fbpx
การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร?

การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร?

ธนาพล อิ๋วสกุล เรื่อง

เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส ได้กล่าวถึงจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ. 2473-2509) ในหนังสือ ความคิดแหวกแนวของไทย : จิตร ภูมิศักดิ์และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (2534)[1] ว่า

“จิตร ภูมิศักดิ์ นั้นเป็นผู้ ‘มีการก่อเกิดสองครั้ง’ ครั้งแรกเขาเกิดและดับไปตามวิถีของนักต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ ครั้งที่สองเป็นกำเนิดแห่งตำนาน ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นับเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวขานจนถึงยุคปัจจุบัน วันเกิดครั้งที่สองนี้อุบัติขึ้นในวันที่คนไทยลืมได้ยากคือ 14 ตุลาคม 2516”

การเกิดใหม่ของจิตร ภูมิศักดิ์ หลัง 14 ตุลาฯ นั้น เป็นการสั่งสมพลังทางความคิดผ่านการรื้อฟื้นนักเขียนฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 หรือเรียกกันติดปากว่า “ซ้ายเก่า” โดยนักศึกษาในยุคแสวงหาทศวรรษ 2510 ผ่านเครื่องมือสำคัญคือ “หนังสือเล่มละบาท”[2]

หลัง 14 ตุลาฯ เมื่อการเมืองเปิด การขุดผลงานของนักเขียนฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 เป็นไปอย่างคึกคัก จิตร ภูมิศักดิ์ จึงโดดเด่นขึ้นมาในฐานะ “นักรบของคนรุ่นใหม่”[3] ชีวิตและผลงานของจิตรกลายเป็นสิ่งที่ผู้คน “ไถ่ถามอยากเรียน”

ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2520 และการล่มสลายของอุดมการณ์สังคมนิยมในระดับสากล แต่จิตรก็ยังเป็นที่ยอมรับในฐานะนักเขียนและปัญญาชนผู้มากความสามารถ ดังจะเห็นได้จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เขียนถึง “รุ่นพี่” คนนี้ ในหนังสือ มณีพลอยร้อยแสง (2535) ซึ่งตีพิมพ์ในโอกาสครบ 3 รอบพระนักษัตรว่า

“[จิตร ภูมิศักดิ์] เป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน”

และเมื่อบรรดา “คนเดือนตุลา” ได้กลับมามีปากมีเสียงมากขึ้นหลังงานฉลอง 20 ปี 14 ตุลาฯ ในปี 2536 การผลิตซ้ำงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะ “ไอดอล” ก็มีมากขึ้น แม้อุดมการณ์ปฏิวัติจะหมดสิ้นลงแล้วก็ตาม

จนปัจจุบันชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ไม่เป็นสิ่งแปลกปลอม (และไม่เป็นอันตราย) อีกต่อไป

 

รัฐประหาร 19 กันยาฯ กับ คณะราษฎร

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับเรื่องเล่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ของคณะราษฎร ที่ได้รับการก่อรูปทางความคิดมาตั้งแต่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หรืออีกนัยหนึ่งคือ คณะราษฎรสามารถยึดกุมประวัติศาสตร์กระแสหลักได้เพียง 15 ปีแรกแห่งการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 เท่านั้น หลังจากนั้น การทำลายความทรงจำของคณะราษฎร มีทั้งกระบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ เพื่อ “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร” ของกลุ่มน้ำเงินแท้[4] รวมถึงปัญญาชนเสรีนิยม “ก่อน 14 ตุลาฯ” ผู้รังเกียจเผด็จการทหารที่สืบทอดอำนาจแต่พานคิดไปว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นต่อหน้า คือลูกหลานของการปฏิวัติสยาม และที่ขาดไม่ได้คือการสร้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “กษัตริย์ประชาธิปไตย”[5] ภายใต้พระราชหัตถเลขาสละราชย์ที่ว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

จนเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้หลัง 14 ตุลาฯ ที่เป็นชัยชนะของพลังนักศึกษาและประชาชนต่อเผด็จการทหาร แต่คณะราษฎรในฐานะผู้ก่อเกิดประชาธิปไตยกลับไม่ได้รับการพูดถึงสักเท่าไร แม้แต่ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพำนักอยู่ในฝรั่งเศส ก็เป็นที่รู้จักในแวดวงแคบๆ หนังสือที่ปรีดีเขียนก็มิใช่หนังสือขายดีแต่อย่างใด

และที่เป็นที่สุดของการกลับตาลปัตรคือการที่ชัยอนันต์ สมุทวณิช ปัญญาชนเสรีนิยมแถวหน้าในขณะนั้นได้ออกหนังสือชื่อ 14 ตุลา : คณะราษฎร์กับกบฏบวรเดช เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า อุดมการณ์ของฝ่ายน้ำเงินแท้ในการเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติเมื่อเดือนตุลาคม 2476 กับอุดมการณ์ของฝ่ายนักศึกษาและประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 นั้นไปด้วยกันได้[6]

ผู้เขียนเชื่อว่า ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษาประชาชนที่ปักหลักอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งยืนอยู่บนหมุดคณะราษฎรนั้น คงไม่มีใครคิดถึงคุณูปการของคณะราษฎรเมื่อ 41 ปีก่อนหน้าแต่อย่างใด

ยังไม่ต้องพูดถึงว่าไม่มีการจัดจัดกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรหลังชัยชนะ 14 ตุลาฯ ที่หมุดคณะราษฎรเลย

ภาพ: รถบัญชาการศูนย์ฯ ท่ามกลางคลื่นฝูงชนหลายแสนคนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า คืนวันที่ 13 ตุลาคม

ถึงแม้ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรจะถูกฟื้นฟูขึ้นมาหลังอสัญกรรมของปรีดีเมื่อปี 2526 แต่ก็จำกัดอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการจัดงาน “60 ปี ประชาธิปไตย” ในปี 2535 นั้นแทบจะไม่มีคนเข้าร่วมงาน ผู้เขียนยังจำภาพในหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนมิถุนายน 2535 ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานได้ว่าเงียบราวป่าช้า ผิดกับการลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหารกลางท้องถนนราชดำเนินหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น

ขณะเดียวกันในห้วงเวลานั้น (ทศวรรษ 2530) สังคมการเมืองไทยได้บรรลุถึงสิ่งที่เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า “ฉันทมติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” (หรืออาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “The Bhumibol consensus”)[7]

เกษียรได้แจกแจงองค์ประกอบของฉันทมติดังกล่าวไว้ ดังนี้

1. ด้านเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล โดยถ่วงทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2. ด้านการเมือง : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. ด้านอุดมการณ์ : ราชาชาตินิยมหรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ

4. ด้านศาสนา : พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

จะเห็นได้ว่า แทบทั้งหมดไม่ได้เป็นไปตามอุดมการณ์คณะราษฎรแต่อย่างใด

ต่อมา ฉันทมติดังกล่าวต้องเผชิญกับ “คู่ท้าชิง” นั่นคือ โครงการทางเลือกเพื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางประชานิยมเพื่อทุนนิยม + ประชาธิปไตยอำนาจนิยมโดยผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทยในราว พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา[8]

ความน่ากลัวของทักษิณมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ผู้นำ และการเมืองมวลชนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่การเมืองไทยเคยมีมา (11,634,495 เสียง ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และ 18,993,073 เสียง ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548)

ทั้งหมดจึงต้องจบลงด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือที่เรียกว่า “รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”[9] นั่นเอง

แต่กลับกลายเป็นว่า รัฐประหาร 2549 ไม่ได้เป็นเพียงการ “เว้นวรรคประชาธิปไตย” ตามวงอุบาทว์ดั้งเดิมของการเมืองไทยเท่านั้น

ภาพ: วงจรอุบาทว์การเมืองไทย

สถานการณ์หลังรัฐประหาร 2549 แตกต่างอย่างยิ่งจากหลังรัฐประหาร 2534 ที่จบลงด้วยเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ซึ่งเป็นการลุกขึ้นสู้ของ “ชนชั้นกลางในเมือง” โดยมี “คนเดือนตุลาฯ” หลายคนเป็นกำลังหลักในชื่อ “ม็อบมือถือ”[10]

แต่หลังรัฐประหาร 2549 อุดมการณ์เดือนตุลาฯ ได้จบสิ้นลงแล้ว เพราะเกิดการแตกกระสานซ่านเซ็นทางอุดมการณ์  คนเดือนตุลาฯ หลายคนที่เคยมีบทบาทนำในเดือนตุลาคม 2516 และเดือนพฤษภาคม 2535 กลายเป็นหางเครื่องให้กับคณะรัฐประหาร ไม่รวมถึงกลุ่ม “ประชาสังคม” ก็พร้อมที่จะ “เอียงขวา” เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยข้ออ้างทำนองว่า “ทักษิณเลวร้ายที่สุดในโลก”

ขณะที่มวลชนหลักที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยคือคนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย “ประชานิยม” คนเหล่านี้เติบโตมากับ “การเลือกตั้ง” ที่เริ่มตั้งมั่นในการเมืองไทย และมองเห็นว่า “การเมือง” คือช่องทางสำคัญในการต่อรองทรัพยากร งบประมาณ และนโยบาย[11] และที่สำคัญกว่านั้นคือการนำเสนออุดมการณ์ทางเลือกผ่านสื่อสมัยใหม่ที่อำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึง เช่น อินเทอร์เน็ต เว็บบอร์ด วิทยุชุมชน ฯลฯ

เมื่ออุดมการณ์เดือนตุลาฯ จบลงแล้ว และเมื่อคู่ต่อสู้คือพลังอำมาตยาธิปไตย ดังนั้น อุดมการณ์ที่ดูจะเป็น “คู่ชก” ที่สมน้ำสมเนื้อ คือ อุดมการณ์คณะราษฎร นั่นเอง

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เราจึงเห็นสิ่งที่ไม่เคยได้เห็นมาเนิ่นนานนับจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 อาทิ การจัดงานขนาดใหญ่ฉลอง “วันชาติ” ที่บริเวณหมุดรัฐธรรมนูญ การรื้อฟื้นประวัติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะผู้ต่อสู้กับระบอบเก่าอย่างถึงพริกถึงขิง การใช้พื้นที่อนุสาวรีย์หลักสี่ในฐานะสัญลักษณ์ของ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ในต่างจังหวัด นี่ยังไม่รวมคลิปเสวนา บทเพลง รวมทั้งหนังสืออีกจำนวนมากที่ผลิตออกมาในช่วงนี้

และที่สำคัญ ข้อความ “อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับแรก นั่นคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 จึงไม่ได้เป็นเพียงบทบัญญัติทางกฎหมายที่น่าเบื่อ แต่เป็นอุดมการณ์ที่สำคัญยิ่ง

ชาตรี ประกิตนนทการ จึงฟันธงไปในบทความ “คณะราษฎรกับรัฐประหาร 19 กันยายน” (2556) ว่า

“คณะราษฎรก็เป็นกลุ่มบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่กำเนิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกจากผลงานในการปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2475 แต่หลังจากนั้นเพียง 15 ปี ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรก็เริ่มถูกลืมเลือน ตลอดจนถูกตีความในแง่ลบ จนกล่าวได้ว่าคณะราษฎรได้ตายไปเกือบสิ้นเชิงจากความทรงจำทางประวัติศาสตร์ แต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้คณะราษฎรถือกำเนิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในฐานะ “วีรชนประชาธิปไตย” ของการต่อสู้กับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ครอบงำสังคมไทย”[12]

สิ่งที่เราไม่เห็นคือ ปฏิกิริยาของฝ่ายอำมาตย์ต่อการเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ของคณะราษฎรในครั้งนี้ (หรือทั้งหมดรอเพียงการโต้กลับเท่านั้น)

ขณะเดียวก็ต้องยอมรับว่า แม้คณะราษฎรจะเกิดใหม่ครั้งที่ 2 หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ก็ยังเป็นการเกิดใหม่ที่ไม่กว้างขวางมากนัก และยังอยู่ในระดับที่อีกฝ่าย “ทนได้” ไม่ออกมาตอบโต้ อย่างน้อยก็ในทางสาธารณะ

การเกิดใหม่ครั้งที่ 3?

หากมองจากฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง ด้วยเหตุว่ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” เพราะไม่สามารถกำจัดทักษิณ ชินวัตร ออกจากการเมืองไทยไปได้

ไม่เพียงเท่านั้น ห้วงเวลาภายหลังจากรัฐประหาร 19 กันยาฯ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ของคณะราษฎรนั้น ซ้อนทับด้วยปรากฏการณ์ “ตาสว่าง (ทั้งแผ่นดิน)”

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จึงแตกต่างการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ที่เป็นเพียงรัฐประหารเชิงตั้งรับ แต่รัฐประหารครั้งล่าสุดคือ รัฐประหารเชิงรุกในทุกรูปแบบ ทั้งทางการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ รวมทั้งในทางวัฒนธรรม ความทรงจำ และรูปการจิตสำนึก[13]

คณะรัฐประหารยอมไม่ได้ที่จะ “เสียของ” ดังความเห็นของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในโอกาสครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร[14] เราจึงได้เห็นการจับกุมคุมขัง การยัดข้อหาแบบครอบจักรวาล หรือการระแวดระวังในระดับเกินเหตุของคณะรัฐประหาร ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

แต่นั่นก็ไม่เท่ากับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ นั่นคือ การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นอกจากความเศร้าโศกจะปรากฏอย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นจุดสิ้นสุดของ The Bhumibol consensus ด้วยเช่นกัน เกษียรชี้ให้เห็นว่านี่เป็น “การลากเส้นแบ่งเขตอำนาจกันใหม่และการเมืองวัฒนธรรมของการหวนหาอดีต” กล่าวคือ

“ปัจจุบัน การที่เกิดสภาพ “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์เอ่ยทักนั้น ก็เพราะผู้สนับสนุนโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่อันเป็นทางเลือกในแนวทางต่างๆ ได้ฟื้นตัวโผล่ออกมาแย่งชิงพื้นที่ปะทะกัน เพื่อผลักดันแนวทาง modernization/modernism ของตัวเอง ในสถานการณ์อันเปราะบางที่ไม่มีอำนาจนำทางการเมืองอันเป็นที่ยอมรับในแง่ความชอบธรรม, ไม่มีกรอบกฎเกณฑ์กติกาปกติของการดำเนินและแก้ไขยุติความขัดแย้ง, มีแต่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น และอำนาจบังคับด้วยกำลังที่มิอาจแก้ไขข้อขัดแย้งให้ตกไปอย่างถึงรากได้”[15]

แต่สิ่งที่ไม่เคยคาดคิดก็คือ จู่ๆ “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หมุดคณะราษฎร” เกิดสูญหายไป หมุดดังกล่าวฝังไว้ ณ จุดที่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยพิธีฝังหมุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 บนหมุดทองเหลืองนี้มีข้อความว่า

ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475

เวลาย่ำรุ่ง

คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

เพื่อความเจริญของชาติ

มีผู้นำ “หมุดใหม่” มาปักแทน “หมุดคณะราษฎร” ทั้งนี้ บนหมุดใหม่มีข้อความว่า

“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน

ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

เว็บไซต์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2560 รายงานว่า ข้อความที่ปรากฏบนหมุดใหม่นั้น บางส่วนมาจากคาถาสุภาษิตที่ปักอยู่บนตรา “ดาราจักรี” คาถาสุภาษิตดังกล่าวคือ “ติรตเน สกรฏฺเฐจ สมฺพํเส จ มมายน สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฎฺฐาภิวฑฺฒน” ซึ่งแปลว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระศรีรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”[16]

เบน แอนเดอร์สัน เคยเสนอว่า การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 เป็น “กบฏลี้ลับ ครึ่งๆ กลางๆ” (the partial, mystified revolt) เพราะจบลงด้วยการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรที่ยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ กับสถาบันกษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อต่อรองเชิงอำนาจกันต่อไป

ในทางสัญลักษณ์ “หมุดคณะราษฎร ” สามารถอยู่ร่วมกับ “พระบรมรูปทรงม้า” อนุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้สร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาได้ยาวนานกว่า 81 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 จนถึง พ.ศ. 2560

คำถามก็คือ ณ ปัจจุบัน สภาวะดังกล่าวจบสิ้นลงแล้วหรือไม่

แม้ว่าเราไม่ทราบว่าหมุดคณะราษฎรหายไปไหน ใครเป็นคนทำหมุดหน้าใส แต่สิ่งที่เราพบคือหน่วยงานรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร กระทรวงวัฒนธรรม หรือศาลปกครอง ต่างปฏิเสธการมีอยู่ของหมุดคณะราษฎร และพร้อมที่จะเพิกเฉยต่อการดำรงอยู่ของหมุดหน้าใส[17] และที่หลายคนยังไม่เข้าใจมากกว่านั้นคือ ทำไมรัฐไทยถึงได้อ่อนไหวต่อการรำลึกคณะราษฎรถึงเพียงนี้ เพราะมีการคุกคามและจับกุมผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่อง

แต่ใช่ว่านี่จะเป็นการปิดฉากความทรงจำว่าด้วยคณะราษฎรก็หาไม่ ตรงกันข้าม กลับส่งพลังให้มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทั้งการรับรู้การมีอยู่และความสำคัญของหมุดคณะราษฎร การผลิตซ้ำหมุดคณะราษฎรในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรม การแจ้งความหมุดหาย และการจัดกิจกรรมว่าด้วย 24 มิถุนายน 2475 อย่างกว้างขวาง

ราวกับคณะราษฎรกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง

บทสรุป

ผู้เขียนคิดว่า นี่จะเป็นการเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร

ครั้งแรก : เกิดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และจบลงด้วยปฏิบัติการลบความทรงจำโดยรัฐประหาร 2490

ครั้งที่สอง : เกิดภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อตอบโต้กับอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ที่คณะรัฐประหารใช้เป็นเครื่องมือ

ครั้งที่สาม : เกิดหลังเดือนเมษายน 2560 ภายหลังการหายไปของหมุดคณะราษฎร และถูกแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส รวมทั้งในบริบทที่ The Bhumibol consensus ยุติลง

อ้างอิง

[1] เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส, ความคิดแหวกแนวของไทย : จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน, แปลโดย อัญชลี สุสายัณห์ (กรุงเทพฯ : อักษรสาส์น, 2534). แปลจาก Craig J. Reynolds, Thai Radical Discourse : The Real Face of Thai Feudalism Today (Ithaca, NY : Cornell Univ., Southeast Asia Program, 1987).

[2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556).

[3] สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บ.ก., จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่ (กรุงเทพฯ : กองบรรณาธิการ, 2517).

[4] ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน , 2556).

[5] ประจักษ์ ก้องกีรติ, “24 มิถุนาในขบวนการ 14 ตุลา : การเมืองของประวัติศาสตร์” ในประจักษ์ ก้องกีรติ, การเมืองวัฒนธรรมไทย : ว่าด้วยความทรงจำ/วาทกรรม/อำนาจ (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2558).

[6] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 14 ตุลา คณะราษฎร์กับกบฎบวรเดช (กรุงเทพฯ : ชมรมประวัติศาสตร์ ชุมนุมวิชาการอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, 2517).

[7] เกษียร เตชะพีระ, “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง,” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 – 29 มิถุนายน 2560.

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] ธนาพล อิ๋วสกุล, บ.ก., รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2550).

[10] เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ม็อบมือถือ : ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2536).

[11] แอนดรู วอล์คเกอร์, ชาวนาการเมือง : อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย, แปลโดย จักรกริช สังขมณี (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2559). แปลจาก Andrew Walker, Thailand’s Political Peasants : Power in the Modern Rural Economy (Madison : University of Wisconsin Press, 2012).

[12] ชาตรี ประกิตนนทการ, “คณะราษฎรกับรัฐประหาร 19 กันยายน” ใน ชาตรี ประกิตนนทการ, สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49  (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2558)

[13] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0” ปาฐกถาในงานเสวนา “Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ” จัดโดย ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19 มิถุนายน 2560.

[14] “ผบ.ทบ.ยัน คสช.บริหารประเทศ 3 ปี ไม่มีเสียของ” ไทยรัฐออนไลน์ 8 พฤษภาคม 2560.

[15] เกษียร เตชะพีระ, “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง.”

[16] บีบีซีไทย, “หมุดคณะราษฎรที่หายไป สะท้อนปัญหาอะไรในสังคม,” 15 เมษายน 2560.

[17] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “ศาลปกครองไม่รับฟ้อง ‘เอกชัย’ คดีร้องให้ กทม. ย้าย ‘หมุดหน้าใส’ ออก ระบุไม่ใช่ผู้เสียหาย”, 27 มิถุนายน 2560.
[/et_pb_text] [/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023