fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (9.1): ก่อนจะมาเป็น ‘บังซาโมโร’ อาณานิคมอเมริกันกับอัตลักษณ์ ‘ฟิลิปิโนมุสลิม’ ที่เพิ่งสร้าง

ความคิดเชิงแบ่งแยกดินแดนมักมีรากฐานมาจากวิธีคิดว่าด้วยอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (ethnic identity) โดยอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จะยิ่งเข้มแข็งและมีน้ำหนักมากหากสามารถผูกร้อยเข้ากับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมของกลุ่มคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ว่าด้วยเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นในฐานะที่เป็นหน่วยทางสังคมวัฒนธรรมในอดีต ทั้งในฐานะหน่วยทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นเอกเทศ หรือเป็นดินแดนแห่งความรุ่งเรืองทางศาสนา ดังกรณีอาเจะห์[i] และปาตานี[ii] เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ถูกทำให้เป็นเงื่อนไขและเครื่องมือของการต่อสู้ทางการเมือง หลายครั้งพบว่า ประวัติศาสตร์เชิงชาติพันธุ์มักถูกลดทอนความหลากหลายและสลับซับซ้อนในสังคมของตนเองลง เช่น ขบวนการเอกราชแห่งสาธารณรัฐมาลูกูใต้ของชาวอัมบนคริสเตียนก็ไม่ได้วางอยู่บนความเป็นพหุสังคมกระทั่งเบียดขับชาวอัมบนมุสลิมออกไป[iii] หรือในกรณีของชุมชนชาวมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งในภาคใต้ของไทยที่ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรปาตานี[iv] เป็นต้น

กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกรวมว่า ‘บังซาโมโร’ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ร่วมเป็นผลผลิตใหม่ของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ในบริบทเฉพาะ ซึ่งในแง่หนึ่งนั้น กลับเป็นการลดทอนความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ของผู้คนและสังคมต่างๆ ที่ถูกทำให้กลายเป็นบังซาโมโรในตัวของตัวเองด้วยซ้ำไป

คำว่า ‘บังซาโมโร’ เป็นคำสองคำที่มักจะถูกเรียกรวมกันเป็นคำเดียว ในภาษาอังกฤษพบการสะกดทั้งแยกกันเป็นสองคำ คือ Bangsa Moro และที่รวมกันเป็นคำเดียวว่า Bangsamoro แปลตรงตัวก็คือชาวโมโร หรือชนชาติโมโร โดยคำว่า ‘บังซา’ (bangsa) เป็นคำที่พบแพร่หลายในโลกมลายูมาแต่โบราณ แปลว่าชนชาติ เชื้อสาย หรือเผ่าพันธุ์ ส่วนคำว่า ‘โมโร’ (Moro) เป็นคำที่ตกทอดมาตั้งแต่ต้นสมัยอาณานิคม ชาวโปรตุเกสใช้เรียกชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 ส่วนชาวสเปนใช้เรียกรวมกลุ่มคนที่เป็นมุสลิมต่างๆ ในดินแดนทางตอนใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีนัยในเชิงลบ โดยเฉพาะการหมายความถึงกลุ่มโจรสลัดอัน ‘ดุร้ายป่าเถื่อน’[v]

ตราบจนล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 20 พบว่า คำดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยขบวนการชาตินิยมมุสลิมฟิลิปปินส์[vi] โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนในช่วงปลายทศวรรษ 1960 โดยมีนัยในเชิงบวก กล่าวคือเป็นคำเรียกกลุ่มของตนเองในฐานะที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของชาวมุสลิมฟิลิปปินส์[vii]

เนื้อหาในตอนนี้ชวนให้พิจารณาประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมทางตอนใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์เพื่อทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนและยอกย้อนของความเป็นประวัติศาสตร์ของการก่อตัวของอัตลักษณ์เชิงชาติพันธุ์ของชาวโมโร ซึ่งจะกลายมาเป็นรากฐานของขบวนการติดอาวุธที่มีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดนในเวลาต่อมา

ถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมฟิลิปปินส์ที่เรียกรวมว่าชาวโมโรนั้นอยู่บริเวณหมู่เกาะทางตอนใต้ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่าภูมิภาคมินดาเนา (Mindanao region) หรืออาจเรียกว่ามินดาเนาและหมู่เกาะซูลู (Mindanao and Sulu archipelago) คิดเป็นดินแดนราวหนึ่งในสามของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน โดยมินดาเนาเป็นเกาะที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากลูซอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอย่างมะนิลา

‘มินดาเนา’ เป็นชื่อที่ชาวสเปนใช้เรียกเกาะทั้งเกาะ โดยสันนิษฐานว่ากร่อนมาจาก ‘มากินดาเนา’ (Magindanao บ้างก็สะกดว่า Maguindanao) มีความหมายตรงตัวคือ ‘ผู้คนแห่งที่ราบน้ำท่วมถึง’ หรือ ‘ผู้คนแห่งที่ลุ่มหนองบึง’ (mag inged sa danao; people of the flooded plain) คำดังกล่าวเป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์และหน่วยทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองมาแต่เดิมตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของอำนาจอาณานิคม นั่นคือรัฐสุลต่านมากินดาเนา[viii]

ที่ราบน้ำท่วมถึงดังกล่าวถูกเรียกโดยรวมๆ ว่า ที่ราบลุ่มโกตาบาโต (Cotabato river basin) ที่ราบลุ่มทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะมินดาเนาอันมีแม่น้ำขนาดใหญ่อย่างแม่น้ำปูลางี (Pulangi river) ไหลผ่าน กล่าวกันว่า ชื่อ ‘โกตาบาโต’ มาจากการออกเสียง (คลาดเคลื่อนไปจากสำเนียงท้องถิ่นอีกเช่นกัน?) ของชาวสเปนของคำเรียกในภาษามากินดาเนาว่า ‘กูตาวาตู’ (Kuta Watu) ซึ่งมีความหมายว่าป้อมปราการหิน[ix]

คนพื้นถิ่นกลุ่มใหญ่ที่สุดในแถบที่ราบโกตาบาโตคือชาวมากินดาเนา ซึ่งยังแยกย่อยลงไปได้อีกเป็นสองกลุ่มหลักตามสำเนียงภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน โดยแบ่งแยกกันตามหลักแหล่งการตั้งถิ่นฐานคือ กลุ่มคนพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ (ilud; downstream) และกลุ่มคนบนพื้นที่สูงตอนใน (laya; upstream) ผู้คนสองกลุ่มภาษาย่อยนี้สะท้อนความแตกต่างทางประชากรและหน่วยทางการเมืองในประวัติศาสตร์ด้วย นั่นคือ ที่ลุ่มปากแม่น้ำเป็นที่ตั้งของรัฐสุลต่านมากินดาเนา (Magindanao sultanate) และบนพื้นที่สูงขึ้นไปคือที่ตั้งของรัฐสุลต่านบวายัน (Buayan sultanate) รัฐสุลต่านสองแห่งซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงพึ่งพิงและขับเคี่ยวกันอยู่แทบจะตลอดประวัติศาสตร์ก่อนสมัยอาณานิคม[x]

นอกจากชาวมากินดาเนาแล้ว ดินแดนแถบดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่นอีกสองกลุ่มหลักๆ ด้วย คือ ชาวอีรานุน (Iranun) ผู้คนชาวมุสลิมที่ตั้งหลักแหล่งบริเวณชายฝั่งทะเลและถือกันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ การต่อเรือ และมีชื่อเสียงในฐานะนักรบทางทะเล และชาวตีรูไร (Tiruray) กลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงตอนใน มีวิถีการดำรงชีพหลักด้วยการเพาะปลูกแบบเคลื่อนย้ายหมุนเวียน (shifting cultivation) และเก็บหาผลผลิตทรัพยากรจากป่า คนทั้งสองกลุ่มนี้ล้วนมีความสัมพันธ์กันภายใต้โครงสร้างสังคมของชาวมากินดาเนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้วิถีการผลิตเชิงบรรณาการ (tributary mode of production) ซึ่งชาวมากินดาเนาเป็นชนชั้นปกครองผู้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (tribute-takers) ขณะที่ชาวอีรานุนและตีรูไรเป็นผู้ผลิตและแรงงาน (tribute-providers) ทั้งในฐานะที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศต่อกัน (ในกรณีของชาวอีรานุนกับรัฐสุลต่านมากินดาเนา) และเป็นเอกเทศบ้างและตกเป็นแรงงานทาสบ้างตามแต่สถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ (ในกรณีของชาวตีรูไรจำนวนหนึ่งกับรัฐสุลต่านบวายัน) นอกจากคนพื้นถิ่นแล้ว ก่อนการเข้ามาของชาวยุโรป คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองในดินแดนแถบนี้ยังรวมไปถึงชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าและประกอบอาชีพช่างฝีมือ[xi]

การเติบโตและล่มสลายของรัฐสุลต่านทั้งสองแห่งโกตาบาโต[xii] สัมพันธ์กับ (และแสดงผ่าน) หมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของการขยายอำนาจอาณานิคมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ สำหรับ ซาริป กาบุงซูวัน (Sarip Kabungsuwan) ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าก่อตั้งรัฐสุลต่านแห่งโกตาบาโตนั้น ตามตำนานแล้วเขาคือผู้ที่หนีรอดมาจากการเหตุการณ์ที่โปรตุเกสพิชิตและยึดครองมะละกาได้เป็นครั้งแรกในปี 1511 ซึ่งนับเป็นการสถาปนาอำนาจเป็นครั้งแรกสุดของชาวยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ ดาตูอาลี (Datu Ali) ผู้ปกครองแถบโกตาบาโตในฐานะที่เป็นรัฐอิสระคนสุดท้าย ถูกจับกุมและสังหารโดยผู้ปกครองอาณานิคมอเมริกันในปี 1905 เหตุการณ์อันถือว่าเป็นชัยชนะครั้งหลังสุดของอำนาจอาณานิคมตะวันตกในภูมิภาคนี้[xiii]

กล่าวในแง่นี้ โกตาบาโตและดินแดนข้างเคียงจึงเป็นพื้นที่สุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจอาณานิคมอย่างเป็นทางการ และกล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า ประวัติศาสตร์ของโกตาบาโตก่อนสมัยอาณานิคมจึงเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้และต่อรองกับการแผ่ขยายอำนาจอาณานิคม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างอาณาจักรท้องถิ่นกับเจ้าอาณานิคมสเปนซึ่งยึดครองดินแดนทางตอนเหนือของหมู่เกาะที่จะได้รับขนานนามให้เป็นฟิลิปปินส์ได้ตั้งแต่ปี 1571 และพยายามขยายอำนาจมายังหมู่เกาะทางตอนใต้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[xiv]

งานเขียนจำนวนไม่น้อยเสนอว่าประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคมเป็นรากฐานของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบังซาโมโร ข้อเสนอทำนองนี้วางอยู่บนเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ชาวมากินดาเนาต่อสู้กับชาวสเปนมาตลอดประวัติศาสตร์เป็นเวลา 300 กว่าปีโดยเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะพ่ายแพ้อำนาจอาณานิคมในสมัยที่สหรัฐอเมริกาเอาชนะสเปนและครอบครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ได้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และยังต่อสู้กับรัฐบาลกลางฟิลิปปินส์ต่อมาเมื่อฟิลิปปินส์เป็นประเทศเอกราช ผู้คนชาวมุสลิมทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์จึงเป็นผู้ต่อสู้กับผู้รุกรานจากภายนอกมาตลอดประวัติศาสตร์[xv]

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว เรื่องราวและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อาจไม่ได้เป็นเส้นตรงขนาดนั้น

ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน รัฐสุลต่านมากินดาเนาและบวายันต่างจำเป็นต้องพึ่งพากันในบางระดับพร้อมกับแก่งแย่งกันในทางเศรษฐกิจไม่มากก็น้อยมาตลอดประวัติศาสตร์ ในขณะที่ฝั่งบวายันต้องการสินค้าจากภายนอก ฝั่งมากินดาเนาก็ต้องการผลผลิตจากตอนใน ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังได้รับผลกระทบจากการเติบโตขึ้นมาของรัฐสุลต่านอีกแห่งหนึ่งอย่างซูลู ตลอดจนการเข้ามาของสเปน อันที่จริง ภายใต้การขับเคี่ยวกันเองของรัฐสุลต่านแห่งมากินดาเนาและบวายัน ในช่วงศตวรรษที่ 17 ทั้งคู่ต่างก็ทำความตกลงร่วมมือกับสเปนในบางลักษณะไม่น้อยไปกว่ากันเลย ขณะที่ฝ่ายสเปนก็เสมือนยอมรับอำนาจของรัฐสุลต่านทั้งสองแห่งในฐานะผู้ปกครองเกาะมินดาเนาในต่างช่วงเวลากัน ที่สำคัญ กลุ่มคนที่ถูกกดปราบคือนักเดินเรือและโจรสลัดชาวอีรานุนมากกว่าพวกมากินดาเนา[xvi]

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง การต่อสู้ระหว่างรัฐสุลต่านแห่งโกตาบาโต ทั้งบวายันและมากินดาเนาในกรณีต่างๆ ควรจะถูกพิจารณาในฐานะเหตุการณ์อันกระจัดกระจายที่เป็นเอกเทศต่อกัน มากกว่าที่จะเป็นกลุ่มก้อนของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในกระแสเดียวอันยาวนานกว่าสามร้อยปี ทั้งยังเป็นการต่อรองทางเศรษฐกิจการเมืองที่หลายครั้งเมื่อความขัดแย้งคลี่คลายก็กลับมาเป็นพันธมิตรต่อกัน ดังที่พบว่า การค้าระหว่างโกตาบาโตกับดินแดนตอนเหนือที่ตกเป็นอาณานิคมของสเปนนั้นก็เพิ่มสูงขึ้นตลอด การที่สเปนขัดขวางเส้นทางการค้าโดยตรงระหว่างจีนกับโกตาบาโตก็ดูจะเป็นไปเพื่อให้มะนิลากลายมาเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ดังปรากฏว่าสินค้าจากจีนและผลผลิตจากโกตาบาโตก็นำมาแลกเปลี่ยนกันที่มะนิลาอันเป็นเมืองท่าคู่ค้าสำคัญของโกตาบาโตนั่นเอง[xvii]

ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งและการต่อรองกันระหว่างรัฐสุลต่านทั้งสองแห่งโกตาบาโตกับชาวสเปน รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างชาวอีรานุนกับสเปน จึงไม่ใช่ความขัดแย้งในเชิงศาสนาระหว่างชาวมุสลิมกับชาวคาทอลิกแต่อย่างใด

ถ้าเช่นนั้น อัตลักษณ์ ‘บังซาโมโร’ ที่ผนวกรวมเอาชาวมุสลิมทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์มาอยู่ภายใต้การจัดประเภทเดียวกันก่อตัวขึ้นเมื่อใด ตอบแบบรวบรัดได้ว่า เพิ่งก่อตัวขึ้นในระยะเวลาหลังจากภูมิภาคมินดาเนาตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา

หลังจากสหรัฐอเมริกาเอาชนะเจ้าอาณานิคมสเปนและเข้าปกครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์จึงนับว่าดินแดนแถบมินดาเนาและหมู่เกาะซูลูตกเป็นอาณานิคมอย่างแท้จริง กล่าวคือ ในขณะที่สเปนแทบไม่เคยเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางสังคมการเมืองของคนพื้นถิ่นแถบดังกล่าวจนกระทั่งถึงไม่กี่สิบปีสุดท้ายของการปกครอง รัฐบาลอาณานิคมอเมริกันดำเนินนโยบายที่เปลี่ยนแปลงสังคมแถบภูมิภาคมินดาเนาอย่างเข้มข้นตั้งแต่แรกเริ่ม

อันที่จริง ในระหว่างสงครามอเมริกัน-ฟิลิปปินส์ ราวปี 1899–1901 สหรัฐอเมริกาเข้ามาทำสนธิสัญญากับสุลต่านแห่งซูลูว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายใน หากซูลูยอมรับอำนาจของชาวอเมริกัน ทั้งยังมีข้อตกลงคล้ายๆ กันนี้กับสุลต่านอีกหลายแห่งรวมถึงแถบโกตาบาโตด้วย กระนั้นก็ตาม หลังจากชาวอเมริกันชนะสงคราม นโยบายและมาตรการต่างๆ ก็เปลี่ยนไป จวบจนช่วงปี 1903 ผู้ปกครองอาณานิคมอเมริกันก็ค่อยๆ ดำเนินการที่จะส่งผลต่อการล้มเลิกข้อตกลงเหล่านั้นด้วยตนเอง ขั้นตอนหนึ่งคือการสถาปนาหน่วยทางการปกครองที่เรียกว่า ‘จังหวัดโมโร’ (Moro Province) ขึ้นมา ก่อนที่จะถือว่าการปกครองโดยอ้อมสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ก็เมื่อระบบการบริหารส่วนท้องถิ่นแบบอาณานิคมประกาศใช้เป็นรูปธรรมในปี 1914 อันเป็นผลให้พวกสุลต่านและชนนั้นนำเดิมสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการ[xviii]

ภายใต้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาของฟิลิปปินส์ในภาพรวม จึงนำมาสู่การขยายตัวของระบบการศึกษาและสาธารณสุขผ่านการตั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลสมัยใหม่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมที่มีแต่เดิมอย่างระบบแรงงานทาสกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตลอดจนระบบการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ และการสนับสนุนให้ชาวฟิลิปิโนคริสเตียนจากภูมิภาคอื่นอพยพเข้ามาทำกินในดินแดนแถบนี้ ล้วนแต่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมแถบมินดาเนาเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนสั่นคลอนสถานะของพวกสุลต่านและชนชั้นนำจารีต ช่วงเวลาดังกล่าวจึงปรากฏการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธโดยการนำของสุลต่านและกลุ่มชนชั้นนำจารีตที่เรียกว่า ‘ดาตู’ (Datu) ต่างๆ มากมาย แต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิตหลักสิบหลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ท่ามกลางความสูญเสีย สหรัฐอเมริกาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายทางการทหาร จากความแข็งกร้าวไปสู่วิธีการที่รุนแรงน้อยลง ผ่านความพยายามพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนการโน้มน้าวให้ผู้คนวางอาวุธ จวบจนกระทั่งการปะทะกันครั้งใหญ่ๆ ในช่วงปี 1913 ความรุนแรงก็เริ่มลดลงจนสู่ภาวะ ‘สงบเรียบร้อย’ (ตามความเห็นของผู้ปกครองอาณานิคม) ตลอดช่วงทศวรรษดังกล่าวเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตหลายพันคน[xix]

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินนโยบายที่ส่งผลต่อการรื้อถอนอำนาจเชิงโครงสร้างของสุลต่านและดาตูสายจารีต สหรัฐอเมริกาก็จับมือและประสานประโยชน์กับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ได้รับการขนานนามให้เป็น ‘ดาตู’ เช่นกัน แต่ไม่ได้สืบเชื้อสายหรือมีสายสัมพันธ์โดยตรงกับชนชั้นนำเดิม กลุ่มคนเหล่านี้ค่อยๆ สถาปนาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้โครงสร้างสังคมแบบเดิม เพียงแค่เปลี่ยนหน้าตาของกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น[xx]

เจ้าหน้าที่อาณานิคมที่มีอิทธิพลทางความคิดคนหนึ่งคือ นาจีบ ซาลีบี้ (Najeeb Saleeby) นายแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายซีเรีย เขาเข้ามาทำงานในฟิลิปปินส์เมื่อปี 1900 โดยถูกส่งไปที่มินดาเนา เขาเรียนภาษาท้องถิ่น ทั้งภาษามากินดาเนาและเตาซุก กระทั่งสามารถแปลตำนานลำดับราชวงศ์และตัวบทกฎหมายของรัฐสุลต่านหลายแห่งซึ่งรวมถึงมากินดาเนาและบวายันได้ ในปี 1903 ซาลีบี้ได้รับแต่งตั้งให้ทำงานเกี่ยวกับกิจการของชาวโมโรโดยตรง และในปี 1905 เขาตีพิมพ์งานเขียนเรื่อง Studies in Moro History, Law, and Religion ซึ่งนับเป็นงานวิชาการเกี่ยวกับชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์เล่มแรกในภาษาอังกฤษ[xxi]

ทัศนะเกี่ยวกับ ‘การพัฒนา’ ชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ของซาลีบี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในข้อเขียนเรื่อง ‘ปัญหาโมโร’ (The Moro Problem) เผยแพร่ในปี 1913 เขาโต้แย้งความเชื่อทั่วไปที่ว่าชาวโมโรเป็นพวก ‘ล้าหลังคลั่งศาสนา’ โดยกล่าวว่า ‘ชาวโมโรไม่ค่อยใส่ใจในศาสนาต่างหาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะคลั่งศาสนา และศาสนาก็ไม่เคยสร้างปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างชาวอเมริกันและชาวโมโรเลยด้วยซ้ำไป’ กระนั้นก็ตาม เขายังเห็นว่าชาวโมโรมีวิธีคิดแบบศักดินานิยมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการยอมรับนับถือและจงรักภักดีต่อพวกดาตู ภายใต้ความคิดเรื่องชาติกำเนิด เช่น เชื่อว่าชนชั้นนำจำนวนหนึ่งนั้นสืบเชื้อสายมาจากศาสดามูฮัมหมัด เป็นต้น[xxii]

ที่สำคัญ ซาลีบี้เห็นว่า กลุ่มคนที่เรียกว่าชาวโมโรนี้ปราศจากความเป็นเอกภาพอย่างที่สุด ผู้คน ‘ชนเผ่า’ ต่างๆ ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลยแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ในการจะพัฒนาชาวโมโร จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองอเมริกันในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้สังคมโมโรขึ้นมา โดยอาศัยการสนับสนุนการศาสนาอิสลาม และอาศัยคุณลักษณะของความเป็นสังคมศักดินาโดยสนับสนุนบทบาทของผู้นำทางจารีต ทั้งนี้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อรัฐบาลอาณานิคมเอง และต่อชาวโมโรในภาพรวม[xxiii]

ทัศนะของซาลีบี้ไม่ได้มุ่งรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของสังคมแบบจารีตที่แตกต่างและกระจัดกระจาย แต่เป็นการอาศัยเงื่อนไขของโครงสร้างสังคมแบบจารีตเพื่อสร้างความหมายใหม่สำหรับสังคมในขณะนั้น นั่นคือการสร้างความเป็นโมโร (Morohood) ที่ตัดข้ามความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และกลุ่มตระกูลภาษา โดยมีแกนกลางคือศาสนาอิสลาม ตามความเห็นของซาลีบี้ (ซึ่งเป็นคริสเตียน) ศาสนาอิสลามควรได้รับการสนับสนุนเนื่องจากสามารถเชื่อมร้อยผู้คนอันแตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้การนำของชนชั้นนำในเชิงจารีตหรือพวกดาตู (ซึ่งในความหมายนี้หมายถึงชนชั้นนำกลุ่มใหม่) ได้ และกระบวนการดังกล่าวน่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเพราะดาตู (กลุ่มใหม่) จำนวนไม่น้อยก็เข้ามาร่วมมือกับผู้ปกครองอาณานิคมอเมริกันเรียบร้อยแล้ว[xxiv]

แม้ว่าความเห็นของซาลีบี้จะไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติโดยตรงในทันที แต่ความคิดของเขาก็มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่อาณานิคมคนสำคัญคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น แฟรงค์ คาเพ็นเทอร์ (Frank W. Carpenter) ผู้ว่าการภูมิภาคมินดาเนาและซูลู ระหว่างปี 1914–1920, เจมส์ ฟิวเกท (James R. Fugate) ผู้ว่าการซูลูระหว่างปี 1928–1936 และที่สำคัญ เอ็ดเวิร์ด คิวเดอร์ (Edward M. Kuder) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในแถบโกตาบาโต ลาเนา และซูลู ตั้งแต่ปี 1924 รวมระยะเวลากว่า 17 ปี[xxv]

ขณะที่คาร์เพ็นเทอร์ทำงานเชิงนโนบายเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความพยายามรวมมินดาเนาและซูลูเข้ากับลูซอนและวิซายาเพื่อสร้างชาติฟิลิปปินส์ที่เป็นเอกภาพ และส่งต่อการปกครองไปสู่ชาวฟิลิปิโน[xxvi] คิวเดอร์ ทั้งทำหน้าที่ในเชิงสถาบันพร้อมไปกับบทบาทส่วนตัว (ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าซ้อนทับกันอยู่) นอกจากสนใจมุ่งมั่นเรียนภาษาท้องถิ่น โดยเฉพาะภาษามากินดาเนา มาราเนา และเตาซุก ในทำนองเดียวกันกับซาลีบี้ คิวเดอร์เห็นว่า การสนับสนุนศาสนาอิสลามจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวมุสลิมฟิลิปปินส์ในภาพรวมได้ โดยเฉพาะการผนวกเข้ากับชาติฟิลิปปินส์ที่กำลังสร้าง แต่มากไปกว่านั้น เขายังเห็นด้วยว่า การส่งเสริมอัตลักษณ์ทางศาสนาอิสลาม จะช่วยให้ชาวมุสลิมทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนชาวมุสลิมในดินแดนข้างเคียงอย่างหมู่เกาะมลายูทั้งหลายด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของ ‘คนอื่น’ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและชาวจีน[xxvii]

ในระหว่างการเดินทางไปยังท้องถิ่นของชาวมุสลิมกลุ่มต่างๆ คิวเดอร์เสาะหาและรับ ‘นักเรียนดีเด่น’ ชาวมุสลิม (ทั้งหมดเป็นเด็กชาย) จากหลากหลายสารทิศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็คือลูกๆ ของพวกดาตู มาอุปการะ เลี้ยงดู และสอนหนังสือด้วยตนเอง กระทั่งกล่าวได้ว่า เขาเป็นบุคคลสำคัญในการก่อร่างสร้างชนชั้นนำใหม่ของชาวมุสลิมฟิลิปปินส์ กลุ่มคนซึ่งอาจเรียกได้ว่ามีสำนึกว่าด้วยความเป็นฟิลิปิโนมุสลิมที่ตัดข้ามความแตกต่างเชิงภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์และแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์เป็นครั้งแรก อดีตนักเรียนของเขากลายไปเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคมการเมืองระดับชาติ ทั้งนักการเมือง นักกฎหมาย และข้าราชการต่างๆ ในเวลาต่อมา[xxviii]

หนึ่งในนักเรียนดีเด่นของคิวเดอร์คือ ซาลีปาดา เปินดาตุน (Salipada Pendatun) หรือที่ต่อมาจะเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ดาตูเปินดาตุน’ เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงในโกตาบาโต พ่อของเขาคือสุลต่านแห่งบารงงิส (Barongis) ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก เปินดาตุนเป็นนักเรียนในอุปการะรุ่นแรกๆ ของคิวเดอร์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจนกระทั่งคิวเดอร์เสียชีวิตในช่วงทศวรรษ 1970[xxix]

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การอุปการะของคิวเดอร์ เปินดาตุนเข้าเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ในมะนิลา เขาเป็นชาวมากินดาเนาคนแรกที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยดังกล่าวในปี 1938 และกลับมาทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อญี่ปุ่นยึดครองดินแดนหลายแห่งในภูมิภาค เปินดาตุนเป็นหนึ่งในผู้นำหน่วยรบกองโจรซึ่งประกอบขึ้นจากทั้งทหารอเมริกัน ชาวฟิลิปิโนคริสเตียน และชาวมากินดาเนา หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประธานาธิบดีเซร์คิโอ ออสเมนญา (Sergio Osmena) จึงแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ว่าการโกตาบาโตในปี 1945[xxx]

อาจกล่าวได้ว่า เปินดาตุนและคนรุ่นเดียวกันกับเขา เป็นตัวแทนของผู้คนกลุ่มแรกๆ ที่ตระหนักถึงอัตลักษณ์ของตนเองในฐานะที่เป็นชาว ‘มุสลิมฟิลิปปินส์’ อันตัดข้ามความแตกต่างทางชาติพันธุ์และภาษา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาจากบริบทของการต่อต้านสเปนในประวัติศาสตร์ที่ไกลออกไป ทั้งยังไม่ได้เกิดขึ้นจากบริบทของการต่อต้านสหรัฐอเมริกา แต่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา

อัตลักษณ์ที่ผนวกเอาความเป็นชาติพันธุ์และศาสนาเข้าไว้ด้วยกันในฐานะชาว ‘มุสลิมฟิลิปปินส์’ (Philippine Muslim) อันมีความหมายของความเป็น ‘ฟิลิปิโนมุสลิม’ (Muslim Filipino) นี้จะเกี่ยวพันกับการก่อตัวขึ้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในช่วงทศวรรษ 1960 อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป


[i] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (6): จากการต่อต้านดัตช์สู่ขบวนการต่อต้านอินโดนีเซีย กับสถานะทางประวัติศาสตร์ของชาวอาเจะห์’, The 101 World (blog), 17 May 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-aceh/.

[ii] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (8.1): ชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ รากฐานของความขัดแย้งสยาม-ปาตานี’, The 101 World (blog), 24 July 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-patani/.

[iii] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (5): ความพ่ายแพ้ของชาวอัมบนคริสเตียน บนความย้อนแย้งของเอกราชในอินโดนีเซีย’, The 101 World (blog), 19 April 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-ambon/.

[iv] ดูเพิ่มเติม อนุสรณ์ อุณโณ, ‘“นบีต๊ะมาแกปีแน” (นบีไม่กินหมาก): มลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย’, รายงานการวิจัยทุนอุดหนุนการวิจัยจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (กระทรวงวัฒนธรรม, 2554).

[v] Thomas M. McKenna, Muslim Rulers and Rebels: Everyday Politics and Armed Separatism in the Southern Philippines, Comparative Studies on Muslim Societies 26 (Berkeley: University of California Press, 1998), 80–81.

[vi] การเรียกว่าชาว ‘มุสลิมฟิลิปปินส์’ (Philippine Muslim) ในบริบทนี้ใช้เพื่อเน้นย้ำความหมายกว้างๆ ที่รวมชาวมุสลิมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในฟิลิปปินส์เข้าด้วยกันในความหมายว่าด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งต่างไปจากการใช้คำว่า ‘ฟิลิปิโน’ (Filipino) ที่สะกดด้วยตัว ‘F’ ซึ่งอ้างอิงอยู่กับชื่อของกษัตริย์เฟลิเปที่สอง (King Felipe II) อันจะมีนัยความหมายว่าด้วยการยอมรับอำนาจของสเปนในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นคริสเตียน หรือที่เรียกว่าชาว ‘ฟิลิปิโนคริสเตียน’ (Christian Filipino) อนึ่ง นัยดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการเมืองที่เรียกว่า ‘ฟิลิปิโนมุสลิม’ (Muslim Filipino) ก่อตัวขึ้นในเวลาต่อมา — โปรดดูต่อไปข้างหน้า

[vii] McKenna, Muslim Rulers and Rebels, 81.

[viii] McKenna, 27.

[ix] McKenna, 27.

[x] McKenna, 29.

[xi] McKenna, 29–32, 70–76; ดูเพิ่มเติม Eric R. Wolf, Europe and the People Without History (Berkeley: University of California Press, 1982).

[xii] ตามความเห็นของนักมานุษยวิทยา โธมัส แม็คเค็นน่า (Thomas M. McKenna) ในบรรดารัฐสุลต่านทั้งหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ — ซึ่งสถาปนาความเป็นรัฐมุสลิมและขยายตัวตั้งแต่ช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่สิบหก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากชาวโปรตุเกสยึดครองมะละกาได้ในปี 1511 — ไม่ว่าจะเป็น ปาตานี อาเจะห์ บันเต็น เปรัก ปาฮัง และโจโฮร์ ไม่มีแห่งใดเลยที่ประวัติศาตร์จะพัวพันอย่างแนบแน่นกับการขยายอำนาจของชาวยุโรปเทียบเท่ากับรัฐสุลต่านต่างๆ แห่งโกตาบาโต, McKenna, Muslim Rulers and Rebels, 69–70.

[xiii] McKenna, 69–70.

[xiv] McKenna, 70.

[xv] ตัวอย่างสำคัญคือ Wan Kadir bin Che Man, ‘Muslim Separatism: The Moros in Southern Philippines and the Malays in Southern Thailand’ (PhD Thesis, Australian National University, 1987) เป็นต้น.

[xvi] ดูเพิ่มเติม McKenna, Muslim Rulers and Rebels, 76–80.

[xvii] ดูเพิ่มเติม McKenna, 80–85.

[xviii] McKenna, 90–91.

[xix] Wan Kadir bin Che Man, ‘Muslim Separatism’, 72–77.

[xx] ดูเพิ่มเติม McKenna, Muslim Rulers and Rebels, 91–103.

[xxi] McKenna, 104–5.

[xxii] McKenna, 105.

[xxiii] McKenna, 105.

[xxiv] McKenna, 106.

[xxv] McKenna, 106–7.

[xxvi] ดูเพิ่มเติม Wan Kadir bin Che Man, ‘Muslim Separatism’, 77–79.

[xxvii] McKenna, Muslim Rulers and Rebels, 107–8.

[xxviii] McKenna, 108–10.

[xxix] McKenna, 110.

[xxx] McKenna, 111–12.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save