fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (6): จากการต่อต้านดัตช์สู่ขบวนการต่อต้านอินโดนีเซีย กับสถานะทางประวัติศาสตร์ของชาวอาเจะห์

ดังที่กล่าวในตอนที่แล้ว การกระชับและรวมศูนย์อำนาจการปกครองหมู่เกาะอินดีสตะวันออกของดัตช์ ตั้งแต่ระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นต้นมา มีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนให้อาณาจักรใหญ่น้อยอันกระจัดกระจาย ผนวกรวมเข้าด้วยกันจนสร้างความเป็นรัฐเดี่ยวให้แก่อินโดนีเซียในเวลาต่อมา ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ท้องถิ่นดินแดนทั่วทั้งหมู่เกาะเหล่านี้เชื่อมโยงกันได้ก็คือการมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทั้งยังมีคุณลักษณะร่วมทางภาษาและจารีตกันอยู่ในบางระดับ และยังรวมไปถึงการมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกันในการต่อต้านอาณานิคมดัตช์ ในแง่นี้ ผู้คนจากกลุ่มเกาะโมลุกกะใต้ผู้สวามิภักดิ์ต่อเจ้าอาณานิคมดัตช์จึง ‘แปลกแยก’ จากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบอินโดนีเซียข้างต้น[i]

ถึงแม้ว่าการต่อต้านกระบวนการอาณานิคมดัตช์ในกรณีต่างๆ ควรจะถือว่าเป็นการต่อต้านในระดับท้องถิ่นมากกว่า นั่นคือไม่ได้เป็นเอกภาพและไม่ได้มีสำนึกว่าด้วยการต่อต้านร่วมกัน[ii] กรณีของอาเจะห์ (Aceh) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพื้นที่สุดท้ายที่เนเธอร์แลนด์จะสามารถยึดครองและควบคุมได้นั้น เป็นกรณีสำคัญที่ถูกหยิบยกมาขับเน้นในการสร้าง ‘สำนึกร่วม’ ของการต่อต้านการปกครองของดัตช์ในฐานะที่เป็นการต่อสู้กระแสเดียวกันของชาว ‘อินโดนีเซีย’

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างอาเจะห์กับอินโดนีเซียก็ไม่ได้ราบรื่นและเป็นเนื้อเดียวกัน ทว่าเกิดความขัดแย้งและการปะทะกันอย่างรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซียของชาวอาเจะห์ในช่วงทศวรรษ 1950 ไม่ได้เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนในตัวเอง ขณะที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวอาเจะห์นั้นเกิดขึ้นในภายหลัง นั่นคือในช่วงทศวรรษ 1970 โดยขบวนการอาเจะห์เอกราช (Gerakan Aceh Merdeka: GAM)

หากถามว่าอะไรคือเงื่อนไขเชิงจารีตอันนำไปสู่ความแตกต่างและขัดแย้งภายในสังคมอาเจะห์เอง เรื่อยไปจนถึงความแตกต่างและขัดแย้งกับขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย ในแง่นี้ การทบทวนประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสังคมอาเจะห์อาจช่วยทำให้เห็นความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้

อาเจะห์ตั้งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา เป็นดินแดนฝั่งตะวันตกสุดของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์หลักคือชาวอาเจะห์ (Acehnese) ใช้ภาษาอาเจะห์เป็นภาษาแรก และแม้จะสามารถจัดประเภทได้ว่าภาษาและวัฒนธรรมแบบอาเจะห์มีลักษณะร่วมกับท้องถิ่นเพื่อนบ้านอื่นบนเกาะสุมาตราอยู่ไม่น้อย แต่ชาวอาเจะห์ก็มีสำนึกเชิงชาติพันธุ์ในความเป็นกลุ่มของตนเองที่เข้มแข็ง

หากพิจารณาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคมนับตั้งแต่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอินดีสตะวันออกของดัตช์เรื่อยมาถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย อาจกล่าวได้ว่าอาเจะห์มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณชายขอบของอำนาจ[iii]

ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณาจากจุดยืนของชาวอาเจะห์ การมีที่ตั้งอยู่บนตอนเหนือของช่องแคบมะละกาอันเป็นจุดตัดและจุดติดต่อทางการค้าและวัฒนธรรมสำคัญระหว่างชาวอาหรับ อินเดีย จีน ยุโรป และโลกมลายู อาเจะห์ย่อมไม่ใช่ดินแดนชายขอบ ที่สำคัญ สำนึกทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเป็นรัฐสุลต่านอันยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะสำนึกว่าด้วยความเป็นอาเจะห์ในฐานะที่เป็น ‘บ้านแห่งอิสลาม’ ซึ่งโดยนัยหนึ่งก็คือการเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามแห่งสำคัญของภูมิภาค ล้วนแต่ช่วยสร้างสำนึกว่าด้วยอัตลักษณ์ความเป็นอาเจะห์ซึ่งผูกโยงอย่างแน่นแฟ้นกับศาสนาอิสลาม[iv] สังคมอาเจะห์มีภาพลักษณ์ว่าเป็นสังคมที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลามมากที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย และปัจจุบันอาเจะห์เป็นพื้นที่แห่งเดียวในประเทศอินโดนีเซียที่มีการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ[v]

หากการรับศาสนาอิสลามของผู้นำมะละกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 เป็นหลักหมายสำคัญในการขยายตัวของศาสนาอิสลามในแถบหมู่เกาะและชายฝั่งต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่โปรตุเกสยึดครองมะละกาในปี 1511 ก็มีส่วนผลักดันให้ศูนย์กลางอิสลามอื่นๆ ขยายตัวขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะในอาเจะห์และบรูไน[vi]

ประวัติศาสตร์อาเจะห์มักจะอ้างอิงกลับไปยังสมัยสุลต่านอิสกันดาร์มูดา (Sultan Iskandar Muda) ซึ่งปกครองอาเจะห์ในช่วงระหว่างปี 1607-1636 ว่าเป็นสมัยแห่งความรุ่งเรือง งานเขียนทางประวัติศาสตร์สรุปว่าสังคมอาเจะห์มีการใช้กฎหมายชารีอะห์หรือกฎหมายอิสลามควบคู่กับกฎหมายจารีตหรือที่เรียกว่าอาดัต (adat) ตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว[vii]

ทั้งนี้ สนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ ในปี 1824 ซึ่งอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ตกลงแลกเปลี่ยนและแบ่งแยกดินแดนที่จะแสวงหาประโยชน์กัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยฝ่ายดัตช์ยินยอมให้อังกฤษเข้าครอบครองมะละกาและสิงคโปร์ แลกกับการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากเกาะสุมาตรา ผลจากสนธิสัญญาดังกล่าว (รวมถึงสนธิสัญญาอีกสามฉบับที่ทำขึ้นระหว่างปี 1870-1871) นำไปสู่การกีดกันดัตช์ออกจากคาบสมุทรมลายู แต่พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้ดัตช์แผ่ขยายอิทธิพลไปตามหมู่เกาะที่จะกลายมาเป็นอินโดนีเซียในเวลาต่อมานั่นเอง[viii]

อันที่จริง ผลจากสนธิสัญญาในปี 1824 ไม่ได้เปลี่ยนสังคมต่างๆ จากหน้ามือเป็นหลังมือโดยทันทีทันใด ในช่วงทศวรรษ 1850 อำนาจของดัตช์ยังขยายไปไม่ถึงตอนเหนือของสุมาตราเสียด้วยซ้ำ กระทั่งถึงปี 1871 อาเจะห์ก็ยังคงมีฐานะเป็นรัฐอิสระอยู่[ix] ฝ่ายดัตช์เริ่มบุกโจมตีอาเจะห์อย่างเป็นทางการในปี 1873 ซึ่งนำไปสู่สงครามอันยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 กล่าวคือ จนกระทั่งชาวดัตช์พิชิตอาเจะห์ได้ในปี 1904[x]

หลังจากที่พวกดัตช์ยึดครองกูตาราจา (Kutaraja) เมืองหลวงของอาเจะห์ได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1873 กลุ่มผู้นำอาเจะห์ถอยร่นไปยังดินแดนตอนล่างลงไป สงครามระหว่างอาเจะห์กับดัตช์ก็ดำเนินไปแบบสงครามกองโจร ขบวนการต่อต้านดัตช์กระจัดกระจายไปอยู่ในมือของผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้นำศาสนาหรือที่เรียกว่า ‘อูลามา’ (ulama) ในปี 1881 กลุ่มอูลามาอาเจะห์ประกาศว่าสงครามดังกล่าวเป็น ‘ญีฮาด’ (jihad) หรือ ‘เปอรัง ซาบิล’ (perang sabil) อันหมายถึงสงครามศักดิ์สิทธิ์ตามแนวทางของพระเจ้าในศาสนาอิสลาม เมื่อมองย้อนกลับไปในฐานะที่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ การต่อสู้ที่ยาวนานราวสามทศวรรษนี้จึงทวีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ต่อประวัติศาสตร์อาเจะห์ ทั้งในฐานะดินแดนที่เป็นเอกเทศในตัวเอง ตลอดจนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของโลกมุสลิมในภาพรวม โดยเฉพาะภายใต้ความหมายว่าด้วยการต่อต้านคนนอกศาสนา (kafir) ผู้มารุกราน[xi]

หลังจากที่ดัตช์ผนวกอาเจะห์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินดีสตะวันออกได้สำเร็จ อาณานิคมดัตช์ได้ดึงกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่นและขุนนางที่เรียกว่า ‘อูแลบาลัง’ (uleebalang) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการปกครองอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็ลดบทบาทของอูลามาลง รวมถึงควบคุมกิจการทางศาสนาและการศึกษาแบบอิสลาม เพราะเห็นว่าศาสนาอิสลามนั้นเป็นอันตรายต่อการปกครองของดัตช์เอง[xii]

ผลที่ตามมาก็คือ ชาวอาเจะห์แปลกแยกต่อพวกชนชั้นนำท้องถิ่นหรืออูแลบาลังที่สวามิภักดิ์ต่อดัตช์มากขึ้นเป็นลำดับ ในอีกด้านหนึ่ง ภายใต้ความพยายามควบคุมศาสนาอิสลามของเจ้าอาณานิคม กลุ่มอูลามารุ่นใหม่ๆ ก็มีความพยายามที่จะปฏิรูปความคิดทางศาสนาในอาเจะห์มากยิ่งขึ้น ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองจึงเริ่มปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการปฏิรูปศาสนาอิสลามในอาเจะห์กับที่อื่นๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ความพยายามที่จะข้ามพ้นข้อจำกัดภายในสังคมอาเจะห์เองคล้ายจะมีส่วนเชื่อมโยงกระแสดังกล่าวเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาและการเมืองที่กว้างออกไป โดยเฉพาะกรอบคิดแบบชาตินิยมอินโดนีเซียที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การเกิดขึ้นขององค์กรอูลามาอาเจะห์ (All-Aceh Association of Ulama หรือ Persatuan Ulama Seluruh Aceh: PUSA) ในปี 1939 แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมอาเจะห์ในตัวเองกับเป้าหมายว่าด้วยการปฏิรูปศาสนาอิสลามในภาพรวม[xiii]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ ผู้ปกครองญี่ปุ่นยังคงอาศัยโครงสร้างการบริหารของดัตช์นั่นก็คืออาศัยกลุ่มอูแลบาลัง ซึ่งผลสืบเนื่องในระยะยาวคือทำให้ความแปลกแยกและตึงเครียดระหว่างชาวอาเจะห์กับกลุ่มอูแลบาลังทวีความเข้มข้นขึ้น เพราะกลุ่มอูแลบาลังไม่เพียงแต่รับใช้คนนอกศาสนาชาวดัตช์เท่านั้น หากยังรับใช้คนนอกศาสนาชาวญี่ปุ่นต่อมาอีก และในทางกลับกัน สถานการณ์ดังกล่าวจึงยิ่งส่งเสริมให้กลุ่มอูลามาอย่างองค์กร PUSA มีอิทธิพลต่อสังคมอาเจะห์มากยิ่งขึ้น[xiv]

เมื่อขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียประกาศเอกราชหลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามและถอนกำลังออกไป ภายใต้บรรยากาศของความกลัวว่าเนเธอร์แลนด์จะกลับมาปกครองอันจะสร้างภัยคุกคามต่อศาสนาอิสลาม กลุ่มอูลามาอาเจะห์นำเสนอความหมายว่าด้วยการต่อสู้เพื่อปกป้องอิสรภาพในฐานะที่เป็นการต่อสู้ในสงครามศักดิ์สิทธิ์อันต่อเนื่องมาจากสงครามในช่วงศตวรรษที่ 19 สำหรับขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียแล้ว ข้อเสนอทำนองนี้คือการสนับสนุนเอกราชอินโดนีเซีย แต่สำหรับชาวอาเจะห์แล้วยังหมายความถึงการยืนยันกรอบคิดและคุณค่าแบบศาสนาอิสลามในขบวนการปฏิวัติด้วย[xv]

ตั้งแต่ก่อนหน้าและหลังจากอินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อเดือนสิงหาคม 1945 ความไม่ลงรอยระหว่างนักชาตินิยมอินโดนีเซียกับกลุ่มผู้นำอาเจะห์ก็ปรากฏต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ทั้งด้วยทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องรัฐอิสลาม โดยฝ่ายชาตินิยมอินโดนีเซียนั้นคัดค้านแนวคิดเรื่องรัฐอิสลาม ในขณะที่ฝ่ายอูลามาอาเจะห์นั้นเห็นว่า หลังจากสงครามยุติลง อินโดนีเซียจะอนุญาตให้บังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ในอาเจะห์ รวมทั้งเรื่องสถานะของอาเจะห์ในสาธารณรัฐ ซึ่งฝ่ายชาตินิยมอินโดนีเซียนั้นไม่ต้องการสร้างท้องถิ่นหรือภูมิภาคที่มีความเป็นเอกเทศทางวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์ แต่ต้องการสร้างหน่วยการปกครองย่อยๆ ที่รวมขึ้นจากผู้คนอันหลากหลาย โดยหวังว่าจะส่งเสริมเอกภาพของอินโดนีเซียในภาพรวม ขณะที่ผู้นำอาเจะห์ต้องการสถานะของการปกครองตนเองมากกว่า[xvi]

หลังจากช่วงเวลาราวสี่ปีของการสู้รบระหว่างฝ่ายชาตินิยมอินโดนีเซียกับเจ้าอาณานิคมดัตช์ ผลของการเจรจาระหว่างเนเธอร์แลนด์และกลุ่มคนต่างๆ ในอินโดนีเซียนำไปสู่ข้อตกลงในการประกาศตั้งสาธารณรัฐแห่งสหรัฐอินโดนีเซียเมื่อเดือนธันวาคม 1949 ซึ่งจวบจนถึงขณะนั้น สังคมอาเจะห์ค่อนข้างมีอิสรภาพในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง ผู้นำอย่าง ดาอุด เบอเรอเอะห์ (Daud Beureueh) และกลุ่ม PUSA เริ่มดำเนินการปฏิรูปศาสนาอิสลามในอาเจะห์อย่างเป็นกระบวนการ กระนั้นก็ตาม สถานะกึ่งกำหนดตนเองของอาเจะห์ก็สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความพยายามกระชับรวมศูนย์อำนาจของฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในช่วงต้นปี 1951 อาเจะห์จึงถูกผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสุมาตราเหนือในที่สุด[xvii]

อย่างไรก็ดี สำหรับชนชั้นนำอาเจะห์แล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นแต่เรื่องการปกครองตนเองของอาเจะห์เท่านั้น ด้วยความภาคภูมิใจในบทบาทของอาเจะห์ในขบวนการปลดแอกอินโดนีเซียจากอาณานิคมดัตช์ ตลอดจนทัศนะที่ว่าศาสนาอิสลามเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการต่อต้านอาณานิคมดัตช์ดังกล่าวนั้น การลดทอนความสำคัญและตำแหน่งแห่งที่ของศาสนาอิสลามลงเป็นเพียงหนึ่งในห้าของ ‘ปัญจศีล’ หรือ ‘ปันจาซีลา’ (pancasila) อุดมการณ์ห้าประการของรัฐอินโดนีเซียนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง[xviii]

ในที่สุด ความไม่พอใจต่อรัฐบาลกลางสาธารณรัฐอินโดนีเซียในหมู่ชนชั้นนำอาเจะห์จำนวนหนึ่งปะทุไปสู่การจับอาวุธต่อสู้ด้วยความรุนแรงในปี 1953 ในนามของขบวนการ ‘ดารุลอิสลาม’ (Darul Islam) ซึ่งมีความหมายว่า ‘บ้านแห่งอิสลาม’ ขบวนการดารุลอิสลามในอาเจะห์นำโดย ดาอุด เบอเรอเอะห์ อูลามาสายปฏิรูป ขบวนการดังกล่าวเชื่อมโยงกับขบวนการดารุลอิสลามในภูมิภาคอื่นของอินโดนีเซียที่นำโดยการ์โตซูวีรโย (Kartosuwiryo) ผู้นำขบวนการดารุลอิสลามในชวาตะวันตก กลุ่มขบวนการดังกล่าว (ซึ่งก่อตัวขึ้นในเกาะชวาในปี 1949 และขยายตัวไปถึงซูลาเวซีและกาลีมันตันด้วย) มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในอินโดนีเซีย[xix]

การสู้รบระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซียกับขบวนการดารุลอิสลามดำเนินไปในลักษณะสงครามกองโจรและการแย่งชิงมวลชน สำหรับ ฮาซัน ซาเละห์ (Hasan Saleh) หนึ่งในแกนนำของขบวนการดารุลอิสลามอาเจะห์ เขาเห็นว่า ขบวนการดารุลอิสลามดูจะมีความหวังว่าจะได้รับชัยชนะมากกว่าขบวนการอื่น โดยเฉพาะขบวนการปลดแอกของชาวมาลูกูใต้[xx] ด้วยเหตุผลสองประการด้วยกัน ประการแรกคือเหตุผลทางอุดมการณ์ เขาเห็นว่าขบวนการสาธารณรัฐมาลูกูใต้นั้นต่อสู้เพื่อเหตุผลเฉพาะของตนเองเท่านั้น ขณะที่ขบวนการดารุลอิสลามเป็นการต่อสู้ในความหมายของการเสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่ใหญ่กว่า อันหมายถึงศาสนาอิสลาม และประการที่สองคือเหตุผลเชิงปฏิบัติ เขาเชื่อว่านักรบในขบวนการดารุลอิสลาม ทั้งที่อาเจะห์และชวาต่างก็รู้จักและคุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ตอนในเป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถสื่อสารกับมวลชนในภาพรวมได้[xxi]

กระนั้น สถานการณ์ที่ฮาซัน ซาเละห์ คาดการณ์เอาไว้ก็ไม่ได้กลายมาเป็นจริง กองกำลังขบวนการดารุลอิสลามที่แยกกันสู้รบในชวาตะวันตก อาเจะห์ ซูลาเวซีใต้ และกาลีมันตัน แยกขาดจากกันเกินกว่าจะสามารถช่วยเหลือกันได้ ขณะที่มวลชนก็ไม่สามารถกล่าวอ้างอย่างเหมารวมได้ทั้งหมด กล่าวคือแม้ผู้คนจำนวนหนึ่งจะมีจิตใจฝักใฝ่ไปกับเป้าหมายของขบวนการแต่ก็ใช่ว่าจะเข้าร่วมในการสู้รบ ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยก็พร้อมที่จะยอมรับการปกครองของสาธารณรัฐอินโดนีเซียหากสามารถต่อรองเรื่องสถานะของศาสนาอิสลามได้ ในที่สุด สงครามกองโจรที่ตามมาด้วยการเจรจาอันสลับซับซ้อนก็ค่อยๆ อ่อนกำลังลงในปี 1959 เมื่อสาธารณรัฐอินโดนีเซียเสนอให้อาเจะห์ได้รับสถานะเป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ (special region หรือ daerah istimewa) อันทำให้อาเจะห์มีสิทธิกำหนดตนเองในทางศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม ก่อนที่การต่อสู้จะสิ้นสุดลงเมื่อ ดาอุด เบอเรอเอะห์ และผู้สนับสนุน ล้มเลิกการต่อสู้และออกมาจากป่าเมื่อปี 1962[xxii]

หลังการขึ้นสู่อำนาจของซูฮาร์โตในปี 1967 หรือที่เรียกว่า ‘ยุคระเบียบใหม่’ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในแง่หนึ่งก็นำไปสู่การฉวยใช้ทรัพยากรจากภูมิภาคต่างๆ อย่างเอารัดเอาเปรียบ สำหรับอาเจะห์ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ ภายใต้โครงสร้างการลงทุนและการจ้างงาน ชาวอาเจะห์ก็ไม่เห็นว่าตนเองจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากทรัพยากรแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้ว ยังรวมไปถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวทางศาสนาอิสลามและการใช้กฎหมายอิสลาม ตลอดจนการควบคุมทางสังคมโดยกองกำลังทหารซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก ความไม่พอใจเหล่านี้มีส่วนต่อการเกิดขึ้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกว่าขบวนการอาเจะห์เอกราช หรือ GAM ในปี 1976[xxiii]

เป้าประสงค์ของ GAM ชัดเจนมากว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนออกจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และถึงแม้ว่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการดารุลอิสลาม แต่มีจุดมุ่งหมายต่างกัน คือแทนที่จะเสนอให้สถาปนารัฐอิสลามอินโดนีเซีย แต่เสนอให้สถาปนารัฐอิสลามอาเจะห์ (Negara Islam Aceh) แทน[xxiv] ที่สำคัญ GAM ยังเน้นย้ำถึงการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากการยึดพรากและขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติที่ควรจะเป็นของชาวอาเจะห์ด้วย นอกจากนั้นแล้ว ในเวลาต่อมา จนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า ลการต่อสู้ของขบวนการ GAM ค่อนข้างปรากฏคุณลักษณะว่าด้วยสำนึกชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์มากกว่าที่จะเป็นแต่เรื่องศาสนาอิสลามในตัวเอง[xxv] ถึงแม้ว่าสำนึกเชิงชาติพันธุ์ของชาวอาเจะห์จะผูกโยงอย่างแน่นแฟ้นกับศาสนาอิสลามก็ตาม

อย่างไรก็ดี การสู้รบและการต่อรองทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกลางอินโดนีเซียกับขบวนการเอกราชอาเจะห์สิ้นสุดลงในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 หลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี 2004 ซึ่งอาเจะห์เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด กล่าวกันว่า แรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกสังคมอินโดนีเซียทำให้รัฐบาลกลางและขบวนการเอกราชสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ในปี 2005 ส่งผลให้อาเจะห์กลายเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ (หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2001)[xxvi]

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอาเจะห์ เราอาจสรุปได้ว่า สังคมอาเจะห์หรือวัฒนธรรมของชาวอาเจะห์เป็นผลรวมจากการร้อยรัดเข้าด้วยกันระหว่างประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนึกชาตินิยม (หรือท้องถิ่นนิยม) ในเชิงชาติพันธุ์ และความคิดแบบชาตินิยมอินโดนีเซีย คุณค่าและความหมายเกี่ยวกับความคิดเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการเกิดขึ้นของขบวนการต่อต้านอาณานิคมดัตช์ และความไม่ลงรอยในการให้ความหมายว่าด้วย ‘ตัวตนเชิงชาติพันธุ์’ ‘ท้องถิ่น’ ‘ชาติ’ และ ‘ศาสนา’ ระหว่างชาวอาเจะห์ (ซึ่งมีความแตกต่างกันในตัวเองด้วย) กับฝ่ายชาตินิยมอินโดนีเซียในเวลาต่อมา จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการต่อต้านรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย ทั้งในรูปของขบวนการดารุลอิสลามในทศวรรษ 1950 และขบวนการเอกราชในทศวรรษ 1970 ซึ่งมีเป้าประสงค์แตกต่างกันไป หากล้วนแต่สามารถสะท้อนให้เห็นว่าชาวอาเจะห์จัดวางตำแหน่งหรือสถานะทางประวัติศาสตร์ของตนเองอย่างไรในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย


[i] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (5): ความพ่ายแพ้ของชาวอัมบนคริสเตียน บนความย้อนแย้งของเอกราชในอินโดนีเซีย’, The 101 World (blog), 19 April 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-ambon/.

[ii] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 111–12.

[iii] Christie, 140–41.

[iv] Christie, 140–41.

[v] อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘ประวัติศาสตร์กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์: จากรัฐสุลต่านสู่เขตปกครองพิเศษ’, วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 9, no. 1 (2565): 3.

[vi] Barbara Watson Andaya and Yoneo Ishii, ‘Religious Developments in Southeast Asia, c. 1500-1800’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume One: From Early Times to c. 1800, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 516–19.

[vii] อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘ประวัติศาสตร์กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์’, 5–6.

[viii] ดูเพิ่มเติม Nicholas Tarling, ‘The Establishment of the Colonial Régimes’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two: The Nineteenth and Twentieth Centuries, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 5–78.

[ix] Tarling, 22.

[x] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 142; แหล่งข้อมูลจำนวนหนึ่งเสนอว่าสงครามยังคงดำเนินต่อไปจนถึงราวปี 1913-1914 นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่เสนอว่าแท้ที่จริงแล้วสงครามระหว่างดัตช์กับอาเจะห์ไม่เคยสิ้นสุดลงเลยจนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อญี่ปุ่นเข้าควบคุมอาเจะห์ได้ อ้างจาก อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘อินโดนีเซีย รัฐอิสลาม และอูลามาอาเจะห์: กรณีกฎหมายอิสลามในอาเจะห์ ค.ศ.1945-1962’, ใน ศาสนากับความรุนแรง, บรรณาธิการโดย ปรีดี หงษ์สต้น และ อัมพร หมาดเด็น (กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2562), 205–26.

[xi] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 142–43.

[xii] Christie, 143; อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘ประวัติศาสตร์กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์’, 7.

[xiii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 143–44; ดูเพิ่มเติม อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘อินโดนีเซีย รัฐอิสลาม และอูลามาอาเจะห์’.

[xiv] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 145; อย่างไรก็ดี เมื่ออูแลบาลังจำนวนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับเนเธอร์แลนด์หันมาต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อแสดงความภักดี ญ๊่ปุ่นจึงเลือกที่จะประสานความร่วมมือกับฝ่ายอูลามามากกว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอูแลบาลังและกลุ่มอูลามานำไปสู่การจับอาวุธปะทะกัน ก่อนที่ฝ่ายอูลามาจะได้รับชัยชนะและกลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองในสังคมอาเจะห์ ดูรายละเอียดใน อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘อินโดนีเซีย รัฐอิสลาม และอูลามาอาเจะห์’.

[xv] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 146.

[xvi] Christie, 146–48; ดูเพิ่มเติม อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘อินโดนีเซีย รัฐอิสลาม และอูลามาอาเจะห์’.

[xvii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 148–49.

[xviii] Christie, 149, หลักการห้าประการประกอบด้วย ประการแรก ความเชื่อในพระเจ้าสูงสุดองค์เดียว ประการที่สอง กรอบคิดมนุษยนิยม ประการที่สาม เอกภาพของอินโดนีเซีย ประการที่สี่ ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน และประการที่ห้า ความยุติธรรมทางสังคมต่อประชาชนชาวอินโดนีเซียทั้งหมด.

[xix] Christie, 149–51.

[xx] ดูเพิ่มเติม ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (5)’.

[xxi] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 153–54.

[xxii] Christie, 155–56; อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘อินโดนีเซีย รัฐอิสลาม และอูลามาอาเจะห์’.

[xxiii] อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘ประวัติศาสตร์กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์’, 9–10; Christie, A Modern History of Southeast Asia, 157–58.

[xxiv] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 157–58.

[xxv] อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘ประวัติศาสตร์กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์’, 10.

[xxvi] อรอนงค์ ทิพย์พิมล, 25.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save