของกระทรวงกลาโหม ของกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม
6 ไม่นับรวมกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับเงินจัดสรรตามกฎหมาย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save