fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (4.2): จากฝรั่งเศสสู่สหรัฐอเมริกา — ชาติพันธุ์วรรณนาของชาวมงตาญญาร์กับสงครามอเมริกันในเวียดนาม

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว การพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู นำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาสันติภาพที่เจนีวาในปี 1954 อันเป็นผลให้ฝรั่งเศสต้องถอนตัวจากการปกครองดินแดนภูมิภาคแถบนี้โดยตรง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นหลักหมายของการสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ของหน่วยทางการเมืองที่เคยเรียกว่า ‘อินโดจีน’ ของฝรั่งเศส หลังจากที่ลาวและกัมพูชาเป็นเอกราชไปก่อนหน้านั้นไม่นานนักในปี 1953 ดินแดนเวียดนามยังคงตกอยู่ในฐานะรัฐชั่วคราวสองรัฐ สองระบอบการปกครอง คือฝ่ายคอมมิวนิสต์ (เวียดนามเหนือ) และฝ่ายที่ไม่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ (เวียดนามใต้)[i] แต่ถึงกระนั้น ลักษณะร่วมของทั้งสองเวียดนามคือยังวางอยู่บนวิธีคิดแบบชาตินิยมทั้งคู่ แม้อาจจะนิยามต่างกันไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่างก็อ้างอิงและช่วงชิงความชอบธรรมในการปกครองเวียดนามทั้งประเทศด้วยกันทั้งสองฝ่าย

แม้ว่าสนธิสัญญาเจนีวาจะทำให้เวียดมินห์ต้องถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขบวนการเวียดมินห์ก็แทรกซึมลงไปในดินแดนที่ราบสูงกลางได้บ้างแล้ว ทั้งสามารถเกณฑ์ผู้คนชาวมงตาญญาร์จำนวนหนึ่งมาร่วมเป็นกองกำลัง ทั้งยังสามารถสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนแบบ ‘ใต้ดิน’ ทั้งในที่ราบสูงกลางและลาวใต้ไว้ด้วยก่อนจะถอนกำลังออกไป[ii]

ความย้อนแย้งสำคัญสำหรับ ‘เวียดนามใต้’ หรือที่ขณะนั้นเรียกว่า ‘รัฐเวียดนาม’ (State of Vietnam) และต่อมาจะกลายเป็น ‘สาธารณรัฐเวียดนาม’ (Republic of Vietnam) ก็คือ ในขณะที่รัฐเวียดนามก่อตัวขึ้นโดยการสนับสนุนของฝรั่งเศส การทวีความเข้มข้นของความเป็นชาตินิยมของฝั่งเวียดนามใต้เองก็เป็นผลมาจากการอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสเอง อันนำไปสู่การพยายามรื้อถอนความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ฝรั่งเศสวางรากฐานไว้ ทั้งโครงสร้างการทหาร การปกครองท้องถิ่น และโดยเฉพาะการสถาปนาสาธารณรัฐเวียดนามแทนในเวลาต่อมา[iii]

ด้วยสถานการณ์ดังนี้ ดินแดนที่ราบสูงกลางจึงกลายมาเป็นเป้าหมายของการขยายอิทธิพลของชาตินิยมเวียดนามจากฝั่งเวียดนามใต้ ในปี 1955 สถานะของการเป็นดินแดนกึ่งกำหนดตนเองที่ขึ้นตรงต่อจักรพรรดิสิ้นสุดลงและถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวียดนาม ข้าหลวงฝรั่งเศสถูกแทนที่ด้วยผู้ปกครองชาวเวียดนาม การเรียนการสอนภาษาถิ่นของชาวมงตาญญาร์กลุ่มต่างๆ ตลอดจนภาษาฝรั่งเศส ถูกถอดออกจากระบบโรงเรียนแล้วแทนที่ด้วยภาษาเวียดนาม ตำแหน่งทางการที่มาจากระบบกฎหมายเชิงจารีตถูกยกเลิกไป จารีตประเพณีต่างๆ ถูกควบคุม และระบบเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนหรือที่เรียกว่าวิธีการถางแล้วเผา (slash-and-burn) ถูกบังคับให้เลิก ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสชาวเวียดสามารถอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่ราบสูงกลางได้มากขึ้น[iv]

อย่างไรก็ตาม ระบอบชาตินิยมเวียดนามใต้ก็ไม่ได้ดำรงตนอย่างเป็นเอกเทศ แม้จะถอดถอนฝรั่งเศสออกไปได้ แต่ก็มีสหรัฐอเมริกากลายมาเป็นผู้หนุนหลังแทน โดยเฉพาะภายใต้นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในแง่นี้ สหรัฐอเมริกาจึงคล้ายจะเข้ามาแทนที่ฝรั่งเศส ไม่เพียงแต่ในระดับชาติ อันหมายถึงเวียดนามใต้โดยรวม แต่ยังหมายถึงในระดับท้องถิ่นในการพยายามสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มชาวมงตาญญาร์ด้วย[v]

ตั้งแต่ปี 1955 สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายสนับสนุนกระบวนการสร้างชาติเวียดนาม โดยส่งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเข้าไปยังเวียดนามใต้ อย่างไรก็ดี สำหรับที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาอย่าง เจอรัลด์ ฮิกกี้ (Gerald Hickey) หนึ่งในผู้ที่ได้เดินทางไปยังดินแดนที่ราบสูงกลางในช่วงเวลาดังกล่าวเห็นว่า ‘กระบวนการทำให้เป็นเวียดนาม’ (Vietnamization) ผ่านระบบการศึกษา วัฒนธรรม และระบบกฎหมายของชาวมงตาญญาร์ มีแนวโน้มจะสร้างปัญหาและความไม่พอใจในระยะยาว แต่คำเตือนของเขาก็ถูกเพิกเฉยไป[vi]

นโยบายทำให้เป็นเวียดนามทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมไม่เพียงแต่สร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวมงตาญญาร์กลุ่มต่างๆ หากยังกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของกลุ่มคนพื้นถิ่นในดินแดนที่ราบสูงกลาง ซึ่งนำโดยชนชั้นนำชาวราเดและชาวบาห์นาร์ คณะกรรมการและแนวร่วมต่างๆ ของชาวมงตาญญาร์เริ่มปรากฏขึ้นในปี 1955 จนกระทั่งถึงปี 1958 จึงเกิดขบวนการบาจารากา (BAJARAKA) องค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของผู้คนแห่งที่ราบสูงกลาง[vii] โดยมีชื่อขบวนการมาจากชื่อกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 4 กลุ่ม คือ บาห์นาร์ (Bahnar) จาราย (Jarai) ราเด (Rhade) และเกอโฮ (Koho) อย่างไรก็ตาม ขบวนการดังกล่าวก็ถูกปราบปรามและจับกุมคุมขังในเวลาอันรวดเร็ว

ไม่เพียงแต่ชาวมงตาญญาร์เท่านั้น กระบวนการทำให้เป็นเวียดนาม ตลอดจนการกดปราบผู้ต่อต้านทั้งหลายสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยอื่นๆ ในเวียดนามใต้ อย่างชาวขแมร์และชาวจามด้วยเช่นกัน และคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก หากมันจะเป็นปฏิกิริยาหนุนเสริมให้เครือข่ายกองกำลังเดิมของเวียดมินห์ทางตอนใต้ขยายตัวขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ‘เวียดกง’ ในเวลาต่อมา[viii]

ช่วงเวลาระหว่างปี 1959 จนถึง 1961 จึงพบความพยายามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการกลับมาขยายอิทธิพลบริเวณที่ราบสูงกลางอีกครั้งหนึ่ง กองกำลังเวียดมินห์ชาวมงตาญญาร์ที่เดินทางออกไปอยู่ทางตอนเหนือในช่วงหลังสนธิสัญญาเจนีวานั้นเดินทางกลับมาในช่วงเวลานี้ ขณะเดียวกันวิทยุกระจายเสียงจากฮานอยส่งสัญญาณมาในภาษาหลักของชาวมงตาญญาร์ ทั้งภาษาราเด จาราย และบาห์นาร์ โดยเฉพาะการเสนอรูปแบบของการปกครองตนเองในที่ราบสูงกลาง ตลอดจนประชาสัมพันธ์นโยบายเขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในเวียดนามเหนือด้วย การมีท่าทีให้ความเคารพภาษาและวัฒนธรรมของชาวมงตาญญาร์ และที่สำคัญ การให้คำมั่นสัญญาว่าด้วยการปกครองตนเอง ดึงดูดกลุ่มคนพื้นถิ่นบนที่ราบสูงกลางได้อย่างมาก และคล้ายจะเป็นการสั่นคลอนความมั่นคงของระบอบเวียดนามใต้ไปพร้อมกัน[ix]

ด้วยเหตุที่สหรัฐอเมริกาหมายมั่นให้เวียดนามใต้เป็นด่านหน้าในการยับยั้งการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนัยหนึ่งก็ทำให้ชาวอเมริกันค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์พิเศษกับชาวมงตาญญาร์ขึ้นมาเป็นลำดับ กลไกสำคัญคือการก่อตั้งโครงการป้องกันหมู่บ้าน (Village Defense Program) ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ในที่ราบสูงกลางภายใต้การสนับสนุนของสำนักข่าวกรองกลางหรือ ‘ซีไอเอ’ (Central Intelligence Agency: CIA) และหน่วยรบพิเศษ (Special Forces) ของสหรัฐอเมริกา ต่อมาโครงการป้องกันหมู่บ้านนี้พัฒนาไปเป็นกองกำลังป้องกันพลเรือน หรือ ‘ซิดจี’ (Civilian Irregular Defense Groups; CIDG) ซึ่งจะเปลี่ยนจากหน่วยป้องกันไปเป็นหน่วยโจมตีในเวลาต่อมาด้วย[x]

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาพยายามจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างชาวเวียดกับชาวมงตาญญาร์ กระนั้น ด้วยความสัมพันธ์ทางการทหาร กลับกลายเป็นว่าสหรัฐอเมริกาก็สถาปนาชุดความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับชาวมงตาญญาร์ขึ้นมา แทบไม่ต่างอะไรกับที่ฝรั่งเศสเคยทำมาก่อน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็พยายามชี้ให้เห็นและเน้นย้ำกับหน่วยงานด้านการพัฒนาและความมั่นคงทางการทหารของสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่หน่วยรบพิเศษ, ซีไอเอ และ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ ‘ยูเสด’ (United States Agency for International Development: USAID) ถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างชาวมงตาญญาร์กับชาวเวียด ทั้งฝ่ายเวียดกงและฝ่ายไซ่ง่อน[xi]

ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกาอาศัยประสบการณ์จากฝรั่งเศสมาเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเฉพาะความรู้เชิงชาติพันธุ์วรรณนาที่ผลิตขึ้นโดยฝรั่งเศสในยุคก่อนหน้า นักวิจัยของกองทัพและนักมานุษยวิทยาอเมริกันต่างก็แปลงานเขียนภาษาฝรั่งเศสมาแจกจ่ายให้อ่านกันในหมู่ชาวอเมริกันผู้ปฏิบัติงานในเวียดนาม กระทั่ง จอร์จ กองโดมินาส นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสที่เกิดในอินโดจีน และเป็นผู้เขียนงานเกี่ยวกับชาวมนง การ์ (Mnong Gar) กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่จัดว่าเป็นชาวมงตาญญาร์ ยังเคยพบว่างานเขียนของเขาถูกลักลอบแปลและแจกจ่ายโดยหน่วยงานอเมริกัน โดยมีตราประทับ “ใช้ในกิจการของรัฐบาลเท่านั้น” (”For Government Use Only”) ปรากฏอยู่[xii] ความรู้เชิงชาติพันธุ์วรรณนาเหล่านี้ ทั้งคุณลักษณะทางประชากร การตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิต ไปจนถึงคำแนะนำว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติกับกลุ่มคนเหล่านี้ ล้วนแต่ถูกใช้เพื่อปฏิบัติการทางการทหารทั้งสิ้น ซ้ำร้าย งานเขียนของกองโดมินาสยังถูกใช้ราวกับเป็น “ลายแทงเพื่อตามล่าผู้คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับทหารอเมริกัน”[xiii]

สถานการณ์ในช่วงทศวรรษ 1950–1960 กระตุ้นให้ชาวมงตาญญาร์มีข้อเสนอที่ถอนรากถอนโคนขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุดของผู้นำมงตาญญาร์คือการรื้อฟื้นสถานะกึ่งกำหนดตนเองแบบเดียวกับที่เคยได้รับ ส่วนข้อเรียกร้องขั้นสูงคือ การเป็นเอกเทศโดยสมบูรณ์ หรือแม้แต่การก่อตั้งรัฐเอกราชของตนเองขึ้นมา ในทำนองเดียวกัน ชาวจามและชาวขแมร์กรอมที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการทำให้เป็นเวียดนาม โดยเฉพาะผู้ที่ถูกผลักดันออกจากแผ่นดินเกิดของตัวเองไปยังฝั่งกัมพูชา ก็ก่อตัวขึ้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากเวียดนาม โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชา[xiv]

การติดต่อระหว่างผู้นำขบวนการชาวขแมร์กรอม ชาวจาม และชาวมงตาญญาร์ (โดยเฉพาะอดีตขบวนการบาจารากา) นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรร่วมเพื่อปลดแอกจากเวียดนามใต้ คือแนวร่วมเพื่อปลดปล่อยเผ่าพันธุ์ที่ถูกกดขี่ หรือ ‘ฟูลโร’ (Front unifié de lutte des races opprimées: FULRO) ในปี 1964 บทแถลงการณ์ของฟูลโรระบุว่า กลุ่มตนก่อตัวขึ้นมาจากนโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวเวียด และพวกเขากำลังลุกขึ้นมาปกป้องวัฒนธรรม จิตวิญญาณ และเชื้อชาติของตนเอง และที่สำคัญ ต้องการปกครองดินแดนของตนเอง[xv]

แถลงการณ์ดังกล่าวออกมาในเดือนกันยายนปี 1964 หนึ่งวันหลังจากกองกำลังชาวมงตาญญาร์กว่า 3,000 คนภายใต้การนำของฟูลโรบุกโจมตีและยึดครองค่ายซิดจีสี่แห่งในจังหวัดดักลัก สังหารทหารเวียดนามไปร่วม 70 คน และจับทหารและประชาชนชาวเวียดและทหารอเมริกันเป็นตัวประกัน สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยจนฟูลโรปล่อยตัวประกันในอีก 8 วันต่อมา จากนั้นการเจรจาจึงเริ่มต้นขึ้น[xvi]

ข้อเรียกร้องของชาวมงตาญญาร์วางอยู่บนวิธีคิดเรื่องการปกครองตนเอง ทั้งในแง่ตำแหน่งบริหาร การฟื้นฟูระบบกฎหมายจารีต สิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์จากที่ดิน รวมไปถึงการรื้อฟื้นภาษาของตนเองในระบบการศึกษา ตลอดจนให้แยกหน่วยซิดจีเป็นหน่วยป้องกันดินแดนของตนเองเป็นการเฉพาะโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นที่ปรึกษา ขณะที่ฝ่ายเวียดนามใต้นั้นก็ตั้งอยู่บนจุดยืนที่ว่าแผ่นดินเวียดนามจะแบ่งแยกไม่ได้ แต่ก็พยายามสร้างข้อเสนอที่จะให้สิทธิกับชาวมงตาญญาร์มากขึ้นภายใต้เอกภาพของเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงชั่วคราวในช่วงกลางเดือนตุลาคม 1964 โดยใจความสำคัญคือ จะรื้อฟื้นสิทธิในที่ดินของชาวมงตาญญาร์ ภาษาถิ่นจะได้รับการสอนในโรงเรียนควบคู่กับภาษาเวียดนาม จะเปิดโอกาสให้ชาวมงตาญญาร์สามารถเข้าสู่ตำแหน่งบริหารและตำแหน่งทางการทหารระดับสูงได้ เวียดนามจะเคารพระบบกฎหมายจารีตของชาวมงตาญญาร์ และให้หน่วยทหารซิดจีของชาวมงตาญญาร์เป็นเอกเทศจากกองทัพเวียดนาม[xvii]

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นข้อตกลงชั่วคราวเพื่อการเจรจาต่อเท่านั้น ในเวลาต่อมากลุ่มแกนนำชาวมงตาญญาร์ก็แตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่พร้อมจะเจรจากับเวียดนามใต้ต่อไป กับฝ่ายที่ปฏิเสธการเจรจาภายใต้กรอบของเวียดนามใต้และมุ่งมั่นที่จะกลับไปต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพโดยตั้งต้นจากบริเวณชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา[xviii] ขณะเดียวกัน ดังที่กล่าวไปแล้ว ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 ฝ่ายเวียดนามเหนือโดยเฉพาะเครือข่ายเวียดกงก็ค่อยๆ สร้างฐานการสนับสนุนจากชาวมงตาญญาร์มาเป็นลำดับ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็จัดวางให้ดินแดนที่ราบสูงกลางเป็นหน้าด่านรับมือกับคอมมิวนิสต์ ในที่สุด ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ดินแดนที่ราบสูงกลางจึงกลายเป็นสมรภูมิรบเต็มรูปแบบ และผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือชาวมงตาญญาร์ที่อยู่ ‘ระหว่าง’ ความขัดแย้งเหล่านั้น

ในแง่หนึ่ง นักมานุษยวิทยาอย่าง ออสการ์ ซาเลมิงค์ เห็นว่า ความขัดแย้งในช่วงทศวรรษ 1960 จนมาถึง 1970 ชวนให้นึกถึงสถานการณ์ในทศวรรษ 1920 กล่าวคือ ในทั้งสองช่วงเวลา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวมงตาญญาร์ซึ่งผูกพันอยู่กับสิทธิเชิงจารีตว่าด้วยการถือครองที่ดินต่างก็ถูกคุกคามจากคนภายนอกที่จ้องจะฉกฉวย ครอบครอง และแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่ในทศวรรษ 1920 ที่ดินถูกยึดพรากไปเป็นนิคมเกษตรกรรม ในทศวรรษ 1960 ชาวมงตาญญาร์จำนวนมากถูกผลักออกจากที่ดินของตนเองเพื่อก่อตั้งเขตหยุดยิง แต่สุดท้ายพื้นที่จำนวนมากก็กลายไปเป็นนิคมเกษตรกรรมในมือของชาวเวียด[xix]

ในฐานะที่วิถีชีวิตของผู้คนชาวมงตาญญาร์ผูกพันอยู่กับผืนดินและโดยเฉพาะผืนป่า การถูกทำให้พลัดจากถิ่นฐานจึงเปรียบได้กับการทำลายวิถีชีวิตไปด้วย กองโดมินาส พรรณนาเอาไว้ในกรณีของชาวมนง การ์เป็นการเฉพาะในเวลาต่อมาว่า…

“ผลกระทบจากไฟสงครามทำให้ชาวมนง การ์ถูกขับไล่ออกจากป่า มันไมใช่แค่การถูกขับไล่ออกจากแหล่งอาหาร แต่มันคือการถูกขับไล่ออกจากกิจกรรมรื่นเริงทั้งหมด รวมทั้งบทเพลงขับกล่อม และชีวิต คนที่เข้ามาใหม่มาพร้อมกับอาวุธที่ทันสมัย พวกเขาเผาหมู่บ้านชาวมนง การ์ และนำชาวมนง การ์ไปกักขังไว้ในค่ายผู้อพยพ … นอกจากชาวมนง การ์และชาวเขาอื่นๆ จะตกเป็นเครื่องมือแก่จักรวรรดินิยมแล้ว ผืนป่า ผืนน้ำ สัตว์ป่า ก็ถูกทำลายไปด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็น Ecocide ฆ่าผู้คนไม่พอยังฆ่าสภาพแวดล้อมของผู้คนอีกด้วย หรือจะพูดให้ถึงที่สุดก็คือ Physiocide เพราะทั้งหมดทั้งมวลนั่นคือการทำลายธรรมชาติอันประกอบไปด้วยมนุษย์ สัตว์ พืช ผืนดิน”[xx]

สำหรับนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ไคลฟ์ คริสตี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวมงตาญญาร์เป็นตัวอย่างคลาสสิกของความโหดร้ายที่เกิดกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคชายขอบของอำนาจ (peripheral) และถูกฉวยใช้และแสวงหาประโยชน์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอาณานิคม ต่อมาถึงสมัยต่อต้านและรื้อถอนภาวะอาณานิคม เรื่อยมาจนถึงสมัยสงครามเย็น ผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสก่อตั้งเขตปกครองพิเศษให้กับชาวมงตาญญาร์เพื่อจำกัดอำนาจของชาวเวียด และพร้อมที่จะผละไปจากชาวมงตาญญาร์เมื่อเปลี่ยนนโยบาย ฝ่ายเวียดนามเหนือพยายามจูงใจชาวมงตาญญาร์เพื่อต่อสู้กับเวียดนามใต้และอเมริกันโดยให้คำมั่นสัญญาเรื่องเขตปกครองตนเอง ซึ่งผลสุดท้ายแม้แต่หลังการรวมประเทศเวียดนามหลังปี 1975 นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ต่างจากฝรั่งเศสนัก พวกอเมริกันเข้ามาหนุนหลังกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยต่างๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้คนเหล่านั้นเท่ากับเพื่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตนเอง[xxi]

คริสตี้สรุปว่า การสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างการถูกคุกคามและการสนับสนุนจากกลุ่มคนต่างๆ ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์นั้นมีส่วนในการก่อรูปก่อร่างความเป็นเอกภาพให้กับชาวมงตาญญาร์ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำมงตาญญาร์ จนตัดข้ามความแตกต่างหลากหลายทางภาษาและกลุ่มคนในภูมิภาคซึ่งโครงสร้างสังคมในแบบจารีตไม่ได้ใหญ่เกินกว่าระดับหมู่บ้าน การก่อตั้งเขตปกครองพิเศษที่ฝรั่งเศสเรียกว่าประเทศของชาวเขาแห่งอินโดจีนใต้ (Pays Montagnard du Sud-Indochinois: PMSI) เรื่อยมาจนถึงการก่อตั้งฟูลโร ล้วนเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ร่วมพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม คริสตี้เห็นว่า กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ร่วมดังกล่าวไม่เคยประสบผลสำเร็จ เพราะชาวมงตาญญาร์มักจะถูกดูดกลืนไปกับกระแสความขัดแย้งที่ใหญ่กว่าเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนาม หรือสงครามเย็น[xxii]


[i] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (4.1): ชาติพันธุ์วรรณนากับอาณานิคม – ฝรั่งเศสกับชาว “มงตาญญาร์” แห่งเวียดนาม’, The 101 World (blog), 9 February 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-montagnard/.

[ii] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 95.

[iii] Christie, 95–96.

[iv] Christie, 96.

[v] Christie, 96.

[vi] Christie, 97.

[vii] Christie, 97; Oscar Salemink, ‘Mois and Maquis: The Invention and Appropriation of Vietnam’s Montagnards from Sabatier to the CIA’, in Colonial Situations: Essays on the Contextualization of Ethnographic Knowledge, ed. George W. Stocking, Jr., History of Anthropology 7 (Madison, Wisconsin: University of Wisconsin Press, 1991), 270.

[viii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 97–98; Salemink, ‘Mois and Maquis’, 270.

[ix] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 98.

[x] Christie, 98–99.

[xi] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 270; Christie, A Modern History of Southeast Asia, 99.

[xii] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 271; ดูเพิ่มเติม ฐานิดา บุญวรรโณ, ‘จริยธรรมในชาติพันธุ์วรรณา: จอร์จ กองโดมินาสกับบทเรียนจากพวกเรากินป่า (Nous Avons Mangé La Forêt)’, ชุมทางอินโดจีน: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ 4, no. 7 (2558): 133–48 [สะกดชื่อบทความตามต้นฉบับ].

[xiii] อ้างจาก ฐานิดา บุญวรรโณ, ‘จริยธรรมในชาติพันธุ์วรรณา’, 145.

[xiv] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 100.

[xv] Christie, 100–101.

[xvi] Christie, 101–2.

[xvii] Christie, 102–3.

[xviii] Christie, 104.

[xix] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 274.

[xx] สำนวนของ ฐานิดา บุญวรรโณ, อ้างจาก ฐานิดา บุญวรรโณ, ‘จริยธรรมในชาติพันธุ์วรรณา’, 145.

[xxi] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 105.

[xxii] Christie, 106.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save