fbpx
'เปิดศาลสู่สาธารณะ - ดึงคนออกจากคุก - สร้างความยุติธรรมยั่งยืน' : หนึ่งปีบนเก้าอี้ประธานศาลฎีกาของ 'ไสลเกษ วัฒนพันธุ์'

‘เปิดศาลสู่สาธารณะ – ดึงคนออกจากคุก – สร้างความยุติธรรมยั่งยืน’ : หนึ่งปีบนเก้าอี้ประธานศาลฎีกาของ ‘ไสลเกษ วัฒนพันธุ์’

 กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

 ธิติ มีแต้ม ภาพ

“ในโอกาสที่ข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกา นับจากนี้ แนวทางการบริหารงานจะมุ่งไปที่ความพึงพอใจสูงสุดของประชาชน อาทิ การให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี การกำหนดมาตรการทางการศาลเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม การกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีให้รวดเร็ว การปรับปรุงกระบวนการปล่อยชั่วคราวเพื่อเพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชน เป็นต้น 

ด้วยเหตุดังกล่าว ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนและประชาชน เพื่อนำมาประกอบการกำหนดเป็นนโยบายประธานศาลฎีกาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อบรรลุแนวทางการบริหารงานข้างต้น”


ไสลเกษ วัฒนพันธุ์
ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 เขียนถ้อยความถึงประชาชนใน สารของประธานศาลฎีกา ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เป็น ‘สาร’ ที่สร้างความตื่นเต้นในแวดวงยุติธรรม เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นความตั้งใจ ‘เปิดศาล’ ลด ‘ระยะห่าง’ ระหว่างศาลกับประชาชน

ในบรรดาอำนาจอธิปไตยสามฝ่าย – บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ – อำนาจตุลาการที่ใช้ผ่านศาลมักถูกมองว่า ‘มีระยะ’ กับประชาชนมากที่สุด ทั้งในแง่ของการออกแบบกลไกเชิงสถาบัน และตำแหน่งแห่งที่ในเชิงวัฒนธรรม

ในด้านหนึ่ง ‘ระยะ’ มีไว้เพื่อธำรงความเป็นอิสระของศาล แต่อีกด้านหนึ่ง หลายคนก็มองว่าศาลเป็นดินแดนลึกลับที่ยากจะเข้าถึง โดยเฉพาะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคมไทย ที่ทุกอำนาจ ทุกสถาบัน และทุกองค์กร ล้วนต้องเผชิญกับการตั้งคำถาม – อำนาจตุลาการและสถาบันศาลก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น ทางออกคือการปรับตัวของสถาบันให้เข้ากับยุคสมัยและความคาดหวังของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

น่าสนใจว่า ศาลฎีกาตีโจทย์ใหญ่เหล่านี้อย่างไร และตอบโจทย์สำคัญนี้ด้วยวิธีแบบไหน

จากการสำรวจปัญหาและความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อเข้ารับตำแหน่ง สู่การกำหนดนโยบายประธานศาลฎีกา และการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายตลอดวาระหนึ่งปีเต็มในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรื่องการปฏิรูประบบปล่อยชั่วคราว เพื่อเอาคนจนและคนไม่สมควรอยู่ในคุกออกจากคุก การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศาลยุติธรรม การยกระดับมาตรฐานการพิจารณาคดีให้มีคุณภาพมากขึ้น และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานของศาลยุติธรรม ล้วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก

“ผมจะเปิดศาลฎีกาให้คนเข้าถึงได้ ผ่านนโยบายศาลเปิด (open court) โดยให้องค์ความรู้ต่างๆ ต่อสาธารณะ เช่น ประวัติศาสตร์กฎหมาย กระบวนการทางการศาล สิทธิตามกฎหมายของประชาชน … ประชาชนจะได้ช่วยตรวจสอบศาลได้ด้วย ผมไม่ปฏิเสธการที่ผู้พิพากษาจะถูกตรวจสอบ มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่บุคลากรของศาลต้องพร้อมรับการตรวจสอบเสมอ”

“ศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐเพื่อบังคับใช้กฎหมาย คือมีอำนาจ (authority) แต่ผมอยากจะเพิ่มเข้าไปด้วยว่า ศาลไม่ได้มีหน้าที่แค่ใช้อำนาจทางกฎหมาย แต่ศาลคือองค์กรที่ให้บริการสาธารณะ (public service) ผู้พิพากษาในสังคมไทยสมัยใหม่จึงต้องมีจิตสาธารณะ (public mind) ด้วย” 

” ‘ความยุติธรรมต้องไม่มีวันหยุด’ ผมจึงกำหนดนโยบายเร่งด่วนให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศทุกชั้นศาลเปิดทำการในวันหยุดราชการทุกวัน เพื่อพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย  มาตรการขอปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสะดวกรวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวด้วย”


ก่อนครบวาระ ก้าวลงจากตำแหน่งประธานศาลฎีกาหลังวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 กองบรรณาธิการ The101.world นัดหมายเพื่อสัมภาษณ์พิเศษประมุขฝ่ายตุลาการคนปัจจุบัน ถึงแนวคิด ชีวิต และการทำงานในตำแหน่งประธานศาลฎีกา

ศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่อย่างไร

ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบศาลได้อย่างไร

เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยยกระดับการทำงานของศาลได้อย่างไร

และศาลเรียนรู้อะไรบ้างจากกรณีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และกรณีบ้านพักผู้พิพากษาจังหวัดเชียงใหม่

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์


เมื่อท่านเข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกา สิ่งแรกที่ลงมือทำคือการเปิดรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำมากำหนดเป็นนโยบายของประธานศาลฎีกา เบื้องหลังความคิดนั้นคืออะไร

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้ในหลายหลักสูตร ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว การให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงการบริหาร และเป็นโมเดลที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง เพียงแต่ศาลเราไม่เคยใช้กระบวนการตรงนี้มาก่อน เพราะเรามุ่งไปที่งานคดีเป็นส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้พิพากษาไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นนักบริหาร แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตัดสินคดี

ผมคิดว่า ในอนาคตต้องเติมทักษะด้านการบริหารจัดการให้ผู้พิพากษาด้วย โดยเฉพาะกับคนที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารของศาล ที่จะต้องมีเทคนิคด้านการบริหารการประชุม เพื่อจะสามารถนำความคิดเห็นและความแตกต่างหลากหลายมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายได้


ประชาชนส่งเสียงอะไรถึงศาลบ้าง และเสียงเหล่านั้นกลายมาเป็นนโยบายประธานศาลฎีกาอย่างไร 

เราเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงวันที่ 1-5 ตุลาคม 2562 ก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าจะได้รับการตอบรับกลับมามากขนาดนี้ คือได้คำตอบเกือบ 600 คำตอบ ทั้งที่เป็นจดหมายและออนไลน์ 60% มาจากคนในองค์กรหรือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และอีก 40% มาจากคนนอก ซึ่งตรงนี้ผมก็แปลกใจอยู่ เพราะแสดงว่าคนนอกมีเรื่องอึดอัดอยู่พอสมควร

เมื่อได้อ่านข้อคิดเห็นจากประชาชน ผมก็ลองเอาคำตอบของคนนอกมาจัดเรียงดูตามความเข้มข้นของปัญหา พบว่าปัญหาอันดับหนึ่งคือเรื่องสิทธิเสรีภาพในการประกันตัว ประชาชนบอกว่า ศาลให้ประกันตัวยาก คนจนมีโอกาสได้ประกันตัวน้อย บางกรณีโดนจับวันศุกร์ พอเสาร์-อาทิตย์ศาลปิด ก็โดนขัง วิ่งหาประกันยังไงก็ไม่ทัน ทุกอย่างติดขัดไปหมด และอีกสิ่งที่กลุ่มคนนอกสะท้อนมาคือ พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่าศาลทำอะไรกันบ้าง พูดง่ายๆ คือศาลเหมือนกับอาณาจักรเร้นลับ ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างมากในการหาข้อมูลหรือติดตามคดีต่างๆ

จากนั้น ผมกับทีมงานก็มาช่วยกันไล่เรียงข้อคิดเห็นต่างๆ จนออกมาเป็นนโยบายประธานศาลฎีกา 5 ข้อ ได้แก่ (1) ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม (2) ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ (3) นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม การพิจารณาพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ (4) เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคลด้วยการสร้างสมดุลระหว่างจริยธรรม ระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ และ (5) สนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม และที่ไม่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม

เรื่องสำคัญคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิพื้นฐานของประชาชน คือตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์และมีสิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่เราก็ต้องทำให้เขาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ได้จริงด้วย ไม่ใช่ถูกจับขังเสียก่อน ตอนแรก เรามองแต่ในมุมของจำเลยอย่างเดียว จนผมมีโอกาสได้ไปเจอท่านอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ท่านก็บอกว่า ดีใจที่ศาลนึกถึงปัญหานี้ แต่เราต้องนึกถึงผู้เสียหายและผลประโยชน์สาธารณะด้วย จึงออกมาเป็นแนวนโยบายที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และคำนึงถึงผู้เสียหายรวมถึงสังคมด้วย

มีคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือการปฏิเสธความยุติธรรม” ซึ่งศาลยุติธรรมก็ได้พยายามเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่นับจากนี้ เราจะยกระดับความยุติธรรมไปอีกขั้นหนึ่งคือ “ความยุติธรรมต้องไม่มีวันหยุด” ผมจึงกำหนดนโยบายเร่งด่วนให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศทุกชั้นศาลเปิดทำการในวันหยุดราชการทุกวัน เพื่อพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย  มาตรการขอปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสะดวกรวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวด้วย ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราได้เก็บสถิติข้อมูลการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดของศาลชั้นต้น ประจำเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 พบว่า จาก 6,008 คำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวถึง 5,390 คำร้อง

นอกจากนี้ เรายังกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ต้องหา จำเลย เหยื่ออาชญากรรม ผู้เสียหาย ตลอดจนกลุ่มเปราะบางในสังคมทุกขั้นตอนของกระบวนการทางศาล และยังเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีในศาล และให้ประชาชนรับรู้ถึงสิทธิของตนตามกฎหมายด้วย เช่น นโยบายเปิดเผยอัตราหลักประกัน


นโยบายปรับปรุงกระบวนการปล่อยชั่วคราว และเอาคนที่ไม่ควรติดคุกออกจากคุก จะเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างไร 

เราเอาตัวเลขมากางดูเลยว่า ที่บอกว่าคุกล้น จริงๆ แล้วมีการขังผู้ต้องหาจำนวนเท่าไหร่ สัดส่วนเป็นอย่างไร ปรากฏว่า ประมาณ 91% คือผู้ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเขากระทำความผิดจริง แต่อีกประมาณ 9% คือผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี คือเทียบเป็นสัดส่วนแล้วตัวเลขอาจจะดูไม่เยอะ แต่หลายคนก็ไม่สมควรต้องติดคุก โจทย์คือถ้าจะนำ 9% นี้ออกมาจากคุกจะทำอย่างไร เป็นไปได้ไหม เรามีคณะทำงานที่นำโดยท่านเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา (ว่าที่ประธานศาลฎีกาคนต่อไป) ท่านประธานแผนกอีก 2 ท่าน รวมถึงหัวหน้าศาลบางท่านและเจ้าหน้าที่ เข้าไปในเรือนจำเพื่อเก็บข้อมูลก่อนว่า 9% นี้เป็นคนกลุ่มไหน ปรากฏว่า พวกเขาคือคนที่ไม่ได้ทำผิดร้ายแรงอะไร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีสิทธิประกันตัว บางคนรู้ว่ามีสิทธิแต่ไม่มีเงินจะขอประกัน หรือบางคนก็ขอเก็บเงินไว้ดูแลครอบครัวแทน

เมื่อเห็นแบบนี้ เราก็ลองถามทุกคนว่า อยากประกันตัวไหม แน่นอนว่าทุกคนอยากมีเสรีภาพ อยากได้อิสระ แต่ในอดีตสิ่งที่ยากที่สุดในการขอประกันตัวคือต้องมีหลักทรัพย์ คณะทำงานเลยพยายามหาวิธีปรับให้การขอประกันตัวง่ายขึ้น ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เราเคยมีแบบประเมินความเสี่ยงของผู้ต้องขังมาแล้ว ใช้มาก่อนที่ผมจะรับตำแหน่งเสียอีก แต่ตอนนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่ายุ่งยาก ไม่คุ้นเคย รู้สึกว่าเสียเวลา ก็เลยไม่มีคนใช้ คณะทำงานของเราเลยพยายามปรับให้ง่ายขึ้น คือมีแค่ใบคำร้องใบเดียวว่าอยากประกัน และให้กรอกประวัติลงไป พอมาทดสอบแล้วปรากฏว่าสามารถทำแบบประเมินได้ภายใน 12 นาที อันนี้ก็ใช้ได้แล้ว


หลักการใหม่ใช้
แบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงของผู้ต้องหาเพื่อตัดสินว่าจะได้ประกันตัวหรือไม่ โดยไม่ได้ดูแต่หลักทรัพย์เป็นสำคัญอีกต่อไป ระบบการประเมินความเสี่ยงตามนโยบายใหม่เป็นอย่างไร

เราดูประวัติ พฤติการณ์ในการกระทำผิดที่ถูกกล่าวหา หน้าที่การงาน รายได้ รวมถึงดูว่าเขามีครอบครัว มีความผูกพัน หรือมีจุดเกาะเกี่ยวอะไรกับสังคมบ้าง แน่นอนว่าต้องดูประวัติอาชญากรรมด้วย ข้อมูลแต่ละเรื่องจะมีคะแนนของมัน จากนั้น เราจึงนำคะแนนทั้งหมดมาคำนวณตามวิธีที่นักวิจัยคิดขึ้นมา ได้ออกมาเป็นค่าความเสี่ยงว่าสูง กลาง หรือต่ำ เมื่อเราได้ค่าตรงนี้ก็ง่ายแล้ว เพราะพอผู้ต้องหายื่นคำร้องเข้ามา ผู้พิพากษาก็นำข้อมูลที่เก็บไว้มาพิจารณาได้เลย ถ้าความเสี่ยงต่ำ เราก็สามารถปล่อยตัวแบบไม่ต้องมีหลักประกันได้ ถ้ามีความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจจะต้องมีหลักทรัพย์บ้าง แต่ต้องดูด้วยว่าเขามีกำลังแค่ไหน ถ้าไม่มีจริงๆ อาจจะให้ใส่กำไลติดตามตัว (EM) แทน ในกรณีที่ผู้ต้องหายินยอม

ตอนนี้ เราสามารถปล่อยตัวคนที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำได้ประมาณ 5,000 พันคนแล้ว และสิ่งที่น่ายินดีคือ กลุ่มผู้พิพากษาได้เข้ามาศึกษาและพัฒนาวิธีการของเขาด้วย เดี๋ยวนี้ทุกศาลมีหมดเลยว่าจะยื่นคำร้องใบเดียวอย่างไร จากที่เคยต้องนำหลักทรัพย์มาใช้ประกอบการยื่นมากมายไปหมด ซึ่งถ้าไม่มีก็ต้องไปเสียค่าเช่าหลักทรัพย์ก่อน ทั้งที่ศาลอาจไม่ให้ประกันก็เป็นได้ แต่ตอนนี้ไม่ต้องทำเช่นนั้นแล้ว

 

มีการตรวจสอบหรือประเมินผลดูไหมว่า หลังจากปล่อยชั่วคราวแล้ว มีผู้ต้องหาหลบหนี ไปยุ่งกับพยาน หรือทำลายหลักฐานบ้างไหม

โดยปกติเราจะมีการปัจฉิมนิเทศก่อนปล่อยตัวอยู่แล้ว เพื่อให้เขาได้ชั่งน้ำหนักว่า ถ้าไปทำผิดข้างนอกจะคุ้มไหม เหลืออายุความเท่าไหร่ และต้องหนีอีกเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ถามว่ามีคนหลบหนีไหม ก็มีบ้าง แต่เปอร์เซ็นต์การหลบหนีค่อนข้างต่ำมาก

ทีนี้พอโควิด-19 ระบาด โครงการของเราก็มีสะดุดบ้าง เพราะมีความกังวลว่า การที่คนภายนอกเข้าไปในเรือนจำจะกลายเป็นเอาโรคไปติดคนข้างในไหม ตอนนี้เราจึงใช้วิธีสัมภาษณ์ผ่านทางออนไลน์ หรือส่งผ่านทางเจ้าหน้าที่เรือนจำไปก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่า โครงการอาจจะยังไม่ได้เดินไปตามแผนการที่เราตั้งเป้าไว้อย่างเต็มที่

ในเรื่องการยกระดับคุณภาพการทำงานของผู้พิพากษา นโยบายประธานศาลฎีกาก็มีเนื้อหาน่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะการระบุว่า ผู้พิพากษาต้องให้ความสำคัญกับการอ่านสำนวนมากขึ้น ตรวจสอบพยานหลักฐานให้ถ้วนถี่ขึ้น และพัฒนาระบบการประชุมปรึกษาคดีขององค์คณะให้เข้มแข็งทุกชั้นศาล นโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบยุติธรรมได้อย่างไร

ถ้ามองลึกๆ ผมคิดว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมครั้งใหญ่เลย ขอเล่าย้อนความว่า สมัยก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 การพิจารณาคดีไม่จำเป็นต้องขึ้นครบองค์คณะ แต่ให้มาปรึกษาหารือกันทีหลัง ต่อมาถึงมีการบังคับว่าต้องขึ้นนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และถ้าผู้พิพากษาไม่ทำจริง ประชาชนก็ใช้สิทธิร้องเรียนได้เลย เราก็บอกผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเสมอว่าต้องเคร่งครัดเรื่องนี้ มิฉะนั้น คุณอาจจะตกเป็นจำเลยเสียเอง ตอนนี้ศาลชั้นต้นก็พิจารณาครบองค์คณะ อันนี้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย

แต่ปัญหาการทำงานแบบองค์คณะที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มรูปแบบอาจจะอยู่ที่ศาลสูง สมัยก่อน ศาลสูงจะมีคดีมาก แต่ผู้พิพากษาน้อย ก็ต้องคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะทำคดีได้ทัน เลยแก้ปัญหาให้ผู้พิพากษาเอาไปเขียนกันคนละเรื่องแล้วกลับมาปรึกษากันเป็นองค์คณะ ซึ่งคดีก็เป็นไปได้ด้วยดี ทุกคนไว้วางใจในการทำงานของกันและกัน แต่ผมก็มองไปถึงเรื่องความละเอียดรอบคอบด้วยว่า ระหว่างการที่ต่างคนต่างอ่านแล้วมาสรุป กับการที่ทุกคนต้องอ่านแล้วมาถกกัน แบบหลังงานอาจจะช้าลงบ้าง แต่ก็จะทำให้ได้พิจารณาคดีร่วมกันตั้งแต่ต้นจนถึงการวินิจฉัย งานย่อมมีคุณภาพรอบคอบมากขึ้น และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานอย่างสำคัญ ต่อจากนี้ ทุกคนต้องอ่านสำนวนเท่าๆ กัน

ตอนนี้เริ่มต้นที่ศาลฎีกาก่อน เมื่อได้สำนวนมา องค์คณะทั้งสามท่านจะเป็นเจ้าของสำนวนร่วมกันหมด ส่วนผู้ช่วยผู้พิพากษาจะทำหน้าที่เป็นเลขาคณะ และคณะก็ต้องประชุมปรึกษาหารือกันด้วย เพื่อเป็นการบังคับให้ทุกคนอ่านสำนวน ตอนนี้ทั้งศาลฎีกาทำแบบนี้หมดแล้ว ถามว่าช้าลงไหม ก็ช้าลงบ้าง แต่ไม่ได้เป็นนัยยะสำคัญ คิดว่าอยู่ในวิสัยที่จะคุมให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีได้ และเมื่อศาลฎีกาประสบความสำเร็จ ผมก็อยากจะให้ใช้ในศาลทุกศาลต่อไป ถ้าเป็นไปตามที่ผมคาดหวัง เราจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการศาลครั้งใหญ่ได้ และคนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน

จากนโยบายต่างๆ ที่ท่านเล่ามา เราเห็นพลังการเปลี่ยนแปลงอะไรในแวดวงผู้พิพากษาบ้างไหม

ผมคิดว่า โดยพื้นฐานแล้ว ผู้พิพากษาค่อนข้างมีความอนุรักษนิยม (conservative) อย่างไรก็ดี สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้อง ผู้พิพากษาก็หนีเสียงสะท้อนจากสังคมไม่ได้ ตอนนี้ไม่ว่าจะพูดอะไรกับใคร ทุกคนก็รู้สึกว่า ศาลทำแบบนี้น่าชื่นชม เป็นพลังให้เขาต้องเดิน เป็นอะไรที่เขาฝืนไม่ได้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารศาล คงถอยไปจากนโยบายนี้ไม่ได้ เพราะถ้าถอยเมื่อไหร่ กระแสจากสังคมจะแรงมาก เรียกได้ว่าเป็นมุมกลับเลย

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์


นวัตกรรมใหม่อีกอย่างหนึ่งคือ นโยบายการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศาล โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เมื่อศาลเจอโควิด วงการศาลได้รับผลกระทบอย่างไร แล้วจัดการรับมือปัญหาอย่างไรบ้าง

โควิด-19 เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ทุกคนกลัวหมด รวมถึงผู้พิพากษาด้วย ช่วงแรก เราเลยพยายามลดคนมาศาลให้มากที่สุด ถ้าจำเป็นต้องเลื่อนคดีก็เลื่อน เพราะยังไม่รู้ว่า โรคจะร้ายแรงแค่ไหนหรือจะลุกลามไปอย่างไร แต่ถ้าเลื่อนแล้วชาวบ้านเดือดร้อน เราก็จะไม่เลื่อน แต่จะใช้วิธีจำกัดจำนวนคนมาศาลให้น้อยลง คนที่ไม่จำเป็นหรือไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องเข้ามาที่ศาล ใช้วิธีจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่องให้ดี

ท่านเมทินี ชโลทร เคยทำงานในหน่วยงานรับผิดชอบคดีต่อเนื่องมาก่อน จึงเข้าใจระบบการทำงาน และสามารถวางแผนได้ว่า คดีที่ต้องเลื่อนไปอีก 1-2 เดือนจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการจัดการ เราได้จัดทำตารางการทำงานและตั้งคณะทำงานออกมาจัดการกับคดีที่เลื่อนออกไปไม่ให้กระทบกับประชาชน

จริงๆ แล้ว ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ศาลกังวลเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาคดีพอสมควร และเราก็มีการเร่งรัดคดีค่อนข้างมาก ตอนนี้ตอบได้เลยว่า คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้นต้องเสร็จสิ้นไม่เกิน 2 ปี ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต้องเสร็จสิ้นไม่เกิน 1 ปี เราพยายามปรับการทำงานจนตอบโจทย์ไปได้แล้วในระดับหนึ่ง

นอกจากการพิจารณาคดีต่อเนื่องในศาลชั้นต้น มาตรการในการเลื่อนคดีทุกอย่างจะถูกกำหนดหมดว่า เรื่องอะไรที่เลื่อนได้หรือเลื่อนไม่ได้ ถ้าจะเลื่อนต้องมีการขอคำปรึกษา มีกรอบในการใช้ดุลยพินิจด้วย ดังนั้น ผู้พิพากษาจะถูกผู้บริหารศาลตรวจสอบว่าทำไมถึงทำงานล่าช้า ตรงนี้ทำให้ผู้พิพากษาต้องขวนขวายทำให้ได้ตามเป้าหมาย มีช่วงหนึ่งที่เราจัดแข่งขันศาลดีเด่น โดยใช้ KPI ว่าคดีเสร็จเร็วช้ามากน้อยอย่างไร เพราะความล่าช้าในการทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของสังคม

เมื่อก่อนเราต้องพาผู้ต้องหามาศาล แต่พอโควิด-19 ระบาด เราเริ่มเห็นการใช้ video conference ในการพิจารณาปล่อยตัว สืบพยาน หรืออ่านคำพิพากษาได้ในกรณีจำเป็น ในอนาคตมีโอกาสที่เราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศาลให้มากขึ้นอีกได้อย่างไร

เรามีความพยายามในเรื่องนี้มาพอสมควร แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ อย่างเรื่องระบบฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่เราต้องจัดการให้ได้ หมายความว่าข้อมูลเกี่ยวกับคดีหรือบุคลากรที่ถูกจัดเก็บไว้ต้องสามารถเอามาใช้ได้ และจะต้องอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน แต่ในอดีตที่ผ่านมา ต่างคนต่างเก็บ ไม่มีระบบเดียวกัน สำนักงานศาลยุติธรรมก็พยายามอนุมัติงบประมาณเพื่อทำ big data หรือทำ big server แต่ทุกวันนี้ ผมก็ยังไม่มั่นใจว่า จะสามารถปรับจูนให้ทุกศาลเก็บเป็นฐานข้อมูลเดียวกันได้หรือไม่ ถ้าทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ดีได้ก็จะต่อยอดไปได้อีกเยอะ

จริงๆ แล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีการสืบพยานทาง video conference มานานแล้ว เราก็ใช้ตรงนี้เป็นต้นแบบ ช่วงหลัง เรามีการใช้ video conference กับคดีอาญา คือใช้ในการฝากขัง ไม่ต้องนำผู้ต้องหาออกมาจากเรือนจำ ทางเรือนจำก็ชอบเพราะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาหลบหนี และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมถึงบุคลากรในการนำผู้ต้องหาเข้ามาด้วย ในเรื่องนี้เรามีวิธีการอ่านคำพิพากษาสองวิธี วิธีแรกคือนำผู้ต้องหามาที่ศาลชั้นต้น แล้วอ่านจากศาลฎีกาไป วิธีที่สองคือให้ผู้ต้องหารับฟังจากในเรือนจำเลย แต่ตรงนี้ต้องมีกระบวนการตรวจสอบเพื่อ verify ตัวตนเขาให้ได้ว่าใช่ผู้ต้องหาคนนั้นจริงหรือเปล่า เรือนจำต้องมีกระบวนการระบุตัวตน รวมถึงมีระบบความปลอดภัยที่ดีด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าศาลสืบพยานทาง video conference ก็ต้องไม่ทิ้งหลักการว่า การสืบพยานต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน และต้องไม่ทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาเสียสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ด้วย

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์


เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต เราอาจจะมีแอปพลิเคชันหรือระบบที่เปิดให้ประชาชนที่อยู่ในกระบวนการสามารถสืบค้นข้อมูลและความคืบหน้าของคดีต่างๆ อย่างสมบูรณ์ ได้ด้วยตนเอง

จริงๆ แล้ว ตอนนี้เรามีระบบ tracking ที่ใส่เลขคดีเข้าไปได้แล้ว คือถ้ามีคำพิพากษาเสร็จสิ้นเรียบร้อย ก็สามารถใส่เลขคดีเข้าไปเพื่อเข้าถึงคำพิพากษาได้ แต่ในเบื้องต้น คนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ต้องเป็นคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเท่านั้น เช่น คู่ความในคดี เพราะเป็นเรื่องความลับส่วนบุคคลที่ศาลต้องดูแลด้วย

ถามว่า ทำไมมีบางคดีที่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ แล้วทำไมไม่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกคดี เราต้องเริ่มจากตรงนี้ว่า หลักกฎหมายถูกวางไว้อย่างมั่นคงมาตลอด แต่วันหนึ่งอาจจะมีคดีที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักที่วางไว้ บางครั้งมีคดีประเภทที่ไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นความยุติธรรมเฉพาะเรื่อง ที่พอเอาหลักกฎหมายมาจับ ความยุติธรรมก็อาจกลับกลายเป็นความไม่ยุติธรรมได้ บางครั้งคู่ความแพ้ชนะกันที่เทคนิคการว่าความ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา ซึ่งผมก็รู้สึกเหมือนกันว่า ทำไมไม่ให้คู่ความแพ้ชนะกันด้วยเนื้อหา ตรงนี้เป็นปัญหาทางเทคนิคที่เราต้องปรับพอสมควร

ถ้าคำพิพากษาแต่ละคดีต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้พิพากษาก็ต้องชี้แจงเหตุผลให้ได้หากเกิดปัญหาหรือคำถามตามมา ดังนั้นผู้พิพากษาจะต้องคิดรอบคอบ รอบด้าน และอธิบายกับสังคมให้ได้ สมดุลระหว่างการตรวจสอบโดยสาธารณะ ความลับส่วนบุคคล และหลักกฎหมายในกระบวนการจัดทำคำพิพากษาควรเป็นอย่างไร

คำพิพากษาบางคดีที่ออกไปอาจทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นการวางหลักกฎหมายใหม่ แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นความยุติธรรมเฉพาะเรื่องอย่างที่ผมบอกไป แต่แน่นอนว่า human error ก็เกิดขึ้นได้ ในกรณีของคดีที่หลุดไปหรือคดีที่เกิด human error เราก็ไม่ควรจะให้เป็นต้นแบบ

ระบบการทำคำพิพากษาของเรามีการสกรีนหลายขั้นตอน สมมติว่าองค์คณะปรึกษาคดีได้ผลคดีมาแล้ว ต้องผ่านผู้ช่วยเล็ก ซึ่งก็คือผู้พิพากษารุ่นน้องๆ ก่อน ซึ่งผู้ช่วยเล็กจะมีหน้าที่ตรวจสอบทุกประโยคว่า มีพยานปากไหนเบิกถึงหรือเบิกไม่ถึง ข้อกฎหมายที่อ้างถึงมีจริงใช่หรือไม่ คือเป็นการตรวจข้อเท็จจริงที่ออกมาเป็นสำนวนในร่างคำพิพากษา ดูว่าไม่ได้บิดเบือนหรือนั่งเทียนเขียนมา หลังจากนั้นก็ต้องตรวจสอบว่าการอ้างอิงบทกฎหมายนั้นถูกต้อง หรือมีแนวบรรทัดฐานหรือไม่ เมื่อผู้ช่วยเล็กตรวจเสร็จก็จะทำความเห็นส่งผู้ช่วยใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจซ้ำอีกที ถ้าเห็นว่าถูกจึงเสนอต่อไปตามขั้นตอน นี่คือกระบวนการในศาลฎีกา

คนภายนอกอาจจะบอกว่า ศาลต้องมีอิสระ เราก็บอกว่า นี่ไง ศาลมีอิสระ แต่ต้องตรวจสอบทุกข้อความทุกข้อเท็จจริงก่อน คุณมีอิสระถ้าคุณผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่ถ้ามีอะไรผิดพลาด ก็อาจจะทักเจ้าของสำนวนไป บางคนก็ยอมแก้ แต่บางคนอาจจะไม่ยอมแก้ ซึ่งถ้าเจ้าของสำนวนไม่แก้ ก็จะต้องกลับมาที่ผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจจะเป็นท่านรองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุด ให้ความเห็นชอบว่า ถ้าออกร่างไปตามนี้จะขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ขัดก็สามารถออกไปได้ แต่ถ้าท่านรองฯ มองว่าขัด ก็จะต้องทำบันทึกไว้ และตัวผม (ประธานศาลฎีกา) ก็จะสั่งโอนสำนวนให้คณะใหม่ทบทวน และถือผลจากคณะใหม่เป็นที่สิ้นสุด

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์


สิ่งที่ท่านเล่ามาคือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันภายใน แล้วเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเริ่มให้คนภายนอกเข้ามาช่วยศาลคิดหรือตรวจสอบกระบวนการภายในของศาลบ้าง

ในเบื้องต้น ประชาชนมีสิทธิและความชอบธรรมที่จะรู้กระบวนการทำงานของศาล ซึ่งกระบวนการในที่นี้คือกระบวนการทั่วไป แต่ยังไม่สามารถจะรู้เรื่องเฉพาะคดีได้ ประชาชนจะได้รู้กระบวนการทำงานของศาล เห็นว่ากระบวนการมีความรอบคอบ และสามารถเข้าถึงข้อมูลคดีของตนเองได้ด้วย

ตอนนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับศาลมากขึ้น ผมจะเปิดศาลฎีกาให้คนเข้าถึงได้ ผ่านนโยบายศาลเปิด (open court) โดยให้องค์ความรู้ต่างๆ ต่อสาธารณะ เช่น ประวัติศาสตร์กฎหมาย กระบวนการทางการศาล สิทธิตามกฎหมายของประชาชน ถ้ามีคนอยากรู้ว่าศาลฎีกาทำงานอย่างไร ขั้นตอนอะไรอยู่ตรงไหน เขาก็จะมีสิทธิได้รู้ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องปกปิด ดีเสียอีกที่จะให้คนเข้ามาศึกษา หรืออาจจะมานั่งฟังการพิจารณาคดีด้วยก็ได้ ต่อไปอาจจะมีตารางให้เด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเข้ามาได้ อยากเห็นศาลฎีกาในมุมไหนก็เข้ามาเลย

ผมลองนึกถึงตัวเองสมัยที่เรียนนิติศาสตร์ เราก็อยากรู้ว่าศาลฎีกาเป็นยังไง แต่ไม่มีโอกาสเพราะระบบมันปิด ถ้าเราทำเรื่องศาลเปิดได้สำเร็จ ก็จะสื่อสารไปถึงสาธารณชนให้เข้ามาเรียนรู้จากศาลจริงได้ นี่จะเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้วย ได้เข้ามาดูว่ากระบวนการยุติธรรมจริงๆ เป็นอย่างไร

ในระดับประชาชนทั่วไป เราต้องจัดทำข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจกระบวนการศาลในทุกขั้นตอนได้ ประชาชนจะได้ช่วยตรวจสอบศาลได้ด้วย ผมไม่ปฏิเสธการที่ผู้พิพากษาจะถูกตรวจสอบ มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่บุคลากรของศาลต้องพร้อมรับการตรวจสอบเสมอ

นอกจากนั้น ผมยังคิดว่า เราต้องพัฒนาเรื่อง mindset ของศาลด้วย อย่างที่เรารู้กันว่าศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐเพื่อบังคับใช้กฎหมาย คือมีอำนาจ (authority) แต่ผมอยากจะเพิ่มเข้าไปด้วยว่า ศาลไม่ได้มีหน้าที่แค่ใช้อำนาจทางกฎหมาย แต่ศาลคือองค์กรที่ให้บริการสาธารณะ (public service) ผู้พิพากษาในสังคมไทยสมัยใหม่จึงต้องมีจิตสาธารณะ (public mind) ด้วย ตรงนี้ ผมได้ให้นโยบายกับสถาบันฝึกอบรมผู้พิพากษาว่า ขอให้เติมเรื่องเหล่านี้เข้าไปในหลักสูตรการอบรมด้วย

เมื่อศาลเป็นบริการสาธารณะ รัฐต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการให้บริการประชาชน ลดขั้นตอน มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วและประหยัดของประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างบทบาทเชิงรุกของศาลยุติธรรมในการให้บริการช่วยเหลือประชาชน และเสริมสร้างความรู้ในเรื่องกระบวนการทางการศาลให้มากขึ้น

นอกจากการเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานของศาลแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องโครงสร้างเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบศาล คือกฎหมายหมิ่นศาล ท่านคิดว่าเรื่องนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร

โดยพื้นฐานแล้วผู้พิพากษาควรใจกว้างก่อน คือการวิพากษ์วิจารณ์เชิงวิชาการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เรื่องนี้เชื่อว่าผู้พิพากษาเรามีประสบการณ์ในทางปฏิบัติโดยตรงที่พบกับคำวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายแบบ แต่เราก็ต้องมีกติกาด้วยว่า ถึงเวลาใดจึงจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากคดียังอยู่ในระหว่างการสืบพยาน ถ้าปล่อยให้มีการวิจารณ์ได้ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้วิจารณ์โน้มน้าวหรือกดดันให้ศาลคิดไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น จะต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุภาพ และให้เกียรติในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย บางที คนก็วิพากษ์วิจารณ์กันเกินขอบเขต ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่า ผู้พิพากษาก็ทำงานหนัก ข้อขัดแย้งของคู่ความในกระบวนพิจารณาบางทีก็มีมาก บางทีก็ทำให้ผู้พิพากษาเครียดไปด้วย บางทีเครียดสะสม ก็อาจจะมีการโต้ตอบหรือระบายออกมาบ้าง ซึ่งผมก็พยายามจะดูแลตรงนี้ให้ดีขึ้น ตอนนี้มีระเบียบข้อหนึ่งออกมาแล้วว่า ผู้พิพากษาอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปต้องตรวจสุขภาพจิตทุก 5 ปี เพื่อให้รู้สถานภาพทางจิตใจของตนเอง นี่เป็นการดูแลสุขภาพคนของเรา ซึ่งก็จะสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายด้วย

หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา และสังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากคือ กรณีที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนเสียชีวิต ตรงนี้ศาลมองอย่างไร กรณีของท่านคณากรถือเป็นจุดตั้งต้นให้ศาลต้องทบทวนอะไรบ้าง

แน่นอนครับ เราต้องทบทวนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องระบบการตรวจสอบคำพิพากษาหรือการทำงานของศาลชั้นต้น ดูว่ามีการแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษา หรือทำให้ผู้พิพากษาไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่ วิธีการที่เราใช้อยู่เหมาะสมหรือไม่ หรือในกรณีนี้มีอะไรเป็นพิเศษที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาไหม

ผมขออธิบายขั้นตอนกระบวนการก่อนว่า ในเรื่องที่บอกว่ามีการแทรกแซง หรือที่บอกว่าอธิบดีฯ เข้าไปตรวจสอบการทำงาน ในเชิงระบบมีมาตั้งนานแล้ว สมมติว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในศาลภูมิภาคทำคดีเสร็จ จะมีระเบียบบอกว่า ถ้าคดีสำคัญ ทุนทรัพย์สูง หรือเป็นคดีอาญาร้ายแรง หรือคดีที่ประชาชนสนใจ ต้องให้ส่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสอบก่อน เพื่อดูทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงต่างๆ ถ้าทางทีมงานท่านอธิบดีในภาคเห็นว่ามีบางเรื่องตกหล่นจะได้ช่วยแนะนำ เพราะเป็นผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์สูงกว่า เป็นหัวหน้าศาลมาแล้ว ในกรณีที่ทางภาคไม่เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษา ก็อาจจะบอกว่ามีความเห็นต่าง ให้เจ้าของสำนวนช่วยอธิบาย แล้วแต่วิธีการ แต่ถ้าคุยกันเรียบร้อยแล้ว เจ้าของสำนวนยังยืนยันตามเดิม ทางภาคทำได้อย่างเดียวคือทำความเห็นแย้งว่าไม่เห็นด้วย แต่คำพิพากษาต้องตัดสินไปตามที่เจ้าของสำนวนยืนยัน และความเห็นแย้งก็จะติดเรื่องไป ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์หากมีการยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาต่อไปในอนาคต ศาลสูงก็จะได้พิจารณาว่า ผู้พิพากษาในศาลล่างมีความเห็นแตกต่างอย่างไร จะได้เป็นแนวทางในการพิจารณาให้รอบคอบกันในการตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

กรณีของท่านคณากร เท่าที่ผมทราบมาคือ อาจจะเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดกันจนกลายเป็นความเข้าใจผิดขึ้นมา ท่านคณากรอาจจะรู้สึกว่า ตนเองถูกแทรกแซงจากอธิบดีภาคที่ให้ความเห็นแย้ง ซึ่งตามกระบวนการแล้ว ท่านคณากรสามารถทำความเห็นยืนยันกลับมา แต่ท่านอ่านคำพิพากษาเสียก่อน ซึ่งถ้าท่านคณากรยืนยันความเห็นของตนเองแล้ว อธิบดีภาคก็ทำได้แค่ทำความเห็นแย้งกลับมา เรื่องก็จะจบ

ตรงนี้เป็นขั้นตอนปกตินะครับ ย้อนกลับไปตอนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มีการแก้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ห้ามไม่ให้อธิบดีหรือหัวหน้าศาลตรวจสำนวน ให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีทำคำพิพากษาแล้วอ่านให้คู่ความฟังได้เลย เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญคงอยากให้ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระอย่างจริงจัง แต่ปัญหาที่เกิดตามมาคือ ในต่างจังหวัด ผู้พิพากษาใหม่ยังมีประสบการณ์คดีน้อย เมื่อไม่มีกลไกช่วยให้คำแนะนำ บางครั้งคำพิพากษาอาจขาดมาตรฐาน บางกรณีศาลเดียวกัน แต่คนละองค์คณะ กลับตัดสินไม่เหมือนกัน เป็นปัญหาเรื่องการขาดความเป็นเอกภาพ สังคมก็ขาดความเชื่อมั่นในศาล จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงมีการนำระบบการตรวจสอบแบบเก่ากลับมาใช้ ซึ่งในกรณีของท่านคณากร น่าเสียดายและน่าเสียใจอย่างยิ่งที่กลไกในระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันและกันไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ทุกช่องทาง

จริงอยู่ที่ระบบเปิดช่องให้ผู้พิพากษาเห็นแย้งผู้บังคับบัญชาได้ แต่โดยทั่วไป ข้าราชการก็มีแนวโน้มที่จะไม่เห็นแย้งกับผู้บังคับบัญชาหรือเปล่า กระบวนการที่ว่ามานี้ใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหนในวัฒนธรรมศาล

ในระบบศาล การแต่งตั้งโยกย้ายจะอยู่ที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่ง ก.ต. ไม่ยอมให้ผู้บังคับบัญชาทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชาเลยนะครับ มีกรณีที่ผู้พิพากษาชั้นผู้น้อยร้องเรียนผู้บริหารอยู่พอสมควร ถ้าจะบอกว่า ขัดใจกับผู้บังคับบัญชาแล้วต้องถูกย้ายไป แบบนี้ไม่เคยมี สมมติถ้าผู้บังคับบัญชารายงานอะไรเข้ามา ก.ต. ก็จะต้องตรวจสอบเรื่องก่อน นี่คือจุดแข็งของเรา

เพราะฉะนั้น ผมเลยมองว่านี่เป็นหลักประกันให้ผู้พิพากษากล้าจะยืนอยู่บนความเห็นของตัวเอง แต่ก็ต้องเป็นความเห็นที่มีเหตุผลด้วย เพราะถ้าไม่มีเหตุผลก็อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์


อีกหนึ่งกรณีหนึ่งที่สั่นสะเทือนวงการศาลเหมือนกันคือเรื่องบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ เรื่องนี้ศาลได้บทเรียนอะไรบ้าง

เราได้บทเรียนกันพอสมควรในเรื่องนี้ คือในเรื่องการออกแบบและสร้างบ้าน งบประมาณต่างๆ เป็นงานของฝ่ายธุรการ พูดง่ายๆ คือ ผู้พิพากษามีหน้าที่หิ้วกระเป๋าเข้าไปอยู่อย่างเดียว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเลย

ส่วนเรื่องบ้านพักที่ว่านี้ สำนักงานศาลทำตามขั้นตอน แต่ภาพที่เห็นคือ ต้นไม้ถูกตัดแล้วแหว่งเว้าเข้าไปข้างบน โดยรอบๆ เป็นพื้นที่ป่า ตรงนี้เป็นความไม่ละเอียดรอบคอบในการดำเนินการ แต่พอเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว สิ่งสำคัญคือเราจะแก้ไขอย่างไร

พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น ผมก็ให้นโยบายกับสำนักงานศาลยุติธรรมเลยว่า ต่อไปจากนี้การก่อสร้างทั้งหมดต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และคำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพราะเรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ เราต้องยอมรับว่าต้องแก้ไขเรื่องนี้ด้วย โดยส่วนตัวผมเป็นคนแอนตี้เรื่องการทำลายป่าอย่างรุนแรงอยู่แล้ว

ที่ผ่านมา ศาลถูกดึงให้เข้าไปมีบทบาทเชื่อมโยงกับโลกของการเมืองมากขึ้น เช่น มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีแผนกคดีเลือกตั้ง หรือประธานศาลฎีกาต้องเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระหลายแห่ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. กกต. คตง. หรือการให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งผู้พิพากษาเข้าไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ท่านมองว่าเส้นแบ่งระหว่างโลกตุลาการกับโลกการเมืองที่สมดุลควรจะอยู่ตรงไหน

โดยพื้นฐานผู้พิพากษาไม่ชอบเล่นการเมือง และก็ไม่รู้จะเล่นการเมืองไปทำไม ส่วนการที่ผู้แทนศาลต้องเข้าไปนั่งที่องค์การต่างๆ และมีบทบาทอื่นๆ เป็นผลมาจากการที่บุคคลภายนอกเชื่อมั่นในสถาบันศาล และอยากให้เกิดระบบการถ่วงดุลอำนาจ ทั้งที่ผู้พิพากษาจำนวนมากไม่อยากให้ศาลเข้าไปมีบทบาทอื่นๆ เหล่านั้น เพราะสุดท้ายถ้ามีปัญหาอะไร คำถามก็ต้องกลับมาที่ศาลอยู่ดี

เพราะฉะนั้น บางครั้งเราถือว่า เราทำงานให้ดีที่สุดตามหน้าที่ที่กฎหมายบังคับหรือกำหนดให้เราทำ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สังคมภายนอกก็น่าจะแบ่งแยกศาลให้ชัดเจนเหมือนกัน ศาลในปัจจุบันมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร ซึ่งมีอำนาจต่างกัน แยกส่วนกันเลย และใช้ประมวลกฎหมายหรือกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแตกต่างกัน น้อยมากที่ศาลยุติธรรมเราจะไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่พอคนเรียกศาลแล้ว ทุกที่ก็กลายเป็นศาลหมด จนบางครั้งศาลเลยโดนมองว่าหลายมาตรฐาน (หัวเราะ)

ถ้าโจทย์ใหญ่คือ การทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในสถาบันศาลและผู้พิพากษา บทบาทผู้พิพากษาในสังคมไทยสมัยใหม่ต้องเป็นอย่างไร ควรปรับเปลี่ยนจากเดิมมากน้อยแค่ไหน

ผมมองว่า ปัจจุบันเป็นยุคขององค์ความรู้และเทคโนโลยี ผู้พิพากษาสมัยใหม่จึงต้องเท่าทันโลกและรู้เท่าทันศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราก็มีการพัฒนาระบบ Digital Court ในหลายๆ เรื่องแล้ว

พื้นฐานเรื่องความเป็นธรรมมีมาตั้งแต่อดีตกาล ความเป็นตุลาการที่จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่สังคมเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ธรรมชาติของคนที่จะมาชี้ความเป็นธรรมให้คนอื่นต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตรงนี้เป็นเรื่องสากล (universal) ไม่ว่ามนุษย์จะมีพัฒนาการอย่างไร ผู้พิพากษาจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นศาลและความเป็นอิสระ รวมถึงความยุติธรรมตามธรรมชาติ หรือที่เราเรียกกันว่าหลักนิติธรรม

แต่อย่างที่ผมเรียนไว้ตอนต้น ผู้พิพากษาต้องเท่าทันโลก และใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ในโลกที่ซับซ้อนและองค์ความรู้ทุกอย่างเชื่อมร้อยกันหมด หลายคนบอกว่าผู้พิพากษาจะรู้เฉพาะกฎหมายไม่ได้ โจทย์ท้าทายสำคัญในการสร้างผู้พิพากษาหรือนักเรียนกฎหมายในโลกยุคใหม่คืออะไร

ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้และทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียว ผมคิดว่าวิธีการที่ดีที่สุดคือ การออกแบบการทำงานของศาล เราอาจจะออกแบบให้มีผู้พิพากษาสมทบ คือเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาอาชีพ แต่เป็นคนที่เชี่ยวชาญในสายงานของตัวเอง และพอผสมผสานกันก็คือความพอดี ตรงนี้ง่ายกว่าการทำให้คนเดียวรู้ทุกอย่าง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ การเชื่อมโยงงานศาลกับฝ่ายอื่นอาจจะต้องทำให้มากขึ้น

ส่วนเรื่องการเรียนการสอน ต้องมองก่อนว่า โลกยุคนี้เรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี การเข้าถึงกฎหมายด้วยเทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้มากขึ้น นักกฎหมายควรจะรู้ภาษาสากลของโลกด้วย เราต้องแข่งขันต่อสู้กับโลก หลักสูตรการเรียนการสอนอาจจะต้องเปลี่ยนภาษาไปด้วยเพื่อเรียนรู้โลกที่กว้างขวางขึ้น ผมได้มีโอกาสแนะนำให้เนติบัณฑิตยสภาเพิ่มเรื่องของการเรียนภาษาต่างประเทศเข้าไป เช่น วิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย แม้สัดส่วนคะแนนจะน้อย แต่ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นให้นักกฎหมายต้องทันโลก

ในหลายประเทศ กฎหมายเป็นปริญญาใบที่สองนะครับ หมายความว่า การที่คุณจะเป็นนักกฎหมายได้ คุณต้องมีความรู้พื้นฐานด้านอื่นมาก่อน ผมคิดว่า ถ้านักกฎหมายมีกระบวนการคิดที่แตกต่างจากระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ เขาน่าจะมีวิจารณญาณในการตัดสินที่กว้างขึ้นด้วย เราเห็นหลายคนที่จบนิติศาสตร์ รู้กฎหมาย แต่ไม่เข้าใจถึงปรัชญาหรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมาย ตรงนี้อาจจะมาจากการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วยก็ได้ เราเลยมีนักกฎหมายเยอะแยะไปหมด แต่เป็นนักกฎหมายที่ตีความอะไรก็ได้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

จากที่เรียนและทำงานในแวดวงกฎหมายมาทั้งชีวิต ท่านนิยาม ‘ความยุติธรรม’ อย่างไร 

สำหรับผม การวินิจฉัยชี้ขาดความยุติธรรมต้องมาจากเนื้อหาสาระ ไม่ใช่รูปแบบ ผมเป็นคนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการตัดสินคดีด้วยเทคนิคทางกฎหมายมาตลอด คือเลี่ยงที่จะให้คนที่มีเทคนิคสูงกว่า มีแง่มุมมีเหลี่ยมที่ดีกว่าเป็นผู้ได้เปรียบ แต่เลือกจะมองเข้าไปที่เนื้อหาสาระ ผมมองว่าความเป็นธรรมที่สูงกว่าอะไรทั้งหมดคือความยุติธรรมตามธรรมชาติ ที่คุณไม่มีสิทธิเอาอะไรที่ไม่ใช่ของคุณไป

ในเรื่องรูปแบบของกฎหมายหรือปัญหาเชิงเทคนิค ถ้าว่ากันตามทฤษฎีก็เป็นเรื่องของกฎกติกา แต่เราต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่า ถ้าเรายึดถือกฎกติกาแบบตายตัว และทำให้เนื้อหาสาระของความยุติธรรมเสียหายไป ก็อาจจะทำให้คนบางคนเสียสิทธิหรือการคุ้มครองที่เขาพึงจะได้รับ ดังนั้น ถ้าผมมีทางเลือก ผมจะเลือกไปในทางคุ้มครองให้เขาได้รับความเป็นธรรม แต่เราต้องหาเหตุผลมาอธิบายกฎหมายให้ได้ เพราะศาลไม่สามารถสร้างกฎหมายเองได้ แต่ต้องบังคับและตีความกฎหมาย เราจึงต้องพยายามอธิบายให้ความยุติธรรมดำเนินไปได้และให้เหตุผลที่ดีพอด้วย

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์


ถ้าต้องสื่อสารกับผู้พิพากษาหรือนักกฎหมายรุ่นน้อง อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการธำรงความยุติธรรมไว้

เราต้องสร้างความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐาน และสร้างศรัทธาให้เกิดเสียก่อน จากนั้นจึงตามมาด้วยการอธิบายด้วยเหตุและผลทางกฎหมาย หรือที่เรียกว่าความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม ตรงนี้จะทำให้การให้เหตุผลหรือการชี้ถูกชี้ผิดได้รับการยอมรับ แต่เราต้องวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองให้ถูกเสียก่อน

จริงๆ เราต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า เวลาต้องชี้ขาดคดีใดคดีหนึ่ง เรามีอคติไหม รู้สึกรักโลภโกรธหลงไหม บางทีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นมาเองโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่เราต้องเตือนสติตัวเองตลอดว่าจะไม่เอาความรู้สึกตรงนี้มาเป็นประเด็นสำคัญ ที่สำคัญเราต้องมีหลักคิดด้วย เพราะหลายครั้งที่เราอ่านกฎหมายแล้วรู้สึกว่ามันก้ำกึ่ง พอก้ำกึ่งแล้ว ถ้าเราไม่มีหลักคิดก็จะลำบาก

หากมองย้อนกลับไปในเส้นทางชีวิตการเรียนและการทำงาน อะไรที่หล่อหลอมตัวตนของท่านให้เป็นอย่างที่เป็น คิดอย่างที่คิด เชื่ออย่างที่เชื่อในปัจจุบัน 

ผมเป็นคนที่มีชีวิตค่อนข้างราบเรียบ ไม่ได้มีจุดพลิกผันที่เปลี่ยนความคิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลทางความคิด ข้อแรกคือ ผมเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการ แม่เป็นครูประชาบาลสอนชั้นประถมศึกษา พ่อเป็นเสมียนศาล ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม เพราะแม่ผมเป็นครูสอนหนังสือทำให้เป็นคนมีวินัย รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร พ่อผมก็เหมือนกัน การเป็นเสมียนศาลทำให้วันๆ มีแต่คนมาปรึกษานั่นนี่ พ่อก็คอยให้คำแนะนำผู้คน

แม่เป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบของชีวิต แม้เงินเดือนไม่มากแต่ก็เก็บหอมรอมริบส่งลูก 3 คนเรียนหนังสือจนจบ พ่อแม่ไม่ได้สอนเชิงคุณธรรม แต่มีวัตรปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนใคร หลายอย่างที่เราเห็น ทำให้รู้สึกว่าเราต้องสู้ ตั้งแต่เด็กผมรู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง ผมเป็นคนที่ไม่กลัวอะไร ไม่กลัวชีวิตที่แปลกใหม่ ไม่กลัวว่าจะทำอะไรไม่ได้

อีกอย่างคือ ผมเป็นลูกครู เลยรู้สึกว่าไม่เก่งไม่ได้ กลัวแม่เสียหน้า ก่อนไปเรียนเลยต้องถามแม่ก่อนว่าวันนี้จะเรียนอะไร แม่ก็จะแนะนำผม พออยู่ในชั้นเรียนเราเลยเป็นพระเอก เพราะรู้จากแม่มาก่อนแล้ว (หัวเราะ) ทีนี้ พอเราฟอร์มดี เก่งในสายตาเพื่อน มันก็ทำให้เราต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ ตรงนี้เลยกลายเป็นแรงขับเคลื่อนจนผมโตขึ้น ก่อนจะเข้าเรียน ผมต้องถามตัวเองเสมอว่ามีอะไรที่ผมสู้เพื่อนไม่ได้บ้าง จะได้พัฒนาตัวเอง

พอถึงตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต้องเล่าก่อนว่า จริงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจเรียนสายนิติศาสตร์ตั้งแต่แรก ผมเลือกสอบหมอหมดเลยเพราะจบสายวิทย์ แล้วก็ห้อยนิติศาสตร์ไว้ลำดับท้าย แต่พอมาบอกแม่ แม่ผมร้องไห้เลย บอกว่าถ้าเกิดได้หมอขึ้นมา แม่จะเอาเงินที่ไหนส่ง เพราะแม่กลัวว่าการเรียนหมอจะใช้เงินเยอะ และเราก็ไม่รู้เรื่องทุนมากด้วย แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเราเลือกไปแล้ว พอผลสอบออกมาว่าติดกฎหมาย แม่เลยดีใจหัวเราะคิกคัก (หัวเราะ) แต่คนที่ดีใจที่สุดคือพ่อ เพราะพ่อผมเป็นเสมียนศาล เป็นนักเรียน มธก. (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ในสมัยที่เป็นตลาดวิชา แต่ตอนนั้นพ่อเล่าว่าเกเร ไม่มีวินัย สุดท้ายก็เรียนไม่จบ พอผมสอบติดนิติศาสตร์ พ่อก็ดีใจที่มีคนสืบทอดเจตนารมณ์ของเขา

พอผมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เรียนที่ธรรมศาสตร์ เราไม่รู้อะไรเลยเรื่องเมืองหลวง รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอก ไปไหนก็ลำบาก มีเงินใช้เดือนละ 800 บาทเอง ตอนนั้นเวลาอยู่กับเพื่อนๆ ก็งงว่า ทำไมเด็กกรุงเทพฯ รู้เรื่องไปหมด แต่ตัวเราไม่เข้าใจเลย รู้สึกว่าเราสู้เขาไม่ได้จริงๆ เพราะฉะนั้น เราต้องพยายาม ผมเลยใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดค่อนข้างมาก อ่านหนังสืออย่างละเอียด ตอนนั้นเป็นหลังยุคหลัง 14 ตุลาฯ พอดี นักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก ผมก็อ่านหนังสือมาก เรียกว่าเป็นยุคของนักศึกษาอย่างแท้จริง

ชีวิตในธรรมศาสตร์ตอนนั้นให้อะไรบ้าง

ผมมองเสมอว่า ตัวเองเป็นคนบ้านนอก ไม่เคยดูถูกคนจน การโตมาจากต่างจังหวัดทำให้เราเป็นแบบนั้น อีกอย่างคือในยุคสมัยประชาธิปไตยคนเดือนตุลาที่ผมเรียนอยู่ เด็กธรรมศาสตร์จะชอบพูดถึงชาวไร่ชาวนา เป็นความรู้สึกที่ธรรมศาสตร์มอบให้เราเลยว่า เราต้องเห็นใจคนยากคนจน ชาวไร่ชาวนาในชนบท ตรงนี้ทำให้เรามีวิถีทางในการมองคน โดยไม่ได้มองที่ฐานะหรือคุณค่าอะไร แต่รู้สึกว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมเป็นพื้นฐาน และอย่าเอาเปรียบคน จิตสาธารณะแบบนี้มาจากธรรมศาสตร์เลย และยังจำวลีในสมัยนั้นได้แม่นยำว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

พอผมเข้ามาเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ เส้นทางก็เริ่มชัดเจน ไม่ถอยหลังกลับแน่นอน ตอนนั้นผมเห็นอยู่ 2 ทาง คือถ้าไม่เป็นอัยการ ก็เป็นผู้พิพากษา พอตั้งหลักได้ผมก็ลุยหน้าเต็มที่ ปักธงสำหรับการเรียนและการทำงาน มุ่งมั่นเดินไปข้างหน้า ก็พยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การดำรงตำแหน่งเกือบหนึ่งปีเต็มในฐานะประธานศาลฎีกา ก่อนจะพ้นตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายนนี้ ท่านคิดว่าได้ทำสิ่งที่อยากทำได้สำเร็จแค่ไหน และวางแผนต่อไปในอนาคตอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่เป็นวัตรปฏิบัติของผมคือ เวลาจะสั้น-ยาวไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่เราได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ต้องทำทุกนาทีให้เต็มที่ ผมสอนน้องๆ เสมอว่า อย่ามองว่าเรามีวาระสั้นๆ เดี๋ยวก็ไป เลยไม่ทำอะไร ถ้าคิดแบบนี้สังคมไม่เจริญแน่นอน

ถึงผมจะเหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกไม่กี่เดือน แต่ก็ยังมีโครงการอีกมาก ทั้งเรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่มารับบริการจากศาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่าทำอย่างไรที่จะช่วยคนจำนวนมากที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ศาลจึงได้ออกโครงการงดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายของคู่ความในการดำเนินคดี โครงการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ในศาลยุติธรรม โครงการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมให้กับแรงงาน และโครงการกำหนดวงเงินประกันของผู้ต้องหาหรือจำเลยกรณีปล่อยชั่วคราวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ค่าธรรมเนียม ค่าขึ้นศาล หรือค่าส่งหมายต่างๆ ที่กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ ผมจะลดให้ประชาชน แต่ก็ต้องขอร้องคนของศาลด้วย เพราะเจ้าหน้าที่เคยได้ค่าส่งหมาย เราก็ต้องอธิบายว่า ช่วงนี้เราต้องช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนก่อน นอกจากนั้น เราได้สำรวจผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และพยายามจะไปช่วยในจุดที่เป็นปัญหาโดยตรง เช่น คดีแรงงานหรือคดีล้มละลาย รวมทั้งเราต้องช่วยเรื่องการไกล่เกลี่ยประนีประนอมให้ประชาชนสะดวกขึ้น ในภาวะบ้านเมืองวิกฤต กระบวนการยุติธรรมทางเลือกเป็นทางออกที่สำคัญมาก

นอกจากนี้ ในเวลาที่เหลืออยู่ ผมต้องการผลักดันโครงการศาลยุติธรรมยั่งยืน ระบบยุติธรรมมั่นคง (Sustainable Court, Sustainable Justice) โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้พิพากษาในเรื่อง “ศาลยุติธรรมในอุดมคติในยุค Disruption” เราทำแบบสอบถามผู้พิพากษารุ่นใหม่ในระดับศาลชั้นต้นทั้งหมด เพราะพวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวที่มีพลัง มีความมุ่งมั่นพร้อมจะเปลี่ยนแปลง และน่าจะเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคนี้ได้ดีกว่าใคร ผมอยากให้พวกเขาได้สะท้อนมุมมองออกมาว่าอยากเห็นศาลในฝันของพวกเขาเป็นอย่างไร อะไรคืออุปสรรคและความท้าทายในการทำงานของผู้พิพากษา อุดมคติจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมเศรษฐกิจที่แปรปรวน และจะมีกระบวนการใดที่จะทำให้ผู้พิพากษาทั้งองค์กรมีส่วนร่วมในการสานความฝันสู่ความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ของประชาชน

นี่เป็นวิธีแบบ bottom up ที่ศาลเราไม่ค่อยได้ทำสักเท่าไหร่ จากนั้นเราก็จะมีการเปิดเวทีระดมสมองกันทุกภาคส่วนต่อไปว่าทำอย่างไรให้ทุกคนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ให้สถาบันศาลยุติธรรมสามารถพัฒนางานเรื่องความเป็นธรรมที่ตอบโจทย์ช่วยสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืน

อีกโครงการหนึ่งคือเรื่องความเป็นเลิศทางศาล (court excellent) โดยมีหลายประเทศมารวมกันและสร้างตัวชี้วัด (KPI) ขึ้นมาให้ศาลได้วัดตัวเองว่า ถ้าจะพัฒนาศาลต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง ดูว่าการบริหารงานในศาลและเทคโนโลยีเป็นอย่างไร ตอนนี้ผมกำลังให้ทีมงานทำเรื่องนี้อยู่ ถ้าสำเร็จก็จะลองใช้ก่อนที่ผมจะหมดวาระ ให้โครงการนี้เริ่มนับหนึ่งได้ และต่อไปผู้บริหารของศาลจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือนี้ในการประเมินสถานะตัวเอง มองเห็นช่องว่างที่ขาดหายไป และเป็นการทำให้ศาลรู้จักตัวเอง

ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พิพากษารุ่นใหม่ได้เห็นว่า ในอนาคตข้างหน้า เมื่อรุ่นของพวกเขาเข้ามารับช่วงต่อแล้ว เขาควรจะคิดและทำอะไร รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วย ผมหวังว่า พวกเขาจะได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง เพื่อร่วมกันสร้าง “ความยุติธรรมที่ยั่งยืน” ต่อไป

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์

สัมภาษณ์: วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save