fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (7): ชาวโรฮิงญา จากชุมชนของคนเคลื่อนย้ายสู่สภาวะไร้รัฐในดินแดนของตนเอง

ทุกวันนี้ คำว่า ‘อาเซียน’ คล้ายจะเป็นคำสามัญที่ถูกใช้โดยแทบไม่ต้องตั้งคำถามอีกต่อไปว่าคืออะไร แต่หากเราจะลองทำความเข้าใจอาเซียนในตัวเองมากขึ้นอีกสักเล็กน้อย คงพบได้ไม่ยากว่าชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของมันคือ ‘สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ (Association of South East Asian Nations: ASEAN) พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เช่นเดียวกับสมาคมประชาชาติอื่นๆ อาเซียนเป็นหน่วยทางการเมืองที่วางอยู่บนสมมติฐานว่าด้วยความเป็นประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือวางอยู่บนความเป็น ‘รัฐ-ชาติ’ (nation-state) สมัยใหม่ รัฐ-ชาติจึงเป็นตัวแทนของผู้คนภายใต้สมาคมเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ‘รัฐ-ชาติ’ นั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่มาตลอดในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ แต่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์เฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นที่ถูกทำให้กลายเป็นดินแดน (territorialisation)

กรอบคิดเรื่อง ‘รัฐ-ชาติ’ วางอยู่บนกรอบคิดสองลักษณะที่สัมพันธ์กัน อันหมายถึงรูปแบบและกลไกการปกครองที่เรียกว่า ‘รัฐ’ (state) ซึ่งปกครองดินแดนและผู้คนที่เรียกรวมๆ ว่า ‘ชาติ’ (nation)

ภายใต้กรอบคิดเรื่องรัฐ-ชาติ ‘รัฐ’ กับ ‘ชาติ’ จึงปนเปราวกับจะเป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนที่มีสำนึกในความเป็น ‘ชาติ’ หรือ ‘ชาติพันธุ์’ ของตนเองแต่ละกลุ่มนั้น ไม่ได้มีรัฐเป็นของตนเองเสมอไป

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว รัฐ-ชาติ จะเป็นตัวแทนของผู้คนในรัฐนั้นได้จริงๆ หรือไม่

ซ้ำร้าย ในกรณี ‘ชาวอาระกันมุสลิม’ หรือ ‘ชาวโรฮิงญา’ ที่จะกล่าวในตอนนี้นั้น ไม่เพียงแต่เป็นผู้คนที่ไม่มีรัฐในความหมายของการปกครองตนเอง แต่จำนวนหนึ่งไม่สามารถมีชีวิตในฐานะพลเมืองของรัฐใดได้เลย อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ในปัจจุบัน

คำว่า ‘โรฮิงญา’ หรือ ‘โรฮีนจา’ (Rohingya) เป็นชื่อที่ผู้คนในกลุ่มใช้เรียกกลุ่มของตนเอง เป็นทั้งชื่อกลุ่มชาติพันธุ์และชื่อภาษา กลุ่มชาวโรฮิงญามีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่กลายมาเป็นพรมแดนระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ บริเวณฝั่งตะวันตกสุดของประเทศพม่าหรือเมียนมาในปัจจุบัน[i]

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงในพม่า ซึ่งมีฐานจากความเกลียดชังเชิงชาติพันธุ์และศาสนา ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องพลัดจากถิ่นฐานและกลายเป็นคนไร้รัฐ ในแง่นี้ การสืบสาวราวเรื่องกลับไปทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในสมัยอาณานิคมอันเป็นช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์จะช่วยให้เข้าใจความขัดแย้งดังกล่าวได้อย่างสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของรัฐยะไข่หรือระไคน์นั้น (Rakhine) เดิมทีรู้จักกันในนามรัฐอาระกัน (Arakan) และหากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก่อนสมัยอาณานิคม ก็คือเป็นที่ตั้งของอาณาจักรอาระกัน อาณาจักรซึ่งเป็นอิสระจากอาณาจักรของชาวพม่า

ในเชิงภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์ ประชากรชาวอาระกันหรือชาวยะไข่ส่วนใหญ่มีลักษณะทางวัฒนธรรมและภาษาที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับชาวพม่า อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าอาณาจักรอาระกันโบราณจะเป็นอาณาจักรพุทธ เช่นเดียวกับอาณาจักรของชาวพม่า ทว่าชุมชนชาวอาระกันโดยรวมดูจะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนชาวพุทธในเบงกอลมากกว่าที่จะใกล้ชิดกับชุมชนชาวพม่า[ii]

ศาสนาอิสลามมาถึงดินแดนตอนเหนือของอาระกันราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยว่ากันว่าเดินทางมากับพวกพ่อค้านักเดินทางชาวมุสลิมผ่านเครือข่ายการค้าชายฝั่งเรื่อยมาจนถึงเบงกอล ถึงแม้ว่าอาณาจักรอาระกันโบราณยังคงนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชุมชนชาวมุสลิมเริ่มก่อตัวขึ้นมาในบริเวณทางตอนเหนือของอาระกัน ชุมชนชาวอาระกันมุสลิมกลุ่มนี้เองที่จะเรียกตัวเองว่า ‘โรฮิงญา’[iii]

ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา คล้ายจะเป็นช่วงเวลาถดถอยของอาณาจักรอาระกัน นอกจากจะต้องเผชิญการคุกคามจากอินเดียทางฝั่งตะวันตก อาระกันยังเผชิญการคุกคามจากพม่าทางฝั่งตะวันออกเรื่อยมาเป็นลำดับ จนถึงราวปี 1785 พม่าก็ยึดครองอาระกันได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การขยายอำนาจออกมาทางฝั่งตะวันตกของชาวพม่านั้นก็ดูจะเร่งเร้าให้ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับพวกบริติช (ซึ่งสามารถยึดครองเบงกอลได้แล้วในเวลานั้น) ดำเนินไปอย่างเข้มข้นขึ้น สงครามครั้งใหญ่ครั้งแรกระหว่างชาวอังกฤษกับชาวพม่ากินเวลาราวสองปี ตั้งแต่ 1824 และสิ้นสุดลงในปี 1826 นำไปสู่การที่พม่ายกดินแดนบางส่วนให้อังกฤษปกครอง อาระกันเป็นหนึ่งในดินแดนแรกๆ ของพม่าที่กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า ‘บริติชอินเดีย’[iv]

เมื่อกลายเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของอังกฤษทั้งคู่ การเดินทางข้ามไปข้ามมาระหว่างผู้คนทางฝั่งเบงกอลและอาระกันก็เป็นไปอย่างปราศจากข้อจำกัดทางการเมืองเรื่องพรมแดน

ในแง่หนึ่ง จึงพบว่า ‘ชาวเบงกาลีมุสลิม’ หรือที่เรียกว่า ‘ชาวจิตตะกอง’ มีการลงหลักปักฐานเป็นชุมชนมากขึ้นเป็นลำดับทั่วทั้งอาระกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งอาระกันตอนเหนือ ชาวเบงกาลีมุสลิมหรือชาวจิตตะกองจำนวนไม่น้อยเข้ามาผสมผสานอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนชาวโรฮิงญา กระทั่งพูดได้ว่าพรมแดนทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวจิตตะกองและชาวโรฮิงญาค่อยๆ เจือจางลงเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา[v]

ในอีกแง่หนึ่ง นอกจากจะนำไปสู่การปะปนทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ระหว่างกลุ่มคน พรมแดนที่เปิดออกยังสร้างสภาวะพหุสังคมหรือพหุวัฒนธรรมในบางระดับขึ้นมาด้วย ดังพบว่าชาวอาระกันพุทธก็เดินทางไปทำงานและลงหลักปักฐานทางฝั่งเบงกอล เรื่อยไปจนถึงการออกไปทำงานเป็นกุ๊กทั่วทั้งบริติชอินเดีย เป็นต้น[vi]

กระนั้นก็ตาม ภายใต้ยุคสมัยของการปกครองของอังกฤษ การเดินทางเข้ามาราวกับจะไม่มีข้อจำกัดของผู้คนจากฝั่งอินเดีย โดยเฉพาะการตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนชาวอินเดียจำนวนมากทั้งในอาระกัน ตะนาวศรี เรื่อยมาจนถึงพม่าตอนล่างแถบลุ่มน้ำอิรวดี ก็สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับชาวพม่ามากขึ้นเป็นลำดับ ความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขบวนการชาตินิยมในช่วงทศวรรษ 1930 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นกระแสการต่อต้านชาวอินเดีย โดยเฉพาะชาวอินเดียมุสลิม ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว ด้วยเหตุที่เป็นคนมุสลิม ชาวอาระกันมุสลิมจึงคล้ายจะตกอยู่ตรงกลางระหว่างกระแสความขัดแย้งที่ว่านี้ไปโดยปริยาย[vii]

ระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการมีที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกสุดของพม่า อาระกันจึงเป็นดินแดนด่านหน้าของสงครามระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่นที่เริ่มตั้งแต่ปี 1942 เรื่อยไปจนถึงเมื่อตอนที่อังกฤษสามารถผลักดันให้ญี่ปุ่นออกจากอาระกันได้ในที่สุดในปี 1945 ระหว่างช่วงเวลาราวสามปีดังกล่าวนั้น สังคมอาระกันจึงเผชิญกับภาวะสงครามอันนำไปสู่ความพังทลายเต็มรูปแบบทั้งในเชิงกายภาพและในทางสังคม จนเรียกได้ว่าทำให้ผู้คนเคยชินกับภาวะไร้ขื่อแป (habits of lawlessness) และทำให้ดินแดนอาระกันคล้ายจะถูกตัดขาดออกจากพม่าและถูกตัดขาดออกจากความสนใจของสังคมโลก[viii]

ผลสืบเนื่องที่สำคัญประการหนึ่งของภาวะสงครามก็คือ การสร้างความสัมพันธ์เชิงภักดีระหว่างชาวอาระกันมุสลิมกับผู้ปกครองอาณานิคมบริติช ในขณะที่ชาวพม่าร่วมมือกับชาวญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านอังกฤษ สถานการณ์ในอาระกันจึงราวกับจะเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ชาวมุสลิมถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ใต้การปกครองของญี่ปุ่นที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษทางตอนเหนือของอาระกันที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม การกวาดล้างเชิงชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ก็เกิดขึ้นกับชาวพุทธเช่นกัน[ix]

ทั้งนี้ กลไกสำคัญหนึ่งของฝั่งอังกฤษคือการก่อตั้งหน่วยรบแบบกองโจรที่เรียกว่า ‘กองกำลังวี’ (‘V’ Force) เพื่อดำเนินงานในแนวหน้าของแนวรบ แทรกซึมเข้าไปยังพื้นที่ฝั่งตรงข้าม ทำงานข่าวกรอง ลอบโจมตี และสืบหาผู้ทรยศไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่น โดยที่ชาวอาระกันมุสลิมหรือชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกเกณฑ์เข้ามาอยู่ในกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่ากองกำลังวีนี้เอง นอกจากนั้น ผู้นำกองกำลังวีชาวอังกฤษก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือหมู่บ้านของชาวอาระกันมุสลิม ทั้งการตั้งโรงเรียน สถานพยาบาลและให้บริการทางสาธารณสุข[x] ในแง่นี้แล้ว กล่าวได้ว่า กองกำลังวีจึงเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมต่อสายสัมพันธ์และความภักดีระหว่างชุมชนชาวอาระกันมุสลิมกับผู้ปกครองบริติช

แม้จะไม่ปรากฏแน่ชัดว่าชาวอังกฤษมีคำมั่นสัญญาอะไรต่อชาวอาระกันมุสลิมบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังวีอย่าง แอนโทนี เออร์วิน (Anthony Irwin) ก็เห็นว่า ด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยต่างๆ ในระหว่างสงคราม พวกเขาเหล่านั้นควรจะได้รับความช่วยเหลือตอบแทนความภักดีอย่างเหมาะสม หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้และถอนกำลังออกไปในปี 1945 อังกฤษแต่งตั้งชาวอาระกันมุสลิมกลับเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองในระดับท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ชุมชนชาวอาระกันมุสลิมที่ต้องพลัดจากถิ่นฐานระหว่างสงครามก็เดินทางกลับมายังถิ่นฐานเดิมของตน กระนั้นก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ชาวจิตตะกองจำนวนไม่น้อยก็อาศัยโอกาสนี้เข้ามาแสวงหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในอาระกันตอนเหนือเช่นเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากของชาวมุสลิมในช่วงเวลาดังกล่าวมีส่วนต่อการขับเน้นแรงตึงเครียดทางศาสนาและชาติพันธุ์ที่มีมาแต่เดิมให้รุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน[xi]

ความขัดแย้งในอาระกันตอนเหนือหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงปรากฏในสองระดับ ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติ กล่าวคือ ในระดับท้องถิ่น ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมอันรุนแรงจนเรียกได้ว่ามีสภาพเป็นสงครามกลางเมืองไม่มีทีท่าจะหยุดลงได้ง่ายๆ ขณะที่ในระดับชาติอันหมายถึงพม่าในภาพรวม ภายใต้บรรยากาศที่อังกฤษกำลังจะถอนตัวออกจากพม่า เอกราชของพม่านั้นดูจะตามมาด้วยการปกครองที่นำโดยชาวพม่าที่เป็นชาวพุทธ แรงกดดันและความคลางแคลงใจจึงเกิดขึ้นในหมู่ชาวอาระกันมุสลิมว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันนั้น ในขณะที่อินเดียก็กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นเอกราช ข้อเสนอว่าด้วยการแยกพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมให้กลายเป็นอีกประเทศหนึ่ง นั่นคือปากีสถาน ก็ดูมีความเป็นไปได้เช่นกัน จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมปี 1946 จึงปรากฏข้อเรียกร้องที่จะให้พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมในอาระกันไปรวมอยู่ในประเทศปากีสถานที่จะเกิดขึ้นใหม่[xii]

หลังจากพม่าเป็นเอกราชเมื่อเดือนมกราคมปี 1948 ความขัดแย้งในอาระกันก็คล้ายจะปรากฏเป็นความรุนแรงที่ชัดแจ้งยิ่งขึ้น ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลางพม่าที่เป็นชาวพุทธ ชาวอาระกันมุสลิมพบว่าตนเองกลายไปเป็นคนชายขอบในดินแดนของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวพุทธถูกแต่งตั้งเป็นข้าราชการท้องถิ่นมากขึ้น ชุมชนชาวพุทธที่เคยอพยพไปในช่วงสงครามก็กลับเข้ามายังถิ่นฐานเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งที่สะสมยาวนานและซึมลึกผลักให้ชาวอาระกันมุสลิมจำนวนหนึ่งต่อต้านด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะการประกาศสงครามในทางศาสนาหรือที่เรียกว่า ‘ญีฮาด’ (jihad) และเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มนักรบหรือ ‘มูจาฮีดีน’ (mujahidin)[xiii]

ในขณะที่การไปรวมกับปากีสถานตะวันออก (ปัจจุบันคือประเทศบังกลาเทศ) เป็นทางเลือกที่ดูจะไม่มีความเป็นไปได้ ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักรบมุสลิมเหล่านี้จึงวางอยู่บนการปกป้องสิทธิในดินแดนและการมีวิถีชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม โดยข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอย่างน้อยที่สุดก็คือการได้รับสิทธิในการปกครองตนเองในฐานะภูมิภาคพิเศษของชาวมุสลิม (special Muslim region) โดยที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องแยกตัวเป็นเอกเทศจากพม่าด้วยซ้ำ แต่ขอเพียงได้มีสิทธิในดินแดนของตนเองที่แยกออกจากพื้นที่ส่วนอื่นของชาวพุทธในอาระกัน[xiv]

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขทางภูมิประเทศที่ทำให้อาระกันเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างตัดขาดจากส่วนอื่นของพม่า ประกอบกับความพังทลายจากที่ต้องเผชิญกับภาวะสงครามตลอดสามปี ทำให้สังคมอาระกันฟื้นตัวได้ลำบาก ความรู้สึกถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลกลางทำให้ความต้องการแบ่งแยกดินแดนก่อตัวขึ้นด้วยในหมู่ชาวอาระกันพุทธด้วยเช่นกัน โดยข้อเรียกร้องอย่างต่ำก็คือการตั้งเขตปกครองตนเอง (separate autonomous unit) ซึ่งยังอยู่ภายใต้สหภาพพม่าดังเดิม[xv]

ที่สำคัญ นอกจากขบวนการเหล่านี้แล้ว พื้นที่อาระกันยังเป็นฐานที่มั่นสำคัญของขบวนการคอมมิวนิสต์อีกด้วย สำหรับรัฐกลางพม่าแล้ว อาระกันจึงเป็นพื้นที่ที่ดูจะเป็นภัยคุกคามมากที่สุดแห่งหนึ่ง กระนั้นก็ตาม ภายใต้ภาวะที่คล้ายจะเข้าสู่ความเป็นอนาธิปไตย (anarchy) สังคมอาระกันจึงแตกเป็นส่วนๆ โดยที่ส่วนย่อยๆ นั้นขึ้นกับอิทธิพลของผู้นำกองกำลังกลุ่มต่างๆ (warlords) ซึ่งมีความสัมพันธ์กันแบบพึ่งพิงกันในบางระดับแต่ก็ไม่ไว้วางใจต่อกัน[xvi] ภาพปรากฏของขบวนการเรียกร้องอิสรภาพอันแตกกระจายเหล่านี้จึงทั้งแสดงให้เห็นความขัดแย้งภายในสังคมอาระกันเอง พร้อมๆ กับแสดงให้เห็นความขัดแย้งในระดับชาติของพม่า ระหว่างรัฐบาลกลางชาตินิยมกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยต่างๆ

สำหรับชาวอาระกันมุสลิมแล้ว ความต้องการปกครองตนเองของชาวอาระกันพุทธก็ดูจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีของกลุ่มตน เพราะจะทำให้กลุ่มตัวเองยังคงมีสถานะเป็นชายขอบอยู่ดังเดิม ในแง่นี้ นักประวัติศาสตร์อย่าง ไคลฟ์ คริสตี้ เห็นว่า ขบวนการนักรบมูจาฮีดีนอาระกันมุสลิมจึงเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ภายใต้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีกทีหนึ่ง สถานการณ์ในอาระกันจึงเป็นตัวอย่างสำคัญของการอยู่ในภาวะ ‘ดุลยภาพของความไม่มั่นคง’ (equilibrium of instability) ซึ่งกล่าวได้ว่า แทบจะเกิดขึ้นในทุกๆ พื้นที่ชายขอบ (peripheral) ของพม่าหลังได้รับเอกราช [xvii] เพราะรัฐบาลกลางชาตินิยมก็ไม่สามารถต่อรองกับกลุ่มใดได้เลย ภายใต้บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจต่อกัน การเจรจากับกลุ่มใดหนึ่งกลุ่มจึงสามารถเป็นตัวเร่งให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ปะทุและทวีความรุนแรงขึ้นได้

ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 กองกำลังทหารพม่ามีปฏิบัติการทางการทหารบุกโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนอาระกันหลายครั้งจนกระทั่งความเคลื่อนไหวต่างๆ เริ่มอ่อนกำลังลงโดยลำดับ อย่างไรก็ดี ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเงื่อนไขทางภูมิประเทศ พื้นที่พรมแดนระหว่างอาระกันและปากีสถานตะวันออก (บังกลาเทศ) จึงเป็นพื้นที่ที่ยากจะควบคุมและจึงมีฐานะเป็นพื้นที่ของการลักลอบข้ามแดนและการค้าสิ่งของนอกกฎหมายอย่างอาวุธสงคราม เป็นต้น[xviii]

ภายใต้ดุลยภาพอันปราศจากความมั่นคงและเงื่อนไขของการมีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนเดินทางข้ามไปข้ามมา ชาวอาระกันมุสลิมจึงถูกทำให้อยู่ในภาวะชายขอบซ้ำซ้อน ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ในขณะที่รัฐบาลพม่ามองว่าความขัดแย้งและความรุนแรงในอาระกันมาจาก ‘คนอื่น’ ที่เป็น ‘คนนอก’ โดยเฉพาะชาวจิตตะกองหรือชาวเบงกาลี วิธีคิดทำนองนี้จึงทำให้ชาวโรฮิงญาหรือชาวอาระกันมุสลิมซึ่งเป็นคนในพื้นที่ถูกนับเป็นชาวจิตตะกองหรือเบงกาลี

การกวาดล้างด้วยความรุนแรงและการผลักดันผู้คนให้ข้ามพรมแดนกลับไปยังฝั่งบังกลาเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเหมารวม นับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน จุดเปลี่ยนสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การไม่นับว่าชาวโรฮิงญาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ 135 กลุ่มในพม่าตามกฎหมายสัญชาติที่ประกาศเมื่อปี 1982 กล่าวคือ ในทางกฎหมาย ชาวโรฮิงญาจึงถูกถอดถอนสถานะความเป็นพลเมืองของพม่า โดยฝ่ายพม่าอ้างว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นพลเมืองของบังกลาเทศ ชาวโรฮิงญาจึงกลายเป็นคนอื่นและคนนอกของอาระกันและของพม่าไปในกระบวนการทางการเมืองและประวัติศาสตร์ทำนองนี้เอง

มากไปกว่าในระดับท้องถิ่นหรือชาติ การต้องเผชิญกับการกวาดล้างเชิงชาติพันธุ์ การถูกบังคับให้พลัดจากถิ่นฐาน และการกลายเป็นคนไร้รัฐของชาวโรฮิงญาจำนวนมหาศาลที่ยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้นั้น จึงเป็นสถานการณ์ที่ย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงความหมายพื้นฐานตลอดจนความจำเป็นในการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่ารัฐ หากไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งรับผิดชอบต่อผู้คนกลุ่มหนึ่งแล้วนั้น องค์กรการเมืองอื่นใดจะสามารถเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบได้หรือไม่ และทำได้มากน้อยเพียงไร

เงื่อนปมสำคัญอีกประการหนึ่งคือการถูกทำให้เป็นชายขอบอย่างซ้ำซ้อน ภายใต้บริบทของพื้นที่พรมแดนเปิดซึ่งเอื้อต่อการเคลื่อนย้ายไปมาของผู้คน ในแง่หนึ่ง นำมาสู่การก่อตัวของอัตลักษณ์เชิงชาติพันธุ์อันเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนย้าย กระนั้นก็ตาม ภายใต้การก่อตัวของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ โดยนัยแล้ว มันวางอยู่บนสมมติฐานว่าด้วยความแตกต่างและพรมแดนทางชาติพันธุ์ และกรณีนี้ ความเป็นชาติพันธุ์กับศาสนานั้นร้อยรัดกันอย่างแนบแน่น เมื่อประดิษฐกรรมทางสังคมในภาวะสมัยใหม่อย่างเส้นเขตแดนถูกขีดลงไปบนพื้นที่พรมแดนเปิด มันจึงสร้างสิ่งที่เป็น ‘ข้างนอก’ และ ‘ข้างใน’ ระหว่างกันและกัน[xix] ไม่ว่าจะเป็น ระหว่างพม่ากับปากีสถานตะวันออก/บังกลาเทศ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นขั้วตรงข้ามคู่ใดๆ ชาวโรฮิงญาก็อยู่ตรงกลางระหว่างขั้วเหล่านั้นเสมอๆ

ดังนั้น นอกจากการตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของรัฐแล้ว เราอาจต้องขยับไปตั้งคำถามต่ออาณาบริเวณที่ใหญ่กว่ารัฐอย่างเช่นความเป็นภูมิภาคอันเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองด้วยเช่นกัน[xx]


[i] ในทำนองเดียวกับตอนที่ 3 ของซีรีส์นี้ คำว่า ‘พม่า’ (Burma) จะใช้เพื่อหมายถึงหน่วยทางสังคมการเมือง ดินแดน รัฐ หรือประเทศพม่า ส่วนคำว่า ‘ชาวพม่า’ จะใช้ในความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์พม่าหรือเบอร์มัน (Burman) ไม่ได้ใช้ในความหมายว่าด้วยสัญชาติหรือความเป็นพลเมืองของพม่า (ไม่ว่าจะเรียกว่า Burmese หรือ Myanmarese ก็ตาม); ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (3): “ชาติ” และ “ชาตินิยม” ของชาวกะเหรี่ยงในพม่า’, The 101 World (blog), 13 January 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-karen/.

[ii] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 163.

[iii] Christie, 163.

[iv] Christie, 163–64; ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนที่ 3 อังกฤษสามารถผนวกดินแดนของพม่าทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ ‘บริติชอินเดีย’ ได้หลังสงครามครั้งใหญ่ครั้งที่สามที่สิ้นสุดลงในปี 1886; ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (3)’; ดูเพิ่มเติม Nicholas Tarling, ‘The Establishment of the Colonial Régimes’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two: The Nineteenth and Twentieth Centuries, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 34–41.

[v] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 164.

[vi] Christie, 164.

[vii] Christie, 164.

[viii] Christie, 164–65.

[ix] Christie, 165.

[x] Christie, 165–66.

[xi] Christie, 166–67.

[xii] Christie, 167–68.

[xiii] Christie, 168.

[xiv] Christie, 168.

[xv] Christie, 168–69.

[xvi] Christie, 169.

[xvii] Christie, 169.

[xviii] Christie, 169–70.

[xix] ดูเพิ่มเติม จักรกริช สังขมณี, Limology: ชายแดนศึกษา กับ เขต-ขันธ์วิทยาของพื้นที่ใน/ระหว่าง (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2561).

[xx] ดูเพิ่มเติม Donald K. Emmerson, ‘“Southeast Asia”: What’s in a Name?’, Journal of Southeast Asian Studies 15, no. 1 (1984): 1–21; C. M. Turnbull, ‘Regionalism and Nationalism’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two: The Nineteenth and Twentieth Centuries, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 585–645; Willem van Schendel, ‘Geographies of Knowing, Geographies of Ignorance: Jumping Scale in Southeast Asia’, Environment and Planning D: Society and Space 20, no. 6 (1 December 2002): 647–68, https://doi.org/10.1068/d16s เป็นต้น.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save