fbpx
เมื่อเรือนจำ ‘เจ็บป่วย’ : มองปัญหาสุขภาพหลังม่านลูกกรง

เมื่อเรือนจำ ‘เจ็บป่วย’ : มองปัญหาสุขภาพหลังม่านลูกกรง

คุณนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึง ‘คุก’ หรือ ‘เรือนจำ’ ?

กำแพงหนา รั้วสูง ผู้ต้องขัง ความแออัด หรือความป่วยไข้

คำตอบที่ได้อาจหลากหลาย แต่เชื่อว่า เมื่อพูดถึงเรือนจำ ร้อยทั้งร้อยย่อมมีความคิดที่ค่อนไปทางด้านลบมากกว่าบวก เพราะภาพมายาคติที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมานานทำให้เรามองว่า เรือนจำเป็นสถานที่ไว้ลงโทษ ดัดนิสัย และกักขังผู้กระทำความผิด

เมื่อมองเช่นนี้ ผู้ต้องขังจึงมักจะถูกโดดเดี่ยวจากสังคม ถูกลิดรอนอิสรภาพและริบเอาสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่างที่พวกเขาพึงได้รับ รวมถึงเรื่องการให้บริการสุขภาพ ที่แม้จะมีข้อกำหนดให้เรือนจำปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยมาตรฐานที่ทัดเทียมกับสังคมภายนอก แต่ในทางปฏิบัติ ปัญหาสุขภาพในเรือนจำกลับเป็นปัญหาที่ถูกละเลยหรือมองข้าม

จากรายงาน Global Prison Trend 2019 ที่จัดพิมพ์โดย Penal Reform International (PRI) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พบว่า ผู้ต้องขังมีอัตราการเกิดโรค การใช้สารเสพติด และภาวะปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักมาจากพื้นที่บริเวณชายขอบ หรือพื้นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน ทำให้มีภาวะขาดสารอาหาร และมีโอกาสเกิดโรคติดต่อกันได้ง่าย

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ ระบบการให้บริการด้านสุขภาพในเรือนจำยังถูกจำกัดอยู่มาก ซึ่งนับว่าเป็นสาเหตุหลักที่มีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ สาธารณูปโภคภายในเรือนจำที่ปราศจากความละเอียดอ่อนในเรื่องเพศภาวะ ทำให้กลุ่มเปราะบางในเรือนจำ เช่น ผู้หญิง ต้องได้รับผลกระทบมากกว่า ก่อเกิดเป็นความป่วยไข้ที่ถูกกำแพงของเรือนจำบดบังเอาไว้

101 ชวนคุณสำรวจปัญหาสุขภาพที่ถูกละเลยหลังกำแพงสูงและรั้วลวดหนามของเรือนจำ ผ่านรายงาน Global Prison Trend 2019 และแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหา ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของกลุ่มเปราะบางในเรือนจำ ปิดท้ายด้วยความพยายามและแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำให้ดีขึ้น


เมื่อปัญหาสุขภาพกลายเป็นเรื่องปกติในเรือนจำ


การไม่ได้รับอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอ น้ำดื่มไม่สะอาด สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดยัดเยียด หรือแม้แต่การไม่ได้รับแสงแดดและอากาศที่บริสุทธิ์ ทั้งหมดนี้อาจดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับชุมชนทั่วไป แต่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในเรือนจำส่วนใหญ่ทั่วโลก

ที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะเข้ามาปฏิรูปเรื่องนี้ เช่น ‘ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (The Revised UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners)’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ข้อกำหนดแมนเดลลา (Nelson Mandela Rules)’ ที่กำหนดให้รัฐต้องรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง และได้รับบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับคนทั่วไป ข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) ที่กำหนดให้เรือนจำต้องมีการให้บริการด้านสุขอนามัยและสุขภาพขั้นพื้นฐาน และครอบคลุมความจำเป็นทางเพศภาวะทางร่างกายและจิตใจ

นอกจากข้อกำหนดแมนเดลลาและข้อกำหนดกรุงเทพแล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ยังได้เน้นย้ำความรับผิดชอบของรัฐในการจัดการและร่วมมือในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจในเรือนจำ และจะทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่า พวกเขาสามารถเชื่อใจเจ้าหน้าที่ และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในเรือนจำให้ฟังได้ตามความเป็นจริง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ต้องขังอาจถูกทรมานหรือปฏิบัติโดยไม่ชอบ

แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง แต่การให้บริการสุขภาพก็ยังเจอกับอุปสรรคหลายเรื่อง เช่น การขาดแคลนเงินทุน และขาดแคลนเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสภาพของตัวเรือนจำที่แออัดยัดเยียด ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนทั่วไป

จากสภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งกำเนิดความไม่เท่าเทียมทั้งทางกายและทางใจ โดดเดี่ยวผู้ต้องขังออกจากโลกภายนอก และอาจส่งผลต่อกระบวนการบำบัดและกลับคืนสู่สังคมในอนาคตด้วย


เมื่ออุณหภูมิไม่ใช่แค่ตัวเลข


หนึ่งในประเด็นที่รายงาน Global Prison Trend 2019 พูดถึงไว้ได้อย่างน่าสนใจคือ อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมในเรือนจำสามารถนำไปสู่สภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของทั้งเจ้าหน้าที่และตัวผู้ต้องขัง โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีสุขภาพแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แน่นอนว่า เรื่องความร้อน (และโลกร้อน) ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ลองคิดดูว่าถ้าคุณต้องเจอกับอากาศร้อนจัด แถมยังต้องอยู่ในพื้นที่เบียดเสียด ทั้งหมดนี้สามารถนำไปสู่อารมณ์กราดเกรี้ยว สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ หรือนำไปสู่โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอากาศร้อนจัดและสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดยัดเยียด เช่น อหิวาตกโรค วัณโรค และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด คือความตาย

ในทางตรงกันข้าม ความเย็นจัดก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีเช่นเดียวกัน ผู้ต้องขังที่ต้องอยู่ในสภาวะอากาศเย็นจัดต้องทุกข์ทรมานกับภาวะตัวเย็นเกินไป (Hypothermia) หรือภาวะที่อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ต้องขังที่ขาดแคลนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

ตัวอย่างอันตรายที่สามารถเกิดได้จากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมในเรือนจำ เช่น ในปี 2011 ผู้ต้องขัง 10 คนในสหรัฐฯ เสียชีวิตเนื่องจากความร้อนจัด หรือในปี 2018 ช่วงฤดูหนาว ผู้ต้องขังนับร้อยในสหรัฐฯ ถูกขังไว้ในเรือนจำโดยไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นสัปดาห์ แน่นอนว่าผู้ต้องขังเหล่านี้ต้องเจอกับความมืด และไม่มีเครื่องทำความร้อนหรือน้ำร้อนในวันที่อากาศเย็น

ขยับเข้ามาในแถบประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างกัมพูชา มีอดีตผู้ต้องขังคนหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยชีวิตของตนเองในเรือนจำว่า เขาต้องอยู่ในห้องที่แออัดกับลูกที่เพิ่งเกิด ซึ่งห้องนั้นร้อนเหมือนห้องอบความร้อน จนเขาต้องใช้ใบปาล์ม ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอหาได้ มาพัดให้ลูกชายของเขา และแม้จะมีรูเล็กๆ ที่กำแพง แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะให้อากาศถ่ายเทเข้ามาในห้องที่แออัดยัดเยียดเช่นนี้ แน่นอนว่ามีคนร้องขอพัดลมไปแล้ว แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยมาถึง


ผู้หญิงกับความไม่อ่อนไหวเรื่องเพศภาวะในเรือนจำ


ในอดีต ผู้ต้องขังหญิงรวมถึงเด็กนับเป็นคนกลุ่มน้อยในระบบเรือนจำ หากมองในระดับโลก ผู้ต้องขังหญิงและเด็กคิดเป็นสัดส่วน 6.9% ทว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเพิ่มมากกว่า 50% ขณะที่ผู้ต้องขังชายเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งคดีที่ทำให้ผู้หญิงต้องติดคุกมากที่สุด คือคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

เมื่อจำนวนผู้หญิงในคุกเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่หรือจำนวนคุกมีเท่าเดิม ปัญหาหนึ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ทำให้เกิดสภาพแออัดยัดเยียดที่ส่งผลด้านลบต่อสุขภาพ

อีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ คุกเป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังกลุ่มใหญ่ในนั้นคือผู้ชาย คุกจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่อ่อนไหวต่อเพศภาวะ และละเลยความต้องการเฉพาะของผู้หญิง เช่น การมีประจำเดือน ซึ่งเรือนจำหลายแห่งไม่อาจตอบสนองความต้องการเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม หลายที่ไม่มีห้องสุขาหรือห้องอาบน้ำที่มิดชิดเพียงพอ หรือในกรณีของผู้หญิงที่เป็นแม่และมีเด็กติดผู้ต้องขัง เรือนจำหลายที่ก็ไม่ได้เตรียมห้องและสาธารณูปโภคสำหรับแม่และเด็กทารกไว้เป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กวัยแรกเกิด

สารเสพติดก็เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลเช่นกัน มีการประมาณว่า 75% ของผู้หญิงที่ถูกส่งเข้ามายังเรือนจำมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด และแม้ ‘ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United  Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures of Women Offenders)’ หรือ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules)’ ที่ถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงอย่างเหมาะสมตามเพศภาวะที่ได้รับการยอมรับกันในระดับสากล จะกำหนดให้มีโปรแกรมการรักษาพิเศษสำหรับผู้หญิงที่ใช้สารเสพติด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบเรือนจำหลายแห่งก็ไม่ได้รับประกันหรือจัดหาโปรแกรมในการรักษาดังกล่าว นี่จึงอาจจะเป็นโจทย์หนึ่งของเรือนจำทั่วโลก เพราะมีงานวิจัยพบว่า ผู้ต้องขังหญิงที่เข้าร่วมโปรแกรมรักษาพิเศษมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการบำบัดฟื้นฟูมากกว่า

อีกประเด็นสำคัญคือ ผู้ต้องขังหญิงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงมะเร็ง ซึ่งมาจากภูมิหลังของพวกเธอที่เคยใช้สารเสพติด ได้รับความรุนแรงทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงมีปัญหาทางสุขภาพจิต โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่า กลุ่มผู้ต้องขังหญิงมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง

นอกจากการขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ จะนำไปสู่สุขภาพกายที่อ่อนแอและสุขภาพจิตที่บอบช้ำแล้ว การขาดแคลนดังกล่าวยังสามารถนำไปสู่เรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบ (Abuse of Power) ของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำได้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ในเรือนจำบางคนนำเรื่องผ้าอนามัยมาอ้างเพื่อล้อเลียน หรือเพื่อที่ตนเองจะมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ต้องขังหญิง และสามารถแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองได้ เช่น จากการสืบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (United States Department of Justice: DOJ) พบว่า ผู้ต้องขังหญิงในคุกที่รัฐอลาบามา (Alabama) ถูกบังคับให้ ‘จ่าย’ หรือแลกผ้าอนามัยด้วยการกระทำในเชิงทางเพศกับผู้คุมเรือนจำ ขณะที่ในนิวยอร์ก ผู้ต้องขังต้องเก็บผ้าอนามัยที่ใช้แล้วของตนเองไว้เพื่อแลกกับผ้าอนามัยผืนใหม่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประจำเดือน สารเสพติด โรคทางเพศ หรือภาวะทางสุขภาพจิต ทั้งหมดทั้งมวลล้วนถูกบัญญัติเอาไว้ในข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อให้เรือนจำแต่ละที่นำไปปฏิบัติ แต่คำถามสำคัญคือ ระบบเรือนจำพร้อมแล้วหรือไม่ ถ้าผู้ต้องขังหญิงร้องขอการตรวจสุขภาพโดยบุคลากรสุขภาพที่เป็นผู้หญิง เรือนจำจะมีแพทย์หญิงหรือพยาบาลเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ เรือนจำสามารถจัดหาผู้หญิงมาร่วมอยู่ด้วยระหว่างการตรวจสุขภาพได้หรือไม่

คำถามเหล่านี้อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปขบคิดว่า ทำอย่างไรเรือนจำถึงจะมองเห็นความต้องการของผู้หญิง และตอบสนองต่อความต้องการพิเศษของพวกเธอได้มากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าผู้หญิงเรียกร้องมากกว่าผู้ชาย แต่พวกเธอถูกลิดรอนและมองข้ามความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะไปตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่เรือนจำ


ร่วมรักษาความป่วยไข้ในเรือนจำ : เริ่มต้นอย่างไร และเราแก้ไขอะไรได้บ้าง


แม้เรือนจำจะเป็นสถานที่ไว้ลงโทษผู้กระทำความผิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะต้องถูกลิดรอนสิทธิในเรื่องสุขภาพไปด้วย ผู้ต้องขังจำเป็นจะต้องได้รับการปฏิบัติด้านสุขภาพด้วยมาตรฐานที่ทัดเทียมกับคนทั่วไป ซึ่งจะมีส่วนช่วยเยียวยาฟื้นฟูให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีคนจากหลายกลุ่มที่สามารถเข้ามาทำงานตรงนี้ โดยกลุ่มแรกคือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง ซึ่งต้องอาศัยเงินสนับสนุน ทรัพยากร และการฝึกฝนอย่างเพียงพอ ดังนั้น เงินเดือนและสวัสดิการที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับต้องน่าดึงดูดพอที่จะรักษาคนไว้ให้มาทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน การเริ่มดูแลผู้ต้องขังก็ไม่ได้เริ่มเมื่อเกิดปัญหา แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนที่ผู้ต้องขังถูกส่งตัวเข้ามาที่เรือนจำเป็นครั้งแรก เพราะผู้ต้องขังย่อมเกิดอาการเครียดและกดดันอยู่แล้วจากการที่ต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ จึงจำเป็นจะต้องมีการตรวจประเมินทั้งทางกายและทางใจ การตรวจผู้ต้องขังแต่แรกเริ่มจะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่มีปัญหาได้อย่างทันท่วงที และยังช่วยให้ฝ่ายบริหารจัดการของเรือนจำสามารถวางแผนการจัดการและการบำบัดฟื้นฟูเป็นรายบุคคลให้กับผู้ต้องขังได้ด้วย

แม้ความเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ หลายประเทศเริ่มมีความตื่นตัวและความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางมากขึ้น เช่น ในประเทศไทย มีการนำโยคะและการฝึกไทชิ (ไทเก๊ก) มาช่วยพัฒนาสุขภาพของผู้ต้องขังหญิง และมีผู้ต้องขังหญิงจำนวน 10 คนจากเรือนจำกลางราชบุรี ที่ฝึกฝนจนกลายเป็นครูฝึก และสามารถไปสอนผู้ต้องขังหญิงที่เรือนจำอื่นต่อได้ นอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังกับผู้ต้องขัง และผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่ ให้ดีขึ้นด้วย

อีกหนึ่งในโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพผู้ต้องขังที่เราเห็นเป็นรูปธรรมคือโครงการ ‘เรือนจำสุขภาวะ’ ในประเทศไทย ที่ถูกริเริ่มและขับเคลื่อนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนวคิดเรือนจำสุขภาวะมาจากการหลอมรวมความรู้ที่ได้จากการวิจัย ทั้งเชิงนโยบายและปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เห็นแนวทางปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นสถานที่ที่มอบประสบการณ์ทางบวก ในแง่ของการให้ผู้ต้องขังดูแลสภาวะแวดล้อม และดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ

เรือนจำสุขภาวะจะบูรณาการกระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงในเรือนจำ โดยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปกติ พยายามทำให้การใช้ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากชีวิตในสังคมทั่วไปให้น้อยที่สุด เพื่อที่ผู้พ้นโทษจะได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกลับคืนสู่สังคมอีก

ในต่างประเทศก็มีความพยายามในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น ในสหราชอาณาจักร มีระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service – NHS) ซึ่งได้ออกแบบ ‘โปรแกรมนำร่องในเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิง’ เพื่อมุ่งลดการกระทำผิดซ้ำและเพื่อปรับปรุงสุขภาพกายและใจของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ โดยคัดเลือกผู้เข้ารวมที่เข้าเกณฑ์ เช่น ผู้ที่เหลือโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน และเคยเจอกับประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว การใช้สารเสพติด หรือการค้าบริการทางเพศ โดยโปรแกรมนี้จะถูกจัดการโดยทีมสุขภาพในเรือนจำ

ผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโปรแกรมจะต้องเข้าร่วมการอภิปรายกลุ่มเป็นเวลา 12 ชั่วโมง รวมถึงการสนทนาแบบตัวต่อตัวด้วย ซึ่งประเด็นที่จะพูดคุยกันจะเป็นเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะ เช่น สุขภาวะ การออกกำลังกาย การดูแลอารมณ์ของตนเอง เป็นต้น นอกจากนี้ โปรแกรมยังเปิดโอกาสให้อดีตผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษไปแล้ว ได้กลับมาถ่ายทอดประสบการณ์ก่อนและหลังการถูกปล่อยตัวด้วย จากโปรแกรมดังกล่าวพบว่าได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ และ NHS ที่อังกฤษ ยังมีแผนที่จะพัฒนาและประเมินทักษะนำร่อง ด้วยหวังว่าจะนำโปรแกรมดังกล่าวบรรจุลงระบบบริการสุขภาพในเรือนจำได้ในอนาคตอันใกล้นี้


จากสถานกักขังสู่พื้นที่เยียวยา


จะเห็นว่า ปัญหาของระบบสุขภาพในเรือนจำมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ เงินสนับสนุน และพื้นที่ที่จำกัดในเรือนจำ แต่ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ทัศนคติและมุมมองของคนภายนอกที่มีต่อเรือนจำและผู้ต้องขัง

แนวคิดที่ว่าเรือนจำเป็นสถานที่โดดเดี่ยวที่มีไว้เพียงเพื่อแยกผู้กระทำผิดออกจากสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การขาดโอกาสต่างๆ ซึ่งรวมถึงการได้รับบริการสุขภาพตามมาตรฐานที่พึงได้รับ

แต่ถ้าลองปรับเปลี่ยนมุมมอง มองว่าเรือนจำเป็นสถานที่ฟื้นฟูและเยียวยาผู้กระทำผิด เป็นสถานที่ซึ่งมอบโอกาสครั้งที่สองให้ได้กลับตัวใหม่ ก็จะเกิดพื้นที่ให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงตนเองและกลับคืนสู่สังคมได้ในที่สุด แต่การจะเยียวยาผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องรวมถึงการมีระบบสุขภาพที่ดูแลทั้งทางกายและทางใจด้วย

การมีระบบสุขภาพที่ดีในเรือนจำเป็นเสมือนจุดเล็กๆ ที่จะนำไปสู่การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ต้องขังสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว ทำให้เรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ช่วยเยียวยา ขัดเกลา ให้โอกาส และทำให้คนๆ หนึ่งได้รับโอกาสเพื่อออกมาใช้ชีวิตของตนเองอีกครั้งหนึ่ง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save