fbpx
เมื่อ ‘ไดโนเสาร์’ ต้องฟัง ‘เด็กเมื่อวานซืน’ : รู้จักศาสตร์การจัดการเรียนรู้ผู้ใหญ่ กับวีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

เมื่อ ‘ไดโนเสาร์’ ต้องฟัง ‘เด็กเมื่อวานซืน’ : รู้จักศาสตร์การจัดการเรียนรู้ผู้ใหญ่ กับวีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

องค์ประกอบหนึ่งของตอนนี้ที่แตกต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ คือการเติบโตของอินเทอร์เน็ตที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทิศทางความเคลื่อนไหวทางการเมือง ความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้ รวมถึงความเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนที่หลายคนอาจไม่เคยจินตนาการ เพราะเด็กและเยาวชนจำนวนมากเป็น digital native หรือผู้ที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัล แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประชากรหลายรุ่นในสังคมไทย

วัยของประชากรกลายเป็นขั้วการเมืองใหม่ จนเกิดการปะทะทางความคิดทั้งในโรงเรียนและพื้นที่ซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด คือครอบครัว

“เธอถูกชักจูง เธอจะรู้อะไร” “เธอถูกปิดหูปิดตา เธอจะรู้อะไร” ความขัดแย้งบานปลายด้วยการปรามาสอีกฝ่ายว่าไม่มีข้อมูลหรือวิจารณญาณเพียงพอ ขาดการเรียนรู้ — ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม  — แก่เกินแกง ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับความเชื่อของ รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา จากภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยองค์ความรู้การศึกษาผู้ใหญ่ (Andragogy) นักการศึกษาผู้ใหญ่และครูผู้บ่มเพาะเยาวชนหลายต่อหลายรุ่นจึงเชื่อว่า ‘ไม่มีใครแก่เกินเรียน’ เพียงสังคมเข้าใจหลักการที่ตอบโจทย์ความต้องการในการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่าง และด้วยเหตุนั้น เขาจึงมีทรรศนะที่น่าสนใจต่อความขัดแย้งระหว่างวัยในปัจจุบัน

วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

บ่อยครั้งที่การแสดงความเห็นของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในระยะนี้ นำไปสู่ความขัดแย้งในบทสนทนาระหว่างคนสองวัย คุณคิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารกับผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า

สิ่งที่ผู้ใหญ่ได้เห็นได้ยินมา เป็นอีกชุดความรู้หนึ่งจากที่เขาเห็นเวลานี้ ดังนั้นเมื่อสองความเชื่อตีกัน ก็อยู่ที่ใครจะมีวุฒิภาวะมากกว่าในการเรียนรู้ร่วมกัน เราต้องยอมรับความจริงว่าผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลงยาก เขาใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์มามาก การเปลี่ยนแปลงจึงใช้เวลามากด้วย

เมื่อพูดถึงผู้เรียน เราจะนึกถึงนักเรียนเป็นหลัก ผู้ใหญ่ก็จะมีคำเรียกโบราณของเขา คือผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์สูง ฉะนั้นเมื่อพูดถึงนักเรียนก็มักหมายถึงเด็กในชั้นเรียน

ผู้ใหญ่หลุดจากระบบการศึกษาแล้ว เมื่อคุยกันจึงมักมีปัญหาประเภท ‘เธอเพิ่งเรียนได้ระดับนี้ แต่ฉันสั่งสมประสบการณ์ ทำงานมาเยอะแยะ’ เป็นชุดความคิดที่แตกต่างกัน

นอกจากศาสตร์การจัดการเรียนรู้ (Pedagogy) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่แพร่หลายในวงการศึกษา การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ยังพึ่งพาศาสตร์การจัดการเรียนรู้ผู้ใหญ่ (Andragogy) ด้วย ศาสตร์ดังกล่าวครอบคลุมการเรียนรู้ของมนุษย์ในช่วงอายุใดบ้าง

ผู้ใหญ่โดยมากเรามักหมายถึงระดับอายุใช่ไหม ต่างประเทศอาจเป็น 18 ปีขึ้นไป บ้านเราอาจเป็น 20 ปี แต่จริงๆ คำว่าผู้ใหญ่มีมิติอื่นด้วย อาจเท่ากับการพึ่งตนเองได้ทั้งความคิดและการกระทำ มีความรับผิดชอบ เมื่อคิดอย่างนี้ คำว่าผู้ใหญ่อาจไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ ผู้ใหญ่อายุ 60 อาจไม่มีความรับผิดชอบก็ได้ ถ้าเราพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการพึ่งพาตนเอง ดังนั้นต้องมองหลายมิติ

ในระบบโรงเรียน เมื่อเด็กอายุ 18 ปี เข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นผู้ใหญ่ อาศัยการจัดการเรียนรู้ผู้ใหญ่แล้ว ต่างประเทศใช้คำว่า Adult and Higher Education (การศึกษาผู้ใหญ่และอุดมศึกษา) ควบคู่กัน นอกระบบโรงเรียน เมื่อเด็กๆ จบการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือภาคบังคับ บ้างก็เรียนในระบบโรงเรียนต่อไป บ้างก็วิ่งสู่นอกระบบและเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ โลกของการทำงานก็มีการศึกษาผู้ใหญ่ ผ่านการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยที่โอบอุ้มเขาให้เรียนรู้ ก็จะเห็นภาพคนในองค์กรได้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ

ความเชื่อ สมมติฐานในการส่งต่อความรู้ให้ผู้ใหญ่ก็จะมีตั้งแต่การเชื่อว่าผู้ใหญ่หลุดจากการพึ่งพาผู้อื่นแล้ว และพึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ได้ การเรียนรู้ของเขาเป็น Self-Directed Learning (การเรียนรู้ที่กำกับโดยผู้เรียนเอง) และเขาจะต้องการเรียนอะไรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ กับปัญหา กับความต้องการ นำไปใช้ในชีวิตได้

สมมติฐานนี้ใช่ไหมที่แยกการศึกษาผู้ใหญ่จากการเรียนรู้ของเด็ก

ใช่ในยุคหนึ่ง เมื่อยังเห็นความแตกต่างตามธรรมชาติของการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย แต่ยุคนี้ต้องคุยกันใหม่ เพราะมันผสมผสานกัน ข้ามสายกันได้แล้ว เดี๋ยวนี้ในระบบโรงเรียนก็ดึงเอาหลักการศึกษาผู้ใหญ่ไปใช้นะ เด็กในยุคก่อนต้องพึ่งคนอื่นในการเรียนรู้ เหมือนเราแต่ก่อน ขณะที่ผู้ใหญ่นำตนเองในการเรียนรู้ได้มากกว่า มีแนวโน้มนำความรู้ไปใช้ในการทำงาน แก้ปัญหาชีวิต มีแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้มากกว่าเด็ก นั่นเป็นสมมติฐานในยุคนั้น

ณ เวลานี้ก็อย่างที่เราคุยกัน คือเราจะแบ่งผู้ใหญ่และเด็กในวัยไหน อายุเท่าไหร่ได้บ้าง เพราะเราเห็นภาพของเด็กรุ่นนี้ที่นำตัวเองในการเรียนรู้ได้เยอะ การแบ่งค่ายระหว่าง Pedagogy และ Andragogy ค่อนข้างคลุมเครือแล้ว

เพราะเดี๋ยวนี้เด็กๆ เข้าถึงการเรียนรู้ได้มากกว่า จึงนำการเรียนรู้ของตนเองได้มากกว่าเด็กๆ ในอดีตหรือเปล่า

ใช่ๆ พวกเขาอยู่ในสังคมที่กล้าน่ะ กล้าคิด กล้าค้น มีเครื่องไม้เครื่องมือ พ่อแม่ยุคใหม่เองก็อาจสอนเด็กมาอย่างนี้ด้วย เอื้อทั้งปัจจัยภายนอก ปัยจัยภายในครอบครัว ผมเกิดจากพ่อแม่ยุคเก่าที่อาจสอนลูกอีกแบบ ไม่เหมือนพ่อแม่ยุคใหม่ที่เชื่อว่าลูกต้องได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อสนับสนุนลูก เด็กได้เห็นปรากฏการณ์หลายๆ อย่าง พ่อแม่เองก็เป็นคนพาลูกไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะ พ่อแม่อาจไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นการเรียนรู้ของผู้ใหญ่หรือเด็ก แต่เราที่มีหน้าที่เรียนรู้ศาสตร์เหล่านั้น เห็นภาพของการมาเจอมาชนกันแล้ว

การนำหลักการศึกษาผู้ใหญ่ไปใช้ในระบบโรงเรียน หลักการของมันก็ไม่ได้หายไปนะ ยังเห็นหลักความเชื่อมั่นหรือ trust ในผู้เรียน เชื่อมั่นในศักยภาพ ในความแตกต่างระหว่างผู้เรียน ซึ่งเป็นหลักการของมัลคอล์ม โนลส์ (Malcolm Knowles) อยู่ หรือหลักการของเปาโล เฟรเร (Paulo Freire) ที่เชื่อว่าผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ การศึกษาต้องเป็นกระบวนการส่งมอบอำนาจการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ไม่ใช่การฝากเงินในธนาคาร และควรมีกระบวนการทำให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้

วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

เมื่อนิยามของ ผู้ใหญ่และเด็กในวงการศึกษาคลุมเครือ เพราะต่างฝ่ายต่างนำการเรียนรู้ของตนเองได้ จะปรับใช้ศาสตร์การจัดการเรียนรู้ผู้ใหญ่เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนสองวัยได้อย่างไร

พูดถึงหลักการก่อน หัวใจของการศึกษาผู้ใหญ่และการเรียนรู้ผู้ใหญ่คือต้อง trust ก่อน เชื่อในความแตกต่างระหว่างบุคคล เคารพผู้เรียนทุกคน ให้ความเสมอภาค จะทำยังไงให้ทุกฝ่ายทรัสต์กัน อย่าเพิ่งตัดสินตีความว่า ไอ้นี่พูดอย่างนี้ถูก พูดอย่างนี้ไม่ถูก โดยเฉพาะตัดสินกันด้วยชุดความคิดที่เรามี การเชื่อในที่นี้ คือการไม่มองแค่สิ่งที่เห็นอยู่ สิ่งที่ฟังมา แต่จะต้องมองให้ทะลุถึงความเชื่อ ความรู้สึก รู้ว่าความต้องการเบื้องหลังของเขาคืออะไร นี่คือความลึกซึ้งเมื่อเราพูดคำว่าเชื่อในการศึกษาผู้ใหญ่ เราจะไม่มองแค่ผิวเผินข้างหน้าที่เราเห็น เราต้องรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเขาด้วย

โดยสรุป เชื่อในที่นี้คือเชื่อในอะไร เชื่อในความเป็นมนุษย์?

ใช่ เชื่อในความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันน่ะ เวลาสายมนุษยนิยมพูดกัน เราเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดี สิ่งที่อาจจะมีปัญหาคือสิ่งแวดล้อม อาจจะดึงให้เขาคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นอันดับแรกคือ อย่าเพิ่งตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิดไปหมด อีกหลักการสำคัญคือ เมื่อเราทำงานกับคนสองฝ่าย ต้องจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการศึกษาผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เรียนต้องมีโอกาสนำการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องดึงสองฝ่ายมาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อหาทางออกบางอย่างร่วมกัน

คือต้องพยายามให้โอกาสคู่ขัดแย้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยมีผู้ไกล่เกลี่ย

ใช่ ต้องมีนักการศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Educator) ที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ช่วยเหลือ ในยุคนี้มีคนแบบนี้เยอะนะ ผู้อำนวยความสะดวกที่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ผู้ใหญ่ โดยจะใช้หลักการศึกษาผู้ใหญ่หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ต้องออกแบบกระบวนการที่ดึงมุมมองของสองฝ่ายออกมาเพื่อหาข้อสรุปบางอย่าง และทำให้ไปด้วยกันได้

แล้วในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการ อาทิ ในครอบครัว มีอะไรทดแทนผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ได้บ้าง

ใช้ความจริงแท้ เราก็เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ได้ โดยให้พ่อแม่เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นขั้วตรงข้ามกับเขา หรือให้คุยกับคนรู้จริง แม่ผมก็เคยเป็นตอนเป็นมะเร็ง เชื่อการรักษาวิธีโน้นวิธีนี้ เราก็บอกว่าถ้าอยากพิสูจน์ต้องคุย และช่วยกันค้นคว้าให้ดี ก็ช่วยได้

วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

แล้วในประเด็นอ่อนไหว อย่างศาสนาหรือการเมือง เช่น ความไม่ต้องการนับถือศาสนา ประเด็นการเมืองที่กำลังร้อนแรง ฯลฯ มีหลักการสื่อสารเพื่อเลี่ยงอารมณ์เชิงลบหรือการใช้ความรุนแรงไหม โดยเฉพาะเมื่อสองฝ่ายใกล้ชิดกัน เป็นสมาชิกครอบครัว เป็นต้น

ต้องมีข้อตกลงร่วมกันในการคุยเรื่องทำนองนี้ เวลาสอนหนังสือเรายังต้องคุยข้อตกลงร่วมกันก่อน ว่าข้อตกลงร่วมกันของห้องนี้คืออะไร แต่ครอบครัวไทยเราไม่ค่อยคุยเรื่องกติกา ว่าเมื่อคุยเรื่องอ่อนไหวต้องทำยังไง กติกา มารยาทในการคุยเป็นแบบไหน อารมณ์ต่างๆ จึงเข้ามาอยู่ด้วยเยอะ โดยที่เราไม่ค่อยมีกติกาช่วย เช่น ถ้าเริ่มมีอารมณ์จะต้องหยุดการประชุมไหม ฯลฯ ตรงนี้เป็นโจทย์ ต้องตกลงกันเลยว่าเมื่อคุยเรื่องอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ๆ นะ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหา

ที่เคยใช้คือ เวลาคุย ถ้าคนหนึ่งพูดอยู่อย่าเพิ่งแทรก หรือเมื่อไหร่ที่เริ่มมีอารมณ์ให้หยุด ที่สำคัญคือต้องฟังกันให้จบ ฟังโดยที่เข้าใจกัน อย่าเพิ่งตัดสิน ไม่ห้อยป้าย แขวนป้ายตัดสินเขา ฟังจากใจของเราจริงๆ และก็มีคำพูดที่ห้ามใช้เด็ดขาด ไม่ใช้มึงกู คำหยาบ คำที่ลดทอนคุณค่าของเขา หรือทำให้เขาเจ็บปวด

หัวใจของการสื่อสารในครอบครัวคือการพูดเชิงบวก ไม่ใช่การพูดจ๊ะจ๋า แต่นอกจากไม่ตัดสินว่าเขาแย่ ต้องนำเสนอความจริงแท้ด้วย นำข้อมูลที่เห็นชัดเจนมาให้เขา เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อสนับสนุนการคัดค้านของเรา ต่างฝ่ายต่างต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่แค่ให้เหตุผลกัน ต้องแบบ ‘เอ้า ไปศึกษาเรื่องนี้มา แล้วค่อยคุยกัน’ ดีกว่าเริ่มต้นด้วยการบอกว่าเขาผิด แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน และอาจต้องช่วยกันหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจริงแท้แค่ไหน

หรือกล่าวได้ว่า การสื่อสารที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงพึ่งพาพื้นฐานครอบครัวที่เข้มแข็ง

ใช่ สำคัญมาก ต้องมีเวลาให้กัน ไม่ใช่แค่เวลาอย่างเดียว ต้องเป็นเวลาที่มีคุณภาพเพียงพอด้วย เข้าใจว่าบางทีไม่มีเวลาอยู่ด้วยกันเยอะๆ แต่ต้องทำให้มีคุณภาพพอ เรื่องทำนองนี้เริ่มตั้งแต่วิธีเลี้ยงดูนะ ถ้าเราเลี้ยงมาแบบใช้อำนาจกดทับเยอะ เรื่องพวกนี้มันก็จะถูกเก็บไว้เยอะ เด็กก็ไม่คุยด้วย แต่ถ้าส่งเสริมให้เขาคุย แบ่งปันสิ่งที่เขาอยากพูด อยากบอกบ่อยๆ จะช่วยทำให้เวลาเราคุยกันนี่สื่อสารได้ลึกซึ้งและเข้าใจกันมากกว่าเดิม

ต้องบอกความรู้สึกตัวเองให้เป็นด้วยนะ เวลาพ่อแม่คุยเรื่องการเมืองกับลูก ไม่ใช่เรื่องของการหักล้างกันด้วยเหตุผลนะ ความรู้สึกลึกๆ ของพ่อแม่คือห่วงและกังวล กลัวลูกเป็นอันตราย ต้องบอกให้เขารู้ว่าเรารู้สึกยังไง กังวลอะไรบ้างก็ต้องบอกเขา แล้วจะร้องขออะไรก็ร้องขอเขา แต่คำขอร้องนั้นอาจจะถูกปฏิเสธ พ่อแม่ก็ต้องยอมรับ

สุดท้ายถ้าเด็กบอกว่ายังไงผมก็ต้องไปประท้วง ถ้าเราเห็นว่าลูกจำเป็นต้องไป ถ้าเราเชื่อว่าเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของเขา เราก็ต้องคิดต่อว่า เด็กจะดูแลตัวเองอย่างไร เช่น มีหน้ากากอนามัยไหม ไปประท้วงอย่าเปิดไปหมด เว้นระยะห่างสักหน่อยไหม ฯลฯ ต้องเคารพเขาด้วย ไปขัดอะไรเขาตลอดเวลาไม่ได้หรอก พ่อแม่ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่เคียงข้างเขาน่ะ ไม่ว่าจะผิดหรือถูก หรือต่อให้ต้องเข้าซังเตก็ต้องอยู่เคียงข้างเขา ให้กำลังใจเขา

มีตัวอย่างคำ ประโยค หรืออวัจนภาษาที่คุณแนะนำว่าควรเลี่ยงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนสองวัยไหม

พวกสำนวนไทยน่ะ อาจต้องนั่งคิดดีๆ ว่ามันใช่หรือเปล่า อย่าง ‘ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน’ มันคนละน้ำร้อนกันแล้ว ‘รู้อย่างนี้เอาขี้เถ้ายัดปากแต่เด็ก’ คงต้องเลิกใช้ แง่ดีของสำนวนพวกนี้ก็คงมี แต่การใช้เพราะเชื่อว่า ‘เฮ้ย เรารู้มากกว่าคุณนะ’ คงไม่ใช่อีกแล้วในโลกนี้ คำอย่าง ‘คร่ำครึ’ เด็กก็ไม่ควรใช้ด่าผู้ใหญ่นะ ก็ควรเรียนรู้เหมือนกันว่ากว่าทุกอย่างจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องอาศัยผู้ใหญ่เป็นฐานให้พวกเรา

การขีดฆ่าความเห็น การใช้คำอย่าง ‘หัวโบราณ’ ‘ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม’ หรือกระทั่งคำว่าว่า ‘เด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า’ ด้วย อย่าใช้เพื่อหักหาญกัน พยายามใช้ในเชิงบวกมากขึ้น ใช้เพื่อหาช่องทาง หาโอกาส เพื่อจะทำให้ไปด้วยกันได้

คุณอยู่ในภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต ย่อมคุ้นเคยกับแนวคิด การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งว่าด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของมนุษย์ทุกวัยผ่านช่องทางที่หลากหลาย อะไรคือปัจจัยสนับสนุนการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะบ่อยครั้งความขัดแย้งระหว่างวัยเกิดจากการปฏิเสธการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นคำสำคัญ มีมานาน ก่อนที่จะมีระบบการศึกษาด้วยซ้ำ หมายถึงการเรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเรียนรู้อะไร คนเราไม่แก่เกินเรียน การคิดอย่างนี้สำคัญ ถึงชราก็เรียนได้ ทุกพื้นที่คือที่เรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องเรียน ที่สำคัญคือต้องรู้จักตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิพากษ์ตนเอง คนที่จะรักการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ต้องวิเคราะห์ วิพากษ์ตนเองเป็น คือรู้จักตนเองน่ะ

สังคมต้องโอบอุ้มประเด็นนี้ด้วย ต้องมีพื้นที่ในการเรียนรู้ ต้องมีแหล่งเรียนรู้หลากหลาย ไม่ใช่แค่ในโซเชียลมีเดีย แหล่งเรียนรู้กายภาพก็ต้องมี สังคมไทยต้องพยายามทำ เรามีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเยอะ อยู่ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ไม่สามารถพึ่งพาเฉพาะตนเองได้ สถาบันทางสังคมมีส่วนสนับสนุนมาก?

มีส่วน ตั้งแต่สถาบันย่อยๆ อย่างสถาบันครอบครัว พ่อแม่ต้องมีทักษะที่จะฝึกฝนลูกๆ ให้วิเคราะห์ตนเอง เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง ทักษะนี้ในโรงเรียนอาจจำเป็นมากกว่าเนื้อหา เนื้อหาเรียนได้ แต่การวิพากษ์ตนเองจะทำให้เด็กรู้ว่าอะไรที่เขาถนัดและไม่ถนัด เพื่อหาวิธีเรียนรู้ใหม่ซึ่งจะทำให้เขาเรียนรู้ต่อไปได้ ผ่านการร่วมกันวิเคราะห์ของครูและนักเรียน ในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ก็ด้วย

ดังนั้นการพัฒนาครูสำคัญ พัฒนาผู้สอน ว่าจะให้เป็นครูที่สอนเนื้อหาหรือครูที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ก็เห็นความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการ ของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่พยายามบังคับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ[1] แต่ยังต้องปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้อยู่มาก

เป็นทั้งยวง ทั้งระบบ ก็ไม่รู้ว่าเป็นความฝันที่ริบหรี่หรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่า ระบบการศึกษาทุกวันนี้อาจไม่ใช่คำตอบของเด็กทุกคน โลกเปลี่ยนไปมาก โรงเรียนต้องปรับตัวถ้าคิดจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ อาจต้องหารือกันว่าจะจัดกลุ่มเนื้อหาแบบไหน ครูก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้

มีภาพนี้บ้างแล้วในโรงเรียนทางเลือกต่างๆ อย่างโรงเรียนดรุณสิกขาลัยที่เน้นการเรียนแบบบูรณาการ ให้เด็กทำโครงการต่างๆ เอง วิเคราะห์ วิพากษ์ตนเอง สร้างนวัตกรรมได้ แต่ในโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ครูยังสอนเนื้อหาเป็นหลัก ก็จะพบว่าเด็กๆ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นนักวิชาการได้ อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น แต่เห็นตัวเองชัดเจนไหม รู้ไหมว่าต้องการอะไรในชีวิต การตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยังน้อย

เมื่อปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรัง เป็นไปได้ไหมว่าสังคมไทยได้ผลิตประชากรหลายรุ่นที่อาจไม่มีทักษะที่ว่าเลย

หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างวัยที่ดีก็มี อย่างสถาบันรักลูกของ Plan for Kids หรือสถาบันสันติศึกษาก็มี ประเทศเรามีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะที่จะทำให้คนเข้าใจกัน เรียนรู้ร่วมกันโดยไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ขับเคลื่อนในระดับกลุ่ม ไม่ใช่ในภาพรวม

ภาพรวมที่เราอยากเห็นคือการมีวุฒิภาวะทั้งสองฝ่าย จะด่าทออะไรกันต้องมีข้อมูลที่เป็นจริง ต้องแบ่งปันข้อมูลกัน หาจุดร่วมในการพูดกันให้เจอ ยิ่งถ้าเราเชื่อว่าเราเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องสุขุม ต้องช่วยกันให้ข้อมูลเพื่อร่วมกันเรียนรู้ หาทางออก ในระดับครอบครัวก็ช่วยเหลือกันไป ในระดับใหญ่ขึ้นก็อาจต้องมีคนกลางในการทำงานร่วมกัน เด็กและผู้ใหญ่ก็คงจะไปด้วยกันได้ แหม… คนไทยด้วยกันน่ะ

[1] หมายเหตุ: หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) หมายถึง หลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ดำเนินชีวิต และแก้ไขปัญหาของผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยเน้นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หรือการเชื่อมโยงสาระของศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำมาซึ่งผลการเรียนรู้อันประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะ และเจตคติที่คาดหวัง

วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save