fbpx
ทางออกที่ไม่ใช่คุก : อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย

ทางออกที่ไม่ใช่คุก : อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

 

เมื่อพูดถึงปัญหาคนล้นเรือนจำ หรือการคืนผู้พ้นโทษสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ เรามักจะยังยึดโยงอยู่กับการพัฒนาคุก หรือพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้พ้นโทษ แต่ขณะเดียวกันหากตั้งคำถามใหม่ว่า มีทางอื่นไหมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่ต้องจับขังในเรือนจำ?

เมื่อตั้งคำถามแบบนี้ คำว่า ‘เรือนจำ’ หรือ ‘คุก’ ก็จะหายไปจากสมการ โดยเปลี่ยนเป็นมาตรการอื่นๆ แทน ปัญหาคนล้นเรือนจำ หรือสภาพแวดล้อมในเรือนจำส่งผลให้ผู้ต้องขังไม่อาจคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ก็อาจถูกปลดล็อกไปได้เช่นกัน

ในปัจจุบันเริ่มมีวิธีการลงโทษตามกฎหมายในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเอาคนเข้าคุมขังเท่านั้น เช่น การคุมประพฤติ การติดตามตัวด้วยระบบกำไลอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้กำลังมีการพัฒนาและหาจุดที่เหมาะสมอยู่ ควบคู่กับการแก้ปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

ในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ ในหัวข้อ ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน : ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ ที่จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ คือ Besides Prison – อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย โดยในปัจจุบัน ศาลใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังมากขึ้นตั้งแต่ก่อนการพิจารณาคดี

 

วงเสวนาเรื่อง Besides Prison – อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย

 

มาตรการทางเลือกที่มิใช่การคุมขัง

 

ตัวเลขล่าสุดในปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ใน 1 ปี มีคนขอประกันตัวจำนวน 200,000 คน ได้รับการอนุญาต 94 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการทางเลือกที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนคนที่เข้ามาสู่ระบบยุติธรรมทั้งหมด ศาลตัดสินลงโทษโดยไม่ใช้มาตรการคุมขัง 85 เปอร์เซ็นต์ เช่น การรอลงโทษ การคุมประพฤติ โทษปรับ ส่วนที่เหลืออีก 15 เปอร์เซ็นต์เป็นมาตรการคุมขัง ซึ่งตัวเลขนี้น้อยลงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างชัดเจน (ปี 2554 ใช้มาตรการคุมขัง 25 เปอร์เซ็นต์)

“ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายค่อนข้างมาก ในเรื่องของกฎหมายคุมประพฤติ กฎหมายราชทันฑ์ ผมว่าเราอยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่ดี ที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อใช้มาตรการทางเลือกมากขึ้น” ศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว

 

ศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

 

ปัจจัยสำคัญที่ใช้พิจารณาในการปล่อยตัวระหว่างพิจารณาคดีคือดูความเสี่ยง 3 อย่าง 1. ดูว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่ 2. ผู้ต้องหาจะไปยุ่งกับพยานและหลักฐานไหม และ 3. เขาจะไปก่ออันตรายประการอื่นหรือไม่ เช่น การกระทำผิดซ้ำ เป็นต้น

ต่อมาในขั้นตอนการลงโทษ ศาลจะพิจารณาว่าจะลงโทษด้วยการจำคุกหรือคุมประพฤติ ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาจะดูปัจจัยครอบคลุมทั้งเรื่องของ อายุ อาชีพ การศึกษา สภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ ความรู้สึกผิด การบรรเทาผลกับผู้เสียหายของผู้ต้องหา เพื่อประกอบการพิจารณาคดี

ตอนนี้มีทางเลือกใหม่ในการคุมประพฤตินักโทษ คือกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center) หรือที่เรียกว่า EM ปัจจุบันมีการใช้มาตรการนี้ในระดับความผิดที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ที่รอลงการลงโทษและกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติไว้

ด้วยเทคโนโลยีและมาตรการที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ศาลมีทางเลือกการตัดสินมากขึ้น ตั้งแต่กำหนดวันรายงานตัว ทำงานบริการสังคม หรือห้ามออกนอกสถานที่ที่กำหนดโดยใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการให้อำนาจศาลในการใช้มาตรการทางเลือกมากขึ้น

 

กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center)

 

อย่างไรก็ตาม คดียาเสพติดก็ยังเป็นคดีที่มีตัวเลขผู้ต้องขังจำนวนมาก และเมื่อเข้าไปในเรือนจำแล้วก็อยู่เป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันต่อไป ถึงแม้ว่ามาตรการทางเลือกที่มิใช่การคุมขังจะดูเป็นทางออกที่ดี แต่ในแง่ปฏิบัติแล้ว ต้องหาข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสม โดยศุภกิจมองว่า ยิ่งมีข้อมูลมากยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการไม่ใช้มาตรการการคุมขัง

“ถ้าเราจะสร้างมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง ต้องใช้ความร่วมมือหลายๆ ส่วน ต้องมีความรู้และความเข้าอกเข้าใจคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย อย่างวาทกรรมที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน ความจริงแล้วคุกมีไว้ขังคนผิด แต่ก็อาจจะมีคนจนบางส่วนที่กระทำความผิดมาเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ที่เราขังไม่ใช่เพราะเขาจน เราขังเพราะเขากระทำความผิดมา” ศุภกิจกล่าว

 

เปลี่ยนวิธีคิดคนในกระบวนการยุติธรรม

 

กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทยคือคดียาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่พยายามแก้กันมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ปัญหาสำคัญไม่ใช่เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนมากเท่านั้น แต่ระยะเวลาในการจำคุกก็นานด้วย เพราะคดียาเสพติดมีโทษร้ายแรง กลายเป็นว่ามีคนเข้ามากกว่าคนออก ตัวเลขคนในเรือนจำจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าจะหยุด

ปัจจุบันงบประมาณหลักของกระทรวงยุติธรรมกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำมาใช้กับผู้ต้องขังและเด็กเยาวชนในสถานพินิจ ปีละประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าตัวเลขมหาศาลเช่นนี้ รัฐบาลอาจไม่สามารถแบกรับต่อไปได้ในระยะยาว จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

โกมล พรมเพ็ง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงยุติธรรม อธิบายแผนนโยบายที่จะนำมาใช้เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังลง โดยใช้การพยายามผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และผลักดันพระราชบัญญัติพฤติกรรมชุมชน ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ ให้ช่วยกันดูแลสอดส่อง และช่วยให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายมากขึ้น นอกจากการผลักดัน พ.ร.บ. ข้างต้นแล้ว ยังมีการทำงานด้านคุมประพฤติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเข้าไปแก้ไขที่ระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการแก้ไขวิธีคิดของคนในสังคมด้วย หลายครั้งที่มีคดีความไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ในปัจจุบันคนเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แจ้งความดำเนินคดีกันมากขึ้น ทำให้ทุกคนไหลเข้าระบบทั้งที่ไม่ได้อยากเข้า

 

โกมล พรมเพ็ง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงยุติธรรม

 

ทั้งนี้ โกมลยังพูดถึงประเด็นเรื่อง การฝากขังแทนค่าปรับ ซึ่งเขามองว่าไม่ควรมีในประเทศไทย

“คนที่ไม่มีเงินมากพอ จะถูกขังแทนการจ่ายค่าปรับ ซึ่งไม่แตกต่างจากการถูกจำคุกเลย แค่ใช้ชื่อต่างกันเท่านั้นเอง แทนที่รัฐจะได้ประโยชน์กลับเสียประโยชน์ เพราะต้องมาดูแลเขาอย่างดี แทนที่จะทำให้เขากลับไปอยู่ในสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มหรือไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ กลับกลายเป็นว่ารัฐต้องมาดูแลส่งเสียเลี้ยงดู จากโครงการ ‘กินอิ่มนอนอุ่น’ ของกระทรวงยุติธรรม ทำให้เรือนจำสะดวกสบายขึ้นและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ก็เลยมีอยู่จำพวกหนึ่งที่เสพติดคุกและทำผิดซ้ำ”

จะเห็นได้ว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการทำผิดซ้ำ และส่งผลต่อคนล้นเรือนจำ ปัญหาทั้งหมดวนเวียนเป็นวงกลม จำเป็นต้องแก้ไปทีละเปลาะอย่างละเอียดและระมัดระวัง ทั้งส่งเสริมด้านการเรียนการสอน ฝึกอาชีพ เตรียมหางานก่อนปล่อยตัว เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ

“ตอนนี้กระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานยุติธรรมชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนนั้นได้มีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องของการป้องกันแก้ไขปัญหาและจัดการชุมชนให้เป็นระเบียบ นอกจากนั้นยังมีการให้ความรู้ความเข้าใจกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากคนเรานั้นเป็นผลผลิตของชุมชน ชุมชนเองก็ควรที่จะมีส่วนในการช่วยรับผิดชอบด้วย”

ก่อนจบ โกมลทิ้งท้ายไว้ว่า ควรจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนในกระบวนการยุติธรรม และปรับปรุงข้อกฎหมายบางประเภท

ถ้าจะแก้ไขปัญหาคนล้นคุกได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนวิธีคิดของคนในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมใหม่ แทนที่จะใช้กระบวนการหลัก ให้หันมาใช้กระบวนการยุติธรรมแบบสมานฉันท์ หรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้มากขึ้น”

“ประเด็นที่สอง เราต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพราะกฎหมายคือตัวกลางสำคัญที่ทำให้คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องของคดียาเสพติดบางประเภท อาจทำให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ เช่น คดีกระท่อม แต่ก็ต้องกำหนดวิธีการใช้และผลิตภัณฑ์ เรื่องของกัญชาก็เช่นกัน”

“การแก้ปัญหาคนล้นคุกเป็นปลายเหตุ การแก้ที่ต้นเหตุคือเรื่องการทำอย่างไรให้คนไทยทำตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา” ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงยุติธรรมกล่าวสรุป

 

กลไกการจัดการผู้กระทำความผิด และความร่วมมือจากชุมชน

 

ต่อจากประเด็นของการแก้ไขข้อกฎหมาย และการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล และยอมรับผู้พ้นโทษมากขึ้น รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายบทบาทของชุมชนว่า ชุมชนสามารถเข้ามาช่วยเหลือเหยื่อ และทำให้ผู้กระทำผิดสำนึกได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่โลกให้ความสำคัญมานานแล้ว ก่อนที่จะเกิดการใช้วิธีการแก้แค้นทดแทนในศตวรรษที่ 20 จนในปัจจุบันมีความพยายามที่จะกลับไปใช้มาตรการให้ชุมชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง จริงอยู่ที่การสามัคคีปรองดอง การสำนึกผิด และการให้อภัยไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาพัฒนาส่งเสริมในเรื่องนี้

รศ.ดร.จุฑารัตน์ ยกตัวอย่างกรณีตัวอย่างในแคนาดา เมื่อปี 1974 ที่ทำให้คนเห็นภาพว่าการแก้แค้นถูกทดแทนด้วยพื้นที่ของการให้อภัยและชดใช้เยียวยาอย่างไร

“เมื่อปี 1974 ที่แคนาดา มีเด็กไปขีดเขียนตามบ้านคนอื่น 22 แห่ง จริงๆ แล้วต้องส่งไปที่ศาลและเข้าคุก ถึงแม้จะเป็นคดีเล็กน้อย แต่ก็มีการให้ไปพูดคุยกับผู้เสียหาย โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ประสานงาน และผู้เสียหายยอมเปิดประตูพูดคุยกัน โดยวิธีดังกล่าว ทำให้พื้นที่ของการแก้แค้นถูกทดแทนด้วยพื้นที่ของการให้อภัยและชดใช้เยียวยา ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐจ่ายเงินชดใช้เยียวยาต่างๆ แต่เป็นการชดใช้โดยตรง และนำไปใช้ในชุมชนเองด้วย”

จากกรณีนี้ รศ.ดร.จุฑารัตน์มองว่าสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้

“ในชุมชนก็จะมีทั้งในเชิงป้องกัน เชิงจัดระเบียบชุมชน เช่น มีความขัดแย้งก็แก้ไข และก็ยังมีเหยื่ออาชญากรรมซึ่งส่วนมากเราหลงลืม ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลเหยื่อไม่มากพอ ชุมชนเลยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถช่วยกลับมาซับน้ำตาให้กับเหยื่อเหล่านี้ได้”

ระบบการไกล่เกลี่ยแบบนี้ได้รับการรองรับในระบบกฎหมายมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการตัดสินคุมขังคนได้น้อยลงด้วย กระบวนการดังกล่าวนี้ทั้งกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมต่างพยายามนำไปปรับใช้พัฒนา มีศูนย์ต่างๆ เพื่อจัดการความขัดแย้งในชุมชนมากขึ้น

 

รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“ถ้าเรามองว่าจะทำให้สังคมสงบสุขโดยไม่ใช้การแก้แค้นและติดคุก เราก็จะสามารถใช้วิธีที่ประหยัดกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า นำมาใช้ได้ทั้งในชุมชนและกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก” รศ.ดร.จุฑารัตน์กล่าวถึงประเด็นการไกล่เกลี่ยในชุมชนอย่างกระชับ

การนำมาตรการนี้มาใช้ในระดับชุมชน มีความจำเป็นที่ต้องรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อให้คนมีวิธีมองการทำโทษแบบใหม่ที่ไม่ใช่เฉพาะการคุมขังเท่านั้น

“การที่จะทำให้คนตระหนักรู้นั้น เราต้องให้ความรู้เขาก่อน เราต้องลองเปลี่ยนวิธีคิด เช่นสมัยก่อนเขาจับคนมาได้ 1 คน เขาก็บอกว่าคนนี้กระทำผิดอะไรมา มีโทษอะไร ค่าเสียหายเป็นอย่างไร เขาละเมิดผู้เสียหายอย่างไร แล้วค่อยมาดูว่าละเมิดกฎหมายอย่างไร นี่คือการคืนความเป็นมนุษย์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นเราควรตั้งโจทย์ใหม่ว่า จะสามารถสร้างสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ได้อย่างไรเพื่อเกิดการให้อภัยกัน”

ประเด็นการให้อภัยและการไกล่เกลี่ย มีกรณีศึกษามาแล้วหลายครั้ง เช่นในคดีข่มขืนที่พัทลุง เมื่อผู้กระทำผิดกลับเข้าไปอยู่ในชุมชน ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับพ่อแม่ของผู้เสียหาย กรมคุมประพฤติได้จัดให้มีการพูดคุยขอโทษ และดูว่าผู้กระทำผิดมีพฤติกรรมในชุมชนอย่างไร โดยใช้ชุมชนเข้าช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

“ต้องเริ่มจากการมีความรู้และความเข้าใจก่อน และสุดท้ายในขั้นปฏิบัติ เขาก็จะให้ความสำคัญกับเหยื่อหรือผู้เสียหาย หมายความว่าการที่จะเชิญเหยื่อมาประชุมสมานฉันท์ ตัวเหยื่อจะต้องให้ความยินยอม เพราะให้ความสำคัญกับเหยื่อ ซึ่งเหยื่อก็มีสิทธิที่จะรู้สึกแค้น แล้วอยากใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ก็ต้องปล่อยให้เขาใช้ ไม่ตัดสิทธิเขา”

อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่ระดับโลกที่ว่า ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักดีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องใช้วิธีการทางเลือกอื่นๆ อีก รศ.ดร.จุฑารัตน์ สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ยังมีปัญหาคดีล้นศาลและคนล้นคุก ซึ่งเป็นปัญหาของการบริหารจัดการ

ประเด็นที่สอง แม้เป็นความผิดเล็กน้อย แต่ยังนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งยังมีการกำหนดโทษสูงเกินไป

ประการที่สาม กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักคือการแก้แค้นทดแทน วิธีแก้คือการใช้มาตรการทางเลือกที่มิใช่การคุมขัง

ประการที่สี่ ชุมชนเริ่มเข้มแข็งขึ้น รัฐชาติเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบ ฉะนั้นเมื่อชุมชนเข้มแข็งจึงย้อนกลับมาใช้ Community Justice ได้มากขึ้น

ประการที่ห้า กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ กลุ่ม ดังนั้นการทใช้วิธีอื่นนอกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักจะช่วยแก้ปัญหา คือเข้าให้น้อยที่สุด แล้วออกให้เร็วที่สุด

 

[box]

 บทเรียนจากต่างประเทศ: เราเรียนรู้และปรับใช้อะไรได้บ้าง?

 

นอกจากการพูดถึงเรือนจำและระบบยุติธรรมไทยแล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจของงานเสวนาในครั้งนี้ คือการบรรยายพิเศษจาก 2 ผู้เชี่ยวชาญในวงการอาชญาวิทยา ที่มาถ่ายทอดบทเรียนและประสบการณ์การทำงาน อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

สหรัฐอเมริกา: ผลกระทบของการใช้โทษจำคุก และการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ นอกเหนือบริบทเรือนจำ

ดร.บาร์บารา โอเวน (Prof. Barbara Owen)

 

“ความไม่เท่าเทียมเป็นทั้งสาเหตุของปัญหาในเรือนจำ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงต้องเข้าสู่เรือนจำ” เป็นคำกล่าวของ ดร.บาร์บารา โอเวน (Prof. Barbara Owen) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาชาวอเมริกัน ผู้มีประสบการณ์มากกว่าสองทศวรรษในการทำงานเกี่ยวกับเรือนจำหญิง และเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในการจัดทำร่างข้อกำหนดกรุงเทพ

ดร.โอเวนกล่าวว่า ผู้หญิงมีเส้นทางที่ต่างจากผู้ชายในการเข้าสู่เรือนจำ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเกิดจากประเด็นเพศภาวะและความไม่เท่าเทียม โดยในสหรัฐอเมริกา มีคำว่า ‘Intersectional inequality’ ซึ่งหมายถึงการที่ผู้หญิงถูกกีดกัน เพราะเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งภาษา

นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมในเรือนจำยังเป็นตัวก่อร่างสร้างปัญหาขึ้นมาด้วย กล่าวคือ ผู้ต้องขังบางคนมีความพร้อมทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และการศึกษา ทำให้ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมต่างๆ ที่จัดไว้ให้ในเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังบางคนมีอดีตที่เลวร้าย เคยเจอกับความรุนแรงทั้งในครอบครัวและชุมชน ทำให้อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่ากับผู้ต้องขังกลุ่มแรก

จะเห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นและแฝงอยู่ในทุกกระบวนการของเรือนจำ จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้าง ‘เส้นทางการออกสู่เรือนจำ (pathway away from prison)’ ขึ้น โดยมีข้อกำหนดกรุงเทพ และสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน นอกจากนี้ ดร.โอเวนยังเสนอว่า จากเดิมที่เราเคยพูดถึงแนวคิด ‘การนำผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม (reintegration)’ ให้เราเปลี่ยนแนวคิดเป็น ‘การบูรณาการ (integration)’ เพื่อนำผู้ต้องขังหญิงกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแทน โดยอาศัยทรัพยากรชุมชน การลงทุน และกิจกรรมทางสังคมเพื่อช่วยขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว

อีกประเด็นที่น่าสนใจและสอดคล้องกับแนวคิดข้างต้นคือ ‘การลงทุนในการเยียวยาและการฟื้นฟู’ ที่ตั้งคำถามว่า เราจะลงทุนกับผู้หญิงและครอบครัวที่อยู่ในชุมชนได้อย่างไร เพราะความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับชุมชนโดยทั่วไปด้วย

“เราต้องคิดใหม่ว่า การนำผู้หญิงออกจากชุมชนจะเป็นการทำลายชุมชนอย่างไร”

“นานมาแล้วที่เราลงทุนกับความล้มเหลวของเรือนจำ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ต้องขัง 60-65 เปอร์เซ็นต์ที่ออกมาจากเรือนจำแล้วทำผิดซ้ำภายในสองปี ถึงเวลาแล้วที่เราจะลงทุนในมาตรการที่มิใช่การคุมขังบ้าง มีข้อค้นพบว่า มาตรการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับผู้หญิงน้อยกว่า และยังทำให้ผู้หญิงสามารถกลับคืนสู่ชุมชนได้”

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สังคมมองว่าผู้ต้องขังหญิงเป็นปัญหา ซึ่งดร.โอเวนกล่าวว่า เราควรจะเปลี่ยนความคิด มองในอีกมุมว่า หากเรามอบโอกาสให้กับผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ พวกเธอจะมอบประโยชน์อะไรกลับคืนสู่สังคมได้บ้าง ซึ่งประโยชน์ที่ว่าจะไม่ใช่แค่ประโยชน์ส่วนตน แต่เป็นประโยชน์ที่เกิดแก่ส่วนรวมด้วย

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ขอให้คุณคิดถึงหนทางที่จะทำให้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง สามารถช่วยบูรณาการผู้หญิงเข้าไปในสังคมได้ นานมาแล้วที่เราลงทุนในเรื่องเรือนจำโดยที่เน้นไปที่อดีต ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่คุณสามารถลงทุนในอนาคต”

“เมื่อคุณลงทุนในผู้หญิง คุณกำลังลงทุนในเด็ก และคุณกำลังลงทุนในอนาคต” ดร.โอเวนกล่าวทิ้งท้าย

 

ญี่ปุ่น: การส่งเสริมข้อกำหนดโตเกียว และมาตรการที่มิใช่การคุมขัง

ทาคุยะ ฟุรุฮาชิ (Prof. Takuya Furuhashi)

 

จากสหรัฐอเมริกา วงเสวนาได้พาเรากลับมาที่แถบเอเชีย ด้วยการบรรยายจาก คุณทาคุยะ ฟุรุฮาชิ (Prof. Takuya Furuhashi) ผู้แทนจากสถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล (The United Nations Asia and Far East Institute – UNAFEI)

“ข้อกำหนดโตเกียว ปีค.ศ.1990 มีความครอบคลุมมาตรการทั้งหมดที่มิใช่การคุมขัง และเน้นความสำคัญไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนและสาธารณะ ข้อกำหนดนี้เป็นความหวังว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมสังคมแบบถ้วนหน้า (Inclusive society) ได้”

หากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีการริเริ่มข้อกำหนดโตเกียว ในปีค.ศ. 1955 ได้เกิด ‘ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners – SMR)’ ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการราชทัณฑ์และสิทธิมนุษยชน ก่อนจะตามมาด้วย ‘ข้อกำหนดโตเกียว’ และ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2010 และล่าสุดคือ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา หรือข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังฉบับปรับปรุง ในปีค.ศ. 2015’ ซึ่งเป็นการปรับปรุง SMR 1955 ใน 8 หัวข้อสำคัญ

โครงสร้างพื้นฐานของข้อกำหนดโตเกียว เริ่มต้นที่กระบวนการก่อนการพิจารณาคดี ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังได้ ต่อมาเมื่อมีการพิพากษาแล้ว อาจมีการพักการลงโทษ หรือการปล่อยตัวก่อนกำหนดโดยมีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งประชาชนและอาสาสมัครจะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอาญา

คุณทาคุยะเริ่มต้นตั้งคำถามถึงความแตกต่างทางเพศภาวะของผู้ชายและผู้หญิง กล่าวคือผู้หญิงที่เป็นแม่จะต้องมีการตั้งครรภ์ มีการคลอดบุตร รวมถึงการให้นมบุตร ซึ่งลักษณะพิเศษเหล่านี้สามารถกลายเป็นปัญหาได้ในตอนที่ผู้หญิงรับโทษอยู่ในเรือนจำ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ผู้หญิงหลายคนต้องประสบปัญหาทางด้านการเงิน เนื่องจากหางานที่เหมาะสมทำไม่ได้ หรือผู้หญิงบางคนเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือเจอประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาที่ซับซ้อนในการติดยาเสพติด

ผู้แทนจาก UNAFEI ได้เสนอหนทางที่อาจนำมาใช้ทดแทนการจำคุกได้ เช่น การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังให้ได้มากที่สุด และมีการส่งเสริมการทำงานร่วมกันในชุมชน ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ทำแนวคิดนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม คือมีสมาคมสตรีที่คอยช่วยทำหน้าที่ฟื้นฟูผู้ต้องขัง โดยอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในชุมชน หรือเป็นผู้อาศัยในชุมชนที่มีความเข้าใจ และรู้รายละเอียดของชุมชนในเชิงลึก

อีกหนึ่งความพยายามในเรื่องนี้ของญี่ปุ่น คือการใช้มาสคอตที่ชื่อ ‘โฮโมะจัง’ ซึ่งเป็นตัวนกเพนกวินที่เคยทำความผิดมาก่อน แต่ด้วยการได้รับโอกาสจากเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ อาสาสมัคร และนายจ้าง ทำให้โฮโมะจังได้รับโอกาสทำงาน และกลับเข้ามามีส่วนร่วมในชุมชน จนทำให้เขาได้รับการเยียวยาฟื้นฟูในที่สุด

จะเห็นว่าในญี่ปุ่น มีหลายภาคส่วนเข้ามาทำงานเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการเยียวยาฟื้นฟูผู้ต้องขัง ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมและกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อีกครั้ง ตามหลักการข้อกำหนดโตเกียว และเรื่องนี้ยังสามารถถูกเสริมแรงด้วยข้อกำหนดอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่หวังไว้ ดังที่คุณทาคุยะกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ข้อกำหนดโตเกียวสามารถเป็นเสาหลักในการสร้างสังคมแบบถ้วนหน้า ความสุข และการกินดีอยู่ดีของคนในสังคม และด้วยความร่วมมือกับข้อกำหนดกรุงเทพ ก็ทำให้ความพยายามนี้มั่นคงและสว่างสดใสกว่าเดิม”

[/box]

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save