fbpx
101 One-On-One Ep.186 : “การเมืองไทยใต้ฟ้าเดียวกัน” กับธนาพล อิ๋วสกุล

“การเมืองไทยใต้ฟ้าเดียวกัน” กับธนาพล อิ๋วสกุล

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

14 ตุลาคม 2563 … และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอีกครั้ง เมื่อคณะราษฎร 2563 ประกาศชุมนุมใหญ่พร้อม 3 ข้อเรียกร้อง 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. เปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อเร่งแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จากกระแสการเมืองในยุค 2475, การเมืองเดือนตุลาในปี 2516-2519, ถึงพฤษภาคม 35 รัฐธรรมนูญ 2540 และการเมืองเสื้อสี การเมืองไทยปัจจุบันกำลังอยู่ในหมุดหมายใดของประวัติศาสตร์ และก้าวต่อไปของการเมืองไทยจะเป็นแบบไหน

อ่านสถานการณ์การเมืองไทยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ‘งานวิชาการนอกขนบ’ มาเกือบ 2 ทศวรรษ จนถึงตอนนี้ที่ ‘ฟ้าเดียวกัน’ กลายเป็นสำนักพิมพ์ร้อนแรงแห่งยุค

 

 

:: ทำหนังสือเพื่อเข้าใจการเมืองไทย ::

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

 

ตอนที่เราเริ่มทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันประมาณปี 2545 เรารู้สึกว่ายังไม่มีหนังสือที่สามารถตอบสนองเราในฐานะคนอ่านได้ ก็เลยมาทำเอง ช่วงทศวรรษ 2540 ความคิดเรื่องการเมืองภาคประชาชนยังมีอิทธิพลสูง การพูดถึงปัญหาการเมืองไทยยังพูดกันแค่เฉพาะหน้า มิติการมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ความเป็นมายังน้อยอยู่ สถาบันกษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในหมวดสอง การจะทำความเข้าใจการเมืองไทยโดยละเลยบทบาทสถาบันกษัตริย์จะทำให้เราไม่สามารถเข้าใจการเมืองไทยแบบที่ควรจะเป็นได้ 

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เราไม่ได้ทำหนังสือเพื่อล้มเจ้า แต่เราทำหนังสือด้วยเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของสมการการเมืองไทย ซึ่งคุณอาจไม่คุ้นเคยและคิดว่าสถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง จะมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นได้อย่างไร แต่เราทำหนังสือมาก็เห็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในตัวละครการเมืองไทย 

เวลาคนพูดถึงฟ้าเดียวกัน ถ้าไม่พูดถึงธนาพล ก็พูดถึงธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) แล้วธนาธรก็มาเล่นการเมือง ซึ่งพูดจริงๆ แล้วไม่มีอะไร ธนาธรเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แต่เขาเปลี่ยนเส้นทางไปดูแลธุรกิจที่บ้าน แล้วไม่เกี่ยวข้องกัน พอไปดูคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ยังลากมาเรื่องนี้ 

ผมคิดว่ามันอาจสะท้อนถึงภูมิปัญญาอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เราอยากให้เขามาคุยกับเราว่าที่พิมพ์หนังสือมามันไม่จริง ไม่เวิร์ก หรือมีงานที่สามารถใช้ทำความเข้าใจได้ดีกว่านี้ แต่เราก็ไม่เห็น มีแต่มาชี้หน้าด่าหรือไปแจ้งความ โดนด่าว่าล้มเจ้าไม่เสียใจเท่าการไม่มีงานของอีกฝ่ายที่มาโต้แย้งได้มีเหตุผลกว่านี้

 

:: การเกิดใหม่อีกครั้งของ 6 ตุลาฯ ::

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

 

เหตุที่คนสนใจ 6 ตุลาฯ มากขึ้นและสนใจ 14 ตุลาฯ น้อยลง เพราะคนไม่ได้สนใจเฉพาะตัวเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ  แต่สนใจตัวละครหนึ่งในนั้น ความสนใจใน 6 ตุลาฯ มาพร้อมกับความสนใจเรื่อง 2475 ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านั้นมีความเคลื่อนไหวเรื่องสถาบันฯ เช่น การถวายคืนพระราชอำนาจ ทำให้หลังการรัฐประหารคนกลับไปสนใจ 2475 และ 6 ตุลาฯ ในเวลาใกล้เคียงกัน ช่วงครบรอบ 6 ตุลาฯ ใน 2-3 ปีมานี้ เราจะเห็นเทรนด์ทวิตเตอร์พูดถึงเรื่องนี้เยอะมาก

6 ตุลาฯ ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ แต่มันคือปัจจุบัน เมื่อคนสนใจบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองมากขึ้น 

สำหรับ ‘นิทรรศการแขวน’ ในงานรำลึก 6 ตุลาฯ ปีนี้ ซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่งในทีมงาน น่าจะเป็นครั้งแรกที่สามารถเอาทั้งวัตถุ ข้อมูล สถานที่ และเทคโนโลยี มานำเสนอร่วมกัน 

คำว่า ‘แขวน’ มีสองนัย 1. การฆาตกรรมแล้วเอาศพไปแขวนแบบเหตุการณ์ที่เกิดใน 6 ตุลาฯ 2. แขวนเป็นกริยาที่หมายถึง การเอาอะไรไว้ข้างบน เอื้อมไม่ถึง เราพูดถึงความยุติธรรมที่เอื้อมไม่ถึง อภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดของผู้กระทำและอาชญากรรมรัฐ

เราเอาวัตถุมาแสดง เช่น ประตูแดงที่เคยใช้แขวนคอช่างไฟฟ้า เวลาพูดถึง 6 ตุลาฯ ว่ามีช่างไฟฟ้าสองคนถูกจับแขวนฆ่า เราก็เริ่มสงสัยว่าเขาฆ่ากันที่ไหน ญาติเขามีความคิดทางการเมืองอย่างไร จึงสืบค้นแล้วนำไปสู่สารคดีเรื่อง ‘สองพี่น้อง’ จากนั้นเราคุยกันว่าจะทำยังไงกับประตู เราเลยไปทำประตูใหม่ให้เขาแล้วขนประตูนั้นมาเก็บไว้เพื่อรอจัดแสดง

ผมเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ยิวที่อเมริกา เขาเอาป้ายเอาชวิตซ์มาจัดแสดงเลยคิดว่าเราน่าจะทำอย่างนั้นบ้าง

 

:: 2475 ในการต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบัน ::

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

 

คำว่า ‘เกิดใหม่’ คนที่ใช้คนแรกคือ อ.เครก เจ. เรย์โนลด์ส ตอนนั้นเขาศึกษาประวัติจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเกิดปี 2473 เสียชีวิต 2509 และงานของจิตรกลับมาอีกครั้งหลัง 14 ตุลาฯ อ.เครกจึงบอกว่าคุณจิตรเกิดสองครั้ง ครั้งแรกคือ 2473 ครั้งที่สองคือหลังมีการฟื้นฟูงานของจิตรหลัง 14 ตุลาฯ

ต่อมา อ.ชาตรี ประกิตนนทการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง 2475 และศิลปะคณะราษฎรเสนอว่า คณะราษฎรก็เกิดสองครั้งเหมือนกัน ครั้งแรกคือ 2475 และพอรัฐประหาร 2549 คนเกิดความสนใจเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ จึงมีคนค้นคว้าเรื่อง 2475 มากขึ้น จึงเป็นการเกิดใหม่ครั้งที่สอง อนุสาวรีย์ปราบกบฏก็มีเสื้อแดงมาหยิบใช้ 

ในบทความ “การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร?” ของผม เขียนว่าการเกิดครั้งที่สองของ 2475 ยังเป็นวงแคบในวงวิชาการหรือคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังมีลักษณะการอยู่ร่วมกันได้ของสองฝ่าย เช่น คุณสามารถไปรำลึกหมุดคณะราษฎรในพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้ แต่พอเข้าสู่รัชสมัยใหม่ก็มีความเปลี่ยนแปลง ปี 2560 สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ 2475 เริ่มหายไปอย่างมีนัยสำคัญ อนุสาวรีย์หลักสี่หายไปได้อย่างไร ที่สำคัญคือหมุดคณะราษฎรหายไปแล้วถูกแทนด้วยหมุดหน้าใส หลังจากนั้นกระแสการกลับไปศึกษาและผลิตซ้ำทำให้ 2475 ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองด้วย 

จากปี 2560 ถึงปี 2563 วันที่มีการปักหมุดสนามหลวง ผมคิดว่าเป็นการเกิดขึ้นครั้งที่สามของคณะราษฎร

ภายใต้การเกิดขึ้นครั้งที่สามของ 2475 อยู่ในบริบทที่มีคู่ต่อสู้ มีทั้งฝ่ายทำลายและฝ่ายสร้าง เวลากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมพูดถึง 2475 เขาไม่ได้พูดถึงนัยประวัติศาสตร์ แต่เขาพูดถึงปัจจุบัน นั่นคือสิบข้อเรียกร้องของเขา เวลาเขาบอกว่านี่คือการสานต่อภารกิจ 2475 คือการทำสิ่งที่ 2475 ทำไม่สำเร็จให้สำเร็จให้ได้

 

:: สิ่งที่หายไปในงานวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยม ::

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

 

ความฝันของฝั่งที่พยายามลบล้างประวัติศาสตร์คณะราษฎรคือการเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อยากกลับไปหาประวัติศาสตร์ก่อน 2475 เพื่อทำให้รอยมลทินที่ลานพระบรมรูปหายไป ทำให้อนุสาวรีย์ปราบกบฏซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แห่งความพ่ายแพ้ของฝ่ายเจ้าหายไป ทำให้ชื่ออนุสาวรีย์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะหนึ่งในตัวแทนคณะราษฎรหายไป นี่เป็นปฏิกิริยาของฝ่ายตรงข้าม 

เมื่อกลับมาดูงานวิชาการ ผมคิดว่ายังไม่มีงานที่มีคุณภาพพอของนักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยม ถ้าเอาบรรทัดฐานของ อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม งานของ อ.ชัยอนันต์ ที่มีคนอ้างบ่อยคือ “เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477” ทั้งเล่มนั้นมีอุดมการณ์ที่ อ.ชัยอนันต์ ซ่อนอยู่ การเลือกเอกสารตั้งแต่ ร.5 มา การยกพระบรมราโชบายเรื่องความสามัคคี การพยายามสร้างดุสิตธานี พูดถึงคณะราษฎรนิดหน่อย จบด้วยการพยายามเอาเรื่อง ร.7 สละราชสมบัติมาอธิบาย ถ้านี่คือการต่อสู้ทางความทรงจำ อ.ชัยอนันต์ ก็สร้างอะไรขึ้นมาเป็นตัวแทนฝ่ายขวามากมาย 

ตอนนี้สิ่งที่ฝ่ายพยายามทำลายคณะราษฎรทำมีแต่ไปทุบทำลาย แต่ผมยังไม่เห็นหนังสือที่มาศึกษา ‘ปฏิปักษ์ของปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม’

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่านี่เป็นกลไกตลาด ช่วงเฟื่องฟูที่สุดของฝ่ายขวาคือตอนที่ยังไม่มีอำนาจ เพราะช่วงที่คณะราษฎรเฟื่องฟูก็ทำให้เขาต้องเร่งสร้างงาน แต่พอชนะแล้วฝ่ายอื่นๆ หายไป คุณเลยไม่ต้องสร้างงานแล้ว เพราะคุณอยู่ในฝ่ายที่มีอำนาจ แต่ฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายที่พยายามกู้ศักดิ์ศรีคณะราษฎรต้องทำงานหนัก เมื่อฝ่ายขวาอยู่ในอำนาจแล้วไม่มีคู่แข่ง ก็ไม่ต้องผลิตงานก็ได้ เพราะแบบเรียนกระแสหลักก็คลุมไว้อยู่แล้ว

 

:: ยุคสมัยใหม่ที่ความเข้าใจเดิมใช้ไม่ได้ ::

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

 

ตอนนี้เราเข้าสู่อีกยุคสมัยหนึ่งแล้ว อ.เกษียร เตชะพีระ บอกว่าเป็นยุคหลัง The Bhumibol Consensus ปัญหาคือกรอบที่เคยใช้วิเคราะห์ในยุค ร.9 มาสู่ ร.10 มีหลายกรอบ แต่กระทั่งผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้งไทยทั้งหมดก็ทำนายเรื่องการเลือกตั้งของอนาคตใหม่ปี 2562 ผิดหมดเลย 

ถึงที่สุดเรามาสู่ยุคใหม่แล้ว ความคุ้นเคยเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้ คนบอกว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แล้วคนจะไม่มาร่วม แต่สุดท้ายคนก็ยังมา หรือที่บอกว่าจัดชุมนุมวันธรรมดาคนไม่มา แต่คนก็มา อะไรที่เรียกว่าเป็นข้อห้ามหรือสูตรสำเร็จที่เคยพูดกันกลับใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง 

สิ่งที่แปลกใหม่ในเวทีนักศึกษาคือบทบาท LGBT ไม่เคยมีการชุมนุมครั้งไหนที่โฆษกจะแต่งชุดแบบนี้ เวทีเสื้อแดงอาจมี LGBT เยอะแยะแต่เขาไม่มีบทบาทแบบนั้น การพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาก็ใหม่ การรวมตัวจัดแฟลชม็อบ หรือความเชื่อเดิมว่านักศึกษากับคนเสื้อแดงเข้ากันไม่ได้ แต่หลายอย่างก็เห็นว่าไม่ใช่

นอกจากนี้ยังมีบทบาทของนักเรียนมัธยม ถ้ามองในประวัติศาสตร์ก็เคยมีบทบาทของนักเรียนในการเมืองไทยมาก่อน สำหรับ 14 ตุลาฯ คือศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย แต่บทบาทของนักเรียนในปัจจุบันกว้างขวางกว่ามาก ส่วนหนึ่งเพราะมีโซเชียลมีเดีย เมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์ กว่าจะรวมตัวกันได้ต้องใช้เวลาสามวัน ปัจจุบันสามารถเข้าถึงการสร้างเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น ประเด็นในหลายเรื่องก็กว้างกว่ายุคนั้น เราเป็นคนขายหนังสือก็เห็นเด็กที่มาซื้ออายุน้อยลงเรื่อยๆ มีการแนะนำหนังสือกันในกลุ่มเพื่อน หรือมีการเอาหนังสือไปชูในที่ชุมนุม 

นอกจากมีเด็กแล้วก็มีผู้หญิง ในยุคผมคนส่วนใหญ่ที่สนใจการเมืองคือผู้ชาย ไปชุมนุมก็เจอแต่ผู้ชาย แต่ปัจจุบันไม่ใช่ มีคนอธิบายว่าผู้หญิงถูกกดมากกว่าผู้ชาย และที่ปฏิเสธไม่ได้คือผู้หญิงเก่งกว่าผู้ชาย อย่างน้อยคือเรื่องผลการเรียนและอัตราการเข้าสู่มหาวิทยาลัยของผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ในแง่การอ่าน คนเหล่านี้จะไปได้เร็วกว่าและอินมากกว่า และเขามีน้ำเสียงของการถูกกดทับมากกว่าผู้ชาย

 

:: ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย ::

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

 

สถานการณ์ปัจจุบันจะนำไปสู่อะไร ผมไม่รู้จริงๆ แต่สิ่งที่จะไม่อยู่คือคำอธิบายแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยในแบบเรียนหรือคำอธิบายแบบกระทรวงศึกษาฯ ต่อให้คุณไม่เปลี่ยนแบบเรียน แต่คำอธิบายแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว มันถูกโยนทิ้งถังขยะสำหรับคนจำนวนหนึ่ง ของเดิมๆ ที่เคยใช้ เช่น วัฒนธรรมสงครามเย็นอย่างไอโอ มันดูเฉิ่มเชย อะไรที่ได้เคยเห็นก็จะไม่เห็นอีกแล้ว ส่วนอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น เช่น บทบาทของนักเรียน หรือเพดานของการพูดถึงประวัติศาสตร์

เมื่อพูดถึง 6 ตุลาฯ ผมไม่เชื่อว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ประวัติศาสตร์ก็เหมือนเราเดินผ่านแม่น้ำ และน้ำมันไหลไปแล้ว แต่มีคนจำนวนหนึ่งเขาคุ้นเคยกับการกระทำแบบหนึ่ง เช่น การปลุกระดม ล่าสุดคือเรื่องขบวนเสด็จ เหมือนการใช้ละครแขวนคอมาใส่ร้ายกันตอน 6 ตุลาฯ นี่คือความคุ้นเคยเดิม แต่ถามว่ามาใช้กับปัจจุบันได้ไหมในโลกที่มีโซเชียลมีเดียเยอะขนาดนี้ ความจริงไม่ถูกผูกขาดโดยฝั่งอำนาจรัฐ เวลาพูดถึงเส้นทางขบวนเสด็จก็มีคนเผยแพร่ข้อมูลออกมามากมาย 

ความคุ้นเคยเดิมนั้นมีแน่ แต่ทำแล้วจะประสบความสำเร็จเหมือนเดิมหรือเปล่า คาร์ล มาร์กซ์ บอกว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ครั้งแรกในฐานะโศกนาฏกรรม ครั้งที่สองในฐานะเรื่องขบขัน”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save