fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (3): ‘ชาติ’ และ ‘ชาตินิยม’ ของชาวกะเหรี่ยงในพม่า

แนวทางหนึ่งในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างผู้คนพื้นถิ่นกลุ่มต่างๆ ก่อนการขยายอำนาจของระบอบอาณานิคม คือการพิจารณาผ่านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันสัมพันธ์กับภูมิประเทศ สำหรับดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนภาคพื้นทวีปอย่างพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม คู่ความสัมพันธ์นี้ได้รับการอธิบายผ่านความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นราบ (lowland) กับคนบนพื้นที่สูง (highland) ขณะที่ในดินแดนสมุทรรัฐอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และติมอร์ตะวันออก คู่ความสัมพันธ์คล้ายๆ กันนี้ถูกเรียกในอีกลักษณะหนึ่งว่าหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนตามชายฝั่ง (coastal) กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนตอนใน (interior) ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่สูงเช่นเดียวกันกับบนภาคพื้นทวีป[i]

ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับภูมิประเทศและภูมิอากาศจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของความแตกต่างในเชิงนิเวศวิทยา แบบแผนการตั้งถิ่นฐาน วิถีการดำรงชีพ ระบบเครือญาติ โครงสร้างสังคม อำนาจทางการเมือง จำนวนและความหนาแน่นของประชากร ภาษา ประเพณี ความเชื่อและศาสนา ฯลฯ โดยทั่วไป (แต่ไม่เสมอไป) ทั้งบนภาคพื้นทวีป ชายฝั่ง และหมู่เกาะ กลุ่มคนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างปากแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเล มักจะมีสังคมขนาดใหญ่กว่าและมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองสูงกว่าผู้คนกลุ่มเล็กกว่าอันกระจัดกระจายในดินแดนตอนในหรือพื้นที่สูง[ii]

บางครั้งคู่ความสัมพันธ์ทำนองนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รัฐ’ หรือ ‘อาณาจักร’ ที่ตั้งอยู่บนพื้นราบหรือที่ลุ่ม กับ ‘ชนเผ่า’ ต่างๆ (tribes) บนพื้นที่สูง[iii] คู่ความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมและมักจะปรากฏในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งนั้นแสดงออกผ่านภาษาในการเรียกขานระหว่างกัน ในหลายกรณีพบว่า ผู้คนกลุ่มใหญ่บนพื้นราบมักจะมีคำเรียกกลุ่มชนเผ่าบนพื้นที่สูงหรือดินแดนตอนในด้วยคำเรียกที่มีนัยในเชิงลบ เช่น มองว่าเป็น ‘คนป่า’ ‘คนเถื่อน’ ‘คนล้าหลัง’ ฯลฯ ทั้งในทางประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสังคมร่วมสมัย

ท่ามกลาง ‘ชนเผ่า’ กลุ่มต่างๆ บนพื้นที่สูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป กลุ่มคนที่เรียกรวมว่า ‘ชาวกะเหรี่ยง’ (Karen) เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีชาติของตนเองเป็นทางการ กล่าวในเชิงปริมาณได้ว่า ชาวกะเหรี่ยงจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยกลุ่มใหญ่ที่สุดในพม่า และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูงกลุ่มใหญ่ที่สุดในไทย นัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ กองกำลังเพื่อแบ่งแยกดินแดนของชาวกะเหรี่ยงออกจากพม่ายังคงเคลื่อนไหวอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้[iv]

กระนั้นก็ตาม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวกะเหรี่ยงไม่ได้ก่อตัวขึ้นภายใต้ความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับรัฐบาลกลางของพม่าในตัวเองแต่เพียงเท่านั้น ทว่าผลสืบเนื่องจากการเผชิญหน้าในสถานการณ์อาณานิคมกับผู้ปกครองอาณานิคมอย่างอังกฤษส่งผลต่อการเกิดขึ้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวกะเหรี่ยงจากพม่าอย่างมีนัยสำคัญด้วย

กล่าวในอีกทางหนึ่ง การก่อตัวขึ้นของอุดมการณ์แบบชาตินิยมกะเหรี่ยง และในทำนองเดียวกัน การก่อตัวของอุดมการณ์ชาตินิยมพม่า ต่างก็เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองเชิงชาติพันธุ์ภายใต้สถานการณ์อาณานิคม เรื่อยมาจนถึงช่วงเวลาปลดปล่อยจากอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาก่อนและหลังพม่าได้รับเอกราชในปี 1948

คำว่า ‘กะเหรี่ยง’ เป็นคำเรียกกลุ่มคนหลายกลุ่มที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมบางประการร่วมกัน ใช้ภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ในกลุ่มภาษาทิเบต-พม่า โดยที่แต่ละกลุ่มไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกันและไม่ได้มีวัฒนธรรมร่วมกันเสียทีเดียว ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มย่อยที่รู้จักกันในนามชาวปกาเกอะญอหรือสะกอ, โผล่วหรือโปว์, บะเวหรือคะยา, และปะโอหรือตองสู่ กลุ่มคนเหล่านี้มีถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะดินแดนของประเทศไทยและพม่าในปัจจุบัน โดยกระจายตัวอยู่ตามแนวพรมแดนไทย-พม่า ตั้งแต่รัฐฉาน ลุ่มน้ำอิรวดีและสาละวิน มาจนถึงตะนาวศรี กลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ร่วมพื้นที่กับคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในดินแดนแถบนั้น โดยเฉพาะชาวพม่าและชาวมอญ แต่ไม่ได้ผสมกลมกลืนกันนัก[v]

ในหนังสือ A Modern History of Southeast Asia: decolonization, nationalism and separatism นักประวัติศาสตร์ ไคลฟ์ คริสตี้ (Clive Christie) เสนอว่า ก่อนสมัยอาณานิคม ไม่เคยมีองค์กรทางการเมืองอันสลับซับซ้อนหรือที่เป็นเอกภาพของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน และไม่เคยมีความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยรัฐหรือชาติของชาวกะเหรี่ยงมาก่อนเช่นกัน ทว่า เป็นเพราะการรุกรานและแสวงหาประโยชน์ของสหราชอาณาจักรบริเตนในภูมิภาคแถบนี้ต่างหากที่นำไปสู่การนิยามอัตลักษณ์กะเหรี่ยงและทำให้อัตลักษณ์และอุดมการณ์ชาตินิยมกะเหรี่ยงก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขของความสัมพันธ์อันเป็นปรปักษ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ครองอำนาจอย่างชาวพม่า[vi]

ในการขยายอำนาจเข้ามายังพม่า ชาวบริเตนก็ฉวยใช้ประโยชน์จากความเป็นปรปักษ์ระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับพม่า โดยเฉพาะด้วยเหตุผลเชิงภูมิศาสตร์ของถิ่นอาศัย ในแง่หนึ่ง การผูกมิตรกับชาวกะเหรี่ยงจนเป็นมิตรสหายร่วมรบช่วยให้อังกฤษสามารถขยายอำนาจยึดครองพม่า นับตั้งแต่แถบตะนาวศรีจนไปถึงทางตอนเหนือได้ โดยผ่านสงครามใหญ่ๆ 3 ครั้ง กล่าวคือ ในช่วงปี 1824-1826 ปี 1852 และปี 1885 กระทั่งผนวกดินแดนของพม่าทั้งหมดให้เป็นส่วนหนึ่งของบริติชอินเดีย (British India) ได้สำเร็จ[vii]

เมื่อพม่ากลายไปเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย อังกฤษแบ่งการปกครองพม่าออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือพื้นที่ที่เรียกว่า ‘พม่าแท้’ (Proper Burma) เป็นส่วนที่อังกฤษปกครองโดยตรง กับส่วนที่เรียกว่า ‘พื้นที่ภูเขา’ (Hill Areas) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ‘พื้นที่ชายแดน’ (Frontier Areas) เป็นส่วนที่อังกฤษปกครองทางอ้อม หมายถึง ให้ชนชั้นปกครองเดิมปกครองดินแดนต่างๆ ต่อไปภายใต้คำแนะของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น รัฐฉาน, คะฉิ่น, คะเรนนี, เทือกเขาชิน, เทือกเขานากา และกะเหรี่ยงในบริเวณแม่น้ำสาละวิน นโยบายการปกครองดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘นโยบายแบ่งแยกและปกครอง’ (divide and rule) ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างความร้าวฉานระหว่างชาวพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน ในอีกแง่หนึ่ง ด้วยเหตุที่ผู้ปกครองอาณานิคมไม่สนับสนุนให้มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์ ผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้คนกลุ่มต่างๆ จึงสร้างสำนึกตลอดจนระยะห่างทางชาติพันธุ์ระหว่างกันอย่างเข้มแข็งด้วย[viii]

ในกรณีชาวกะเหรี่ยง คริสตี้สรุปว่า ด้วยสำนึกเชิงผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างกัน ชาวกะเหรี่ยงก็รู้สึกปลอดภัยภายใต้การครองอำนาจของอังกฤษเหนือพม่า และจึงกลายเป็นอีกกรณีคลาสสิกหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงภักดี (loyalist) ต่อผู้ปกครองอาณานิคม[ix] อย่างไรก็ดี แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับผู้ปกครองอาณานิคมบริติชก็ไม่ได้เป็นความภักดีแบบทื่อๆ ซื่อๆ แต่ยังมีความสลับซับซ้อนและหลากหลายในตัวเอง ไม่เพียงเฉพาะความแตกต่างและกระจัดกระจายของกลุ่มคนต่างๆ ที่เรียกรวมว่ากะเหรี่ยงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่ในสังคมกะเหรี่ยงเองก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย กล่าวคือมีทั้งชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจและทั้งที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจอย่างชนชั้นนำกะเหรี่ยงที่เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นสูงแบบตะวันตก รวมถึงการที่ชาวกะเหรี่ยงได้รับสิทธิในการมีสัดส่วนพิเศษในการเข้ารับราชการในกองกำลังทหารและตำรวจ เป็นต้น[x]

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางการเมืองเชิงชาติพันธุ์ การแผ่ขยายตัวของกิจการมิชชันนารีอเมริกันในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็ส่งผลต่อการก่อตัวของอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงด้วย คริสตี้เห็นว่า วิธีคิดเรื่อง ‘ผู้มาโปรด’ (messianic) ซึ่งมีอยู่แล้วในกรอบคิดเชิงจารีตของชาวกะเหรี่ยงเป็นไปได้มากที่จะมีส่วนให้ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมาก ‘รับ’ คริสต์ศาสนา อันจะนำไปสู่การขยายตัวของระบบโรงเรียนและการเข้าถึงระบบการศึกษา นอกจากนี้ ความต้องการที่จะแปลพระคัมภีร์ไบเบิลมาเป็นภาษาท้องถิ่นก็มีส่วนในการปรับแปลงและทำให้ภาษาเขียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นรูปธรรมขึ้นถึง 2 สำเนียงถิ่นด้วยกัน เหล่านี้ล้วนแต่ถูกอธิบายในฐานะที่สร้าง ‘ความก้าวหน้า’ ให้กับสังคมกะเหรี่ยง และมีส่วนในการก่อตัวและธำรงอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง[xi]

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองอันเข้มข้นขึ้นไม่เพียงแต่เอื้อให้อุดมการณ์ชาตินิยมกะเหรี่ยงก่อตัวขึ้นมาในหมู่ชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชาวพม่าเอง และผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างชาวไทใหญ่ด้วย อาจกล่าวได้ว่า การตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผู้คนพื้นถิ่นทั้งจากทรัพยากรและระบบภาษีส่งผลให้เกิดกระแสการเรียกร้องแผ่นดินของตนเองกลับคืนเติบโตขึ้นพร้อมกับอุดมการณ์เชิงชาตินิยมในระดับมวลชน[xii] ในทางกลับกัน ผู้ปกครองอาณานิคมบริติชก็แสดงให้เห็นความพยายามว่าจะเปิดโอกาสให้พม่าปกครองตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริง จนกระทั่งก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พม่าก็มีการปกครองโดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มาจากผู้คนในพม่าเองแล้ว แม้ว่าอำนาจสูงสุดในเชิงนิติบัญญัติจะยังอยู่ในมือของผู้ปกครองบริติชก็ตาม[xiii] กล่าวได้ว่า ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองดังกล่าว ชนชั้นนำกะเหรี่ยงเริ่มรู้สึกถึง ‘วิกฤตอัตลักษณ์’ ในฐานะผู้ภักดีต่อผู้ปกครองอาณานิคมบริติช[xiv]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นบุกยึดครองพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยต่างๆ ล้วนแต่ร่วมกับอังกฤษรบกับกองกำลังญี่ปุ่น คริสตี้เห็นว่า ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวพม่าและชาวกะเหรี่ยงจะถ่างกว้างขึ้น ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยกลุ่มอื่นๆ ต่างก็แน่นแฟ้นขึ้น ดังปรากฏว่า ชาวนากา ชาวชิน ชาวคะฉิ่น และชาวอาระกันมุสลิม ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการสู้รบตามแนวพรมแดนอินเดีย-พม่าทั้งสิ้น[xv]

เมื่อสงครามสิ้นสุดลงและพม่ากลับสู่การปกครองของชาวบริติชอีกครั้ง ชาวกะเหรี่ยงซึ่งช่วยเหลืออังกฤษในการรบกับญี่ปุ่นอย่างแข็งขันในระหว่างสงคราม ก็ชวนให้ชาวกะเหรี่ยงคาดหวังว่าจะได้รับการตอบแทนความภักดี ถึงกระนั้นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ง่ายนัก อันที่จริง เมื่อพิจารณาตามความเห็นของข้าหลวงใหญ่อย่าง เรจินัลด์ ดอร์แมน-สมิธ (Reginald Dorman-Smith) ซึ่งเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1943 แล้ว เขาเห็นว่า สำหรับรัฐพม่าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยต่างๆ ควรจะมีอิสระในการนับถือศาสนา มีอิสระในการธำรงลักษณะทางวัฒนธรรมประเพณี มีอิสระในการพูดภาษาของตนเอง ตลอดจนมีโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ในทางกลับกัน ผู้คนชาวชาติพันธุ์ส่วนน้อยทั้งหลายก็จะต้องได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการก่อตัวและเติบโตของ ‘ชีวิต’ ของประเทศชาติของตน[xvi]

เรื่อยมาจนถึงการได้รับเอกราชเมื่อเดือนมกราคม 1948 การถกเถียงและเจรจาต่อรองเกี่ยวกับความหมายว่าด้วยชาติและอนาคตของรัฐพม่าหลังอาณานิคมก็เป็นไปอย่างเข้มข้น ชนชั้นนำกะเหรี่ยงคล้ายจะมีฉันทมติว่าชาวกะเหรี่ยงควรจะมีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของกลุ่มตนเอง ตลอดจนควรมีอำนาจตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับรัฐพม่าที่นำโดยกลุ่มชาติพันธุ์พม่าในฐานะที่เป็นรัฐเดี่ยวหรือไม่ นอกจากนี้ หากจะเข้าร่วม ก็จะต้องเข้าร่วมด้วยฐานะที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการปกครองของชาวพม่า[xvii]

ข้อเสนอสำคัญประการหนึ่งของชาวกะเหรี่ยงก็คือ การก่อตั้งรัฐของชาวกะเหรี่ยงอันเป็นเอกภาพ โดยอาจจะมีชื่อว่า ‘คาเรนนีสถาน’ (Karenistan) ข้อเสนอว่าด้วยการก่อตั้งรัฐกะเหรี่ยงครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงหลากหลายกลุ่ม แถบลุ่มน้ำสาละวิน ตะนาวศรี และฝั่งตะวันออกของพะโค นอกจากนั้นแล้ว ในเวลาต่อมายังมีข้อเสนอให้รวมพื้นที่พำนักของชาวกะเหรี่ยงในอาณาบริเวณประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ หน่วยการปกครองใหม่นี้ถูกเสนอให้อยู่ภายใต้การปกครองของบริติช แทนที่จะอยู่ภายใต้พม่า[xviii]

ต่อกรณีนี้ คริสตี้เห็นว่า ระหว่างปี 1945–1948 ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของชาวกะเหรี่ยงนั้นเปลี่ยน ‘ภาษา’ ไปจากกรอบคิดว่าด้วยความ ‘ภักดี’ ไปสู่การยืนยันสิทธิในการ ‘กำหนดตนเอง’ (self-determination)[xix] หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แสดงให้เห็นการหันเหออกจากผู้ปกครองอาณานิคมมากขึ้น ขณะที่สำหรับชาวอังกฤษแล้ว เหตุผลเบื้องหลังในการรื้อถอนภาวะอาณานิคมก็ไม่ได้สนับสนุนการแตกกระจายหน่วยทางการเมืองอย่างพม่าให้เกิดเป็นรัฐย่อยๆ แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ การเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยจึงวางอยู่บนแนวคิดว่าด้วยรัฐพม่าอันเป็นเอกภาพ[xx] ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าโอกาสในการเกิดขึ้นของรัฐ-ชาติของชาวกะเหรี่ยงจึงเลือนรางลงทุกขณะ

อันที่จริง แม้กระทั่งการจะกล่าวถึง ‘ชาวกะเหรี่ยง’ เองก็ไม่สามารถกล่าวอย่างเหมารวมได้เช่นกัน ชุมชนกะเหรี่ยงต่างๆ ก็มีความเห็นและจุดยืนต่างกันไปด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการกระจัดกระจายของถิ่นฐาน โดยเฉพาะภายใต้ความแตกต่างของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันสัมพันธ์กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง ชาวกะเหรี่ยงฝ่ายหนึ่งต้องการต่อรองตำแหน่งแห่งที่ของตนในสังคมพม่า ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมุ่งที่จะขับเคลื่อนไปสู่การแบ่งแยกดินแดนให้เป็นอิสระจากพม่า กระนั้นก็ตาม สิ่งที่พบว่าชาวกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ มีร่วมกันก็คือ การมุ่งปกป้องอัตลักษณ์และยืนยันสิทธิในทางเศรษฐกิจการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง[xxi]

เมื่อประเทศพม่าได้รับอิสรภาพในปี 1948 สังคมพม่าก็คล้ายจะเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองระหว่างผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไปโดยปริยาย นักประวัติศาสตร์การเมืองอย่าง ไคลฟ์ คริสตี้ สรุปว่า การที่อังกฤษ ‘วิ่งหนี’ (scuttle) พม่า ซึ่งต่อเนื่องมาจากการ ‘วิ่งหนี’ อินเดียมาก่อนหน้านั้นแล้ว ได้สร้างหายนะอันยาวนานและซึมลึกให้กับสังคมพม่า สำหรับกรณีชาวกะเหรี่ยง คริสตี้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ชาวกะเหรี่ยงจะภักดีต่อผู้ปกครองอาณานิคมบริติชมากเกินไป ในอีกด้านหนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงก็ไม่ประนีประนอมกับผู้นำพม่าจนเกินไปด้วย การผูกมัดตัวเองอยู่กับนโยบายของเจ้าจักรวรรดิอย่างเข้มข้นจึงทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ดีพอในบริบทของสังคมหลังอาณานิคม ผลที่ตามมาก็คือไม่สามารถเปิดไปสู่ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการต่อต้านการปกครองของชาวพม่าได้[xxii]

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการตีความข้างต้นของคริสตี้หรือไม่ก็ตาม กรณีความสัมพันธ์ระหว่างชาวกะเหรี่ยง ชาวพม่า และชาวบริเตน (และย่อมหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่าด้วยเช่นกัน) อาจช่วยให้เราสรุปได้ว่า การแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองของชาวยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะที่นักวิชาการมักอธิบายสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคจารีตว่าประกอบขึ้นจากคู่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนพื้นราบกับคนบนพื้นที่สูง ไม่เพียงแต่มีตัวละครใหม่เพิ่มเข้ามา แต่ตัวละครใหม่นั้นทำให้ความสัมพันธ์เดิมเปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยอิทธิพลของนโยบายแบ่งแยกและปกครอง ในทางหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถูกขับเน้นให้เข้มข้นและรุนแรงขึ้น พร้อมๆ กับทำให้เห็นด้วยว่า ผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สร้างและธำรงความเข้มแข็งของอัตลักษณ์ โดยเฉพาะสำนึกทางอัตลักษณ์และพรมแดนทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นการเจาะจง คริสตี้กล่าวว่า นับตั้งช่วงเวลาที่ชาวอังกฤษเข้ายึดครองพม่าเรื่อยมาจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชาวกะเหรี่ยงจึงกลายมาเป็น ‘ชาติ’[xxiii] ดังที่ผู้นำขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยงเคยกล่าวไว้ในปี 1947 ในช่วงที่การต่อรองอิสรภาพกำลังเข้มข้นว่า

“ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บนภูเขาหรือที่ราบ ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยงที่นับถือผีและวิญญาณ จะเป็นกะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะมาจากเผ่าไหน จะเป็นสะกอ โปว์ กะเหรี่ยงแดง หรือกะเหรี่ยงดำ ชาวกะเหรี่ยงก็คือชาวกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงเป็นหนึ่งเดียวกันในเชิงภราดรภาพทางสายเลือด เป็นหนึ่งเดียวกันในความรู้สึกนึกคิด เป็นหนึ่งเดียวกันในความทุกข์ยาก เป็นมวลชนหนึ่งเดียวในความเป็นชนชาติกะเหรี่ยง หากสงครามนี้ได้ปลุกเร้าให้อุดมการณ์ชาตินิยมก่อตัวขึ้น มันก็ไม่ได้ปล่อยให้ชาวกะเหรี่ยงหลับใหลอีกต่อไป”[xxiv]


Remark: มีการแก้ไขเนื้อหาในวันที่ 17 มิถุนายน 2566


[i] Robert L. Winzeler, The Peoples of Southeast Asia Today: Ethnography, Ethnology, and Change in a Complex Region (Lanham: AltaMira Press, 2011), 6–9.

[ii] Winzeler, 6–9.

[iii] Winzeler, 9.

[iv] ในบทความนี้ คำว่า ‘พม่า’ (Burma) จะใช้เพื่อหมายถึงหน่วยทางสังคมการเมือง ดินแดน รัฐ หรือประเทศพม่า โดยถือว่าเป็นคำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความนิยมในภาษาไทยตามบริบทร่วมสมัยของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และจงใจไม่ใช้คำว่าเมียนมาเนื่องจากไม่ใช่คำที่สอดคล้องกับบริบท นอกจากนั้น คำว่า ‘ชาวพม่า’ จะใช้ในความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์พม่าหรือเบอร์มัน (Burman) ไม่ได้ใช้ในความหมายว่าด้วยสัญชาติหรือความเป็นพลเมืองพม่า (Burmese)

[v] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 53.

[vi] Christie, 53–54.

[vii] Nicholas Tarling, ‘The Establishment of the Colonial Régimes’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two: The Nineteenth and Twentieth Centuries, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 34–41.

[viii] วันดี สันติวุฒิเมธี, ‘กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่จากชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่’ (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, สาขาวิชามานุษยวิทยา, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545), 17–18.

[ix] Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism, 54.

[x] Christie, 54–55.

[xi] Christie, 55–57.

[xii] วันดี สันติวุฒิเมธี, ‘กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่จากชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่’, 19.

[xiii] Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism, 58–60.

[xiv] Christie, 62.

[xv] Christie, 63–64.

[xvi] Christie, 64–65.

[xvii] Christie, 67.

[xviii] Christie, 68–69.

[xix] Christie, 69.

[xx] Christie, 71–72.

[xxi] Christie, 74.

[xxii] Christie, 79–80.

[xxiii] ในทางตรงกันข้าม บัณฑิต ไกรวิจิตร นักมานุษยวิทยาชาวไทยซึ่งทำวิจัยกับชาวกะเหรี่ยงโผล่วเห็นว่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มี ‘ชาติ’ เป็นของตนเองมาแต่โบราณ ผู้ที่สนใจโปรดดูเปรียบเทียบกับ บัณฑิต ไกรวิจิตร, ‘ชีวิตป่า: การเผชิญกับภาพแทนของกะเหรี่ยงโผล่วในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร’ (ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สหวิทยาการ, วิทยาลัยสหวิทยาการ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), 5, ควรกล่าวด้วยว่า เนื้อหาในส่วนนี้ บัณฑิต อ้างอิงจากงานเขียนของนักมานุษยวิทยาชาวไทยอีกท่านหนึ่งที่ศึกษาและเขียนถึงผู้คนชาวกะเหรี่ยงคือ ขวัญชีวัน บัวแดง (2546) อย่างไรก็ดี ในระหว่างร่างต้นฉบับบทความนี้ ผมไม่สามารถเข้าถึงเอกสารหลายชิ้นได้ จึงไม่สามารถเทียบเคียงและอภิปรายเกินกว่านี้ได้ และขอหมายเหตุไว้ในเบื้องต้นเท่านั้น.

[xxiv] อ้างจาก Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism, 80.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save