fbpx
เปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 'บำนาญขั้นต่ำ': สร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ยั่งยืน

เปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’: สร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ยั่งยืน

เราทุกคนควรมีสิทธิกินอิ่ม-นอนหลับ ดำรงชีวิตอย่างผาสุกและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เว้นกระทั่งใน ‘วันที่แก่ตัวลง’ และในวัยชราเช่นนั้น ก็ไม่ควรถูกคาดหวังให้ตรากตรำทำงานเพื่อยังชีพ หรือกลายเป็นภาระเลี้ยงดูของลูกหลาน ฉะนั้น หลักประกันรายได้ยามเกษียณอย่าง ‘บำนาญ’ จึงนับได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน – เป็นสวัสดิการที่ประชาชนควรเข้าถึงได้อย่างถ้วนทั่ว เพียงพอ และมั่นคง[1]

อย่างไรก็ดี ระบบบำนาญของไทยทุกวันนี้กลับยังไม่สามารถเป็นหลักประกันที่เหมาะสม กลไกบำนาญที่พื้นฐานที่สุดและเป็นที่พึ่งพิงของผู้สูงอายุในวงกว้างที่สุดอย่าง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ถูกจ่ายอยู่ในอัตราที่น้อยเสียจนไม่พอประกันคุณภาพชีวิตขั้นต่ำสุด กระจายทรัพยากรไปยังผู้สูงอายุได้น้อยมาก อีกทั้งยังไม่มั่นคงในระยะยาวและด้อยประสิทธิภาพ

ท่ามกลางสถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เบี้ยผู้สูงอายุกำลังเป็นประเด็นนโยบายที่ทวีความสำคัญและเผชิญความท้าทายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สมควรที่เราทุกคนต้องหยิบยกขึ้นมาขบคิด-พูดคุย หาทางปฏิรูปขนานใหญ่โดยเร่งด่วน

101 PUB ชวนวิเคราะห์ปัญหาของเบี้ยผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน พร้อมทั้งสำรวจข้อเสนอเปลี่ยนเบี้ยเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’ ให้คุ้มครองคุณภาพชีวิตยามเกษียณขั้นพื้นฐานของพวกเราได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

เบี้ยผู้สูงอายุควรเป็นหลักประกันรายได้ ‘ขั้นพื้นฐาน’ สำหรับ ‘ทุกคน’

เบี้ยผู้สูงอายุควรเป็นหลักประกันรายได้ ‘ขั้นพื้นฐาน’ สำหรับ ‘ทุกคน’

เบี้ยผู้สูงอายุถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของ ‘ระบบบำนาญ’ ที่ประกอบด้วยฟันเฟืองหลายตัว-หลากหน้าที่ ทำงานสอดประสาน เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างผาสุก การพูดคุยเรื่องเบี้ยจึงควรตั้งต้นจากความเข้าใจร่วมกันว่า ‘เบี้ยเป็นฟันเฟืองตัวใด?’ และ ‘พึงทำหน้าที่แบบไหนในระบบ?’

กรอบแนวคิดของธนาคารโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ[2] แบ่งฟันเฟืองเหล่านี้ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) บำนาญพื้นฐาน ทำหน้าที่เป็นหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน ป้องกันไม่ให้ใครต้องยากจนยามชรา และกระจายทรัพยากรในสังคม บำนาญลักษณะนี้อาจจ่ายให้ทุกคน หรือให้เฉพาะผู้มีรายได้ ทรัพย์สิน หรือบำนาญอื่นน้อยก็ได้ มูลค่าที่จ่ายแต่ละคนอาจเท่ากัน หรือต่างกันตามความจำเป็น อายุ หรือระยะเวลาที่เคยทำงานมา แหล่งเงินมักมาจากงบประมาณรัฐ โดยรัฐบาลเป็นผู้บริหารจัดการเอง

ประเภทถัดมาคือ (2) บำนาญประกันสังคมภาคบังคับ และ (3) บำนาญเสริม มีบทบาทหลักในการรักษาระดับรายได้และการบริโภคของผู้สูงอายุให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกษียณ ถ้าเคยมีเงินเดือน 25,000 บาท ก็พยายามให้ได้บำนาญใกล้เคียง 25,000 บาท มิใช่แค่พ้นเกณฑ์ความยากจนดังเช่นบำนาญพื้นฐาน แหล่งเงินของบำนาญกลุ่มนี้มักมาจากเบี้ยสมทบของลูกจ้าง นายจ้าง และ/หรือรัฐบาล โดยรัฐบาลหรือสถาบันที่มิใช่ตลาด (เช่น สหภาพแรงงาน) มีบทบาทในการบริหารจัดการหรือกำกับดูแลค่อนข้างมาก

(4) เงินออมส่วนตัว นับเป็นบำนาญประเภทสุดท้าย ทำหน้าที่เติมเต็มรายได้จากบำนาญ 3 จำพวกแรก และเป็นสินทรัพย์ที่ผู้สูงอายุใช้จ่ายได้อย่างยืดหยุ่น เช่น เป็นเงินก้อนสำหรับค่าใช้จ่ายใหญ่ๆ ที่เกินบำนาญรายเดือน อย่างซื้อที่ดิน ช่วยงานบวช-งานแต่งลูกหลาน หรือไปเที่ยวต่างประเทศ บำนาญกลุ่มนี้มาจากสินทรัพย์ส่วนตัว และถูกบริหารจัดการภายใต้กลไกตลาด รัฐบาลเข้ามากำกับดูแลจำกัด เท่ากับว่า บำนาญจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการออมการลงทุนของแต่ละคน และความเสี่ยงของตลาด

ภายใต้กรอบแนวคิดข้างต้น เบี้ยผู้สูงอายุไทยจัดเป็น ‘บำนาญพื้นฐาน’ ด้วยวัตถุประสงค์ตามกฎหมายที่มุ่งจ่ายเป็นเงินสนับสนุนการ ‘ยังชีพ’[3] ทั้งยังวางเงื่อนไขให้บุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไปแทบทุกคนมีสิทธิได้รับ ยกเว้นเพียงผู้รับบำนาญข้าราชการและบำนาญพนักงานรัฐอื่นๆ[4] อัตราเบี้ยก็ไม่ยึดโยงกับรายได้ในอดีตหรือปัจจุบัน แต่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยอายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาท/เดือน, 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท/เดือน, 80-89 ปี ได้รับ 800 บาท/เดือน, และ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท/เดือน แหล่งเงินทั้งหมดก็มาจากงบประมาณแผ่นดิน มิได้อาศัยเบี้ยสมทบเฉพาะเลย[5]

ในฐานะบำนาญพื้นฐาน การพูดคุยถึงเบี้ยผู้สูงอายุจึงพึงตั้งอยู่บนความคาดหวังว่า เบี้ยควรมีบทบาทเสมือน ‘ตาข่าย’ รองรับมิให้ผู้สูงอายุและว่าที่ผู้สูงอายุคนใดร่วงหล่นสู่หุบเหวแห่งความยากจน ปัจจุบัน เบี้ยทำหน้าที่ดังกล่าวได้ค่อนข้างน่าพอใจในมิติ ‘ความครอบคลุม’ ผู้สูงอายุถึง 92.0% มีสิทธิรับเบี้ย โดยในกลุ่มนี้ ราว 91.9% รับเบี้ยอยู่จริง[6] อย่างไรก็ดี เบี้ยยังมีปัญหาหลายมิติที่ควรเร่งแก้ไข เพื่อให้สามารถคุ้มครองคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

เบี้ยผู้สูงอายุต่ำ ไม่พอประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน

เบี้ยผู้สูงอายุต่ำ ไม่พอประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน

ปัญหาแรก เบี้ยผู้สูงอายุ ‘ต่ำ’ เกินกว่าจะประกันรายได้ขั้นพื้นฐานได้เพียงพอ-ถ้วนทั่ว อัตราเบี้ย 600-1,000 บาท/เดือนนี้ น้อยเสียยิ่งกว่าเส้นความยากจนที่ 2,997 บาท/เดือน โดยคิดเป็นเพียง 20.0-33.4%[7] หากเปรียบเทียบกับระดับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยที่ 15,452.6 บาท/เดือน จะคิดเป็น 3.9-6.5% เท่านั้น[8] ต่ำกว่าบำนาญแบบเดียวกันในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งจ่ายที่อัตราเฉลี่ย 21% ของค่าจ้าง อย่างมีนัยสำคัญ[9]

ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดยังไม่สามารถพึ่งพาบำนาญรัฐประเภทอื่น (เช่น บำนาญประกันสังคม) ให้ช่วย ‘อุดรูรั่ว’ ของตาข่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ เนื่องจาก 82.0% ได้รับเบี้ยดังกล่าวเป็นบำนาญรัฐประเภทเดียว อีก 6.5% ไม่ได้รับบำนาญรัฐใดเลย[10]

ฉะนั้น ผู้สูงอายุ 9.6% หรือกว่า 1.4 ล้านคนจึงยังคงถูกทอดทิ้งให้ยากจนยามชรา แม้มีการจ่ายเบี้ยถ้วนหน้า พูดอีกอย่างก็คือ ต่อให้พวกเขาได้เบี้ย 600-1,000 บาท/เดือนก้อนนี้แล้ว ก็ยังมีรายได้ไม่ถึง 2,997 บาท/เดือนอยู่ดี ที่จริง เบี้ยสามารถเติมรายได้ให้ผู้สูงอายุเลื่อนฐานะจากระดับ ‘ยากจน’ เป็น ‘ไม่ยากจน’ ได้เพียง 4.2% หรือ 0.6 ล้านคน[11] กลุ่มที่เหลือแม้จะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ยากจนอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็เพราะต้องตรากตรำทำงานในวัยเกษียณ หรือมีครอบครัวคอยเลี้ยงดู – มิใช่เพราะได้บำนาญเพียงพอ[12]

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า เบี้ยอัตราต่ำติดดินนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันความยากจนยามชรา และคุ้มครองความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังกระจายทรัพยากรไปยังผู้สูงอายุยากจนได้จำกัดมาก

เบี้ยผู้สูงอายุไม่มั่นคง หวังพึ่งได้ยากในระยะยาว

เบี้ยผู้สูงอายุไม่มั่นคง หวังพึ่งได้ยากในระยะยาว

ปัญหาถัดมาคือ ‘ความไม่มั่นคง’ ของเบี้ยผู้สูงอายุทั้งในแง่มูลค่าและกฎเกณฑ์ คำว่ามั่นคงในที่นี้หมายถึง เบี้ยจะต้อง ‘ยังคงอยู่’ และ ‘มีมูลค่าเหมาะสม’ ในอนาคตอันไกล คุณสมบัตินี้สำคัญมาก เพราะเบี้ยเป็นสวัสดิการที่ประชาชนต้องพึ่งพาและวางแผนล่วงหน้าหลายสิบปี หากเปลี่ยนไปมา ยกเลิก หรือเสื่อมมูลค่าง่าย ก็ยากที่จะหวังพึ่งได้ในวันที่เราเกษียณ ยาวไปจนวันสุดท้ายของชีวิต

ความไม่มั่นคงในแง่มูลค่าเกิดจากระบบเบี้ยผู้สูงอายุขาด ‘กลไกปรับอัตราเบี้ยอัตโนมัติตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น’ (indexation) เมื่อค่าครองชีพปรับแต่อัตราเบี้ยไม่เปลี่ยน ‘มูลค่าจริง’ ของเบี้ยจึงมีแนวโน้มลดลง ผู้สูงอายุรับเงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง ตั้งแต่รัฐบาลขยับอัตราเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2011 มูลค่าจริงของเบี้ยก็ร่วงลงมาแล้ว 13.9% เท่ากับว่าเบี้ย 600 บาทวันนี้ซื้อของได้แค่ 516.4 บาทตามระดับราคาปี 2011[13]

ในแง่กฎเกณฑ์ ระบบเบี้ยและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอาจถูกเปลี่ยนแปลงและยกเลิกได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเบี้ยหรืออัตราเบี้ย เนื่องจากถูกกำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบกระทรวง คณะรัฐมนตรีจึงสามารถตัดสินใจได้เองโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างเปิดเผยเลย

การเปลี่ยนระบบจ่ายเบี้ยฟ้าผ่าเมื่อครึ่งปีก่อน (สิงหาคม 2023) นับเป็นตัวอย่างที่ดี รัฐบาลออกระเบียบเปลี่ยนระบบจ่ายเบี้ยจากแบบ ‘ถ้วนหน้า’ เป็น ‘มุ่งเป้าเฉพาะผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ’ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะตัดสิทธิผู้สูงอายุ 37.7% หรือ 5.6 ล้านคน (ไม่รวมคนตกหล่นการคัดกรอง) อย่างกะทันหันและเงียบเชียบ[14] กว่าเราจะทราบเรื่องกันก็หลายวันให้หลัง – ผ่านพรรคไทยสร้างไทย มิใช่รัฐบาล – หากพลิกหน้ามือเป็นหลังเท้าได้เร็วและลับเช่นนี้ เราจะไว้ใจให้เบี้ยเป็นหลักประกันชีวิตเราในระยะยาวได้อย่างไร?

การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุด้อยประสิทธิภาพ สร้างภาระคนรับ-คนจ่ายโดยไม่จำเป็น

การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุด้อยประสิทธิภาพ สร้างภาระคนรับ-คนจ่ายโดยไม่จำเป็น

สุดท้าย การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุไม่ประสานกับบำนาญประเภทอื่น – ต่างหน่วยงานต่างจ่าย – ส่งผลให้ประสิทธิภาพต่ำ สร้างต้นทุนแก่ผู้สูงอายุที่รับเงินและรัฐบาลโดยไม่จำเป็น ทั้งยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเบี้ยและบำนาญทั้งระบบได้อย่างเต็มที่

การแยกจ่ายบำนาญแต่ละก้อนแยกกัน ทำให้ผู้รับ ‘รู้สึก’ ไม่ได้รับเงินเป็นกอบเป็นกำ หรือได้รับน้อยกว่าการจ่ายเงินมูลค่าเท่ากันรวมเป็นก้อนเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่สะดวกและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ลองนึกถึงผู้สูงอายุในชนบทต่างจังหวัดที่ได้บำนาญที ก็ต้องเดินทางเข้าเมืองมาถอนเงินที การโอนบำนาญทุกประเภทรวมกันเข้าบัญชีเดียว-ครั้งเดียวต่อเดือน จะช่วยลดเวลา-ค่าเดินทางนี้ลงได้

ภาครัฐเองก็ต้องแบกรับต้นทุนการบริหารจัดการซ้ำซ้อน เพราะหน่วยจ่ายบำนาญทุกแห่งก็ต้องทำงาน จัดการเอกสาร และให้บริการประชาชนหลายอย่างคล้ายๆ กัน ที่สำคัญ การขาดการประสานระหว่างบำนาญประเภทต่างๆ ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ไม่กระตุ้นให้หน่วยงานเปิดเผยและเชื่อมโยงฐานข้อมูลบำนาญระหว่างกัน รัฐบาลจึงขาดฐานข้อมูลแบบบูรณาการที่จะสามารถใช้ออกแบบนโยบายและมาตรการสนับสนุนผู้สูงอายุได้ตรงจุด

ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’ สร้างหลักประกันยามเกษียณที่ทั่วถึง-เพียงพอ

ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’ สร้างหลักประกันยามเกษียณที่ทั่วถึง-เพียงพอ

ปัญหา ‘ความไม่เพียงพอ’ ‘ความไม่มั่นคง’ และ ‘ความด้อยประสิทธิภาพ’ ถือเป็นสามโจทย์สำคัญในการยกระดับเบี้ยให้สามารถเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามสิทธิอันพึงมีและสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ได้อย่างเหมาะสม

101 PUB เสนอให้ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘ระบบบำนาญขั้นต่ำ’ วางหลักการให้บุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน (หรืออายุเกษียณใหม่ – 101 PUB เสนอสำหรับเบี้ยไว้ที่ 60 หรือ 62 ปี)[15] มีสิทธิรับ ‘บำนาญรัฐทุกประเภทรวมกันไม่น้อยกว่าเส้นความยากจน’ โดยบำนาญขั้นต่ำจะทำหน้าที่เติมเต็มบำนาญรัฐประเภทอื่น ให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญรวมตามหลักการดังกล่าวเสมอ

ในกรณีที่ไม่มีสิทธิรับบำนาญอื่น เช่น บำนาญข้าราชการและประกันสังคม ผู้สูงอายุจะได้รับบำนาญขั้นต่ำเท่ากับเส้นความยากจน ซึ่งในปัจจุบันคือ 2,997 บาท/เดือน คิดเป็น 19.4% ของระดับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย

ในกรณีที่มีสิทธิรับบำนาญอื่น ก็จะได้รับบำนาญขั้นต่ำลดลงจากเส้นความยากจนตามสัดส่วน สัดส่วนนี้มักไม่ใช่ 1:1 เพื่อมิให้ทำลายแรงจูงใจในการจ่ายเบี้ยสมทบบำนาญอื่น งานศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเคยให้ตัวอย่างสัดส่วนไว้ที่ 3:1 หมายความว่า ถ้ามีบำนาญอื่นเพิ่มขึ้น 3 บาท ก็จะลดบำนาญขั้นต่ำลง 1 บาท[16]

ฉะนั้น หากคุณยาย ก. มีบำนาญประกันสังคม 3,000 บาท/เดือน ก็จะลดบำนาญขั้นต่ำไป 1,000 แล้วได้รับ 1,997 บาท/เดือน (2,997-1,000 = 1,997) ท้ายที่สุดจะได้บำนาญรวม 4,997 บาท/เดือน (3,000+1,997 = 4,997) อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าคุณปู่ ข. มีบำนาญข้าราชการ 36,000 บาท/เดือน ก็จะลดบำนาญขั้นต่ำไปทั้งหมด ไม่ได้รับเงินก้อนนี้เพิ่มเติม

วิธีคำนวณแบบนี้เรียกว่า ‘การคัดกรองด้วยบำนาญ’ (pension test) เมื่อใช้กับระบบบำนาญขั้นต่ำ ข้อดีคือผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับบำนาญรวมเกินเกณฑ์ที่กำหนดเสมอ โดยประหยัดงบประมาณกว่าการจ่ายให้ทุกคนเท่ากัน ซึ่งย่อมทำให้ระบบบำนาญยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า ขณะเดียวกันก็ไม่มีปัญหาตกหล่นเหมือนวิธีคัดกรองด้วยรายได้และทรัพย์สิน (resource test) เพราะรัฐบาลย่อมมีข้อมูลบำนาญซึ่งตนจ่ายออกไปเองครบถ้วน ต่างจากข้อมูลรายได้และทรัพย์สินที่รัฐบาลมีจำกัด

ข้อเสนอคู่ขนาน สร้างบำนาญขั้นต่ำให้มั่นคง-มีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอคู่ขนาน สร้างบำนาญขั้นต่ำให้มั่นคง-มีประสิทธิภาพ

ภายใต้หลักการข้างต้น 101 PUB เสนอให้ปรับอัตราบำนาญขั้นต่ำ ‘อัตโนมัติทุกปี’ ตามเส้นความยากจน ซึ่งประกาศโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อให้บำนาญขั้นต่ำเพิ่มทันค่าครองชีพ

ด้วยวิธีคำนวณที่อิงข้อมูลบำนาญอื่นอยู่แล้ว ระบบบำนาญขั้นต่ำยังควรถูกพัฒนาเป็นแกนกลางที่ประสานร้อยรัดระบบบำนาญรัฐทั้งหมดไว้ด้วยกัน โดยเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ขับเคลื่อนทั้งนโยบายนี้และนโยบายผู้สูงอายุอื่น พร้อมกันนั้น บำนาญทุกประเภทก็ควรจัดการจ่ายรวมกันเป็นก้อนเดียว และมีศูนย์บริการร่วม (one stop service) ให้ประชาชนติดต่อสอบถามและรับบริการเกี่ยวกับบำนาญทั้งระบบได้อย่างสะดวก

ท้ายที่สุด หลักการสำคัญเกี่ยวกับบำนาญขั้นต่ำควรตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อให้การแก้ไขต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเปิดเผย ซึ่งย่อมเปิดโอกาสให้ต้องผ่านการถกเถียง-มีส่วนร่วมของสังคมวงกว้างมากกว่า อันจะเป็นการยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลง-ยกเลิกบำนาญต้องอยู่ในความรับรู้และได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

บำนาญขั้นต่ำสร้าง ‘สมดุล’: หลักประกันที่ดี VS ยั่งยืนทางการคลัง

บำนาญขั้นต่ำสร้าง ‘สมดุล’: หลักประกันที่ดี VS ยั่งยืนทางการคลัง

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามพัฒนาและผลักดันข้อเสนอปฏิรูปเบี้ยผู้สูงอายุ ตัวอย่างข้อเสนอสำคัญ ได้แก่ ‘แผนปฏิรูปของรัฐบาล’ ซึ่งเปลี่ยนการจ่ายเบี้ยไปสู่ระบบมุ่งเป้าเฉพาะผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ และได้กล่าวถึงมาแล้ว อีกข้อเสนอหนึ่งคือ ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ในบทความนี้จะเรียกว่า ‘ข้อเสนอภาคประชาชน’) ซึ่งเสนอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 43,826 รายชื่อในเดือนธันวาคม 2023 และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรอเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

ข้อเสนอชุดหลังมุ่งเปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘ระบบบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’ จ่ายบำนาญให้บุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคนเท่ากัน (universal) ในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ปรับตามสภาพัฒน์ทุกปี ข้อเสนอยังรวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลบำนาญกลาง และการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเป็นแหล่งเงินทุนด้วย

หากเปรียบเทียบเบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบันกับข้อเสนอเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าข้อเสนอภาคประชาชนและ 101 PUB มีแนวโน้มจะสร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งสองจะคุ้มครองให้ทุกคนมีสิทธิรับบำนาญเกินเส้นความยากจนเสมอ แม้ใช้วิธีการต่างกัน โดยข้อเสนอภาคประชาชนจ่ายแบบ ‘เท่ากันถ้วนหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไข’ ส่วนข้อเสนอ 101 PUB รับรองสิทธิถ้วนหน้า แต่ใช้ ‘การคัดกรองด้วยบำนาญ’ มาปรับอัตราบำนาญขั้นต่ำที่จ่ายจริงสำหรับผู้สูงอายุแต่ละคน

ตรงกันข้าม แผนของรัฐบาลที่ไม่เพิ่มอัตราเบี้ย แต่นำการคัดกรองด้วยรายได้และทรัพย์สินมาใช้ จะส่งผลให้ผู้สูงอายุเสี่ยงถูกทอดทิ้งให้ยากจนมากขึ้น เนื่องจากลดความครอบคลุมของผู้มีสิทธิรับเบี้ย และมีโอกาสที่ผู้สูงอายุยากจนจะตกหล่นการคัดกรองสูงถึง 35.8%[17]

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แผนปฏิรูปของรัฐบาลจะประหยัดงบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยลง ตามข้อมูลและผลคาดการณ์จำนวนประชากรขององค์การสหประชาชาติ เบี้ยรูปแบบปัจจุบันต้องใช้งบประมาณสูงสุดราว 0.9 แสนล้านบาทในปี 2022 และ 2.1 แสนล้านบาทภายในปี 2050 หากปรับการจ่ายตามแผนข้างต้น จะใช้งบประมาณเพียง 0.6 และ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2022 และ 2050 ตามลำดับ ลดลงถึง 37.7%[18]

ในทางกลับกัน ข้อเสนอภาคประชาชนกับ 101 PUB จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่าเดิม โดยงบประมาณกรณีแรกจะสูงกว่าและเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในระยะยาว คือใช้ราว 4.3 แสนล้านบาทในปี 2022 (สูงกว่าเบี้ยรูปแบบปัจจุบัน 391.3%) และ 13.5 แสนล้านบาทในปี 2050 (+554.0%)[19]

กรณีหลังย่อมใช้งบประมาณต่ำกว่า จากวิธีคำนวณที่ลดอัตราจ่ายจริงเมื่อมีบำนาญประเภทอื่น อย่างน้อยที่สุด ข้าราชการเกษียณโดยทั่วไปได้รับบำนาญข้าราชการทุกประเภทรวมกันไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือนอยู่แล้ว[20] ฉะนั้นหากใช้สูตรคำนวณที่ยกมาเป็นตัวอย่าง พวกเขาก็จะไม่ได้รับบำนาญขั้นต่ำเลย

งบประมาณบำนาญขั้นต่ำยังน่าจะเติบโตช้ากว่าในระยะยาว เพราะสัดส่วนผู้ประกันตนและมีสิทธิรับบำนาญประกันสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนในกลุ่มแรงงานอายุ 51-60 ปี (อายุครบ 60 ปีในปี 2024-2033) อยู่ที่ 25.1% แต่ในกลุ่มแรงงานอายุ 31-40 ปี (อายุครบ 60 ปีในปี 2044-2053) สูงถึง 53.3% มากขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว[21]

ในบรรดาสามทางเลือก ข้อเสนอบำนาญขั้นต่ำของ 101 PUB จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเสมือน ‘ทางเลือกสายกลาง’ ซึ่งมุ่งสร้าง ‘สมดุล’ ระหว่างหลักการสำคัญสองเรื่อง ได้แก่ ‘การสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตยามชราที่ทั่วถึงและเพียงพอ’ กับ ‘การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง’ ความยั่งยืนนี้นับเป็นความมั่นคงของบำนาญในอีกมิติหนึ่ง เพราะหากบำนาญใช้งบประมาณเกินจะรับไหว ในไม่ช้าก็ต้องถูกเปลี่ยนแปลง/ยกเลิก ไม่เหลือไว้เป็นหลักประกันสำหรับคนรุ่นถัดๆ ไป

สร้างหลักประกันยามเกษียณ จะแก้เบี้ยผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับใหญ่ทั้งระบบ

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 กุมภาพันธ์ 2024) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐได้เสนอให้ปรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุกลับไปสู่ระบบถ้วนหน้า และเพิ่มอัตราเบี้ยเป็น 1,000 บาท/เดือน สำหรับทุกช่วงอายุ[22] นับเป็นสัญญาณอันดีว่า รัฐบาลอาจยกเลิกแผนปฏิรูปที่ซ้ำเติมปัญหาความไม่เพียงพอ-ทั่วถึงของเบี้ย แล้วหันมาเสริมสร้างเบี้ยให้เป็นหลักประกันที่เข้มเข็งขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอข้างต้นยังไม่สามารถแก้ปัญหาของเบี้ยผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุม เพราะนอกจากอัตราเบี้ยใหม่จะยังคงต่ำกว่าเส้นความยากจนแล้ว ก็มิได้แตะปัญหาการขาดกลไกปรับอัตราให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ยิ่งไปกว่านั้น ยังปล่อยให้ระบบเบี้ยเปลี่ยนแปลง-ยกเลิกง่าย ไม่สามารถหวังพึ่งพาได้ในระยะยาว อีกทั้งขาดการประสานการจ่ายกับบำนาญประเภทอื่น สร้างความลำบากและภาระต้นทุนแก่ทั้งประชาชนและรัฐบาลโดยไม่จำเป็นต่อไป

101 PUB จึงเสนอทางเลือก เปลี่ยนเบี้ยเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’ เติมเงินให้ผู้สูงอายุ ‘ทุกคน’ ได้รับบำนาญรัฐทุกประเภทรวมกัน ‘ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน’ ซึ่งปรับขึ้นอัตโนมัติทุกปี บูรณาการการจ่ายเงิน การบริการ และฐานข้อมูลบำนาญทุกประเภท พร้อมทั้งตรากฎเกณฑ์ของระบบบำนาญดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติ ให้การเปลี่ยนแปลง-ยกเลิกต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนประชาชนอย่างเปิดเผย

ข้อเสนอเช่นนี้จะพัฒนาเบี้ยให้เป็นหลักประกันที่ทั่วถึง-เพียงพอยิ่งขึ้น มากกว่าเบี้ยในปัจจุบันและตามแผนปฏิรูปของรัฐบาล แต่ใช้งบประมาณน้อยกว่าข้อเสนอภาคประชาชน ถือเป็นการแสวงหาสมดุลระหว่างการสร้างหลักประกันที่ดี กับความยั่งยืนทางการคลัง-ความมั่นคงของบำนาญในระยะยาว

ท้ายที่สุด ควรย้ำว่าเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งของระบบบำนาญภาพใหญ่ แม้ที่ผ่านมา บทสนทนาของสังคมจะให้ความสนใจเบี้ยมากกว่าบำนาญประเภทอื่น แต่การยกระดับระบบบำนาญให้สามารถเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณของประชาชนอย่างเหมาะสม จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปบำนาญประเภทอื่นไม่น้อยไปกว่ากัน ตั้งแต่ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ ไปจนถึงการกำกับดูแลประกันบำนาญและกองทุน RMF ของเอกชน

การขบคิด-พูดคุยเรื่องปฏิรูปเบี้ยผู้สูงอายุ จึงควรนำไปสู่การแสวงหาหนทางร่วมกันในการพัฒนาบำนาญประเภทอื่นทั้งองคาพยพ เพื่อที่เราทุกคนจะได้มีหลักประกันความเป็นอยู่ยามบั้นปลายที่สมบูรณ์ คุ้มครองให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ตามสิทธิอันพึงมีและสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์

References
1 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บำนาญเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน: เหตุผลเชิงคุณค่าของบำนาญ กับการปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ,” 101 Public Policy Think Tank, 31 สิงหาคม 2023, https://101pub.org/moral-grounds-for-right-to-pension/ (เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024).
2 “The World Bank Pension Conceptual Framework,” World Bank Pension Reform Primer (Washington, DC: World Bank, 2008); Fabio Durán-Valverde, “The ILO Multi-Pillar Pension Model: Building Equitable and Sustainable Pension Systems,” Social Protection for All Issue Brief (Geneva: International Labour Organization [ILO], 2018).
3 พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 [2003] และที่แก้ไขเพิ่มเติม, 22 ธันวาคม 2003.
4 อยู่ระหว่างเปลี่ยนเกณฑ์การจ่ายเป็นระบบมุ่งเป้าเฉพาะผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ; ดูเพิ่มเติม: ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 [2009], 14 ตุลาคม 2009; ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 [2023], 7 กรกฎาคม 2023.
5 มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, 18 ตุลาคม 2011.
6 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021).
7 101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2023).
8 101 PUB คำนวณจากผลภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023).
9 บำนาญแบบเดียวกับเบี้ยผู้สูงอายุ หมายถึง บำนาญพื้นฐานแบบถ้วนหน้า ประเทศกลุ่ม OECD 9 ประเทศจ่ายบำนาญลักษณะนี้ ได้แก่ กรีซ แคนาดา เดนมาร์ก นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก อิสราเอล และไอซ์แลนด์; Organisation for Economic Co-operation and Development [OECD], Pensions at a Glance 2023: OECD and G20 Indicators (Paris: OECD Publishing, 2023), 136.
10 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021).
11 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021).
12 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021).
13 101 PUB คำนวณจากข้อมูลธนาคารโลก (2023).
14 ฉัตร คำแสง, “ถ้วนหน้า vs คัดกรอง: มุมมองทางการคลังต่อการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ,” The101.world, 18 สิงหาคม 2023, https://www.the101.world/fiscal-view-old-age-allowance/ (เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024).
15 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “ถึงเวลาเพิ่มอายุเกษียณ แก้จนยามแก่ สร้างระบบบำนาญยั่งยืน?,” The101.world, 29 กันยายน 2023, https://www.the101.world/raising-retirement-age/ (เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024).
16 ILO, Review of the Pension System in Thailand: Thailand Social Protection Diagnostic Review (Geneva: ILO, 2022), 67-68.
17 ฉัตร คำแสง, “ถ้วนหน้า vs คัดกรอง.”
18 101 PUB คำนวณจากข้อมูลองค์การสหประชาชาติ (2022); สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2023); กระทรวงพาณิชย์ (2023).
19 เพิ่งอ้าง.
20 รวมเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.); ดูเพิ่มเติม: พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2562 [2019], 28 พฤษภาคม 2019.
21 101 PUB คำนวณจากข้อมูลองค์การสหประชาชาติ (2022); สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2023); กระทรวงพาณิชย์ (2023).
22 ““วราวุธ” นั่งหัวโต๊ะ อนุฯ กรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เคาะ เบี้ยเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า – ขยายรับเลี้ยงดูเด็ก 3 เดือน-3 ปี – จ่ายผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท,” รัฐบาลไทย, 21 กุมภาพันธ์ 2024, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/79271 (เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024).

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save