fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (5): ความพ่ายแพ้ของชาวอัมบนคริสเตียน บนความย้อนแย้งของเอกราชในอินโดนีเซีย

การติดต่อเป็นเครือข่ายการค้าระหว่างดินแดนที่ไกลออกไป ตั้งแต่เครือข่ายการค้าของพ่อค้าชาวมุสลิมที่เชื่อมต่อข้ามมหาสมุทรอินเดียไปสู่ฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา เรื่อยมาจนถึงการแผ่ขยายอิทธิพลของชาวยุโรป ไล่เรียงมาตั้งแต่ โปรตุเกส สเปน ดัตช์ อังกฤษ และฝรั่งเศส ยังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเชิงสภาวะแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ชาติพันธุ์ และศาสนา[i]

เช่นเดียวกันกับท้องถิ่นดินแดนอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15-17 และนับจากนั้นเป็นต้นมา เกาะอัมบน (Ambon) และเพื่อนบ้านแห่งหมู่เกาะมาลูกู (Maluku) หรือหมู่เกาะโมลุกกะ (Molucca) ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ต่างก็เผชิญกับการแทรกแซงและอิทธิพลจากภายนอก กระทั่งพูดได้ว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐานของสังคมไปอย่างมาก[ii]

ศาสนาอิสลามมาถึงเกาะอัมบนราวศตวรรษที่ 15 ภายใต้การขยายอิทธิพลทางการเมืองจากรัฐแถบโมลุกกะเหนือ อย่างเตอร์นาเต (Ternate) และตีโดเร (Tidore) ส่วนคริสต์ศาสนานั้นก็มาถึงราวๆ ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 หลังการเดินทางมาถึงของเครือข่ายการค้าของชาวโปรตุเกสทางฝั่งโมลุกกะใต้ จนช่วงราวต้นจนถึงกลางศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์ค่อยๆ เข้ามาแทนที่โปรตุเกส กระทั่งสามารถกระชับและรวมศูนย์อำนาจเหนืออัมบนและหมู่เกาะโมลุกกะโดยรวม และครองอำนาจผูกขาดการค้าขายสินค้าส่งออกราคาสูงจากหมู่เกาะแถบนี้อย่างกานพลู (cloves) และจันทน์เทศ (nutmeg) อัมบนและ ‘หมู่เกาะเครื่องเทศ’ ทั้งหลายแห่งโมลุกกะจึงกลายมาเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของเครือข่ายการค้าของชาวดัตช์[iii] โดยควรกล่าวเน้นย้ำด้วยว่า ไม่ใช่ว่าการเข้ามาของชาวยุโรปจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงสังคมแถบนี้ อันที่จริง เมื่อชาวโปรตุเกสมาถึงดินแดนแถบนี้ เครือข่ายการค้าของพ่อค้ามุสลิมนั้นก็ดำรงอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว[iv]

ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ตำแหน่งที่ตั้งของเกาะอัมบนเปรียบได้กับการเป็นจุดตัดและจุดติดต่อระหว่างการแข่งขันของจักรวรรดิและการเผชิญหน้าทางศาสนา ขณะที่จารีตแบบท้องถิ่นที่มีมาแต่ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามและคริสต์ยังคงดำรงอยู่และสร้างแรงตึงเครียดกับศาสนาที่เข้ามาใหม่ นอกจากนั้น ความต่างทางศาสนายังคล้ายจะทำให้สังคมอัมบนแบ่งแยกออกเป็นชุมชนมุสลิมและชุมชนคริสเตียนด้วย ข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 1930 แสดงว่า ประชากรชาวอัมบนราวสองในสามเป็นคริสเตียน (ส่วนมากเป็นโปรเตสแตนต์) ส่วนประชากรอีกราวหนึ่งในสามเป็นชาวมุสลิม อัมบนเป็นตัวอย่างสำคัญของพหุสังคม ทั้งในความหมายของการแต่งงานข้ามกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ และการดำรงอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลาย[v]

จนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 เมื่อราคาเครื่องเทศตกต่ำลงและความสำคัญของการค้าเครื่องเทศถดถอยลง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมืองของดัตช์ในกลุ่มหมู่เกาะอินดีสตะวันออกจึงย้ายไปอยู่ที่เกาะชวา (Java) และสุมาตรา (Sumatra) ที่ซึ่งนิคมเกษตรกรรมกำลังขยายตัว จากการมีที่ตั้งบนทางแยกและทางเชื่อมอันหลากหลาย อัมบนและหมู่เกาะเครื่องเทศจึงเปลี่ยนสถานะไปเป็นดินแดนชายขอบ (peripherality) ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ[vi]

แม้ว่าอัมบนจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าของชาวดัตช์มาไม่ต่ำกว่าสองศตวรรษ ทว่าสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างชาวดัตช์กับชาวอัมบนคริสเตียนก็เพิ่งจะก่อตัวขึ้นมาทีละน้อยนับจากช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จากการกระชับอำนาจทางการเมืองทั่วทั้งดินแดนอินดีสตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้กลไกสำคัญคือกองทัพอาณานิคมอินดีสตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Royal Netherlands East Indies Army หรือ Koninklijk Nederlands Indisch Leger: KNIL) ซึ่งชาวอัมบนคริสเตียนกลายเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญ กระทั่งชาวคริสเตียนอัมบนกลายเป็นกลุ่มช่วงชั้นทางสังคมพิเศษ (special caste: pangkat) ในระบบอาณานิคมดัตช์[vii]

สถานะพิเศษยังแสดงผ่านสถานะทางกฎหมายที่ทำให้ชาวอัมบนคริสเตียนถูกปฏิบัติในฐานะที่เป็น ‘ชาวยุโรป’ และได้รับค่าจ้างในกองกำลังทหารอาณานิคมเท่ากับชาวดัตช์ ชุมชนชาวคริสต์แห่งอัมบนจึงเป็นแหล่งแรงงานทั้งสำหรับกองกำลังทหารและข้าราชการระดับล่างในระบบอาณานิคม จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของชุมชนเล็กๆ ของชาวอัมบนคริสเตียนกระจายไปทั่วทั้งหมู่เกาะอินดีสตะวันออกของดัตช์ ในขณะที่เกาะอัมบนกลายไปเป็นชายขอบ แต่กลุ่มชาวอัมบนคริสเตียนดูเหมือนจะเข้าไปอยู่ใกล้กับศูนย์กลางอำนาจมากยิ่งขึ้น ในแง่นี้ จึงดูเหมือนเส้นแบ่งและระยะห่างระหว่างชาวอัมบนมุสลิมและคริสเตียนก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปด้วย[viii]

ระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 ความพยายามกระชับอำนาจและรวมศูนย์อำนาจการปกครองหมู่เกาะอินดีสตะวันออกของดัตช์เปลี่ยนให้อาณาจักรอันกระจัดกระจายค่อยๆ กลายมาเป็นรัฐเดี่ยวมากขึ้นตามลำดับ นอกจากการปกครองของดัตช์แล้ว เงื่อนไขที่ทำให้หมู่เกาะเหล่านี้เชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้ก็คือการมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ตลอดจนมีภาษาและจารีตต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันหรือมีลักษณะร่วมกันอยู่มาก แม้จะไม่ได้เหมือนกันเลยเสียทีเดียว ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสำนึกว่าด้วยอัตลักษณ์ร่วมหรือมีความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย การต่อต้านกระบวนการอาณานิคมดัตช์ในกรณีต่างๆ นั้นจึงควรถือว่าเป็นการต่อต้านในระดับท้องถิ่นเท่านั้น[ix]

อย่างไรก็ดี สำนึกว่าด้วยอัตลักษณ์ร่วมก็เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งคล้ายจะเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายจริยธรรม (Ethical Policy) ของดัตช์เอง โดยเฉพาะการขยายตัวของระบบการศึกษา[x] ลูกหลานของพวกชนชั้นนำในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทั้งหมู่เกาะจึงมาพบกันในโรงเรียนเหล่านี้ในเมืองใหญ่ๆ อย่างบาตาเวีย (จาการ์ตา) บันดุง และซูราบายา อันนำไปสู่การก่อตัวของสำนึกว่าด้วยการต่อต้านการปกครองของดัตช์ร่วมกัน (common struggle) และอีกส่วนหนึ่ง เกิดขึ้นด้วยความจงใจของผู้นำทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 1920 ที่เห็นว่าการสร้างอัตลักษณ์ร่วมจะทำให้กระบวนการต่อต้านอาณานิคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุผลสองส่วนนี้จึงนำไปสู่การก่อตัวของอัตลักษณ์แบบ ‘อินโดนีเซีย’ ขึ้นมา[xi]

การก่อตัวและปรากฏขึ้นของอัตลักษณ์แห่งชาติแบบอินโดนีเซียตลอดจนขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นตามมาจึงเป็นการผลักชาวอัมบนคริสเตียนไปเป็นชายขอบโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชาตินิยมอินโดนีเซียนั้นวางอยู่บนวิธีคิดว่าด้วยการต่อต้านอาณานิคม ศาสนาอิสลาม และมีฐานที่มั่นอยู่ที่เกาะชวา อย่างไรก็ตาม ผลสืบเนื่องประการต่อมาก็คือ ลูกหลานของชาวอัมบนทั้งคริสเตียนและมุสลิมที่เข้าสู่ระบบการศึกษาในชวาและได้ปฏิสัมพันธ์กับลูกหลานชนชั้นนำจากทั่วทั้งหมู่เกาะก็ค่อยๆ พัฒนาอัตลักษณ์แบบอินโดนีเซียขึ้นมาด้วย[xii]

สมาคมชาวอัมบน (Sarekat Ambon) ตั้งขึ้นในเมืองเซอมารัง (Semarang) บนเกาะชวาช่วงกลางปี 1920 โดยแรกเริ่มเป็นองค์กรสนับสนุนด้านการศึกษาและสวัสดิภาพของผู้คนชาวอัมบน แต่ในท้ายที่สุดจะกลายเป็นองค์กรเคลื่อนไหวท้าทายอำนาจแบบจารีตเดิมไปจนถึงท้าทายความชอบธรรมของผู้ปกครองอาณานิคมดัตช์ในเวลาต่อมา[xiii]

เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งสอง สังคมอัมบนจึงอยู่ในสถานการณ์ที่แยกออกเป็นส่วนๆ อย่างไม่ประสานกัน ผู้นำชุมชนตามจารีตเดิมที่ได้รับการสนับสนุนจากดัตช์ก็ยังคงอิงอยู่กับอำนาจของผู้ปกครองอาณานิคมดัตช์ หมู่บ้านชาวอัมบนคริสเตียนยังคงเป็นแหล่งแรงงานให้กับผู้ปกครองอาณานิคม กล่าวคือในบรรยากาศที่ขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียกำลังเติบโตขึ้น ชุมชนชาวอัมบนคริสเตียนยังคงยึดโยงตัวเองอยู่กับฝ่ายดัตช์ และในสายตาของคนกลุ่มอื่นก็คิดแบบนั้นเช่นเดียวกัน กระทั่งว่ากันว่า ชาวอัมบนที่จงรักภักดีต่อเนเธอร์แลนด์ถูกเรียกแบบเหยียดหยามจากคนกลุ่มอื่นในกลุ่มเกาะอินโดนีเซียว่าเป็น ‘เบอลันดาฮีตัม’ (Belanda hitam) หรือ ‘คนเนเธอร์แลนด์ดำ’ ในทางตรงกันข้าม ชุมชนชาวอัมบนมุสลิมที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์พิเศษกับชาวดัตช์นั้นก็ไม่ได้อ้างอิงตนเองเข้ากับฝ่ายดัตช์ ขณะเดียวกัน ชาวอัมบนรุ่นใหม่ๆ ทั้งมุสลิมและคริสเตียนที่ผ่านระบบการศึกษาจากเมืองใหญ่ก็เริ่มแสดงให้เห็นการรับเอาอัตลักษณ์และทัศนะแบบอินโดนีเซียมากขึ้นเรื่อยๆ[xiv]

ในช่วงปี 1942 เมื่อญี่ปุ่นสามารถยึดครองอำนาจเหนือดินแดนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ อัมบนและดินแดน ‘อินโดนีเซียตะวันออก’ (Eastern Indonesia) ก็ถูกแยกออกจากเกาะหลักอื่นๆ ทางฝั่งตะวันตกในทางเศรษฐกิจและการบริหารรัฐกิจ ญี่ปุ่นแยกการปกครองและบริหารชวา สุมาตรา และอินโดนีเซียตะวันออกในฐานะที่เป็นหน่วยการปกครองในตัวของมันเอง[xv]

นโยบายต่อต้านตะวันตกและเชิดชูความเป็นเอเชียของญี่ปุ่นนั้นก็นำไปสู่การห้ามใช้ภาษาดัตช์และสนับสนุนให้ใช้ภาษาอินโดนีเซีย (ซึ่งพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโดยขบวนการชาตินิยมและปัญญาชนโดยอาศัยรูปแบบหนึ่งของภาษามลายูจากสุมาตราเป็นตัวแบบ) เป็นภาษาทางการ ในบริบทดังกล่าว สมาคมชาวอัมบนซึ่งอิงอยู่กับความเป็นอินโดนีเซียจึงมีบทบาทด้านการปกครองขึ้นมา ขณะที่ชุมชนชาวอัมบนคริสเตียนกลายเป็นกลุ่มคนที่ชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยไว้วางใจนัก และในทางกลับกัน ชาวอัมบนมุสลิมได้รับความไว้วางใจมากกว่าและเริ่มได้รับอภิสิทธิ์ทางสังคมต่างๆ มากขึ้น[xvi]

หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามและขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียประกาศเอกราชเป็นสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1945 ความเปราะบางและความขัดแย้งระหว่างชาวอัมบนคริสเตียนและขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียก็ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อชาวดัตช์พยายามกลับเข้ามาปกครองชวาอีกครั้งหนึ่งในช่วงปี 1947–1949 แต่ก็ทำได้เพียงในนามเท่านั้น ต่างไปจากแถบอัมบนและอินโดนีเซียตะวันออกที่ดัตช์กลับมาปกครองโดยตรงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 1946 สถานการณ์ที่แตกต่างกันระหว่างชวาและอัมบนจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของชาวอัมบน[xvii]

สำหรับ ฮูเบอร์ตุส ฟาน มุก (H. J. van Mook) ผู้ว่าการหมู่เกาะอินดีสตะวันออกของเนเธอร์แลนด์และผู้นำในการรื้อฟื้นอำนาจการปกครองของชาวดัตช์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาพบว่าวิธีคิดชาตินิยมอินโดนีเซียลงหลักปักฐานอย่างเข้มแข็งในชวาและสุมาตราไปเรียบร้อยแล้ว และอำนาจการปกครองของดัตช์ก็อ่อนแอเกินกว่าจะทัดเทียมกันได้ ต่างไปจากสถานะของดัตช์ในแถบกลุ่มเกาะอินโดนีเซียตะวันออกที่พอจะมีอยู่มากกว่า กระนั้น เขาก็แปลกใจมากเมื่อในเวลาต่อมาพบว่า แม้กระทั่งในหมู่ผู้นำบางส่วนจากอินโดนีเซียตะวันออกก็ยังมีความต้องการที่จะรวมอยู่ในประเทศเอกราชใหม่ แม้จะมีความต้องการโน้มเอียงไปที่การเป็นสหพันธรัฐก็ตาม (federal state)[xviii]

การเจรจากันนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1946 เรื่อยไปจนถึงมีนาคม 1947 นำไปสู่ข้อสรุประหว่างชาวดัตช์กับกลุ่มผู้นำสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าจะนำไปสู่การก่อตั้งสหพันธรัฐในนาม ‘สหรัฐอินโดนีเซีย’ (United States of Indonesia) ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เจ้าอาณานิคมดัตช์ก็เชื่อว่าทุกฝ่ายจะสามารถเจรจากันต่อไป ภายใต้การให้ดัตช์ครองอำนาจอธิปไตยเป็นการชั่วคราวระหว่างการดำเนินการเจรจา (interim sovereignty) จนนำไปสู่กระบวนการกำหนดการปกครองตนเอง (self-determination) ได้ในท้ายที่สุด[xix]

ภายใต้นโยบายของฟาน มุก ที่ผลักดันการเกิดขึ้นของสหพันธรัฐ คลับคล้ายว่าในช่วงระหว่างปี 1947-1948 จะเกิดฉันทามติทางการเมืองในอัมบน คือมีความตกลงที่จะก่อตั้งรัฐอินโดนีเซียตะวันออก (State of East Indonesia; Negara Indonesia Timor: NIT) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยที่ ‘โมลุกกะใต้’ จะเป็นภูมิภาคหรือเขตการปกครองระดับย่อยลงมา (daerah) ภายใต้รัฐอินโดนีเซียตะวันออกนั้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาระลอกนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซียไม่ยินยอมที่จะให้อำนาจชั่วคราวแก่ฝ่ายดัตช์ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ก็มุ่งจะลดทอนและขจัดอิทธิพลของฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กระทั่งนำไปสู่การที่พวกดัตช์ใช้กองกำลังทหารกดปราบและจับกุมคุมขังผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐ[xx]

แรงกดดันจากนานาชาติ อันนำโดยสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการต่อต้านจากภายใน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐอินโดนีเซียตะวันออก ล้วนเป็นเงื่อนไขในการเจรจาหยุดยิงและผลักให้เนเธอร์แลนด์ต้องกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งหนึ่ง การเจรจาที่เนเธอร์แลนด์เริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 1949 ประกอบด้วยฝ่ายเนเธอร์แลนด์ ฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รวมถึงตัวแทนของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในกลุ่มเกาะอินโดนีเซียที่ไม่ได้อยู่ในสาธารณรัฐ ผลของการเจรจาต่อรองอันสลับซับซ้อนนำไปสู่การก่อตั้งหน่วยทางการเมืองใหม่ที่เรียกว่า ‘สาธารณรัฐแห่งสหรัฐอินโดนีเซีย’ (Republic of the United States of Indonesia: RUSI หรือ Republik Indonesia Serikat: RIS) ขึ้นในเดือนธันวาคม 1949[xxi]

ดูเผินๆ แล้วรัฐใหม่นี้น่าจะเป็นผลผลิตของข้อเสนอว่าด้วยสหพันธรัฐที่เนเธอร์แลนด์ผลักดันมาตั้งแต่ปี 1946 อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว สาธารณรัฐแห่งสหรัฐอินโดนีเซียเป็นเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ก่อนที่ข้อตกลงเรื่องโครงสร้างทางการเมืองจะเป็นรูปเป็นร่าง กล่าวคือกลายมาเป็นสหพันธรัฐโดยปราศจากระบบบริหารแบบสหพันธ์ ไม่มีกองกำลังทหารของสหพันธ์ และไม่มีกลไกการร่างรัฐธรรมนูญแบบสหพันธ์ดังที่ตกลงกันไว้ก่อน การณ์กลับกลายเป็นว่า รัฐเล็กรัฐน้อยที่ไม่มีกองกำลังของตนเอง ทั้งยังไร้ซึ่งการคุ้มครองโดยพวกดัตช์ จึงค่อยๆ ถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในโครงสร้างแบบรัฐเดี่ยวแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย[xxii] สถานะของสหพันธรัฐสิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคม 1950 เมื่อสาธารณรัฐอินโดนีเซียเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐเดี่ยวในที่สุด

อันที่จริง ตั้งแต่ต้นปี 1950 รัฐเล็กรัฐน้อยต่างๆ ก็เริ่มเห็นแล้วว่าสาธารณรัฐอินโดนีเซียพยายามจะล้มเลิกข้อตกลงและโครงสร้างแบบสหพันธรัฐ ภายใต้บรรยากาศทางสังคมการเมืองดังกล่าว กระแสแบ่งแยกดินแดนที่ตั้งเค้ามาเนิ่นนานแล้วก็ปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 1950 เมื่อกลุ่มขบวนการที่นำโดยชาวอัมบนในนาม ‘สาธารณรัฐโมลุกกะใต้’ หรือ ‘สาธารณรัฐมาลูกูใต้’ (Republic of South Moluccas หรือ Republik Maluku Selatan: RMS) อ่านแถลงการณ์อิสรภาพ อันวางความชอบธรรมอยู่บนเหตุผลสามประการด้วยกัน

ประการแรกคือการเกิดขึ้นของเขตปกครองโมลุกกะใต้ในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐอินโดนีเซียตะวันออกนั้นเป็นสถานะเฉพาะกาลภายใต้เงื่อนไขเฉพาะเท่านั้น ประการที่สอง สาธารณรัฐอินโดนีเซียละเมิดข้อตกลงที่ให้ไว้ และประการสุดท้าย เมื่อข้อตกลงถูกละเมิด สถานะของรัฐอินโดนีเซียตะวันออกก็สิ้นสุดลงไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น เขตปกครองย่อยโมลุกกะใต้จึงมีสิทธิล้มเลิกความสัมพันธ์อื่นๆ ภายใต้โครงสร้างและข้อตกลงข้างต้น และสามารถแยกตัวเองออกจากสหพันธรัฐที่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอยู่จริงได้โดยตัวของตัวเอง[xxiii]

การประกาศเอกราชด้วยตนเองของสาธารณรัฐมาลูกูใต้นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ห้าวหาญและท้าทาย โดยเฉพาะการเป็นขบวนการแรกๆ ที่ต่อต้านการเป็นรัฐเดี่ยวของสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นรูปธรรม ว่ากันว่าผู้นำชาวมาลูกูใต้บางส่วนเห็นว่าวิธีการนี้จะกดดันให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียกลับมาเจรจากับฝ่ายตนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังเชื่อว่าจะกระตุ้นให้เนเธอร์แลนด์เข้ามาแทรกแซงได้ แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ฝ่ายดัตช์ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซียบุกปราบปรามด้วยความรุนแรง จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้นเอง สาธารณรัฐอินโดนีเซียก็ยึดครองอัมบนได้ทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายผู้นำขบวนการสาธารณรัฐมาลูกูใต้ที่หนีไปได้นั้นก็ต้องไปเคลื่อนไหวอยู่ที่เกาะเจรัม (Ceram) หรือเซรัม (Seram) เกาะข้างเคียงของอัมบน[xxiv] ที่ซึ่งการสู้รบในเขตป่าเขาตอนในจะดำเนินอย่างต่อเนื่องเกินกว่าหนึ่งทศวรรษไปจนถึงปลายปี 1963 เมื่อกองกำลังอินโดนีเซียปราบปรามและจับกุมแกนนำขบวนการต่อต้านได้ ก่อนที่ในเวลาต่อมากลุ่มผู้นำขบวนการสาธารณรัฐมาลูกูใต้จะอพยพไปยังเนเธอร์แลนด์และตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในปี 1966 หลังจากผู้นำขบวนการอย่างคริส ซูโมกิล (Chris Soumokil) (ซึ่งถูกจับกุมในปี 1963) ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า

จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลพลัดถิ่นสาธารณรัฐมาลูกูใต้ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชต่อไป โดยมีเป้าหมายขั้นต่ำคือการปกครองตนเอง

กรณีการประกาศเอกราชฝ่ายเดียวของขบวนการสาธารณรัฐมาลูกูใต้เป็นตัวอย่างสำคัญหนึ่งในความพยายามตอบคำถามที่ว่า “ชาติคืออะไร?”[xxv] หากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาวอัมบน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับผู้ปกครองดัตช์นั้นแตกต่างในระดับรากฐานไปจากกลุ่มคนอื่นๆ ในอินโดนีเซียแล้ว จะสามารถเรียกว่ามีชะตากรรมทางประวัติศาสตร์ร่วมกันได้หรือไม่ และจะกลายเป็นชาติเดียวกันได้หรือไม่

ในขณะที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวอัมบนจะเสนอว่าพวกเขาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์อย่างไคลฟ์ คริสตี้ เห็นว่า ข้อโต้แย้งดังกล่าวบดบังความสลับซับซ้อนในสังคมอัมบนเอง กล่าวคือ ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสังคมอัมบนนั้นแสดงให้เห็นว่าอัมบนไม่ได้เป็นสังคมเอกภาพ แต่มีความเป็นพหุสังคมที่แบ่งแยกออกจากกันภายใต้ความแตกต่างและความขัดแย้งในหลายลักษณะ สมาชิกในชุมชนมีประสบการณ์และปฏิกิริยาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไปภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ ทั้งภายใต้ความแตกต่างในเชิงศาสนาระหว่างคริสเตียนและมุสลิม ตลอดจนด้วยความแตกต่างระหว่างรุ่นวัยและอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างผู้นำทางการเมืองจารีตกับคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปร่วมหรืออย่างน้อยก็ได้รับอิทธิพลจากขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย[xxvi]

ในแง่การเกิดขึ้นของชาติและอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นอินโดนีเซีย คริสตี้เห็นว่าการยืนกรานอย่างหนักแน่นถึงความเป็นเอกภาพของอินโดนีเซียนั้นแสดงให้เห็นจุดอ่อนของข้อเสนอมากกว่าที่จะเป็นจุดแข็ง เพราะแท้ที่จริงแล้วเอกภาพและอัตลักษณ์แบบอินโดนีเซียไม่ได้เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นในกระบวนการทางประวัติศาสตร์พื้นถิ่นในตัวของตัวเอง แต่เป็นผลจากการผนวกรวมศูนย์อำนาจของจักรวรรดิดัตช์มากกว่า ในแง่นี้ ข้อโต้แย้งของฝ่ายสนับสนุนขบวนการเอกราชอัมบนก็คือว่า สิ่งที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียทำก็เพียงแค่เข้ามาแทนที่เนเธอร์แลนด์ในฐานะเจ้าอาณานิคมใหม่เท่านั้นเอง กล่าวคือ ภายใต้การกล่าวอ้างอิสรภาพและเอกราชในการปกครองตนเองนั้น ถึงที่สุดแล้วกลับเป็นการปฏิเสธสิทธิในการปกครองตนเองของคนกลุ่มน้อยในสังคมที่ตนเองกล่าวยืนยันอิสรภาพและเอกราชนั่นเอง[xxvii]


[i] Eric R. Wolf, Europe and the People Without History (Berkeley: University of California Press, 1982).

[ii] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 108.

[iii] Christie, 109.

[iv] ในกรณีการเข้ามาของชาวโปรตุเกสและชาวดัตช์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรในฐานะที่เป็นความพยายามขยายอิทธิพลทางการค้า ดูประวัติศาสตร์อย่างย่อและข้อถกเถียงเบื้องต้นใน Wolf, Europe and the People Without History, 234–39.

[v] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 109.

[vi] Christie, 109.

[vii] Christie, 109–10.

[viii] Christie, 110–11.

[ix] Christie, 111.

[x] ดูเพิ่มเติม อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ‘หมอนักปฏิวัติผู้ปลุกขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย: โรงเรียนแพทย์พื้นเมืองของเจ้าอาณานิคมดัตช์สอนสิ่งใด?’, The 101 World (blog), 19 July 2021, https://www.the101.world/dr-soetomo-and-stovia/.

[xi] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 111–12.

[xii] Christie, 112–13.

[xiii] Christie, 113.

[xiv] Christie, 113.

[xv] Christie, 113.

[xvi] Christie, 113–14.

[xvii] Christie, 114–15.

[xviii] Christie, 115–16.

[xix] Christie, 116.

[xx] Christie, 116–17.

[xxi] Christie, 117.

[xxii] Christie, 117–18.

[xxiii] Christie, 119, 224.

[xxiv] Christie, 119–20.

[xxv] ดูเพิ่มเติม แอร์เนสต์ เรอนอง, ชาติคืออะไร?, แปลโดย นภ ดารารัตน์ (กรุงเทพฯ: พารากราฟ, 2561).

[xxvi] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 121.

[xxvii] Christie, 121–22.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save