fbpx
หลากวิธีการกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ : แสงสว่างแห่งชีวิตใหม่นอกกำแพงเรือนจำ

หลากวิธีการกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ : แสงสว่างแห่งชีวิตใหม่นอกกำแพงเรือนจำ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

 

หลายคนมักเปรียบเปรยเรือนจำว่า เป็นดั่ง ‘โลกมืด’ กล่าวคือ เป็นแหล่งรวมผู้กระทำความผิดที่ต้องได้รับโทษ ถูกกักกันออกจากสังคมภายนอก และปรับพฤติกรรมก่อนที่จะส่งตัวกลับสู่สังคมอีกครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชุดความคิดดังกล่าวอาจไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น การเหมารวมว่าเรือนจำคือโลกมืด และผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในนั้นเป็นผู้กระทำผิดรุนแรง อาจก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างตามมา เพราะคนจำนวนหนึ่งจะสร้าง ‘กำแพง’ หนากั้น พร้อมตีตราอดีตผู้ต้องขังด้วยความคิดที่ว่า ‘เขา/เธอเป็นคนไม่ดี เพราะเคยติดคุกมาก่อน’ ทำให้เมื่ออดีตผู้ต้องขังพ้นโทษออกมาแล้ว พวกเขาต้องเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย หรือการหางาน จนทำให้หลายคนขาดโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่ จึงตัดสินใจกระทำผิดซ้ำ จนต้องหวนกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง

การถูกตีตราอาจทวีความรุนแรงขึ้นในกรณีของผู้ต้องขังหญิง เพราะดังที่เราทราบกันว่าในอดีต ผู้หญิงเป็นประชากรกลุ่มน้อยของเรือนจำมาโดยตลอด เรือนจำจึงถูกออกแบบมาเพื่อผู้ชาย จนลืมคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ และส่งผลถึงระบบการบำบัดฟื้นฟูที่ไม่ได้เอื้อกับผู้หญิงเท่าที่ควร ประกอบกับการที่ผู้หญิงหลายคนต้องรับบทบาทเป็นที่พึ่งพิงของครอบครัว หรือเป็นแม่ ทำให้พวกเธอต้องประสบความยากลำบากมากกว่าผู้ต้องขังชายหลายเท่า

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นอกจากการหาทางเลือกอื่นที่มิใช่การคุมขังแล้ว หากผู้ต้องขังหญิงต้องถูกคุมขังจริงๆ กระบวนการยุติธรรมจะจัดระบบบำบัดฟื้นฟูให้พวกเธออย่างไร เพื่อช่วยให้พวกเธอไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่นอกกำแพงเรือนจำได้อย่างมีคุณภาพ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘การสนับสนุนให้อดีตผู้ต้องขังหญิงกลับสู่สังคมและมีชีวิตหลังพ้นโทษที่มีคุณภาพ’ ซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานจริงในกระบวนการยุติธรรมมาร่วมอภิปรายเชิงลึก สำรวจมาตรการบำบัดฟื้นฟูที่ใช้อยู่ทั่วโลก ไปจนถึงการหาแนวทางพัฒนามาตรการดังกล่าวให้สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะด้านของผู้ต้องขังหญิงอย่างแท้จริง

วิทยากรที่เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย มิวเรียล จอร์แดนเอธวินยอน เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา UNODC ร็อบ อัลเลน นักวิจัยอิสระ ที่ปรึกษา UNODC ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด จาก TIJ ไอชยา ยูลีอานี เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการความยุติธรรมทางอาญา UNODC จูลี มาเรียมา เซอเซ ผู้จัดการโครงการAdvocAid จากประเทศเซียร์ราลีโอน โดยมี ปรารถนา เรา นักนโยบายและวิจัยจาก TIJ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

‘การบำบัดฟื้นฟูในเรือนจำ’ หนึ่งในหนทางลดการกระทำผิดซ้ำ

 

“การกลับคืนสู่สังคมต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งเครื่องมือทางกฎหมาย มาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ และบรรทัดฐาน (norm) ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งการกลับคืนสู่สังคมจะเป็นหนึ่งในหนทางป้องกันสังคมจากอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”

มิวเรียล จอร์แดนเอธวินยอน เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา UNODC เริ่มต้นอธิบาย พร้อมทั้งยกตัวอย่างมาตรฐานต่างๆ เช่น ข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ที่เป็นข้อกำหนดสำคัญในเรื่องผู้ต้องขัง ถือเป็นตัวบทบัญญัติสำหรับโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูในเรือนจำ

“ข้อกำหนดแมนเดลาจะเน้นไปที่การบำบัดฟื้นฟูในเรือนจำ เช่น การให้การศึกษา การฝึกอาชีพ หรือการบำบัดฟื้นฟูตามความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำและสร้างสังคมที่ปลอดภัยได้”

อย่างไรก็ดี คุณเอธวินยอนชี้ว่า ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ ในกรณีของผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเครื่องมือและวิธีการที่ละเอียดอ่อนกว่า เธอพาเราย้อนกลับไปที่ปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้รับรอง ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ (Bangkok Rules) ซึ่งเป็นเหมือนแนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้มีอำนาจในการตัดสินลงโทษ หรือเจ้าหน้าที่เรือนจำ ว่าจะลดการใช้การคุมขังแบบไม่จำเป็นได้อย่างไร และเพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรสามารถดูแลและปฏิบัติ โดยตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำได้

“ในต่างประเทศ มีการศึกษาพบว่า ผู้ต้องขังที่ได้รับการศึกษา การฝึกอาชีพ หรือกิจกรรมด้านการบำบัดฟื้นฟูมีแนวโน้มจะหวนกลับเข้าสู่เรือนจำหลังจากถูกปล่อยตัว ‘น้อยกว่า’”

คำถามสำคัญคือ เราจะทำให้เกิดการกลับคืนสู่สังคมสำหรับผู้ต้องขังอย่างไร คุณเอธวินยอนชี้ว่า ‘การกลับคืนสู่สังคม’ เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ดังนั้น เราจึงอาจเข้าไปทำการแทรกแซง (intervention) ได้ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

“เมื่อผู้กระทำความผิดเข้าสู่ระบบยุติธรรมแล้ว เราอาจจะลองหันเห (divert) เขาออกจากระบบที่นำไปจำคุกก่อน โดยอาจจะใช้มาตรการทางเลือก เช่น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การลงโทษโดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน (community-based sanction) แทนที่จะใช้การจำคุกทันที ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหล่อเลี้ยงกระบวนการกลับคืนสู่สังคมให้เกิดขึ้น”

“หรือถ้าไม่ใช่ในขั้นตอนแรก ก็ต้องเป็นหลังจากที่ผู้ต้องหาถูกตัดสินจำคุกแล้ว เราอาจจะนำโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูในเรือนจำ (prison-based rehabilitation program) เข้ามาใช้” แต่คุณเอธวินยอนเน้นว่า เราต้องรู้จักประชากรในเรือนจำ และต้องทำการประเมินรายบุคคลเพื่อจะระบุประเภทของโปรแกรมที่ผู้ต้องขังแต่ละคนต้องการ เพื่อที่ผู้ต้องขังจะได้รับการบำบัดฟื้นฟูที่ดีที่สุด และพร้อมในการกลับคืนสู่สังคมด้วย”

ถ้าไม่ใช่ก้าวแรกหรือก้าวที่สอง ก็อาจจะเป็นก้าวสุดท้าย คือก่อนผู้ต้องขังจะถูกปล่อยตัว เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า เมื่อผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้ว พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น การหาที่อยู่อาศัย หรือการหางาน ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายที่สุด ทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องหาวิธีช่วยผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมตรงนี้ด้วย

“จริงอยู่ที่ผู้ต้องขังทั้งหญิงและชายต้องเจอกับอุปสรรคไม่ต่างกัน แต่ในกรณีของผู้หญิง พวกเธอต้องเจออุปสรรคเยอะกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย”

คุณเอธวินยอนฉายภาพว่า ผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 7 ของประชากรผู้ต้องขังทั้งหมด แต่ระบบเรือนจำส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ต้องขังชาย ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังหญิงจึงอาจจะไม่ได้รับการตระหนักถึง หรือมีโปรแกรมฟื้นฟูเฉพาะที่เหมาะสมเพียงพอ

“ถ้าเราไปดูข้อมูลจริงๆ จะพบว่า ผู้ต้องขังหญิงส่วนมากเป็นผู้กระทำผิดในคดีที่ไม่เกี่ยวกับความรุนแรง (non-violent offenders) เช่น ทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด หรือมาจากความกดดันทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ต้องเข้าสู่เรือนจำเป็น ‘แม่’ และเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว อีกทั้ง กลุ่มผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำก็มักจะมีประวัติถูกลวนลามทางเพศหรือถูกทำร้ายร่างกาย และยังมีแนวโน้มที่จะทรมานกับความเจ็บป่วยทางจิตใจมากกว่าผู้ต้องขังชายด้วย”

นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย และควรจะมีการประเมินแบบรายบุคคลเพื่อหาชนิดการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสม

ในตอนท้าย คุณเอธวินยอนได้ยกตัวอย่างความพยายามในการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดหญิง เช่น การใช้ข้อกำหนดกรุงเทพ หรือการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม กรณีที่น่าสนใจคือในประเทศโบลิเวีย ที่มีการฝึกฝนผู้กระทำผิดหญิงให้ทำงานก่อสร้าง เพราะงานก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในประเทศ เมื่อออกไปแล้ว พวกเธอก็จะมีทักษะที่จะใช้หางานได้จริงๆ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องให้พวกเธอหางานได้ และให้ ‘โอกาสที่สอง’ แก่พวกเธอด้วย”

 

ความท้าทายหลังถูกปล่อยตัวของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

วิทยากรท่านที่สอง ร็อบ อัลเลน นักวิจัยอิสระ ที่ปรึกษา UNODC กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่ใช้การคุมขังผู้กระทำผิดหญิงใน ‘เรือนจำ’ มากกว่าที่อื่นในโลก โดยจำนวน 4 ใน 5 ของจำนวนผู้ต้องขังหญิงทั้งหมดอยู่ในไทย มากกว่าครึ่งอยู่ในกัมพูชาและสิงคโปร์ ซึ่งผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่มักทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีน เพราะพวกเธอต้องการหารายได้ หรือมีปัญหายาเสพติด และเพราะปัญหาเรื่องยาเสพติดนี่เอง ความท้าทายในการกลับคืนสู่สังคมและการเตรียมพร้อมผู้กระทำผิดกับสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ (resocialisation) จึงเป็นหนึ่งในความพยายาม เพื่อที่จะหาทางเลือกให้กับผู้หญิงที่ติดยาเสพติดให้สามารถเลิกยาเสพติดได้ นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมผู้กระทำผิดกับสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ยังต้องเจอกับความท้าทายอีกหลายประการ เช่น ระยะเวลาที่ผู้หญิงถูกคุมขัง หรือปัญหาด้านสุขภาพ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณอัลเลนได้ยกตัวอย่างประเทศกัมพูชา ที่มีกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) พยายามให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับผู้ต้องขังหญิง และพาครอบครัวของผู้ต้องขังหญิงไปเยี่ยมพวกเธอระหว่างถูกคุมขัง เช่นเดียวกับในสิงคโปร์ ซึ่งมีการวางแผนการกลับคืนสู่สังคม (reintegration) อย่างเป็นระบบ และมองว่าการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในอินโดนีเซียกลับแตกต่างออกไป เพราะแต่ละครัวเรือนจะต้องรายงานเจ้าหน้าที่ว่า มีสมาชิกหรือญาติพี่น้องคนใดใช้สารเสพติดบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ การกลับไปอยู่กับครอบครัวหลังได้รับการปล่อยตัวแล้วจึงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะถ้าเป็นครอบครัวในชนบท เพราะมีแนวโน้มอย่างมากที่อดีตผู้ต้องขังหญิงจะรู้สึกเบื่อและหวนกลับเข้าสู่เมืองอีกครั้ง

“เพราะฉะนั้น นโยบายที่จะรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวไว้จึงมีทั้งความซับซ้อนและต้องการการประเมินอย่างระมัดระวังที่สุด เราอาจจะต้องให้พวกเธอได้ทำงานในเรือนจำ มีการประเมินด้านจิตวิทยา ฝึกอาชีพให้กับผู้หญิง หรือให้โอกาสพวกเธอได้ลองทำงานอย่างอื่นบ้าง”

คุณอัลเลนยกตัวอย่างร้านคาเฟ่ในประเทศไทยที่รับผู้ต้องขังทั้งหญิงและชายเข้าทำงาน โดยผู้ต้องขังจะเดินทางจากเรือนจำมาทำงานที่คาเฟ่ดังกล่าวทุกวัน เพื่อเป็นการฝึกอาชีพ และก่อนหน้าที่ผู้ต้องขังจะพ้นโทษไม่กี่เดือน ผู้บัญชาการเรือนจำจะเรียกกลุ่มนักโทษที่กำลังจะพ้นโทษไปพบเพื่อสอบถามเกี่ยวกับแผนการในอนาคต เช่น พวกเขาวางแผนจะทำอะไรหลังพ้นโทษ วางแผนจะพักอาศัยที่ไหน จะหาเลี้ยงชีพตัวเองอย่างไร โดยเฉพาะกับผู้ต้องขังหญิง เพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังกลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตได้ และประสบความสำเร็จในชีวิตหลังจากพ้นโทษออกไปแล้ว

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ บ้านกึ่งวิถี โดยคุณอัลเลนได้ยกตัวอย่าง ‘มูลนิธิบ้านพระพร’ ในประเทศไทย ที่ช่วยดูแลเด็กๆ ที่แม่ของพวกเขาจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เพื่อที่เด็กและแม่จะได้สามารถกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งหลังจากผู้เป็นแม่พ้นโทษ

ในตอนท้าย คุณอัลเลนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการมีองค์กรที่มีบริการให้ความช่วยเหลือหลังปล่อยตัว โดยเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังหญิง โดยควรจะมีระบบการจัดหาเงินทุนที่ดี รวมถึงมีความร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความพยายามของ ‘ประเทศไทย’ ในการสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิง

 

ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ

 

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เห็นความสำคัญในการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิง โดย ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด จาก TIJ เกริ่นนำว่า ผู้หญิงย่อมมีความต้องการแตกต่างจากผู้ชาย ดังนั้น เวลาที่จะออกแบบหรือบังคับใช้การบำบัดฟื้นฟูใด จึงต้องตระหนักถึงความต้องการที่แตกต่างตรงนี้ด้วย

“เราให้ความสำคัญกับเส้นทางการเข้าสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิง เพราะเรารู้ว่า ผู้หญิงมีปัจจัยหรือต้องเจอกับสถานการณ์ที่ทำให้พวกเธอมีตัวเลือกในชีวิตจำกัด และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเธอต้องเข้าสู่เรือนจำ ซึ่งนักวิจัยจำนวนมากมักจะเน้นไปที่เรื่องความยากจน การใช้สารเสพติด หรือภาระที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัว”

นอกจากนี้ คุณชลธิชยังบอกว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาประสบการณ์ที่ผู้ต้องขังหญิงต้องเจอระหว่างการถูกคุมขัง รวมถึงความยากลำบากที่พวกเธอต้องเผชิญ ผู้หญิงบางคนไม่มีโอกาสเข้าสู่โปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูเพราะปัญหาเรือนจำล้น และอย่างที่เราคงพอคาดการณ์ได้ ผู้หญิงที่ถูกปล่อยตัวแล้วก็ยังต้องเจอกับความยากลำบากในการกลับคืนสู่สังคม เช่น การตีตราตามเพศสภาพ (gender-based stigmatisation)

ยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ของผู้ต้องขังหญิงก็ยิ่งเลวร้ายลง บางเรือนจำไม่มีทางเลือก นอกจากให้งดเยี่ยม ทำให้ผู้ต้องขังเกิดความเครียดและวิตกกังวล เพราะพวกเธอไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวหรือผู้เป็นที่รักได้ นอกจากนี้ โควิด-19 ยังทำให้ผู้ต้องขังต้องงดการฝึกอาชีพหรือการศึกษาต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาบุคคลภายนอกด้วย

อีกประเด็นที่หลายคนอาจมองข้ามไปคือ ผู้ต้องขังหญิงที่ถูกปล่อยตัวในช่วงโควิด-19 อาจจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ น้อยลง อีกทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่ยังมีการประกาศเคอร์ฟิวก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย คุณชลธิชระบุว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างเรือนจำ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยให้ผู้หญิงสามารถกลับบ้านได้โดยสวัสดิภาพ

“ตอนนี้ ประเทศไทยมีคนอยู่ในเรือนจำเกือบ 380,000 คน ร้อยละ 12.6 เป็นผู้หญิง และถ้ามองลึกลงไปกว่านั้น ร้อยละ 83 ของผู้ต้องขังหญิงเข้ามาอยู่ในเรือนจำเพราะคดีที่เกี่ยวข้องยาเสพติด คดีที่เกี่ยวข้องกับการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน (property crime) ส่วนผู้ที่กระทำความผิดในคดีที่เป็นการทำอันตรายต่อร่างกายคิดเป็นร้อยละ 1.4 เท่านั้น”

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการบำบัดฟื้นฟู รวมถึงมีโปรแกรมก่อนปล่อยตัว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการจัดตั้ง ‘ศูนย์แคร์’ (CARE : Center for Assistance to Reintegration and Employment) โดยกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เพื่อช่วยหางานให้ผู้ต้องขัง หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว

“เราจะเห็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคมและกลุ่มธุรกิจเริ่มเข้ามาให้การสนับสนุนผู้ต้องขังโดยตรง ด้วยการจ้างหรือจัดการฝึกฝนต่างๆ ให้ หรืออีกหนึ่งความพยายามสำคัญจากภาครัฐคือ การลดภาษีให้กับบริษัทหรือห้างร้านที่รับอดีตนักโทษเข้าทำงาน ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมากๆ ในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม”

TIJ ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทเรื่องผู้ต้องขังหญิงมานาน โดยคุณชลธิชเล่าถึงบทบาทของ TIJ ว่า ทางสถาบันฯ พยายามสนับสนุนโมเดลหุ้นส่วนเพื่อสังคม (social partnership) เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ประเทศไทยต้องเจอกับปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งส่งผลลบต่อโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟู หรือโปรแกรมก่อนปล่อยตัว ทาง TIJ จึงสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนเข้ามามีบทบาทและริเริ่มในเรื่องนี้

“ในส่วนของโปรแกรมเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัว TIJ ร่วมมือกับเรือนจำจังหวัดอยุธยา โดยทำงานร่วมกับผู้ต้องขังหญิง 34 คนที่กำลังจะพ้นโทษ เป็นเวลา 3 เดือน และให้การสนับสนุนหลังได้รับการปล่อยตัวต่อไปอีก 1 ปี” ชลธิชเล่า พร้อมทั้งเสริมว่า มีคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงานตรงนี้ด้วยกัน ทั้งกลุ่ม NGOs กลุ่มกิจการเพื่อสังคมที่ทำงานด้านการจัดการเงินและการจัดการเรื่องหนี้ ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่ผู้นำชุมชน ซึ่งแต่ละกลุ่มได้ใช้ทักษะที่ตนเองมีและเชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ต้องขัง

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น คุณชลธิชอธิบายว่า ตามปกติ เรือนจำจะมีคุณครูที่สอนทำอาหารหรือทำเบเกอรี่ให้ผู้ต้องขังอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กลุ่มของเธอพยายามทำคือ การสนับสนุนในด้านอื่นๆ เช่น การวางแผนธุรกิจ การหาแหล่งเงินกู้ วิธีทำการตลาด ตรงนี้จึงเป็น “ความร่วมมือกันระหว่างเรือนจำและชุมชนภายนอก เพื่อสนับสนุนผู้ต้องขังหญิงจนกระทั่งพวกเธอได้รับการปล่อยตัว”

“ความพยายามเหล่านี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม รับฟังความต้องการของผู้หญิง และรับฟังเรื่องราวของพวกเธอ เพื่อจะได้เข้าใจเส้นทางการเข้าสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิง และที่สำคัญที่สุด เพื่อลดหรือทลายกำแพงที่กั้นระหว่างคนภายในกับคนภายนอกเรือนจำ” คุณชลธิช ปิดท้าย

 

กรณีศึกษาจากประเทศ ‘อินโดนีเซีย’

 

วงเสวนาขยับจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่ง ไอชยา ยูลีอานี เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการความยุติธรรมทางอาญา UNODC ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ทั้งในเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับคืนสู่สังคม และหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

“ในปีก่อนหน้า เราพยายามจะเน้นเรื่องการปรับปรุงบริการการบำบัดฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมสำหรับผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในเรือนจำ อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียยังไม่มีแนวทางหรือแนวปฏิบัติสำหรับผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ UNODC และรัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้ทำการปรึกษาหารือกัน จนกระทั่งกลายเป็นความร่วมมือในการร่วมพัฒนาแนวปฏิบัติสำหรับผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อในปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้ ทาง UNODC ยังได้สนับสนุนรัฐมนตรีของกระทรวงกิจการสังคม (Social Affairs) ในการพัฒนาแนวนโยบายการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลหรือที่พักพิงสำหรับผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ ไม่มีที่อยู่อาศัย และยังหางานไม่ได้

เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณยูลีอานีเล่าว่า จำนวนผู้ต้องขังหญิงของอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2000 โดยก่อนหน้าปีดังกล่าว อินโดนีเซียมีผู้ต้องขังหญิงประมาณร้อยละ 3.4 และเพิ่มเป็นร้อยละ 5 ในปี 2000 โดยผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งการมีไว้ในครอบครอง การจำหน่าย หรือการใช้สารเสพติด รวมไปถึงการทำผิดในคดีทั่วๆ ไป

“ตอนนี้ทางเรือนจำได้มีการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ และได้รับการสนับสนุนจาก TIJ ด้วย” คุณยูลีอานีอธิบาย พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีการสนับสนุนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำหลายแบบ ทั้งการให้การสนับสนุนด้านจิตวิทยา การดูแลสุขภาพ โปรแกรมบำบัดฟื้นฟูการติดสารเสพติด การฝึกอาชีพ หรือโปรแกรมการทำงานในเรือนจำ

อย่างไรก็ดี ความท้าทายในเรื่องนี้คือ เรือนจำหลายแห่งไม่มีนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเรือนจำเหล่านี้ได้แก้ปัญหาโดยการจับมือเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัย เพื่อที่บัณฑิตจบใหม่หรือผู้ที่ทำงานด้านนี้จะสามารถเข้ามาที่เรือนจำสัปดาห์ละครั้งเพื่อให้การสนับสนุนผู้ต้องขังด้านจิตวิทยาได้ นอกจากนี้ เรือนจำอาจจะร่วมมือกับโรงพยาบาลในท้องถิ่นได้เช่นกัน

 

ไอชยา ยูลีอานี เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการความยุติธรรมทางอาญา UNODC

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของอินโดนีเซียคือ การจัดช่วงเวลาให้ผู้ต้องขังที่เป็น ‘แม่’ ได้พบกับ ‘ลูก’ โดยเรือนจำในประเทศอินโดนีเซียจะให้เยี่ยมได้ช่วงวันธรรมดา ไม่มีการให้เยี่ยมในช่วงวันหยุด ดังนั้น ถ้าผู้ต้องขังหญิงคนไหนมีลูกที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน พวกเธอก็จะไม่มีโอกาสได้พบกับลูกเลย เพราะเด็กๆ ต้องไปเรียน ทางเรือนจำจึงเริ่มจัดช่วงเวลาเยี่ยมตอนบ่ายวันหยุดให้สัปดาห์ละครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาให้เด็กได้พบกับแม่ที่ถูกคุมขังอยู่โดยเฉพาะ

“ช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า ‘ช่วงทำการบ้านกับแม่’ เพราะเราจะสนับสนุนให้เด็กเอาการบ้านมาให้คุณแม่ช่วยสอนด้วย เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก”

คุณยูลีอานีอธิบายว่า อินโดนีเซียมีโปรแกรมหลังปล่อยตัว (after-release)  2 แบบ แบบแรกจะเป็นการทำงานของกรมราชทัณฑ์กับกรมคุมประพฤติ สำหรับนักโทษที่ถูกปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข (parole) หรือได้กลับบ้านชั่วคราว อีกแบบหนึ่งคือโปรแกรมโดยกระทรวงกิจการเพื่อสังคม ผ่านทางบริการสังคมระดับท้องถิ่นและในระดับเมือง ซึ่งช่วยเหลือนักโทษที่ได้รับโทษตามกำหนดแล้ว แต่คุณยูลีอานียอมรับว่าก็ยัง “เจอปัญหาและความท้าทายอยู่บ้าง”

ปัญหาและความท้าทายของโปรแกรมโดยกระทรวงกิจการเพื่อสังคมคือ เกณฑ์ที่ทางกระทรวงฯ กำหนดไว้ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ผู้ที่จะเข้ารับการช่วยเหลือต้องอายุมากกว่า 18 ปี และได้รับโทษครบแล้ว อีกทั้งต้องไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและสังคม และเผชิญกับความยากลำบากในการหางาน นอกจากนี้ อดีตผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ยังต้องเป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัว แต่ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ เพราะสถานะอดีตผู้ต้องขัง

“จะเห็นว่า เกณฑ์ของกระทรวงฯ เข้มงวดพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนที่ว่า จะต้องไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวหรือสังคม และหางานได้ยาก เพราะหลายครั้ง อดีตผู้ต้องขังหญิงสามารถหางานได้ ทั้งงานประจำและงานพาร์ทไทม์ แต่ก็ไม่ใช่งานที่จะทำเงินได้มากมาย และทางกระทรวงฯ ก็ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องงานด้วย อีกอย่าง ถ้าคุณกลับไปอยู่บ้านได้ แต่เพื่อนบ้านไม่ยอมรับคุณ แล้วแบบนี้จะนับว่าคุณเข้าเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่”

ในตอนท้าย คุณยูลีอานีชี้ว่า ส่วนที่น่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ในระดับเมืองหรือท้องถิ่นมักจะมีข้อยกเว้น และยังให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงผ่านทางการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (Public-Private Partnerships: PPPs) ผ่านทาง NGOs ที่จะให้การฝึกอาชีพ และให้โอกาสการจ้างงานด้วย

 

เรื่องราวของผู้หญิงหลังกำแพงเรือนจำ

 

“หลายปีมาแล้วที่ AdvocAid สนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมสำหรับผู้ต้องขังหญิง ผ่านการให้คำแนะนำและการศึกษาด้านกฎหมายสำหรับเด็กและผู้หญิง โดยต้องเป็นการศึกษาแบบที่สร้างสรรค์ และรับประกันได้ว่าผู้หญิงจะตระหนักรู้ถึงสิทธิของพวกเธอ”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก จูลี มาเรียมา เซอเซ ผู้จัดการโครงการ AdvocAid จากประเทศเซียร์ราลีโอน โดยคุณเซอเซ เล่าประสบการณ์การทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง ในช่วงทั้งก่อนและหลังการปล่อยตัวว่า ในขั้นตอนก่อนปล่อยตัว พวกเธอจะเข้าไปหาผู้ต้องขังหญิงพร้อมครอบครัว เพื่อร่วมกันวางแผนสำหรับช่วงเวลาหลังปล่อยตัว ส่วนหลังปล่อยตัว ทาง AdvocAid จะมีการสร้างกลุ่มสำหรับอดีตผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว เพื่อช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึงช่วยติดตามสถานการณ์ในช่วงเดือนแรกๆ หลังจากถูกปล่อยตัวด้วย

เพื่อให้เห็นภาพชีวิตของผู้หญิงที่ต้องเข้าไปอยู่หลังกำแพงเรือนจำชัดขึ้น คุณเซอเซได้ยกตัวอย่างเคสที่เธอทำงานด้วยให้ฟัง โดยผู้หญิงคนดังกล่าวโดนจับในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (trafficking) และต้องถูกคุมขังถึง 5 ปี ก่อนที่เธอจะได้ขึ้นศาล

“ก่อนจะไปที่ศาล เธอเกิดเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ (breakdown) อย่างรุนแรง จนนำไปสู่ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย” คุณเซอเซเล่า “และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เธอเกิดภาวะซึมเศร้า (depression) มาจากการที่ลูกสาววัย 7 ขวบของเธอต้องอยู่ห่างจากตัว และไม่มีใครคอยดูแล เพราะเธอถูกจับอย่างกะทันหันที่บ้านพัก”

ในเดือนมีนาคม ปี 2020 คดีของหญิงสาวคนดังกล่าวถูกยกฟ้อง เนื่องจากขาดพยานหลักฐาน (lack of evidence) โดยหญิงสาวคนดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากธุรกิจอาหารขนาดเล็กในท้องถิ่นที่จะช่วยให้เธอกลับคืนสู่สังคมได้ ทำให้ปัจจุบัน เธอได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับลูกสาว และหวังว่าจะมีอนาคตที่สดใสและดีขึ้นต่อไป

 

จูลี มาเรียมา เซอเซ ผู้จัดการโครงการ AdvocAid

 

ขณะที่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทาง AdvocAid ได้มีบทบาทในการเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่มออกจากเรือนจำ เช่น กลุ่มเปราะบาง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเรือนจำ

ในตอนท้าย คุณเซอซาเล่าว่า นอกจากเรื่องการปล่อยตัวแล้ว ทาง AdvocAid ยังได้ดำเนินการช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าทุกข์และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางเลือกตั้งแต่ที่สถานีตำรวจในกรณีที่เป็นการกระทำผิดเล็กน้อย เพื่อช่วยแก้ปัญหาและลดปัญหานักโทษล้นเรือนจำด้วย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018