fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (4.1): ชาติพันธุ์วรรณนากับอาณานิคม – ฝรั่งเศสกับชาว ‘มงตาญญาร์’ แห่งเวียดนาม

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า โดยทั่วไป เราสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคจารีตได้ผ่านความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่ม ‘คนพื้นราบ’ กับกลุ่ม ‘คนบนพื้นที่สูง’[i] การแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาวยุโรปเข้ามายังดินแดนแถบนี้ในสมัยอาณานิคม ส่งผลให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป[ii] ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงระหว่างคู่ขัดแย้งหรือคู่ความสัมพันธ์คู่ใดคู่หนึ่ง (เช่น ระหว่างชาวพม่ากับชาวกะเหรี่ยง) แต่ยังหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนข้างเคียงและรายรอบอย่างแตกต่างกันไปด้วย (เช่น ระหว่างพม่ากับสยาม สยามกับเวียดนาม ฯลฯ)

ในแง่หนึ่ง ด้วยเหตุที่กลุ่มคนพื้นราบมักจะมีสังคมขนาดใหญ่กว่าและมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองสูงกว่าผู้คนกลุ่มเล็กกว่าบนพื้นที่สูง แบบแผนการตั้งหลักแหล่งและวิถีการดำรงชีพหลักที่ต่างกัน อย่างการที่สังคมพื้นราบวางอยู่บนระบบเกษตรกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวแบบนาน้ำขัง คนพื้นราบจึงเห็นว่าการตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายและสังคมขนาดเล็กของกลุ่มคนบนพื้นที่สูงนั้นเป็นสังคมที่ ‘ล้าหลัง’ กว่าตนเอง อันที่จริง กระบวนการสร้าง ‘ความรู้’ เกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสมัยอาณานิคมนับว่ามีส่วนต่อทัศนะเชิงลบทำนองนี้ด้วยเช่นกัน

ในขณะที่นโยบายและมาตรการต่างๆ ของสหราชอาณาจักรบริเตนวางอยู่บนความพยายามที่จะสร้างพม่าอันเป็นเอกภาพ ในความหมายของการพยายามผนวกรวมกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพม่า ผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสกลับทำสิ่งที่เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับพวกบริติช ดังกรณีของเวียดนาม นั่นคือพยายามสร้างความไม่เป็นเอกภาพให้กับสังคมเวียดนามในภาพรวม[iii] ดังจะเห็นได้จากกรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาว ‘เวียด’ อันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในเวียดนาม[iv] กับกลุ่มคนที่เรียกรวมๆ ว่าชาว ‘มงตาญญาร์’

คำว่า ‘มงตาญญาร์’ (Montagnard) ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘ชาวเขา’ หรือ ‘คนภูเขา’ (Hill People, Mountain People) เป็นคำที่ผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เพื่อเรียกกลุ่มคนพื้นถิ่นหรือกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ‘ที่ราบสูงกลาง’ หรือ ‘ที่ราบสูงตอนกลาง’ ของเวียดนาม (Central Highlands) ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อและอยู่บนแนวเทือกเขาเดียวกันกับพื้นที่ตอนใต้ของลาว และฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาในปัจจุบัน[v]

อย่างไรก็ตาม การเรียกว่า ‘ชาวมงตาญญาร์’ นั้นไม่ได้มีความหมายถึงผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งแต่เป็นคำรวมๆ ใช้เรียกกลุ่มคนต่างๆ ที่นับรวมได้กว่า 20 กลุ่มภาษา แต่เดิมชาวเวียดนามเรียกคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ด้วยนัยเชิงดูถูกดูแคลน โดยเรียกว่าชาว ‘มอย’ (Moi) ซึ่งมีความหมายว่าชนป่าเถื่อน[vi] เดิมทีผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสใช้ตามโดยออกเสียงว่า ‘มัว’ ซึ่งถือว่าถอดถอนนัยในเชิงลบออกไป ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘มงตาญญาร์’ ซึ่งมีความหมายกลางๆ แทน[vii]

นักมานุษยวิทยา ออสการ์ ซาเลมิงค์ สรุปว่า ก่อนการเข้ามาของชาวฝรั่งเศส กลุ่มคนที่เรียกรวมว่าชาวมงตาญญาร์หรือ ‘ชาวเขา’ เหล่านี้มีวิถีการดำรงชีพหลักด้วยการเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียนและไม่มีการจัดองค์กรทางสังคมที่ใหญ่เกินกว่าระดับหมู่บ้าน และจนกระทั่งชาวฝรั่งเศสเข้ามา ‘จัดกลุ่ม’ ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ผ่านการจัดกลุ่มทางภาษาศาสตร์และหน่วยการปกครองจึงทำให้เกิด ‘อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์’ (ethnic identity) ขึ้นมา[viii]

แม้จะอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายและไม่เป็นกลุ่มก้อน กลุ่มคนภูเขาเหล่านี้ก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มต่างๆ บนพื้นราบทั้งชาวขแมร์ ชาวจาม ชาวเวียด ชาวลาว ชาวสยาม และชาวจีน ทั้งยังมีการติดต่อกันในบางระดับกับกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย[ix] แม้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มจะไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นเสียทีเดียวก็ตาม นักประวัติศาสตร์ ไคลฟ์ คริสตี้ เห็นว่า จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมงตาญญาร์กับชาวเวียดเป็นไปอย่างมี “ดุลยภาพภายใต้ความกระวนกระวาย” กล่าวคือ ต่างก็พยายามที่จะไม่ ‘ล้ำเส้น’ พรมแดนระหว่างกัน ชาวเวียดจะไม่มีการเดินทางและไม่ตั้งหลักแหล่งเกินกว่าตีนเขา แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในบางระดับผ่านการแลกเปลี่ยนสินค้าในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นพรมแดนระหว่างกัน[x]

เมื่อราชวงศ์เหยวียนสถาปนาอำนาจในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่เวียดนามพยายามจะขยายอำนาจครอบงำที่ราบสูงกลาง ขณะเดียวกันกับที่สยามขยายอำนาจข้ามแม่น้ำโขงมายังลาวใต้จนแทบจะประชิดดินแดนที่ราบสูงกลาง ฝรั่งเศสก็เริ่มลงหลักปักฐานและแผ่ขยายอำนาจในบริเวณตอนใต้ของเวียดนามจวบจนทั่วทั้งเวียดนามในที่สุด กล่าวคือ ระหว่างปี 1858 จนถึง 1886 ฝรั่งเศสเปลี่ยนจากความร่วมมือกับราชวงศ์เหยวียนไปสู่การใช้กำลังบีบบังคับ นับตั้งแต่การสถาปนาอาณานิคมโคชินจีนทางตอนใต้ (1862–1867) เรื่อยมาจนถึงการตั้งรัฐอารักขาอันนัมในดินแดนตอนกลางของเวียดนาม (1882) และรัฐอารักขาตังเกี๋ยหรือตงกินทางตอนเหนือ (1885) ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะไม่ได้ล้มล้างราชวงศ์เหยวียน แต่กล่าวได้ว่า อำนาจการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตกอยู่ในมือของฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว[xi]

ตลอดสมัยอาณานิคม ความสัมพันธ์ระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชาวมงตาญญาร์ถือได้ว่าเป็นผลผลิตของความผันผวนระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับชาวเวียดนาม ความสนใจแรกๆ ที่ฝรั่งเศสมีต่อภูมิภาคที่ราบสูงใจกลางนั้นเริ่มต้นจากความต้องการรับรู้ขอบเขตของอำนาจและจำกัดอำนาจของชาวเวียดนาม รวมถึงการต้องการทำความเข้าใจเงื่อนไขและความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางการเมืองของภูมิภาคนั้น ตลอดจนสนใจว่าอำนาจอื่นๆ (โดยเฉพาะสยาม) ขยายมาถึงดินแดนแถบนั้นหรือไม่ ดังปรากฏว่า ระหว่างทศวรรษ 1870 จนถึง 1880 ฝรั่งเศสได้ส่งคณะสำรวจเข้ามายังดินแดนแถบนี้มาเป็นจำนวนมาก[xii] ทั้งนี้ ตามความเห็นของพวกมิชชันนารีที่ทำงานในพื้นที่ที่ราบสูงกลางตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ก็เห็นว่า กลุ่มชาวมงตาญญาร์เป็นชนป่าเถื่อน ก้าวร้าว และยากที่จะพัฒนาไปสู่ความมีอารยธรรมได้ ต่างไปจากชาวเวียดที่ดูจะเชื่อถือได้และเป็นผู้ภักดีต่อฝรั่งเศส[xiii]

อย่างไรก็ดี ดินแดนที่ราบสูงกลางกลายมาเป็นพื้นที่สำคัญต่อฝรั่งเศสมากยิ่งขึ้น เมื่อฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจากสยามในปี 1893 อันจะนำไปสู่การตั้งหน่วยการปกครองของฝรั่งเศสที่ลาวใต้ กล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ ทำให้ฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนทั้งสองฝั่งของแนวเทือกเขาอินโดจีน เวียดนามในฐานะที่เป็นหน่วยการปกครอง (polity) จึงถูกแทนที่ด้วย ‘อินโดจีน’ อันประกอบขึ้นจากดินแดนของลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ความพยายามที่จะเชื่อมโยงสามดินแดนอินโดจีนเข้าด้วยกัน พร้อมๆ กับที่จะเป็นการตัดสายสัมพันธ์เดิมระหว่างกัมพูชาและลาวออกจากสยาม ในแง่นี้ ดินแดนที่ราบสูงกลางจึงไม่ได้มีฐานะเป็นดินแดนชายขอบอีกต่อไป ทว่ากลายมาเป็นดินแดนอันเป็น ‘ศูนย์กลาง’ หรือ ‘ใจกลาง’ ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ[xiv]

นอกจากความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของตำแหน่งที่ตั้งซึ่งนำไปสู่การเกณฑ์แรงงานผู้คนในท้องถิ่นมาตัดถนนแล้ว ดินแดนที่ราบสูงตอนกลางยังกลายมาเป็นพื้นที่สำคัญในทางเศรษฐกิจสำหรับฝรั่งเศสโดยตัวของมันเองด้วย กล่าวคือ การกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่หรือนิคมเกษตรกรรม (plantation) ในกรณีนี้ คริสตี้เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นไปจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 แสดงให้เห็นความย้อนแย้งในตัวเองในนโยบายของฝรั่งเศสต่อชาวมงตาญญาร์ นั่นคือ ในด้านหนึ่งดูเหมือนฝรั่งเศสจะมีความพยายามแบ่งแยกและกีดกันชาวเวียดและชาวมงตาญญาร์ออกจากกัน และมีการสร้างความสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสกับชาวมงตาญญาร์ ทั้งการเพิ่มอำนาจแก่ผู้นำท้องถิ่น การก่อตั้งโรงเรียนและพัฒนาระบบสาธารณสุข พัฒนาระบบอักษร ตลอดจนความพยายามจัดทำประมวลกฎหมายที่มาจากข้อบังคับเชิงจารีตของชาวมงตาญญาร์กลุ่มต่างๆ ทว่าในทางกลับกัน การขยายตัวของนิคมเกษตรกรรมโดยเฉพาะการเพาะปลูกยางพาราก็นำพาให้ชาวเวียดนามจำนวนมากเข้ามาเป็นแรงงานและมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ราบสูงกลางมากยิ่งขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวจึงดูเหมือนเร่งเร้าให้อัตลักษณ์ร่วมของชาวมงตาญญาร์ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำชาวมงตาญญาร์[xv]

บุคคลที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชาวมงตาญญาร์ก็คือ ข้าราชการอาณานิคมอย่าง เลโอโปลด์ ซาบาติเยร์ (Léopold Sabatier) ซึ่งเข้ามาทำงานในพื้นที่ของชาวราเด (Rhade) หรือเดการ์ (Degar) ในบริเวณที่ราบสูงกลางตั้งแต่ปี 1913 จนถึงปี 1926

ซาบาติเยร์ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนที่สอนทั้งภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวราเด เขายังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำประมวลกฎหมายจารีตของชาวราเดขึ้นมาจากคำสอนเชิงจารีตที่เป็นวรรณกรรมเชิงมุขปาฐะ ทั้งนี้ ซาบาติเยร์เห็นว่ากฎหมายจารีตท้องถิ่นเหล่านี้เองที่สามารถเป็นเครื่องมือปกป้องชาวราเดจากการยึดครองที่ดินและทรัพยากรจากคนพื้นราบ อันหมายถึงชาวเวียดนาม ในขณะที่สร้างความหมายให้ชาวเวียดนามเป็นภัยคุกคาม ซาบาติเยร์ยังสร้างความหมายให้ชาวฝรั่งเศสมีฐานะเป็นผู้ปกป้องจารีต ธรรมเนียม วัฒนธรรมของชาวราเดไปพร้อมๆ กัน นอกจากนั้น ไม่เพียงแต่ทำจารีตมุขปาฐะให้เป็นรูปธรรมผ่านการเขียน ซาบาติเยร์ยังปรับแปลงหรือกระทั่งประดิษฐ์กฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการปกครองของฝรั่งเศส ไม่เพียงเท่านั้น ซาบาติเยร์ยังมีบทบาทอย่างมากในการจัดตั้งโครงสร้างการบริหารการปกครองในระดับที่ใหญ่กว่าหมู่บ้านให้คนพื้นถิ่นชาวมงตาญญาร์ปกครองกันเองภายใต้คำสั่งของเขา รวมไปถึงมีบทบาทในการเกณฑ์ชาวมงตาญญาร์ไปเป็นกองกำลังทหารราบ[xvi] เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการปกครองของฝรั่งเศสทั้งสิ้น

ต่างไปจากการมองว่าชาวมงตาญญาร์เป็นกลุ่มชนป่าเถื่อนแบบเดียวกันกับมิชชันนารีและชาติพันธุ์วิทยาของกองทัพฝรั่งเศสในยุคก่อนหน้า ซาบาติเยร์สร้างภาพลักษณ์เชิงชาติพันธุ์วรรณนา (ethnographic image) ว่าด้วยชาวมงตาญญาร์อีกแบบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับกรอบคิดแบบสัมพัทธ์นิยม (relativist) นั่นคือ การตระหนักและยอมรับในระบบคุณค่าที่แต่ละสังคมสร้างขึ้นเพื่อกำกับสังคมตนเอง ในแง่นี้ วัฒนธรรมของกลุ่มคนบนพื้นที่สูงอย่างชาวราเดจึงมีคุณค่าทัดเทียมกับวัฒนธรรมของชาวเวียด ที่สำคัญ ซาบาติเยร์แสดงความเห็นปกป้องสิทธิในการใช้ที่ดินของชาวราเดซึ่งวางอยู่บนการจัดสรรโดยระบบเครือญาติ ตลอดจนปกป้องวิถีการผลิตแบบไร่หมุนเวียน ท่ามกลางการถูกโจมตีโดยคนร่วมสมัยกับเขาว่าเป็นวิถีเกษตรกรรมอัน ‘ล้าสมัย’ ‘ทำลายล้าง’ และแสดงถึง ‘ความเกียจคร้าน’ นอกจากนั้น ซาบาติเยร์พยายามเสนอว่าชาวมงตาญญาร์ไม่ได้เป็นชน ‘ป่าเถื่อน’ และ ‘ล้าหลัง’ แต่สามารถ ‘พัฒนา’ ตามแนวทางของชาวตะวันตกได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงเสนอให้ฝรั่งเศสปกครองชาวมงตาญญาร์โดยตรง และกีดกันชาวเวียดนามออกไปจากที่ราบสูงกลาง[xvii]

ในขณะที่ซาบาติเยร์สร้างความชอบธรรมให้ฝรั่งเศสปกครองดินแดนที่ราบสูงกลาง แต่ข้อเสนอของเขาก็ไม่ได้รับความเห็นชอบทั้งหมด[xviii] โดยเฉพาะในฐานะที่ทัศนะของเขานั้นถูกถือว่าเป็นการกีดกันยับยั้งกระบวนการอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ในช่วงทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา การแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากดินแดนอาณานิคมในกรณีของการเพาะปลูกยางพาราในที่ราบสูงกลางจึงนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวมงตาญญาร์และชาวฝรั่งเศสขึ้นมา และกระทั่งในหมู่ชาวฝรั่งเศสด้วยกันเอง ซึ่งแบ่งออกเป็นฝ่ายที่มุ่งหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กับฝ่ายที่มุ่งปกป้องกระบวนการอาณานิคมทางการเมืองโดยเฉพาะผู้ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายชาติพันธุ์และความเป็นอยู่ของผู้คนใต้ปกครองอาณานิคม ทั้งนี้ ฝ่ายแรกซึ่งนำโดยบริษัทผู้ผลิตยางและนักลงทุนทั้งในฝรั่งเศสและไซ่ง่อนก็เห็นว่า การขยายพื้นที่นิคมเกษตรกรรมจะเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่ากว่า ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อชาวมงตาญญาร์กว่า หากพวกเขาจะเลิกการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนเพื่อมาทำงานในนิคมเพาะปลูกยางพาราแทน[xix]

ในช่วงทศวรรษ 1930 การก่อตัวขึ้นของขบวนการชาตินิยมเวียดนาม โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนเริ่มท้าทายอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส สำหรับในดินแดนที่ราบสูงตอนกลางนั้นความขัดแย้งสำคัญปรากฏขึ้นในปี 1937 ซึ่งผู้คนชาวมงตาญญาร์ลุกฮือขึ้นต่อต้านชาวฝรั่งเศสอย่างแพร่หลาย ถึงแม้จะถูกปราบปรามไปอย่างรวดเร็ว และไม่ปรากฏอย่างแน่ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องใดๆ กับขบวนการชาตินิยมเวียดนาม เหตุการณ์ดังกล่าวก็นับว่าสำคัญมากเพราะแสดงให้เห็นการก่อตัวของสำนึกความเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางความหลากหลายของกลุ่มคนที่เรียกรวมว่ามงตาญญาร์ ทั้งยังชี้ชวนให้ตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อว่าด้วยการมีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างชาวมงตาญญาร์กับชาวฝรั่งเศสด้วย[xx] ว่าแท้ที่จริงแล้ว ชาวมงตาญญาร์เป็นผู้ภักดีต่อผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสจริงหรือไม่ และในทางกลับกันก็ชวนให้ถามว่าฝรั่งเศสปฏิบัติกับผู้ใต้ปกครองอาณานิคมอย่างไรจึงได้รับผลตอบแทนอย่างนั้น

ภายใต้บรรยากาศอันตึงเครียดทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นดังกล่าว ผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสก็กลับมามุ่งความสนใจในการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรวมไปถึงการขยายตัวของความสนใจของการศึกษาในเชิงมานุษยวิทยากายภาพด้วย กล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ อัตลักษณ์และภาพลักษณ์โดยรวมของชาวมงตาญญาร์จึงก่อตัวขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งถูกประดิษฐ์ให้เป็นหน่วยเดียวกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในทางภาษา ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มตระกูลมอญ-ขแมร์ หรือมาลาโย-โพลีนีเชียน และท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่ก็ถูกจัดรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะที่เป็นขั้วตรงข้ามกับชาติพันธุ์เวียดและภาษาเวียด[xxi] ภาพลักษณ์และทัศนะดังกล่าวยังคงได้รับการยืนยันและผลิตซ้ำต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามและถอนกำลังออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มเวียดมินห์ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ต่อต้านทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งเศสพยายามสถาปนาอำนาจเหนือเวียดนาม หนึ่งปีให้หลังเมื่อฝรั่งเศสพยายามกลับเข้ายึดครองอินโดจีนอีกครั้ง ที่ราบสูงตอนกลางกลายมาเป็นยุทธภูมิสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ในระหว่างการเจรจาระหว่างฝรั่งเศสกับกลุ่มเวียดมินห์ในปี 1946 แกนนำของชาวมงตาญญาร์ก็ประกาศข้อเรียกร้องในการแยกตัวเป็นอิสระจากเวียดนามเพื่ออยู่ใต้การปกครองโดยตรงของฝรั่งเศส[xxii]

หากความสัมพันธ์ระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชาวมงตาญญาร์เป็นผลผลิตจากความผันผวนระหว่างความสัมพันธ์ของชาวฝรั่งเศสกับชาวเวียด นโยบายที่ฝรั่งเศสมีต่อชาวมงตาญญาร์ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายที่ฝรั่งเศสมีต่อเวียดนามด้วย กล่าวคือ หากฝรั่งเศสมุ่งจะเจรจาต่อรองกับกองกำลังชาตินิยมเวียดนาม สายสัมพันธ์พิเศษที่มีต่อชาวมงตาญญาร์ก็คงสูญเสียไป ในทางตรงกันข้าม หากมุ่งหมายจะบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของเวียดนาม การธำรงสายสัมพันธ์พิเศษกับชาวมงตาญญาร์ก็จะเป็นหัวใจสำคัญ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาเกือบทศวรรษระหว่างปี 1945 ถึง 1954 ฝรั่งเศสดูจะโอนเอนไปมาระหว่างสองขั้วนี้[xxiii] ที่สำคัญ นโยบายอาณานิคมของฝรั่งเศสไม่เคยถือว่าเวียดนามเป็นหน่วยทางการเมืองหนึ่งเดียว ต่างไปจากลาวและกัมพูชาซึ่งฝรั่งเศสถือว่าต่างก็เป็นหน่วยทางการเมืองหนึ่งๆ ทั้งคู่ การเจรจาระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ในปี 1946 จึงเปรียบได้กับการถอยคนละก้าวเพียงชั่วคราวก่อนที่จะหาทางต่อสู้ต่อรองกันใหม่[xxiv] ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและฝ่ายเวียดนามที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ผันแปรไปมา ถึงแม้ฝรั่งเศสจะพยายามผลักดันให้ดินแดนที่ราบสูงกลางมีฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่สถานะของชาวมงตาญญาร์และดินแดนที่ราบสูงกลางก็ตกอยู่ในความผันผวนเรื่อยมาเช่นกัน

การทวีความรุนแรงขึ้นของภาวะสงคราม โดยเฉพาะการแพร่กระจายของยุทธการของฝ่ายเวียดมินห์แทบจะทั่วทั้งอินโดจีน ซึ่งนับว่าสิ้นสุดลงที่เดียนเบียนฟู ในท้ายที่สุดก็นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส การลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่เจนีวาในปี 1954 นำไปสู่การสิ้นสุดลงของหน่วยทางการเมืองที่รู้จักกันในนาม ‘อินโดจีน’ ของฝรั่งเศส และก่อให้เกิดชาติเอกราชสามชาติด้วยกัน ในขณะที่ลาวและกัมพูชาต่างก็ค่อนข้างเป็นอิสระจากฝรั่งเศสในบางระดับมาก่อนหน้านั้นแล้ว เวียดนามยังคงอยู่ระหว่างการแบ่งแยกออกเป็นรัฐชั่วคราว (interim de facto states) สองรัฐ คือเวียดนามเหนือภายใต้การนำของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และเวียดนามใต้หรือฝ่ายที่ไม่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ โดยแบ่งแยกกันที่เส้นรุ้งที่ 17 สำหรับดินแดนที่ราบสูงกลางนั้นก็คล้ายจะกลับไปมีสถานะเป็นภูมิภาคชายขอบดังที่เคยเป็นมาก่อนการเข้ามาของอาณานิคมฝรั่งเศส[xxv]

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความพยายามต่างๆ ของฝรั่งเศส นักมานุษยวิทยาอย่างซาเลมิงค์ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญหลังสิ้นสุดสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งอยู่สองประเด็นด้วยกัน ประการแรก แม้ว่าฝรั่งเศสจะสร้างความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรมให้แก่ชาวมงตาญญาร์ผ่านการผลิตข้อมูลเชิงชาติพันธุ์วรรณนาและนโยบายชาติพันธุ์อย่างไรก็ตามแต่ ในท้ายที่สุด ภายใต้ระบบภาษีและแรงงานเกณฑ์และสภาพการทำงานอันเลวร้ายในนิคมเกษตรกรรม ฝรั่งเศสก็ไม่สามารถเอาชนะใจชาวมงตาญญาร์ได้อย่างแท้จริง และประการที่สอง ถึงที่สุดแล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่สามารถกีดกันชาวมงตาญญาร์และชาวเวียดออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ดังปรากฏว่ากลุ่มชาวมงตาญญาร์หลายๆ กลุ่มก็เข้าร่วมกับขบวนการชาตินิยมเวียดนาม และในปี 1954 เองก็พบว่าพื้นที่จำนวนมากของที่ราบสูงตอนกลางก็ตกอยู่ในความควบคุมของเวียดมินห์ด้วยซ้ำไป[xxvi]

หากผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสจะเคยเชื่อว่าฝ่ายตนมีสายสัมพันธ์พิเศษ โดยเฉพาะการเป็นผู้คุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวมงตาญญาร์ ความพ่ายแพ้อันนำไปสู่การถอนตัวออกจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสจะส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนพื้นถิ่นแห่งที่ราบสูงกลางของเวียดนามในเวลาต่อมาอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป


[i] Robert L. Winzeler, The Peoples of Southeast Asia Today: Ethnography, Ethnology, and Change in a Complex Region (Lanham: AltaMira Press, 2011), 6–9.

[ii] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (3): “ชาติ” และ “ชาตินิยม” ของชาวกะเหรี่ยงในพม่า’, The 101 World (blog), 13 January 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-karen/.

[iii] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 82.

[iv] บทความนี้ใช้คำว่า ‘ชาวเวียด’ และ ‘ชาวเวียดนาม’ (Vietnamese) อย่างทดแทนกันได้ ในความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ ‘เวียด’ (Viet) หรือที่เรียกว่า ‘ชาวกิญ’ (Kinh) ทั้งนี้ โดยไม่ได้ใช้ในความหมายของความเป็นพลเมือง ประชากร หรือสัญชาติ

[v] แม้จะเรียกว่าที่ราบสูงกลางหรือที่ราบสูงตอนกลาง แต่หากพิจารณาจากแผนที่แล้วจะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ค่อนไปทางใต้ของเวียดนามมากกว่า อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของอินโดจีนของฝรั่งเศสในภาพรวมแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าการขนานนามว่าที่ราบสูงกลางนี้อาจจะมาจากตำแหน่งที่อยู่ตรงใจกลางของอินโดจีน — โปรดดูต่อไปข้างหน้าในเนื้อหาส่วนที่กล่าวถึงอินโดจีน

[vi] Oscar Salemink, ‘Mois and Maquis: The Invention and Appropriation of Vietnam’s Montagnards from Sabatier to the CIA’, in Colonial Situations: Essays on the Contextualization of Ethnographic Knowledge, ed. George W. Stocking, Jr., History of Anthropology 7 (Madison, Wisconsin: University of Wisconsin Press, 1991), 244.

[vii] กระนั้นก็ตาม หลังการรวมประเทศเวียดนามในปี 1975 ด้วยความตระหนักถึงนัยทางประวัติศาสตร์ของการสร้างคำที่มาจากชาติพันธุ์วิทยาสมัยอาณานิคม การจัดประเภทอย่างเป็นทางการของเวียดนามจึงเลิกใช้คำนี้ไปด้วย โดยใช้คำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงถึงถิ่นที่อาศัยหรือลักษณะทางภูมิประเทศอย่าง ‘กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย’ (ethnic minorities) แทน; Winzeler, The Peoples of Southeast Asia Today, 258.

[viii] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 244.

[ix] Salemink, 251.

[x] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 83–84.

[xi] Christie, 84–85; Salemink, ‘Mois and Maquis’, 245.

[xii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 84–85.

[xiii] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 245–46.

[xiv] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 85–86.

[xv] Christie, 86–88.

[xvi] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 249–54.

[xvii] Salemink, 254.

[xviii] ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยนิสัยหัวดื้อหัวรั้นและมีความเป็นเผด็จการสูง ซาบาติเยร์มักมีปัญหากับชาวฝรั่งเศสด้วยกันเองอยู่เสมอ นอกจากนั้นแล้ว เขายังถูกโจมตีว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กสาวชาวราเดจำนวนมากอีกด้วย; Salemink, 258.

[xix] Salemink, 255–56.

[xx] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 87; Salemink, ‘Mois and Maquis’, 260–61.

[xxi] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 262–63.

[xxii] Salemink, 264.

[xxiii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 90.

[xxiv] Christie, 90.

[xxv] Christie, 95.

[xxvi] Salemink, ‘Mois and Maquis’, 268.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save