fbpx
New Year : No-solution? - ปีใหม่ที่ไร้อนาคต?

New Year : No-solution? – ปีใหม่ที่ไร้อนาคต?

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ยศธร ไตรยศ ภาพ

1

ถนนมิตรภาพ

12 ชั่วโมง คือสถิติสุงสุดที่ฉันเคยนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ กลับขอนแก่น จากปรกติที่เคยวิ่งได้สบายๆ 6 ชั่วโมง บนระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร รถทัวร์แปลงร่างเป็นหอยทาก และถนนก็กลายเป็นพื้นโคลนหนึบไปโดยปริยายในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่

นับตั้งแต่เข้ามาเรียนกรุงเทพฯ เมื่อ 10 ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ถนนมิตรภาพเคยติดยังไงก็ติดอย่างนั้น โชคดีที่มีเครื่องบินโลว์คอสต์ ช่วง 3-4 ปีมานี้จึงไม่ต้องไปติดแหง็กอยู่บนท้องถนน อันที่จริงก็เพราะมีทางเลือก เลยเลือกที่จะไม่ไปทรมานบนรถทัวร์ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องทนอยู่ท้ายกระบะหรือบนรถทัวร์ในช่วงวันหยุดยาวเป็นเวลากว่าสิบยี่สิบปี เพราะชีวิตไม่มีทางให้เลือกขนาดนั้น

ภาพไฟท้ายสีแดงเรียงกันเป็นแถวยาว ถนนที่สร้างทั้งปีทั้งชาติจนเหลือเลนวิ่งแค่นิดเดียว ปั๊มน้ำมันที่คนแน่นขนัด ผู้คนนอนบนฟูกท้ายกระบะรับลมจนผมปลิวไสว และรถที่จอดบนไหล่ทาง ครอบครัวล้อมวงปูเสื่อนั่งจกส้มตำกันเพราะไปต่อไม่ได้ เป็นภาพที่คุ้นตาจนฉันแทบไม่รู้สึกอะไร แต่พอมาถึงวันนี้ คิดดูอีกที ภาพเหล่านี้ช่างสะท้อนความบิดเบี้ยวของโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมได้อย่างน่าหดหู่ใจ

ผู้คนจำนวนมหาศาลไม่เคยได้อยู่บ้าน กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองหลวงของความหวัง รับเอาคนทั้งมวลเข้ามาหางานและเงิน เมื่อถึงวันหยุดยาวทีหนึ่ง ผู้คนก็กลับบ้านของพวกเขา หอบเอาความคิดถึง เอา ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ และ ‘หวังว่าจะดีขึ้น’ กลับไปฝากครอบครัว ฉลองจนอิ่มหนำ แล้วขับรถกลับมาสู้ต่อที่กรุงเทพฯ เริ่มทำงานหลังหยุดยาว ใช้ชีวิตเหมือนเดิม จนดูเหมือนว่าวันหยุดที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น เส้นแบ่งปีใหม่เป็นเพียงเส้นสมมติที่ทำให้เราทั้งมวลบอกตัวเองว่า เราจะเริ่มใหม่ เราจะดีขึ้น เราจะวางแผน และปีนี้จะต้องดีกว่าเดิม ทั้งที่ความจริงเราอาจจะกำลังไต่ทางไปอย่างช้าๆ เหมือนรถบนถนนมิตรภาพในวันหยุดยาวก็ได้

ถนนมิตรภาพ

2

ยามเหงา

“ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 17 หอบของขึ้นรถไฟมา ทำมาแล้วทุกอย่าง ช่างก่อสร้าง หนุ่มโรงงาน ขับแท็กซี่ ขับวิน จนตอนนี้มาเป็นยาม ก็ยังไม่รวยสักที” ลุงยามพูดทีเล่นทีจริง ระหว่างที่นั่งคุยกัน ลุงยามกดปุ่มเปิดไม้กั้น ลุกขึ้นตะเบ๊ะให้รถที่ขับเข้ามาในคอนโด เรียงกันคันแล้วคันเล่าในช่วงเย็นหลังเลิกงาน

“ตอนกลางวันนี่สบายหน่อย เงียบ แต่พอตกเย็นนี่แทบไม่ได้นั่ง แต่มันก็สบายกว่าอาชีพอื่นน่ะนะ ยามเนี่ย” ลุงยามพูดหลังจากขบวนรถห่างหายไปแล้ว อากาศตอนเย็นลมกำลังดี ฉันนั่งดื่มน้ำส้มตรงป้อมยาม มองคอนโดสูงชะลูดที่ตั้งห่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินไม่กี่อึดใจเดิน

“คุณว่าราคาเท่าไหร่ ไอ้คอนโดเนี่ย” จู่ๆ ลุงยามก็ถามขึ้น ฉันไม่แน่ใจว่าถามเพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว หรือถามเพราะอยากให้ฉันประเมินให้ฟังจริงๆ

“น่าจะ 3-4 ล้านได้มั้งคะ” ฉันเดา

“แล้วคุณว่าต้องหาเงินสักกี่ปีถึงจะซื้อได้ อย่างผมเนี่ยซื้อได้มั้ย” พูดจบแล้วก็หัวเราะเสียงดังกับมุกตลกที่คล้ายไม่มีวันเป็นจริง ฉันยิ้มพลางคิดในใจ “อันที่จริง ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองจะซื้อได้” แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป

ลุงยามเล่าให้ฟังว่าทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เงินเดือนรวมๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 9,000-12,000 บาท รวมค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ที่เหลือส่งกลับบ้านให้ครอบครัวและเก็บไว้ใช้เอง หวังว่าวันหนึ่งถ้ามีเงินก้อนมากพอ จะกลับไปทำสวนของตัวเองที่บ้าน

“ผมหวังแบบนี้มา 20 กว่าปีแล้ว” คุณลุงว่า “ตอนหนุ่มผมเกเร ทำผิดพลาดเยอะ ใช้เงินทิ้งขว้าง ติดพนัน ติดเที่ยว พอมีครอบครัวขึ้นมา ภาระรับผิดชอบก็เยอะขึ้น ผมเจอลูกชายปีละครั้งสองครั้ง ตอนนี้เขาอยู่บ้านต่างจังหวัดกับแม่ กลายเป็นว่าเราไม่ได้หาเงินเพื่อตัวเองคนเดียวแล้ว ตอนนี้ก็รอวันลูกเรียนจบเท่านั้นแหละ”

ปีใหม่ที่ผ่านมา เขาไม่ได้กลับบ้าน อยู่เฝ้ายามที่คอนโดฯ เพราะได้รับค่าจ้างต่อวันมากกว่าเดิม 2 เท่าในช่วงวันหยุดยาว ฉันถามว่ามองอนาคตปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงยังไงบ้าง ลุงยามตอบสั้นๆ ว่า “มีงานทำ ผมก็โอเคแล้วนะ”

เมื่อได้คุยกับพนักงานรักษาความปลอดภัยหน้าคอนโด ฉันนึกถึงลุงยามคนหนึ่งที่หน้าอพาร์ตเมนต์เก่าของตัวเอง เขามีมุมทำงานเรียบง่าย แค่พัดลมตัวเล็กกับทีวีจอเล็ก พร้อมที่นั่งใต้ร่มสีขาว ก็ทำให้ทั้งวันสมบูรณ์แบบ ลุงยามจะลุกออกมาจากที่นั่งเฉพาะตอนโบกรถที่ถอยยากๆ ที่เหลือนั่งดูทีวี ยิ้มแย้มแจ่มใส และในบางครั้งหน้าก็แดงก่ำด้วยฤทธิ์เหล้า

ลุงยามคนนี้พักอยู่บ้านไม้ท้ายซอยตัน เป็นบ้านไม้เก่าทาสีเขียวซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นไม้ร่มรื่น กิ่งไม้ปกคลุมบ้านจนตอนกลางคืนไม่ค่อยมีใครกล้าเดินเข้าไป มีเพียงแสงไฟสีส้มจางบนกำแพง ที่นี่แบ่งห้องเช่าในราคาเดือนละ 500-1,000 บาท นับว่าถูกมากเท่าที่หาได้ในกรุงเทพฯ แต่แน่ละ ต้องใช้ห้องน้ำรวม ลืมเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องปรับอากาศไปได้เลย ส่วนมากคนที่เช่าอาศัยเป็นยามและคนขับแท็กซี่ ฉันเคยขับรถเข้าไปจอดในซอยนั้น หมาดุชนิดที่ว่าวิ่งกวดเราตั้งแต่ท้ายซอยแบบไม่ลดละ ถ้าเลือกได้ ฉันจึงไม่เข้าไปในซอยนั้นอีกเลย

วันหนึ่งที่ฝนตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตา ฉันต้องยืนรอให้ฝนหยุดใต้ร่มสีขาวของลุงยาม เราคุยกันเป็นภาษาอีสาน ถามสารทุกข์สุขดิบทั่วไป

“คิดสิอยู่กรุงเทพฯ โดนบ่จ้า” ฉันถาม

“กะโดนอยู่ จนกว่าหนี้สิหมดพู่นล่ะ”

จบประโยคฉันเงียบไป เพราะไม่รู้จะตอบอย่างไร

“สู่มื่อนี้ กะขอเงินลูกเอา ลูกซายเฮ็ดงานอยู่พัทยา”

ฉันเงียบ รอฟังต่อ ก่อนที่แกจะพูดออกมาเบาๆ

“มันเป็นกะเทย แต่งโตให้เขามาถ่ายรูป กะได้เงินหลายอยู่” เสียงฝนดังกลบช่องว่างของบทสนทนา ฉันพยักหน้ารับแล้วหันไปมองม่านฝน

เราจากบ้านมาเหมือนกัน แต่รูปแบบชีวิตแตกต่างกันจนน่าใจหาย อันที่จริงมนุษย์ก็เป็นเช่นนี้ มีความแตกต่างหลากหลาย มีชีวิตคนละรูปแบบ แต่ในประเทศไทย คุณภาพชีวิตของประชากรบางส่วนก็หนักหนาเกินไปจริงๆ และความหวังในการเลื่อนชนชั้นก็แทบจะมีความหวังเดียวคือการซื้อหวย เพราะการจะขยับฐานะขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะทำมาหากินจนเลือดตาแทบกระเด็น แต่เงินก็ไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้คนตัวใหญ่ และพื้นที่สำหรับคนการศึกษาน้อยก็หดแคบลงเรื่อยๆ ในโลกยุคใหม่

ฉันถามลุงยามหน้าอพาร์ตเมนต์ว่า คิดว่าเมื่อไหร่จะได้ ‘กลับบ้าน’ จริงๆ เสียที ลุงยามตอบว่า

“มื้อได๋ถืกรางวัลที่ 1 มื้อนั่นละสิได้กลับบ้าน”

3

ก่อร่าง-สร้างตัว

แม้จะมีตัวเลขบอกว่าอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 3.7 แสนคนในไทย แต่ในความเป็นจริง แม้คนที่มีงานทำก็ใช่ว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี คำว่า ‘งาน’ ไม่ได้หมายความถึง ‘เงิน’ อย่างที่พูดๆ กัน เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน แต่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มตาม ยังไม่นับภาระของชีวิตที่ทุกคนต่างต้องใช้จ่าย และความพอเพียงอาจไม่ใช่ทางออก เพราะรายรับเท่าที่มีก็แทบไม่เพียงพอแล้ว

ช่างหลายคนในไซต์งานก่อสร้างบอกกับฉันว่า ไม่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองจะดีขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่ได้แย่จนไร้ความหวัง พวกเขาสร้างบ้านชั่วคราวอยู่ใกล้ไซต์งาน บางหลังใช้ป้ายหาเสียงเป็นผนังบ้าน ฉันได้แต่นึกสงสัยว่าพวกเขาไปเอาป้ายพวกนี้มาจากไหน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่มีเลือกตั้งมากว่า 7 ปีแล้ว บางไซต์ทำเป็นบ้านสำเร็จรูปเคลื่อนย้ายได้ ใช้โครงสร้างเหล็กและผนังอลูมิเนียม เสร็จโครงการนี้ ไปต่อโครงการหน้า สร้างอาคารใหญ่โต ตกค่ำก็กลับไปนอนในห้องขนาดเล็ก

คุณป้าบางคนในไซต์งาน บอกว่าแวะมาทำงานก่อสร้าง 6 เดือน อีก 6 เดือนกำเงินกลับบ้านไปทำนาและไร่อ้อย รายได้ก็คุ้มที่จะแลก สิ่งเดียวที่น่ากังวลคือถ้าเศรษฐกิจไม่ดีมากๆ งานก่อสร้างก็แทบจะหดหาย  มากกว่าสองครั้งที่คุณป้าและคนงานคนอื่นต้องกลับบ้านไปก่อนที่โครงการจะสร้างเสร็จ เพราะถูกระงับโครงการ

ความไม่แน่นอนเหล่านี้ คล้ายฟ้าฝนและผลผลิตทางเกษตรกรรม แม้จะอยากวางแผนอนาคตให้แม่นยำแค่ไหน แต่ความผันผวนทางเศรษฐกิจก็โยกหลอกจนเราแทบไม่กล้าทำอะไร บางครั้งก็ดีใจหาย แต่ยามร้ายก็เกินจะรับมือ

ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา มีตัวเลขชี้ว่าอัตราการก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างคอนโดมีเนียมประเภทที่อยู่อาศัยมากกว่า 16 ชั้นยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ปรับตัวลง ส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจก็ขยายตัวได้ดี เช่น โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าพื้นที่กรุงเทพฯ และมีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2019 ที่กำลังมาถึง

ชีวิตคนต่างจังหวัดหลายคนจากที่คุยด้วย มักจะทำงานสลับระหว่างภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม งานเดิมงานเดียวไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ผู้คนต้องทำงานผสมผสานหลายอย่าง หาเงินทุกทางเพื่อพยุงให้ชีวิตอยู่ได้และดีขึ้น และช่องทางไหนที่เปิดอยู่ ผู้คนก็จะแห่แหนเข้ามาเป็นเรื่องธรรมชาติ

คนไร้บ้าน

4

อิสรชน คนฟรีแลนซ์

ไม่เสมอไปหรอก ที่เรียนสูงแล้วจะรอด มนุษย์ย่อมมีปัญหาเป็นของตัวเอง

คนรุ่นใหม่หลายคนมีความฝัน จบใหม่ อยากเป็นอิสระ หรืออยากครอบครองวันเวลาที่ได้ทำตามใจตัวเองเต็มที่ ทำให้อาชีพฟรีแลนซ์เป็นเทรนด์ใหม่ของไทยและของโลกมาหลายปี สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และลักษณะการใช้ชีวิตของผู้คน

ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 20.8 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม แต่ยังมีกลุ่มคนฟรีแลนซ์รุ่นใหม่ที่ทำงานรับจ้างทั่วไปตามความถนัดซ่อนอยู่ในจำนวนเหล่านี้ และถึงแม้จะดูเหมือนชีวิตไม่แน่ไม่นอน หลายคนก็พร้อมจะกระโจนลงมาในสนามฟรีแลนซ์ เพราะมีสิ่งล่อตาล่อใจอย่างคำว่า การเป็นนายตัวเอง และหาเงินได้หลายช่องทาง

มุก – นักแปล/บรรณาธิการอิสระ วัย 29 ปี ผู้บอกว่าตัวเองไม่ใช่ ‘ฟรีแลนซ์มืออาชีพ’ แค่อยู่ในช่วงพักจากงานประจำ แต่ถึงจะพูดอย่างนั้น เธอก็อยู่อย่าง ‘อิสระ’ มากว่า 2 ปี และกำลังจะเข้าสู่ระบบอีกรอบ เธอเล่าถึงชีวิตการเป็นฟรีแลนซ์ในโลกที่ผันผวน แต่ตัวเองมีนิสัยชอบความแน่นอนไว้ว่า

“ตอนออกจากบริษัทใหญ่มา โชคดีที่ได้เงินก้อนติดมาด้วย เราเลยเริ่มการเป็นฟรีแลนซ์แบบงั้นๆ มีงานจากที่เก่ามาให้ทำได้เรื่อยๆ เป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่กระตือรือร้นหาคอนเนคชันเท่าไหร่ รู้สึกเลยว่าชีวิตเปลี่ยนไปในด้านสังคม ตอนทำงานประจำเราใช้ชีวิตด้านเดียวจริงๆ บันเทิงบ้าง แต่พอเหนื่อยจากงานหมดไปวันนึง ก็ไม่เหลือพลังไปทำอย่างอื่นเลย แต่พอเป็นฟรีแลนซ์ ตารางเวลาอยู่ที่ตัวเองล้วนๆ เรามีโอกาสไปใช้ชีวิตด้านอื่นด้วย เริ่มฟังเพลงที่ไม่คิดจะฟัง ดูหนังที่ไม่คิดจะดู ใช้ข้ออ้างพวกนี้เวลาเครียดกับงาน”

ปัญหาใหญ่ของคนทำงานฟรีแลนซ์คือเรื่องการอยู่คนเดียวมากเกินไป และการจัดการเงิน ซึ่งมุกก็มิใช่ข้อยกเว้น

“การทำงานคนเดียวโดยไม่เจอะเจอผู้คนมีทั้งดีและร้าย เราอยู่กับมันเท่าที่อยากอยู่ และผละจากมันบ้าง เอาเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่เราคุยกับคนน้อยลงทุกทาง ไม่ว่าการเจอหน้ากันจริงๆ หรือโซเชียลมีเดีย ช่วงปีแรกคือเอนจอยที่สุด อยากอยู่กับตัวเองคนเดียว ตามใจตัวเองขั้นสุด จนระยะหนึ่งรู้สึกว่าไม่โอเคแล้ว

“เอะอะพอเครียดก็หนีไปเที่ยวยาวๆ บอกตัวเองว่าคือการพัก แต่หลังจบทริปก็สภาพเดิม เพื่อนเริ่มชวนให้เอางานออกไปทำด้วยกัน เจอหน้ากันบ้าง คงห่วงแหละว่าเราจะบ้าเอา เป็นอยู่อย่างนี้จนเข้าปีที่สอง บอกตัวเองว่าระยะทดลองนี้ควรจบได้แล้ว รู้สึกด้วยว่าตัวเองเป็นคนไม่มีความพอดี ตอนทำประจำก็มีแต่งาน พอออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็โลดโผนกับการเปิดโลกใหม่ ซึ่งเรายินดีมากจริงๆ นะกับสิ่งใหม่ในช่วงนี้ แต่มันควรพอแล้วแหละ เพราะใช่ว่าจะไม่รู้ตัวเองว่าไม่เหมาะกับสถานะฟรีแลนซ์เอาเสียเลย รู้ตัวว่ารักความมั่นคง ความสม่ำเสมอ และต้องกลับสู่ลูปงานประจำได้แล้ว”

“วันนึงงานก็จะหมด เงินก็จะหมด เมื่อนั้นความลนลานประสาทกินจะเริ่มทำงาน และบางทีผลของมันน่าจะรุนแรงกว่าความเครียดของงานประจำอีก เพราะเคว้งกว่ากันมาก”

ในภาวะที่รัฐบาลแถลงว่าตัวเลขเศรษฐกิจยังดีอยู่ แต่ในความเป็นจริง คนที่อยู่ในวัยกำลังสร้างตัวกลับต้องเจอภาวะเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้กับชีวิต และเรื่องแบบนี้ฉายชัดในชีวิตของใครหลายคน

“ช่วงเป็นฟรีแลนซ์เป็นช่วงที่ติดตามอ่านข่าวสารทั่วโลกเยอะมาก สนใจไปหมด และเริ่มเห็นว่าความไม่พอใจในชีวิตเราใหญ่กว่าแค่ทำมาหากินแล้วนะ เรากังวลอะไรมากกว่านั้น เราไปดูสารคดี Where to Invade Next แล้วก็ได้แต่ช้ำใจ เราไปเที่ยวประเทศอื่นมาบ้าง ทั้งเจริญและไม่เจริญ แต่เราช็อกว่าสิ่งที่จำเป็นในชีวิต เรากลับขาดมาทั้งชีวิต ที่จริงคนทั้งประเทศก็ขาดด้วยนั่นแหละ”

“จริงๆ ทุกคนคงถามเหมือนที่ถามนั่นแหละ ว่าชีวิตจะเอาไงต่อ จะไปทางไหน จะรอดมั้ย แต่จะเอาคำตอบที่ไหนได้”

คำว่า ‘รอด-ไม่รอด’ เป็นคำที่คนหนุ่มสาวตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยครั้ง และเช่นกันที่พวกเขาตั้งคำถามกับประเทศที่พวกเขาอยู่ อนาคตของพวกเขาในบ้านนี้เมืองนี้จะเป็นอย่างไร ฉันถามไปว่า เรื่องสังคมการเมืองส่งผลต่อชีวิตขนาดไหน หรือไม่กระเทือนเลยแม้แต่น้อย คำตอบสั้นกระชับและฉับไวบอกว่า “ส่งผลสิ”

“อย่าไปใส่คำว่าการเมือง มันก็คือเรื่องการใช้ชีวิตเลยนะ ไม่ใช่ใกล้ตัวแต่เป็นชีวิตในชีวิตเลย สมมติเราเป็นโปรแกรมที่รันบนเครื่องพีซีเก่าๆ เรารู้แหละว่าถึงเวลาก็ต้องอัพเกรดตัวเองไปตามวาระ แต่ว่าเครื่องพีซีเก่าๆ รวนมากแล้ว มันจะไม่พังได้เหรอ เราต้องพัฒนาตัวเองแหละ หางานหาเงินเลี้ยงตัวเองไป แต่ถามว่าเราคิดว่าจะมีชีวิตที่ดีเท่าที่ควรเป็นได้มั้ย — ภาพก็ตัด จอดับเลย”

แม้ฟังดูคล้ายจะไม่ค่อยมีความหวัง แต่ในเมื่อปีใหม่มาถึง ผู้คนก็มักจะเริ่มตั้งความหวังครั้งใหม่ New Year’s Resolution กลายเป็นธรรมเนียมที่คนมักจะทำกันในช่วงปีใหม่ แต่สำหรับมุก เธอมองว่าปีใหม่ไม่มีความหมาย

“ปีใหม่ไม่มีความหมายหรอก เวลาเคยเป็นเส้นตรงแต่เบี้ยวมากเหมือนกัน หลังจากรู้ว่าถึงจุดที่ต้องตั้งหลักใหม่ ก็นั่นแหละ หางาน แต่ทัศนคติเรื่องงานของเราไม่เหมือนเดิมแล้ว เราต้องใส่ใจเรื่องความเป็นอยู่มากขึ้น จะกลับไปทำงานประจำ แต่จะไม่ใช้ชีวิตเหมือนเมื่อครั้งนู้น ใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของงานให้น้อยลง เพื่อสุขภาพจิต แล้วก็ออกไปใช้ชีวิตด้านอื่นๆ แต่ให้มีบาลานซ์กว่าตอนฟรีแลนซ์ ทั้งหมดนี้รู้สึกว่าต้องเริ่มจากศูนย์จริงๆ อย่าทำเหมือนรู้จักโลกทั้งใบมาแล้ว หมายถึงโลกของงานนะ และอย่าใช้วิธีคิดตัดสินใจแบบเดิมๆ”

สุดท้ายเมื่อให้ลองมองความหวังในปี 2019 มุกตอบว่า

“ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ด้วยตัวเอง อย่างงาน เงิน การใช้ชีวิต บอกเลยว่าคงไม่แย่กว่า 2018 อยากให้ดีขึ้นแหละ ดีขึ้นบ้างก็ดีใจแล้ว  2019 ก็ยังต้องสู้กันไป พูดอะไรคลิเช่ๆ อย่างนี้ เพราะทำได้ไม่มากกว่านี้ หวังได้ไม่มากกว่านี้”

ก่อนจบฉันลองแย้บคำถามยอดฮิตไปว่า “แล้วอยากเลือกตั้งมั้ย” คำตอบกลับมารวดเร็วอีกครั้งว่า “อยากสิ ได้เลือกครั้งสุดท้ายตอนเรียนมหา’ลัย ทะเบียนบ้านเป็นหอใน มธ. คิดดู”

ไม่ใช่แค่มุกเท่านั้นที่อยากเลือกตั้ง แต่ ทิติยา จันตะเภา เจ้าของบริษัทให้คำปรึกษาทางด้านการตลาดออนไลน์ อายุ 26 ปี ก็อยากเลือกตั้งเช่นกัน เหตุผลเรียบง่ายคือเรื่องการส่งผลต่อธุรกิจ

“ถ้าปีนี้มีการเลือกตั้งจริง มีอนาคตใหม่ๆ ให้ประเทศ มีนโยบายดีๆ ก็น่าจะส่งผลกับธุรกิจในทางที่ดี ถ้าจะให้หวังอะไรในปี 2019 ก็น่าจะเป็นการเลือกตั้งนี่แหละ”

“ตอนนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน ดูท่าการเลือกตั้งก็เริ่มสั่นคลอน ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะคุยกับ กกต. มั้ย ช่วยกันหารือ หาทางออกเพื่อประชาชนรึเปล่า ซึ่งคิดว่าน่าจะส่งผลต่อธุรกิจแน่นอน เนื่องจากถ้าหากยังไม่มีการเลือกตั้ง ไม่แน่อาจเกิดการชุมนุม เลวร้ายที่สุดก็อาจเกิดความรุนแรงขึ้นอีก ทีนี้ประชาชนก็จะไม่ค่อยกล้าจับจ่ายใช้สอย ถ้าธุรกิจลูกค้าที่ดูแลอยู่ขายไม่ดี ก็จะส่งผลกับสัญญาการว่าจ้างด้วย”

ความหวังของหลายคนฝากไว้กับการเลือกตั้ง เพราะนั่นหมายถึงการเปิดศักราชใหม่ที่เราไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่อีกบ้าง สิ่งที่เคยหลับใหลอาจจะตื่นฟื้น ความหวังที่เราคิดว่าไม่มี อาจจะผุดขึ้นมาให้ได้ชื่นใจบ้าง

5

ยังชีพ

ถัดจากการมองอนาคตแบบคนรุ่นใหม่ เรายังมีอนาคตของผู้สูงอายุที่เป็นคลื่นใหญ่รออยู่

ถ้าไม่ใช่ข้าราชการที่ได้เงินบำเหน็จบำนาญ ไม่ได้ทำประกันชีวิต และไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจหลายล้าน หากคุณอายุ 60 และมีเงินเก็บไม่มากพอ คุณจะมีที่พึ่งคือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาลเดือนละ 600 บาท และนั่นอาจซื้อข้าวได้แค่ 10 มื้อในหนึ่งเดือน

ผู้สูงอายุหลายคนเริ่มหาที่ทางในวัยเกษียณ บ้างทำบ้านสวน บ้างหาชมรมเข้ายามว่าง และบ้างก็อยากให้ลูกมีหลานไวๆ แต่ก่อนที่จะทำแบบนั้นได้ คุณต้องมีเงินเหลือกินเหลือใช้ก่อน จึงจะอยู่ในโลกได้อย่างสบายใจโดยที่ไม่ต้องทำงาน ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุควรอยู่ได้ด้วยรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมการดูแลประชากรของรัฐในทุกด้านของชีวิต

ผลจากการสำรวจประชากรไทยในปี 2017 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประประชากรทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจก็คือแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจากบุตร (ร้อยละ 34.7) ถ้าดูอัตราการพึ่งพิงแล้วจะพบว่า ประชากรวัยทำงาน 100 คน จะต้องรับภาระประชากรสูงอายุและวัยเด็ก 51 คน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 64 คน ในปี 2027 สิ่งนี้หมายถึง คนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูคนชรา ในขณะเดียวกันก็ยังต้องต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจ ความคล่องตัวทางการเงิน และสร้างชีวิตตัวเองขึ้นมาด้วย

การ ‘ยังชีพ’ ให้ได้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัยและทุกอาชีพที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองให้ได้

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่โลกผันผวน จีนกับสหรัฐเปิดสงครามเศรษฐกิจกันอย่างชัดเจน ขณะที่ยุโรปก็มีปัญหา ที่ฝรั่งเศสมีประท้วง ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องหาที่อยู่ ในขณะที่ประเทศไทยก็ยังไม่มีเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2011 มีมุกตลกที่น่าเศร้าบอกว่า คนที่เกิดช่วงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายกำลังจะเข้าเรียนชั้นประถมแล้ว

บ้านเมืองดูเหมือนจะสงบ แต่เป็นความสงบราบคาบ หากถามฉันว่ามีความเห็นอย่างไรต่อปี 2019 — เราอาจรถติดในวันหยุดยาวมานานเกินไปแล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save