fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (11—ตอนจบ): จากมรดกอาณานิคมสู่การถอดรื้อ ‘ชาติ’ และ ‘ชาตินิยม’

ชุดบทความ ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้’ นี้เขียนขึ้นโดยตั้งต้นจากความสนใจว่าด้วยสถานการณ์สมัยอาณานิคมและผลสืบเนื่องหรือที่เนื้อหาในตอนแรกเรียกว่าเป็นมรดกตกค้างของมัน[i] โดยอาศัยกรณีดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวอย่าง

ผลสืบเนื่องหรือมรดกอาณานิคมที่ปรากฏชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดคือเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ กรณีที่โดดเด่นคือ ผลสืบเนื่องของการต่อรองขอบข่ายอำนาจและการแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหนือดินแดนและผู้คนแถบคาบสมุทรและหมู่เกาะมลายูระหว่างชาวดัตช์กับอังกฤษ อันนำมาสู่หน่วยการปกครองที่รู้จักกันในนาม ‘บริติชมาลายา’ ‘บริติชบอร์เนียว’ และ ‘ดัตช์อีสต์อินดีส’ กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียหลังอาณานิคม

อย่างไรก็ดี เส้นแบ่งระหว่างขอบเขตอำนาจของอังกฤษและดัตช์ในสมัยอาณานิคม เรื่อยมาจนถึงเส้นเขตแดนระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซียต่างก็ไม่ได้แบ่งกันตามพรมแดนทางวัฒนธรรม ทว่าในหลายแห่งเป็นการ ‘สร้าง’ เส้นแบ่งที่ตัดข้ามลักษณะร่วมทางวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยมีมาก่อนให้แยกจากกัน[ii]

อันที่จริง เราสามารถพบสถานการณ์ทำนองนี้ได้อีกนับไม่ถ้วน ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ใกล้เคียงกับเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่ใกล้เคียง เราพบทั้งกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนจำนวนมากในรัฐ (หรือดินแดน) หนึ่งๆ เป็นชนส่วนน้อยในอีกรัฐ (หรือดินแดน) หนึ่ง เช่น ชาวมลายูทางภาคใต้ของไทย, ชาวสยามทางภาคเหนือของมาเลเซีย, ชาวอิบัน (ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในซาราวัก) ในบรูไน, ชาวปาปัวในอินโดนีเซีย ฯลฯ ทั้งยังพบกรณีของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งพรมแดนของรัฐแต่ไม่มีรัฐเป็นของตนเอง เช่น ชาวโรฮิงญาในพม่าและบังกลาเทศ, ชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญในประเทศพม่าและไทย ตลอดจนกลุ่มคนพื้นถิ่นจำนวนมากบนเกาะบอร์เนียวที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั้งในดินแดนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ในทำนองเดียวกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยหลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ทั้งในดินแดนของพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

พื้นที่พรมแดนหรือชายแดนระหว่างประเทศจึงทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว ‘รัฐ’ แต่ละแห่งไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างที่รัฐนั้นๆ มักจะกล่าวอ้างเสมอๆ

ในแง่นี้ พื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่เราจะตั้งต้นความพยายามรื้อถอนความหมายว่าด้วย ‘ชาติ’ ตลอดจนความคิดเชิง ‘ชาตินิยม’ ที่ผูกโยงกันได้

ดังที่นำเสนอมาตลอดในชุดบทความนี้ เนื้อหาในซีรีส์ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับสถานการณ์ที่รายล้อมวิธีคิดและกระบวนการต่อต้านอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามปลดแอกหรือรื้อถอนภาวะอาณานิคม (decolonisation) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะสัมพันธ์กับอุดมการณ์แบบชาตินิยมแบบแยกไม่ออก และที่สำคัญ งานเขียนว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติหลังอาณานิคมไม่มากก็น้อยวางอยู่บนคำอธิบายทำนองนี้

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดแบบชาตินิยมที่อิงอยู่กับความหมายว่าด้วยชาติที่จำกัดอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนกลุ่มใหญ่หรือเป็นคนกลุ่มที่ครองอำนาจในชาตินั้นก็มักจะส่งผลกีดกันและกดทับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มเล็กกว่าที่อยู่ภายในอาณาเขตรัฐ (ที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่) นั้น

มากไปกว่านั้น ความสัมพันธ์และความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ระหว่างคนกลุ่มผู้ครองอำนาจกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยกว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีบริบทหรือที่มาทางประวัติศาสตร์ แต่เราพบว่าเงื่อนไขของความขัดแย้งเหล่านี้ล้วนสั่งสมมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม โดยเฉพาะสัมพันธ์กับนโยบายเชิงแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) ตลอดจนความใกล้ชิดเป็นพิเศษระหว่างผู้ปกครองอาณานิคมกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (หรือหลายกลุ่ม แต่ไม่ทุกกลุ่ม)

ในกรณีของมาลายาและต่อเนื่องมาถึงมาเลเซีย เราพบกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวจีนช่องแคบ (Straits Chinese) หรือชาวบาบ๋าในปีนังที่รู้สึกว่ากลุ่มของตนเองกำลังจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองเมื่อชาวมลายูกำลังจะกลายเป็นชนกลุ่มหลักของประเทศใหม่แทนที่เจ้าอาณานิคมบริติช[iii]

ในกรณีของพม่า เราพบว่าประวัติศาสตร์ว่าด้วยความแตกต่างและขัดแย้งทางชาติพันธุ์ตั้งแต่สมัยอาณานิคม เรื่อยมาจนถึงวิธีคิดแบบชาตินิยมพม่า นำไปสู่การกดทับหรือเบียดขับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นออกไป เราจึงพบการก่อตัวและพัฒนาขึ้นของกรอบคิดว่าด้วย ‘ชาติ’ และขบวนการชาตินิยมของชาวกะเหรี่ยง[iv] และพบการเกิดขึ้นของขบวนการต่อสู้ของชาวอาระกันมุสลิม ตลอดจนการเบียดขับชาวโรฮิงญาในความหมายกว้างออกไปจากสังคมพม่า[v]

ในกรณีของเวียดนาม การปกครองดินแดนบริเวณที่ราบสูงกลางของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส นอกจากจะสร้างความเป็นอัตลักษณ์ร่วมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่ไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวมาก่อน ยังสร้างสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้ปกครองอาณานิคมกับกลุ่มอัตลักษณ์เชิงชาติพันธุ์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในนามชาวมงตาญญาร์ (Montagnard) กล่าวได้ว่า สายสัมพันธ์ดังกล่าวสร้างเงื่อนไขสำคัญต่อชะตากรรมของชาวมงตาญญาร์นับตั้งแต่ระหว่างสงครามอเมริกัน เรื่อยมาจนถึงเมื่อเวียดนามกลายเป็นประเทศเอกราชจนมาถึงปัจจุบัน[vi]

ในกรณีของประเทศที่ประกอบขึ้นจากหมู่เกาะจำนวนมหาศาลอย่างอินโดนีเซีย สายสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้ปกครองอาณานิคมดัตช์กับชาวอัมบนคริสเตียนจึงทำให้ชาวอัมบนคริสเตียนกลุ่มนี้ตกอยู่ในสถานะ ‘ชายขอบ’ ของขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียและอัตลักษณ์แห่งชาติแบบอินโดนีเซียไปโดยปริยาย[vii] ขณะที่กรณีการเคลื่อนไหวของชาวอาเจะห์นั้น ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์เชิงชาตินิยมแบบอินโดนีเซียจะพยายามนับรวมเอาการที่ชาวอาเจะห์ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมดัตช์มาอยู่ในแนวเรื่องหลัก แต่เราพบได้ด้วยว่า การนิยมตัวตนในเชิง ‘ชาติพันธุ์’ ‘ท้องถิ่น’ ‘ชาติ’ และ ‘ศาสนา’ ระหว่างชาวอาเจะห์กับขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียที่แตกต่างกันไปก็นำไปสู่ความขัดแย้งและเป็นพื้นฐานของขบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในอีกกรณีหนึ่ง[viii]

นอกจากนั้นแล้ว ยังควรกล่าวด้วยว่า ความแตกต่างในเชิงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ศาสนา ไปจนถึงวิธีคิดเชิงเหยียดเชื้อชาติและชาติพันธุ์ (racism) อันนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในดินแดนที่กลายมาเป็นอินโดนีเซียยังปรากฏในที่อื่นๆ ด้วย ทั้งที่ติมอร์และปาปัวตะวันตก ในขณะที่ติมอร์-เลสเตบรรลุการกลายเป็นประเทศเอกราชแล้วในปี 2002 ปาปัวตะวันตกยังคงมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในฐานะที่เป็นขบวนการทางการเมืองและขบวนการติดอาวุธ

สำหรับกรณีของกลุ่มคนที่เรียกรวมว่า ‘บังซาโมโร’ ที่อาศัยอยู่บริเวณกลุ่มเกาะทางตอนใต้ของประเทศหมู่เกาะอีกแห่งหนึ่งอย่างฟิลิปปินส์นั้น อาจคล้ายคลึงกับกรณีของอาเจะห์ที่ว่า ภายใต้พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองตลอดจนความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ สำนึกว่าด้วยความเป็น ‘ชาติพันธุ์’ ‘ท้องถิ่น’ ‘ชาติ’ และ ‘ศาสนา’ ที่แตกต่างกันระหว่างชาวมุสลิม ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘ฟิลิปิโนมุสลิม’ กับชาว ‘ฟิลิปิโนคริสเตียน’ มีส่วนอย่างสำคัญต่อการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องราว เนื่องจากกรณีของภูมิภาคมินดาเนายังทำให้เราเห็นได้ด้วยว่า ความต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ในตัวของมันเองอาจไม่ได้เป็นปัญหาในตัวของมันเอง ทว่ายังต้องพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละบริบทที่ส่งผลให้อัตลักษณ์กลายเป็นเหตุผลของความขัดแย้งด้วยเช่นกัน[ix]

สำหรับประเทศไทยซึ่งประวัติศาสตร์ชาติมักนำเสนออย่างภาคภูมิใจถึงความเป็นประเทศเอกราชที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตกนั้น อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไทยไม่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการอาณานิคม เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ล้วนเป็นผลผลิตของสถานการณ์สมัยอาณานิคมต่อเนื่องมาจนถึงภาวะรื้อถอนอาณานิคมทั่วภูมิภาคหลังสงครามโลกครั้งที่สองทั้งสิ้น

อันที่จริง นอกเหนือจากขบวนการปลดแอกของชาวมลายูปาตานีที่ยังคงเคลื่อนไหว (ทั้งในทางการเมืองและการทหาร) จนมาถึงปัจจุบัน[x] เราพบได้ว่ากระแสการต่อต้านรัฐรวมศูนย์ของไทยหรือสยามนั้นปรากฏมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ทั้งในภาคเหนือที่รู้จักกันในนามขบถเงี้ยวเมืองแพร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในนามขบถผู้มีบุญ (แต่รัฐเรียกว่า ‘ผีบ้า ผีบุญ’) และภูมิภาคปาตานีหรือดินแดนสาม-สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รู้จักกันในนามขบถโต๊ะแทผู้วิเศษ

สำหรับประเทศขนาดเล็กซึ่งมีสถานะเป็นประเทศเอกราชค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้อย่างบรูไน ความขัดแย้งที่รุนแรงไม่ได้เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างเชิงชาติพันธุ์ ทว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นใหม่กับสถาบันทางสังคมแบบจารีตซึ่งอิงอยู่กับอำนาจของผู้ปกครองอาณานิคม[xi] ถึงกระนั้น ลักษณะร่วมที่มีระหว่างกรณีขบวนการปฏิวัติบรูไนกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ในภูมิภาคก็คือ การต่อสู้ที่วางอยู่บนวิธีคิดแบบ ‘ชาตินิยม’ เช่นเดียวกันกับกรณีอื่นๆ แต่ไม่ได้เป็นชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์เท่าๆ กับการเป็นชาตินิยมในเชิงชนชั้นและเงื่อนไขทางการเมืองในประวัติศาสตร์

หากเราจะตั้งต้นจากการพิจารณาพื้นที่ชายแดนหรือพรมแดนในฐานะที่เป็น ‘เวที’ หรือ ‘พื้นที่’ (site) ของการท้าทายและถอดรื้อความหมายว่าด้วย ‘ชาติ’ แล้วเราจะเริ่มต้นถอดรื้อ ‘ชาติ’ อย่างไร

อย่างน้อยที่สุด กรณีศึกษาต่างๆ ที่ปรากฏตลอดซีรีส์นี้ทำให้เห็นว่า ‘ชาติ’ และ ‘ชาตินิยม’ ล้วนสร้างขึ้นโดยวางอยู่บนกรอบคิดแบบ ‘ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์’ (ethnonationalism) และมันไม่ได้ถูกสร้างโดยฝ่ายผู้ครองอำนาจรัฐแต่ฝ่ายเดียว หากยังถูกสร้างโดยฝ่ายขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐในทำนองเดียวกัน[xii]

การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวอันใดอันหนึ่งจึงคล้ายจะเป็นการสร้างการลดทอน เบียดขับ กดทับ กระทั่งเกลียดชังความเป็นอื่นออกไปโดยปริยาย ปัญหาของวิธีคิดแบบชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์จึงเป็นปัญหาของการเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสร้างความเป็นแก่นแท้หรือความเป็นสารัตถนิยม (essentialism) ไม่มากก็น้อย

นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ผมเห็นว่า เราไม่ควรละเลยการวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์ชาตินิยมและอัตลักษณ์นิยมใดๆ ก็ตาม ทั้งจากฝ่ายผู้ครองอำนาจและผู้ต่อต้านอำนาจ แม้เราจะเห็นอกเห็นใจขบวนการเคลื่อนไหวที่พ่ายแพ้ใดๆ มากขนาดไหนก็ตาม

ผมเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว การทำความเข้าใจและวิพากษ์วิจารณ์การก่อตัวและการฉวยใช้วิธีคิดแบบชาตินิยม อัตลักษณ์นิยม สารัตถนิยม ในทางการเมืองอัตลักษณ์ใดๆ ก็ตาม จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สามารถพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายว่าชาติใดกำลังจะชนะหรือแพ้ในเวทีใด เพราะความแตกต่างปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งและปรากฏอยู่อย่างเป็นปกติ ไม่ใช่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวซึ่งไม่เคยมีและไม่มีวันเป็นไปได้จริงๆ ไม่ว่าจะในระดับภูมิภาค ชาติ หรือแม้แต่ท้องถิ่น และเราสามารถเคารพกันและร่วมมือกันภายใต้ความต่างเหล่านั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความหมายทางวัฒนธรรม


หมายเหตุผู้เขียน: เมื่อตอนที่เขียนตอนแรกของชุดบทความนี้ ผมตั้งใจว่าเนื้อหาจะมีมากกว่านี้อีก 2-3 เรื่องเป็นอย่างน้อย เรื่องหนึ่งคือขบวนการเคลื่อนไหวของชาวปาปัวตะวันตกในอินโดนีเซีย อีกเรื่องหนึ่งว่าด้วยสถานะและขบวนการเคลื่อนไหวของชาวซาราวักและซาบาห์ในมาเลเซีย (ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบรูไนดังที่กล่าวในตอนว่าด้วยขบวนการปฏิวัติบรูไน และทั้งที่เป็นเอกเทศจากกรณีบรูไน) และว่าด้วยผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย (ซึ่งอาจแบ่งได้อีกหลายตอน) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 นี้ เนื่องจากผมเริ่มเก็บข้อมูลวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้การหาเรื่องมาเล่าในซีรีส์จะสนุกและช่วยให้ผมทบทวนข้อมูลและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นก็ดึงเวลาและความสนใจออกจากงานวิจัยตรงหน้าอยู่เป็นระยะ ทำให้ตัดสินใจว่าจะต้องตัดจบซีรีส์นี้เร็วขึ้น และปรึกษากับกองบรรณาธิการ The101.world ไว้ว่าจะขอพักงานเขียนประจำไปก่อนเป็นเวลาหนึ่งปีตลอดปี 2024 และเมื่อถึงตอนนั้นสถานการณ์เป็นอย่างไร จะค่อยปรึกษากับกองบรรณาธิการอีกครั้งหนึ่ง เนื้อหาในตอนนี้จึงไม่ได้เป็นการสรุปจบซีรีส์อย่างเดียว (ซึ่งตัดจบก่อนด้วย) หากยังเป็นการแจ้งข่าวการหยุดพักคอลัมน์ไปพร้อมกัน ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้ความสนใจ ขอขอบคุณกองบรรณาธิการ The101.world ทุกท่านที่เปิดพื้นที่ให้เรียนรู้ไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่าในระหว่างที่ผมกำลังร่างต้นฉบับบทความตอนจบนี้ หลายวันมานี้ทางฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู ทั้งสองฝั่งของพรมแดนไทยและมาเลเซียต่างก็กำลังเผชิญกับภาวะน้ำท่วมสูงและมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เท่าที่สังเกตเห็นพบว่า สื่อฝั่งไทยจะรายงานถึงเหตุน้ำท่วมเฉพาะฝั่งไทย (จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี) สื่อฝั่งมาเลเซียก็กล่าวถึงเฉพาะฝั่งมาเลเซีย (รัฐกลันตัน ตรังกานู ปาฮัง และเนอเฆอรีเซิมบีลัน) ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมเดียวกันไม่ใช่หรอกหรือ ผมคิดว่า การกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมอย่างตัดขาดจากกันราวกับเขตแดนของรัฐสมัยใหม่จะเป็นขอบเขตของอุทกภัย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทำให้เราเห็นได้ว่าวิธีคิดว่าด้วยบูรณาการของชาติภายใต้ขอบเขตพรมแดนเป็นประดิษฐกรรมสมัยใหม่ที่ทรงพลังมากๆ จริงๆ (กรณีสงครามที่กาซาก็วางอยู่บนวิธีคิดเรื่องพื้นที่และดินแดนเช่นกัน) และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยยืนยันข้อเสนอในย่อหน้าสุดท้ายของบทสรุปนี้ ผมหวังว่าซีรีส์นี้จะสร้างบทสนทนาให้คิดต่อได้ไม่มากก็น้อย จนกว่าจะพบกันใหม่ด้วยความหวังว่าผู้ประสบภัยจะปลอดภัยโดยเร็วครับ


[i] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (1): มรดกตกค้างจากยุคอาณานิคม?’, The 101 World (blog), 23 August 2022, https://www.the101.world/sea-history-of-losers/; ดูเพิ่มเติม Nicholas Tarling, ‘The Establishment of the Colonial Régimes’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two: The Nineteenth and Twentieth Centuries, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 5–78.

[ii] ดูรายละเอียดใน Eric Tagliacozzo, Secret Trades, Porous Borders: Smuggling and States Along a Southeast Asian Frontier, 1865–1915 (Yale University Press, 2005; Singapore: NUS Press, 2007).

[iii] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (2): ความพยายามแบ่งแยกดินแดนปีนังจากมาลายา, 1948-1951’, The 101 World (blog), 11 December 2022, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-penang/.

[iv] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (3): “ชาติ” และ “ชาตินิยม” ของชาวกะเหรี่ยงในพม่า’, The 101 World (blog), 13 January 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-karen/.

[v] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (7): ชาวโรฮิงญา จากชุมชนของคนเคลื่อนย้ายสู่สภาวะไร้รัฐในดินแดนของตนเอง’, The 101 World (blog), 23 June 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-rohingya/.

[vi] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (4.1): ชาติพันธุ์วรรณนากับอาณานิคม – ฝรั่งเศสกับชาว “มงตาญญาร์” แห่งเวียดนาม’, The 101 World (blog), 9 February 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-montagnard/; ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (4.2): จากฝรั่งเศสสู่สหรัฐอเมริกา — ชาติพันธุ์วรรณนาของชาวมงตาญญาร์กับสงครามอเมริกันในเวียดนาม’, The 101 World (blog), 15 March 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-montagnard-2/.

[vii] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (5): ความพ่ายแพ้ของชาวอัมบนคริสเตียน บนความย้อนแย้งของเอกราชในอินโดนีเซีย’, The 101 World (blog), 19 April 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-ambon/.

[viii] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (6): จากการต่อต้านดัตช์สู่ขบวนการต่อต้านอินโดนีเซีย กับสถานะทางประวัติศาสตร์ของชาวอาเจะห์’, The 101 World (blog), 17 May 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-aceh/.

[ix] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (9.1): ก่อนจะมาเป็น “บังซาโมโร” อาณานิคมอเมริกันกับอัตลักษณ์ “ฟิลิปิโนมุสลิม” ที่เพิ่งสร้าง’, The 101 World (blog), 9 October 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-bangsamoro/; ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (9.2): ศาสนากับอัตลักษณ์เชิงชาติพันธุ์และความขัดแย้งระหว่างชนชั้น การผนวกเข้าด้วยกันเป็น “บังซาโมโร”’, The 101 World (blog), 1 November 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-bangsamoro-2/.

[x] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (8.1): ชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ รากฐานของความขัดแย้งสยาม-ปาตานี’, The 101 World (blog), 24 July 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-patani/; ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (8.2): ความผกผันทางการเมืองสยาม-ไทย กับกำเนิดขบวนการแยกดินแดนปาตานี’, The 101 World (blog), 10 August 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-patani-2/.

[xi] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (10): ความพ่ายแพ้ที่เงียบงันของขบวนการปฏิวัติบรูไน 1962’, The 101 World (blog), 20 December 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-brunei/.

[xii] ดูรายละเอียดใน Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save