fbpx
มองให้ไกลกว่า ‘เรือนจำ’ สู่ความยุติธรรมที่คำนึงถึงเพศภาวะ

มองให้ไกลกว่า ‘เรือนจำ’ สู่ความยุติธรรมที่คำนึงถึงเพศภาวะ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

“พอลูกมาหาเรา คำพูดแรกที่ลูกถามคือ “แม่กลับบ้านพร้อมหนูไหม?” คือคนเป็นแม่อยากกลับเหมือนกัน แต่จะกลับยังไงล่ะ เขาไม่ให้เรากลับ เลยต้องบอกลูกไปว่า “แม่ยังกลับไม่ได้เพราะแม่ยังทำงานไม่เสร็จ” ตั้งแต่นั้นมา เราก็ไม่เคยให้แฟนพาลูกไปเยี่ยมอีกเลย”

 

ข้างต้นคือส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ผู้ต้องขังหญิงที่ผ่านประสบการณ์ถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และสิ่งที่พวกเธอ รวมถึงคนรอบข้างต้องเผชิญ

ในความคิดของคนส่วนใหญ่ การ ‘ทำผิด’ และถูกลงโทษด้วยการ ‘จำคุก’ เป็นเหมือนภาพจำทั่วไป เพราะผู้กระทำความผิดมักถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี และจำเป็นต้องถูกจองจำเพื่อลงโทษ ปรับพฤติกรรม และทำให้สังคมปลอดภัย แน่นอนว่าความคิดดังกล่าวไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งที่กระทำความผิดรุนแรง หรือความผิดอุกฉกรรจ์ที่จำเป็นต้องถูกจำกัดอิสรภาพเพื่อปรับพฤติกรรม

ขณะเดียวกัน ถ้าเราเจาะจงไปที่กลุ่ม ‘ผู้กระทำความผิดหญิง’ จากรายงานของ Global Prison Trend พบว่าพวกเธอมักเป็นกลุ่มที่กระทำความผิดในคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ และการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำที่แออัดและไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ ย่อมนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายและใจ ความยากลำบากที่เกิดกับคนรอบตัว และปัญหา ‘คุกล้น’ ที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่เชิงนโยบายที่หลายประเทศต้องเผชิญ

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เริ่มมีการพูดคุยกันในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานว่า จริงๆ แล้ว เราจำเป็นต้องใช้โทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดหญิงในทุกกรณีหรือไม่ และถ้ามองให้ไกลกว่านั้น จะมีมาตรการทางเลือกใดที่จะนำมาใช้แทนการจำคุกได้ไหม

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ ‘การส่งเสริมมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง’ ซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานจริงในกระบวนการยุติธรรมมาร่วมอภิปรายเชิงลึก เพื่อร่วมหาคำตอบและหาแนวปฏิบัติที่เหมาะสม รวมถึงความท้าทายที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเผชิญในการปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง เพื่อมุ่งสู่กระบวนการยุติธรรมที่ละเอียดอ่อนและคำนึงถึงเพศภาวะอย่างแท้จริง

วิทยากรที่เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย ดร.บาบาร่า โอเวน ที่ปรึกษาพิเศษของสถาบัน TIJ คุณนิโคลัส ไลโน ทนายความสาธารณะของรัฐบาลกลางอาร์เจนตินา และกรรมการบริหารมูลนิธิกฎหมายระหว่างประเทศ ดร.สุธาทิพ ยุทธโยธิน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา คุณทามาร์ จันตูเรีย เจ้าหน้าที่สนับสนุนโครงการ องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากลในเขตคอเคซัสใต้ และ คุณสเฟน ไฟเฟอร์ เจ้าหน้าที่จาก UNODC ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

เมื่อการลงทุนใน ‘เรือนจำ’ อาจเป็นการลงทุนที่ล้มเหลว

 

“มาตรการที่มิใช่การคุมขังเป็นรากฐานของการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนและกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในเรือนจำ” ดร.บาบาร่า โอเวน (Barbara Owen) ที่ปรึกษาพิเศษของสถาบัน TIJ และหนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมร่างข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) กล่าวนำ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ดร.โอเวนได้กล่าวถึงเหตุผล 3 ข้อที่ทำให้เราควรจะใช้ ‘มาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง’ เหตุผลข้อแรกคือ การตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากเพศภาวะ และความทุกข์ทรมานที่ผู้หญิงต้องได้รับ ทั้งที่พวกเธอไม่สมควรจะต้องเจอความทุกข์เหล่านี้ ข้อที่สอง การระบาดของโควิด-19 ทำให้กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อยกระดับการพัฒนากระบวนการปล่อยตัวสำหรับผู้หญิง และ ข้อที่สาม มาตรการที่มิใช่การคุมขังเน้นย้ำการแก้ไขฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษ โดยคำนึงถึงภูมิหลังและความจำเป็นพื้นฐานของผู้หญิง ดังนั้น “จากเหตุผลทั้งสามประการ การใช้มาตรการเหล่านี้จะเป็นเหมือนการเปิดประตูสู่การปฏิรูประบบเรือนจำ รับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง และสิ่งที่ผู้หญิงต้องเจอหลังถูกปล่อยตัวแล้ว

“ดิฉันรู้สึกว่า เรือนจำกำลังสร้างปัญหาและความทุกข์ความทรมานโดยไม่จำเป็น จึงถึงเวลาแล้วที่ระบบเรือนจำทั่วโลกจะต้องตั้งต้นตั้งแต่สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงต้องเข้าสู่เรือนจำ รวมไปถึงมองที่ระบบการบำบัดฟื้นฟูแทน”

อย่างไรก็ดี ปัจจัยอื่นที่สำคัญไม่แพ้กันคือความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ที่อยู่อาศัยหรือการจ้างงาน รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ด้านบวกกับครอบครัวและบุตรของผู้กระทำผิดหญิง พร้อมทั้งตระหนักถึงปัจจัยเรื่องความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Violence) ด้วย

ในความคิดของดร.โอเวน เธอมองว่ามาตรการที่มิใช่การคุมขังเป็นโอกาสที่แท้จริงสำหรับผู้หญิงในการพัฒนาและรักษาความเป็นชุมชนไว้ และหากมองไปไกลกว่านั้น การลงทุนในมาตรการที่มิใช่การคุมขังจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชน ซึ่งดีกว่าการเสียเงินไปกับเรือนจำ และยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่กล่าวถึงประโยชน์และประสิทธิภาพของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน (community-based correction) ซึ่งมีความร่วมมือกันในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ

“การบริการภายนอก (external service) เช่น การศึกษา การฝึกฝน หรือการจัดหาที่อยู่อาศัย ประกอบกับการบำบัดฟื้นฟู (rehabilitation) และการรักษา (treatment) จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

อย่างไรก็ดี ดร.โอเวนชี้ว่า การรักษาไม่ควรถูกจัดในรูปแบบของโปรแกรมหนึ่ง หรือบริการหนึ่งเท่านั้น แต่การรักษาจะต้องมีความครอบคลุม จัดการแบบองค์รวม และคำนึงถึงความสำคัญของการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ด้วย

“เราลงทุนกับความล้มเหลวของเรือนจำมานานแล้ว ตอนนี้จึงน่าจะถึงเวลาของการลงทุนในมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่คำนึงถึงเพศภาวะสักที ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า” ดร.โอเวนปิดท้าย

 

‘ผู้หญิง’ กับความเปราะบางในเรือนจำ

 

วงเสวนาขยับไปที่ คุณนิโคลัส ไลโน (Nicolás Laino) ทนายความสาธารณะของรัฐบาลกลางอาร์เจนตินา และกรรมการบริหารมูลนิธิกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งฉายภาพของประเทศอาร์เจนตินาให้เราเห็นว่า “สถานการณ์ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นสักเท่าไหร่” เพราะมีผู้ต้องขังหญิงกว่าร้อยละ 70 ของประชากรผู้ต้องขังทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในอาร์เจนตินา ผู้ต้องขังหญิงครึ่งหนึ่งเป็นคนต่างชาติ และร้อยละ 80-90 เป็นผู้ต้องขังหญิงที่มีเด็กติดผู้ต้องขัง และ ‘ความรุนแรง’ ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนจนผู้หญิงตัดสินใจก่ออาชญากรรม

“เรารู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อแม่ถูกจำคุก เด็กที่อยู่ในเรือนจำจะขาดการเข้าถึงอาหารหรือยา ประสบความยากลำบากในการเรียนรู้ ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และเด็กบางคนยังต้องรับผิดชอบดูแลพี่น้องของตนด้วย”

“นอกจากนี้ สถานกักกันหญิงมักอยู่ไกลจากบ้านของผู้หญิงที่ถูกคุมขัง โดยในอาร์เจนตินา ผู้หญิงมากกว่าครึ่งถูกจำคุกในสถานที่ที่ไกลจากบ้านเกิดตัวเองมากกว่า 100 กิโลเมตร”

ในฐานะทนายความสาธารณะ คุณไลโนแบ่งปันประสบการณ์ว่า ในทุกๆ วัน เขาต้องเจอสถานการณ์ที่ผู้หญิงตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวกับคู่ครองหรือสามี หรือฆ่าลูกที่เพิ่งเกิดของตัวเอง ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้มักจะตกเป็นเหยื่อของการถูกกระทำความรุนแรงหรือความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence) มาก่อน จึงต้องมีคณะทำงานเข้าไปช่วยเหลือโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งคุยกับผู้ต้องหา ครอบครัว และดูบริบททางสังคมประกอบ ผลปรากฏว่า มีคดีจำนวนมากที่ถูกยกฟ้องเพราะเป็นการกระทำที่เกิดจากการป้องกันตัวเอง (self-defense) หรือถ้าได้รับการลงโทษ ผู้ต้องหาก็จะถูกลงโทษด้วยโทษต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการที่ทำงานเกี่ยวกับเพศภาวะยังจะช่วยสนับสนุนอัยการในกรณีที่มีการจับกุมซึ่งเกี่ยวข้องกับเพศภาวะ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยทำการวิเคราะห์ผลกระทบของการจำคุกที่เกิดกับทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงช่วยปกป้องสิทธิของผู้หญิงที่ถูกกักขังและครอบครัวของเธอด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ในข้อกำหนดกรุงเทพ

เมื่อมาถึงประเด็นโควิด-19 คุณไลโนกล่าวว่า เดิมที สถานการณ์ของผู้หญิงที่ถูกจำคุกก็แย่อยู่แล้ว และสถานการณ์ก็ย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม เมื่อเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาเรือนจำล้นอย่างอาร์เจนตินา หรือประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปของเขาที่ว่า เราควรจะใช้โรคระบาดเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนให้เกิดการปล่อยตัวโดยอิงกับปัจจัยทางเพศสภาพ หรือให้มีการคุมขังในบ้านของผู้ต้องหา (house arrest) ตามคำแนะนำในระดับระหว่างระหว่างประเทศ

ในตอนท้าย มีผู้ร่วมเสวนาตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจ กล่าวคือ การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังกับผู้กระทำผิดหญิงเป็นเรื่องที่ดี แต่จะเป็นไปได้ไหม หากเราจะใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังกับผู้กระทำผิดในคดีที่ไม่รุนแรงทุกคดี โดยไม่ขึ้นกับเพศภาวะ ซึ่งคุณไลโนมองว่า ปัจจุบันมีการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังกับผู้กระทำความผิดชายด้วยอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ผู้กระทำความผิดหญิงดูจะเป็น ‘กลุ่มเปราะบาง’ ในระบบเรือนจำมากกว่าผู้ชาย

“การที่ผู้หญิงเป็นกลุ่มเปราะบางในเรือนจำไม่ได้เป็นเพราะว่าการออกแบบเรือนจำเท่านั้น เพราะคุณสามารถเปลี่ยนหรือปรับปรุงการออกแบบเรือนจำได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักถึงมากกว่านั้นคือบริบททางครอบครัวของผู้หญิง”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น คุณไลโนยกตัวอย่างการศึกษาในประเทศอาร์เจนตินาซึ่งพบว่า ครอบครัวของผู้หญิงที่กระทำความผิดร้อยละ 60-70 ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ขณะที่เด็กซึ่งต้องถูกแยกจากแม่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า (depression) ซึ่งจะยิ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้หญิงขึ้นไปอีก เพราะพวกเธอจะรู้สึกว่าตนเองเป็นแม่ที่แย่ด้วย

“เราไม่ได้หมายความว่า เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดกับผู้กระทำความผิดชาย แต่ในกรณีของผู้หญิง พวกเธอดูจะประสบปัญหาเช่นนี้มากกว่า และนี่สาเหตุที่เราพยายามสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการทางเลือกที่มิใช่การคุมขัง”

 

กรณีศึกษาจากประเทศไทย: เมื่อผู้พิพากษาพาคนออกจากเรือนจำ

 

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังสูงมาก ซึ่งรัฐบาลพยายามจะจัดการกับปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง” ดร.สุธาทิพ ยุทธโยธิน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา แบ่งปันประสบการณ์ของประเทศไทย พร้อมทั้งฉายภาพว่า ประเทศไทยพยายามจะสนับสนุนส่งเสริมมาตรการทางเลือกที่มิใช่การคุมขัง โดยมีการออกคำแนะนำแก่ผู้พิพากษา เพื่อเป็นแนวนำทางในการใช้ทางเลือกอื่นแทนการจำคุก นอกจากนี้ ยังมีการทำงานเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นในปีที่ผ่านมาตามนโยบายของประธานศาลฎีกา (ท่านไสลเกษ วัฒนพันธุ์)

“โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเข้าใจในกลุ่มผู้พิพากษา เกี่ยวกับการประยุกต์ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การคุมขัง ช่วยลดการกักขังและการจำคุกที่ไม่จำเป็นในระหว่างกระบวนการทางศาล และยังจะช่วยเพิ่มการใช้ทางเลือกแทนการจำคุก โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางด้วย”

ดร.สุธาทิพเล่าให้ฟังว่า ถ้าเป็นกรณีของผู้ต้องหาที่กระทำความผิดที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์หรือไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ผู้พิพากษาอาจตัดสินใจใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกได้ แต่ก่อนจะใช้มาตรการเช่นนี้ ผู้พิพากษาทุกคนจะต้องศึกษาผู้ต้องหาอย่างละเอียดเสียก่อน โดยอาจจะใช้การถามคำถามโดยตรง หรือศึกษาจากการสืบสวนสอบสวนที่ได้มาจากเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้พิพากษารู้ว่า ผู้ต้องหามีความต้องการอะไรบ้าง และมีโอกาสในการบำบัดฟื้นฟูแค่ไหน

“การทำงานจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือการลดจำนวนการกักขังที่ไม่จำเป็นระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี (case proceeding) ระยะที่สองคือการลดจำนวนการจำคุกที่ไม่จำเป็นผ่านทางการใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทน และระยะที่สามคือการลดจำนวนการจำคุกที่ไม่จำเป็นในระหว่างกระบวนการตัดสินคดี (sentencing period)”

ดร.สุธาทิพขยายความว่า ในการทำงานระยะแรก คณะทำงานจะลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ส่วนการทำงานช่วงที่สอง มุ่งเป้าหมายลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในระหว่างการพิพากษาคดี ด้วยการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกที่มิใช่การคุมขังแก่กลุ่มผู้พิพากษา และช่วงสุดท้าย มุ่งลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นระหว่างการตัดสินคดี โดยคณะทำงานจะส่งเสริมให้กำหนดบทลงโทษเป็นการทำงานบริการชุมชนแทนการจำคุก ในกลุ่มผู้ต้องหาที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ

ตอนนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการตรวจสอบผลลัพธ์ คณะทำงานได้เลือกศาลต้นแบบที่ตั้งอยู่ทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงในเมืองใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และลำพูน ในการดำเนินการระยะแรก ได้มีการส่งเสริมศาล 6 แห่งในการให้ความรู้และให้การศึกษาเชิงรุกแก่ผู้ต้องหาเกี่ยวกับการประกันตัว และหลังจากเวลาผ่านไปราว 4 เดือน (มกราคม-เมษายน) พบว่า มีคำร้องขอประกันตัว 488 ครั้ง และได้รับการอนุมัติ 365 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 72.95 และมีผู้หญิงที่ได้ประกันตัวคิดเป็นร้อยละ 11

“ระหว่างที่เราทำงานในช่วงนี้ เราพบคนจำนวนมากที่ไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เพราะพวกเขาไม่ทราบสิทธิหรือมีปัญหาด้านการเงิน ทำให้เราหวังว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายนในปีนี้ เราจะพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวไปใช้กับศาลทั่วประเทศได้”

หลังจากการทำงานในระยะแรกประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี การทำงานในระยะที่สองก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยวางแผนว่าจะทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นผู้เผยแพร่ทางเลือกอื่นๆ ที่มิใช่การคุมขังให้กับกลุ่มผู้พิพากษา โดยจะออกมาในรูปแบบคู่มือ และออกเป็นเกณฑ์การใช้การลงโทษทางเลือกให้กับศาลทั่วประเทศ

“ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนเป็นต้นไป คณะทำงานจะทำงานร่วมกับผู้พิพากษาเพื่อช่วยในการปฏิบัติตามคู่มือและเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งสถิติและข้อมูลต่างๆ จะถูกรายงานไปที่ประธานศาลฎีกาในทุกๆ เดือน” ดร.สุธาทิพกล่าว พร้อมทั้งปิดท้ายว่า ด้วยความที่ทางเลือกอื่นแทนการจำคุกมักจะถูกประยุกต์ใช้กับการกระทำความผิดที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งผู้ต้องหาส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ทำให้ผู้กระทำผิดหญิงย่อมได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวอย่างแน่นอน

 

‘ความไว้ใจ’ คือกุญแจสำคัญ

 

วิทยากรท่านสุดท้ายคือ คุณทามาร์ จันตูเรีย (Tamar Chanturia) เจ้าหน้าที่สนับสนุนโครงการ องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากลในเขตคอเคซัสใต้ (ประกอบด้วยประเทศจอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน) ฉายภาพให้เห็นว่า ในระดับโลก จำนวนผู้กระทำความผิดหญิงเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2012 ส่วนมากจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด ขณะที่ในปี 2019 ผู้หญิงในกลุ่มประเทศคอเคซัสใต้คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 3.6 ของประชากรทั้งหมดในเรือนจำ และเช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศ ที่ผู้ต้องขังหญิงมักกระทำความผิดในคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์

“ปลายเดือนเมษายน เรามีผู้หญิงประมาณ 946 คน อยู่ในระบบทัณฑ์บน” คุณจันตูเรียกล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า ในภูมิภาคของเธอได้นำการลงโทษแทนการจำคุกเข้ามาใช้ด้วย เช่น การมอบหมายงานบริการชุมชนให้กับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และมีบุตรที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ (certain age) และมีการระงับ (suspend) การลงโทษในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นหญิงตั้งครรภ์หรือมีบุตรด้วย

แน่นอนว่า ภูมิภาคคอเคซัสใต้ก็เหมือนกับที่อื่นๆ ที่ผู้หญิงต้องเจอกับความท้าทายหลายประการ ทั้งความยากจน การกีดกันทางสังคม ความรุนแรงในครอบครัว และการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอาจช่วยผู้หญิงกลุ่มนี้ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้หญิงที่อยากทำงาน แต่สมัครงานไม่ได้หรือไม่รู้วิธีการสมัครงาน ให้สามารถหางานได้ ซึ่งคุณจันตูเรียเสริมว่า หากผู้ปฏิบัติงานช่วยสื่อสารเรื่องมาตรการแทนการจำคุกให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาได้รับรู้ด้วย ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะสถาบันเหล่านี้สามารถเข้ามาช่วยเหลือผู้กระทำผิดหญิงในเรื่องการบำบัดฟื้นฟูได้ด้วยเช่นกัน

ในตอนท้าย คุณจันตูเรียสรุปว่า ‘ความไว้ใจ’ เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยตอบสนองต่อความต้องการของผู้กระทำความผิดหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาด ที่เร่งให้ผู้ปฏิบัติงานต้องมองหาทางเลือกอื่นมาใช้แทนการจำคุก

 

ก้าวต่อไปของข้อกำหนดกรุงเทพ

 

ก่อนจะจบการเสวนา ดร.บาบาร่า โอเวน ในฐานะผู้มีส่วนร่วมร่างข้อกำหนดกรุงเทพในปี 2010 ได้ฉายภาพข้อกำหนดกรุงเทพในทศวรรษข้างหน้าให้เราเห็นแบบคร่าวๆ โดยดร.โอเวนคิดว่า ข้อกำหนดกรุงเทพในทศวรรษหน้าจะมุ่งสนับสนุนผู้หญิงที่เป็นกลุ่มชายขอบและเปราะบาง รวมถึงผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งในทางภาษา วัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ทางเพศ

“เราจะต้องคำนึงถึงความชอกช้ำ (trauma) และการรักษาบาดแผลทางจิตใจของผู้หญิงกลุ่มนี้ให้มากขึ้น รวมถึงตระหนักเรื่องความปลอดภัยและศักดิ์ศรีในเรือนจำด้วย”

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและต้องได้รับการตระหนักถึงให้มากขึ้นคือ ขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี โดยดร.โอเวนยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ถูกคุมขังยังอยู่ในขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี และยังต้องมองไกลไปถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งก่อนและหลังการเข้าสู่เรือนจำ

“เรื่องสุดท้าย และเป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับข้อกำหนดกรุงเทพคือ การให้ความรู้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในแวดวงนี้ เช่น ผู้พิพากษา เพราะการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนจะช่วยลดต้นทุน ทั้งในแง่การลงทุนกับชุมชนและการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำด้วย” ดร.โอเวนปิดท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save