fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (2): ความพยายามแบ่งแยกดินแดนปีนังจากมาลายา, 1948-1951

ในปี 2008 เมื่อยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้มะละกาและจอร์จทาวน์เป็นพื้นที่มรดกโลกภายใต้การเสนอร่วมกันโดยรัฐบาลกลางมาเลเซียในฐานะ ‘เมืองประวัติศาสตร์แห่งช่องแคบมะละกา’ (Historic Cities of the Straits of Malacca) เหตุผลสนับสนุนประการสำคัญหนึ่งคือความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (multicultural society) อันเป็นมรดกของประวัติศาสตร์การค้า การบรรจบกันและการดำรงอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมอันแตกต่างและหลากหลาย ดังปรากฏให้เห็นผ่านภูมิทัศน์เมือง สถาปัตยกรรม วิถีชีวิตประจำวัน และเทศกาลเฉลิมฉลองของผู้คนต่างวัฒนธรรม ที่สำคัญ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของทั้งจอร์จทาวน์และมะละกายังปรากฏผ่านการตั้งตระหง่านเรียงรายกันไปของศาสนสถานต่างศาสนาบนถนนสายเดียวกัน ทั้งมัสยิด โบสถ์คริสต์ ศาลเจ้าของชาวจีน วัดและศาสนสถานแบบฮินดูและพุทธเถรวาท เป็นต้น ดังที่เรียกกันว่าทั้งสองเมืองนี้ต่างก็มี ‘ถนนแห่งความกลมกลืน’ (street of harmony) ด้วยกันทั้งคู่[i]

ภาพลักษณ์ของการดำรงอยู่อย่างกลมกลืนของวัฒนธรรมอันหลากหลายในเชิงประวัติศาสตร์ดูจะเป็นภาพลักษณ์และจินตนาการหลักในปัจจุบันของทั้งมะละกาและจอร์จทาวน์ (และอาจกล่าวได้ว่า ในกรณีจอร์จทาวน์ อันเป็นเมืองหลวงของปีนัง ก็มักจะถูกเข้าใจว่าหมายถึงปีนังในภาพรวมด้วย) โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากภาพลักษณ์ที่นำเสนอในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

เมื่อกล่าวถึงกรณีของจอร์จทาวน์เป็นการเฉพาะ นักประวัติศาสตร์ชาวปีนังอย่าง ซัลม่า คู (Khoo Salma Nasution) เห็นว่า แนวเรื่องทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยความกลมกลืนของจอร์จทาวน์นั้นก็ไม่ได้เป็นความเข้าใจหลักมาโดยตลอด คล้ายจะเป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ มากกว่า นั่นคืออย่างเร็วก็อาจนับได้จากการก่อตั้งภาคีอนุรักษ์ปีนัง (Penang Heritage Trust) ในปี 1986 หรืออย่างช้าก็อาจจะหมายถึงช่วงปลายทศวรรษ 1990s ที่เริ่มมีความคิดเรื่องการเสนอพื้นที่มรดกโลก ก่อนที่จะเข้มข้นขึ้นจากฐานะพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโกในเวลาต่อมา[ii]

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ภาพลักษณ์และแนวเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยความกลมกลืนทางวัฒนธรรมในสังคมพหุวัฒนธรรมในกรณีของทั้งมะละกาและจอร์จทาวน์ (หรือปีนัง) นั้นเป็นมรดกของสถานการณ์แบบอาณานิคม[iii]

เช่นนี้แล้ว คำถามต่อมาอาจอยู่ที่ว่า สังคมที่ถูกนิยามว่าเป็นพหุวัฒนธรรมหรือสังคมที่มีลักษณะของความเป็นพหุสังคมเป็นสังคมที่ผู้คนในสังคมอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เช่นนั้นหรือ

ในทางหนึ่ง เจ้าหน้าที่อาณานิคมและนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษอย่าง จอห์น เฟอร์นิวอลล์ (J. S. Furnivall) เสนอว่า ความเป็นพหุสังคม (pluralistic society) นั้นเป็นผลผลิตของการ ‘แบ่งแยกและยึดครอง’ แบบอาณานิคม กล่าวคือ เป็นสังคมแบบที่แบ่งแยกและแบ่งงานกันทำตามเชื้อชาติ (racialised) ผู้คนกลุ่มต่างๆ แยกกันอยู่ตามศาสนา วัฒนธรรม และภาษาของตนเอง ปัจเจกบุคคลมีความสัมพันธ์กันผ่านกลไกตลาดเป็นหลัก หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นพหุสังคมในความหมายที่ผู้คนกลุ่มต่างๆ ‘อยู่ร่วมกันแบบต่างคนต่างอยู่’ (living side by side, but separately)[iv]

แม้ว่าความเห็นของเฟอร์นิวอลล์ อาจฟังดูแน่นิ่ง เหมารวม และอธิบายกลุ่มคนอย่างตัดขาดจากกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าความแตกต่างและขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ จะไม่มีอยู่เลย ดังที่ปรากฏความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเชื้อชาติในมาเลเซียหลังได้รับเอกราชอยู่เรื่อยมา กระทั่งรัฐบาลมาเลเซียในช่วงทศวรรษ 1970s เป็นต้นมาก็พยายามรื้อถอนโครงสร้างการแบ่งแยกและแบ่งงานกันทำตามกรอบคิดเรื่องเชื้อชาติแบบอาณานิคมดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั่งในกลุ่มคน ‘เชื้อชาติ’ เดียวกันแล้ว (หากเราจะทดลองอาศัยกรอบคิดเรื่องการแบ่งคนด้วยกรอบคิดว่าด้วยความเป็นเชื้อชาติแบบอาณานิคมเป็นการอ้างอิง) ก็ใช่ว่าจะไม่มีการแบ่งแยกและไม่มีความขัดแย้ง และในทางกลับกัน ความร่วมมือข้ามกลุ่มเชื้อชาติก็ใช่ว่าจะไม่ปรากฏ ดังที่เนื้อหาในตอนนี้จะกล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวที่นำโดย ‘ชาวจีนช่องแคบ’ (Straits Chinese) ในปีนัง โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเองออกของปีนัง (Penang Secession Movement) ในช่วงปี 1948-1951

ขบวนการแยกตัวของปีนังระลอกดังกล่าวก่อตัวและเคลื่อนไหวอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนความสัมพันธ์และความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์อันเฉพาะเจาะจงเหนือคาบสมุทรมลายู กล่าวคือในระหว่างการก่อตั้งสหภาพมาลายา (Malayan Union, 1946-1948) เรื่อยมาจนถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านกลายเป็นสหพันธรัฐมาลายา (Federation of Malaya, 1948-1963)

ในนัยหนึ่ง แผนการก่อตั้งสหภาพมาลายานับเป็นความพยายามของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการสถาปนารัฐรวมศูนย์อำนาจบนคาบสมุทรมลายูให้กลายเป็นหน่วยการปกครองเดียวกัน จากที่ก่อนหน้านั้นมีระบบบริหาร 3 แบบดำรงอยู่ร่วมกัน อันหมายถึง นิคมช่องแคบ (Straits Settlements) ก่อตั้งในปี 1826 ซึ่งขึ้นตรงกับบริษัทอินเดียตะวันออกและโอนมาขึ้นตรงต่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1867 เป็นต้นมา โดยประกอบด้วย ปีนัง (1786) สิงคโปร์ (1819) และมะละกา (1824); สหพันธรัฐมลายู (Federated Malay States) คือกลุ่มรัฐในอารักขาของรัฐบาลสหราชอาณาจักร (protectorate) ประกอบด้วย สลังงอร์ เประก์ เนอเกอรีเซิมบีลัน และปาฮัง ซึ่งก่อตั้งในปี 1896; และรัฐอื่นๆ นอกสหพันธรัฐมลายู (Unfederated Malay States) อันหมายถึง โจโฮร์ เกดะห์ กลันตัน เปอร์ลิซ และตรังกานู ซึ่งต่างก็สัมพันธ์กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรโดยตรงและต่างก็ค่อนข้างมีอิสระในการปกครองตนเอง

จุดหักเหสำคัญอันนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของขบวนการต่อต้านในมาลายานับได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่การยุบเลิกดินแดนนิคมช่องแคบแล้วผนวกรวมปีนังกับมะละกาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐมาลายาที่ก่อตัวขึ้นใหม่ แต่ไม่ได้ผนวกรวมเอาสิงคโปร์เข้าไปด้วย ด้วยเหตุที่สิงคโปร์มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่จนเกินกว่าจะถูกผนวกเข้าไปอยู่ในสหภาพมาลายา รวมถึงการที่สิงคโปร์มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ตลอดจนการเป็นที่ตั้งของฐานทัพกองกำลังทหารในจักรวรรดิบริติชในดินแดนอาณานิคมเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้สหราชอาณาจักรคงความเป็นเอกเทศให้กับสิงคโปร์ ทว่าดินแดนที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างปีนัง กลับถูกผนวกรวมกับรัฐมลายูบนคาบสมุทร[v]

ในทำนองเดียวกันกับฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ลักษณะที่มีร่วมกันระหว่างปีนังและสิงคโปร์ในศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ก็คือเป็นดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่มากเป็นชาวจีนอพยพภายใต้การบริหารราชการของบริเตน ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเมืองท่าการค้าเสรีและการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานอพยพ ปีนังและสิงคโปร์จึงแตกต่างจากดินแดนบนคาบสมุทรมลายูทั้งในเชิงการบริหารราชการ ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนองค์ประกอบเชิงชาติพันธุ์และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประชากร[vi] การทำความเข้าใจเงื่อนไขการก่อตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปีนังจึงจำเป็นต้องพิจารณาภายใต้ความสัมพันธ์เชิงชาติพันธุ์ในบริบททางประวัติศาสตร์อันเฉพาะเจาะจงนี้

อันที่จริง ประชากรชาวจีนส่วนใหญ่ในดินแดนอาณานิคมช่องแคบก็เป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่ เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมอิงอยู่กับระบบเครือญาติ แซ่ตระกูล และกลุ่มตระกูลภาษาหรือท้องถิ่นเฉพาะ ทั้งยังมีสัมพันธ์ค่อนข้างแนบแน่นกับเครือญาติและท้องถิ่นในจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่กลุ่มคนที่เรียกว่า ‘ชาวจีนช่องแคบ’ ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจชนชั้นนำนั้น นิยามตัวเองและมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป[vii]

คุณลักษณะสำคัญของกลุ่มชาวจีนช่องแคบหรือที่เรียกว่าชาวจีนบาบ๋า (Baba Chinese) คือการเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนิคมช่องแคบแห่งจักรวรรดิบริติชมาแล้วหลายชั่วอายุคน มีการแต่งงานและผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมกับชาวมลายูท้องถิ่น ทั้งภาษาและอาหาร จนเกิดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะที่เรียกว่า ‘บาบ๋า-ญอนญา’ (Baba-Nyonya) ในนัยหนึ่งนั้นจึงหมายถึงคนที่ ‘เกิด’ หรือเป็น ‘ลูกหลาน’ ของดินแดนอาณานิคมช่องแคบดังกล่าว (Peranakan) คนกลุ่มนี้มักมีสถานะเป็นคนในบังคับของสหราชอาณาจักรบริเตน และถึงแม้จะยังคงธำรงเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและกลุ่มตระกูลภาษา แต่ก็ไม่ได้ผูกโยงกับโลกของจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าอ้างอิงตัวเองกับโลกมาลายามากกว่า มักจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร และให้ความสำคัญและภาคภูมิใจกับการส่งลูกหลานเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบอังกฤษและวิถีชีวิตแบบชาวยุโรป ที่สำคัญ ชาวจีนบาบ๋าเหล่านี้มักจะยึดโยงตนเองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองกับฝ่ายผู้ปกครองอาณานิคม กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การก่อตัวของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้เป็นผลผลิตของบริบทอาณานิคมแบบดินแดนนิคมช่องแคบแห่งคาบสมุทรมลายูอย่างเฉพาะเจาะจงเลยทีเดียว[viii] เครือข่ายของคนกลุ่มนี้เองที่จะกลายเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเพื่อแยกปีนังออกจากมาลายาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มชาวจีนช่องแคบเริ่มที่จะสร้างเครือข่ายสมาคมที่มีความเป็นสถาบันมากขึ้น นับแต่การตั้งสมาคมบริติชของชาวจีนช่องแคบ (Straits Chinese British Association) ในสิงคโปร์และมะละกาเมื่อปี 1900 ตามด้วยการก่อตั้งหอการค้าของชาวจีนปีนัง (Penang Chinese Chamber of Commerce) ในปี 1903 โดยที่สมาชิกจำนวนหนึ่งมาจากชาวจีนอพยพใหม่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักด้วย[ix]

นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไคลฟ์ คริสตี้ (Clive Christie) เสนอว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มชาวจีนช่องแคบพยายามสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มตนเอง ทั้งในเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ตลอดจนบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ในสังคมแบบอาณานิคม อัตลักษณ์ของกลุ่มชาวจีนช่องแคบจึงก่อตัวขึ้นภายใต้ความพยายามที่จะหาสมดุลระหว่างรากทางวัฒนธรรมแบบจีนกับความเป็นพลเมืองอันภักดีต่อจักรวรรดิบริติช โดยเฉพาะในความหมายที่เจาะจงว่าหมายถึงนิคมช่องแคบและมาลายา[x]

กลุ่มชาวจีนช่องแคบเริ่มมีบทบาททางการเมืองในปีนังมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1920s เป็นต้นมา ทั้งผ่านเครือข่ายการค้าและธุรกิจ การมีตำแหน่งในสมาคมที่เป็นทางการต่างๆ ทั้งยังสามารถนำเสนอความเห็นผ่านสื่อที่ผลิตขึ้นเองทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร อย่างไรก็ดี ความปั่นป่วนทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ทำให้สถานะของชาวจีนในมาลายาสั่นคลอน ไม่เพียงแต่แรงงานชาวจีนอพยพใหม่ที่ยังสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ ชาวจีนบาบ๋าชนชั้นนำก็เช่นกัน เพราะถึงที่สุดแล้ว อำนาจต่อรองทางการเมืองของกลุ่มชาวจีนช่องแคบย่อมไม่ได้มาจากกลุ่มตนเองที่เป็นชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว หากยังอ้างอิงและสัมพันธ์กับชุมชนชาวจีนในมาลายาทั้งหมดด้วยเช่นกัน[xi]

ระหว่างทศวรรษ 1930s ผู้ปกครองอาณานิคมอังกฤษเริ่มมีแนวคิดว่าด้วยการตั้งรัฐมาลายาในฐานะที่เป็น ‘ดินแดนของชาวมลายู’ (Tanah Melayu) ในทางกลับกัน ชาวบาบ๋าก็เริ่มเห็นการก่อตัวขึ้นของสำนึกทางการเมืองที่ขยายตัวจากนิคมช่องแคบไปสู่มาลายาในภาพรวม โดยเฉพาะมาลายาในฐานะจักรวรรดิที่คนทุกเชื้อชาติมีความเท่าเทียมกัน (multi-racial equality)[xii]

ทว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองมาลายาก็ส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มชาวจีนช่องแคบอย่างมหาศาล กล่าวคือยิ่งปรับตัวภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นได้ดีเท่าไร ก็ยิ่งกลายเป็นผลเชิงลบในระยะยาวโดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองอาณานิคมอย่างอังกฤษ ซึ่งเรียกว่าพึ่งพิงความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในการต่อสู้ไปจนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ถึงกระนั้น ความเคลื่อนไหวที่นำโดยชาวจีนช่องแคบมะละกาซึ่งอพยพไปอยู่ในอินเดียใต้ในช่วงสงครามอย่างตันเช็งลก (Tan Cheng Lock) ก็ผลักดันให้แผนการก่อตั้งรัฐมาลายาเพื่อคนทุกเชื้อชาติดูมีความเป็นไปได้ขึ้นมาบ้าง[xiii]

และแล้ว แผนการก่อตั้งสหภาพมาลายาในฐานะที่เป็นรัฐสำหรับคนทุกเชื้อชาติที่ถือว่าดินแดนมาลายาเป็นแผ่นดินแม่ก็เกิดขึ้นเป็นจริงในปี 1946 การผนวกรวมปีนังและมะละกาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมาลายา แต่ไม่รวมสิงคโปร์เข้าไปด้วยนั้น เปรียบได้กับการทำให้สายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของนิคมช่องแคบทั้งสามขาดสะบั้นลง ทั้งยังสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงให้กับชาวจีนช่องแคบในมะละกาและปีนังด้วย[xiv]

อันที่จริง ความพยายามในการยุบเลิกอาณานิคมช่องแคบในอันจะสร้างรัฐมาลายาใหม่นั้นก็ได้รับการต่อต้านโดยชาวปีนังตั้งแต่ต้น ไม่เพียงแต่หอการค้าจีนปีนังซึ่งเป็นหัวหอก แต่การต่อต้านนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าอินเดียปีนัง (Penang Indian Chamber of Commerce) และหอการค้ามุสลิมปีนัง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียมุสลิม) ด้วย (Penang Muslim Chamber of Commerce) ในนัยหนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวคล้ายจะช่วยสร้างสำนึกเชิงท้องถิ่นนิยม (Penang Patriotism) ในบรรดาเครือข่ายชนชั้นนำปีนังในภาพรวม ซึ่งตัดข้ามความเป็นเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์[xv]

ในอีกด้านหนึ่ง ตัวแบบของสหภาพมาลายาเพื่อคนทุกกลุ่มก็ได้รับการต่อต้านจากชาวมลายูเช่นกัน แต่ด้วยจุดยืนอีกแบบหนึ่ง นั่นคือในฐานะที่สหภาพมาลายาไม่ได้วางอยู่บนกรอบคิดเรื่องดินแดนของชาวมลายูอีกต่อไป แผนการมาลายาสร้างความไม่พึงใจในหมู่ชนชั้นนำมลายูเดิมเพราะเปรียบได้กับการถูกลดอำนาจลง ทั้งนี้การต่อต้านของชาวมลายูนำไปสู่การก่อตั้ง ‘องค์การสหมลายูแห่งชาติ’ หรือ ‘อัมโน’ (United Malays National Organisation – UMNO) ขึ้นในปี 1946 ภายใต้การนำของดาโต๊ะ ออนน์ บิน จาฟาร์ (Dato Onn bin Jaafar) กล่าวได้ว่าผู้ปกครองอาณานิคมบริเตนต้องเผชิญกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูที่ใหญ่โตและเป็นเอกภาพที่สุดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน[xvi]

แม้จะเผชิญกับการต่อต้านทั้งจากชุมชนชาวจีนและชาวมลายู การปรับโครงสร้างและระบบบริหารราชการดูจะเป็นแนวทางที่โน้มเอียงไปให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมลายูมากกว่า การแทนที่รัฐรวมศูนย์ด้วยการเป็นสหพันธรัฐในปี 1948 นอกจากจะเป็นการคืนอำนาจให้กับชนชั้นปกครองมลายู ยังให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่ชาวมลายูโดยอัตโนมัติด้วย ในทางตรงข้าม คนที่ไม่ได้เป็นคนมลายูไม่เพียงไม่ได้สิทธิโดยอัตโนมัติ หากยังมีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่า[xvii]

ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ระหว่างปี 1946 ไปจนถึง 1948 เต็มไปด้วยกระแสการเคลื่อนไหวและเกิดข้อเสนอว่าด้วยจินตนาการของชาติที่แตกต่างกันไป สำหรับตันเช็งลก แกนนำคนสำคัญของชาวจีนบาบ๋าแห่งมะละกานั้น ก็เห็นว่าทิศทางที่ควรจะเป็นก็คือการสถาปนารัฐมาลายาที่เป็นเอกภาพและเป็นประชาธิปไตย โดยให้สิทธิแก่คนทุกกลุ่มเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม และดึงสิงคโปร์เข้ามาร่วมในสหภาพด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับชาวจีนช่องแคบแห่งปีนังในภาพรวมแล้ว การถูกผนวกเข้าสู่สหภาพดูจะสร้างความหวาดหวั่นมากกว่า ด้วยความกลัวว่าเศรษฐกิจอันเติบโตของปีนังจะต้องแบกรับภาระให้กับดินแดนบนคาบสมุทรที่ ‘ล้าหลัง’ กว่า ตลอดจนความหวั่นเกรงว่าชาวจีนจะกลายไปเป็นพลเมืองชั้นสองในดินแดนของชาวมลายู กระทั่งเกิดข้อเสนอที่ว่า ปีนังควรจะแยกตัวออกจากสหภาพมาลายา ตราบเท่าที่จะได้รับสิทธิในความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกับชาวมลายู[xviii]

ช่วงปลายปี 1948 ความคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ หอการค้าปีนังที่นำโดยชาวยุโรปเริ่มสอบถามความเป็นไปได้จากหอการค้าจีนปีนังเรื่องการแยกตัวจากสหพันธรัฐมาลายา โดยข้อเสนอหนึ่งก็คือกลับไปรวมกับสิงคโปร์ในฐานะนิคมช่องแคบอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าในตอนแรกหอการค้าจีนปีนังจะเอนเอียงไปในทางที่ต้องการดึงสิงคโปร์เข้ามาสู่สหพันธรัฐมากกว่า แต่ในเวลาต่อมาไม่นานนัก ด้วยบรรยากาศทางสังคมที่โน้มนำไปสู่การแยกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อเสนอก็เริ่มเปลี่ยนขั้วไป ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าอินเดียและสมาคมชาวยูเรเชียปีนัง จนกระทั่งนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อแยกปีนังออกจากสหพันธรัฐมาลายาภายใต้วิธีการทางรัฐธรรมนูญ (Penang Secession Committee) ในเดือนธันวาคมปี 1948 ซึ่งปรากฏว่าสมาคมธุรกิจและสมาคมเชิงเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์แทบทั้งหมดในปีนังต่างก็สนับสนุนแนวทางนี้ ยกเว้นก็แต่สมาคมของชาวมลายู[xix]

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่คณะกรรมการนี้ประกอบขึ้นจากกลุ่มชนชั้นนำอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะพ่อค้านักธุรกิจ วิธีการดำเนินการจึงเป็นไปในแนวทางการต่อรองกับชนชั้นนำด้วยกัน และดำเนินการตามช่องทางเชิงสถาบัน มากกว่าที่จะไปขยายฐานสนับสนุนจากมวลชน แม้สามารถนำวาระเรื่องการแยกตัวเข้าสู่การพิจารณาในระดับสภาเมืองได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 1949 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปด้วยคะแนนเสียง 15-10 กระนั้น คณะกรรมการนี้ก็พยายามผลักดันวาระนี้ต่อไปโดยการส่งคำร้องไปยังรัฐบาลอังกฤษโดยตรง โดยส่งออกไปยังลอนดอนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 1949 รวมไปถึงการที่หอการค้าจีนปีนังยื่นหนังสือต่อเลขาธิการของรัฐแห่งอาณานิคมของอังกฤษ (Secretary of State for the Colonies) ในเดือนพฤษภาคม 1950 ด้วย[xx]

ความหวาดเกรงของชาวจีนปีนังนั้นวางอยู่บนกรอบคิดเรื่องชาตินิยมที่สัมพันธ์กับนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะความกลัวที่ว่าชาวมลายูจะมีอำนาจครอบงำเหนือระบบการปกครองมาลายาและใช้อำนาจนั้นสร้างผลประโยชน์ให้กับกลุ่มเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ของตนเอง ดังที่ปรากฏมาแล้วผ่านข้อเสนอเรื่องความเป็นพลเมือง ไปจนถึงการคาดการณ์ว่าชาวมลายูจะมีอภิสิทธิ์ในระบบราชการและการได้รับทุนอุดหนุนทางการศึกษามากกว่าชาวจีน เป็นต้น และไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับอภิสิทธิ์นั้น หากยังเชื่อว่าชาวจีนในฐานะที่เป็น ‘คนอื่น’ จากชาวมลายูทั้งในเชิงเชื้อชาติและศาสนาก็จะถูกกีดกันออกหรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม[xxi] ทั้งที่สำหรับชาวจีนช่องแคบหรือชาวบาบ๋าแล้ว ต่างก็เห็นว่ามาลายาเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองทั้งนั้น

คริสตี้เสนอว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแยกปีนังออกจากสหพันธรัฐมาลายานี้เป็นตัวอย่างคลาสสิกของขบวนการแยกดินแดนที่มีข้อเสนอในด้านกลับ เนื่องจากเป็นตัวอย่างของการปฏิเสธการอยู่ในรัฐที่ก่อตัวขึ้นใหม่ โดยต้องการย้อนกลับไปอยู่ภายใต้การเป็นอาณานิคม ถึงแม้จะมีเป้าหมายในบั้นปลายว่าด้วยการค่อยๆ วิวัฒน์ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใต้การกำหนดอนาคตของตัวเองก็ตามที คริสตี้เห็นว่า หลักใหญ่ใจความของการเคลื่อนไหวนี้วางอยู่บนวิธีคิดว่าด้วยการโหยหาภาพสังคมอัน ‘มั่นคง’ และ ‘กลมกลืน’ ภายใต้ความรู้สึกเชิงภักดีต่อระบบอาณานิคมในแบบปีนังก่อนสงคราม ดังความเห็นของข้าหลวงใหญ่ในขณะนั้นอย่างเฮนรี เกอร์นีย์ (Sir Henry Gurney) ที่ว่า “ผู้คนในอาณานิคมแห่งนี้เชื่อว่าการปกครองภายใต้การนำของบริเตนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างแท้จริงที่เชื่อมประสานผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ในดินแดนอาณานิคมนี้”[xxii]

กระนั้นก็ตาม ในกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อการแยกตัวของปีนังก็ไม่ได้มีเป้าหมายหลักที่ตรงกันเสียทีเดียว สำหรับชาวยุโรปนั้นความสำคัญอยู่ที่การธำรงสายสัมพันธ์ระหว่างปีนังกับจักรวรรดิอังกฤษ ในขณะที่ชาวจีนช่องแคบนั้นมีความสนใจหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์กับเครือข่ายชาวจีนในสิงคโปร์มากกว่า และหากเป็นไปได้ก็ต้องการให้สิงคโปร์รวมเข้ามาอยู่ในมาลายา แต่หากทางเลือกที่ว่านี้เป็นไปไม่ได้ การแยกตัวออกเพื่อรื้อฟื้นนิคมช่องแคบจึงเป็นทางเลือกลำดับที่สอง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าผู้ปกครองอาณานิคมแห่งบริเตนจะตระหนักดีถึงความต้องการนี้ในกลุ่มชาวจีนช่องแคบ[xxiii]

กระแสการแยกตัวของปีนัง ประกอบกับการขยายตัวขึ้นของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งนำโดยชาวจีนในมาลายา ทำให้รัฐบาลบริเตนต้องกลับมาทบทวนการสร้างชาติมาลายาใหม่อีกครั้งหนึ่ง (ถึงแม้ว่ากองกำลังคอมมิวนิสต์มาลายาจะไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับชาวจีนช่องแคบในปีนังและมะละกา แต่สำหรับชาวมลายูแล้ว การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในฐานะที่เป็นการเคลื่อนไหวของชาวจีน ก็คล้ายจะเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดวิธีคิดแบบมลายูนิยมที่สุดโต่งมากขึ้นด้วย[xxiv]) ในทางหนึ่งก็ดูเหมือนรัฐบาลบริเตนจะต้องรับฟังและยกให้ผลประโยชน์ของชาวมลายูเป็นที่ตั้ง แต่ในอีกทางหนึ่งก็จำเป็นจะต้องหันเหนโยบายไปในทิศทางที่เอื้อให้กับชาวจีนมากขึ้นด้วย ในนัยหนึ่งก็คือ เปิดข้อเสนอว่าด้วยการทำให้มาลายาเป็นดินแดนของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ ในแง่นี้ เมื่อผู้ปกครองอาณานิคมมีท่าทีเปิดโอกาสให้ชาวจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตัวเองมากเท่าไร ทั้งยังรวมถึงการมีท่าทีแสดงความเป็นไปได้ที่จะดึงสิงคโปร์เข้ามารวมอยู่ในมาลายาในอนาคตด้วย กระแสการแบ่งแยกดินแดนปีนังก็อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ กระทั่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรตอบปฏิเสธอย่างเป็นทางการในปี 1951 การแยกตัวของปีนังก็ไม่ใช่ทางเลือกที่จะต่อรองกันได้อีกต่อไป[xxv]

แน่ล่ะ เราต่างก็รู้ในเวลาต่อมาว่า ความกลัวของชาวจีนช่องแคบกลายมาเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ของสังคมมาเลเซีย ทั้งเรื่องการกีดกันชาวจีนและอภิสิทธิ์ของชาวมลายู ตั้งแต่ก่อนและหลังการกลายเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 1963 จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์อย่างรุนแรง นอกจากนั้น การสิ้นสุดลงของการเป็นเมืองท่าการค้าเสรีในปี 1968 ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจของปีนังหยุดชะงักและถดถอย ผู้คนตกงาน และนำไปสู่ภาวะสมองไหลที่คนอพยพออกไปเป็นจำนวนมาก[xxvi] กระทั่งเรียกได้ว่าปีนังกลายไปเป็น ‘ชายขอบ’ ของโลกมลายูแห่งมาเลเซียในช่วงเวลาหนึ่ง[xxvii] อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการท่องเที่ยวก็สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของปีนังให้เริ่มทะยานกลับขึ้นมาได้บ้าง

ตั้งแต่มะละกาและจอร์จทาวน์ได้รับสถานะพื้นที่มรดกโลกร่วมกันในปี 2008[xxviii] ภาพลักษณ์และจินตนาการของพหุสังคมที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนถูกผลิตและนำเสนอซ้ำอย่างแพร่หลายในฐานะที่เป็นผลผลิตอันงดงามของบริบทอาณานิคม สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์และจินตนาการทำนองนี้คือสิ่งที่กลายเป็นสินค้าสำหรับบริโภคที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้คนในท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และรัฐ แต่เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ก่อสร้างภาพลักษณ์และจินตนาการเหล่านี้แล้ว เราจะเชื่อหรือยอมรับได้แค่ไหนว่าสังคมพหุวัฒนธรรมแบบอาณานิคมเป็นสังคมที่ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนปราศจากความขัดแย้ง และถ้าหากเราสามารถเชื่ออย่างนั้นได้จริงๆ อะไรบ้างเล่าคือเงื่อนไขของความกลมกลืนเหล่านั้น


[i] Khoo Salma Nasution, ‘The “Street of Harmony” in the George Town World Heritage Site’, in From Palermo to Penang: A Journey into Political Anthropology, ed. François Ruegg and Andrea Boscoboinik (Wein and Berlin: LIT Verlag, 2010), 283–95; Khoo Salma Nasution, ‘George Town, Penang: Managing a Multicultural World Heritage Site’, in Catching the Wind: Penang in a Rising Asia, ed. Francis E. Hutchinson and Johan Saravanamuttu (Singapore: ISEAS Publishing and Penang Institute, 2012), 20–41.

[ii] Khoo Salma Nasution, ‘George Town, Penang: Managing a Multicultural World Heritage Site’.

[iii] ณภัค เสรีรักษ์, ‘แนวเรื่องประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์รัฐปีนัง’, ใน พิ(ศ)พิธภัณฑ์ บทความเลือกสรรจากการประชุมวิชาการ, บรรณาธิการโดย อิสระ ชูศรี (กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2559), 209–32.; บทความนี้ในฉบับตีพิมพ์มีการจัดรูปแบบผิดพลาดหลายแห่งด้วยกัน ผู้สนใจสามารถดูเปรียบเทียบกับต้นฉบับบทความได้ที่ https://tinyurl.com/ynfm9uwy.

[iv] Caryn Lim, ‘Locating “Mixed” Identities in a Racialized Society’, in Thinking through Malaysia: Culture and Identity in the 21st Century, ed. Julian Hopkins and Julian C.H. Lee (Petaling Jaya: Strategic Information and Research Development Centre, 2012), 13–14.

[v] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 28–29, 39.

[vi] Christie, 29–30.

[vii] Christie, 30.

[viii] Christie, 30–31; Mohd. Noordin Sopiee, ‘The Penang Secession Movement, 1948–1951’, Journal of Southeast Asian Studies 4, no. 1 (1973): 53, https://doi.org/10.1017/S0022463400016416.

[ix] Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism, 31.

[x] Christie, 31–33.

[xi] Christie, 34–36.

[xii] Christie, 37.

[xiii] Christie, 38–39.

[xiv] Christie, 39.

[xv] Christie, 40.

[xvi] Christie, 40.

[xvii] Christie, 40–41.

[xviii] Christie, 41–42.

[xix] Christie, 44.

[xx] Christie, 45–46.

[xxi] Christie, 46; Sopiee, ‘The Penang Secession Movement, 1948–1951’, 56–57.

[xxii] Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism, 46–47.

[xxiii] Christie, 47–48.

[xxiv] Sopiee, ‘The Penang Secession Movement, 1948–1951’, 57.

[xxv] Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism, 48–50; Sopiee, ‘The Penang Secession Movement, 1948–1951’, 65.

[xxvi] Khoo Salma Nasution, ‘George Town, Penang: Managing a Multicultural World Heritage Site’, 21–22.

[xxvii] Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism, 50–51.

[xxviii] อันที่จริงการเมืองของกระบวนการเสนอขอพื้นที่มรดกโลกก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ทว่าอยู่นอกเหนือวิสัยของบทความนี้ ผู้สนใจกรณีของจอร์จทาวน์ สามารถดูเพิ่มเติมในเบื้องต้นได้ใน Khoo Salma Nasution, ‘George Town, Penang: Managing a Multicultural World Heritage Site’.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save