fbpx
ส่องกระบวนการยุติธรรมไทยผ่าน COVID-19: เมื่อการลงโทษทางอาญาวิถีใหม่อาจเป็นการแก้ปัญหาคุกล้น

ส่องกระบวนการยุติธรรมไทยผ่าน COVID-19: เมื่อการลงโทษทางอาญาวิถีใหม่อาจเป็นการแก้ปัญหาคุกล้น

รชา เหลืองบริสุทธิ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ประเทศไทยใช้กฎหมายอาญาเรียกได้ว่า ‘ฟุ่มเฟือย’ จึงไม่น่าแปลกใจที่ไทยมีจำนวนนักโทษถึง 380,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินกว่าที่เรือนจำจะสามารถรับได้ เพราะเรือนจำรองรับคนได้เพียง 210,000 คนเท่านั้น ทั้งนี้ไทยติดอันดับประเทศที่มีผู้ต้องขังในเรือนจำอันดับ 6 ของโลก และครองแชมป์ในกลุ่มประเทศอาเซียน”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เกริ่นนำได้อย่างน่าสนใจก่อนเริ่มต้นงานเสวนาหัวข้อเรื่อง Living with COVID-19: รายงาน Global Prison Trends 2020 และวิถีใหม่การลงโทษทางอาญาในกระแสโควิด – 19 ผ่านการประชุมออนไลน์ทางไกลโปรแกรม Zoom Cloud Meeting

“ถึงแม้โทษทางอาญาจะมีการประหารและการริบทรัพย์ผู้กระทำผิด ไม่ได้มีเพียงแค่การต้องขัง แต่ดูเหมือนว่าโทษที่เราคุ้นเคยและใช้เป็นประจำ คือ การจำคุก”

การจำคุกจะเหมาะกับความผิดบางประเภทซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อสังคม เราจึงต้องนำตัวผู้กระทำผิดเข้าไปอยู่เรือนจำ เพื่อลดพฤติกรรมไม่เหมาะสมและพัฒนาให้เขากลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ผู้กระทำผิดได้กระทำความผิดเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ การนำตัวผู้กระทำผิดคนนั้นเข้าไปในเรือนจำจะสร้างผลกระทบตามมามากมาย เช่น เข้าไปแล้วไม่ได้ประพฤติตนดีขึ้น แต่กลับมีพฤติกรรมแย่ลงเพราะไปพบอุปนิสัยที่ไม่ดีในนั้น

“ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เห็นได้ชัดว่า กรมราชทัณฑ์มีความมุ่งมั่นสกัดไม่ให้เชื้อไวรัสระบาดเข้าไปในเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังที่ติดโควิด-19 มีจำนวนน้อย ทว่าก็พบปัญหามากขึ้นในเรื่องความเครียดของนักโทษ ตลอดจนปัญหาหลายอย่างที่อาจจะนำไปสู่การจลาจลเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะฉะนัั้น วิกฤตนี้ถือเป็นโอกาสที่จะปฏิรูประบบการลงโทษให้ใช้เรือนจำได้อย่างเหมาะสม” กิตติพงษ์กล่าวเสริม

101 เก็บความจากวงเสวนา Living with COVID-19: รายงาน Global Prison Trends 2020 และวิถีใหม่การลงโทษทางอาญาในกระแสโควิด – 19 ชวนสำรวจสถานการณ์ผู้ต้องขังทั่วโลกในยุค COVID-19 รากปัญหาเรือนจำล้นในประเทศไทย รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังในเรือนจำเพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องหาล้นคุก

 

มอง new normal แก้ปัญหาเรือนจำไทยล้น

 

จากรายงาน Global Prison Trends 2020 จัดทำขึ้นโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ Penal Reform International (PRI) ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้ต้องขังทั่วโลกกว่า 11 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และกว่า 90% ของผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นคนวัยหนุ่ม แม้ผู้ต้องขังผู้หญิงยังคงเป็นประชากรกลุ่มน้อย แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังหญิงได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เด็กยังถือเป็นกลุ่มเปราะบางกลุ่มหนึ่ง โดยการศึกษาของสหประชาชาติ (UN) เผยถึงจำนวนเด็กที่ถูกคุมขังอย่างน้อยประมาณ 410,000 คนทุกปี และกว่า 1 ล้านคนที่อยู่ในการคุมขังของตำรวจ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้หลายประเทศผลักดันให้เกิดกระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ แต่หลักการที่ว่า ‘การใช้มาตรการการคุมขังเป็นวิธีการสุดท้ายสำหรับเด็ก’ ยังไม่ถูกนำไปใช้จริง

ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 3 ล้านคน ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และมีอย่างน้อย 46 ประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังซึ่งควรถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์มากกว่าผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาว่ากระทำผิด นี่แสดงให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการลดสัดส่วนผู้ต้องหาระหว่างการพิจารณาคดีตามที่ระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติ

รายงานฉบับนี้ยังพบว่า ผู้ต้องขังอย่างน้อย 50% ในเรือนจำกระทำความผิดที่ไม่รุนแรง แต่โทษจำคุกกลับถูกนำมาใช้เป็นมาตรการการตอบสนองแบบอัตโนมัติมากขึ้น และใช้ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น เช่น นโยบายการปราบปรามยาเสพติด โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังมากกว่า 2 ล้านคนต้องโทษคดียาเสพติด ผู้ต้องขัง 83% ถูกจำคุกเพราะมียาเสพติดในครอบครองเพื่อใช้เสพ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ บางประเทศเลือกใช้นโยบายยาเสพติดที่รุนแรง มุ่งเป้าไปยังผู้ใช้ จำหน่าย หรือผู้ลักลอบขนยาเสพติดรายย่อย ซึ่งมักเป็นกลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคม การกระทำเช่นนี้จะผลักไสให้พวกเขากลายเป็น ‘คนชายขอบ’ มากยิ่งขึ้น

“การจำคุกยังเป็นวงจรที่ยากจะทำลาย พบการกระทำผิดซ้ำมากกว่า 50% และจากค่าเฉลี่ย 54 ประเทศ เรือนจำส่วนมากได้รับการจัดสรรงบประมาณอยู่ในระดับต่ำ คือน้อยกว่า 0.3 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ”

ประเด็นสำคัญของรายงานฉบับนี้ ระบุว่า มิติด้านสาธารณสุขเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เรือนจำต้องประสบ กล่าวคือ การขาดแคลนบุคลากรทางแพทย์ที่รุนแรง เช่น ทวีปแอฟริกามีหมอ 2 คนต่อเรือนจำ 46 แห่ง โดย 1 แห่งมีคนบรรจุ 15,000 คน และแม้ว่าทางยุโรปและประเทศที่มีรายได้ปานกลางจะเกิดปัญหานี้ไม่รุนแรงมาก แต่ก็ยังพบความขาดแคลนของบุคลากรด้านสาธารณสุขอยู่เช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้สร้างปัญหาต่อมาเรื่อยๆ จนถึงสถานการณ์โควิด-19

จากรายงานที่กล่าวมาข้างต้น ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ประเด็นที่สำคัญคือ ปัญหาในเรื่องของผู้ต้องหาล้นเรือนจำ

“ปัจจุบันกว่า 122 ประเทศทั่วโลกมีผู้ต้องหาล้นคุก ซึ่งภาวะนี้นำไปสู่ความหนาแน่นของประชากรภายในเรือนจำ ซึ่งเราทราบกันดีว่าลักษณะของเรือนจำเป็นพื้นที่ปิด ซึ่งส่งให้เรือนจำเป็นสถานที่ที่ความเสี่ยงมากที่สุดแห่งหนึ่งในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19”

ประเทศแรกๆ ที่พบเชื้อไวรัส เช่น จีนและอิหร่าน ก็เจอผู้ติดเชื้อภายในเรือนจำ หรือประเทศอื่นๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสเปน ต่างต้องเผชิญกับการเสียชีวิตในเรือนจำทั้งสิ้น นอกจากนี้ โควิด-19 ยังสร้างผลกระทบต่อผู้คุมขังในระยะช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากในหลายเหตุการณ์ ความกังวลต่อโรคระบาดนำไปสู่การก่อจลาจล ดังเห็นได้จากประเทศอิตาลี เปรู และอินโดนีเซีย

หลายประเทศให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ยากที่จะป้องกันโควิด-19 จึงเป็นที่มาของหลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อนให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังก่อนกำหนด หรือปล่อยตัวชั่วคราวในกลุ่มที่พิจารณาแล้วว่า จะไม่สร้างความไม่ปลอดภัยให้สังคม เช่น อินโดนีเซียปล่อยตัวผู้ต้องขัง 50,000 คน เทียบเป็นประชากรถึง 18% และพม่าปล่อยตัวไป 25,000 คน เทียบประชากรคิดเป็น 27% หากกล่าวในภาพรวม ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัว 200,000 คน จากผู้ต้องขัง 11 ล้านคนทั่วโลก

“ภาวะโควิด 19 ย้อนมากระตุ้นให้กระบวนการยุติธรรมไทยต้องกลับมาคิดใหม่ว่า แท้จริงแล้ว เรือนจำเป็นที่ที่เหมาะสมกับผู้ต้องขังหรือไม่?”

จากคำถามข้างต้น ชลธิชตอบด้วยการแนะข้อเสนอว่า แนวทางแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วที่หนึ่ง การเพิ่มจำนวนเรือนจำเพื่อให้เรือนจำไม่แออัด ซึ่งถ้าเราเลือกเดินทางนี้หมายถึงการเพิ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อนำมาสู่ระบบการดูแลผู้ต้องขังที่มากขึ้น บางประเทศใช้แนวทางนี้ กล่าวคือ ให้ผู้ต้องขังมีห้องนอนคนเดียวใน 1 ห้อง หรือให้ผู้ต้องขังอยู่ในห้องขัง 23 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการปฏิบัติทำนองจะเป็นการเพิ่มการละเมิดสิทธิทางมนุษยชนหรือสิทธิพื้นฐานมากขึ้นไปอีก ซึ่งชลธิชมองว่า “แนวทางขั้วที่หนึ่งเป็นแค่ระเบิดเวลา เมื่อผ่านโควิดไปและมีการแพร่ระบาดโรคอื่นๆ ขึ้นมาอีก ก็ต้องแก้ไขปัญหากันใหม่”

แต่ความปกติใหม่ (New Normal) อีกขั้วหนึ่ง คือ การลดการใช้โทษจำคุกอย่างยั่งยืน หันไปใช้มาตรการทางเลือก โดยการไม่ใช้เรือนจำเป็นมาตรการหลักในการลงโทษ แต่จะใช้เป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อการลงโทษอื่นใช้ไม่สำเร็จ

“สำหรับประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ เราควรจะใช้ ‘มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังในเรือนจำ’ ในกลุ่มคนที่ศาลยังไม่ตัดสินว่ากระทำความผิด และกลุ่มที่จะลงโทษด้วยค่าปรับแต่ไม่มีเงินจ่าย จึงจำยอมต้องแลกเสรีภาพเข้าเรือนจำแทน รวมไปถึงผู้ต้องขังอื่นๆ ที่มีโทษจำคุก 3 เดือน 6 เดือน บนฐานความผิดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนี้ในหลายประเทศ มีการปฏิรูปการลงโทษระยะสั้นโดยการใช้การลงโทษในชุมชนที่อาจจะมีประโยชน์มากกว่า ซึ่งไทยก็ควรนำมาปรับใช้ด้วย”

 

มองรากเหง้าปัญหาเรือนจำล้นเพื่อการแก้ไขให้ถูกจุด

 

ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับไม้ต่อโดยพูดถึงรากเหง้าของปัญหาเรือนจำล้น เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างถูกจุด โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “การนำคนเข้ามาขังคุกมีที่มาที่ไปอย่างไร”

ดร. ปริญญาแบ่งคนที่ถูกจำคุกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คนที่สมควรได้รับโทษจำคุก เพราะประกอบอาชญากรรมที่ต้องแยกออกมาจากสังคม จึงต้องได้รับการลงโทษให้ไม่ทำผิดซ้ำ และมีกระบวนการเยียวยาให้ได้กลับคืนสู่สังคม ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคนที่ไม่ควรติดคุก ทั้งด้วยอยู่ระหว่างการรอพิพากษา หรือตกเป็นผู้ต้องหากับเป็นจำเลย ซึ่งมีประมาณ 100,000 คน คิดเป็น 30%

ทั้งนี้ปีหนึ่งๆ มีคนที่ถูกกังขังเพราะไม่มีเงินประกันตัวประมาณ 65-70% หรือ 65,000-70,000 คน

ดร.ปริญญาชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างรอการพิพากษา ถ้าหากว่าไม่ได้รับการประกันตัวเพราะศาลไม่อนุญาต ทั้งอาจจะเพราะถูกจับได้คาหนังคาเขา หรือมีหลักฐานชัดเจนว่าทำผิดเป็นที่ประจักษ์ ทำนองนี้ก็ถือได้ว่า ศาลมีเหตุผลในการไม่ให้ประกัน แต่ถ้าคนๆ นั้นอยู่ในช่วงที่ยังถูกกล่าวหา อยู่ระหว่างสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการสู้คดี ศาลก็ควรให้ประกันตัว

“แต่โดยหลัก เรามีปัญหาว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในช่วงรอการพิพากษา และศาลอนุญาตให้ประกันตัว แต่กำหนดหลักทรัพย์เอาไว้ด้วย ทำให้คนจำนวนหนึ่งขอประกันตัวไม่ได้เพราะไม่มีหลักทรัพย์”

ทั้งนี้ ดร.ปริญญาอ้างถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ระบุว่า คดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อว่า “ทำไมเราถึงนำคนไปขังไว้ในคุก กรณีที่ศาลให้ประกันตัวแล้ว แต่ประกันไม่ได้เพราะว่าเขาไม่มีเงิน”

“ประเด็นนี้สำคัญมากซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของคนอื่น แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน ทำไมคนที่ประกันตัวไม่ได้ และยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์กลับถูกทำให้เป็นเหมือนเป็นนักโทษ”

นอกจากนี้ ดร.ปริญญายังชี้ให้เห็นว่า คนอีกกลุ่มที่ไม่ควรติดคุกอย่างยิ่งคือ กลุ่มคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ซึ่งนับได้ราว 20,000 คน

“ส่วนนี้เป็นปัญหาตัวกฎหมายอาญา มาตราที่ 29 ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ”

“ดังนั้นถ้ามีเงินจ่ายค่าปรับย่อมรอดตัว ไม่มีต้องติดคุก แต่ถ้าไม่มีเงินก็ต้องติดคุก”

เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ ดร.ปริญญาจึงเสนอว่า ให้กฎหมายระบุไปเลยว่า หากผู้ใดไม่มีเงินประกันตัว ก็ให้ทำงานบริการสังคมแทน ซึ่งหากเราแก้ตรงนี้ได้ จะทำให้ห้องขังว่างไปอีกปีละ 20,000 คน

อย่างไรก็ดี แม้ปี 2559 จะมีความพยายามแก้ไขให้ทำสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับแล้ว แต่เราก็ยังเห็นปรากฎการณ์ที่มีคนติดคุกเพราะไม่มีเงินอยู่เป็นจำนวนมาก

ดร.ปริญญาทิ้งท้ายถึงสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งหมดว่า ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาบูรณาการกระบวนการยุติธรรม เพราะตำรวจ อัยการ และศาล ไม่ได้อยู่ในกระทรวงยุติธรรม ทั้งสามหน่วยงานที่เป็นขั้นตอนก่อนจะมาถึงเรือนจำ ล้วนแล้วแต่ออกไปจากกระทรวงยุติธรรมทั้งสิ้น

“เมื่อไม่มีใครดูแลภาพรวม ตำรวจก็จับไป อัยการก็ส่งฟ้อง ศาลก็ตัดสิน พอเสร็จสิ้นพิธีก็ส่งมาที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อดูแลพฤติกรรมกับคุมความประพฤติ เรายังขาดการบูรณาการที่จะทำให้เห็นภาพรวมเพื่อจะประมวลผลว่า ท้ายที่สุด กระบวนการที่ปฏิบัติกันมามีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ”

 

โลกที่ไม่เหมือนเดิมหลังโควิด-19: โจทย์ใหญ่หลังปล่อยตัวผู้ต้องขัง

 

ขณะที่ ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่แนวโน้มจำนวนผู้ต้องขังในอดีตจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาตลอด เพราะประเทศไทยนิยมใช้โทษจำคุกเพื่อการแก้ปัญหาอาชญากรรม

อย่างไรก็ดี ดร.นัทธีชี้ให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมา ไทยพยายามหาทางเลี่ยงการใช้โทษจำคุกมาแล้ว โดยย้อนกลับไปสมัยปี 2521 ไทยมีนักโทษอยู่ 75,000 ซึ่งถือว่าล้นคุกในขณะนั้น จึงเกิดการสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาการเลี่ยงโทษจำคุก ผลจากการสัมมนาในครั้งนั้นคือ การนำ ‘การควบคุมความประพฤติของผู้ใหญ่’ มาทดลองใช้ในปี 2522 กับผู้ที่กระทำความผิดในกรุงเทพฯ และพยายามปฏิบัติกันเรื่อยมา แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ต้องขังลดน้อยลงสักเท่าไหร่

“ในปี 2540 เป็นปีที่จำนวนนักโทษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยตอนนั้น มีการเปลี่ยนจากยาขยันเป็นยาบ้าทำให้จำนวนผู้ต้องขังสูงถึง 260,000 คน แต่ปี 2545 มีพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เปลี่ยนจากคนที่ติดยาเป็นผู้ป่วย จึงทำให้จำนวนของผู้ต้องขังลดลงเหลือ 160,000 นี่เป็นนโยบายทางอาญาที่แก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างชะงัก ทว่าหลังจากนั้นมาจำนวนนักโทษก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”

“เคยมีความพยายามแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 มาตราที่จะใช้โทษอื่นหรือว่าใช้สถานที่อื่นแทนเรือนจำ ซึ่งเป็นร่างที่เสนอเข้าไปเพื่อที่จะใช้เป็นทางเลือกแทนการจำคุก แต่พอเข้าไปถึงกรรมธิการ ก็ถูกปรับปรุงให้ต้องจำคุกมาก่อนแล้ว 1 ใน 3 ซึ่งซ้ำซ้อนกับการพักโทษ จึงใช้ไม่ได้”

ปัญหาหนักจึงตกไปอยู่ที่ราชทัณฑ์ซึ่งจะต้องหาทางบริหารเพื่อระบายผู้ต้องขัง เช่น การลองหันมาใช้ระบบการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ทำได้ไม่มากนักเพราะสามารถปฏิบัติได้ในช่วงโอกาสสำคัญเท่านั้น ทำให้ต้องลองเบนเข็มไปหาการพักการลงโทษแทน อย่างไรก็ดี ดร.นัทธีชี้ว่า หากใช้การพักการลงโทษบ่อย สังคมก็จะเริ่มออกมาตั้งคำถาม และถ้าปล่อยผู้ต้องขังออกไปแล้วเกิดการกระทำผิดซ้ำอีก ทุกอย่างก็จะย้อนกลับมาหากรมราชทัณฑ์ ประกอบกับช่วงหลัง ทางกระทรวงมีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ระบบการปล่อยตัวหลังจากที่จำคุกมาแล้วยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 กับผู้ต้องขัง ดร.นัทธี มองว่า โควิด-19จะกลายเป็นปัญหาของคนที่กำลังจะพ้นโทษออกไปใช้ชีวิตในสังคมตามปกติมากกว่าจะเป็นปัญหาของคนที่อยู่ข้างใน เพราะผู้ต้องขังจะต้องออกไปเจอกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานมหาศาล และยิ่งอดีตผู้ต้องขังเหล่านี้มีป้ายปักหลังไว้ว่า ‘เคยเป็นนักโทษ’ ก็รังแต่จะยิ่งทำให้พวกเขาหางานยากยิ่งขึ้นไปอีก

ประเด็นนี้ ดร.นัทธีชี้ว่า ถ้าเราไม่เตรียมการให้ดี นักโทษจำนวนแสนกว่าคนที่กำลังจะพ้นโทษอาจจะกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำใหม่ ซึ่งก่อนจะเกิดโควิด-19 มีการคาดการณ์ว่า จะมีนักโทษทำผิดซ้ำและกลับเข้าสู่เรือนจำประมาณ 30% หรือ 1 ใน 3 แต่เมื่อเจอสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้น และจะกลับไปสู่ปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองผู้ต้องขัง ระบบเรือนจำ การประกันตัว หรือการระบายนักโทษ

 

บริการสังคม – ทบทวนคดียาเสพติด: ทางออกแก้ปัญหาคุกล้นของไทย

 

“สาเหตุของปัญหาคุกล้นมาจาก 2 ประการ ประการที่ 1 ประเทศเราใช้โทษจำคุกเฟ้อมาก และประการที่ 2 นโยบายยาเสพติดที่เราเดินมาผิดทาง” วันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก กล่าว

จากสถิติผู้ต้องขังเรือนจำในราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 พบว่า มีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 373,169 คน และคาดการณ์ว่า จะแตะไปถึง 400,000 คนในอีกไม่นาน ซึ่งจำนวนนักโทษ 3 แสนคนไม่ได้สอดคล้องกับจำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งมีเพียง 12,000 คน

วันชัยชี้ให้เห็นปัญหาของเรือนจำว่า “การที่จะต้องดูแลนักโทษให้ไม่ฆ่ากันตาย ไม่ทะเลาะกัน หรือไม่ก่อการจลาจล ก็เรียกได้ว่าเป็นงานที่หินแล้ว ยังไม่นับรวมความท้าทายในการจัดหาอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ และยังไม่ต้องไปพูดถึงการบำบัดฟื้นฟูให้นักโทษให้กลับเป็นคนดีเลย เพราะว่าเงินหมดไปตั้งแต่การดูแลผู้ต้องขังแล้ว”

อนึ่ง สาเหตุที่ประเทศไทยใช้โทษจำคุกฟุ่มเฟือย เพราะว่ากฎหมายอาญามีโทษสถานอยู่เพียงแค่ 5 ทางปฏิบัติ กล่าวคือ

1) โทษประหารชีวิต ทุกวันนี้มีนักโทษประหารชีวิตอยู่ในเรือนจำ 337 คน เป็นนักโทษอุทธรณ์ฎีกาประมาณ 80 คน ซึ่งภายในทุกๆ 9 ปีจะมีการประหารครั้งหนึ่ง โดยจะประหารคน 2 คน แต่ขณะนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่ประหารแล้ว

2) โทษจำคุก ปัจจุบันใช้กันอย่างเคยชิน เห็นได้ชัดจากการแก้กฎหมายบางประการให้เพิ่มโทษจำคุกเป็นหลัก แทนที่จะเขียนกฎหมายแก้ปัญหาด้วยโทษสถานอื่นๆ หรือวิธีการอื่นๆ

3) โทษกักขัง แม้ตอนนี้จะทำสถานที่กักขังแยกออกจากเรือนจำแล้ว แต่ว่าการกักขังยังเกิดขึ้นน้อย คือมีเพียง 1,725 คน

4) โทษปรับ มีตั้งแต่การเขียนกฎหมายปี 2500 เป็นต้นมา โดยตั้งโทษปรับไว้ว่าจำคุก 1 ปี โทษปรับ 2,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าเท่ากับทอง 5 บาทในปี 2500 (ตอนนั้นทองบาทละ 400) และแม้ปัจจุบัน ทองจะขึ้นไปถึงบาทละ 20,000 กว่า แต่โทษปรับไม่ได้เปลี่ยนจนกระทั่งปี 2560 ซึ่งเพิ่มไปแค่ 10 เท่า ขณะที่ค่าเงินเพิ่มไป 25 เท่า ถึง 50 เท่าแล้ว

หรือถ้าหากต้องรับโทษปรับ แต่ผู้กระทำผิดไม่มีเงินเพียงพอจ่ายค่าปรับ ก็อาจจะต้องโทษสถานที่ 5 แทน คือ 5) ริบทรัพย์สิน ซึ่งโทษสถานนี้คล้ายกับโทษปรับ

จากโทษทั้ง 5 สถานที่กล่าวมา วันชัยชี้ให้เห็นว่า โทษสถานที่จะดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพคือ การจำคุก ทำให้ผู้พิพากษาเองก็ไม่มีทางเลือกมาก หากจะไม่กล่าวโทษเลย ก็คงเป็นไปไม่ได้ ทำให้ต้องเลือกแค่สองทางคือ จำคุกหรือรอลงอาญา

อีกหนึ่งมาตรการที่มีหลายคนพูดถึงคือ แนวทางบริการสังคม ซึ่งวันชัยอธิบายว่า ศาลเริ่มใช้แนวทางนี้เช่นกัน แต่การบริหารสังคมไม่ได้นับเป็นโทษ เป็นเพียงมาตรการเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น และศาลก็ไม่ตัดสินให้บริการสังคมเกิน 40 ชั่วโมงด้วย ซึ่งเขามองว่า “ส่วนนี้เป็นข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่ได้จัดมาตรการที่มีประสิทธิภาพแทนการจำคุก”

สำหรับมาตรการที่ประเทศไทยสามารถจะนำมาทำได้ วันชัยเสนอว่า ควรให้การบริการสังคมเป็นโทษสถาน โดยจากประสบการณ์ที่เขาเคยไปดูงานที่อังกฤษและสกอตแลนด์ ที่นั่นจะเขียนไว้ในกฎหมายว่า โทษบริการทางสังคมเป็นโทษสถานอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลสามารถสั่งให้การบริการทางสังคมได้ถึง 400 ชม. แต่ถ้าไม่กระทำต้องไปรับการลงโทษจำคุกแทน

“เพราะฉะนั้นไทยควรหันมาใช้โทษการทำงานบริการทางสังคมแทนโทษจำคุกในบางกรณีสัก 200-300 ชม. ไม่ใช่แค่ 20-30 ชม. คาดว่าสังคมน่าจะรับได้ เพราะไม่ได้ใช้เวลาบริการสังคมเพียงระยะสั้นๆ ”

อีกประเด็นหนึ่งที่วันชัยชี้ให้เห็นคือ เรือนจำทั่วโลกจะมีผู้ต้องขังยาเสพติดอยู่ที่ 20% แต่ประเทศไทยมีถึง 79.5% คือผู้ต้องขังจาก 3 แสนกว่าคนต้องโทษคดียาเสพติดจำนวน 296,679 คน สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีอาชญากรรมรุนแรง เพราะเรามีผู้กระทำผิดในคดีอื่นๆ ที่ไม่ใช่คดียาเสพติด 76,000 คน

“เรามีนักโทษยาเสพติดถึง 80% และเมื่อลองดูตัวเลข จะพบว่าเป็นผู้เสพถึง 32,000 คน ครอบครองเพื่อจำหน่าย 190,000  คน และพวกผลิตจำหน่ายจริงรายใหญ่เพียง 5,700 คน”

“คนที่ครอบครองเพื่อจำหน่ายคือเกิน 5 เม็ด คือ กลุ่มที่ขายยาเพื่อที่จะได้ยามาใช้ เราเดินตามหลังอเมริกาคือเน้นปราบ จับเข้าคุก เราปฏิบัติอย่างนี้มาเกือบ 40 ปีแต่นักโทษยาเสพติดไม่ได้ลดลง ในทางกลับกันเพิ่มขึ้นเสียด้วย”

“ขณะที่ทางยุโรปมองว่า คนติดยาเป็นปัญหาสังคมที่จะต้องแก้ไขไปพร้อมกับปัญหาสาธารณสุข ฉะนั้นจะไม่มีการปล่อยให้พวกติดยาไปขายยา แต่นำมาบำบัดแล้วแจกยาเพื่อที่ไม่ต้องไปขาย เมื่อไม่ต้องไปขายก็ไม่มีผู้ติดยารายใหม่”

ขณะที่ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดนี้ วันชัยเห็นว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า เรือนจำไม่ใช่ที่ที่จะรับนักโทษโดยที่ไม่มีข้อจำกัดอีกแล้ว คนที่จะถูกส่งเข้ามาควรต้องเป็นคนที่สมควรได้รับโทษจำคุกเท่านั้น และเราต้องมีมาตรการการลงโทษที่ไม่ใช่การจำคุกด้วย วันชัยปิดท้ายว่า “ช่วงโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีในแก้ระบบกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด”

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Global Prison Trends 2020


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save