fbpx
‘สุณัย ผาสุข’ มองสิทธิมนุษยชน 2019 ความหวังไม่อาจแขวนบนความบิดเบี้ยว

‘สุณัย ผาสุข’ มองสิทธิมนุษยชน 2019 ความหวังไม่อาจแขวนบนความบิดเบี้ยว

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

ปีที่ผ่านมาอาจไม่ใช่ปีที่รุ่งเรืองนักของสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เมื่อหลายประเทศที่เคยเป็นหลักสำคัญในการผลักดันสิทธิเสรีภาพเกิดความผันผวนในประชาธิปไตย ตีกลับสู่แนวคิดอนุรักษนิยมที่ทำให้การทำงานสิทธิมนุษยชนในหลายที่เป็นไปอย่างยากลำบาก และอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงเมื่อปัญหายังเกิดขึ้นไม่หยุด ทั้งเรื่องผู้ลี้ภัย การอพยพย้ายถิ่น สิทธิสตรี ความยากจน ไปจนถึงการก่อการร้าย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อภาครัฐลดบทบาทการผลักดันวาระสิทธิมนุษยชนลง คือการเติบโตของขบวนการภาคประชาชนที่ออกมากระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา

101 ชวน สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Right Watch ประจำประเทศไทย พูดคุยถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่น่าจับตามองในปี 2019 ทั้งกระแสโลก จนถึงกระแสไทย

ในฐานะองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง เขามองว่ากระแสที่โลกหมุนกลับไปฝ่ายขวาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จะถูกคะคานได้ด้วยพลังของประชาชน ซึ่งทอดยาวไปถึงแนวโน้มในปี 2019 อันจะถูกเสริมแรงด้วยโครงสร้างอำนาจรัฐที่ทำให้เกิดการตรวจสอบ และอาจทำให้แต่ละฝ่ายได้ทบทวนตัวเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

มองมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีปัญหาสิทธิมนุษยชนค่อนข้างน่าเป็นห่วง 2019 จะเป็นปีที่น่าจับตามองเมื่อประเทศสำคัญในภูมิภาคอย่างไทยและอินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้ง อันจะนำมาสู่การกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ

แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย ส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่จะถูกกำหนดโดยนโยบายรัฐบาลใหม่ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เกิดเสรีภาพการแสดงออกในรัฐบาลหน้า เพื่อร่วมกันส่งเสียงให้มีการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาตลอดรัฐบาล คสช.

แม้จะมีการเลือกตั้งรออยู่ในห้วงเวลาไม่กี่เดือนนี้ แต่สังคมไทยกลับไม่ได้อยู่ในอารมณ์แห่งความหวังสู่การเปลี่ยนผ่าน เมื่อยังมีบรรยากาศความหวาดระแวงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะถูกผู้มีอำนาจควบคุมให้เป็นเพียงการสืบทอดอำนาจเปลี่ยนเป็นรัฐบาลใหม่ที่มีทหารอยู่เบื้องหลัง

หลังอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาถึงปีที่ 5 การเลือกตั้งควรเป็นความหวัง มิใช่เพียงพิธีกรรมต่ออายุผู้ครองอำนาจ การลงคะแนนครั้งนี้จึงต้องสะท้อนเสียงที่แท้จริงของประชาชน ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลกที่เฝ้าระวังว่า หากเป็นการเล่นเกมในกติกาที่บิดเบี้ยว อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าครั้งต่อไปของสังคมไทย

 สุณัย ผาสุข

ภาพรวมปีที่ผ่านมา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกมีประเด็นไหนที่โดดเด่นขึ้นมา

จุดใหญ่ยังคงเป็นผลต่อเนื่องจากการถดถอยของประเทศซึ่งเคยเป็นเหมือนเสาหลักค้ำจุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เกิดกระแสย้อนกลับในสหรัฐอเมริกา และยุโรปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสมาชิกใหม่อย่างฮังการี ที่ผ่านมาเราฝากความหวังในการค้ำจุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยระดับสากลไว้ที่บางประเทศให้เป็นเหมือนตำรวจโลก ตอนนี้ประเทศเหล่านั้นเกิดสภาวะถดถอย หลายประเทศกระโดดเป็นขั้วตรงข้าม กลายเป็นศัตรูของกับสิทธิมนุษยชนไปเลย

แต่ในคู่ขนานกัน จะเห็นการเติบโตของการผลักดันวาระสิทธิมนุษยชนด้วยพลังประชาชน กระแสที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น #MeToo และเสื้อกั๊กเหลือง ซึ่งยังดีเบตได้ เนื่องจากมันกว้างมาก บางส่วนเป็นพลังประชาชนจริงๆ บางส่วนเป็นพวกอนาธิปไตยใช้ความรุนแรง แต่อย่างไรผมมองว่านี่เป็นความหวัง แม้ประเทศที่เคยเป็นเสาหลักจะถดถอยหรือหายไป แต่พลังประชาชนเข้ามาเสริมแทน เพียงแต่ยังอยู่ในระหว่างการวิวัฒนาการขึ้นมา รูปแบบไม่ชัด แต่มีพลัง ไม่ได้สิ้นหวังเหมือนตอนปีแรกที่ทุกคนตื่นตระหนกว่าฝ่ายขวาชนะที่โน่นที่นี่ ผ่านไปสัก 2 ปีเริ่มพอจะยันกันได้ ด้วยพลังของประชาชนที่มีมาอยู่แล้ว แต่ยิ่งเด่นขึ้นมาเพื่อช่วยถ่วงคานความถอยกลับของภาครัฐ

แต่สังเกตว่าประเทศที่มีปัญหา ก็ยังทำหน้าที่ผลักดันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอื่ด้วย

ประเทศเหล่านี้เติบโตมานานพอในเรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล แต่วาระสิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นส่วนหนึ่ง เพียงแต่เข้มข้นมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลมีปัญหาในเชิงพฤติกรรม คำถามที่จะตามมาคือการผลักดันนั้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เหมือนเอา โดนัลด์ ทรัมป์ มาพูดเรื่องสิทธิ คนก็จะตั้งคำถาม ทั้งที่ประเทศเขาวิวัฒนาการจนทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศมานานมากแล้ว แต่พูดแล้วคนจะฟังไหม หรือพูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง

การเติบโตของวาระสิทธิมนุษยชนในส่วนหนึ่งของนโยบายสาธารณะ ก็ยังเป็นเสาหลักได้ อาจจะลุ้นว่าทนไปสักพักหนึ่งแล้วในที่สุดจะเกิดการเปลี่ยนผ่าน ฝ่ายขวาถดถอยกลับลงไป วาระที่ค้างอยู่ก็เอามาแก้ให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้ ไม่ได้สูญสลายไปเสียทีเดียว สิ่งที่เป็นความหวังนอกจากพลังประชาชนแล้ว ยังมีการคงอยู่ของโครงสร้างนโยบายที่เป็นวาระแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังฝังอยู่ ถึงแม้จะถดถอยแต่มีโครงเหลืออยู่ให้พอจะฟื้นขึ้นมาได้

สิ่งที่น่าจับตามองในปีนี้คือขบวนการภาคประชาชนถูกไหม

ใช่ รวมถึงโครงสร้างการจัดสรรอำนาจรัฐที่มีอยู่แล้ว เราจะเห็นการตรวจสอบเรียกร้องให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลายประเทศที่กลายเป็นขวากำลังมีการเลือกตั้งใหม่ จะได้วัดกันว่าฝ่ายขวายังมีชัยชนะต่อไป หรือจะมีการย้อนกลับแล้วฝ่ายก้าวหน้าอาจมีโอกาสพูดคุยกันว่าที่ผ่านมามีความผิดพลาด ฝ่ายก้าวหน้าเดินโดยไม่ฟังใครหรือเปล่าจึงทำให้ฝ่ายขวากระตุกกลับมา

ส่วนตัวคุณมองว่ามีแนวโน้มอย่างไร

ผมมองเป็นแห่งๆ ไป ที่อเมริกาถ้าหากทรัมป์ถูกถอดถอน ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดการฟังเสียงกันมากขึ้น ฝ่ายก้าวหน้าอาจได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดว่าที่ผ่านมาไม่ฟังเสียงคนอื่น จนเขารู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ส่วนฝ่ายขวาที่สร้างความหายนะหลายอย่าง ก็อาจต้องฟังว่าตัวเองทำผิดพลาดมาก หวังว่าจะเกิดการฟังกันมากขึ้น แต่ประเทศทางซีกยุโรปอาจลำบากหน่อย เพราะยังไม่ชนะกันชัดเจน ต่างฝ่ายต่างยังไม่เห็นความผิดพลาดกันชัดเจนอย่างอเมริกา

ส่วนเอเชีย ปีนี้จะมีเลือกตั้งหลายประเทศ และเป็นประเทศที่มีนัยยะด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีไทยและอินโดนีเซีย เป็นประเทศใหญ่และเคยเป็นเหมือนดัชนีวัดความเป็นประชาธิปไตยและความเคารพสิทธิมนุษยชนของภูมิภาค ไทยถดถอยมาตั้งแต่รัฐประหาร 2014 การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ก็ถูกมองว่าเป็นโอกาสที่ไทยจะกลับมาอีกครั้ง หรือจะตกต่ำมากกว่านี้หรือเปล่า

อินโดนีเซียก็เคยเป็นหัวหอกในความก้าวหน้า แต่ โจโก วิโดโด ระยะหลังมีการประนีประนอมกับฝ่ายมุสลิมสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดเอาคนที่สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่สุดโต่งมากมาเป็นพันธมิตรกัน ในประเทศมีการถดถอยเมื่อกระแสสุดโต่งผลักกระแสก้าวหน้า กระแสประชาธิปไตย และกระแสสิทธิมนุษยชนให้ถอยหลัง หากเกิดชัยชนะในการเลือกตั้งของพันธมิตรฝ่ายสุดโต่งก็จะส่งสัญญาณไม่ดีกับภูมิภาค

การเลือกตั้งมาเลเซียที่เพิ่งผ่านมาที่คนมองว่าเป็นสึนามิ แต่เอาเข้าจริงเหมือนจะเป็นสึนามิย้อนกลับสู่ความคิดอนุรักษนิยม อาจเป็นแค่เรื่องการล้างแค้นเช็คบิลกันทางการเมืองระหว่างมหาเธร์กับนาจิบ แต่ในที่สุดวาระปฏิรูปจะเดินได้แค่ไหน เพราะเรื่อง LGBT ก็เป็นมาตรวัดสำคัญ เป็นการยอมรับความแตกต่างขั้นพื้นฐานที่สุด การที่เพศสภาพต่างไปแล้วถูกมองว่าไม่ใช่คน ต้องถูกลงโทษถูกกีดกัน ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสมากแล้ว สะท้อนถึงความมีคุณภาพในการปฏิรูป ยังไม่ต้องไปมองถึงประชาธิปไตย เอาแค่เรื่องการมองคนเห็นต่างว่าไม่ใช่คน แค่นี้ถือว่าน่าห่วงแล้วถ้ามองจากระดับโลกมาระดับภูมิภาค

แล้วภาพรวมความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคมีการพัฒนาขึ้นไหม

ผมมองว่าอาเซียนไม่ค่อยมีความหวัง เป็นคนไม่เชื่อใจในอาเซียนมาแต่ไหนแต่ไร มาเลเซียที่คนให้ความหวังมากที่สุดกับมหาเธร์ ปรากฏว่ายังไม่พ้นปีก็ออกลายแล้ว พรรคฝ่ายค้านก็เดินเกมชาตินิยมและศาสนานิยมอย่างสุดโต่ง จึงน่าเป็นห่วง ส่วนพม่าไม่มีความหวังอะไรชัดเจน เพราะพรรค NLD ของ ออง ซาน ซูจี ดูเหมือนจะไม่ได้ใช้ความพยายามในการเอาอาณัติจากประชาชนมาคัดง้างกับโครงสร้างที่ยังถูกครอบโดยทหาร ตั้งแต่โครงสร้างรัฐธรรมนูญพม่าที่ล็อคไว้หมด ทำให้ฝ่ายพลเรือนเสียเปรียบเต็มประตู ถ้าจะสู้จริงๆ ต้องเอาหลังพิงฝา ใช้การเคลื่อนมวลชนมาดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ ออง ซาน ซูจี เลือกที่จะรอมชอม แล้วจุดต่ำสุดคือไปรอมชอมเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา ออง ซาน ซูจี ไม่ตำหนิว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผิดอย่างร้ายแรง แล้วออกมาปกป้องพวกที่ทำความผิดอีก สำหรับผมพม่าจึงเป็นตัวอย่างความน่าผิดหวังอย่างรุนแรงมากในอาเซียน

มาเลเซียกับอินโดนีเซียยังคาบลูกคาบดอก รอตัดเกรด แต่ดูสัญญาณไม่ค่อยดี ฟิลิปปินส์ก็มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่สุ่มเสี่ยงจะเข้าขั้นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ยังไม่เปิดกว้าง ไม่ค่อยมีใครพูดถึงทั้งที่มีปัญหาการปิดกั้นความคิดเห็น สิทธิแรงงาน และมีการกดจากอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ฮุนเซนของกัมพูชาก็หนักหนาสาหัสสุดโต่งมาก เป็นระบอบทรราชที่วางฐานอยู่บนการเลือกตั้ง กำจัดฝ่ายค้านจนไม่มีเหลือแล้ว ทำให้ตัวเองได้ภาพว่ามาจากเสียงของประชาชน แต่เป็นเสียงของประชาชนที่ไม่มีตัวเลือกอื่น ลาวยังมีลักษณะเป็นรัฐสตาลินอยู่ เป็นรัฐปิดทุกอย่าง จัดตั้งโดยรัฐทั้งหมด เรื่องสิทธิก็จะเป็นประเด็นเอาใจผู้ให้ความช่วยเหลือจากระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง แต่ไปทำเรื่องสิทธิสตรี สิทธิเด็ก การมีส่วนร่วมของชาติพันธุ์ คนพิการ แต่พอมีกรณีเขื่อนแตก จะเห็นชัดเจนว่าการตัดสินใจที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ขาดความโปร่งใส ขาดธรรมรัฐ จะระเบิดออกมาด้วยเหตุการณ์ที่เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว สะท้อนให้เห็นทุกอย่าง การตัดสินใจโดยไม่มีส่วนร่วม ใครขวางโครงการก็ถูกจับ ต้องลี้ภัยไป คนที่เป็นผู้นำด้านสิทธิชุมชนอย่าง คุณสมบัด สมพอน ก็หายไป หรือคนไทยที่ลี้ภัยในลาว เท่าที่รู้ก็หายไป 5 คนแล้ว เวียดนามก็ยังมีลักษณะรัฐเผด็จการอยู่ ปิดกั้นปราบปรามคนเห็นต่าง ใช้อำนาจตามอำเภอใจ กลุ่มชนเผ่าที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและศาสนาแตกต่างที่รัฐไม่ยอมรับก็ต้องลี้ภัยออกมา

ถ้าดูแผนที่อาเซียน จะเห็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนทุกหย่อมหญ้าโดยที่ไม่ให้ความหวังมากนัก อาเซียนมีปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและกลไกสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอาเซียน แต่ทั้งกติกาและกลไกมันแย่ยิ่งกว่าเสือกระดาษ เพราะอาเซียนยังยึดหลักปฏิบัติเรื่องฉันทามติ ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ถือว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นกิจการภายใน อาเซียนจึงไม่ขยับ ประชุมเรื่องสิทธิไปเรื่อยๆ ไม่มีสาระอะไร ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

อาเซียนพยายามปรับตัวซ่อนรูป เพื่อลดการวิพากษ์เรื่องความเป็นประชาธิปไตยรึเปล่า

เหมือนเป็นปมด้อยของอาเซียน ที่ผ่านมาถูกวิจารณ์ตลอดว่าเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคแห่งสุดท้าย ที่ยังไม่มีกติกากลไกร่วมกันด้านสิทธิมนุษยชน จึงต้องสร้างขึ้นมา เพื่อให้ดูมีอารยะเท่ากับกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอื่น แต่เอาเข้าจริงอาเซียนก็ใช้วิธีซ่อนรูป ตราบใดที่ยังไม่ปรับกติกาเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน กลไกที่สร้างขึ้นมาก็เป็นการจัดฉากเท่านั้นเอง

สุณัย ผาสุข

แล้วประเด็นโรฮิงญา คิดว่าน่าจะมีความเคลื่อนไหวต่อไปไหม

น่าจะมีความเคลื่อนไหว วิกฤติในอาเซียนครั้งสุดท้ายที่เข้าขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คือเขมรแดง ซึ่งยุคนั้นกัมพูชายังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน แต่ตอนนี้พม่าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนแล้ว และถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม ร้ายแรงถึงขนาดทำให้คนเกือบล้านต้องอพยพออกนอกพรมแดนรัฐไปบังกลาเทศ ก่อนหน้านี้ก็มีการล่องเรือผ่านไทยไปมาเลเซีย ปัญหาร้ายแรงมากในระดับที่อาเซียนไม่เคยเจอมาก่อน แต่ยังไม่สามารถทำอะไรที่เป็นจุดยืนร่วมกันของสมาชิกทั้งหมดได้ มีแค่สมาชิกบางประเทศที่สื่อสารเรื่องนี้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่พอเข้าเวทีอาเซียน แค่พูดคำว่า ‘โรฮิงญา’ ไม่ได้ก็จบแล้ว เป็นความไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงของอาเซียน ประเทศไทยก็เลี่ยงคำเหล่านี้ ทั้งที่จะเป็นประธานอาเซียนอยู่แล้ว แต่ยังไม่เป็นโล้เป็นพายเลย

แรงผลักดันจากประเทศมุสลิมในอาเซียนจะสร้างผลไหม หรือเป็นการแสดงออกเพียงเพื่อคะแนนนิยมในประเทศ

มาเลเซียมีการประณามพม่าเป็นครั้งคราว แต่แรงขึ้นเรื่อยๆ อินโดนีเซียพอใกล้เลือกตั้งคิดว่าจะมีท่าทีแบบมาเลเซีย คือประณามหนักขึ้นหรือส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปที่ค่ายผู้อพยพ แต่แรงกดดันยังไม่พอจะไปบี้รัฐบาลพม่าโดยตรง หากประเทศในอาเซียนไม่เอาด้วยก็ทำอะไรไม่ได้ กรณีการกดดันกัมพูชาให้ฟื้นฟูความเสียหายจากการรัฐประหารตัวเองของฮุนเซน ตอนนั้นอาเซียนมีแต้มต่อเพราะกัมพูชายังไม่เป็นสมาชิกอาเซียน ถ้าไม่จัดการเลือกตั้งก็จะไม่ให้เข้าร่วม แต่กรณีพม่าที่เข้ามานั่งอยู่ในอาเซียนแล้วจะทำยังไง จะไล่ออกจนกว่าจะฟื้นฟูสถานการณ์หรือเอาคนผิดมาลงโทษได้เหรอ อาเซียนไม่มีความกล้าขนาดนั้น

มีความเห็นที่ว่าการใช้วิธีกดดันกับพม่าอาจไม่ได้ผล

วิกฤติที่เกิดขึ้นในพม่า ใช้ไม้อ่อนไม่ได้แล้ว เมื่อถึงขนาดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รอต่อไปไม่ได้ จะให้ตายกันอีกเท่าไหร่ ระดับความโหดเหี้ยมรุนแรงของเหตุการณ์เป็นสิ่งที่โอ้โลมปฏิโลมกันไม่ได้ ต้องทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงมากในกฎหมายระหว่างประเทศและในทางสิทธิมนุษยชน ต้องมีการรับผิดชอบเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ถ้าเป็นประเทศอื่นต้องพักงานหรือปลดแม่ทัพนายกองที่ถูกขึ้นชื่อในรายงาน UN แล้ว แต่นี่ยังครองอำนาจต่อไปได้เรื่อยๆ บางคนถูกย้ายจากสมรภูมิซึ่งเลือดนองเต็มที่แล้วไปคุมอีกสมรภูมิหนึ่งที่ทำท่าจะเลือดนองตามมา แบบนี้มันไม่ใช่ ตอนนี้ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายรัฐบาลพลเรือนควรต้องรับผิดพอกัน เพราะมีแต่จะทำให้เหตุการณ์แย่ลง

ส่วนตัวคิดว่าควรมีแนวทางต่อไปอย่างไร

ตอนนี้ยังเชื่อว่ากรณีพม่าต้องเป็นการกดดันอย่างชัดแจ้งต่อคนที่ถูกชี้ว่ามีความรับผิดชอบ เป็นการคว่ำบาตรอย่างเจาะจงเป้าหมาย ไม่ได้ลงโทษประเทศและประชาชน แต่ลงโทษผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ ทั้งปฏิบัติการทางทหารและนโยบายการเมือง ตอนนี้เริ่มเห็นผู้นำทหารพม่าโดนระงับบัญชี โดนห้ามทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่การกดดันแบบนี้จะยกระดับไปถึง ออง ซาน ซูจี ไหม เพราะการถอดตำแหน่ง ถอดรางวัลโน่นนี่ ก็คงขายหน้าแต่ไม่เจ็บ ถ้าจะให้เจ็บก็ต้องคิดถึงเรื่องคว่ำบาตร ออง ซาน ซูจี บ้าง เป็นไอเดียที่อาจต้องลองชงกันขึ้นมา เมื่ออยู่ในสถานะที่น่าจะหยุดยั้งปัญหาได้แต่ไม่ทำ

แต่ในแง่หนึ่ง ออง ซาน ซูจี ก็ต้องรักษาแรงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศไว้ก่อน

มันสะท้อนว่าในที่สุด ออง ซาน ซูจี ไม่ได้เป็นวีรสตรีด้านสิทธิมนุษยชน-ประชาธิปไตย อย่างที่เคยเชื่อกัน เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุอำนาจ แล้วตอนนี้สิ่งที่จะทำให้อยู่ในอำนาจหรือมีโอกาสมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือการไม่เปิดศึกกับกองทัพ เออออห่อหมกกับสิ่งที่กองทัพพม่าทำ เอาเรื่องการทำแต้มต่อทางการเมืองมาอยู่เหนือหลักการซึ่งเคยประกาศไว้ว่าตัวเองเป็นหัวหอก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่

คิดอย่างไรที่ประเด็นผู้ลี้ภัย หรือการล่วงละเมิดผู้หญิง ถูกไฮไลต์ขึ้นมาในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลกปีที่ผ่านมา

ถูกไฮไลต์ด้วยสภาพความเป็นจริง เรื่องผู้ลี้ภัยมาจากสงครามความขัดแย้งในที่ต่างๆ บวกกับความยากแค้นในความเป็นอยู่ จนเห็นการย้ายถิ่นจำนวนมาก กลุ่มที่ย้ายเพราะความขัดแย้งความรุนแรง เช่น ลิเบีย ซีเรีย หรือโรฮิงญา

อีกกลุ่มหนึ่งหนีความยากเข็ญ เช่น ลาตินอเมริกาที่พยายามเข้าไปอเมริกา ในส่วนเรื่องความขัดแย้งก็มีกติการะหว่างประเทศชัดเจน ว่าเขาต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพันธะร่วมกันของนานาชาติ แต่ก็จะถูกผลักด้วยความขัดสนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในที่ต่างๆ ที่เคยให้การพักพิง คนในประเทศเหล่านั้นเกิดความเชื่อว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระ จึงต้องผลักกลับ ซึ่งเป็นการขยายความกลัวเกินความเป็นจริงหรือเปล่า เกิดภาพคนหนีร้อนมาพึ่งเย็นแต่ต้องตายอยู่กลางทะเล ศพลอยเกลื่อนหาด พยายามข้ามกำแพงก็ถูกทุบตี มีการประท้วงต่อต้านคนพลัดถิ่นในที่ต่างๆ

ส่วนกรณีทรัมป์กับกำแพง ก็เป็นรูปธรรมชัดเจนต่อความเชื่อใน American Dream ที่ว่าใครที่เหนื่อยล้าสามารถมาที่เทพีเสรีภาพได้ มันไม่ใช่อีกต่อไป “You’re no longer welcome.” สะท้อนออกมาในเรื่องคนพลัดถิ่น

เรื่องสิทธิสตรีก็น่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัจจุบันมีพื้นที่ส่งเสียงของคนที่เป็นเหยื่อมากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เรื่องการละเมิดต่อทุกเพศถูกเปิดขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะและมีพลัง ที่น่าสนใจคือเราไม่เพิกเฉยต่อการที่คนถูกข่มเหงรังแกอีกต่อไป ให้ความหวังได้ว่าเราจะไม่ให้เหยื่อเผชิญเคราะห์กรรรมโดยลำพัง เราจะออกมาช่วยประสานเสียงกัน เรื่องนี้หากขยายไปในสิทธิด้านอื่นๆ ได้จะมีพลังอย่างมาก เช่น หากผู้หญิงออกมาพูดว่าจะไม่ยอมถูกข่มเหงรังแกด้านสิทธิพลเมือง ไม่ยอมการข่มเหงรังแกเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน พอเดือดร้อนเรื่องนี้แล้วมาร่วมกันเดือดร้อนเรื่องอื่น และช่วยกันบอกว่าเราทุกคนเป็นเหยื่อ เราไม่ทนอีกแล้ว จะเปลี่ยนอะไรได้อีกเยอะเลย

สังเกตว่าในไทย เวลาคนออกมารณรงค์เรื่องหนึ่ง มักไม่เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ

มันตัดตอนไง ไม่ถูกมองเป็นบริบทใหญ่ว่านี่เป็นภาพสะท้อนของความไม่เท่าเทียมกันในโครงสร้างอื่นๆ อีกมากมาย นี่แค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งอันมหึมา

 

มองความเชื่อมโยงของไทยกับประเด็นที่เป็นกระแสระดับโลกอย่างไร เช่น กรณีผู้ลี้ภัย แม้เราจะมีปัญหาแต่ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ไทยเป็นตัวอย่างด้านตรงข้ามของแนวคิดที่สั่งสมมานานมากๆ การจุดกระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยกลไกระหว่างประเทศอย่าง UN เริ่มมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ในยุครัฐบาลทักษิณมีการจุดกระแสอย่างเข้มข้น มีการจำกัดอาณัติของ UNHCR ในไทย ว่าห้ามขึ้นทะเบียนผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ขึ้นทะเบียนได้เฉพาะคนหนีภัยการสู้รบตามชายแดนเท่านั้น แต่ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง เช่น ผู้นำนักศึกษา นักการเมืองฝ่ายค้าน หรือนักกิจกรรมจะถูกกันออกไป แล้ว UN ก็ถูกมองว่ามาสร้างปัญหาให้ประเทศ เป็นเชื้อของความเกลียดชังที่สั่งสมจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีคะแนนนิยมสูงมาก ทำให้กระจายออกไปในวงกว้าง

หลังจากนั้นไทยมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สุดโต่งมากทั้งสองขั้ว แต่ละขั้วมีจุดร่วมเหมือนกันคือไม่เอาผู้ลี้ภัย ทั้งเหลืองแดงมองร่วมกันว่าผู้ลี้ภัยเป็นภัย มองว่าต่างชาติมาวุ่นวายกับไทยเรื่องการกำหนดพันธกรณีในการคุ้มครอง ทำให้ไทยมีภาระ ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริง เป็นเรื่องบิดเบือนทั้งนั้น แต่ถูกสั่งสมกันมา เป็นเหตุว่าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ยังเกลียดผู้ลี้ภัยเหมือนเดิม เช่น ถ้าโรฮิงญาเข้ามาใกล้ฝั่งก็จะลากกลับไป ถ้าขึ้นมาได้ก็จะไม่ให้ UNHCR จดทะเบียน จึงต้องขังไว้ตลอด ส่งไปไหนไม่ได้ เป็นแนวคิดสืบทอดกันมาจนไม่เห็นโรฮิงญาเป็นคน

ล่าสุดในยุค คสช. ยิ่งตกต่ำหนัก ถึงขั้นไปร่วมกับประเทศอื่นในการไล่ล่าคนหนีภัยที่ผ่านเข้าประเทศไทยเพื่อจะไปประเทศที่ 3 ไทยร่วมมือกับรัฐบาลจีนส่งอุยกูร์กลับไปร้อยกว่าคน และมีหลักฐานว่าตอนนี้จีนเปลี่ยนซินเจียงเป็นค่ายกักกันขนาดใหญ่ เอาคนอุยกูร์ไปขังเพื่อปรับวิธีคิดเรื่องศาสนา จะได้ศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์ อุยกูร์ที่ไทยส่งกลับก็คงไปจบในค่ายเหล่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์เลวร้ายมาก ค่ายกักกันระดับขังคนเป็นล้านมันไม่มีที่ไหนอีกแล้วในยุคปัจจุบัน แล้วยังมีคนที่ไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนแล้วผ่านมาไทยเพื่อขึ้นทะเบียนขอสถานะจาก UN ก็มีการดักจับแล้วส่งไปที่จีน

ไทยร่วมมือกับกัมพูชา เวียดนาม ตุรกี ล่าสุดกรณีนักฟุตบอลก็ร่วมมือกับบาห์เรน ทำให้เห็นว่าไทยไม่ใช่แค่ไม่อยากรับผู้ลี้ภัย แต่ร่วมมือกำจัดตามคำร้องขอของประเทศเผด็จการต่างๆ ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน มีทั้งกฎหมายจารีตประเพณีที่ห้ามส่งคนกลับไปตาย และกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ ก็คืออนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน ซึ่งมีหลักการห้ามส่งคนกลับไปเจอการซ้อมทรมาน คนที่ไทยส่งกลับไปมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะเจอการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติโดยไม่ชอบทั้งสิ้น ถือเป็นยุคตกต่ำที่สุดหลังจากที่สั่งสมมานาน แต่สังคมไม่หือไม่อือ เพราะถูกตีกรอบมาตั้งแต่ยุคทักษิณต่อเนื่องมาว่าผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ควรกำจัดออกไปให้หมด

ถ้าเป็นสังคมอื่น การละเมิดกฎหมายขนาดนี้รัฐบาลอยู่ไม่ได้แล้ว แต่นี่ไม่มีใครจัดการอะไร ในยุคที่มีพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ตั้งคำถามอะไรมากมายกับการกระทำแบบนี้ ต่อให้เปลี่ยนขั้วการเมืองยังไง ก็ยังมีการมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นอริ และกลไกระหว่างประเทศเป็นสิ่งไม่เป็นคุณกับประเทศไทย

ปี 2019 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยของไทย น่าจะถูกยกขึ้นมาในเวทีระหว่างประเทศอีก

ถูกยกขึ้นมาพูดทุกครั้งที่มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของไทย มีการวิจารณ์อย่างแรงมาตลอด แล้วไทยก็ยังทำผิดไปเรื่อยๆ เราไม่เคยเห็นฟีฟ่าแคร์เรื่องสิทธิมนุษยชนมาก่อน แต่กรณีนักฟุตบอลบาห์เรน ฟีฟ่าออกแถลงการณ์เร็วมาก แต่เราก็ยังทำต่อไป ถ้าไม่อยากให้เขาเข้าประเทศก็ให้กลับออสเตรเลียไป เขามาฮันนีมูนแท้ๆ แล้วโดนดักจับเพราะบาห์เรนขอมา มีความสัมพันธ์ที่ต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไมประเทศบาห์เรนจึงมีความสำคัญกับไทยจนยอมถูกประณามจากนานาชาติ เพื่อส่งคนหนึ่งคนกลับไปให้

ทำนองเดียวกัน ไทยก็ส่งคนทำสารคดีกลับไปให้ฮุนเซน ถูกประณามจากนานาชาติ แล้วอยู่ๆ ก็เอาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ส่งกลับไปเลย เกิดคำถามว่าแลกเปลี่ยนอะไรกันหรือไม่

นับแต่การรัฐประหาร 2014 ช่วงปีที่ผ่านมาการคุกคามสิทธิทางการเมืองผ่อนคลายลงหรือไม่ เพื่อเตรียมนำไปสู่การเลือกตั้ง

ถ้า คสช. จริงใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปตามสัญญา ว่าจะเป็นการกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องยกเลิกการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง 3 ข้อ คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการสมาคม นี่คือเสาหลัก 3 ประการของความเป็นประชาธิปไตย แล้วจะมีนัยยะต่อกระบวนการเลือกตั้งที่สุจริต เสรี และเป็นธรรม

แต่เสรีภาพ 3 ประการนี้ถูกปิดกั้นมาตลอด แม้ล่าสุดมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22 บอกว่าเป็นการคลายล็อคนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่ได้คลายล็อค เพราะยังปิดกั้นการทำกิจกรรมทางการเมืองในส่วนที่เห็นต่างกับ คสช. ไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ก็ถูกจับ ชาวบ้านคัดค้านเหมืองต่างๆ ก็ถูกทหารเบรก กลายเป็นว่าคลายเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับการหาเสียง เพราะพรรคที่หนุน คสช. ต้องหาเสียงก็เลยคลายเท่านี้ นี่คือทำเพื่อตัวเองแท้ๆ เหมือนการต้อนแกะ คุณทำกิจกรรมได้นะ แต่ต้องเดินตามหมาตัวข้างหน้าที่นำฝูงแกะไป ห้ามทำอะไรต่างจากแนวทางที่บอก เป็นการตีกรอบการเลือกตั้งว่าให้เดินทางไหน จนถึงตอนนี้ผมไม่เห็นปัจจัยอะไรเลยที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นการเลือกตั้งที่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ประเด็นอื่นยังมีเรื่องการแทรกแซง กกต. และเห็นได้ชัดว่าประยุทธ์ประกาศชัดเจนว่าจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ไม่ลงแข่งแต่ให้คนอื่นเสนอชื่อ มีการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐและสื่อของรัฐ พรรคพลังประชารัฐก็มีความเหลื่อมล้ำระหว่างการเป็นพรรคการเมืองกับการเป็นคณะรัฐมนตรี เอาเปรียบเหนือคนอื่นทั้งหมด ฟรีไหม-ไม่ฟรี แฟร์ไหม-ไม่แฟร์

สุณัย ผาสุข

มีความกังวลว่าการเลือกตั้งที่ไม่ได้เปลี่ยนผ่านจริงๆ จะถูกใช้เป็นข้ออ้างทำให้นานาชาติลดแรงกดดัน

แน่นอน เพราะเขาถูกกดดันด้วยเงื่อนไขนี้ตั้งแต่แรกที่เกิดการรัฐประหาร หลายประเทศมีข้อกำหนดทางกฎหมายว่าต้องลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเกิดรัฐประหาร และจะเป็นปกติต่อเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง ถ้ามองแค่นี้ พอจัดเลือกตั้งแล้วก็น่าจะตีตั๋วผ่านไปได้ แต่ถ้าดูรายละเอียดที่แทรกอยู่ มีเงื่อนไขเรื่องคุณภาพของการเลือกตั้ง ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไป แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สุจริต เสรี เป็นธรรม รัฐบาลใหม่ต้องสนองเจตจำนงของประชาชน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง

เงื่อนไขย่อยนี้ไม่มีในกรณีของไทย สักแต่จะเลือกตั้งแค่นี้ แล้วก็เลื่อนมาตั้งหลายครั้ง แค่คอนเฟิร์มวันมันไม่พอ เป็นเหตุผลว่าทำไมนานาชาติถึงอยากเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะเขาไม่ไว้วางใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสอดรับเงื่อนไขที่จะปรับระดับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติกับไทยได้ จึงอยากมาดูให้เห็นด้วยตาตัวเองในสเกลที่กว้างขวางที่สุด คือส่งผู้สังเกตการณ์จากข้างนอกเข้ามาเยอะๆ แต่ตอนนี้ไทยยื้อจนไม่สามารถจัดคณะสังเกตการณ์ได้ทัน ทำได้เต็มที่คือใช้เจ้าหน้าที่สถานทูตในไทยที่มีไม่มาก แล้วก็ดูได้แค่ยุทธศาสตร์สำคัญ การสังเกตการณ์ที่ดีที่สุดคือการเห็นด้วยตาของผู้สังเกตการณ์เอง แต่ตอนนี้คงพอดูได้ในบางจังหวัด ที่เหลือต้องพึ่งเครือข่ายพรรคการเมือง เอ็นจีโอ และข้อมูลจากสื่อ ซึ่งการประเมินจะมีอิทธิพลอย่างมากว่าจะเอายังไงกับประเทศไทยต่อไป

นักวิชาการรัฐศาสตร์ก็คุยกันว่า ต่อให้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขตทั้งหมด ก็ยังตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ ต้องไปแพ้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์บวก ส.ว. เมื่อผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนเจตจำนงแล้วคนจะยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลที่บิดเบี้ยวหรือ การเลือกตั้งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองดำเนินไปได้โดยไม่ต้องปะทะกันด้วยความรุนแรง ฝ่ายชนะได้อาณัติความชอบธรรม พรรคฝ่ายค้านก็มีที่ทางเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างและตรวจสอบได้ แต่พอระบบบิดเบี้ยวแบบนี้ มันไม่สะท้อนอะไรเลย การเมืองไทยจะกลับไปสู่ท้องถนนอีกครั้งหรือเปล่า แล้วฝ่ายอำนาจรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ตรงนี้น่าห่วง เพราะมีการย้ำหลายครั้งว่าถ้าเคลื่อนลงสู่ถนนอีกครั้งหลังเลือกตั้งเขาก็จะปราบ

ไม่ใช่แค่ประชาชนจะลงสู่ถนนเพราะไม่พอใจกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่สะท้อนเจตจำนง แต่มีนัยยะว่าจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เป็นที่พูดกันวงกว้างในกลุ่มผู้สังเกตการณ์ นักวิเคราะห์ และทูตหลายประเทศ ว่ามีความเสี่ยงที่ไทยจะกลับไปสู่บรรยากาศคล้ายพฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นการนองเลือด เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก จึงเรียกร้องทุกพรรคมาให้สัตยาบันว่าจะไม่เล่นอย่างไม่แฟร์ ขอให้ฝ่ายกุมอำนาจรัฐไม่เอาเปรียบคนอื่น ขอให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง ขอให้สื่อมีความรับผิดชอบ แต่ถ้าคสช. และพรรคที่หนุน คสช. ยังฮึกเหิมว่าตัวเองได้เปรียบทุกทาง แล้วไม่ยอมปรับพฤติกรรม ก็มีความเสี่ยงว่าแทนที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าครั้งใหม่ได้ กลายเป็นว่าเราจะขุดหลุมฝังตัวเอง

อาจพูดได้ว่าองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ได้ไว้วางใจจนถึงขนาดว่าพอเลือกตั้งเสร็จจะคลายความกังวลลง

ไม่วางใจเลย ตอนนี้คือมองข้ามช็อตไปแล้ว สิ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือรัฐบาลต่างประเทศเห็นมาตลอดเกือบจะ 5 ปี คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การควบคุมปราบปรามคนเห็นต่าง มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่ดำเนินต่อไปในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ที่บอกว่ามองข้ามช็อตคือในอนาคตเราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ไหม-ไม่ เราเห็นหายนะรออยู่

แต่ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างอียู พอมีเลือกตั้งแล้วอาจจะคลายลงหรือเปล่า

อียูไม่ปฏิเสธความเป็นมิตรกับไทย แต่ยังไม่สามารถกลับสู่ความสัมพันธ์ปกติได้ เพราะยังเป็นเผด็จการ ต้องมีการจัดการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ แล้วจะประเมินว่าผ่านเกณฑ์ไหม มีตัวอย่างกรณีกัมพูชาที่พึ่งพาความช่วยเหลือจากอียูมาก และการเลือกตั้งกัมพูชาก็เลวร้ายมาก มีการกดดันว่าจะลงโทษเรื่องความช่วยเหลือการทำธุรกิจและความร่วมมือทางการค้า ฮุนเซนก็ต้องยอมปล่อยผู้นำฝ่ายค้านที่จับไปขังคุกออกมา อนุญาตให้สื่อเริ่มมีปากมีเสียงได้หลังฮุนเซนชนะเลือกตั้งแล้ว

ไทยอาจโดนอะไรคล้ายกัน ถ้าการเลือกตั้งแย่มาก แล้วไทยเว้นช่วงประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการนาน 2 เดือน ระหว่างนั้นมีเวลาเหลือเฟือให้นานาชาติประเมินว่าไทยได้ทำตามสัญญาไหม แล้วเอามาตรฐานสากลมาตัดเกรดว่าสอบผ่านไหม ถ้าสอบตกจะมีผลยังไงต่อ ต่างจากกัมพูชาที่ประกาศผลเร็วแล้วนานาชาติตั้งตัวไม่ทัน

กรณีห้ามต่างชาติสังเกตการณ์เลือกตั้ง มีผลต่อฮิวแมนไรท์วอทช์ไหม

โดนปิดเว็บครับ (หัวเราะ) ฮิวแมนไรท์วอทช์ดูเรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการออกจากกับดักความขัดแย้งแตกแยกของไทย คือแตกแยกแต่ไม่ฆ่ากัน อยู่ร่วมกันด้วยกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งที่ถูกบิดเบือนทำให้มีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากัน และทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงทางการเมือง เราเอาผิดคนใช้ความรุนแรงไม่ได้เลย แต่ละฝ่ายที่เคยใช้ความรุนแรงยังรู้สึกว่าทำได้ จึงน่าเป็นห่วง

ฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นองค์กรสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชน ก็พยายามเตือนว่าสิทธิเรื่องนี้มีปัญหา แล้วนัยยะที่จะตามมาเป็นยังไง จะหาทางเลี่ยงได้ยังไง เราพยายามชี้แจงทำความเข้าใจต่อทั้งฝ่ายกุมอำนาจรัฐและสาธารณะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนว่ารัฐบาลและ คสช. ประเมินการทำหน้าที่ของฮิวแมนไรท์วอทช์ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นคำพูดของคุณประยุทธ์ว่าการรายงานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นภัยต่อความมั่นคง แล้วเราก็ถูกบล็อคเว็บเป็นครั้งคราว ล่าสุดคือ 1 ธ.ค. 2018

ที่บอกว่าเป็นการบล็อคเว็บตามคำสั่งศาลนั้นมีเอกสารชัดเจนไหม

ไม่มีใครให้เราดู เป็นการชี้แจงของ ISP เพราะปิดไปดื้อๆ เขาก็โดนฟ้อง มีข้อความขึ้นว่าเป็นการปิดตามคำสั่งศาล สะท้อนว่าไม่ได้ปิดโดยพลการ การทำหน้าที่ของฮิวแมนไรท์วอทช์ในสายตาของรัฐคือเป็นศัตรู แล้วประเทศแบบไหนที่ถือว่าสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู มีแต่ประเทศเผด็จการ ทั่วโลกมีไม่กี่ประเทศที่บล็อคฮิวแมนไรท์วอทช์ เป็นกลุ่มประเทศที่เป็นเผด็จการสุดขั้วอย่างเกาหลีเหนือ พม่ายังไม่บล็อคเลย ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่บล็อคฮิวแมนไรท์วอทช์

ฮิวแมนไรท์วอทช์จะยังมีการสังเกตการณ์เลือกตั้งอยู่

มีครับ เป็นการทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร มีองค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ นักกิจกรรม รวมถึงการรับฟังข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ พรรคพลังประชารัฐถ้ามีอะไรจะร้องเรียนก็ยินดี เราดูทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงนับคะแนน ประกาศผล จัดตั้งรัฐบาล และบรรยากาศหลังจัดตั้งรัฐบาล

กังวลไหมว่าจะมีการใช้การโจมตีด้วยข้อมูลบิดเบือนมากขึ้นช่วงเลือกตั้ง

กังวลมากเรื่องการใช้ข้อมูลเท็จบิดเบือนสร้างความเกลียดชังจากทุกฝ่าย แต่ฝ่ายที่เป็นผู้กระทำมากกว่าอย่างชัดเจนตั้งแต่การเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้น คือฝ่ายที่มาจากรัฐและฝ่ายที่สนับสนุน คสช. อีกฝ่ายหนึ่งก็มีในระดับที่ต่างกันชัดเจน จุดที่ห่วงที่สุดในการใช้ข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความเกลียดชังลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย คือมันอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ สังคมไทยมีบทเรียนมาตลอดตั้งแต่ยุคเดือนตุลา การเผชิญหน้าทุกครั้งจะมีการลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายถูกกระทำเรื่อยๆ และพอกระทำไปแล้วไม่ต้องรับผิด

ยังมีเรื่องหลักการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เช่น กรณีคลิปล่าสุด โยงไปถึงการดิสเครดิต การทำลายความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการสร้างความเกลียดชังต่อนักสิทธิมนุษยชนยิ่งน่าห่วงเป็นพิเศษ รัฐบาลไทยมีพันธกรณีทางกติการะหว่างประเทศในการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน แต่กรณีที่นักสิทธิมนุษยชนเป็นเป้าของเฟคนิวส์แล้วมีการแจ้งความมากมายแต่ไม่ขยับ แม้แต่คนที่เป็นเสาหลักด้านสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งในประเทศไทยอย่างคุณอังคณา นีละไพจิตร ก็ยังโดน คุณอังคณาถือว่าไม่มีข้างไม่มีฝ่ายแต่ช่วยทุกคน ไปแจ้งความก็ไม่ขยับเลย แต่ถ้าเป็นกรณีไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำ คสช. จะถูกดำเนินการทันที

ตัวคุณหรือฮิวแมนไรท์วอทช์ก็โดนโจมตีบ่อยครั้ง มันส่งผลต่อการทำงานไหม

เป็นการสร้างความเกลียดชังให้นักสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรูต่อสาธารณะ เป็นศัตรูต่อความเป็นไทยและสังคมไทย กรณีผมที่โดนหนักคือถูกไล่ให้ออกจากประเทศไทย พุทธอิสระจัดประท้วงใหญ่เลย มองว่าพวกนักสิทธิไม่ใช่คนไทย ไม่รักชาติ รับเงินต่างชาติมาทำลายความเป็นไทย ใช้วาทกรรมว่าเป็นพวกชังชาติ การบอกว่าไม่ใช่เป็นคนไทยเหมือนเอาเป้ากระสุนมาแปะไว้บนหัว ความขัดแย้งทุกครั้งที่ผ่านมาคนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยตายศพไม่สวยทั้งนั้น นี่จึงไม่ใช่การคะนองปาก เป็นการสร้างความเกลียดชังที่อาจจะมุ่งเป้าไปถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ มีคนที่ต้องหนีออกนอกประเทศอย่าง อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยในที่สุดก็ต้องออกไป

ในระดับนานาชาติมีการโจมตีด้วยข้อมูลบิดเบือนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง จะพอมีทางป้องกันไหม

ต้องสู้ด้วยความจริง แต่จะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขที่สังคมเปิดให้มีช่องทางเอาความจริงมาสู้ความเท็จ ในไทยแย่ที่มีการใช้เฟคนิวส์ผ่านการจัดตั้งโดยกลไกของรัฐบางส่วนบวกกับเครือข่ายกลุ่มที่หนุนรัฐ ส่วนที่หนุนรัฐไม่ว่ากันเพราะเป็นสภาพธรรมชาติที่สังคมแยกขั้ว แต่ที่ห่วงคือส่วนที่รัฐจัดตั้งเอง และห่วงว่าเป็นการใช้เฟคนิวส์ในบริบทที่ไม่มีช่องอีกด้านให้เอาความจริงมาพูดเพราะโดนเซ็นเซอร์ ก็เลยหนักกว่าอเมริกา สื่อจะพูดก็ติดคำสั่ง คสช. พูดแล้วโดนปิดสถานี ถูกพักออกอากาศ และมาซ้ำหนักเข้าไปอีกคือความไม่เอาไหนของเฟซบุ๊คในประเทศไทย

ขณะที่เฟซบุ๊คระดับสากล ประกาศมาตลอดว่าจะเอาจริงเอาจังกับเฟคนิวส์มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้โจมตีนักสิทธิมนุษยชนหรือคนที่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในสังคม แต่ในประเทศไทยเวลานักสิทธิมนุษยชนหรือนักกิจกรรมไปร้องเรียนกับเฟซบุ๊คแทบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ยังเคลื่อนไหวเอิกเกริกอย่างเป็นระบบ มีเนื้อหาทั้งเพจแล้วกระจายไปเพจลูกอื่นๆ ขณะที่เวลาเฟซบุ๊ครับเรื่องร้องเรียนจากรัฐบาลกลับรีบดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาเหล่านั้น องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้การใช้ข้อมูลเท็จสร้างความเกลียดชังน่าเป็นห่วง ยิ่งเข้าสู่โหมดเลือกตั้งยิ่งหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

สุณัย ผาสุข

การทำงานของนักสิทธิจะยากยิ่งขึ้น เมื่อมีการฟ้องปิดปากมาใช้ควบคู่ด้วย

เป็นอีกเรื่องที่น่าห่วง การทำงานของนักสิทธิในยุคแบบนี้ยากอยู่แล้วโดยสภาพธรรมชาติ การฟ้องปิดปากเป็นปัจจัยเสริมให้การทำงานยากขึ้นไปอีก รัฐบาลคสช.ชอบไปรับปากที่โน่นที่นี่ เรื่องฟ้องปิดปากก็ไปรับปากว่าจะแก้ไขโดยใส่เข้าไปในกรอบของธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็ฟ้องกันระนาวเลยและผู้นำรัฐบาลยังไม่มีการประกาศท่าทีว่าไม่เห็นด้วย หลายกรณีไม่ได้ฟ้องผ่านอัยการ แต่รัฐบาลสามารถประกาศเจตจำนงได้ว่าไม่สนับสนุนให้มีการดำเนินการฟ้องในลักษณะที่เป็นการตอบโต้ล้างแค้นเอาคืนกัน เมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลก็จะมีผลเรื่องการรับฟ้อง รัฐบาลพูดได้โดยไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการประกาศนโยบายให้รับรู้ในที่สาธารณะ แต่ก็ไม่ทำ

ที่หนักกว่าคือเจ้าหน้าที่รัฐไปฟ้องเอง

นี่ก็สะท้อนถึงความย้อนแย้งว่าสัญญาไว้แต่พฤติกรรมตรงกันข้าม

นักสิทธิมนุษยชนหลายคนพูดมาตลอดว่า จะรัฐบาลไหนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้ดีขึ้น คิดว่าหลังเลือกตั้งจะส่งผลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไหม

ต่อให้รัฐบาลห่วยยังไง แต่หากสภาพแวดล้อมเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เสรีภาพการแสดงออกไม่ถูกปิดกั้นจะสามารถเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลได้ ถูกกระทำแล้วไปเรียกร้องความยุติธรรมทวงความรับผิดชอบได้ การเปลี่ยนสู่รัฐบาลพลเรือนยังไงก็เปิดโอกาสมากกว่า แต่ต้องไม่ใช่รัฐบาลพลเรือนแบบซ่อนรูปที่มีทหารชักใยอยู่ข้างหลัง ผมยังห่วงว่าการเลือกตั้งจะนำมาสู่ความขัดแย้ง การเผชิญหน้า การปราบปราม ห่วงมากที่ทุกพรรคการเมืองยังไม่มีจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนว่า แต่ละพรรคขอ 10 ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จะแก้ไขได้ไหม แค่นี้ยังไม่เห็น ก่อนหน้านี้อาจจะอ้างได้ว่ายังไม่หาเสียง แต่ตอนนี้ทำนโยบายได้แล้วควรสื่อสารให้ชัด เรื่องความยุติธรรมมีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องมีคนรับผิด เรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นต้องแสดงได้แค่ไหน ก็ยังไม่มีใครพูด

การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนว่าการจัดความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ประเด็นสิทธิ พรรคการเมืองเหมือนติดหล่มว่าขอให้เลือกตั้งให้ได้เพราะดันมานาน พอได้วันเลือกตั้งชัดๆ แล้วก็ติดอยู่ว่าต้องรณรงค์เลือกตั้ง ในยุคปกติเราจะเห็นการทำนโยบายมิติต่างๆ แล้วมาฟังความคิดเห็นกัน ตอนนี้ไม่ค่อยเห็นมุมนั้นเพราะทำแต่เรื่องปลีกย่อย เช่นคุยเรื่องการศึกษาก็แยกส่วนอยู่ในกล่องหนึ่ง ไม่ใช่ภาพรวมว่าตอนนี้แผนที่สิทธิมนุษยชนในระดับประเทศเป็นยังไงแล้วค่อยมาดูกล่องเล็กแต่ละกล่องว่าโยงกันยังไง ตอนนี้พูดเรื่องภาคใต้ก็จะอยู่ในกล่องหนึ่ง เรื่องยาเสพติด, สิทธิสตรี, LGBT, เด็ก หรือสิ่งแวดล้อม ก็แยกกล่องกันไม่ได้โยงกับส่วนอื่น

คิดยังไงกับนักสิทธิมนุษยชนที่มองแค่ประเด็นตัวเอง โดยแยกส่วนกับสิทธิทางการเมือง บางคนสนับสนุนรัฐประหารด้วยซ้ำ ประเทศอื่นมีสภาพแบบนี้ไหม

มีครับ แต่ไม่เหมือนไทยที่ดูจะประเจิดประเจ้อมากที่สุดแล้ว ช่วงก่อนและหลังรัฐประหารใหม่ๆ นี่ชัดเจนมาก พอผ่านมาเกือบ 5 ปีเขาก็ได้รู้ แต่คนเหล่านี้ออกมาขอโทษสังคมอย่างจริงจังแล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไหม เขาใช้วิธีเนียนๆ สายลมแสงแดดลาเวนเดอร์ไป อย่างเรื่องการสรรหา กสม. ชุดใหม่ คนที่สมัครกสม.ไม่มีใครตั้งคำถามกับพ.ร.บ.กสม.ที่ดันมาโดยคสช.เลยว่าทำให้ทำงานไม่ได้ ไม่ต้องบอกว่าเข้าไปแล้วจะเน้นวาระอะไร แค่กรอบที่เป็นอยู่มันทำงานไม่ได้ต้องแก้ไขโดยด่วนก็ยังไม่พูดเลย การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แทบจะเกิดขึ้นรายวันก็ไม่มีการแสดงความคิดเห็นจากว่าที่ กสม. เหล่านี้ เป็นคำถามว่าตอนนี้ไม่มีหัวโขนยังไม่มีท่าที ใส่หัวโขนแล้วจะยิ่งจำกัดกว่านี้หรือเปล่า

การเลือกข้างแบ่งฝ่ายในวงการสิทธิมนุษยชนและเอ็นจีโอไทย กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสะท้อนออกมาแทบทุกมิติที่เอ็นจีโอเกี่ยวข้องว่าคุณอยู่ข้างไหน ผิดพลาดแล้วก็ไม่ยอมรับผิดกัน ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

คิดว่าการที่นักสิทธิในไทยไม่เป็นที่รักของทุกฝ่ายเพราะอะไร

มีหลายส่วน ประเด็นที่ 1 การทำงานด้านสิทธิเป็นการเปิดโปงชี้ให้เห็นว่าอะไรไม่ชอบมาพากล อยู่นิ่งๆ แล้วไปเขย่าให้ขุ่นทำไม ทำให้คนไม่ชอบหน้า ประเด็นที่ 2 สิ่งที่ถูกปลูกฝังทางความคิดกันมาว่าพวกนี้เป็นตัวปัญหา การเขย่ามันน่ารำคาญ แต่ยกระดับจากน่ารำคาญเป็นปัญหา ถ้าปัญหาเบาก็แค่เป็นตัวป่วน แต่ปัญหาหนักอย่างพวกผมโดนคือเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นศัตรูของชาติ พวกทรยศขายชาติ เป็นแบบสุดโต่งไป ประเด็นที่ 3 โครงสร้างรัฐไม่ได้เปิดรับการตรวจสอบตรวจทาน ไม่มีหลักความรับผิดชอบ ไม่เชื่อเรื่องธรรมรัฐ ก็จะตอบโต้เอาคืน

ส่วนแรกที่บอกว่าเป็นพวกเขย่าให้น้ำขุ่น แก้ได้ด้วยการทำความเข้าใจกับสังคมว่าเป็นการเขย่าเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม แต่จะมีความน่าเชื่อถือก็ต่อเมื่อทำโดยไม่เลือกข้าง ช่วยทุกคน ทำทุกปัญหา ให้ความสำคัญเหมือนกัน สังคมไทยยังทำไม่ได้เพราะเอ็นจีโอกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกข้าง ถ้าก้าวข้ามประเด็นนี้จะสามารถทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ ผมพูดมาตลอดว่าสิทธิมนุษยชนไม่มีสีไม่มีข้าง สิ่งนี้ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำของนักสิทธิในสังคมไทย ต้องทำให้เห็นว่าไม่มีสีไม่มีข้างอย่างแท้จริง อีกส่วนคือการเปิดพื้นที่สื่อให้เอาข้อเท็จจริงมาสู้กับเฟคนิวส์ แต่ก็ยังเป็นการป้อนข้อมูลจากแต่ละฝั่งให้เป็นศัตรูกัน อย่างผมก็ถูกเกลียดจากทั้งสองฝั่งในแต่ละช่วง สีนี้ชุมนุมก็จะเกลียดเราเพราะเราตรวจสอบเขา เหลืองก็เกลียด แดงก็เกลียด เคยถูกวิ่งไล่กระทืบแล้วมีคนมาช่วยโดยให้เหตุผลว่า “ไอ้นี่ทุกคนเกลียดหมด อย่าไปกระทืบมันเลย” บรรยากาศคลี่คลายทุกคนฮากันหมดพากันหันหลังกลับ ปล่อยมันไปเถอะ สะท้อนว่าพวกที่ตรวจสอบคือตัวปัญหา เห็นได้ชัดว่าเขามองเรายังไง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save