fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (10): ความพ่ายแพ้ที่เงียบงันของขบวนการปฏิวัติบรูไน 1962

หากเทียบเคียงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเอกราชหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ (เป็นเอกราชในปี 1946) พม่า (1948) อินโดนีเซีย (1949) กัมพูชา (1953) ลาว (1953) มาลายา/มาเลเซีย (1957/1963) และสิงคโปร์ (1965) ‘บรูไน’ นับว่าเป็นประเทศที่ได้รับเอกราชค่อนข้างล่าช้า กล่าวคือเพิ่งได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี 1984 หรือกำลังจะมีอายุครบ 40 ปี ในช่วงต้นปี 2024 ที่กำลังจะถึงนี้เท่านั้นเอง[i]

ทั้งที่จริงแล้ว บรูไนมีโอกาสได้รับเอกราชไล่หลังมาลายาไม่นานนัก หรืออีกนัยหนึ่ง มีการตกลงที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียที่ก่อตัวขึ้นในปี 1963 แต่ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งภายในและการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้สุลต่านบรูไนในขณะนั้นถอนตัวจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ทั้งยังชะลอเลื่อนการเป็นประเทศเอกราชออกไปก่อน

อะไรคือเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เฉพาะในกรณีของสังคมบรูไนที่ทำให้ผู้ครองอำนาจตัดสินใจเช่นนั้น อะไรคือผลที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเราสามารถบอกได้หรือไม่ว่าใครคือผู้ชนะและผู้แพ้ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของบรูไน

ประเทศบรูไน หรือชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ ‘เนอการา บรูไน ดารุสซาลาม’ (Negara Brunei Darussalam) มีความหมายว่า ‘รัฐบรูไน บ้านแห่งสันติ’ บรูไนเป็นประเทศขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะขนาดใหญ่อย่างเกาะบอร์เนียว โดยเป็นประเทศเอกราชหนึ่งเดียวบนเกาะดังกล่าว เกาะบอร์เนียวยังประกอบด้วยดินแดนของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นั่นคือรัฐซาราวักและรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และห้าจังหวัดกาลีมันตันของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี ซาราวักเป็นเพื่อนบ้านแห่งเดียวที่มีอาณาเขตติดต่อกับบรูไน ทั้งยังล้อมรอบและตัดขาดดินแดนของบรูไนออกเป็นสองส่วน

แน่นอนว่า เส้นแบ่งเขตแดนประเทศบนเกาะบอร์เนียวในปัจจุบันล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ในสมัยอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิทธิพลของชาวอังกฤษและชาวดัตช์ แต่ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นนั้น จะขอทบทวนกลับไปยังประวัติศาสตร์ช่วงยาวกว่านั้นก่อน

หลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราเชื่อได้ว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียวมาไม่ต่ำกว่า 40,000 ปี ขณะที่หลักฐานทางโบราณคดีสมัยต่อมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัตถุแบบฮินดูและพุทธที่กำหนดอายุได้ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 ไปจนถึง 14 หรือ เครื่องเคลือบ เครื่องโลหะ จำพวกหม้อ ไห และจานชาม ตลอดจนเหรียญเงินตราจากจีนที่ระบุอายุได้ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึง 12 ต่างก็ทำให้เห็นว่าบอร์เนียวไม่ได้เป็นเกาะที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ทว่ามีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับดินแดนที่ไกลออกไป[ii]

ในบันทึกของนักเดินเรือชาวจีน ชาวอาหรับ เรื่อยมาจนถึงชาวยุโรป ต่างก็มีการกล่าวถึงบอร์เนียวในฐานะดินแดนที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหายากมูลค่าสูง ทั้งเพชร ทองคำ ตลอดจนผลผลิตจากป่า ไม่ว่าจะเป็น ขี้ผึ้ง ยางไม้ ไม้หอม รังนกนางแอ่น รวมถึงสินค้าจำพวกเขาและกระดูกสัตว์ป่าต่างๆ โดยเฉพาะนอแรด เขากวาง และโหนกของนกชนหิน[iii]

แม้จะไม่ได้เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าที่คึกคักและเฟื่องฟูเท่ากับดินแดนสองฝั่งของช่องแคบมะละกา กระนั้นก็ตาม รัฐโบราณบนเกาะบอร์เนียวก่อตัวและเติบโตขึ้นมาจากฐานะของการเป็นเมืองท่าการแลกเปลี่ยนสินค้าเช่นกัน

เมืองท่าบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะอย่างซันตูบงและบรูไนก่อตัวขึ้นในฐานะพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนและอินเดียกับผลผลิตจากป่าที่มาจากดินแดนที่สูงตอนใน แบบแผนการแลกเปลี่ยนดังกล่าวยังคงสืบเนื่องต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามขยายตัวและเริ่มลงหลักปักฐานบนเกาะบอร์เนียวช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 ดังปรากฏว่าบรรดาผู้ปกครองรัฐเมืองท่ารับศาสนาอิสลามจนกลายเป็นรัฐสุลต่าน (sultanate)[iv]

แบบแผนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้คนบนเกาะบอร์เนียวก่อนสมัยใหม่อาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่าดำเนินไประหว่างคนสองกลุ่ม คือผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งและที่ราบลุ่มฝ่ายหนึ่ง (coastal, lowland) กับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณตอนในที่เป็นพื้นที่สูงต้นน้ำอีกฝ่ายหนึ่ง (upriver, interior) โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวยังสัมพันธ์กับแบบแผนการดำรงชีพและยังสัมพันธ์กับการก่อตัวของความเป็นชาติพันธุ์ตลอดจนพรมแดนทางชาติพันธุ์ด้วย นั่นคือกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นสังคมแบบรัฐเมืองท่าคือกลุ่มชาวมลายูและมลาเนา (Melanau) ซึ่งเป็นมุสลิม ส่วนกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงต้นน้ำอันอยู่ตอนในของเกาะ คือกลุ่มคนพื้นถิ่นที่มีวิถีการดำรงชีพแบบการเพาะปลูกแบบเคลื่อนย้ายหรือหมุนเวียน ประกอบกับการล่าสัตว์ เก็บหาอาหารและของป่าต่างๆ ทั้งเพื่อใช้เองและแลกเปลี่ยนกับชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานในที่ลุ่ม ในแง่นี้ ด้วยเหตุที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มปากแม่น้ำและชายฝั่ง ชาวมุสลิมเหล่านี้จึงสามารถสร้างสถานะทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าผู้คนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณตอนในผ่านระบบบรรณาการและภาษีอากร แต่ถึงกระนั้น รัฐชายฝั่งก็ไม่สามารถครองอำนาจทางการเมืองเหนือผู้คนพื้นถิ่นตอนในได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังจะพบว่ามีการต่อต้านอยู่เป็นระยะด้วยเช่นกัน[v]

ทั้งนี้ ตำนานกำเนิดว่าด้วยประวัติศาสตร์ของบรูไนเสนอว่า อาณาจักรบรูไนสถาปนาขึ้นในช่วงราว ค.ศ. 1363 เมื่ออาวังอาลักเบอตาตาร์ (Awang Alak Betatar) ผู้ปกครองบรูไนในขณะนั้นเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและสถาปนาราชวงศ์ใหม่โดยเริ่มนับเป็นสุลต่านรัชกาลที่หนึ่งแห่งบรูไนในนามมูฮัมหมัดชาห์ (Muhammad Shah) ที่สำคัญ ประวัติศาสตร์กระแสหลักของบรูไนเสนอว่า อาณาจักรบรูไนเฟื่องฟูมากที่สุดในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึง 17 ในฐานะรัฐเมืองท่าที่เติบโตและเฟื่องฟูจากการค้าและการมีกองกำลังทางทะเลที่เข้มแข็ง กล่าวกันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สุลต่านแห่งบรูไนมีอำนาจเหนือผู้คนและดินแดนเกือบจะทั่วทั้งเกาะบอร์เนียว ทั้งยังไกลไปถึงหมู่เกาะซูลูและปาลาวันทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน[vi]

กระนั้นก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เมื่อชาวยุโรปเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้น ไล่มาตั้งแต่ชาวโปรตุเกส สเปน ดัตช์ และอังกฤษ อิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองของรัฐสุลต่านบรูไนก็ค่อยๆ อ่อนกำลังลง

กระทั่งเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 19 อำนาจและอิทธิพลของสุลต่านบรูไนก็จำกัดอยู่ไม่เกินไปกว่าพื้นที่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว หรืออีกนัยหนึ่ง ดินแดนที่ในทุกวันนี้หมายถึงซาราวัก บรูไน ลาบวน และซาบาห์

ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่ทศวรรษ 1840 เป็นต้นมา บรูไนก็ ‘เสียดินแดน’ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผ่านการทำสนธิสัญญาที่ตกลงมอบสิทธิและอำนาจเหนือดินแดนหลายส่วนให้กับชาวอังกฤษ 

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญคือ เจมส์ บรูก (James Brooke) นักเดินเรือชาวอังกฤษที่เกิดในบริติชอินเดีย กองเรือของเขาเดินทางมายังดินแดนแถบนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 1830 และให้ความช่วยเหลือสุลต่านปราบปรามกลุ่มคนแถบลุ่มน้ำซาราวักที่ต่อต้านบรูไน สุลต่านแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ปกครองซาราวักในปี 1841 และต่อมาในปี 1842 สุลต่านก็ประกาศให้เจมส์ บรูกมีฐานะเป็น ‘รายา’ (Rajah) หรือกษัตริย์ผู้ปกครองดินแดนแถบลุ่มน้ำซาราวัก

การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแร่พลวงตลอดจนการขยายพื้นที่เกษตรกรรมในซาราวัก ตั้งแต่สมัยของเจมส์ บรูก และสืบเนื่องมาถึงในสมัยหลานชายของเขา ชาร์ลส์ บรูก (Charles Brooke) ทำให้ซาราวักขยายอิทธิพลเหนือผู้คนและดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสุลต่านบรูไนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแลกกับการจ่ายค่าเช่าให้สุลต่าน จนถึงปี 1890 ชาร์ลส์ บรูก ก็สามารถครอบครองที่ราบลุ่มแม่น้ำลิมบัง พื้นที่เพาะปลูกสำคัญแห่งหนึ่งของบรูไน และทำให้ดินแดนของบรูไนแบ่งออกเป็นสองส่วนที่แยกขาดจากกัน ซึ่งแม้บรูไนจะคัดค้านแต่ก็ไม่เป็นผล

ส่วนเกาะลาบวนซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบรูไน ก็กลายเป็นอาณานิคมของราชวงศ์บริติช (Crown Colony of Labuan) โดยตรงหลังการทำสนธิสัญญาในปี 1848 ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ดินแดนทางฝั่งตอนเหนือของเกาะบอร์เนียวที่ต่อมากลายเป็นซาบาห์นั้น นอกเหนือจากอิทธิพลของสุลต่านบรูไนและเครือญาติแล้ว ในบางพื้นที่ยังเป็นการแบ่งเขตอิทธิพลกันกับสุลต่านซูลู บุคคลที่มีส่วนสำคัญในทศวรรษ 1870 คือบารอน ฟอน โอเวอร์เบ็ก (Baron von Overbeck) ชาวเยอรมัน และเพื่อนชาวอังกฤษอีกสองคนของเขาซึ่งเป็นพี่น้องกันคือ อัลเฟรด เด็นต์ (Alfred Dent) และ เอ็ดเวิร์ด เด็นต์ (Edward Dent) สองคนหลังนี้จะกลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทบอร์เนียวเหนือ (British North Borneo Company) ในช่วงทศวรรษ 1880 โดยบริษัทนี้ได้กลายเป็นผู้ถือสิทธิในการแสวงประโยชน์หลักของดินแดนส่วนนี้ที่เรียกรวมว่า ‘บอร์เนียวเหนือ’

กล่าวได้ว่า เพียงชั่วระยะเวลาราวๆ 60 ปีระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันยาวนาน บรูไน ‘เสียดินแดน’ จนเหลือไม่เกินหนึ่งในแปด กล่าวคือสูญเสียดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำกว่า 18 แห่งให้ซาราวัก และที่ราบลุ่มแม่น้ำอีกราว 30 แห่งให้กับบอร์เนียวเหนือ ถึงกระนั้นบรูไนก็ยังตกอยู่ในภาวะล้มละลายทางการเงินอีกด้วย[vii]

ในขณะที่ชาวดัตช์ก็พยายามขยายอิทธิพลในบริเวณหมู่เกาะในภูมิภาค ความพยายามต่อรองและแบ่งแยกพื้นที่แสวงผลประโยชน์ระหว่างชาวดัตช์และอังกฤษเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการทำสนธิสัญญาอีกสามฉบับในช่วงปี 1870–1871 ก็ทำให้ขอบเขตของอำนาจของแต่ละฝ่ายเริ่มชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 1888 ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ และบรูไน เปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ (protectorates) ขณะที่ดินแดนทางตอนใต้ที่อยู่นอกเหนือการมีสถานะเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษก็กลายไปเป็นดินแดนในอารักขาของดัตช์อย่างเป็นรูปธรรมในปี 1891 เช่นกัน[viii]

อย่างไรก็ดี นักวิชาการทางรัฐศาสตร์อย่าง เอาเรล ครัวส์ซองต์ (Aurel Croissant) และ ฟิลิป ลอเร็นซ์ (Philip Lorenz) เห็นว่า การยินยอมทำข้อตกลงเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษในกรณีของบรูไนนั้น ทำให้บรูไนรอดพ้นจากภาวะที่เกือบจะล่มสลายอยู่รอมร่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บรูไนเกือบจะถูกผนวกรวมโดยซาราวักภายใต้การนำของตระกูลบรูก ทั้งนี้ กลไกสำคัญคือระบบข้าหลวง (British Residency System) ที่มาจากความตกลงร่วมกันระหว่างอังกฤษกับบรูไนในปี 1906 และดำรงอยู่มาจนถึงปี 1959 ทำให้บรูไนตกอยู่ภายใต้อำนาจของการตัดสินใจของอังกฤษทั้งกิจการภายนอกและภายในประเทศเกือบทั้งหมด เว้นแต่เพียงเรื่องศาสนาอิสลามเท่านั้น[ix]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและแผ่ขยายอิทธิพลบนเกาะบอร์เนียว ญี่ปุ่นผนวกให้ซาราวัก บรูไน ลาบวน และบอร์เนียวเหนือ เป็นหน่วยการปกครองเดียวกัน โดยมีศูนย์การบัญชาการอยู่ที่เมืองหลวงของบอร์เนียวเหนืออย่างเจสเซิลตัน (Jesselton; ปัจจุบันคือ โกตากีนาบาลู [Kota Kinabalu]) เช่นเดียวกับในพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพญี่ปุ่นทำร้าย ข่มขวัญ และบังคับเกณฑ์แรงงานผู้คนพื้นถิ่นในโครงการต่างๆ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่พบการต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม ยกเว้นเสียแต่ช่วงก่อนสงครามจะสิ้นสุดในปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่นำโดยทอม แฮริสซัน (Tom Harrisson)[x]

กองกำลังสำคัญที่ปลดปล่อยดินแดนบอร์เนียวจากการครอบงำของญี่ปุ่นคือกองทหารของออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา หลังสงครามสิ้นสุด ออสเตรเลียเข้ามาดูแลบรูไนในระยะแรกก่อนที่อังกฤษจะมารับช่วงต่อ แต่อังกฤษก็ดูจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนการป้องกันทางทหารมากนัก ฝ่ายอังกฤษเห็นว่าด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและการขนส่งที่เป็นไปอย่างยากลำบากจึงทำอะไรไม่ได้มากนักในระยะแรก จนดูราวกับว่าบรูไนจะบอบช้ำจากสงครามอย่างเงียบๆ และฟื้นตัวอย่างเงียบๆ[xi]

อาจกล่าวได้ว่า จุดหักเหหนึ่งในประวัติศาสตร์บรูไนสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อสุลต่านอะห์หมัดตายุดดีน (Ahmad Tajuddin) เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาที่สิงคโปร์ในช่วงกลางปี 1950 ในขณะที่กำลังจะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลบริติชที่ลอนดอนเกี่ยวกับการแบ่งสรรผลประโยชน์จากการผลิตและจำหน่ายน้ำมัน เพียงสองวันถัดมา น้องชายของเขา โอมาร์อาลีไซฟุดดีน (Omar Ali Saifuddin) ขึ้นครองราชย์แทน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันโดยข้าหลวงอังกฤษประจำบรูไน[xii]

ท่าทีและการตัดสินใจทางการเมืองของสุลต่านโอมาร์อาลีไซฟุดดีน ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาจะได้รับการขนานนามให้เป็น ‘สถาปนิกแห่งบรูไนสมัยใหม่’ มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงสังคมบรูไนนับแต่นั้นมา โดยเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ที่ร้อยรัดกันในช่วงทศวรรษ 1960 คือการเกิดขึ้นของข้อเสนอเพื่อก่อตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย และการปฏิวัติประชาชนบรูไนในปี 1962

นอกจากสุลต่านโอมาร์อาลีแล้ว บุคคลที่สร้างจุดหักเหสำคัญต่อประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของบรูไนอีกคนหนึ่งคือ อะห์หมัด อาซาฮารี (A. M. Azahari) อาซาฮารีเป็นชาวบรูไน (บางแหล่งระบุว่าเขาเกิดที่ลาบวน) ที่ถูกญี่ปุ่นส่งไปเรียนที่บันดุงในอินโดนีเซียระหว่างสงครามโลก เขากลับมายังบรูไนในปี 1952 สร้างเครือข่ายและเริ่มมีผู้ติดตามความคิดของเขามากขึ้นเป็นลำดับ ในปี 1956 เขาเป็นผู้นำในการก่อตั้ง ‘พรรคประชาชนบรูไน’ (Partai Rakyat Brunei: PRB) พรรคการเมืองพรรคแรกของบรูไน ทั้งยังเป็นพรรคแรกของดินแดนแถบบอร์เนียวเหนือทั้งหมดด้วย ว่ากันว่าอาซาฮารีเป็นคนทะเยอทะยานสูง หลายช่วงเวลาพบว่าเขาใกล้ชิดกับสุลต่านโอมาร์อาลีและมีความเห็นตรงกันในบางเรื่อง เขายังติดต่อและต่อรองกับตุงกูอับดุลเราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีแห่งมาลายา ทั้งยังมีสายสัมพันธ์กับซูการ์โน (Sukarno) และโมฮัมหมัด ฮัตตา (Mohammad Hatta) แห่งอินโดนีเซีย และที่สำคัญ เขาจะมีบทบาทสำคัญในขบวนการปฏิวัติบรูไนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายปี 1962

ในบริบทของกระบวนการถอดถอนอาณานิคม หลังจากมาลายาได้รับเอกราชในปี 1957 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาวะฉุกเฉินสิ้นสุดลงราวปี 1960 กล่าวคือในช่วงกลางปี 1961 ตุงกูอับดุลเราะห์มานพยายามผลักดันให้มีการก่อตั้งสหพันธรัฐใหม่ที่จะรวมเอามาลายา สิงคโปร์ และดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของอังกฤษบนเกาะบอร์เนียวเข้าด้วยกัน[xiii]

อันที่จริง ในปี 1959 บรูไนเพิ่งจะลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษ เพื่อให้กิจการภายในเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยฝ่ายบรูไนเอง ส่วนอังกฤษจะยังคงรับผิดชอบการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บรูไนยังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในเดือนกันยายนปี 1959 อันเป็นการวางรากฐานให้กับกลไกทางรัฐสภา กระบวนการนิติบัญญัติ และการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญระบุให้สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 33 ตำแหน่ง โดยเป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งในแบบแบ่งเขต 16 ตำแหน่ง แต่งตั้งโดยสุลต่านโดยตรง 9 ตำแหน่ง และเป็นสมาชิกโดยตำแหน่งอีก 8 ตำแหน่ง และที่สำคัญคือจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายในสองปี[xiv] แม้กระทั่งในระหว่างนั้นเอง ชนชั้นนำบรูไนเองก็เริ่มวางแนวทางเพื่อจะประกาศเอกราชในช่วงปี 1965 ด้วยแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันจะครบกำหนดสองปีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลบรูไนก็ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหนึ่งปี ด้วยเหตุที่ว่ากฎหมายเรื่องสัญชาติยังไม่เรียบร้อยดี ในบริบทเดียวกัน ฝ่าย PRB เริ่มขับเคลื่อนการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในบรูไน พร้อมกันนั้น อาซาฮารีและแกนนำ PRB ก็เดินทางพบปะกับผู้นำกลุ่มการเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งขบวนการฝ่ายซ้ายในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และซาราวัก รวมไปถึงกลุ่มการเมืองอื่นๆ ในซาราวักและบอร์เนียวเหนือ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ปรากฏข้อเสนออย่างจริงจังในการผนวกรวมดินแดนของซาราวัก บรูไน ลาบวน และบอร์เนียวเหนือ เข้าเป็นหน่วยทางการเมืองเดียวกัน ซึ่งอาจจะใช้ชื่อว่าสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือ (North Borneo Federation)[xv]

ระหว่างช่วงเวลานั้น ดูเหมือนว่าจุดยืนของสุลต่านจะเห็นด้วยในเชิงหลักการกับการเข้าร่วมอยู่ในสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่ยังลังเลในรายละเอียดปลีกย่อย จนถึงเดือนมกราคม 1962 สุลต่านตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้เรื่องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียขึ้นโดยมีอาซาฮารีอยู่ในคณะกรรมการด้วย คณะกรรมการพิจารณาดังกล่าวเห็นว่าประชาชนบรูไนดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับมาเลเซียนักและดูจะสนับสนุนแผนการก่อตั้งสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือมากกว่า กระนั้นสุลต่านเลือกที่จะลงนามในหลักการว่าด้วยการเข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคม สุลต่านแถลงต่อสภาเรื่องการลงนามในหลักการว่าด้วยสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่ก็ยืนยันว่าจะรักษาผลประโยชน์ของบรูไนเป็นที่ตั้ง[xvi]

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง อาซาฮารีหาเสียงด้วยการประกาศต่อต้านการเข้าร่วมสหพันธรัฐมาเลเซีย พร้อมผลักดันให้บรูไนเป็นเอกราชโดยเร็วที่สุดในปี 1963 ตลอดจนยืนยันจุดยืนเรื่องสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง เชื่อว่าเขาเริ่มดำเนินการก่อตั้งกองกำลังทหารแห่งชาติกาลีมันตันเหนือ (Tentera Nasional Kalimantan Utara: TNKU) โดยมีทั้งชาวบรูไน และชาวซาราวักในเขตลิมบัง (Limbang) และลาวัส (Lawas) เข้าร่วม[xvii]

เมื่อถึงเดือนสิงหาคม 1962 ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของบรูไนที่มีผู้ออกมาลงคะแนนกว่าร้อยละ 90 ออกมาที่พรรค PRB ชนะเลือกตั้งอย่าง ‘แลนสไลด์’ ได้รับเลือกผู้แทนแบบแบ่งเขตเป็นจำนวน 54 จากทั้งหมด 55 ที่นั่ง (และผู้สมัครอิสระที่ชนะในเขตที่เหลือก็ย้ายมาเข้าร่วมพรรค PRB ในทันทีหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ทำให้ถือว่า PRB ครองตำแหน่งทั้ง 55 ที่นั่ง) และจะทำให้ PRB ได้ครองที่นั่งในรัฐสภาส่วนที่มาจากการเลือกตั้งครบทั้ง 16 ตำแหน่ง[xviii] แต่ก็ยังไม่ใช่เสียงส่วนมากในจำนวนทั้งหมด 33 ตำแหน่ง

กระนั้นก็ตาม การประชุมสภาผู้แทนชุดดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้น สภาควรจะได้เปิดประชุมในเดือนกันยายน 1962 แต่สุลต่านก็เลื่อนการเปิดสมัยประชุมออกไป จากกันยายนเลื่อนเป็นตุลาคม เลื่อนอีกครั้งเป็นพฤศจิกายน และเลื่อนเป็นธันวาคม เดิมทีกำหนดไว้ที่วันที่ 5 ธันวาคม แต่ก็มีการประกาศเลื่อนออกไปอีกเป็นวันที่ 13 และกลายเป็นวันที่ 19[xix] ซึ่งในท้ายที่สุดก็ไม่มีการเปิดสมัยประชุม เพราะเกิดการปฏิวัติในวันที่ 8 ธันวาคม เสียก่อน

หลายฝ่ายเชื่อกันว่าเดิมทีฝ่ายปฏิวัติตั้งใจจะเปิดฉากโจมตีในวันที่ 19 ธันวาคม วันเดียวกับการเปิดสมัยประชุมสภา แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่แน่ชัด อาจเพราะเชื่อว่าข้อมูลถูกเปิดเผยและจะถูกสกัดกั้น การเปิดฉากโจมตีจึงเลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้นเป็นวันที่ 8 ฝ่ายปฏิวัติเปิดฉากโจมตีสถานีตำรวจหลายแห่งทั่วทั้งบรูไน พยายามจับกุมเจ้าหน้าที่อังกฤษ และที่สำคัญคือมุ่งจะจับสุลต่านเป็นตัวประกันเพื่อที่จะบังคับให้สุลต่านลงนามในประกาศเอกราชในฐานะผู้นำทางสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือที่จะเกิดขึ้นใหม่จากการรวมบรูไนกับซาราวักและบอร์เนียวเหนือ[xx]

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า เมื่อฝ่ายปฏิวัติบุกไปถึงวังของสุลต่านแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง เท่าที่ทราบคือสุลต่านปฏิเสธการเจรจาและไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายปฏิวัติ บ้างก็ว่าฝ่ายปฏิวัติล่าถอยไปเองหลังพบว่าสุลต่านไม่ยอมร่วมมือด้วย บ้างว่ามีการยิงตอบโต้กันชุดใหญ่แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ บ้างก็ว่ามีการยิงตอบโต้กันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ฝ่ายตำรวจเชื่อว่าฝ่ายปฏิวัติเองก็ไม่ต้องการทำร้ายสุลต่านจึงไม่มีปฏิบัติการที่รุนแรง[xxi]

หนึ่งวันต่อมา สุลต่านแถลงประณามฝ่ายปฏิวัติ ในขณะที่กองกำลังกูรข่า (Gurkha) ซึ่งประจำการอยู่ที่สิงคโปร์เดินทางเข้ามาปราบปรามฝ่ายปฏิวัติและควบคุมสถานการณ์ในตัวเมืองบรูไน เซอเรีย (Seria) และเบอลาอิต (Belait) เอาไว้ได้ ฝ่ายกองกำลัง TNKU จำนวนหนึ่งล่าถอยไปยังฝั่งซาราวัก โดยเฉพาะแถบลิมบังและลาวัส ว่ากันว่าเพียงไม่ถึง 5 วัน กองกำลังทหารฝ่ายบริติชก็ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่บรูไนไว้ได้หมด พื้นที่ที่มีการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อแห่งเดียวคือที่ลิมบัง การสู้รบดำเนินไปจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม เมื่อฝ่ายกองกำลังปฏิวัติต้านทานไว้ไม่ไหวและพ่ายแพ้ไป และเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1963 กองกำลังฝ่ายปฏิวัติก็หลบหนีกันอย่างกระจัดกระจาย จนกระทั่งหน่วยรบของแกนนำกองกำลังอย่างยาสซิน อัฟเฟ็นดี (Yassin Affendi) ถูกโจมตีและจับกุมในช่วงกลางปี 1963 ก็ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวทางการทหารของ TNKU อีกต่อไป[xxii]

ไม่มีการเปิดเผยว่าฝ่ายปฏิวัติถูกจับกุมไปทั้งหมดกี่คน ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ คาดว่าเป็นไปได้ตั้งแต่ราว 2,000 จนถึง 6,000 คน กล่าวกันว่า แทบทั้งหมดเป็นชายหนุ่มชาวมลายูบรูไน โดยไม่มีชาวจีนบรูไนเลย และสำหรับผู้ที่ปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อสุลต่านก็จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ว่ากันว่า สำหรับผู้ต้องสงสัยว่ามีบทบาทนำและปฏิเสธการแสดงความจงรักภักดีนั้นเหลืออยู่ราวๆ 200 คน ซึ่งถูกคุมขังในระยะเวลานานกว่า โดยที่ราวๆ 30 คน ในจำนวนนั้นถูกคุมขังเกินกว่า 20 ปี ในทำนองเดียวกัน ไม่มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างชัดแจ้ง มีการประมาณว่าระหว่างวันที่ 9–20 ธันวาคม รวมเหตุการณ์ทั้งในบรูไนและซาราวัก กองกำลังฝ่ายความมั่นคงบริติชเสียชีวิต 7 คน ส่วนฝ่ายปฏิวัติน่าจะเสียชีวิตราวๆ 20 คน และตลอดเวลา 5–6 เดือนของการสู้รบและการไล่ล่า ฝ่ายปฏิวัติน่าจะเสียชีวิตไปเกินกว่า 100 คน อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางฝั่งอังกฤษเสนอว่าฝ่ายปฏิวัติน่าจะเสียชีวิตราวๆ 50–60 คน และถูกจับกุมราวๆ 600–700 คน เท่านั้น[xxiii]

ผลสืบเนื่องของการปฏิวัติที่ไม่สำเร็จคือ สุลต่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกกระบวนการทางรัฐสภา ตลอดจนปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพรรคการเมืองและประชาชน ขณะเดียวกัน แม้ว่าการเจรจาเพื่อก่อตั้งมาเลเซียยังคงดำเนินต่อไป แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด โดยเฉพาะหลังการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายน 1963 สุลต่านตัดสินใจถอนบรูไนออก ทั้งเงื่อนไขว่าด้วยการแบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันของบรูไน ตลอดจนการจัดลำดับการดำรงตำแหน่งราชาธิบดีของมาเลเซียซึ่งสุลต่านบรูไนถูกจัดไว้เป็นลำดับท้ายสุด[xxiv] ในท้ายที่สุด เมื่อสหพันธรัฐมาเลเซียประกาศตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กันยายน 1963 จึงประกอบด้วยมาลายา สิงคโปร์ ซาราวัก และซาบาห์ (บอร์เนียวเหนือ) แต่ไม่มีบรูไน

ท่ามกลางทางเลือกและแรงกดดันอันหลากหลาย การต้องเผชิญกับขบวนการปฏิวัติโดยประชาชนของตนเองในปี 1962 เรื่อยมาสู่บรรยากาศการเผชิญหน้าทางการทหาร (confrontation) ระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซียระหว่างปี 1963–1966 สุลต่านบรูไนยังคงรักษาสถานภาพและอำนาจเอาไว้ได้อย่างมั่นคง อย่างไรก็ดี หลังจากสิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965 เรื่อยมาจนถึงการยกเลิกการใช้เงินริงกิตและใช้สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์เองในปี 1967 ประเทศขนาดเล็กสองชาติอย่างบรูไนและสิงคโปร์จึงกลายมาเป็นพันธมิตรกันอย่างเหนียวแน่นทั้งในทางเศรษฐกิจ และในเวลาต่อมา เพิ่มเติมเรื่องความมั่นคงเข้าไปด้วย

ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีแหล่งทรัพยากรอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมหาศาล สุลต่านและชนชั้นนำบรูไนจึงสามารถพัฒนาระบบสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการรักษาพยาบาล กระทั่งกล่าวได้ว่าทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี ในขณะที่สามารถควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนไว้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความมั่งคั่งที่มาจากไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้จึงช่วยให้บรูไนสามารถสร้างรัฐสวัสดิการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (welfare monarchy) ให้เป็นรูปธรรมได้

ถึงที่สุดแล้ว เหตุการณ์การปฏิวัติในปี 1962 คงจะกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกทำให้เงียบงันไปจากดินแดนที่เรียกตัวเองว่า ‘บ้านแห่งสันติ’ (abode of peace) แห่งนี้ก็เป็นได้


[i] แม้บรูไนจะไม่ได้เป็นประเทศเกิดใหม่เท่ากับติมอร์-เลสเตที่เพิ่งได้รับเอกราชในปี 2002 หรือเพิ่งครบรอบ 20 ปี ไปเมื่อปีที่แล้ว ทว่ากรณีของบรูไนกับติมอร์-เลสเตก็มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน ในขณะที่ติมอร์-เลสเตแยกตัวออกมาจากอินโดนีเซียที่เป็นประเทศหลังอาณานิคม บรูไนเป็นดินแดนอดีตอาณานิคมที่เพิ่งได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษโดยตรง

[ii] ดูเพิ่มเติม Eric Tagliacozzo, ‘Borneo in Fragments: Geology, Biota, and Contraband in Trans-National Circuits’, TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia 1, no. 1 (2013): 63–85, https://doi.org/10.1017/trn.2012.8.

[iii] Victor T. King, The Peoples of Borneo, The Peoples of South-East Asia and The Pacific (Oxford: Blackwell, 1993), 17–18, 104–6; อ้างจาก ณภัค เสรีรักษ์, ‘การเปลี่ยนความหมายของพื้นที่และดินแดนของซาราวัก: ภูมิทัศน์ทางกายภาพ ภูมิศาสตร์การเมือง และกระบวนการอาณานิคม’ (ต้นฉบับบทความ, การบรรยายสาธารณะ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์’, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562).

[iv] King, The Peoples of Borneo, 25–27, 112–21; อ้างจาก ณภัค เสรีรักษ์, ‘การเปลี่ยนความหมายของพื้นที่และดินแดนของซาราวัก’.

[v] King, The Peoples of Borneo, 25–27, 125–34; อ้างจาก ณภัค เสรีรักษ์, ‘การเปลี่ยนความหมายของพื้นที่และดินแดนของซาราวัก’.

[vi] Aurel Croissant and Philip Lorenz, ‘Brunei Darussalam: Malay Islamic Monarchy and Rentier State’, in Comparative Politics of Southeast Asia: An Introduction to Governments and Political Regimes, ed. Aurel Croissant and Philip Lorenz (Cham: Springer International Publishing, 2018), 17–18, https://doi.org/10.1007/978-3-319-68182-5_2.

[vii] Marie-Sybille de Vienne, Brunei: From the Age of Commerce to the 21st Century, trans. Emilia Lanier (Singapore: NUS Press in association with IRASEC, 2015), 90.

[viii] Nicholas Tarling, ‘The Establishment of the Colonial Régimes’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two: The Nineteenth and Twentieth Centuries, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 24–25.

[ix] Croissant and Lorenz, ‘Brunei Darussalam’, 18.

[x] Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei: The 1962 Revolt, Imperialism, Confrontation and Oil (London: I.B Tauris, 2007), 13–15.

[xi] Harun Abdul Majid, 16–19.

[xii] Harun Abdul Majid, 21–23.

[xiii] Harun Abdul Majid, 56–57.

[xiv] Vienne, Brunei, 112–13.

[xv] Vienne, 116–17.

[xvi] Vienne, 117.

[xvii] Vienne, 117.

[xviii] Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei, 69.

[xix] Harun Abdul Majid, 83.

[xx] Harun Abdul Majid, 89–93.

[xxi] Harun Abdul Majid, 93–98.

[xxii] Vienne, Brunei, 118–19; Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei, 103–4.

[xxiii] Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei, 98–99, 117.

[xxiv] Vienne, Brunei, 119–20.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save