ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง และคำถามท้าทายเรื่องดีลควบรวมทรู-ดีแทค สำนักงาน กสทช. กล้าเสนอขอขึ้นค่าตอบแทน พ่วง ‘ค่าเสียโอกาส’ หลังพ้นตำแหน่งให้ กสทช. รวมเพิ่มเดือนละร่วมแสน รัฐบาลรับหลักการขึ้นค่าตอบแทนแต่ปัดตก ‘ค่าเสียโอกาส’ 101 ชวนสังคมจับตาดูว่าร่างสุดท้ายเนื้อหาจะออกมาเป็นอย่างไร
1
สำนักงาน กสทช. ขอขึ้นค่าตอบแทน กสทช. พ่วง ‘ค่าเสียโอกาส’
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ปรากฏข่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ของประธานกรรมการและกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. …. (ต่อไปจะเรียก ‘ร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช.’) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอ
ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2556 โดยข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. มีเนื้อหาสาระหลัก 3 เรื่องคือ
หนึ่ง การขอเพิ่มค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือนให้ประธานและกรรมการ กสทช. ดังนี้
- ค่าตอบแทนประธาน : จากเดิมอัตราเดือนละ 335,850 บาท เป็นอัตราเดือนละ 361,167 บาท (เพิ่มขึ้นเดือนละ 25,317 บาท คิดเป็น 7.5%)
- ค่าตอบแทนกรรมการ (รวม 6 คน) : จากเดิมอัตราเดือนละ 269,000 บาท เป็นอัตราเดือนละ 289,167 บาท (เพิ่มขึ้นเดือนละ 20,167 บาท คิดเป็น 7.5%)
ทั้งนี้ ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน ประกอบด้วย (1) เงินเดือน (2) ผลประโยชน์อื่น (25% ของเงินเดือน) (3) ค่ารักษาพยาบาล และ (4) บำเหน็จตอบแทน
สอง การกำหนดให้ประธานและกรรมการ กสทช. มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ โดยให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและระเบียบกระทรวงการคลังมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับรัฐมนตรี
เนื้อหาในส่วนนี้คงเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. ฉบับ พ.ศ. 2556 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สาม การกำหนดเพิ่ม ‘ค่าเสียโอกาส’ สำหรับการดำรงชีพในช่วงระยะเวลา (สองปี) ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดๆ หรือไปประกอบอาชีพหรือดำเนินกิจการที่มีลักษณะที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. กำหนด ‘ค่าเสียโอกาส’ ให้ประธานและกรรมการ กสทช. ภายใต้สูตรคำนวณ เงินเดือนคูณ 24 เดือน (2 ปี) หารระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 72 เดือน (6 ปี) โดยกำหนดจ่าย ‘ค่าเสียโอกาส’ เป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง กสทช. ดังนี้
- ค่าเสียโอกาสประธาน อัตราเดือนละ 89,667 บาท [คำนวณจาก (เงินเดือน 269,000 บาท x 24 เดือน) / 72 เดือน = 89,667 บาท/เดือน]
- ค่าเสียโอกาสกรรมการ อัตราเดือนละ 71,667 บาท [คำนวณจาก (เงินเดือน 215,000 บาท x 24 เดือน) / 72 เดือน = 71,667 บาท/เดือน]
2
แล้ว ‘ค่าเสียโอกาส’ สังคมไทยล่ะ?
หากนับรวม ‘ค่าเสียโอกาส’ ตามข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. เข้าไปบวกรวมกับค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน รายรับของประธานและกรรมการ กสทช. จะสูงขึ้นดังนี้
- ประธานได้รายรับรวม 450,834 บาท (แบ่งเป็น ค่าตอบแทน 361,167 บาท + ค่าเสียโอกาส 89,667 บาท) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 114,984 บาท คิดเป็น 34%
- กรรมการได้รายรับรวม 360,834 บาท (แบ่งเป็น ค่าตอบแทน 289,167 บาท + ค่าเสียโอกาส 71,667 บาท) เพิ่มขึ้นจากเดิม 91,834 บาท คิดเป็น 34%
เรียกว่า ถ้ายึดตามข้อเสนอที่สำนักงาน กสทช. กล้าขอ ผลตอบแทนของประธานและกรรมการ กสทช. จะเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 34% เลยทีเดียว เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้คิดเป็นมูลค่าตลอด 6 ปี รวม 47,951,136 บาท (ประธานได้รับ 8,278,848 บาท + กรรมการ รวม 6 คน ได้รับ 39,672,288 บาท)
และเราจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าเสียโอกาสทั้งหมดให้ประธานและกรรมการ กสทช. รวมกันทั้งสิ้น 188,340,336 บาท ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี (ประธานได้รับ 32,460,048 บาท + กรรมการ รวม 6 คน ได้รับ 155,880,288 บาท)
สำนักงาน กสทช. อ้างว่า การขอปรับขึ้นค่าตอบแทนพ่วงเงินค่าเสียโอกาสครั้งนี้ไม่กระทบและไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินเลย เพราะไม่ได้ขอเงินจากสำนักงบประมาณ แต่ใช้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ซึ่งเหลือจ่ายนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินอยู่แล้ว โดยในเอกสารสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า
“การปรับเพิ่มค่าตอบแทนในครั้งนี้มิได้ขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน โดยแหล่งเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ดังกล่าวมาจากรายได้จากการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการประกอบกิจการ ซึ่งที่ผ่านมามีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย และมีเงินเหลือจ่ายนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินมาตลอดทุกปี จึงไม่กระทบและเป็นภาระต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด”
อ่านดูแล้วก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่สำนักงาน กสทช. ไม่ได้คิดเลยหรือว่าการดึงเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ มาจ่าย ‘ค่าเสียโอกาส’ เข้ากระเป๋าคน 7 คน แทนที่จะนำเงินก้อนเดียวกันนี้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นการทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสที่จะนำเงินก้อนนี้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนวงกว้าง
สำนักงาน กสทช. เป็นห่วง ‘ค่าเสียโอกาส’ ของ กสทช. แบบไม่แคร์ ‘ค่าเสียโอกาส’ ของสังคมไทยแม้แต่น้อย
3
เปิดเอกสาร ‘ตลกร้าย’ ของสำนักงาน กสทช.
‘ค่าเสียโอกาส’ ตามร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. ฉบับใหม่นี้ ถือเป็นรายการค่าตอบแทนประเภทใหม่ ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่ใน พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. ฉบับเดิมมาก่อน และคำว่า ‘ค่าเสียโอกาส’ ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ในชื่อของ พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. ทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ ดังจะเห็นว่าชื่อของ พ.ร.ฎ. ปรากฏถ้อยคำแค่ ‘ค่าตอบแทน’ และ ‘ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางฯ’ เท่านั้น
แล้ว ‘ค่าเสียโอกาส’ สอดไส้เข้ามาในร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. ได้อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร
จากการสืบค้นพบว่า สำนักงาน กสทช. ได้เสนอเรื่อง ร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ลงนามโดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. โดยอ้างเหตุผลเพื่อ “ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” (หน้า 3) และ “ภารกิจในความรับผิดชอบมีจำนวนมาก รวมทั้งมีภารกิจใหม่และยากในการปฏิบัติ” (หน้า 4) นอกจากนั้น กสทช. ต้อง “ปฏิบัติงานเต็มเวลาและต้องไม่ประกอบอาชีพอื่น” (หน้า 5) และ “ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งสั้นและดำรงตำแหน่งได้ครั้งเดียว” (หน้า 6)
เหตุผลในส่วนหลังถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการนำเสนอ ‘ค่าเสียโอกาส’ ของ กสทช. ดังที่สำนักงาน กสทช. ได้แสดงเหตุผลไว้ในหนังสือด้วยความเห็นอกเห็นใจ กสทช. ว่า
“กสทช. … ต้องปฏิบัติงานเต็มเวลาแตกต่างจากกรรมการประเภทอื่น นอกจากนี้ ยังไม่อาจประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดได้ โดยเฉพาะกิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ตลอดจนไม่อาจเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐได้” (หน้า 5)
และ
“การเป็นกรรมการ กสทช. กฎหมายกำหนดให้เป็นได้ครั้งเดียวและมีวาระในการดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 ปีเท่านั้น และเมื่อพ้นจากตำแหน่ง กสทช.แล้วภายใน 2 ปี ไม่สามารถจะไปประกอบอาชีพหรือดำเนินกิจการที่มีลักษณะที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และยังเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท” (หน้า 6)
อ่านดูแล้วก็เป็นเรื่องตลกร้ายอีกครั้ง เพราะไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเรื่องการทำงานเต็มเวลา การดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว อัตราค่าตอบแทนต่างๆ และการต้อง ‘เว้นวรรค’ 2 ปีหลังพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. เป็นข้อมูลที่ กสทช. รู้อยู่แก่ใจตั้งแต่ก่อนสมัครเข้ารับการสรรหาแล้ว แต่ก็ยังสมัครใจเลือกเดินลงสนามด้วยตัวเอง
4
บรรทัดฐาน ‘ค่าเสียโอกาส’ กับ กฎหมาย ป.ป.ช.
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (มาตรา 25) กำหนดให้ กสทช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมในหมวด 6 โดยมาตราที่เกี่ยวข้องกับกรณีร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. คือมาตรา 127 ซึ่งระบุว่า
“ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4) ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง”
ข้อห้ามตามมาตรา 126 (4) ได้แก่ การเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น
ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เข้าข่ายตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 127 พ.ศ. 2563 มีดังนี้
– ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.
– ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัด กทม. ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
หากร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. ตามข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ผ่านคณะรัฐมนตรีได้สำเร็จจนมีผลบังคับใช้ ก็น่ากังวลว่า การร้องขอ ‘ค่าเสียโอกาส’ จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานอื่นอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามข้อห้ามมาตรา 126 (4) ของกฎหมาย ป.ป.ช.
ลองนึกภาพ นายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าองค์กรอิสระ ฯลฯ ดาหน้าออกมาเรียกร้อง ‘ค่าเสียโอกาส’ ตามอย่าง กสทช. กันระงม หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลอาจต้องสูญเสียเงินอีกหลายพันล้านบาท นั่นแปลว่าประเทศชาติจะเสียโอกาสใช้ทรัพยากรในการพัฒนาประเทศอีกมากแค่ไหน
5
ปิดประตู ‘ค่าเสียโอกาส‘
หลังจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเอกสารนำเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. จากสำนักงาน กสทช. ก็ได้ออกหนังสือลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แจ้งขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และต่อมาได้รับข้อสังเกตเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่างๆ ดังที่แสดงด้านล่างนี้ ประเด็นสำคัญที่ทุกหน่วยงานเห็นตรงกันคือ แนวคิดจ่าย ‘ค่าเสียโอกาส’ ให้ กสทช. ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ
– สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ลงนามโดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565)
“โดยที่มาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา แต่การกำหนดค่าตอบแทนตามร่างพระราชกฤษฎีกานี้ นอกจากให้มีค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือนแล้ว ยังเพิ่มเติมให้มีค่าเสียโอกาสอีกด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายแม่บท กรณีจึงไม่สามารถกำหนดค่าเสียโอกาสดังกล่าวได้”
– สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ลงนามโดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันที่ 8 มีนาคม 2565)
“การกำหนดให้มีค่าเสียโอกาสในช่วงที่คณะกรรมการ กสทช. ดำรงตำแหน่งอาจจะเป็นการจ่ายค่าตอบแทนรวมถึงค่าเสียโอกาสที่ซ้ำซ้อนกับค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีคณะกรรมการชุดใดได้รับค่าตอบแทนดังกล่าว”
– กระทรวงการคลัง (ลงนามโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันที่ 9 มีนาคม 2565)
“การกำหนดค่าเสียโอกาสตามบัญชีท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จึงเป็นการกำหนดที่เกินกว่าบทบัญญัติในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”
– สำนักงบประมาณ (ลงนามโดย นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ วันที่ 5 เมษายน 2565)
“… กรณีจะกำหนดให้มีรายการค่าเสียโอกาสไว้เป็นการเฉพาะตามบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น ควรกำหนดอัตราของค่าเสียโอกาสเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสมและประหยัด โดยมีลักษณะของรายการเทียบเคียงกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เช่น ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จตอบแทน ทั้งนี้ ประธานกรรมการและกรรมการไม่ควรจะกำหนดสิทธิได้รับสิทธิหรือประโยชน์ตอบแทนใดๆ นอกเหนือจากค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนด”
สุดท้าย ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 จึงลงมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยไม่กำหนด ‘ค่าเสียโอกาส’ ไว้ในร่างพระราชกฤษฎีกา ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ที่ประสานเสียง ‘คัดค้าน’ แนวคิดดังกล่าว
แต่ในเอกสารสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่เผยแพร่สู่สาธารณะอย่างเป็นทางการทางเว็บไซต์รัฐบาลไทย กลับไม่ได้ระบุเรื่องการไม่ให้กำหนด ‘ค่าเสียโอกาส’ ไว้ในร่างพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด ในเนื้อหายังกล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมี ‘ค่าเสียโอกาส’ ส่วนในตารางสรุปก็ยังคงรายการ ‘ค่าเสียโอกาส’ ไว้ในฐานะสิทธิประโยชน์ของ กสทช. และไม่มีการบันทึกข้อสังเกตคัดค้าน ‘ค่าเสียโอกาส’ ของหน่วยงานต่างๆ ไว้ ซึ่งมีความแตกต่างจากเนื้อหาในหนังสือสรุปมติคณะรัฐมนตรีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งกลับไปแจ้งสำนักงาน กสทช. และหน่วยงานต่างๆ
นวัตกรรมขอเงิน ‘ค่าเสียโอกาส’ ฉบับสำนักงาน กสทช. น่าจะถูกพับเก็บไว้ในชั้นนี้ สิ่งที่คงเหลืออยู่คือการขึ้นค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือนของ กสทช. และหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าเดินทาง สังคมคงต้องช่วยจับตาดูกันต่อไปว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. สุดท้ายจะมีหน้าตาและเนื้อหาอย่างไร ‘ค่าเสียโอกาส’ ที่หายไปจะถูกนำไปแทรกอยู่ส่วนไหนภายใต้ชื่อใหม่หรือเปล่า และในอนาคตสำนักงาน กสทช. จะมีแนวคิดใหม่อะไรออกมาเซอร์ไพรส์สังคมไทยให้หัวใจเต้นแรงกันอีก