fbpx
เรือนจำต้นแบบอุทัยธานี-นครสวรรค์ : เมื่อความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำเป็นสิ่งสำคัญ

เรือนจำต้นแบบอุทัยธานี-นครสวรรค์ : เมื่อความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำเป็นสิ่งสำคัญ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ปัญหาเรื่องผู้ต้องขังล้นคุก เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและมีความพยายามจะแก้ไขมาโดยตลอดทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก จากรายงานของ Global Prison Trend 2019 พบว่าจำนวนผู้ต้องขังทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา

แม้เรื่องผู้ต้องขังล้นคุกจะเป็นปัญหาใหญ่ที่รอคอยการแก้ไข แต่อีกหนึ่งปัญหาที่ซ่อนอยู่ในเรื่องผู้ต้องขังล้นคุกและมีแนวโน้มจะเป็นปัญหารุนแรงขึ้นคือ เรื่องความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังรวมกันทั้งสิ้น 363,825 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังชาย 316,449 คน และผู้ต้องขังหญิงจำนวน 47,376 คน จากตัวเลขนี้ จะเห็นว่าสัดส่วนของผู้ต้องขังหญิงนั้นน้อยกว่าเกือบ 7 เท่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พื้นที่ในเรือนจำส่วนใหญ่ถูกออกแบบไว้เพื่อผู้ต้องขังชาย สภาพพื้นที่ในเรือนจำจึงกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงจำนวนมาก

ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนอย่างประเทศกัมพูชา มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 32,029 คน มีผู้ต้องขังหญิง 2,388 คน แต่หากพิจารณาเทียบกับเรือนจำทั้งประเทศ 28 แห่ง กัมพูชามีทัณฑสถานหญิงเพียง 2 แห่ง ในขณะที่ 26 แห่งที่เหลือเป็นแดนหญิงที่อยู่ในเรือนจำชาย

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จึงมีการสนับสนุนให้เรือนจำนำข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) ไปปฏิบัติในเรือนจำทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ช่วยให้เรือนจำมีแนวทางในการดำเนินงาน ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และมีความละเอียดอ่อนทางเพศมากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์ กัมพูชา กับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ใน ‘โครงการเรือนจำต้นแบบเพื่อนำร่องการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในประเทศกัมพูชา’ เพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมในประเทศกัมพูชาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โครงการนี้มีกำหนดระยะเวลาโครงการ 2 ปี เพื่อฝึกอบรมการบริหารจัดการเรือนจำ โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิงแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่เรือนจำ CC2 เรือนจำหญิงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกัมพูชา

นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ปรับสภาพแวดล้อมของเรือนจำ CC2 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และร่วมกันพัฒนาโครงการฟื้นฟูผู้ต้องขัง มีเป้าหมายเพื่อส่งผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีข้อกำหนดกรุงเทพเป็นหลักยึดสำคัญเพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน

ทางกรมราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชายังได้เดินทางมาดูงานที่ประเทศไทย โดยมีเรือนจำอุทัยธานีและเรือนจำกลางนครสวรรค์เป็นเป้าหมาย ด้วยสองเรือนจำที่กล่าวถึง เป็นเรือนจำต้นแบบที่นำเอาข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงได้อย่างน่าสนใจ

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

 

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี มีพื้นที่เพียง 4 ไร่ 2 งาน นับว่าเป็นเรือนจำที่เล็กมาก แต่มีการจัดระเบียบภายในที่มีประสิทธิภาพ จนทำให้เรือนจำแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเรือนจำต้นแบบของการพัฒนาเรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดเล็กอยู่ในเรือนจำ

อยากให้ผู้อ่านลองนึกภาพตาม ในจำนวนพื้นที่เรือนจำทั้งหมดนั้น มีพื้นที่แดนหญิงเพียง 2 งาน จุจำนวนผู้ต้องขังอยู่ประมาณ 140 คน แต่เมื่อจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระบบ ก็พบว่าเรือนนอน ที่ฝึกอาชีพ ครัว และห้องสมุด ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล

ในเรือนนอน มีเตียง 2 ชั้นวางเรียงกันไป ผ้าห่มสีน้ำเงินวางเป็นระเบียบ “มีที่ให้พลิกตัวอยู่นะ ไม่ลำบาก” ผู้ต้องขังหญิงบางคนเล่าให้ฟัง

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

นอกจากนี้ยังมีห้องสำหรับผู้ต้องขังที่มีลูกเล็ก ไว้คอยให้นม และนอนดูแลกันโดยเฉพาะ ก่อนที่ลูกจะถึงวัยที่แยกจากอ้อมอกแม่ได้

ที่เรือนจำอุทัยธานี มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ต้องขังตั้งแต่แรกรับ มีการอบรมฝึกอาชีพตั้งแต่ต้น เมื่อฝึกอาชีพได้ 1 เดือน จึงค่อยขยับให้ได้ทำผม ทำขนม กาแฟ และอาหาร ขายออกไปข้างนอกได้ โดยได้รับเงินปันผลเข้าบัญชี แบ่งสันปันส่วนกับเรือนจำ เจ้าหน้าที่ และตัวผู้ต้องขังเอง

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังอย่างจริงจัง สำหรับผู้ต้องขังที่มีกำหนดปล่อยตัวภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้พร้อมกับเข้าสู่สังคม เช่น ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ มีการอบรมความรู้ด้านต่างๆ และส่งเสริมการอ่าน

ในพื้นที่ 2 งานของแดนหญิงที่ว่านี้ มีมุมห้องเล็กๆ ที่อัดแน่นด้วยหนังสือ ไล่เรียงไปตั้งแต่นิตยสารสุขภาพ นวนิยาย ความเรียง และหนังสือความรู้ฉบับย่อยง่ายวางอยู่ในชั้น สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดที่สุดว่าหนังสือได้รับความนิยมแค่ไหน ดูได้จากรอยยับของหน้าปก และกระดาษที่ถูกเปิดมากกว่าพันครั้ง

บรรณารักษ์ที่เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังเล่าให้ฟังว่า 1 คน ยืมได้ 3 เล่ม กำหนดคืนภายใน 7 วัน แต่ในความจริง ไม่ต้องรอให้ถึง 7 วัน เพราะผู้ต้องขังอ่านกันแค่วันเดียวก็ส่งเล่มเก่าคืน แล้วหยิบเล่มใหม่ไปอ่านต่อทันที

“ใน 1 วัน คนยืมหนังสือไม่ต่ำกว่า 80 เล่ม” บรรณารักษ์เล่าต่อ เมื่อเทียบตัวเลขผู้ต้องขังหญิงทั้งหมดแล้ว แสดงว่าใน 1 วัน ผู้ต้องขังเกินครึ่งยืมหนังสือจากห้องสมุด เธอเล่าต่อว่า หนังสือที่ผู้ต้องขังนิยมอ่านมากที่สุดคือนิยายรัก แต่ที่ชอบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ หนังสือความเรียงอ่านสนุกของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ และชาติ ภิรมย์กุล พอถามว่าอยากได้หนังสือแนวไหนเพิ่ม หลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากได้นิตยสารแนวสุขภาพและเรื่องสัพเพเหระ เช่น Secret และ คู่สร้างคู่สม ไม่เกี่ยงว่าเป็นฉบับเก่า เพราะอยากอ่านความรู้และเรื่องราวในนั้นมากกว่า

พื้นที่ในสุดของห้องสมุด มีกระดานเขียนศัพท์ง่ายๆ เช่น ไปนา กินข้าว เดินเร็ว ฯลฯ สอบถามได้ความว่าเอาไว้สำหรับสอนผู้ต้องขังที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้อ่านออกเขียนได้ โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการฝึกต่อคำ เพื่อที่จะหัดเรียงประโยคต่อไป

ไม่ใช่เฉพาะในแดนหญิงเท่านั้นที่มีห้องสมุดไว้ผ่อนคลายใจและเพิ่มความรู้ แต่ที่แดนชายก็มีห้องสมุดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมฟื้นฟูสำหรับผู้กระทำผิดทางเพศ ให้ผู้ต้องขังมานั่งแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่จึงค่อยนำสิ่งที่ผู้ต้องขังพูดกลับไปพัฒนาโปรแกรมเพื่อมาคุยกับผู้ต้องขังต่อไป ทั้งยังให้ผู้ต้องขังกลับไปอ่านหนังสือกันคนละเล่ม แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนว่าได้อะไรจากการอ่านบ้าง

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

วิพรพักตร์ ค่ายบุญศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่าที่เรือนจำมีความพยายามจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้ดีในทุกๆ ด้าน เช่น การดูแลอาหาร ความสะอาดของเรือนนอน การพัฒนาอาชีพ การส่งเสริมความรู้ และความแข็งแรงของร่างกาย นอกจากจะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังหวังอีกด้วยว่าพวกเขาจะไม่ต้องกลับเข้ามาอีก

เรือนจำกลางนครสวรรค์ : เรือนจำขาวสว่าง ที่ใช้สีบรรเทาจิตใจ

 

 เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

 

เรือนจำกลางนครสวรรค์ เป็นหนึ่งในเรือนจำที่มีอายุยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่เป็น ‘ตารางมณฑลนครสวรรค์’ ในช่วง พ.ศ. 2435 สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะเปลี่ยนฐานะเป็นเรือนจำจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2480 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อีก 20 ปีถัดมา มีการเปลี่ยนจากกำแพงไม้เป็นคอนกรีต และมีการพัฒนาปรับปรุงกำแพงให้สูงและแข็งแรงขึ้นใน พ.ศ. 2516 ซึ่งกำแพงนั้นยังใช้มาถึงปัจจุบัน เรือนจำนครสวรรค์ยกระดับเป็น ‘เรือนจำกลางนครสวรรค์’ ใน พ.ศ. 2519 และกลายเป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบในปัจจุบัน

เรือนจำที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ มีรั้วสีขาวสว่าง ด้านหน้าเรือนจำมีตลาดราชภิวัฒน์ หรือที่เรียกกันว่า ‘ตลาดหน้าคุก’ เอาไว้ขายผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขัง เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องสาน อาหาร กาแฟ ฯลฯ หากเราเข้าไปช่วงกลางวัน จะมีเปิดรับล้างรถ และซุ้มสำหรับซ่อมรองเท้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีผู้ต้องขังนั่งทำอย่างขยันขันแข็ง มีรองเท้าหนังวางเรียงรายให้ซ่อมตลอดทั้งวัน ค่าซ่อมสนนคู่ละ 30-50 บาท ทำได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะอัดกาว แปะหนัง แก้ส้นสึก ฯลฯ ผู้ต้องขังที่กำลังซ่อมอยู่บอกว่างานเหล่านี้นอกจากจะทำให้เขามีทักษะติดตัวแล้ว ก็ยังทำให้เขาผ่านแต่ละวันไปได้เร็วขึ้น

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

แม้จะมีอายุยาวนาน แต่เรือนจำกลางนครสวรรค์ไม่ได้ดูเก่า

เรือนจำกลางนครสวรรค์ มีพื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ แต่มีพื้นที่แดนหญิงเพียง 2 ไร่ จุผู้ต้องขังหญิง 454 คน ที่นี่มีการปรับสภาพภายในเรือนจำ โดยทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกผ่อนคลายด้วยการใช้สีสว่าง ไม่ทึบทึมชวนอึดอัด จนขึ้นชื่อว่าเป็นเรือนจำที่สวยที่สุดในประเทศไทย ไม่ใช่แค่สวย แต่ยังมีการพัฒนาโปรแกรมการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง (Rehabilitation) และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกเรือนจำ

แม้จะมีการจัดสรรพื้นที่ และตารางกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ต้องขังแล้ว แต่ปัญหาหนึ่งของเรือนจำในประเทศไทยคือเรื่อง ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งส่งผลต่อการจัดการที่เป็นระบบเพราะจำนวนคนกับพื้นที่ไม่สัมพันธ์กัน

หลังจากผ่านเครื่องสแกนเข้าไปด้านในเรือนจำ อาคารไม้สีฟ้าตัดกับพื้นกระเบื้องสีขาวก็รอต้อนรับอยู่แล้ว สนามหญ้าสีเขียวตัดเรียบร้อย ด้านบนอาคารมีตัวหนังสือเขียนว่า ‘ห้องพักเวร’ ไว้เป็นที่พักของเจ้าหน้าที่เรือนจำเวลาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

“ปรกติก็สะอาดแบบนี้นะ ไม่ใช่สะอาดเฉพาะวันนี้”  โศรยา ฤทธิอร่าม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครสวรรค์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

พื้นกระเบื้องสีขาวปูทั่วบริเวณเรือนจำ มีต้นไม้ใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเรือนจำเป็นร่มเงาธรรมชาติ ภายในแบ่งสัดส่วนเป็นเรือนนอน ลานกิจกรรม โรงอาหาร ห้องน้ำ ครัว มินิมาร์ท และมีร้านตัดผมเล็กๆ ตั้งอยู่ในมุมหนึ่ง ไว้เป็นที่ฝึกอาชีพและตัดผมให้ผู้ต้องขัง

ในส่วนของแดนหญิง กำลังก่อสร้างเรือนนอนใหม่ มีห้องไว้แยกทำกิจกรรมฝึกอาชีพประเภทงานประดิษฐ์ มีพื้นที่แยกส่วนเอาไว้สำหรับผู้ต้องขังที่มีบุตรเล็ก และทุกบ่ายสองของวัน จะมีกิจกรรมเต้นแอโรบิกเพื่อสุขภาพ

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

“สิ่งที่ต้องปรับปรุงเป็นหลักเลยคือเรื่องกายภาพ ในแดนหญิง มีพื้นที่น้อยมากสำหรับผู้ต้องขังเกือบ 500 คน เพราะเขาต้องใช้ชีวิตประจำวัน นอน ตื่น ทานอาหาร ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสัย อยู่ในนี้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ทุกอย่างจะทำไม่ได้เลยถ้าสถานที่ยังเป็นแบบเดิม ตอนนี้เราเลยกำลังรีโนเวท เพิ่มความสูงของพื้นที่ แล้วใช้อิทธิพลของสีจัดการพื้นที่ทั้งหมด

“ภายใต้พื้นที่อันจำกัด ตอนนี้เราจะเอาอากาศเข้ามาในแดน เพราะแต่ก่อน แสงแดด อากาศ ลมไม่เข้า เราก็ต้องรีโนเวทให้อากาศเข้ามา” ผบ. เรือนจำกลางนครสวรรค์เล่าให้ฟังถึงแนวคิดการปรับปรุงพื้นที่ ที่ทำให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพฯ โดยวางเป้าหมายไว้ว่า ถ้าจัดการพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็สามารถพัฒนาโปรแกรมพัฒนาผู้ต้องขังได้หลากหลายมากขึ้น

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี : พื้นที่เล็ก แต่ใจใหญ่

แม้จะมีความพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงจากคนข้างนอกที่มองว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วยเหลือผู้ต้องขังขนาดนั้น ซึ่งสิ่งที่ทางเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ต้องทำคือการสื่อสารกับสังคม ว่าการพัฒนาผู้ต้องขังนั้นสำคัญอย่างไรในระยะยาว

“พูดกันจริงๆ ก็คือเราสร้างภาพ แต่เป็นภาพที่เราทำจริงๆ ไม่ใช่ทำหลอก” ผบ. โศรยากล่าว

“เราอยากให้ภาพที่สังคมมองเข้ามา ไม่ใช่พอพูดถึงเรือนจำแล้วจะคิดถึงแต่ความเลว เชื้อโรค ขาตรวน แต่เขาอาจจะคิดถึงห้องนวดของเรา ร้านอาหารของเรา คิดถึงภาพที่เราสร้างขึ้นมาบ้าง”

ผบ. โศรยายังกล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องสร้างภาพจำให้คนภายนอกแล้ว การฝึกอาชีพก็ยังช่วยให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานที่สุจริต ได้ฝึกทั้งทักษะและวิธีคิดเพื่อเตรียมกลับเข้าสู่สังคมปกติ

ในสายตาผู้มาเยือน

 

 คุณเนม อัน รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประเทศกัมพูชา

เมื่อมองในมุมของผู้เข้าเยี่ยมชม คุณเนม อัน รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประเทศกัมพูชา มองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรือนจำมีคุณภาพ คือ โปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง และอาคารสถานที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมและใช้ชีวิต

เนม อัน เล่าให้ฟังว่า ที่ทัณฑสถานหญิงกลางกัมพูชา (Correctional Center 2 หรือ CC2) ก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่ใกล้เคียงกับเรือนจำในไทย

“ตอนนี้ CC2 ยังพอพัฒนาได้ แต่ปัญหาคือพื้นที่ตอนนี้ใช้เต็มที่แล้ว เช่น อาคารเรือนนอนเล็ก แต่มีผู้ต้องขังเข้ามาใช้ทุกปี ตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ แต่อาณาเขตเรือนจำมีพื้นที่กว้าง จึงสามารถสร้างอาคารไว้ใช้ประโยชน์เพิ่มเติมได้”

เนม อัน ยังกล่าวถึงโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูว่า ณ ตอนนี้ที่กัมพูชาก็พยายามทำอยู่ อยากจะมีโปรแกรมฝึกอาชีพแบบที่ไทยมี เพราะจะช่วยลดผู้การกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง ทำให้จำนวนผู้ต้องขังในอนาคตลดลง เธอยังกล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์กัมพูชาเดินทางมาดูงานที่ประเทศไทยบ่อยครั้ง แล้วก็มีการพัฒนาหลายอย่าง เช่น สร้างมินิมาร์ท มีร้านขายของจากเรือนจำ ซึ่งตอนนี้สร้างไปแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตก็คิดว่าจะมีการสร้างร้านกาแฟเพิ่มเติม

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า มีหลายอย่างที่อยากกลับไปทำที่กัมพูชา แต่สิ่งที่จะทำอย่างแรกคือโปรแกรมแก้ไขพื้นฟูพฤตินิสัยผู้ต้องขัง

“ส่วนใหญ่ครอบครัวทั่วไป จะมีลูกสาวหรือลูกชายเข้ามาในเรือนจำ แต่ถ้าเด็กๆ เหล่านี้ออกไปโดยมีทักษะติดตัวไปด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี ถ้าเขาทำอะไรได้สักอย่างก็จะเป็นสิ่งที่ดี เรือนจำจะได้ลดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีได้ด้วย”


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save