fbpx

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

โดยทั่วไปในการชี้แจงถึงกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา บรรดาผู้มีประสบการณ์และมีความรู้ก็ต่างจะพากันมาอธิบายถึงกฎกติกาในการยื่นขอว่าจะต้องประกอบด้วยผลงานอะไร ตำรากี่ชิ้น งานวิจัยกี่ชิ้น งานตีพิมพ์ใน Scopus จำนวนเท่าใด วิธีการยื่นมีกี่แบบ ขั้นตอนในการพิจารณาจะเป็นอย่างไร เป็นต้น อันทำให้บรรดาผู้รับฟังต่างเข้าใจกันว่าเมื่อทำตามกระบวนการดังกล่าวแล้วก็จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย

แต่ในความเห็นของผม อีกส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงแต่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน หรืออาจมีความสำคัญมากไปกว่าผลงานที่ใช้ในการขอตำแหน่งด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปหรือไม่ก็ไม่แน่ใจนัก

ผมคิดว่ามีประเด็นอีกอย่างน้อย 4 ประเด็นที่พึงต้องตระหนักและให้ความใส่ใจไม่น้อยของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ ดังต่อไปนี้      

1. จงอย่าเขียนงานวิชาการที่มีลักษณะแปลก แหวกแนว รวมไปถึงการมีข้อเสนอหรือความเห็นที่แตกต่างอย่างสุดขั้วกับระบบความรู้ที่มีอยู่แต่เดิม

มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ ที่ได้พยายามเสนอแนวความคิดที่ ‘ใหม่’ ไปกว่าระบบความรู้แบบเดิม ไม่ว่าจะด้วยการใช้มุมมองที่นำเข้าจากต่างประเทศหรือเป็นการรื้อสร้างความเข้าใจเดิมที่ธำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การสร้างงานในลักษณะเช่นนี้อาจสร้างชื่อเสียงของผู้เขียนให้เป็นรู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกด้านหนึ่ง งานเหล่านั้นอาจนำมาซึ่งความยุ่งยากให้แก่ผู้เขียนด้วยเช่นกัน อันอาจปรากฏในหลากหลายลักษณะ

ในด้านแรก ความยากในการหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในระบบความรู้ที่แตกต่างไป บรรดานักวิชาการที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ส่วนมากก็จะมาจากผลผลิตของระบบความรู้ของยุคสมัย หากเป็นแนวคิดหรือมุมมองที่ใหม่หรือแตกต่างไปอย่างมาก ก็จะทำให้ต้องใช้เวลาในการควานหาผู้ที่มีความรู้ในลักษณะดังกล่าว มิฉะนั้น ก็จะกลายเป็นว่าต้องเอาผู้มีตำแหน่งวิชาการแต่ปราศจากความรู้ในแง่มุมเดียวกันกับผู้ยื่นขอ

เคยมีข่าวว่าอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งเสนอผลงานวิชาการที่เกี่ยวกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ (postmodernism) แต่ผู้อ่านงานเป็นนักวิชาการที่ผลิตผลงานเกี่ยวกับทหารในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่อ่านกับงานที่เสนอไปนั้นอยู่ห่างไกลคนละโลก ไม่แปลกใจที่อาจารย์อาวุโสท่านนั้นก็ต้องมาทำงานวิจัยแบบ ‘ไม่โพสต์โมเดิร์น’ เสนอไปอีกครั้งหนึ่ง

หรือในกรณีที่เป็นงานที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสำคัญ หากผู้ยื่นมีความคิดฝักใฝ่ระบอบสาธารณรัฐ แต่ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้นิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เป็นการยากที่จะผ่านการประเมินของผู้ทรงฯ ไปได้

ความเท่าทันทางด้านความรู้และการยอมรับในความเห็นที่แตกต่างอาจมีอยู่ แต่ความไม่เท่าทันและการปฏิเสธความเห็นต่างก็เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในแวดวงวิชาการเช่นกัน

2. จงอย่าทำตัวให้เป็นที่หมั่นไส้ของนักวิชาการอาวุโสในแวดวงความรู้เดียวกัน ยิ่งอยู่ในต่างสถาบันก็ยิ่งควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะรังเกียจหรือไม่ชอบต่อวัตรปฏิบัติของนักวิชาการอาวุโสในสาขาวิชาความรู้ของตนเองมากเท่าใด ซึ่งอาจมาเป็นผลมาจากนิสัยส่วนตัวของเขา หรือการเข้าไปรับใช้ต่อผู้มีอำนาจในทางการเมืองภายหลังการรัฐประหารอย่างไม่ละอาย สิ่งที่อาจารย์รุ่นหลังพึงกระทำก็คือต้องไม่แสดงท่าทีหรือพูดจาเพื่อให้เกิดความขุ่นเคืองต่อบรรดาผู้อาวุโสเหล่านั้น ยามเจอหน้าก็ควรที่จะต้องแสดงท่าทีนอบน้อม ยกมือไหว้แสดงการทักทายเฉกเช่นคนที่รู้จักกาละเทศะ รู้จักที่ต่ำที่สูง

หากมีการแสดงความเห็นที่กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนเหล่านั้น วันข้างหน้าเขาอาจกลายมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินงานวิชาการในการขอตำแหน่งของเรา ยิ่งเป็นผู้อาวุโสต่างสถาบันก็ยิ่งควรแสดงความนอบน้อมไว้ให้มาก ไม่ใช่คิดว่าไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันไม่เห็นต้องกังวลอะไร เพราะกติกาข้อหนึ่งในการประเมินผลงานวิชาการก็คือ ต้องมิใช่อาจารย์ที่อยู่ในสถาบันเดียวกันกับผู้ยื่นขอตำแหน่ง

นักวิชาการอาวุโสต่างสถาบันจึงสามารถนำพาผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์มาได้อย่างไม่คาดคิด

3. จงอย่าทำให้ตัวให้เป็นที่เกลียดชังของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย

แม้ว่าผู้บริหารในมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้มีหน้าที่ในการประเมินงานวิชาการ แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้บริหารสามารถเข้ามามีบทบาทในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการได้เช่นกัน ไม่ว่าจะในด้านของการเร่งรัดหรือการถ่วงเวลาซึ่งสามารถทำให้กระบวนการสามารถเสร็จสิ้นภายในระยะอันรวดเร็วหรือต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน ผู้บริหารที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นได้ทั้งในระดับภาควิชา คณะ หรือแม้กระทั่งในระดับมหาวิทยาลัย จะมหาวิทยาลัยระดับท้องถิ่น เสาหลักของแผ่นดิน หรืออวดอ้างว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกก็อาจไม่ได้แตกต่างกันไปมากนัก

พึงตระหนักว่าพวกเขาทั้งหมดไม่ใช่เพียงดำรงตำแหน่งบริหารอย่างเดียว แต่ยังมีความเป็นเครือข่ายที่สามารถให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้เสมอ

ทางที่ดีก็คือ ควรดำรงชีวิตอยู่อย่างหงิมๆ ติ๋มๆ ต่อไป จะมีอะไรเกิดขึ้นในสถาบันของเราก็ช่างมัน อย่าไปใส่ใจหรือเข้าร่วมกับพวกที่ชอบคัดค้านให้มากนัก   

4. จงอย่าแสดงความเห็นต่อประเด็นปัญหาทางการเมืองหรือที่เกี่ยวพันกับอุดมการณ์ทางการเมือง ยิ่งเป็นการแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้มีอำนาจในห้วงเวลานั้นๆ ก็พึงหลีกเลี่ยง

แม้ว่าการแสดงความเห็นจะถูกโฆษณาว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบบเสรี/ประชาธิปไตย แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว การแสดงความเห็นจะได้รับการปกป้องก็ต่อเมื่อเป็นการสนับสนุนฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมือง หรือการเข้าพวกกับชนชั้นนำอนุรักษนิยม หากแสดงความเห็นที่แตกต่างออกไป ดังการไปชูสามนิ้ว ใส่เสื้อแดงเสื้อส้ม เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน ฯลฯ การมีจุดยืนเช่นนี้จะส่งผลไม่มากก็น้อยต่อผู้แสดงความเห็น (แต่ถ้าเคยเป่านกหวีดก็ไม่เป็นไรเพราะถือว่าเป็นการเสียสละเพื่อประเทศชาติ)

อาจารย์ท่านหนึ่งที่ขอตำแหน่งศาสตราจารย์เล่าให้ฟังว่า ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชุดที่มาประเมินงานของตนเองเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีจุดยืนทางการเมืองอยู่กันคนละฝั่ง ส่งผลให้ต้องมีการแก้ผลงานอยู่หลายครั้งกว่าจะเป็นที่พอใจต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต่างไปจากผู้ขอตำแหน่งอีกท่านหนึ่งที่ใช้เวลาอันรวดเร็วในการถูกประเมินผลงานด้วยคณะกรรมการที่มีจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน

ผมเคยแปลกใจที่เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งที่เคยมีบทบาททางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่องได้เงียบหายไปอย่างฉับพลันและแทบไม่ปรากฏการแสดงความเห็นต่อสาธารณะเกิดขึ้นอีกเลย มาได้ทราบข่าวอีกครั้งเมื่อเขาได้ดำรงตำแหน่งวิชาการระดับสูงไปเรียบร้อย เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องมากหรือน้อยก็ไม่อาจยืนยันได้ แต่ถ้าให้คาดเดาก็คิดว่าน่าจะเป็นแรงกดดันส่วนหนึ่ง เพราะในสาขาวิชานั้นล้วนแต่ประกอบไปด้วยนักวิชาการเหลืองอร่ามเป็นส่วนใหญ่ และถ้าหากข้อสันนิษฐานเป็นความจริงผมก็ไม่มีสิ่งใดที่จะตำหนิแม้แต่น้อย เพราะเป็นสิ่งที่เขาได้เลือกและตัดสินใจเพื่อความก้าวหน้าของตนในสังคมที่บิดเบี้ยวเช่นนี้

บทความชิ้นนี้สรุปขึ้นมาจากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในช่วงที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับการขอตำแหน่งวิชาการ ทำให้มีความรู้ความเข้าใจและมุมมองต่อกระบวนการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จึงคิดว่าควรบันทึกไว้เป็นบทเรียนให้กับบรรดานักวิชาการและอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มต้นการทำงานในมหาวิทยาลัย หรือผู้ที่ทำงานมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่งให้สามารถที่จะเลือกแนวทางอันถูกต้อง หากต้องการประสบความสำเร็จใน ‘ตำแหน่งวิชาการ’ ก่อนที่จะถลำตัวไปจนไม่อาจหวนกลับไปเป็นเด็กดีตามระบบได้

ข้อพึงระลึกส่งท้ายก็คือ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เพื่อความเจริญด้าน ‘ตำแหน่งวิชาการ’ เชิงปัจเจกบุคคลเพียงสถานเดียวไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความงอกงามทางวิชาการสำหรับส่วนรวมแม้แต่น้อย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save